ทำไมวันปีใหม่ต้องเป็น 1 มกราคม
Why does the new year begin on January 1?
ผู้คนเกือบทั้งโลกยอมรับว่า "ปีใหม่" คือ 1 มกราคม และเราๆท่านๆก็รอที่จะ countdown อย่างสนุกสนานในบรรยากาศนี้ ....... แต่คำถามคือ "ทำไมต้องเป็น January 1" จะเป็นวันอื่นๆไม่ได้หรือยังไง ...... มันต้องมีที่มาที่ไป
ใช่ครับ ..... ถ้าไม่มีฟาร์โรองค์สุดท้ายชื่อ "พระนางคลีโอพัตรา" และไม่มีจอมทัพโรมันชื่อ "จูเลียส ซีซ่าร์" ก็เดาไม่ออกว่ามนุษยชาติจะมีปีใหม่วันไหน
เพื่อให้มองเห็นภาพที่มาที่ไปของเรื่องนี้จึงขอเริ่มต้นย้อนหลังไปที่อาณาจักรโรมันเมื่อ 46 ปี ก่อนคริตกาล (46 BC) จอมทัพผู้ยิ่งใหญ่ชื่อ จูเลียส ซีซ่าร์ เจ้าของวลีเด็ด "ข้ามา ข้าเห็น ข้าชนะ" (Veni Vidi Cici) ภาษาอังกฤษใช้คำว่า I came I saw I conquered ท่านซีซ่าร์ยกกองทัพไปครอบครองอาณาจักรอียิปส์เพื่อผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน ท่านสยบกองทัพอียิปส์ด้วยแสนยานุภาพของทหารโรมัน แต่พอเอาเข้าจริงๆยอดนักรบวัยหนุ่มใหญ่กลับถูกฟาร์โรสาวสวยอายุคราวลูกครอบงำจนเรียกว่า "ชี้นกเป็นไม้ ชี้ไม้เป็นนก" เลยไม่รู้ว่าใครครอบครองใครกันแน่ เรื่องแบบนี้ไม่เข้าใครออกใครครับ ..... หนุ่มใหญ่รอนแรมมาไกลถึงอียิปส์ห่างบ้านห่างเมียที่กรุงโรมมาเจอสาวสวยวัยกระเตาะเอาอกเอาใจ ..... มันจะเหลือรึ
อาณาจักรโรมันขณะนั้นใช้ปฏิทินที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุคเริ่มสร้างกรุงโรมเมื่อ 753 ปีก่อนคริตกาล เรียกว่า Romulus Calendar และมีการปรับปรุงเป็น Numa Calendar โดยจักรพรรดิองค์ต่อๆมา ปฏิทินโรมมันได้รับการปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงยุคท่านซีซ่าร์ แต่ปัญหาคือมีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับฤดูกาล เช่น วันสำคัญที่กำหนดให้ตรงกับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ vernal equinox ฤดูใบไม้ผลิตก็ผิดเพี้ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับการปรับปฏิทินในแต่ละปีก็ขึ้นกับความพอใจของพระชั้นผู้ใหญ่ ท่านซีซ่าร์จึงหมดอารมณ์และคิดจะหาปฏิทินฉบับใหม่ที่ถูกต้องตรงกับฤดูกาลและสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องให้พระชั้นผู้ใหญ่มาปรับตามอำเภอใจ เรื่องนี้เข้าทางปืนพระนางคลีโอพัตราทันที เพราะอียิปส์เป็นนักดาราศาสตร์และมีความรู้เรื่องปฏิทินดีกว่าโรมัน ประกอบกับท่านซีซ่าร์ก็ตามใจพระนางคลีโอพัตราอยู่แล้ว จึงเชิญให้นักดาราศาสตร์ในราชสำนักฟาร์โรชื่อ Sosigenes ทำหน้าที่เป็นผู้คิดปฏิทินฉบับใหม่
แน่นอนครับอียิปส์ต้องใช้แม่แบบปฏิทินของตนเป็นหลักในการสร้างโดยอิงกับ "สุริยะคติ" (Solar Calendar) ซึ่งแตกต่างกับปฏิทินโรมันที่เป็น "จันทรคติ" (Lunar Calendar) ปฏิทินฉบับใหม่นี้กำหนดให้ปีหนึ่งมี 365 วัน และทุกๆ 4 ปี ให้ชดเชยอีก 1 วัน เป็น 366 วัน เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน ผลงานนี้เข้าตาท่านซีซ่าร์อย่างมากถึงมากที่สุด จึงออกประกาศให้ใช้อย่างเป็นทางการโดยเริ่มต้น 1 มกราคม 45 ปี ก่อนคริตกาล (1 January 45 BC)
ภาพจากภาพยนต์เก่าแก่เรื่อง Cleopatra ในยุค 60's นำแสดงโดยดาราดังอลิซเบท เทรเล่อร์ ริชาด เบอร์ตั้น และเล็กซ์ แฮริสั้น หลายท่านอาจสงสัยว่าพระนางคลีโอพัตรา เป็นฟาร์โรอียิปส์แต่ทำไมภาพยนต์เรื่องนี้ใช้ดาราฝรั่งผิวขาวอย่างอลิซเบท เทรเล่อร์ ในความจริงฟาร์โรในราชวงค์ "ปโตเลมี" เป็นชาวกรีกที่สืบเชื้อสายมาตั้งแต่ครั้งกษัตริย์อเล็กซานเดอร์มหาราชครอบครองอาณาจักรอียิปส์ราว 300 กว่าปี ก่อนคริตกาล ดังนั้นพระนางคลีโอพัตราจึงเป็นเชื้อสายกรีกผิวขาวเหมือนชาวยุโรป
การสร้างกรุงโรมครั้งแรกยังหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไม่พบ มีแต่ตำนานที่เล่าขานกันว่าผู้สร้างกรุงโรมคือเด็กน้อยสองคนชื่อ Romulus และ Remus ถูกแม่นำมาทิ้งไว้กลางป่าและหมาป่าแม่ลูกอ่อนมาพบเข้าจึงเกิดความสงสารและเลี้ยงดูให้กินนมจนเติบใหญ่กลายเป็นวีรบุรุษผู้สร้างกรุงโรม หากท่านได้ไปเที่ยวประเทศอิตาลีจะได้เห็นอนุเสาวรีย์หมาป่ากำลังให้นมเด็กน้อยสองคน ดังตัวอย่างที่หอคอยเอนแห่งเมือง Pisa
ปฏิทินฉบับแรกของโรมันคือ Romulus Calendar มีจำนวน 10 เดือน 304 วัน ใช้ในช่วง 753 ปี ก่อนคริตกาล
ปฏิทินฉบับปรับปรุงต่อมาโดยกษัตริย์ Numa เพิ่มเป็น 12 เดือน 355 วัน
ปฏิทินโรมันฉบับสุดท้ายที่ประกาศใช้โดยท่านจอมทัพจูเลียส ซีซ่าร์ เมื่อปี 45 ก่อนคริตกาล (45 BC) เป็นปฏิทินสุริยะคติตามแบบอียิปส์ กำหนดให้หนึ่งปีมี 365 วัน โดยเดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน และทุกๆ 4 ปี มีการเพิ่มอีก 1 วัน เป็น 366 วัน เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน อนึ่ง นักดาราศาสตร์ชาวอียิปส์ทราบดีว่าในรอบ 1 ปี จำนวนวันไม่ได้ลงตัวที่ 365 เป๊ะๆ แต่มีเศษราวๆ 0.25 วัน และเมื่อครบ 4 ปี จะรวมเป็น 1 วัน นี่คือเหตุผลทำไมทุกๆ 4 ปี จึงมีวันที่ 29 กุมภาพันธ์
ทำไมปฏิทินจูเลียส ซีซ่าร์ (Julian Calendar) จึงกำหนดให้ปีใหม่ตรงกับ 1 January
พยายามค้นหาคำอธิบายในเอกสารต่างๆก็ไม่พบคำอธิบายที่ตรงไปตรงมา จึงต้องอาศัยการผสมผสานระหว่างคำบอกเล่าของเพื่อนชาวยิวที่เป็นนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เมื่อครั้งอบรมการชลประทานระบบน้ำหยดที่ Kibutz Shefayim ปี 1996 บวกกับข้อมูลตามเอกสารในตำราต่างๆรวมทั้งข้อมูล Google สรุปได้สาระสำคัญ ดังนี้
ชาวโรมันมีความเชื่อถือเทพเจ้าเจนัส (God Janus) ซึ่งมีรูปลักษณ์เป็น "เทพสองหน้า" หน้าหนึ่งมองกลับไปอดีตอีกหน้าหนึ่งมองไปอนาคต เมื่อถึงฤดูหนาวชาวโรมันสังเกตเห็นว่าดวงอาทิตย์คล้อยตำ่ลงทางทิศใต้และเวลากลางวันสั้นลงมากผิดปกติ เขาเหล่านั้นกลัวว่าดวงอาทิตย์จะไม่กลับมาอีกโลกจะประสบกับความมืดจึงต้องไปอ้อนวอนเทพเจนัสให้ดึงดวงอาทิตย์กลับมา และดวงอาทิตย์ก็กลับมาจริงๆหลังจากที่หยุดนิ่งอยู่ในขอบท้องฟ้าด้านทิศใต้ เรื่องนี้สอดคล้องกับเอกสารที่ระบุว่า
Our modern celebration of New Year’s Day stems from an ancient Roman custom, the feast of the Roman god Janus – god of doorways and beginnings. The name for the month of January also comes from Janus, who was depicted as having two faces. One face of Janus looked back into the past, and the other peered forward to the future
แปลเป็นภาษาไทยว่า ..... การเฉลิมฉลองวันปีใหม่ในปัจจุบันมีที่มาจากประเพณีโรมันโบราณ เรียกว่าประเพณีบูชาเทพเจ้าเจนัส เป็นเทพแห่งประตูและการเริ่มต้น ชื่อเดือนมกราคม January มาจากคำว่า Janus ผู้ซึ่งมีภาพลักษณ์สองหน้า หน้าหนึ่งมองไปทางอดีต อีกหน้าหนึ่งมองไปทางอนาคต
เมื่อตีความตามข้อมูลข้างต้นก็พบว่า .... วันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนกลับมาหลังจากหยุดนิ่งอยู่ที่ขอบฟ้าด้านทิศใต้ในปรากฏการณ์ winter solstice (ภาษาไทยเรียกว่า เหมายัน) เป็นวันที่ชาวโรมันยินดีปรีดาอย่างยิ่งเพราะโลกกลับมาสดใสอีกครั้งหนึ่ง ปฏิทินของท่านจูเลียส ซีซ่าร์ จึงยึดเอาปรากฏการณ์นี้เป็นวันเริ่มต้น Julian Calendar และตั้งชื่อเดือนนี้ว่า January หรือ Ianuarius ในภาษาโรมัน ตั้งแต่นั้นมาวันที่ 1 January จึงเป็น new year ที่อาณาจักรโรมันใช้อย่างเป็นทางการ
เทพเจ้าเจนัสของชาวโรมันมีภาพลักษณ์เป็น God of two faces ชาวโรมันถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งการเริ่มต้น
เปรียบเทียบตำแหน่งดวงอาทิตย์ในฤดูร้อน (summer solstice) กับดวงอาทิตย์ในฤดูหนาว (winter solstice) จะเห็นชัดเจนว่าดวงอาทิตย์ในฤดูหนาวคล้อยต่ำลงมาอย่างมาก
แสดงตำแหน่งดวงอาทิตย์ในฤดูต่างๆจะเห็นว่าดวงอาทิตย์ในฤดูหนาวคล้อยต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับฤดูอื่นๆ
ปฏิทินจูเลียส ซีซ่าร์ (Julian Calendar) ต้นแบบของปฏิทินปัจจุบัน
ในยุคของท่านจูเลียส ซีซ่าร์ ปฏิทินฉบับนี้แพร่ไปทั่วอาณาจักรโรมันเพราะเป็นการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ครั้นสิ้นบุญของท่านซีซ่าร์ในปี 44 ก่อนคริตกาล (44 BC) จักรพรรดิ์ Augustus ขึ้นมามีอำนาจก็ได้เปลี่ยนชื่อเดือน Quintilis ให้เป็น Iuliius (July) เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน Julius Caesar ซึ่งมีฐานะเป็นคุณปู่ ขณะเดียวกันก็เปลี่ยนชื่อเดือน Sextilis เป็น Augustus (August) ตามชื่อตนเอง อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์ยังคงเรียกปฏิทินฉบับนี้ว่า Julian Calendar
โฉมหน้าของปฏิทิน Julian Calendar ที่ปรับปรุงเปลี่ยนชื่อเดือนจาก Quintilis เป็น Iulius (July) และเปลี่ยนชื่อเดือน Sextilis เป็น Augustus (August)
ถึงยุคของจักรพรรดิ์ Constantine อาณาจักรโรมันเปลี่ยนมานับถือศาสนาคาทอลิกอย่างเป็นทางการ ในปี ค.ศ. 325 (AD 325) ได้มีการสัมมนาครั้งใหญ่เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนาโดยใช้ปฏิทิน Julian เป็นหลัก เช่นการกำหนดวัน Easter Sunday โดยเริ่มต้นนับจากปรากฏการณ์ vernal equinox 21 March ตามด้วย full moon และ sunday เพราะเชื่อว่าพระเยซูสิ้นพระชนม์บนไม้กลางเขนตรงกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) ซึ่งวันนั้นเป็น full moon และ Friday ต่อมาพระองค์ฟื้นคืนชีพในอีกสามวันคือ Sunday ชาวคาทอลิกจึงเรียกวันนี้ว่า Easter Sunday
จักรพรรดิ์โรมัน Constantine จัดสัมมนาครั้งใหญ่เมื่อปี 325 AD เพื่อกำหนดวันสำคัญทางศาสนาคาทอลิกโดยใช้ปฏิทิน Julian Calendar และกำหนดให้ปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) เป็นวันที่ 21 March เพื่อตั้งต้นการนับวัน Easter Sunday ในแต่ละปี
อย่างไรก็ตามปฏิทิน Julian มีความคลาดเคลื่อน 1 วัน ต่อ 128 ปี และเมื่อถึงยุคของสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 13 (Pope Gregory XIII AD 1502 - 1585) ความคลาดเคลื่อนสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 10 วัน เนื่องจากกาลเวลาผ่านไปพันกว่าปีนับจาก 45 BC ทำให้ปรากฏการณ์ vernal equinox กลายมาเป็นวันที่ 10 March เร็วกว่าวันจริงที่กำหนดโดยจักรพรรดิ์ Constantine คือ 21 March ถึง 10 วัน เป็นปัญหาต่อการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาคือ Easter Sunday ท่าน Pope Gregory XIII จึงทำการปรับปรุงปฏิทินฉบับ Julian Calender ใหม่โดยออกประกาศให้วันศุกร์ที่ 5 October AD 1582 กลายเป็น 15 October AD 1582 และกำหนดวิธีการชดเชยเดือนกุมภาพันธ์ใหม่
การปฏิรูปปฏิทินครั้งนี้ท่าน Pope ได้อ้างอิงผลงานของนักบวชผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ชื่อ Dionysius Exiguus of Scythia Minor (มีชีวิตอยู่ระหว่าง 470 - 544 AD) คำนวณย้อนหลังว่าพระเยซูเกิดตรงกับปีไหนของปฏิทิน Julian Calendar คำตอบออกมาเป็น 525 ปีที่แล้วและตั้งชื่อปีดังกล่าวว่า Anno Domini หรือ 1 AD (แปลว่าปีแห่งพระผู้เป็นเจ้า) อย่างไรก็ตามไม่มีใครทราบเหตุผลว่าท่าน Dionysius เอาตัวเลข 525 ปีมาจากไหน แต่ด้วยความเชี่ยวชาญและผลงานด้านประวัติศาสตร์หลายเรื่องทำให้สำนักวาติกันยอมรับข้อมูลนี้อย่างเป็นทางการ
พันกว่าปีต่อมาถึงยุคของท่าน Pope Gregrorian XIII วันที่ 15 October AD 1582 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของปฏิทินฉบับใหม่ที่ประกาศใช้โดยกฏหมายของสำนักวาติกัน นับจากวันนี้ไม่มีปฏิทินชื่อ Julian Calendar อีกต่อไป ทุกคนต้องใช้ปฏิทินชื่อใหม่คือ Gregorian Calendar อย่างเป็นทางการ ยังผลให้ประเทศต่างๆในยุโรปทยอยปรับเปลี่ยนปฏิทินจาก Julian Calendar เป็น Gregorian Calendar และที่สุดของที่สุดกลายเป็นปฏิทินสากลของโลกยุคปัจจุบันเนื่องจากการขยายอิทธิพลของชาวยุโรปไปยังดินแดนต่างๆทั่วโลก
ตามกฏหมายของสำนักวาติกันทุกคนเข้านอนในคืนวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม ตามปฏิทิน Julian Calendar ตื่นเช้าขึ้นมาจะต้องยอมรับว่านี่คือวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม ปี ค.ศ.1582 ของปฏิทินฉบับใหม่ชื่อ Gregorian Calendar อนึ่ง ปฏิทินฉบับใหม่มีความแม่นยำสูงมากและจะมีการปรับชดเชย 1 วัน ในอีก 3,000 ปีข้างหน้า
หลุมศพของ Pope Gregory XIII อยู่ในวิหาร St.Peter Vatican มีภาพสลักแสดงถึงผลงานด้านดาราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงปฏิทิน
เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2549 ผมมีโอกาศไปดูงานด้านการจัดหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงโรมในนามของกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ก็ถือโอกาศค้นหาข้อมูลเรื่องนี้ไปในตัว
ในฐานะที่สนใจเรื่องราวของปฏิทินมานานแล้วผมจึงไปเยี่ยมหลุมศพของท่าน Pope Gregory XIII ในวิหาร St.Peter ที่สำนักวาติกัน คณะดูงานให้เวลาชมวิหารแห่งนี่เพียง 1 ชั่วโมง แต่สถานที่กว้างใหญ่มากไม่ทราบว่าหลุมศพของท่านอยู่บริเวณไหนถ้าจะเดินหาเองอาจหมดเวลาเสียก่อน จึงใช้วิธีสอบถามจากพระสงฆ์คาทอลิกเพื่อให้ท่านรีบนำไปยังเป้าหมายอย่างรวดเร็ว ท่านถามว่าทำไมจึงสนใจหลุมศพของ Pope Gregory XIII เพราะไม่ได้อยู่ในความสนใจของนักท่องเที่ยวทั่วๆไป จึงอธิบายว่ามีความสนใจศึกษาเรื่องราวของปฏิทิน Julian Calendar and Gregorian Calendar (จริงๆแล้วตั้งใจจะต้องไปยืนตรงนี้ให้ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม เพื่อระลึกถึง 15 October 1582 แต่ช้าเพียง 2 วัน เลยต้องมาวันที่ 17 ตุลาคม 2006)
นักบวชในยุคสำนักโรมันคาทอลิกเรืองอำนาจชื่อ Dinoyisius Exiguus (AD 470 - 544) เป็นผู้คิดระบบ "คริสต์ศักราช" หรือ AD Century (Anno Domini) โดยการคำนวณย้อนหลังไปถึงปีที่เชื่อว่าพระเยซู (Jesus Christ) ถือกำเนิด กำหนดให้ปีนั้นคือ ค.ศ. 1 (AD 1) และ 1 ศตวรรษ (1 Century) = ค.ศ. 1 - 99 (AD 1 - 99) อย่างไรก็ตามผู้คนทั่วไปไม่ชอบการนับแบบนี้จึงหันมาปรับเป็น AD 1 - 100
ระบบการนับศตวรรษแบบนักประวัติศาสตร์สากล จะเห็นว่าปัจจุบันเราๆท่านๆอยู่ในศตวรรษที่ 21 (2000 AD - 2999 AD)
จักรราศี .... ทำให้เดือน "กุมภาพันธ์" ของปฏิทินสากลมี 28 - 29 วัน
ถึงตอนนี้ทุกท่านทราบแล้วว่าปฏิทินเกรกอเรี่ยน (Gregorian Calendar) ปัจจุบันเรียกว่าปฏิทินสากล (Civil Calendar) มีต้นกำเนิดจากปฏิทินจูเลี่ยน (Julian Calendar) ของท่านจูเลียส์ ซีซ่าร์ ซึ่งมีกลิ่นอายของปฏิทินอียิปส์ปะปนอยู่ข้างใน ดังนั้น "จักรราศี" ตามความเชื่อของอียิปส์ก็เป็นเงาเกาะติดปฏิทินสากลชนิดไปไหนไปกัน ที่สำคัญมีเรื่องของตำรา "โหราศาสตร์" เข้ามาเกี่ยวข้องก็ยิ่งทวีความขลัง ...... ขณะเดียวกันคำถามที่น่าสนใจคือ ..... ทำไมเดือนกุมภาพันธ์จึงมี 28 - 29 วัน ผิดกับเดือนอื่นๆที่มี 30 - 31 วัน
เมื่อครั้งท่านจูเลียส์ ซีซ่าร์ สร้างปฏิทิน Julian Calendar ตามหลักการของปฏิทินอียิปส์ซึ่งมีเรื่องความเชื่อ "จักราศี" เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้จำเป็นต้องเทียบเคียงระหว่างปฏิทินทั้งคู่ เป็นที่ทราบแล้วว่าปีสุริยคติของอียิปส์มี 365 วัน และเพิ่มอีกหนึ่งเป็น 366 ทุกๆ 4 ปี เพื่อปรับให้ปฏิทินกับฤดูกาลมีความสอดคล้องกัน ปฏิทิน Julian Calendar ก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกำหนดให้แต่ละเดือนมี 30 - 31 วัน (ตามเหตุผลความเชื่อและประเด็นทางการเมือง) ในที่นี้เดือนกุมภาพันธ์ถูกกำหนดให้อยู่ในช่วง "ราศีมีน" เป็นอันดับสุดท้ายของจักรราศี ขณะที่เดือนอื่นๆเอาโควต้าจำนวน 30 - 31 วัน ไปหมดแล้วและเหลือเศษให้ "กุมภาพันธ์" เพียง 28 วัน ครบ 4 ปี แถมให้อีก 1 เป็น 29 วัน เรียกง่ายๆว่าเป็นขนมเค็กก้อนสุดท้ายยังไงก็ต้องเอาเพราะเหลือแค่นี้
ชาวสุเมเรี่ยนในดินแดนเมโสโปเตเมีย (ปัจจุบันประเทศอีรัก) เป็นชาติแรกที่คิดค้น "จักรราศี" และสร้างให้เป็นปฏิทินเมื่อราวๆ 5,000 ปีที่แล้ว
การตั้งชื่อ "จักรราศี" ในภาษาสุเมเรี่ยนเมื่อ 2300 BC (ห้าพันกว่าปีที่แล้ว) เปรียบเทียบกับชื่อจักรราศีในปัจจุบัน
ชาวสุเมเรี่ยนใช้จิตนาการสร้าง "จักรราศี" จากกลุ่มดาวฤกษ์ที่มองเห็นเป็นรูปร่างต่างๆ โดยแบ่งท้องฟ้าตามสุริยะวิถีเป็น 12 ส่วนๆละ 30 องศา (30 x 12 = 360 องศา) แต่ละส่วนมีกลุ่มดาวฤกษ์เป็นสัญลักษณ์และตั้งชื่อตามจินตนาการ เมื่อโลกเคลื่อนตัว (ทวนเข็มนาฬิกา) ภาพของกลุ่มดาวฤกษ์ที่เป็นฉากหลังดวงอาทิตย์จะเปลี่ยนไปเป็นราศีตัวใหม่และไปเรื่อยๆจนครบ 12 ราศี เรียกว่า 1 ปี
มรดกเรื่องจักรราศีของชาวสุเมเรี่ยนถูกถ่ายทอดไปยังอารยธรรมอียิปส์และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของวิชาโหราศาสตร์เมื่อสามพันปีที่แล้ว
ราศีเมษ (Zodiac Aries) ถูกกำหนดให้เป็นราศีแรกของจักรราศีทั้งสิบสอง
เหตุผลที่ "ราศีเมษ" (Zodiac Aries) ถูกกำหนดให้เป็นราศีแรกเนื่องจากดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวฤกษ์นี้ตรงกับปรากฏการณ์ "กลางวันเท่ากับกลางคืน ฤดูใบไม้ผลิ" ปัจจุบันเรียกว่า "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) ขณะเดียวกันวิชาโหราศาสตร์ก็เริ่มรุ่งเรืองในยุคนี้ ราศีเมษจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ "ปีแห่งจักรราศีทั้งสิบสอง"
ราศีมีน (Zodiac Pisces) เป็นราศีสุดท้ายของจักรราศีสิบสอง
เปรียบเทียบระหว่างปฏิทินจักรราศีกับปฏิทินสากล
อนึ่งถ้าท่านจูเลียส ซีซ่าร์ จับพลัดจับพลูมาได้ภรรยาที่อาณาจักรแห่งชมพูทวีป รับรองว่าปฏิทินสากลจะมีหน้าตาเหมือน "ปฏิทินมหาศักราช" (Saka Calendar) วัน New Year ตรงกับปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) 21 มีนาคม อนึ่ง ปฏิทินฉบับใช้ในอาณาจักรขอม อาณาจักรสุโขทัย และอยุธยาตอนต้น การแบ่งโควต้าจำนวน 30 - 31 วัน ถูกกำหนดให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ (ไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง) โดยเดือนที่อยู่ในช่วง "กลางวันยาวกว่ากลางคืน" เอาโควต้าไป 31 วัน และเดือนที่อยู่ในช่วง "กลางวันสั้นกว่ากลางคืน" เอาไป 30 วัน ทุก 4 ปี ปรับเพิ่มให้เดือนไจตระ (Chaitra) อีก 1 วัน เพื่อให้มีความสอดคล้องกับฤดูกาลของสุริยคติ
ประเทศไทยใช้ 1 January เป็นวันปีใหม่เมื่อใด
อ้างอิงข้อมูลจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Buddhist_calendar พบว่าประเทศไทยประกาศใช้พุทธศักราชอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ.1912 หรือ พ.ศ.2455 ในรัชกาลที่ 6 โดยกำหนดเป็นปฏิทินสุริยคติตามรูปแบบของปฏิทิน Gregorian และให้วันปีใหม่ตรงกับ 1 เมษายน ครั้นมาถึงยุคของนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เจ้าของสโลแกน "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" ท่านมีความเห็นว่าเราต้องมีความสากลเฉกเช่นอารยประเทศจึงออกกฏหมายประกาศให้ปีใหม่ตรงกับ 1 มกราคม พ.ศ.2484 (ทำให้ปี พ.ศ.2483 เหลือเพียง 9 เดือน) และกำหนดใช้สูตร AD + 543 ปี = ปีพุทธศักราช ดังนั้นพี่ไทยอย่างเราๆท่านๆในปัจจุบันจึงชินกับ Happy New Year 1 January ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ผู้ประกาศให้ปีใหม่ตรงกับ 1 มกราคม พ.ศ.2484
Countdown Happy New Year แต่ละประเทศไม่ตรงกัน
ในทางดาราศาสตร์ที่ว่าด้วย time zone ของโลก แต่ละประเทศจะ countdown ไม่ตรงกันเพราะตั้งอยู่คนละเส้นแวง (longitude) เช่น ประเทศไทยจะ Happy New Year ก่อนกรุงลอนดอน 7 ชั่วโมง และก่อนประเทศสหรัฐอเมริการาว 12 - 14 ชั่วโมง แต่ประเทศที่ countdown ก่อนเพื่อนคือ New Zealand เพราะอยู่ที่ทิศตะวันออกสุดของข้อตกลงที่เรียกว่า International Date Line
แผนที่ World Time Zone ประเทศไทยอยู่ที่ +7 GMT ส่วนมาเลเซียอยู่ที่ +8 GMT คนมาเลย์จึง Happy New Year ก่อนเรา 1 ชั่วโมง
แผนที่แสดง International Date Line ประเทศที่อยู่ใกล้มากที่สุดคือ New Zealand ดังนั้นชาวเผ่าเมารี ที่นั่นจะ Happy New Year ก่อนใครในโลกใบนี้
ข้อถกเถียงที่ยังไม่มีบทสรุป
เราๆท่านทราบดีว่า "คริสต์ศักราช" เริ่มต้นที่ AD1 นับจากปีที่พระเยซูกำเนิด สูตรนี้เกิดขึ้นจากการคำนวณย้อนหลังโดยนักบวชศาสนาคริตส์ชื่อ Dionysius Exiguus (AD 470 - 544) ท่านอนุมาณว่า AD 1 เกิดขึ้น 525 ปีย้อนหลังในปฏิทิน Julian Calendar ไม่มีใครทราบเหตุผลที่แท้ว่าท่านนักบวชผู้นี้ใช้หลักฐานอะไรมาคำนวณ และความเป็นจริงตามประวัติศาสตร์โรมันก็ไม่ได้บันทึกเรื่องราวของพระเยซูว่าท่านได้ประสูติหรือสิ้นพระชนม์เมื่อใด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้ข้อมูลของนักบวชท่านนี้โดยปริยาย พันกว่าปีต่อมาท่านสันตปาปาเกรกอร์รี่ 13 (Pope Gregory XIII) แห่งสำนักวาติกันประกาศปรับปรุงปฏิทิน Julian Calendar ใหม่เมื่อเดือนตุลาคม AD 1582 และเริ่มต้นใช้ปฏิทิน Gregorian Calendar ตั้งแต่นั้นมาจนกลายเป็นปฏิทินสากลตราบทุกวันนี้
อย่างไรก็ตามนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ตั้งคำถามว่า AD 1 ตรงกับปีเกิดของพระเยซูจริงหรือ? เพราะจากหลักฐานประวัติศาสตร์โรมันประกอบกับพระคำภีร์ไบเบิ้ลฉบับ New Testament ระบุว่าช่วงปีที่พระเยซูกำเนิด King Herod ยังมีชีวิตอยู่และได้สั่งฆ่าเด็กเกิดใหม่จำนวนมากในเหตุการณ์ The Great Massacre และต่อมา King Herod เสียชีวิตในปี 4 BC ก็แสดงว่าพระเยซูน่าจะประสูติในปี 4 BC หรือก่อนหน้านั้น หากเป็นเช่นนี้ AD 1 ก็น่าจะถอยหลังไปราว 4 ปี หรือมากกว่านั้น
King Herod กับเหตุการณ์สั่งฆ่าเด็กเกิดใหม่ทุกคนในกรุงเยรูซาเลม (The Great Massacre)
ความเป็นมาของปฏิทินสากลเริ่มต้นจาก Julian Calendar ในยุคชองท่านแม่ทัพโรมัน Julius Caesar และ Pharoah Creopatra และต่อมาได้มีการคำนวณจุดเริ่มต้นของ Anno Domini (AD 1) โดยนักบวชคริสต์ชื่อ Dionysius Exiguus และลงท้ายที่การปรับแก้ปฏิทิน Julian Calendar ให้เป็นปฏิทิน Gregorian Calendar ในปี AD 1582 โดย Pope Gregory XIII ซึ่งแพร่หลายไปทั่วโลกกลายเป็นปฏิทินสากลในปัจจุบัน
ไปเยี่ยมชมสถานที่ประสูติของพระเยซูที่ The Church of Nativity at Bethlehem ประเทศอิสราเอล เมื่อปี 1978 (ปัจจุบัน Bethlehem อยู่ในการปกครองของประเทศ Palestine ตามข้อตกลงสันติภาพ Camp David Agreement 1979)
คืนวันที่ 24 December 1978 อยู่ที่ Mt.Carmel International Training Center Haifa ประเทศอิสราเอล และร่วมเล่นละครแต่ตัวเป็นหนึ่งใน the three magi
โปรแกรมดาราศาสตร์คำนวณย้อนหลังพบว่า Star of Betlehem หมายถึง Jupiter and Venus ขึ้นประกบกับราศี Leo ชาวโรมันเชื่อว่านี่คือฤกษ์กำเนิดของผู้ยิ่งใหญ่ เพราะ Jupiter คือตัวแทนของกษัตริย์ Venus แสงถึงบารมีอันทำให้มีคนรักมากมาย ส่วนราศี Leo เป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจ นักปราชญ์สามคน (The Three Magi) เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวรู้ดีว่าต้องมีบุคคลสำคัญถือกำเนิดจึงเดินทางมาคารวะโดยออกเดินทางตั้งแต่เดือนต้นสิงหาคมและมาถึงตำบล Bethlehem ปลายเดือนธันวาคมและพบการกำเนิดของพระกุมารที่ถ้ำเลี้ยงสัตว์
คำถาม ........ทำไมนักโบราณคดีจึงสามารถอ่านภาษาอียิปส์ได้
ข้อมูลดาราศาสตร์ของอียิปส์ถูกถ่ายทอดออกมามากมายเพราะนักโบราณคดีสามารถอ่านภาษาอียิปส์ได้อย่างดี ...... เป็นอะไรที่น่าสงสัย?
คำตอบ ...... ราวสามร้อยปีก่อนคริสตกาลกษัตริย์ชาวมาซีโดเนีย (พูดภาษากรีก) ชื่อ Alexander the Great ยกกองทัพอันเกรียงไกรเข้าสู่อาณาจักรอียิปส์หลังจากบดขยี้กองทัพชาวเปอร์เชียที่ปกครองดินแดนนแถบนั้นจนราบคาบ ทันทีที่ท่านแม่ทัพอเล็กซานเดอร์ย่างเท้าเข้าไปชานเมืองชาวอียิปส์ออกมาต้อนรับอย่างดี และแต่งตั้งให้เป็นฟาร์โร ด้วยเหตุผล 2 ประการ
1. อเล็กซานเดอร์เป็นผู้ปลดปล่อยอาณาจักรอียิปส์จากเปอร์เชียซึ่งปกครองอย่างข่มเหงกดขี่
2. มีข่าวลือในหมู่ชาวอียิปส์ว่าอเล็กซานเดอร์เป็นลูกชายลับๆระหว่างฟาร์โรกับพระนางเฮเลน่าแห่งมาซีโดเนีย ดังนั้น บุตรชายของฟาร์โรจึงเปรียบเสมือนเทพเจ้า
ท่านแม่ทัพอเล็กซานเดอร์จึงไม่ต้องออกแรงอะไรเลย ได้เป็นฟาร์โรโดยอัตโนมัติ หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในอียิปส์ประมาณหนึ่งปีก็มอบหมายให้เพื่อคู่ใจชื่อ "นายพลปโตเลมี" (Ptolemy) รักษาการแทน และก็ออกเดินทางไปรบต่อในดินแดนเปอร์เชียเพื่อล้างตาให้สิ้นซากของศัตรู หลังจากนั้นก็ไม่ได้กลับมาอีกเลยจนเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำที่กรุงบาบืโลน นายพลปโตเลมีจึงถือโอกาสประกาศตัวเป็นราชวงศ์ใหม่ของอียิปส์ (Ptolemaic Dynasty) และตั้งตัวเองเป็นฟาร์โรคนแรกของราชวงศ์ ......... ปกครองอียิปส์นานถึง 300 ปี จนถึงวาระของฟาร์โรองค์สุดท้ายคือพระนางคลีโอพัตรา หลังจากนั้นอียิปส์ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน
ในข่วงที่ราชวงศ์ปโตเลมีปกครองอียิปส์อย่างยาวนานนักวิชาการชาวมาซีโดเนียและกรีกได้เรียนรู้ภาษาอียิปส์จนอ่านเขียนได้คล่องแคล่ว และจัดทำศิลาจารึกที่เมือง Rosetta และแท่ง Obelisk ชื่อ Philae เป็น Dictionary ระหว่างภาษากรีกกับภาษาอียิปส์ ปัจจุบันศิลาจารึกถูกเก็บรักษาและตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์กรุงลอนดอน ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวกรีกสามารถอ่านภาษาอียิปส์ได้อย่างสบายๆและเป็นประโยชน์ต่อวงการโบราณคดีอย่างมาก ข้อมูลดาราศาสตร์ของอาณาจักรอียิปส์จึงได้รับการเปิดเผยและถ่ายทอดตราบจนปัจจุบัน
ชาวอียิปส์ต้อนรับท่านแม่ทัพอเล็กซานเดอร์ราวกับเห็นพระมาโปรด
ข้อความ 3 ข้อ กล่าวถึง
1. ชาวอียิปส์ยินดีต้อนรับท่านแม่ทัพอเล็กซานเดอร์ในฐานะผู้ปลดปล่อยจากอำนาจของเปอร์เชีย
2. ชาวอียิปส์ถือว่าท่านแม่ทัพอเล็กซานเดอร์คือฟาร์โรถูกต้องตามประเพณี
3. ท่านแม่ทัพอเล็กซานเดอร์ตัดสินใจตามหา "คำประกาศิตของเทพเจ้า" ประโยคนี้เป็นที่มาของข่าวลือว่าท่านเป็นบุตรลับๆของฟาร์โรและมีฐานะเสมือนเทพเจ้า
การสถาปนาฟาร์โรองค์แรกของราชวงศ์ปโตเลมี
พระนางคลีโอพัตราฟาร์โรองค์สุดท้ายของอียิปส์ หลังจากนั้นอียิปส์กลายเป็น
ส่วนหนึ่งของอาณาจักรโรมัน
ศิลาจารึก Rosetta เป็นเสมือน Dictionary ระหว่างภาษากรีกกับอียิปส์
ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กรุงลอนดอน
รูปร่างหน้าตาของคำจารึกในรูปแบบสองภาษา
แท่งหิน Philae Obelisk ที่มีคำจารึกสองภาษา
สรุป
วันปีใหม่ 1 มกราคม เริ่มต้นเมื่อ 45 ปี ก่อนคริตกาล (45 BC) โดยยอดนักรบจูเลียส ซีซ่าร์ ได้รับการสนับสนุนเชิงวิชาการจากนักดาราศาสตร์ชาวกรีกเด็กในสังกัดของพระนางคลีโอพัตราฟาร์โรองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรอียิปส์ ....... ส่งต่อมายังโป้ปเกรกอรี่ที่ 13 แห่งกรุงโรม ปี ค.ศ.1582 (1582 AD) ....... ปิดท้ายที่ประเทศไทยด้วยการประกาศเป็นกฏหมายให้เริ่มใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 (AD 1941) โดยท่านนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม
Happy New Year ทุกท่านครับ