ทำนาน้ำน้อย........ แต่ผลผลิตสูงเป็นไปได้หรือไม่ ?
.jpg)
พี่ไทยอย่างเราๆท่านๆเคยชินกับคำกล่าวที่ว่า "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว" มานานร่วมพันปี เพราะเราอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบ "มรสุม" มีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมากเฉลี่ยปีละ 1,500 - 1,800 มม. นาข้าวของเราจึงอุดมไปด้วย "น้ำขัง" เป็นสภาพปกติเห็นกันทั่วประเทศ........เรายังไม่ค่อยคุ้นกับศัพท์ทางวิชาการ "เอลนิงโย่" (El Nino) ที่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากฝนตกตามฤดูกาลไปเป็น "ฝนทิ้งในระยะเวลานาน" อนึ่งนาข้าวหลายล้านไร่พึ่งพาระบบชลประทานจากเขื่อนน้อยใหญ่แต่ไม่ได้ฉงนว่า "เขื่อนก็ไม่ต่างกับโอ่ง" ถ้าไม่มีน้ำฝนมาเติมเขื่อนจะเอาน้ำมาจากไหน
ภัยแล้งและวิกฤตน้ำปี 2558 เป็นเพียงหมัดแย้ปของธรรมชาติเตือนให้ตระหนักว่า.......น่าจะถึงเวลาทบทวนวิธีการทำนาจากใช้น้ำมากแบบท่วมขัง......เป็นใช้น้ำน้อยแต่ให้ผลผลิตสูง หลายท่านคงถามว่า "จริงหรือ....เป็นไปได้หรือ" ในฐานะที่ผมคุ้นเคยอยู่กับโครงการเกษตรชลประทานมาตั้งแต่ปี 2522 และช่วงหนึ่งไปร่วมประชุมการจัดการทรัพยากรน้ำแห่งเอเซียอาคเนย์ ครั้งที่ 2 เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2548 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยการสนับสนุนของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ได้พบกับนักวิชาการเกษตรที่นั่นได้ชมการบรรยายและดูงานในพื้นที่โครงการส่งเสริมการทำนาแบบใช้น้ำน้อย (System of Rice Intensification: SRI) เขาใช้สโลแกนแบบท้าทายว่า ผลผลิตสูง แต่ใช้น้ำน้อย (More Rice with Less Water) ตอนนั้นผมยังทำราชการในตำแหน่งเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม และย้ายมาที่จังหวัดสกลนครจนเกษียณในปี 2552 ผมได้พยายามพูดคุยกับเพื่อนข้าราชการกระทรวงเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร แต่ตอนนั้นเรายังไม่มีปัญหาภัยแล้งทุกท่านก็ยังไม่ตื่นเต้นอะไรกับเรื่องนี้ เข้าทำนองยังไม่เห็นโลงศพก็ยังไม่หลั่งน้ำตา........มาถึงวันนี้ 2558 ภัยแล้งกลายเป็นปัญหาใหญ่มากถึงมากที่สุด ผมจึงใคร่ขอเสนอแนวคิดการทำนาแบบใช้น้ำน้อยเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

คำพูดจากชาวนาที่เกาะบาหลี "ใช้น้ำน้อย แต่ผลผลิตสูง" More Rice with Less Water
ฟังเผินๆไม่น่าจะเป็นไปได้อะไรจะดีขนาดนั้นเชียวรึ ? แต่เมื่อมาพิจารณาถึงหลักวิชาการเกษตรที่แท้จริง ตั้งแต่ครั้งเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรแห่งรัฐปันจาบ ประเทศอินเดีย (2513 - 2517) อาจารย์ที่สอนวิชาพืชไร่นา (Agronomy) บอกว่า "ข้าวเป็นพืชที่ปรับตัวได้เก่งที่สุดเมื่อเทียบกับพืชชนิดอื่นๆ" ตอนนั้นผมยังเป็นวัยรุ่นไม่มีโลกทัศน์มากนักก็ไม่ได้คิดอะไร จบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์สาขาเกษตรสัตวบาล (BSc.Agriculture and Animal Husbandry) กลับมาทำงานกับกระทรวงมหาดไทยในตำแหน่งพัฒนากรตรีที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล ก็เห็นพี่น้องทำนาแบบน้ำเจิ่งนอง โอนมาอยู่สำนักงานจัดรูปที่ดินกลาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อ 2526 ประจำอยู่ที่โครงการชลประทานน้ำอูน จังหวัดสกลนคร ก็เห็นทุ่งนาเต็มไปด้วยน้ำ เป็นเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนมและสกลนคร 2545 - 2552 ก็ยังเห็นทุ่งนามีน้ำเจิ่งนอง เกษียณเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2552 และได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชา "การให้น้ำชลประทานกับพืช" ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร ...... มาถึงตอนนี้ผมต้องศึกษาข้อมูลย้อนหลังเพื่อใช้ในการสอนนิสิตเกษตรปี 3 และปี 4 ต้องหยิบเรื่องการทำนาแบบใช้น้ำน้อย System of Rice Intensification :SRI ขึ้นมาปัดฝุ่น จึงรู้ว่า "ข้าวไม่ได้ต้องการน้ำมากถึงขนาดท่วมขังตลอดเวลา" ถ้าเราสามารถปรับให้น้ำและอากาศในดินเข้าสู่จุดสมดุลจะทำให้ระบบรากเจริญเติบโตได้มาก การดูดกินสารอาหารก็จะมีประสิทธิภาพยังผลให้ได้ผลผลิตสูงตามศักยภาพของสายพันธ์ุนั้นๆ

การปลูกข้าวแบบใช้น้ำน้อยแต่ผลผลิตสูง (System of Rice Intensification: SRI) คืออะไร
การประชุมที่เกาะบาหลีครั้งนั้นทำให้ผมมีโอกาสพบปะพูดคุยกับนักวิชาการเกษตรที่นั่น และได้เรียนรู้เทคนิคการทำนาแบบ SRI พร้อมทั้งดูงานในพื้นที่จริง พบว่าวิธีการปลูกข้าวแบบนี้มีขั้นตอน
1. เตรียมดินให้ละเอียดกำจัดวัชพืชให้หมดจด
2. ตกกล้าเพียง 7 - 10 วัน และปักดำเพียง "ต้นเดียว" ที่ระยะ 30 ซม. x 30 ซม.
3. ให้น้ำในระยะแรกเพียงปริ่มๆเพื่อให้ข้าวตั้งตัวได้ และเมื่อข้าวเริ่มแตกกอสักระยะอาจจะมีการพรวนดินโดยใช้อุปกรณ์ขนาดเล็ก เหมือนการพรวนดินในพืชไร่
4. จากนั้นก็ทะยอยรักษาระดับน้ำให้เพียงชุ่มๆ ไม่ต้องท่วมขัง ดูแล้วทำให้นึกถึงคำว่า "ความชื้นสนาม" (Field capacity)
5. ต้องมีการกำจัดและควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ

ระบบการชลประทานแบบ "กระจายน้ำในระดับแปลงนา" (On-farm Water Distribution) ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย

การเตรียมดินอย่างละเอียดเพื่อกำจัดวัชพืชให้หมดจด และตีตารางเป็นเครื่องหมายในการปักดำต้นกล้า


เพาะกล้าขนาดเล็กเพียง 7 - 10 วัน เท่านั้น

ปักดำแบบ "กล้าต้นเดียว"


เมื่อข้าวเริ่มแตกกอได้ระหนึ่ง ก็มีการพรวนดินเพื่อกำจัดวัชพืชอีกครั้ง
.jpg)


ให้น้ำพอดินชื้นๆไม่ต้องท่วมขัง


กล้าเพียงต้นเดียวสามารถแตกกอได้มากเพราะระบบรากได้รับอากาศและน้ำในอัตราที่สมดุล


เปรียบเทียบผลผลิตระหว่างการทำนาแบบน้ำน้อย SRI กับการทำนาแบบเดิม
จุดสำคัญของการทำนาแบบ SRI อยู่ที่การเจริญของระบบรากเพราะได้รับน้ำและอากาศในอัตราที่สมดุล ทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตได้เท่าตัว

สถาบันวิจัยการเกษตรที่ประเทศอินเดียมีการทดลองปลูกข้าวด้วยระบบน้ำหยด โดยใช้คำพูดอย่างท้าทายว่า .......ท่านจะเชื่อไม้?

ชาวนาปลูกข้าวด้วยระบบน้ำหยดจากรัฐ Tamil Nadu India ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นปี 2015

เกษตรกรดีเด่นปลูกข้าวด้วยระบบน้ำหยดได้ผลผลิต 1.4 ตัน / ไร่ ได้รับรางวัลจากสถาบันวิจัยข้าวแห่งชาติอินเดีย (Indian Institute of Rice Research: IIRR) โดยใช้วาทะกรรมเฉียบคมว่า "ความคิดเล็กๆ คือการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่"

ปี พ.ศ.2526 ไปดูงานการชลประทานกับการปลูกข้าวที่รัฐ California USA เห็นการให้น้ำชลประทานในนาข้าวแบบปล่อยน้ำขัง (Flooded Irrigation)

มาถึง พ.ศ.2557 รัฐ California มีปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่องจนไม่มีน้ำชลประทานเพียงพอต่อการทำนาแบบดั้งเดิม ท่านผู้ว่าราชการรัฐ Mr Jerry Brown ได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอิสราเอล ท่านนายกรัฐมนตรี Benjamin Netanyahu เดินทางไปลงนามในความร่วมมือทางวิชาการ

รัฐบาลอิสราเอลส่งผู้เชี่ยวชาญการจัดการน้ำจากมหาวิทยาลัยเบนกูเรี่ยน และบริษัทเนต้าฟีม ไปทำแปลงระบบน้ำหยดที่รัฐแคลิปฟอร์เนีย
ทางเลือกของชาวนาอีสาน
ผมทราบว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบาย "ห้ามทำนาปรัง" และให้ปลูกพืชไร่ชนิดต่างๆเป็นการทดแทนด้วยเหตุผล "น้ำชลประทานเหลือน้อย" ในความเห็นส่วนตัวของผมถ้าชาวนายังต้องการปลูกข้าวนาปรังต่อไปก็น่าจะให้ใช้เทคโนโลยี "นาข้าวใช้น้ำน้อย เท่ากับพืชไร่" และปรับเปลี่ยนจากพันธ์ุข้าวดั้งเดิมให้เป็นพันธุ์ที่มีคุณภาพสูง อาทิ ข้าวไรซ์เบอรี่ โดยให้ศูนย์วิจัยข้าวสกลนครเป็นผู้ริเริ่มทำแปลงทดสอบในสถานี และแปลงทดสอบในนาเกษตรกรอาสาสมัคร เพื่อให้เห็นความเป็นไปได้ของระบบ SRI
ในเมื่อเพื่อนบ้านในกลุ่มประชาคมอาเซี่ยนอย่าง "พี่น้องชาวอิเหนา" ได้ออกตัวเทคนิคการทำนาแบบน้ำน้อยแต่ผลผลิตสูง และดูแล้วก็ไม่ได้มีอะไรลึกลับซับซ้อนจนถึงขั้นต้องใช้นักวิชาการระดับโปเฟสเซ่อร์ ภาษาอีสานอาจพูดว่า "บักหำและอีนางบ้านได๋ก็เฮ็ดได้" กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็น่าจะสั่งการให้กรมการข้าวทดลองริเริ่มดู ถ้ายังไม่สะใจก็ขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษพาเจ้าหน้าที่ไปดูงานที่เกาะบาหลี ผมว่ามันคงถึงเวลาแล้วครับเราต้องมาช่วยกันพัฒนารูปแบบการปลูกข้าวโดยใช้หลักการ More Rice with Less Water
สาขาวิชาพืชศาสตร์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เริ่มการทดลองปลูกข้าวใช้น้ำน้อยแบบ SRI เพื่อพิสูจน์ว่า More Rice With Less Water เป็นไปได้หรือไม่?
ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครได้ประสานกับอาจารย์ ดร.พิจิกา ทิมสุกใส ประธานสาขาวิชาพืชศาสตร์ ให้เป็นหัวหน้าทีมในการทดลองครั้งนี้ เริ่มในเดือนมิถุนายน 2559 และนี่คือผลการทดลองเป็นครั้งแรก

ภาพเปรียบเทียบการทำนาแบบปักดำต้นเดียวกับการปักดำทั่วๆไป

อาจารย์ญัฐพงษ์ วงษ์มา ดำเนินการเพาะกล้าแบบ "ต้นเดียว" โดยใช้ข้าวสองพันธ์ุคือ หอมมะลิ 105 กับ หอมนิล
กล้าต้นเดียวที่พร้อมปักดำใช้เมล็ดพันธ์ุเพียงไม่เกิน 3 ขีด ต่อไร่ หรือ 1 กิโลกรัมปลูกได้ 3 ไร่ ขณะที่นาดำทั่วๆไปใช้เมล็ดพันธ์ุ 5 - 7 กิโลกรัม ต่อไร่

แบ่งการทดลองออกเป็น 2 ระบบ คือแปลงให้น้ำและสารอาหารแบบ fertigation กับแปลงปลูกแบบธรรมดา

การให้สารอาหารชนิดปุ่ยอินทรีย์น้ำโดยจ่ายพร้อมกับระบบน้ำหยด เรียกว่า Fertigation (Fertilization + Irrigation)

อุปกรณ์การให้น้ำและสารอาหารปุ๋ยอินทรีย์น้ำแบบ Fertigation ผลิตจากใส้เดือนโดยอาจารย์วรางรัตน์ เสนาสิงห์

บ่อเลี้ยงใส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ โดยอาจารย์วรางรัตน์ เสนาสิงห์

ปุ๋ยอินทรีย์ผงจากการเลี้ยงใส้เดือน
.jpg)

น้ำและปุ๋ยอินทรีย์น้ำจากการเลี้ยงใส้เดือนผ่านระบบ Fertigation

การทดลองอีกแปลงเป็นการปล่อยน้ำเพื่อกำจัดวัชชพืชในระยะปักดำ

ลดระดับน้ำให้เหลือเพียงชุ่มที่หน้าผิวดิน หลังจากกำจัดวัชพืชเรียบร้อยแล้ว
.jpg)
วัชพืชถูกกำจัดด้วยน้ำและถูกต้นข้าวแตกกอปกคลุมดินป้องกันไม่ให้วัชพืชได้รับแสงแดด

ข้าวที่ปักดำเพียงต้นเดียวกำลังเริ่มแตกกอ

เปรียบเทียบกล้าต้นเดียวกับการแตกกอ

จากกล้าเพียงต้นเดียวแตกกอได้มาก

ข้าวหอมนิลออกดอกก่อนข้าวหอมมะลิ 30 วัน

นักศึกษากำลังเก็บเกี่ยวข้าวหอมนิล

ข้าวหอมมะลิเติบโตได้อย่างดีโดยไม่ต้องมีน้ำขังในแปลง

ข้าวหอมมะลิแปลงที่ใช้ปุ๋ยเคมีจะมีลำต้นสูง

แปลงข้าวหอมมะลิที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์จะมีความสูงไม่มากเท่ากับแปลงที่ใช้ปุ๋ยเคมี

ข้าวหอมมะลิใช้ปุ๋ยอินทรีย์ใกล้ที่จะเก็บเกี่ยว
เป้าหมายสุดท้ายที่อยากเห็น
เป็นความฝันของนักเกษตรที่ต้องวางเป้าหมายให้ข้าวหอมมะลิได้ผลผลิตสูงสุด 1,280 กก./ไร่ โดยมีองค์ประกอบดังภาพ
.jpg)
เป้าหมายผลผลิตอยู่ที่ระดับ 1,280 กก / ไร่ หรือทำนา 1 ไร่ให้ได้ผลผลิตเท่ากับ 4 ไร่ ของนาทั่วๆไป โดยตั้งสูตรไว้ที่ ปักดำ 1 ต้นกล้าที่ระยะ 50 cm x 50 cm (จำนวน population 6,400 กอ) ในแต่ละกอจะได้ข้าว 40 รวงๆละ 200 เมล็ด (น้ำหนัก 5 กรัม / รวง ที่ความชื้น 14%)
ผลการทดลอง ปี 2559
.jpg)
ประมาณการผลผลิตเพื่อหาความเป็นไปได้ (Potential Yield) จากแปลงทดลองปีแรก 2559
.jpg)
ตารางเปรียบเทียบระหว่าง ผลผลิตข้าวหอมมะลิ (ตามเป้าหมาย) VS ค่าความเสียหาย เช่น ถ้าค่าความเสียหาย = 25% จะได้ผลผลิต 960 Kg / Rai
.jpg)
เป็นที่น่าสังเกตว่าการใช้ปุ๋ยอินทรีย์มีผลต่อ "น้ำหนักเมล็ด"
ผลการทดลองปี 2560
.jpg)


.jpg)
.jpg)


ผลผลิตจากการทดลองปี 2560 ได้ 363 กก. /ไร่ (ดินในแปลงทดลองมีอินทรีย์วัตถุเพียง 0.8%) หากปลูกในดินที่มีอินทรีย์วัตถุ 1- 1.5% น่าจะได้ผลผลิต 500 - 600 กก. / ไร่
สรุป
1.จากการทดลอง 2 ปี พบว่าการปลูกข้าวหอมมะลิโดยใช้น้ำน้อย "มีความเป็นไปได้" แต่ต้องปรับปรุงให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ และหาวิธีจัดการวัชพืชที่เหมาะสมและประหยัดน้ำมากขึ้น
2. การปลูกข้าวใช้น้ำน้อยน่าจะได้ของแถมด้านสิ่งแวดล้อม คือลดการปล่อย Greenhouse gases เช่น Methane gas ที่ก่อให้เกิดภาวะ "โลกร้อน" ขณะเดียวกันก็เป็นการลดภาระน้ำชลประทานไปในตัว
