Operation Rahu Episode III วัดระยะทางจากโลกไปดวงจันทร์ ปฏิบัติการข้ามทวีประหว่างไทยกับอเมริกา
วันที่ 4 เมษายน 2558 เกิดปรากฏการณ์ "จันทรุปราคาเต็มดวง" วันที่ 4 เมษายน 2558 มองเห็นได้ทั้งทวีปเอเซีย และทวีปอเมริกาเหนือ ในวันดังกล่าวผมอยู่ที่บ้าน Broken Arrow รัฐ Oklahoma USA ได้ประสานงานกับเพื่อนๆที่เป็นมัคคุเทศก์อาชีพที่เมืองไทยให้ช่วยถ่ายภาพ "ราหูอมจันทร์" ลงใน Facebook เพื่อผมจะได้ใช้ภาพดังกล่าวมาคำนวณระยะทางจากโลกไปดวงจันทร์ ด้วยสมการใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาเมื่อครั้ง Operation Rahu Episode II 8 ตุลาคม 2557 การคำนวณครั้งนี้ผมใช้ทั้งภาพราหูอมจันทร์ที่อเมริกาและภาพที่เมืองไืทยเพื่อเปรียบเทียบกัน
แผนที่แสดงบริเวณประเทศต่างๆที่มองเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ในการนี้ผมอยู่ที่รัฐโอคลาโฮม่า สหรัฐอเมริกา จะเริ่มเห็นประมาณ 04:00 น. เช้ามืดวันที่ 4 เมษายน 2558 (ตามเวลาท้องถิ่นที่อเมริกา) ส่วนที่ประเทศไทยเริ่มเห็นประมาณ 19:00 น.ตอนคำ่วันที่ 4 เมษายน 2558
พระจันทร์เต็มดวงขึ้นตอนหัวค่ำของวันที่ 3 เมษายน 2558 ทางทิศตะวันออก (ด้านหลังของบ้านผมที่เมือง Broken Arrow รัฐ Oklahoma USA)
ตอนเย็นขณะดวงอาทิตย์กำลังลับขอบฟ้าวันที่ 3 เมษายน 2558 เห็นดาวศุกร์ (Venus) ขึ้นทางทิศตะวันตก
ตื่นตอน 04:00 เช้ามืดวันที่ 4 เมษายน 2558 เห็นดวงจันทร์มาอยู่ทางทิศตะวันตก (ด้านหน้าบ้าน) และกำลังจะเข้าสู่เงามืดของโลกเพื่อเริ่มปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า
ใช้อุปกรณ์ง่ายๆด้วยกล้องดิจิต้อลขนาดเล็ก แต่ที่แย่คืออากาศหนาวมากถึงมากที่สุด ที่เมือง Broken Arrow Oklahoma USA
ประมวลภาพเฟสต่างๆของปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงที่เมือง Broken Arrow USA ตั้งแต่เริ่มจนเกือบระยะสุดท้าย อนึ่งที่สหรัฐอเมริกาสามารถมองปรากฏการณ์ได้เพียง 75% ของเฟสทั้งหมดเพราะดวงอาทิตย์ขึ้นและดวงจันทร์ก็ลับขอบฟ้าไปในเวลาเดียวกัน
ราหูลับขอบฟ้าไปแล้ว
ท่านสุริยะเทพลุกขึ้นมาไล่ราหูออกไปจากขอบฟ้าเมื่อเวลาประมาณเกือบเจ็ดโมงเช้าของวันที่ 4 เมษายน
หลักการที่ใช้ในการคำนวณระยะทางจากโลกไปดวงจันทร์
ผมขอนำเสนอหลักการที่ใช้ในการคำนวณระยะทางจากโลกไปยังดวงจันทร์ จากปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ดังนี้
1.ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน และดวงจันทร์เคลื่อนตัวเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก (umbra) จนมิดทั้งดวง
2.เงามืดของโลกมีความยาว 108 เท่า ของเส้นผ่าศูนย์กลางของโลก เป็นข้อมูลที่นักดาราศาสตร์ชาวกรีกโบราณอย่างท่าน Aristarchus of samos ทราบมานานกว่าสองพันปีแล้ว
3.ดวงจันทร์มีระยะห่างจากโลกภายในระยะทาง 108 เท่า ของเส้นผ่าศูนย์กลางโลกทำให้สามารถเกิดปรากฏการณ์ "จันทรุปราคา" และเงาของดวงจันทร์ก็มีความยาว 108 เท่าของขนาดตัวเอง ขณะเดียวกันเงาของดวงจันทร์ก็ตกมาถึงโลกในปรากฏการณ์ "สุริยุปราคา" อนึ่งตามหลักดาราศาสตร์ปรากฏการณ์ทั้งสองจะเกิดในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ในครั้งนี้ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงเกิดเมื่อ 20 มีนาคม 2558 บริเวณตอนเหนือของทวีปยุโรป และจันทรุปราคาเกิด 4 เมษยน 2558
4.ขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางของโลก ได้มาจาก "ปฏิบัติการอีราโต้สทีเนส" ระหว่างปราสาทภูเพ็ก สกลนคร ประเทศไทย กับปราสาทบายน เมืองเสียมราช ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 ได้ตัวเลข "เส้นผ่าศูนย์กลางของโลก" ที่ 12,234 กม. (ดูรายละเอียดบทความปฏิบัติการอีราโต้สทีเนส ในเว้ปไซด์เดียวกันนี้)
การคำนวณหาเส้นรอบวงโลกใน "ปฏิบัติการอีราโต้สทีเนส" เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 ระหว่างปราสาทภูเพ็ก กับปราสาทบายน
สูตรการคำนวณเส้นรอบวงโลกโดยใช้มุมดวงอาทิตย์ระหว่างปราสาทภูเพ็ก และปราสาทบายน
ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร กับปราสาทบายน เมืองเสียมราช ตั้งอยู่ใน "เส้นแวงเดียวกัน ที่ E 103 " จึงทำให้ง่ายต่อการคำนวณตามสูตรของท่าน Eratosthenes
สูตรการคำนวณเส้นรอบวงโลกมาจากผลงานของนักดาราศาสตร์ชาวกรีกชื่อ Eratosthenes เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว ผมได้นำวิธีการของท่านมาประยุกต์ใช้กับปราสาทภูเพ็ก และปราสาทบายน
5.ใช้ภาพถ่าย "รูปดวงจันทร์แหว่ง" จากกล้องดิจิต้อล และโหลดลงโปรแกรม Powerpoint ทำภาพเชิงซ้อนเป็นรูปวงกลมเท่ากับขนาดของ "เงามืดของโลก" (umbra) และ "ขนาดของดวงจันทร์" เพื่อให้สามารถวัดสัดส่วนระหว่างขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของทั้งสองภาพ วิธีนี้เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากหลักการของท่าน Aristarchus of Simos เมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว ท่านคงใช้วิธีจับเวลาด้วยนาฬิกาทรายของเฟสต่างๆตั้งแต่ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามืดจนจบสิ้นปรากฏการณ์ (ดูรายละเอียดใน Operation Rahu ภาคแรก วันที่ 14 April 2015 ในเว้ปไซด์เดียวกันนี้) ผมเอาหลักการของท่าน Aristarchus มาสร้างเป็นสมการใหม่
ผลของ Operation Rahu Episode III วันที่ 4 เมษายน 2558
ในการนี้ผมใช้ภาพถ่ายจำนวน 3 ภาพ ภาพแรกผมเป็นผู้ถ่ายเองที่เมือง Broken Arrow เช้ามืดวันที่ 4 เมษายน 2558 (เวลาท้องถิ่นที่รัฐ Oklhoma USA) ภาพที่สองจากบางขุนเทียน กทม. ภาพที่สามมาจากจังหวัดเชียงราย ทั้งสองภาพนี้ถ่ายตอนหัวค่ำวันที่ 4 เมษายน ระหว่าง 07:00 - 08:30 น.เวลาท้องถิ่นประเทศไทย เป็นฝีมือของทีมงานมัคคุเทศก์อาชีพ ส่งมาให้ผมทาง Facebook ในตอนเช้าวันที่ 4 เมษายน
1. ผลการคำนวณและคำตอบจากภาพถ่ายที่เมือง Broken Arrow USA ได้ตัวเลขระยะทางจากโลกไปยังดวงจันทร์ 417,846 กม. Error 8.5%
2. ภาพที่สองจาก บางขุนเทียน กทม. ได้คำตอบ 400,725 กม. Error เพียง 4%
3.ภาพที่สามจากจังหวัดเชียงราย ได้ระยะทางเท่ากับ 415,572 กม. Error 7.94%
ผมนั่ง download ข้อมูลตั้งแต่ตีห้า วันที่ 4 เมษยน 2558
สรุป
1.ปฏิบัติการ "ราหู" ครั้งนี้ เป็นครั้งที่สามของปฏิบัติการทั้งหมด ผมพบว่าต่อไปนี้เราๆท่านๆก็ไม่ต้องรอให้เกิด "จันทรุปราคาเต็มดวง" แต่สามารถใช้ภาพถ่ายของ "จันทรุปราคาบางส่วน" ก็นำมาคำนวณได้ เพราะใช้เทคนิคภาพเชิงซ้อน มาสร้างภาพวงกลมให้เท่ากับ "เงามืดของโลก" และขนาดของ "ดวงจันทร์"
2.งานนี้ผมได้ข้อมูลของแถมคือ "ขนาดของดวงจันทร์" ที่ 3,710 กม. Error เพียง 6.7% จากขนาดดวงจันทร์ที่แท้จริง 3,475 กม. โดยวิธีคำนวณย้อนกลับจากระยะทางโลกไปดวงจันทร์ (จากภาพถ่ายบางขุนเทียน กทม.) โดยเอาระยะทาง 400,725 กม. หารด้วย 108 ก็ได้เส้นผ่าศูนย์กลางของดวงจันทร์ = 3,710 กม.
ภาพราหูอมจันทร์ที่ประเทศไทย