ตรุษจีน ตรุษเวียดนาม และบุญเบิกฟ้า......มาลงตัวที่ "เทศกาลตรุษไทสกล คนจีน เวียดนาม"
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 (ค.ศ.2010) เป็นการบังเอิญที่วันวาเลนไทน์ วันตรุษจีน และตรุษเวียดนาม มาตรงกันพอดี ชาวสกลนครที่อยู่ในเขตตัวเมืองจึงพร้อมใจกันจัดงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่โดยการสนับสนุนของเทศบาลเมืองสกลนครและจังหวัดสกลนคร ให้ชื่องานนี้ว่า "ตรุษไทสกล คนจีน เวียดนาม" กิจกรรมนี้เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้คนในเขตเทศบาลเมืองสกลนครเป็นอย่างยิ่งจึงถือเป็น "ประเพณี" ที่ควรปฏิบัติอย่างต่อเนื่องทุกๆปี ด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งของไทสกลที่เป็นคนพื้นเมือง ไทสกลเชื้อสายชาวจีนและไทสกลเชื้อสายเวียดนาม ต่อมาเมื่อเทศบาลเมืองสกลนครได้ยกระดับขึ้นเป็นเทศบาลนครสกลนคร ก็ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมนี้อย่างจริงจัง ทำให้มีการพัฒนารูปแบบของกิจกรรมครอบคลุมเรื่องราวความเชื่อมโยงและการอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างไทสกลทุกเชื้อชาติ จนมีคำขวัญเป็นภาษาพื้นเมืองว่า "ไทสกลทั้งเมิ้ดละเบิ้อ" หมายความว่าเราๆท่านๆก็ล้วนแต่เป็นไทสกลด้วยกันทั้งนั้น
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เป็นวันเริ่มต้นเทศกาล "ตรุษไทสกล คนจีน เวียดนาม" ซึ่งกำหนดจัด 3 วัน ระหว่าง 19 - 21 กุมภาพันธ์ ในการนี้ "ชมรมส่งเสริมคนดีเมืองสกล" โดยท่านประธานชมรม รศ.พิเศษ ทพ.ดร.สุขสมัย สมพงษ์ ที่เราๆท่านๆเรียกกันติดปากว่า "คุณหมอสุขสมัย สมพงษ์" ได้ประชุมปรึกษาหารือกรรมการและสมาชิกชมรมฯเพื่อหารูปแบบการจัดกิจกรรมในเทศกาลดังกล่าว ที่ประชุมได้มีการพูดถึง "ความเชื่อมโยงระหว่างตรุษจีน ตรุษเวียดนาม และบุญเบิกฟ้าของชาวอีสาน" ที่เผอิญมาอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันอย่างลงตัว ในฐานะที่เป็น "นักพิภพวิทยา" มีความสนใจศึกษาเรื่องราวต่างๆของมนุษยชาติในหลากหลายแง่มุม จึงใคร่ขอนำข้อมูลมาเผยแพร่ให้ท่านที่สนใจได้ทราบ
ทำไมตรุษจีน ตรุษเวียดนาม และบุญเบิกฟ้าจึงมีโอกาสใกล้เคียงกัน
ก่อนอื่นขอให้ทุกท่านพิจารณาลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศจีน ประเทศเวียดนามและภาคอีสานของประเทศไทย ล้วนตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเซียที่ได้รับอิทธิพลของดินฟ้าอากาศเดียวกัน จะเห็นได้ว่าอิทธิพลของร่องความกดอากาศจากประเทศจีนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาคอีสานโดยตรง ความหนาวเย็นที่เกิดขึ้นในภาคนี้ก็ล้วนเป็นผลจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ดังนั้นการกำหนดเทศกาล "ประเพณี" ที่เกี่ยวข้องกับ "ฤดูกาล" จึงอยู่ในช่วงใกล้เคียงกัน
ตรุษจีน เป็นวันขึ้นปีใหม่ของจีนมีประวัติความเป็นมาย้อนหลังไปถึงราชวงศ์ถัง ราว 1766 - 1122 ปี ก่อนคริตกาล โดยกำหนดให้อยู่ในช่วงปลายฤดูหนาวและย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ ต่อมาเมื่อถึงรัชกาลของจักรพรรดิหวู (Emperor Wu) ราชวงศ์ฮั่น 157 ปี - 87 ปี ก่อนคริตกาล พระองค์ได้กำหนดให้วันปีใหม่ตรงกับ "วันแรกของเดือนแรกแห่งการย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ" โดยพิจารณาให้เริ่มต้นนับจากวัน "เหมายัน" (Winter solstice) เป็นวันที่มีเวลากลางคืนยาวที่สุดในรอบปี และนับต่อไปให้ถึงวัน "ขึ้น 1 ค่ำ ครั้งที่สอง" จึงเป็นวันปีใหม่
ยกตัวอย่าง ตรุษจีน ปี พ.ศ. 2558 ( ค.ศ. 2015)
1. เริ่มต้นนับจากวัน "เหมายัน" (winter solstice) กลางคืนยาวที่สุดในรอบปี ตรงกับปฏิทินสากลปัจจุบัน (Gregorian calendar) วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557
2. ขึ้น 1 ค่ำ ถัดมาคือ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558
3. ขึ้น 1 ค่ำครั้งที่สองตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เป็นวันตรุษจีน หรือปีใหม่จีน
(อนึ่ง ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4 ตรงกับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เนื่องจากประเทศจีนกับประเทศไทยนับการเริ่มต้น The First Moon ไม่ตรงกันทีเดียวนักเพราะนับกันคนละเวลาของรอบวัน)
หลายท่านจะเห็นว่าเทศกาลตรุษจีนมีการจุดประทัดเสียงดัง และตบแต่งด้วยสีแดง ทั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจาก "ตำนานที่ว่าด้วย ตัวเหนียน" (Nian) เป็นสัตว์ประหลาดมีหัวเหมือนสิงห์โตและลำตัวเหมือนวัว ตัวเหนียนอาศัยอยู่ในป่าบนภูเขาพอถึงปลายฤดูหนาวมันไม่มีอะไรจะกินจึงต้องลงมาหากินมนุษย์ในตัวเมือง แต่ตัวเหนียนมีจุดอ่อนตรงที่ "กลัวเสียงดัง และกลัวสีแดง" ชาวบ้านจึงต้องเอากระดาษสีแดงผูกไว้หน้าบ้านพร้อมๆกับจุดประทัดและตีกลองให้เกิดเสียงดัง เพื่อไล่ให้ตัวเหนียนหนีไปไกลๆ จึงกลายมาเป็นประเพณีแห่สิงห์โตและประดับด้วยโคมไฟสีแดง
ตัวเหนียนลงจากภูเขามาหากินมนุษย์ในหมู่บ้านยามค่ำคืน
รูปตัวเหนียนในสายตาของคนจีนเมื่อครั้งโบร่ำโบราณ
การจุดประทัดและประดับโคมไฟสีแดงเพื่อไล่ตัวเหนียนไม่ให้เข้ามาใกล้
ตัวเหนียนยุคปัจจุบันถูกดัดแปลงเป็นสิงห์โต ถ้าเหนียนมาเกิดใหม่และเห็นการเชิดสิงห์โต มันคงจะพูดว่า "นี่มันใช่ตูข้าไม้เนียะ"
"ตรุษจีน" เป็นปฏิทิน "จันทรคติ" ซึ่งปีหนึ่งมี 354 วัน น้อยกว่าปี "สุริยะคติ" ปีละ 11 วัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับชดเชยให้เทศกาลตรุษจีน "ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1" อยู่ในช่วงของปลายฤดูหนาวและย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ โดยการเพิ่มเดือนที่ 13 เข้าไปในบางปี วิธีการทำแบบนี้เอาหลักการมาจากคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ของชาวกรีกเมื่อ 432 ปี ก่อนคริตกาล ชื่อ "เมตั้น" (Meton of Athens) นักดาราศาสตร์เรียกสูตรนี้ว่า Metonic Cycle สูตรนี้กำหนดให้มีการชดเชยเดือนที่ 13 จำนวน 7 ครั้ง ในรอบ 19 ปี ปฏิทินจันทรคติทั่วโลก เช่น ปฏิทินจีน ปฏิทินไทย และปฏิทินชาวยิว จึงใช้สูตรนี้ ของไทยเราเรียกว่า "เดือน 8-8"
จากการค้นพบ "เครื่องจักรแห่งอันทีไกเทอร่า" (Antikythera Machine) ที่จมอยู่ในซากเรืออับปางเมื่อครั้ง 203 ปี ก่อนคริตกาล ทำให้นักดาราศาสตร์เชื่อว่าเจ้านี่คืออุปกรณ์ในการช่วยคำนวณ "การชดเชย" ระหว่างปฏิทินจันทรคติกับปฏิทินสุริยะคติ ในครั้งพุทธกาลก็นำสูตรของเมตั้นมาใช้กับการกำหนดวันเข้าพรรษาโดยให้มีเดือน 8-8 จำนวน 7 ครั้ง ในรอบ 19 ปี เพื่อปรับชดเชยให้ "วันเข้าพรรษา" ยังคงอยู่ในต้นฤดูฝน
เครื่องมือในการคำนวณการปรับชดเชยระหว่างปฏิทินจันทรคติกับปฏิทินสุริยะคติ ถูกบรรจุไว้ในโปรแกรมของ "เครื่องจักรแห่งแอนทิไกเทอร่า" (Antikythera Machine) ค้นพบในซากเรืออับปางใต้ทะเลใกล้ๆกับเกาะแอนทิไกเทอร่า ประเทศกรีก เมื่อปี 1900 ปัจจุบันเก็บรักษาและตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงเอเทน ประเทศกรีก
ภาพข้างบนนี้เป็นการสร้างเลียนแบบขึ้นมาใหม่ จากการวิจัยของนักโบราณคดีพบว่าเครื่องมือการคำนวณทางดาราสาสตร์ชิ้นนี้มีอายุเก่าแก่ราว 205 ปี ก่อนคริตกาล (2,220 ปี นับจาก ค.ศ.2015)
ตัวอย่างกำหนดวันตรุษจีนในปีต่างๆ ปีปกติใช้สีขาว ส่วนปีที่มีการปรับชดเชยให้เพิ่มเป็น 13 เดือน ใช้สีเหลือง อนึ่งปีนักษัตร 12 ที่คนไทยนิยมใช้อย่างแพร่หลาย .... ชวด ฉลู ขาล เถาะ ...... วอก ระกา จอ กุน เป็นอิทธิพลของวัฒนธรรมจีน
ตรุษเวียดนาม เนื่องจากประเทศเวียดนามได้รับอิทธิพลจากประเพณีต่างๆของจีนจึงใช้วันปีใหม่ตรงกับตรุษจีน แต่ภาษาเวียดนามเรียกวันนี้ว่า Tet Nguyen Dan มีความหมายว่า "เช้าวันแรกแห่งเดือนแรกของปี" คนเวียดนามในจังหวัดสกลนครจึงมีคำพูดว่า "วันกินเตท" หมายถึงการเชิญให้แขกไปกินเลี้ยงฉลองปีใหม่ และคำว่า Tet หมายถึงการเฉลิมฉลองย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ
Chuc Mung Nam Moi สวัสดีปีใหม่ที่กรุงโฮจิมิน ประเทศเวียดนาม
การเฉลิมฉลองตรุษเวียดนามที่สวยงาม
ประเพณีการฉลองของครอบครัวชาวเวียดนาม
บุญเบิกฟ้า เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่าเริ่มต้นมาจากเมื่อใด ในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าเกิดขึ้นสมัยอาณาจักรล้านช้าง ประเพณีบุญเบิกฟ้ากำหนดให้จัดในวัน ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปัจจุบันตรงกับปลายเดือนมกราคม ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงเวลาที่ใกล้หมดฤดูหนาวและเป็นเวลาที่เก็บผลผลิตต่างๆเข้ายุ้งฉางเสร็จสิ้นแล้ว คำว่า "บุญเบิกฟ้า" หมายถึงฟ้าจะเริ่มไขประตูน้ำฝน ชาวบ้านจะคอยฟังเสียงฟ้าร้องมาจากทิศไหนเพื่อทำนายว่าในฤดูทำนาจะมีน้ำอุดมสมบูรณ์หรือไม่ เช่นถ้าฟ้าร้องในทิศ "บูรพา" หรือทิศตะวันออก แสดงว่าฝนฟ้าจะอุดมสมบูรณ์ข้าวปลาจะได้ผลดี แต่ถ้าฟ้าร้องทางทิศอาคเนย์ หรือทิศตะวันออกเฉียงใต้ ฝนจะน้อย ความแห้งแล้งจะเกิดขึ้น ข้าวปลาอาหารจะขาดแคลนและแถมด้วยโรคระบาดอีกต่างหาก จังหวัดที่มีการเฉลิมฉลองบุญเบิกฟ้าอย่างจริงจังได้แก่จังหวัดมหาสาสารคาม มีการจัดงานบุญเบิกฟ้าพร้อมๆกับงานกาชาดประจำปี
อนึ่ง เทศกาลของบุญเบิกฟ้ามีโอกาสใกล้เคียงกับเทศกาลตรุษจีน เพราะยึดหลักฤดูกาลที่เกี่ยวข้องกับวิถีเกษตรกรรมเหมือนกัน ดังนั้นหากปีไหนเทศกาลตรุษจีนตรงกับขึ้น 1- 3 ค่ำ เดือน 3 ก็จะอยู่ในช่วงวันใกล้กันมาก ยกเว้นปีที่เทศกาลตรุษจีนเลื่อนไปอยู่ในเดือน 4 เช่น ปี 2558
บุญเบิกฟ้าที่สกลนคร (ใช้ชื่อว่าบุญเดือน 3 ออกใหม่ 3 ค่ำ) จัดโดยวัดพระธาตุเชิงชุม วันที่ 22 มกราคม 2558 ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 (ปีนี้ไม่ตรงกับตรุษจีน) ภาพฝีมือคุณเหมียว ดารณี พงษ์ไพบูลย์ บ้านอยู่ใกล้วัดพระธาตุเชิงชุม ขอขอบคุณน้องเหมียวมากครับที่เอื้อเฝื้อภาพ
เป็นประเพณีสู่ขวัญข้าวและผูกแขนผู้สูงอายุ
ชาวสกลนครจัดอย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้จังหวัดอื่นๆในภาคอีสาน
จังหวัดมหาสารคามจัดงานบุญเบิกฟ้าทุกปี
มีการทำพิธีบวงสรวงเพื่อให้การเกษตรในปีต่อไปได้ผลดี
รูปแบบของบุญเบิกฟ้าที่จังหวัดมหาสารคาม
เทศกาลไทสกล คนจีน เวียดนาม...... ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีของชาวสกลนครที่อยู่ในเขตเทศบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุ้มต่างๆท่ีอยู่ในตัวเมือง เมื่อคราวเทศกาลตรุษไทสกล คนจีน เวียดนาม วันที่ 3 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) ผมก็มีส่วนร่วมในการเล่นดนตรีสไตล์ The Shadow บนเวทีในงาน
ปี พ.ศ. 2558 วันตรุษจีนตรงกับ 19 - 21 กุมภาพันธ์ ตามปฏิทินจีนถือว่าเป็นวันที่ 1 เดือนที่ 1 เพราะมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ขึ้น 1 ค่ำ (New Moon) เป็นครั้งที่สองนับจากวัน "เหมายัน" ( Winter solstice 21 ธันวาคม 2557)
วันอาทิตย์ 21 ธันวาคม 2557 เป็น "วันเหมายัน" (Winter solstice) กลางคืนยาวที่สุดในรอบปี
วันอังคาร 20 มกราคม 2558 ขึ้น 1 ค่ำ (ครั้งที่หนึ่งนับจากวัน "เหมายัน")
วันพฤหัสบดี 19 กุมภาพันธ์ 2558 ขึ้น 1 ค่ำ (ครั้งที่สอง) ตามปฏิทินจีน แต่ปฏิทินจันทรคติไทยเป็นขึ้น 2 ค่ำ เพราะการมองดวงจันทร์ระหว่างจีนกับไทยที่อยู่ต่างพื้นที่ จึงอาจตีความการขึ้น 1 ค่ำไม่ตรงกันทีเดียวนัก
ดวงจันทร์ประกบคู่มากับดวงอาทิตย์จึงทำให้มองไม่เห็น
ในตอนเย็นแสงอาทิตย์ก็ยังข่มดวงจันทร์เพราะยังอยู่ใกล้กันมาก แต่ที่มองเห็นได้ชัดคือดาวเคราะห์สองดวงคือ Venus และ Mars ไล่ตามหลังดวงจันทร์ลงมา
ถ้าพี่น้องชาวจีน และชาวเวียดนามต้องการเห็นดวงจันทร์ก็ต้องรอวันถัดไปคือวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ดวงจันทร์เริ่มแยกตัวห่างออกจากดวงอาทิตย์ และตกฟากฟ้าหลังดวงอาทิตย์
เริ่มต้นขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ปฏิทินจีน (ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 วันที่ 28 มกราคม 2560 ปฏิทินจันทรคติไทย) ดวงจันทร์อยู่ที่ขอบฟ้าทิศตะวันตก แต่มองไม่ค่อยเห็นเพราะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์และเพิ่งจะเป็น new moon (0.45 day old) ในราศี Capricorn
ตรุษจีนปี พ.ศ. 2562 หรือ ค.ศ. 2019 ตรงกับขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ของปฏิทินจีนปีที่ 4716 เป็นปี "หมูทอง" แต่ในทางสากลเราๆท่านๆอยู่ใต้อิทธิพลของ Gregorian Calendar ตรงกับวันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ 2019 และสอดคล้องกับปฏิทินจันทรคติไทย ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ (ปฏิทินจันทรคติไทยจะเปลี่ยนจากปีจอเป็นปีกุน เมื่อถึงขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับ 5 เมษายน 2562)
รูปร่างหน้าตาของปฏิทินจันทรคติจีน ปีที่ 4716 ตรงกับปฏิทินสากล (Gregorial Calendar) Tuesday 5 Feb 2019
ท้องฟ้ายามเย็น ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ปี 4716 ปฏิทินจันทรคติจีน ตรงกับ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติไทย
สรุป
ในภาพรวม บุญเบิกฟ้า ตรุษจีน และตรุษเวียต เกาะติดกันมาตลอดเพราะเริ่มต้นนับหนึ่งในฤดูกาลใกล้เคียงกันและใช้ปฏิทินจันทรคติเหมือนกัน ดังนั้นการจัดงาน "ตรุษไทสกล" ควรให้ข้อมูลกับพี่น้องประชาชนว่าช่วงเวลานี้ก็เป็น "ปีใหม่ของซุมเฮาละเบ้อ"