พระธาตุดุม.....ในอีกมุมมอง
สงสัยมานานแล้วว่า....ทำไมพระธาตุดุม (ปราสาทขอม) ที่อำเภอเมืองสกลนครจึงมีรูปร่างแปลกไปจากพระธาตุองค์อื่นๆในจังหวัดสกลนคร แถมยังใช้วัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่ของตัวห้องเป็น "อิฐเผา" และเสริมด้วยหินทรายกับศิลาแลงในบางส่วน

พยายามหาหนังสือและข้อมูลจากหลายแหล่งมาอ่านก็ยังไม่มีใครวิจารณ์ในประเด็นนี้ ในฐานะที่เป็น "นักพิภพวิทยา" ซึ่งมองมนุษยชาติในแง่มุมที่หลากหลายโดยผสมผสานระหว่างแขนงวิชาต่างๆตั้งแต่จุลชีวันยันต่างดาว จึงจำเป็นต้องออกมาวิเคราะห์ในมุมมองใหม่ เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าเวลานักโบราณคดีให้ความเห็นเกี่ยวกับความเป็นมาของโบราณสถานต่างๆ ท่านเหล่านั้นมักไม่ได้ฟันธงตรงๆแต่ใช้วิธีพูดแบบกึ่งแทงกั้ก เช่น คาดว่า น่าจะ เชื่อว่า สัณนิษฐานว่า มีความเห็นว่า อาจเป็นไปได้ว่า ผู้รู้กล่าวว่า ฯลฯ เนื่องจากท่านก็ไม่ได้เกิดในยุคนั้น ไม่ได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง ไม่มีผู้ใดเป็นประจักษ์พยาน จึงจำเป็นต้องใช้วิธีประมวลและศึกษาข้อมูลตามหลักวิชาการที่น่าจะสอดคล้องแล้วมาสร้างบทสรุปที่ "เชื่อว่าเป็นไปได้" ผมไม่เคยเรียนวิชาโบราณคดีแต่ก็อาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคนิคการหาข้อมูลแบบพนักงานสอบสวนที่ต้องทำสำนวนส่งอัยการ เริ่มต้นจากการตั้งสมมุติฐานแล้วไปหาข้อมูลทั้งเรื่องราวและวัตถุพยานมาประมวลว่า "เป็นไปได้ไม้" ส่วนจะถูกหรือผิดให้เป็นดุลพินิจของท่านผู้อ่าน
จากประสบการณ์ที่ผ่านการทำงาน ดูงาน ฝึกอบรม ในประเทศต่างๆสามสิบกว่าประเทศ ได้พบปะพูดคุยกับนักวิชาการที่รู้เรื่องโบราณคดีหลายคน ท่านเหล่านั้นพูดตรงกันว่า "ห้ามเถียงกันในเรื่องประวัติศาสตร์" ทุกคนมีสิทธิให้ความเห็นและมุมมอง ไม่งั้นจะต้องต่อยปากกันแตกไปข้างนึง สามสิบปีที่แล้วผมอยู่ที่ประเทศอิสราเอลดินแดนแห่งพระคำภีร์ไบเบิ้ล มีโอกาสพูดคุยกับนักโบราณคดีหลายคนที่กรุงเยรูซาเลม ทุกคนยอมรับว่า "สรุปความเห็นตามวัตถุพยาน และเรื่องราวที่ประมวลจากจารึก หรือบันทึกเท่าที่ค้นพบ" หากได้ข้อมูลใหม่หรือค้นพบหลักฐานใหม่ก็สามารถเปลี่ยนข้อสรุปใหม่ได้....ไม่ว่ากันครับ
พระธาตุดุม (ปราสาทขอม) ในมุมมองของผม
1.ยังไม่มีข้อมูลว่าปราสาทหลังนี้มีชื่อจริงๆว่าอะไร ชื่อพระธาตุดุม มาจากนิทาน "ดุมล้อเกวียน" มาหักตรงนี้พอดี เช่นเดียวกับปราสาทขอมจำนวนมากที่ได้ชื่อใหม่ตามเรื่องราวในตำนาน นิทานพื้นบ้าน หรือตั้งชื่อตามสถานที่ในปัจจุบัน นักโบราณคดีเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าปราสาทหลังนี้หรือปราสาทหลังนั้นมีชื่อจริงๆว่าอะไร เพราะหลายแห่งไม่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว หรือไม่ก็ตั้งชื่อตามความนิยมในยุคปัจจุบัน เช่น ปราสาทนครวัด เป็นชื่อใหม่เนื่องจากมีการนำพระพุทธรูปเข้าไปไว้ในนั้นมากมายจนดูเหมือนว่าเป็นวัด แต่ความจริงปราสาทหลังนี้สร้างตามความเชื่อของศาสนาฮินดูสมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2
2.ปราสาทหลังนี้ดูแล้วน่าจะเก่าแก่กว่าปราสาทหลังอื่นๆในจังหวัดสกลนคร ด้วยเหตุผลของรูปร่าง และวัสดุก่อสร้างที่เป็นอิฐเผา เนื่องจากในยุคทวาราวดีและอาณาจักรขอมตอนต้นนิยมใช้วัสดุอิฐเผา เช่นปราสาทวัดภู ที่จำปาสัก สปป.ลาว ปราสาทพระโค ที่ตำบลโรโล่ย เสียมราช ประเทศกัมพูชา และปราสาทภูมิโปน ที่จังหวัดสุรินทร์
ข้อมูลและภาพถ่ายโบราณสถานในประเทศกัมพูชา Sambor Prei Kuk สร้างในยุคก่อนอาณาจักรขอม (Pre Angkorian 6th - 9th Century) ซึ่ง ผศ.ดร.สพสันติ์ เพชรคำ ส่งมาให้ทาง Facebook ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 ทำให้ผมได้หลักฐานที่เชื่อว่า "พระธาตุดุม หรือ ปราสาทดุม" ที่สกลนคร น่าจะมีอายุเก่าแก่กว่าปราสาทอื่นๆในตัวจังหวัดเพราะมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับ Sambor Prei Kuk อีกทั้งวัสดุก่อสร้างก็เป็นอิฐเผาเหมือนกัน
.jpg)
ขอบคุณอย่างสูงแก่ ผศ. ดร. สพสันติ์ เพชรคำ และ Dr. Amrit Muadthong ที่ส่งภาพโบราณสถาน Sambor Prei Kuk ประเทศกัมพูชามาให้อย่างจุใจ
เปรียบเทียบภาพถ่ายระหว่างโบราณสถาน Sambor Prei Kuk ประเทศกัมพูชา กับพระธาตุดุม หรือปราสาทดุม ที่สกลนคร
.jpg)
.jpg)

ภาพถ่ายโบราณสถานยุคก่อนอาณาจักรขอม และอาณาจักรขอมตอนต้น

ปราสาทวัดภูที่แขวงจำปาสัก สปป.ลาว ก่อสร้างในยุคอาณาจักรเจนละ (Pre-Angkor) ก่อนสมัยอาณาจักรขอม จึงใช้วัสดุอิฐเผาเป็นหลักแต่ต่อมาถูกดัดแปลงเพิ่มเติมในยุคขอมเรืองอำนาจจึงมีหินทรายและศิลาแลงเข้ามาเสริม

ภาพนี้เปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนถึงการดัดแปลงและก่อสร้างเพิ่มเติมจากปราสาทวัดภูดั้งเดิมที่เป็นอิฐเผาให้เป็นวัสดุหินทราย ทำให้มีการแยกตัวออกจากกันเพราะเนื้อวัสดุต่างชนิด

ปราสาทพระโคสร้างในยุคต้นๆของอาณาจักรขอมใช้อิฐเผาเป็นหลักและเสริมด้วยหินทรายตรงขอบประตู หน้าต่าง ทับหลัง บันได และรูปสลักต่างๆ

ปราสาทพระโค ที่ตำบลโรเล่ย เมืองเสียมราช ประเทศกัมพูชา ก่อสร้างก่อนอาณาจักรขอม ก็ใช้อิฐเผาเป็นหลัก

เปรียบเทียบรูปร่างปราสาทในยุคก่อนอาณาจักรขอมกับปราสาทดุมที่สกลนครมีรูปร่างคล้ายกัน

เปรียบเทียบรูปร่างระหว่างปราสาทดุม กับปราสาทในยุคเริ่มต้นอาณาจักรขอม มีความคล้ายคลึงกันมาก
.jpg)
เปรียบเทียบระหว่างปราสาทดุม กับปราสาทพระโค มีส่วนคล้ายกันมากที่รูปทรงและวัสดุอิฐเผา อีกทั้งปราสาทดุมจริงๆเป็นปรางค์สามยอด (หายไปเหลือแต่ฐาน 2 ยอด)

เปรียบรูปลักษณ์และวัสดุ "อิฐเผา" ระหว่างปราสาทพระโค ที่นอกเมืองเสียมราช ประเทศกัมพูชา กับพระธาตุดุม สกลนคร ประเทศไทย
ปราสาทโลเล้ย (Prasat Rolei) นอกเมืองเสียมราช ประเทศกัมพูชา เป็นปราสาทที่ก่อสร้างในยุคต้นๆของอาณาจักรขอมใช้วัสดุ "อิฐเผา" ส่วนหินทรายใช้เฉพาะที่เป็นขอบประตูและทับหลัง

พระธาตุดุมใช้วัสดุส่วนใหญ่เป็น "อิฐเผา" ส่วนหินทรายใช้เป็นทับหลัง และศิลาแลงเป็นฐานราก
.jpg)
พระธาตุดุมมีรูปร่างคล้ายปราสาทภูมิโปน ที่จังหวัดสุริรทร์ซึ่งเป็นปราสาทขอมเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย (นัยว่าเป็นอาณาจักรเจนละบก)
3.หรือว่าเป็นศาสนสถานดั่งเดิมในยุคทวาราวดี แล้วต่อมาถูกดัดแปลงเป็นปราสาทฮินดูในยุคขอมเรืองอำนาจ ดินแดนในแถบอีสานตอนบนเป็นอาณาจักรทวาราวดีมาก่อนตั้งแต่พุทธศตวรรษ ที่ 11 และพอมาถึงพุทธศตวรรษ ที่ 15 ดินแดนแถบนี้ก็ตกอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรขอม โบราณสถานหลายแห่งมีหลักฐานการทับซ้อนระหว่างศิลปะทวาราวดีกับศิลปะขอม








สิ่งก่อสร้างในยุคทวาราวดีล้วนก่อสร้างด้วยอิฐเผา
เปรียบเทียบระหว่างภาพถ่ายเมื่อร้อยปีที่แล้วกับปัจจุบัน
เมื่อครั้งที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาตรวจราชการที่จังหวัดสกลนครในเดือนมกราคม พ.ศ.2449 มีการถ่าพภาพโบราณสถานต่างๆไว้รวมทั้งปราสาทดุม (พระธาตุดุม) ภาพเหล่านี้เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพฯ ได้ดูภาพดังกล่าวแล้วพบว่าบางส่วนขององค์พระธาตุไม่ได้อยู่ที่เดิม อาจเป็นไปได้ว่าเมื่อคราวที่กรมศิลปากรเข้าทำการบูรณะได้นำโบราณวัตถุบางส่วนไปตั้งแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่จังหวัดขอนแก่น

ภาพสลักบนหน้าจั่ว (มองไม่ชัดว่าเป็นภาพอะไร) ไม่ปรากฏเห็นในปัจจุบัน

ได้ทำภาพเชิงซ้อนให้เห็นว่าถ้าทุกอย่างเหมือนกับเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร

เปรียบเทียบลักษณะรูปร่างของ "ฐานโยนี" ระหว่างของพระธาตุดุม กับอีกสามแห่งพบว่าไม่เหมือนกันจึงสัญณิฐานว่าน่าจะเป็นคนละสมัย
จากปราสาทขอมฮินดู ถูกดัดแปลงเป็นวัดพุทธในยุคล้านช้าง
เป็นไปได้ครับว่าปราสาทหลังนี้ถูกดัดแปลงให้เป็นวัดในยุคล้านช้างเพราะมีจารึก "ภาษาไทยน้อย" ซึ่งนิยมใช้ในยุคล้านช้างระบุว่ามีการมอบที่ดินเพื่อการสร้างวัด ดังนั้นองค์ประกอบของปราสาทที่เป็นสัญลักษณ์ฮินดูน่าจะถูกดัดแปลง เช่น นำฐานโยนีออกไปไว้ข้างนอกตัวปราสาท (ศิวะลึงค์หายไปแล้ว) และนำพระพุทธรูปมาตั้งแทน ปิดท่อโสมสูตรหรือรื้อทิ้งไม่ให้เห็นร่องรอย
.jpg)
ฐานโยนีถูกนำออกมาไว้ข้างนอกตัวปราสาท และนำพระพุทธรูปไปตั้งแทน
.jpg)
จารึกแท่งหินทรายภาษาไทยน้อยที่กล่าวถึงการมอบที่ดินเพื่อสร้างวัด
สรุป
จากมุมมองและข้อมูลดังข้างต้น ผมมีความเห็นว่า "พระธาตุดุม" น่าจะมีอายุเก่าแก่กว่าที่เราเคยทราบ และอาจจะเป็นปราสาทหลังแรกในจังหวัดสกลนครก็ได้ อย่างไรก็ตามเอกสารของกรมศิลปากรระบุว่าปราสาทหลังมีอายุอยู่ในปลายพุทธศตวรรษที่ 16 - ต้นพุทธศตวรรษที่ 17 โดยพิจารณาจากสลักรูปทิพยบุคคลประทับบนหลังสัตว์พาหนะที่ทับหลังของประตูหลอกด้านทิศใต้ ........ ในความเห็นส่วนตัว "ทับหลัง" แผ่นนี้อาจจะเกิดจากการสร้างเพิ่มเติมในราวพุทธศตวรรษดังกล่าว ที่สำคัญผมให้น้ำหนักกับ "วัสดุที่ใช้ก่อสร้างองค์ปราสาท" มากกว่ารูปสลักหรือจารึก เพราะเป็น main structure ที่ไม่สามารถดัดแปลงได้มากนัก ........ ยกเว้นรื้อของเก่าออกและสร้างใหม่ทั้งหมด หากข้อสมมุติฐานนี้เป็นจริงก็แสดงว่าจังหวัดสกลนครได้รับอิทธิพลจากยุคก่อนอาณาจักรขอม (Pre Angkorian)