พิสูจน์สุริยะวิถี กับปฏิทินมหาศักราชที่ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร
จากที่ผมได้เขียนในหลายคอลั่มของเว้ปไซ้ดนี้ว่า "ปราสาทภูเพ็ก" บนยอดภูเขา 520 เมตร จากระดับน้ำทะเล ที่หมู่บ้านภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ถูกออกแบบและก่อสร้างให้ตรงกับวันสำคัญของปฏิทินมหาศักราช เรียกว่าวันแรกของเดือนใจตระ เป็นปีใหม่ของปฏิทินฉบับนี้ ภาษาสันสกฤตใช้คำว่า "วสันตวิษุวัต" ตรงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ขึ้นที่ขอบฟ้า ณ มุมกวาด 90 องศา จากทิศเหนือ
ปฏิทินมหาศักราช สร้างขึ้นตามวันสำคัญของปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ กำหนดให้วันปีใหม่เริ่มต้นที่วันแรกของเดือนใจตระตรงกับ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) กลางวันเท่ากับกลางคืนในฤดูใบไม้ผลิ ปี "อธิกสุรทิน จำนวนวัน 366 วัน" เดือนใจตระมี 31วัน ส่วนเดือน "ปกติสุรทิน 365 วัน" เดือนใจตระมี 30 วัน ตรงกับปฏิทินปัจจุบันวันที่ 21 หรือ 22 มีนาคม ตามลำดับ ขณะเดียวกันเดือนอื่นๆที่มี 31วัน เป็นเดือนที่อยูในช่วง "กลางวันยาวกว่ากลางคืน" ส่วนเดือนที่มี 30 วัน เป็นเดือนที่อยูในช่วง "กลางวันสั้นกว่ากลางคืน" นอกจากนั้นปฏิทินมหาศักราชยังตรงกับจักรราศี ทั้ง 12 เดือน เริ่มต้นจากราศีเมษ ....จนครบรอบปีที่ราศีมีน
ปฏิทินมหาศักราชสอดคล้องกับปรากฏการณ์ดาราสาสตร์ที่เกิดจากตำแหน่งของโลกในแต่ช่วงวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยเริ่มต้นนับหนึ่งที่ "วสันตวิษุวัต" วันที่ 21 (อธิกสุรทิน 366 วัน) หรือ 22 มีนาคม (ปกติสุรทิน 365 วัน)
ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ตกในวันที่ 20 มีนาคม 2556 แสดงให้เห็นว่าดวงอาทิตย์ตกตรงกับกึ่งกลางของปราสาทภูเพ็กด้านทิศตะวันตก
ภาพจำลองวิถีสุริยะในวันวสันตวิษุวัต ดวงอาทิตย์ขึ้นที่ทิศตะวันออกแท้ และตกที่ทิศตะวันตกแท้ ในตอนเที่ยงตรง (solar noon) ดวงอาทิตย์ทำมุมเอียง (angle of incidence) เท่ากับองศาของเส้นรุ้ง ณ สถานที่นั้นๆ ในกรณีปราสาทภูเพ็ก เท่ากับ 17 องศา
ภาพจำลองแสดงให้เห็นวิถีสุริยะ (sun path) ในวันวสันตวิษุวัต ที่ปราสาทภูเพ็ก
วสันตวิษุวัต 21 มีนาคม ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกลางประตูปราสาทภูเพ็ก ตามที่ผู้สร้างปราสาทหลังนี้ได้ออกแบบไว้
อีกภาพหนึ่งของวสัตวิษุวัต ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกลางประตูปราสาทภูเพ็ก
จำลองเหตุการณ์ในสมัยนั้น ถ้าปราสาทหลังนี้สร้างเสร็จเจ้านายระดับสูงกับพราหมณ์จะทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ในวันวสันตวิษุวัต โดยทำพิธีเทน้ำศักดิ์สิทธิ์ลงบนศิวะลึงค์และฐานโยนี ให้น้ำไหลออกไปทาง "ท่อโสมสูตร" เป็นช่องสี่เหลี่ยมที่ผนังของห้องวิมานในตัวปราสาทด้านทิศเหนือ
ปัจจุบันมีผู้คนจำนวนหนึ่งขึ้นไปที่ปราสาทภูเพ็กเพื่อรับพลังสุริยะในวันดังกล่าว ในภาพ ณ จุดที่ชายผู้นี้นั่งเป็นประตูหน้าของปราสาท จะเห็นว่าดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับกึ่งกลางประตู
ปราสาทหลังนี้ถ้าสร้างได้เสร็จตามแบบแปลนจะมีสามประตู ตรงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ในวันวสันตวิษุวัต
ภาพจำลองอีกมุมมองหนึ่งแสดงให้เห็นประตูสามบาน และเส้นของแสงอาทิตย์ในยามเช้าของวันวสันตวิษุวัต
ภาพจำลองประตูสองบานของตัวปราสาท มองเห็นดวงอาทิตย์ตรงกึ่งกลางพอดี
หากมองออกมาจาก "ห้องวิมาน" ซึ่งเป็นห้องสำหรับประกอบพิธีกรรมจะเห็นภาพแบบนี้
หินก้อนสี่เหลี่ยมมีสัญลักษณ์เป็นหลุมแสดงตำแหน่งดวงอาทิตย์ในวันสำคัญของปฏิทินมหาศักราช กรมศิลปากรให้คำอธิบายว่าสัญลักษณ์เหล่านี้เป็นเหมือนการแสดงสถานที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจักรวาล ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นของผมที่ระบุว่าเป็นตำแหน่งของดวงอาทิตย์ (สุริยะเทพ) ผมจึงเรียกว่านี่คือพิมพ์เขียวของสุริยะปฏิทิน
วันวสันตวิษุวัต ดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในเส้นตรงเดียวกัน
ดวงอาทิตย์ขึ้นที่ทิศตะวันออกแท้ และตกที่ทิศตะวันตกแท้ แต่วิถีสุริยะจะเอียงไปทางทิศใต้เพราะปราสาทภูเพ็กตั้งอยู่ที่เส้นรุ้ง 17 องศาเหนือ ดังนั้นในตอนเที่ยงสุริยะ (solar noon) ดวงอาทิตย์จะทำมุมเอียง (angle of incidence) เท่ากับองศาของเส้นรุ้ง 17 องศา อย่างไรก็ตามถ้าปราสาทภูเพ็กไปตั้งอยู่ที่เกาะสุมาตรา ตรงกับเส้นศูนย์สูตร (เส้นรุ้งศูนย์องศา) สุริยะวิถีจะไม่มีมุมเอียงเลย
ดวงอาทิตย์ตกตรงกับกึ่งกลางของปราสาทพอดี
แม้ว่าวิถีสุริยะในวันวสันตวิษุวัตจะเอียงไปทางทิศใต้ แต่เงาของดวงอาทิตย์จะทอดเป็นเส้นตรงทั้งวันโดยดูจากนาฬิกาแดด
สรุป
สุริยะวิถีในวันวิษุวัต ดวงอาทิตย์ขึ้นทิศตะวันออกแท้ และตกทิศตะวันตกแท้ กลางวันเท่ากับกลางคืน ปีหนึ่งมี 2 ครั้ง คือ วสันตวิษุวัต 21 มีนาคม (ฤดูใบไม้ผลิ vernal equiox) และศารทวิษุวัต 23 กันยายน (ฤดูใบไม้ร่วง autumnal equinox)