มุมมองใหม่.....
สะพานขอมเมืองสกล…..อาจไม่ใช่แค่สะพานธรรมดา แต่ทำหน้าที่เป็น“ฝายทดน้ำ”ไปในตัว
น่าสงสัยไม้ครับ.....สะพานขอม “ทำด้วยหิน” มีเพียงแห่งเดียว.......ที่อื่นๆสร้างด้วยไม้และผุพังไปหมดสิ้นตามกาลเวลาเพราะเป็นเพียงสะพานธรรมดา แสดงว่าสิ่งก่อสร้างนี้ต้องมีนัยสำคัญที่นอกเหนือจากสะพาน


สะพานขอมในสภาพปัจจุบันหลังจากได้รับการบูรณะ

ความเจริญทางวัตถุทำให้สพานขอมถูกเบียดบังด้วยถนนหลวงแผ่นดินที่ขยายเป็นสี่เลนหน้าประตูเมืองสกลนคร


ภาพถ่ายดาวเทียว "สะพานขอม" ฝังตัวอยู่ในระดับต่ำระหว่างถนนทางเข้าเมืองสกลนคร

เปรียบเทียบภาพถ่ายตัวเมืองสกลนคร ปี 2489 กับภาพถ่ายปัจจุบัน


เมื่อปี 2449 สะพานขอมอยู่สูงจากพื้นดิน

ภาพถ่าย "สะพานขอม" เมื่อครั้งกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาตรวจราชการที่จังหวัดสกลนคร เดือนมกราคม พ.ศ.2449
.jpg)
ภาพถ่าย ปี พ.ศ.2449 จากมุมมองทิศตะวันออกของสะพานขอม
จากข้อมูลของกรมศิลปากรทราบว่า “สะพานขอม” ที่เมืองสกลนคร เป็นสิ่งก่อสร้างแห่งเดียวในประเทศไทย จังหวัดอื่นๆมีปราสาทน้อยใหญ่ อโรคยาศาล (โรงพยาบาล) ที่พักคนเดินทาง ฯลฯ แต่ไม่มีสะพาน ปัจจุบันสะพานขอมได้รับการบูรณะใหม่และตั้งแสดงอยู่ที่ริมถนนหน้าเมืองสกลนคร ในฐานะเว้ปไซ้ดท้องถิ่น yclsakhon ขอตั้งประเด็นคำถามและข้อสังเกตเกี่ยวกับสะพานแห่งนี้ว่า…..เป็นเพียงสะพานธรรมดา หรือมีวัตถุประสงค์อย่างอื่นด้วย
ลองมาวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ดู
1.กรมศิลปากรเชื่อว่าสะพานแห่งนี้สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นเดียวกับสะพานหินในนครธม และที่แม่น้ำชีเกรง จังหวัดกำปงกะเดย ประเทศกัมพูชา ดูจากรูปร่างลักษณะแล้วเป็นสไตล์เดียวกัน นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสบางท่านเชื่อว่า “สะพานหิน” ที่สร้างในยุคนั้น ทำหน้าที่เป็นฝายทดน้ำชลประทานอีกวัตถุประสงค์หนึ่ง


สะพานหินในนครธม (Spean Thma) อยู่ใกล้กับประตูแห่งชัยชนะด้านทิศตะวันออกของนครธม สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ในยุคสมัยนั้นสะพานแห่งนี้สร้างข้ามแม่น้ำเสียมเรียบ (Siem Reap River) แต่ปัจจุบันสายน้ำเปลี่ยนทิศทาง ทำให้ตัวสะพานลอยอยู่บนพื้นดินข้างๆแม่น้ำ


สะพานข้ามแม่น้ำชีเกรง จังหวัดกำปงกะเดย ประเทศกัมพูชา สร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยว



ภาพถ่ายสะพานขอมเมื่อ พ.ศ.2449 ครั้งที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาตรวจราชการที่จังหวัดสกลนคร เปรียบเทียบกับภาพสะพานขอมในปัจจุบันที่บูรณะโดยกรมศิลปากร


2.ถ้าสะพานหินที่หน้าเมืองสกลนครเป็นทำหน้าที่เพียงสะพานข้ามลำห้วยอย่างเดียวบนถนนเชื่อมระหว่างตัวเมืองโบราณกับชุมชนปราสาทนารายณ์เจงเวง ก็น่าจะมีการสร้างสะพานลักษณะเดียวกันมากกว่าหนึ่งแห่งเพราะเส้นทางดังกล่าวมีลำน้ำไหลผ่านหลายสาย แต่กรณีนี้มีเพียงสะพานทำด้วยหินเพียงแห่งเดียวแสดงว่าต้องมีวัตถุประสงค์พิเศษมากกว่าการเป็นสะพานธรรมดา ผมจึงลงความเห็นว่าน่าจะเพื่อการทดน้ำชลประทานสำหรับทำนาให้ได้ผลผลิตมากๆ
จากบันทึกของฑูตพาณิชย์ชาวจีน “จูต้ากวน” ที่เคยอยู่ในนครอังกอร์ราวแปดร้อยปีที่แล้วบันทึกว่าชาวขอมสามารถทำนาได้มากกว่าปีละหนึ่งครั้งโดยใช้น้ำชลประทาน เป็นหลักฐานยืนยันว่าบรรพชนเหล่านั้นมีความรู้ในการเกษตรชลประทานเป็นอย่างดี ประกอบกับคำจารึกที่ปราสาทภายในองค์พระธาตุเชิงชุมก็มีการกล่าวถึง "ถวาย ............. นาแด่สงกรานต์" แสดงว่าต้องมีการทำนาในยุคนั้น


.jpg)
จารึกอักษรขอมโบราณที่ปราสาทภายในองค์พระธาตุเชิงชุม มีคำว่า "ถวาย ........นาแด่สงกรานต์" แสดงว่ายุคนั้นต้องมี "การทำนา"
3.เมื่อพิจารณาลักษณะภูมิประเทศพบว่า “หนองสนม” น่าจะเป็นอ่างเก็บน้ำ และพื้นที่ด้านล่างเป็นที่ทำนาโดยมีฝายทดน้ำเป็นตัวช่วยป้อนน้ำ ส่วนบริเวณอื่นๆที่อยู่ในภูมิประเทศใกล้เคียงไม่เอื้อต่อการสร้างระบบชลประทานเพราะไม่มี "อ่างเก็บน้ำ" จึงมีเพียงสะพานทำด้วยไม้และพุพังสลายไปตามกาลเวลา


ภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ.2489 แสดงให้เห็นอ่างเก็บน้ำอย่างชัดเจน ปัจจุบันมีชื่อว่า "หนองสนม"

.jpeg)
หนองสนม ปี 2489 กับหนองสนมในปัจจุบัน
.jpg)
พื้นที่รับน้ำชลประทานเพื่อการทำนาด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองโบราณสกลนคร
.jpg)
ภาพจำลองระบบการทดน้ำชลประทานเพื่อทำนาโดยใช้ "หนองสนม" เป็นตัวอ่างเก็บน้ำซึ่งรับน้ำที่ไหลลงมาจากบริเวณที่เป็นศูนย์ราชการในปัจจุบัน
4.จากการค้นพบ “ฝายหินโบราณ” บนภูเขาภูเพ็ก ทำให้ทราบว่าชาวขอมในยุคนั้นมีความรู้วิศกรรมชลประทานอย่างดี

ฝายเก็บกักน้ำบนภูเขากลางป่าภูเพ็ก บ้านภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม สกลนคร ถูกค้นพบโดยทีมงาน "พยัคฆ์ภูเพ็ก" นำโดยอาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ หรือ ฤาษีเอก อมตะ และผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งผู้นำท้องถิ่นบ้านภูเพ็ก เมื่อเดือนเมษายน 2554 ฝายแห่งนี้สร้างเพื่อให้มีน้ำใช้สอยอุปโภคบริโภคสำหรับการก่อสร้างปราสาทภูเพ็กและชุมชนใกล้เคียง
ไหนๆก็พูดถึงสะพานขอมแล้วก็ขอลงภาพที่เกี่ยวข้องมาให้ท่านได้ชมประกอบบทความนี้ จากข้อมูลที่ทราบจากผู้หลักผู้ใหญ่ของเมืองสกลนคร สะพานขอมเคยมีลำน้ำไหลลอดข้างล่าง ต่อมาถูกกลบโดยกรมทางหลวงเพื่อขยายถนนหลวงแผ่นดิน แต่ภายหลังก็ต้องรื้อขึ้นมาใหม่เพราะกรมศิลปากรยืนยันว่าเป็นโบราณสถานตามกฏหมาย แต่เมื่อบูรณะเสร็จแล้วรูปร่างเปลี่ยนไปมากจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม

ภาพถ่ายโดยนักศึกษาวิทยาลัยครูสกลนคร (ไม่ทราบ พ.ศ.)

ภาพถ่ายสะพานขอม (ไม่ทราบว่าเป็นภาพขณะถูกกลบโดยกรมทางหลวง หรือกำลังขุดขึ้นมาบูรณะใหม่)


ภาพถ่ายระหว่างบูรณะสะพานขอมโดยกรมศิลปากร






สรุป
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ..... ที่เชื่อว่า "สะพานขอม" นอกจากเป็นเส้นทางไปมาหาสู่ระหว่างเมืองโบราณกับชุมชนธาตุนารายณ์เจงเวง ก็ยังสามารถทำหน้าที่ทดน้ำเพื่อการทำนา
อนึ่ง การที่กรมทางหลวงถมดินกลบสะพานขอมเพื่อสร้างถนน และต่อมาถูกกรมศิลปากรใช้กฏหมายโบราณสถานสั่งให้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ เป็นบทเรียนราคาแพงที่ต้องไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เราทั้งหลายที่เกิดในยุคปัจจุบันต้องรำลึกถึงรากเหง้าของตนเองว่าบรรพบุรุษได้สร้างมรดกอันล้ำค่าไว้ ต้องทำความเข้าใจกับหลักการที่ว่า "ความเจริญต้องไม่ทำลายมรดกทางวัฒนธรรม" เพราะความเจริญเราสามารถหาใหม่ได้ทุกเมื่อถ้ามีงบประมาณ แต่มรดกวัฒนธรรมไม่สามารถตีราคาได้ ต่อให้มีเงินเท่าไหร่ก็หาซื้อไม่ได้ พูดง่ายว่า "หายแล้วหายเลย"