ReadyPlanet.com
dot
dot
สืบเสาะเจาะลึกเมืองสกล
dot
bulletMegalithic Gate of Equinox ...... Sakon Nakhon Thailand
bulletปฏิทินท่องเที่ยวดาราศาสตร์และโหราศาสตร์เมืองสกล Mar 2024 - Feb 2025
bulletหนองหารหลวง ....... นครแห่ง "สุริยะปฏิทินพันปี"
bulletหนองหารหลวง ........ เมืองแห่ง "มหาสงกรานต์" จริงหรือ?
bulletปราสาทนารายณ์เจงเวง .....อะไรหายไปแล้ว อะไรเสี่ยงสูญหาย
bulletปราสาทภูเพ็ก ถูกดัดแปลง?
bulletสะพานขอมปัจจุบัน ....... โบราณสถานตัวจริง หรือสร้างใหม่?
bulletนาฬิกาแดดขนาดยักษ์เมืองสกล Google Earth ก็มองเห็น
bulletนาฬิกาแดดโรงเรียนวิถีธรรมเมืองสกล ...... มรดกจากบรรพชน
bulletSakon Hempmade มิติใหม่อุตสาหกรรมสิ่งทอ
bulletความรู้ปัจจุบัน ฤาจะเทียบชั้นกับวันวาน Ancient Wisdom V/S Digital Technology
bulletพบฐานรากปราสาทขอมใกล้ลำน้ำก่ำ
bulletปราสาทภูเพ็ก สกลนคร สุดๆแห่งปราสาทขอมในประเทศไทย
bulletปฏิบัติการภูเพ็ก ดอนสวรรค์ พิสูจน์คำทำนายซินแส ฮวงจุ้ยเมืองสกล
bulletสุริยะปฏิทินขอมพันปี
bullet "อาทิตย์ทรงกลด" ณ ปราสาทขอมเมืองสกล วิทยาศาสตร์ที่ลงตัวกับความเชื่อ
bulletโลกล้านปีที่แอ่งสกลนคร
bulletกลุ่มชาติพันธุ์ไทโส้ ....... เป็นใคร ....... มาจากไหน?
bulletพระยาสุระอุทก .......หนองหารหลวง ตำนานที่จับต้องได้
bulletรับพลังสุริยะยุคก่อนประวัติศาสตร์ ...... ที่สกลนคร
bulletกรมศิลปากรโยนหินถาม...เอกสารสิทธิ์ทับคูเมืองสกลโบราณ จะออกทางไหน
bulletหลากมิติอารยธรรม 4 ยุค "บ้านท่าวัด" ริมหนองหาร สกลนคร
bulletถอดจารึกขอม "ภูถ้ำพระ" ทำไมพระพุทธรูปไปอยู่ที่นั่น
bulletปราสาทขอมเมืองสกล.....เอาหินมาจากไหน ?
bulletพระธาตุดุม....ในอีกมุมมอง
bulletมุมมองใหม่ "สะพานขอม" ฝายทดน้ำชลประทาน
bulletไขความลับปราสาทนารายณ์เจงเวง
bulletหนองหารหลวงเมืองหน้าด่าน ยันกับอาณาจักรจาม
bulletไขประตูสู่อดีตพระธาตุเชิงชุม ...... ในอีกมุมมอง
bulletประตูเมืองโบราณสกลนครอยู่ตรงไหน
bulletปฏิบัติการ "มหาสงกรานต์" ไขปริศนาจารึกเมืองสกลโบราณ
dot
เปิดประเด็นการท่องเที่ยว
dot
bulletปราสาทบ้านปรางค์ มิติดาราศาสตร์และศาสตร์แห่งความเชื่อ
bulletปลานิล Biofloc "Safe and Saab"
bulletStory Board มหัศจรรย์ปราสาทภูเพ็ก ตำนานที่จับต้องได้
bulletเรือท่องเที่ยวหนองหารขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
bulletตัวอย่าง เส้นทางท่องเที่ยวสกลนคร 2 วัน 1 คืน
bulletยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเส้นทาง "ราชมรรคา"
bulletTourism Gimmick
bulletTourism Project Proposal
bulletสุริยะปฏิทินจักรราศีดอนสวรรค์ Don Sawan Zodiacal Solar Calendar
bulletSt.Peter's Fish โปรโมทการท่องเที่ยวและสร้างอาชีพใหม่....สกลนคร
bulletBig Project Tourism SNO
bulletAdventure Tourism (Search-Found-Selfie) ลุยป่าค้นหาขอมพันปี
dot
ปฏิบัติการดาราศาสตร์ Operation Astronomy
dot
bulletOperation Equinox 2024
bulletOperation Spica .... ไขปริศนา "เมืองโบราณศรีเทพ"
bulletย้อนอดีต "ราหูอมสุริยา" ก่อนเปลี่ยนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
bulletOperation Rahu Episode XV วัดระยะทาง โลก - ดวงจันทร์ - ดวงอาทิตย์
bulletเจาะลึกเบื้องหลังเมืองโบราณศรีเทพ Operation Spica EP 2
bulletOperación Intercontinental Solsticio de Invierno ปฏิบัติการดาราศาสตร์ เห-มา-ยัน ข้ามทวีป ไทย - เม็กซิโก ธันวาคม 2022
bulletOperation Rahu Episode XIV Total Lunar Eclipse 8 Nov 2022 How Far is The Moon?
bulletOperation Transcontinental Equinox 2022 ปฏิบัติการวสันตวิษุวัตข้ามทวีป 2565
bulletOperation Chou Li Episode V ..... Earth's axis tilt 23.5?
bulletOperation Rahu Episode XIII How Far is the Moon (Lunar Eclipse 26 May 2021)
bulletOperation Bhishma Winter Solstice 2020 finding Earth's axis tilt
bulletOperation Rahu Episode XII Solar Eclipse and Summer Solstice 21 June 2020 How far and how big is the sun
bulletOperation Rahu Episode XI How far is the sun
bulletปฏิบัติการราหู ครั้งที่ 10 (Operation Rahu X) วัดระยะทางโลก - ดวงอาทิตย์ ปรากฏการณ์สุริยะปราคาเต็มดวง
bulletปฏิบัติการชูหลี 4 มุมเอียงโลกยังคง 23.5 หรือไม่ (Operation Chou Li Episode IV)
bulletOperation Eratosthenes Episode II Mar 21, 2019 Measure Earth's circumference with one stick
bulletปฏิบัติการวันสิ้นโลกภาคสาม Operation Doomsday Episode III
bulletOperation Galileo Episode II วัดความเร็วของโลก "หมุนรอบตัวเอง (Rotation) และโคจรรอบดวงอาทิตย์ (Revolution)"
bulletOperation Rahu IX 28 July 2018 Total Lunar Eclipse วัดระยะทางโลก - ดวงจันทร์
bulletOperation Rahu VIII Measuring Distance Earth-Moon ปฏิบัติการข้ามทวีป Thailand - USA
bulletOperation Chou Li Episode III (Measure Earth Axis Tilt With One Stick)
bulletปฏิบัติการไจตระ ถอดรหัสคณิตศาสตร์ขอมพันปี ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร
bulletปฏิบัติการดาราศาสตร์ข้ามทวีป Operation Transcontinental Equinox 2016
bulletOperation Bhishma 2016 ปฏิบัติการดาราศาสตร์ข้ามทวีป ..... การหมุนรอบตัวเองและวงโคจรของโลกยังคงปกติหรือไม่?
bulletวัดมุมเอียงของโลก...ด้วยไม้แท่งเดียว
bulletOperation Rahu Episode I measuring earth to moon วัดระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ ในปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง
bulletOperation Rahu Episode II สูตรใหม่คำนวณระยะทางโลกไปดวงจันทร์
bulletปฏิบัติการ "เจนัส" วัดมุมเอียงของโลก
bulletOperation Rahu Episode III 4 April 2015 วัดระยะทางโลกไปดวงจันทร์
bulletปฏิบัติการเวกัส 2558 "อีราโต้สทีเน้ส " ภาค 2 วัดโลกทั้งใบด้วยไม้แท่งเดียว
bulletOperation Rahu Episode IV วัดระยะทางโลก - ดวงจันทร์
bulletปฏิบัติการชูหลี (Operation Chou Li) ยืนยันมุมเอียงโลก 23.5 องศา
bulletOperation Rahu Episode V วัดระยะทางโลก - ดวงอาทิตย์
bulletOperation Rahu Episode VI How far and how big is the Moon
bulletOperation Rahu Episode VII How far and how big is the sun
bulletOperation Chou Li Episode II (Measuring Earth's Tilt)
bulletวัดโลกทั้งใบ ไทย กัมพูชา ปฏิบัติการ "อีราโตสทีเนส" ข้ามประเทศ
bulletปฏิบัติการ "กาลิเลโอ" วัดความเร็วการหมุนของโลกที่ปราสาทภูเพ็ก
bulletปฏิบัติการวันสิ้นโลกภาค 2 ข้ามทวีป ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร VS ปีรามิดเผ่ามายา เม็กซิโก
dot
แนะนำผู้เขียน
dot
bulletนายกสโมสรโรตารีสกลนคร ปีบริหาร 2556 - 2557
bulletสรรค์สนธิ บุณโยทยาน
dot
สากกะเบือยันเรือรบ กับปราสาทภูเพ็ก สกลนคร
dot
bulletปฏิบัติการอัสวีน่า ปราสาทภูเพ็ก (Operation Ashvina 23 Sep 2019)
bulletพระพุทธรูปศิลปะขอมซ่อนอยู่ใต้โพรงหินที่ปราสาทภูเพ็ก.....สื่อถึงอะไร
bulletภูเพ็ก....เมกกะโปรเจค นครที่สาปสูญ
bulletปฏิบัติการวันสิ้นโลก 2012 ท้าพิสูจน์ที่ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร
bulletความเป็นมาของปราสาทภูเพ็ก
bulletตลึง ! พบ “ฝายหินพันปี” กลางป่าภูเพ็ก
bulletครบรอบ 10 ปี การค้นพบ "สุริยะปฏิทินพันปี" ปราสาทภูเพ็ก
bulletปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ "เหมายัน" 21 -22 ธันวาคม ที่ปราสาทภูเพ็ก
bulletเผยเทคนิคการออกแบบก่อสร้างปราสาทภูเพ็ก
bulletความเป็นมาของสุริยปฏิทิน
bulletพิสูจน์สุริยะวิถี กับปฏิทินมหาศักราชที่ปราสาทภูเพ็ก
bulletรับพลัง "สุริยันจันทรา" ประชันดาวหางแพนสตาร์
dot
เปิดโลกวิทยาศาสตร์
dot
bulletปลูกป่าส่วนตัว กับ 2050 Net Zero Mission Impossible?
bulletพิสูจน์เชิงประจักษ์ "ปลูกป่าให้โตเร็ว" ด้วยธนาคารน้ำใต้ดิน
bulletBiofloc ...... Fish Farm 4.0
bulletทำไมเดือนกุมภาพันธ์ มี 28 วัน
bulletBiofloc Farming เลี้ยงปลาระบบปิด Fisheries 4.0
bulletข้าวหอมมะลิใช้น้ำน้อย 2019
bulletClimate Change Mitigation & Adaptation "It's Now or Never"
bulletฟาร์มปลาเชิงพาณิชย์ใช้น้ำน้อยระบบ Biofloc
bulletข้าวหอมมะลิใช้น้ำน้อย 2561 (2018)
bulletGroundwater Bank (An alternative water management)
bulletข้าวหอมมะลิกับดาราศาสตร์ ปลูกปีละ 2 ครั้ง ได้หรือไม่?
bulletHow Herbal Medicine Works
bulletระบบให้น้ำโรงเรือนปลูกผักบริษัทประชารัฐ สกลนคร
bulletป่าเศรษฐกิจครอบครัวทางเลือกใหม่ win win ทั้งชาวบ้านและรัฐบาล
bulletEarth and Space Class
bulletวิเคราะห์ฤกษ์รัตนโกสินทร์ในมุมวิทยาศาสตร์
bulletปฏิบัติการพิมาย ชาตินี้มีครั้งเดียว Operation Phimai Once or Never
bulletนาฬิกาแดดโรงเรียนวิถีธรรม ม.ราชภัฏสกลนคร
bulletทำไมชาวมายาในเม็กซิโกจึงมีรูปร่างหน้าเหมือนคนเอเซีย
bulletปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตรงศรีษะ (sun overhead)
bulletเกาะติดไปกับยาน New Horizons เผยความลับพลูโต "ดาวเคราะห์ลูกเมียน้อย"
bulletทำนาน้ำน้อยแต่ผลผลิตสูง เป็นไปได้หรือไม่ More Rice With Less Water?
bullet21-22 มิถุนายน ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ "ครีษมายัน" Summer Solstice กลางวันยาวที่สุดในรอบปี
bulletดางหาง ISON ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ปิดท้ายปี 2556
bulletมองหมากเม่าผ่านมิติดาราศาสตร์
bulletดาราศาสตร์ที่เราเห็น.....ล้วนเป็นภาพลวงตา
bulletเข้าพรรษาบางปีทำไมต้องเดือน 8-8
bulletประสบการณ์ตรงเรื่อง "ยูเอฟโอ" ผมคิดแบบวิทยาศาสตร์
bulletเกาะติดการค้นหาชีวิตบนดาวอังคาร กับยาน Curiosity
bulletหม้อหุงข้าวพลังแสงอาทิตย์ นวัตกรรมติดดิน
bulletนาฬิกาแดดต้นแบบมิติเวลาของมนุษยชาติ
bulletภาคปฏิบัติ....วัดโลกทั้งใบด้วยไม้แท่งเดียว
bulletการอบรมเชิงปฏิบัติการ "อีราโทสทีเนส"
bulletชวนครูไทย วัดโลกทั้งใบ ด้วยไม้แท่งเดียว
dot
จับประเด็นร้อน
dot
bulletอะไรจะเกิดขึ้นถ้าแม่น้ำโขงเผชิญกับสภาพ "ไร้ตะกอน" (Hungry River)
bulletฤาตำนานหนองหารล่ม.....จะกลายเป็นเรื่องจริง
bulletทำไมคนถึงอยากครอบครอง "ดอนสวรรค์" ในบึงหนองหาร สกลนคร
bulletกู้ "หนองหาร" ด้วยมือเรา.....เริ่มต้นที่บ้าน
bulletบทเรียนอันเจ็บปวดของเขื่อนในอเมริกา....ฤา จะสะท้อนสามแสนล้านบาทเพื่อจัดการน้ำของไทย
bulletโบราณวัตถุพันปีสกลนคร....อยู่ในภาวะเสี่ยงสูญหาย
bulletภัยมืดรุกชาวสกล...จากสาหร่ายพิษในหนองหาร
bulletน้ำท่วม "ตัวเมืองสกล" บทเรียนที่น่าจะถึงเวลาสรุปเสียที
bulletพายุ "นกกระเตน" ทำเสียหายสวนยางเมืองสกล
bulletฤา...นโยบาย 300 บาท จะช่วยบรรเทาปัญหา “หัวดำออก หัวหงอกเลี้ยง”
dot
อินเดียน่าโจนส์ (ภาคสรรค์สนธิ)
dot
bulletThe Cosmic Code of Borobudur รหัสจักรวาลแห่งบูโรพุทโธ
bulletThe Riddle of Ayutthaya
bulletทำไมวันปีใหม่ต้องเป็น 1 มกราคม? Why does the new year begin on January 1 ?
bulletผลการดูงานสหกรณ์การเกษตรประเทศไต้หวัน 23 - 26 สิงหาคม 2559
bulletประกาศิตเทพเจ้ากูกูลข่าน The Return of God Kukulkan
bulletวางผังเมืองเชียงใหม่ด้วยวิธีดาราศาสตร์
bulletกุมภาพันธ์ ปี "อธิกสุรทิน" ทำไมต้อง 29 วัน
bulletมองผ่านประตูพระธาตุพนมในอีกมุม
bulletจับพิรุธรูปสลักหินอ่อน "กษัตริย์เดวิท" ที่เมืองฟอร์เรนซ์
bulletย้อนอดีตกรุงเก่าอยุธยา ถือฤกษ์ "รามนะวามิ"
bulletท่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ "โสมสูตร" ที่ปราสาทขอมในกัมพูชาหายไปไหนหมด
bulletอาทิตย์ตั้งฉากกับพุทธสถานชื่อดังในวันวิสาขบูชาโลก
bulletปราสาทพิมายในมุมมองวิทยาศาสตร์
bulletมองปราสาทขอม ในแง่มุมดาราศาสตร์ การเมือง และความเชื่อ โดยนักรบออนไลน์ กับไกด์มืออาชีพ
bulletตรุษจีน ตรุษเวียต ตรุษไทสกล และบุญเบิกฟ้า
bulletปริศนา "ปราสาทบายน" ฤา.....มนุษยชาติจะผ่านพ้นความขัดแย้ง
bulletประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ทำไมต้องใช้ชื่อว่า "วิสาขะ"
bulletราหู.....น้ำอมฤต.....สนามบินสุวรรณภูมิ
bulletอาณาจักร "ทวารวดี" ทำไมจึงล่มสลาย
bullet"มาฆบูชา" ทำไมต้องใช้ชื่อนี้
bullet"ทัชมาฮาล" ในมุมมองดาราศาสตร์
bulletคำสอนพุทธองค์เปล่งประกายอีกครั้งในดินแดนภารตะ
bulletเมือง "สารนาท" ที่มาแห่งวันอาสาฬหบูชา
bulletแกะรอย "สุริยะเทพ" ที่ปราสาทพนมบาเค็ง
bulletถอดความศิลาจารึกพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พบ "ฤกษ์อโรคยาศาล"
bulletปราสาทหินพิมาย กับสามเหลี่ยมพุทธมหายาน
bulletจากพระธาตุเชิงชุม ถึงพุทธคยา
bulletถอดรหัสขอมพันปี 80 องศา พบราศีเมษ
bulletไขปริศนาปราสาทพนมรุ้ง
bullet13 เมษายน 2551 วันสงกรานต์ จริงหรือ ?
bullet21 มี.ค. 51 ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก
bulletตำนานวันปีใหม่ มิติแห่งกาลเวลาของมนุษยชาติ
bulletเข้าพรรษา ปี 2550 ทำไมต้องมีเดือนแปดสองหน
bulletมหาสงกรานต์ 13–15 เม.ย.
bulletปฏิบัติการอีราโตสทีเนสวัดโลกทั้งใบ ด้วยไม้แท่งเดียว
bulletบ่าวคำหอม ล่ะเบ๋อ
bulletแวดวง BCL.
bulletปฏิบัติการ "อีราโทสทีเนส" วัดเส้นรอบวงโลกด้วยไม้แท่งเดียว




นาฬิกาแดดต้นแบบมิติเวลาของมนุษยชาติ

 

นาฬิกาแดดต้นแบบ "มิติเวลาของมนุษยชาติ"

นาฬิกาที่เราๆท่านๆใช้อยู่ทุกวันนี้มีที่มาจาก "นาฬิกาแดด" ซึ่งคำนวณจากคณิตศาสตร์ฐานหกสิบของอาณาจักรสุเมเรี่ยนในดินแดนเมโสโปเตเมีย เมื่อ 6,000 ปี ที่แล้ว

 จริงๆแล้วเรายังไม่รู้ว่าใครหรือชนชาติใดเป็นคนแรกที่สร้างนาฬิกาแดดอันแรกของโลก จากหลักฐานที่ปรากฏพบว่า บรรพชนในดินแดนเมโสโปเตเมีย อียิปส์ กรีก และโรมัน ล้วนมีนาฬิกาแดดในรูปลักษณ์ต่างๆ หลายกระแสเชื่อว่าชาวสุเมเรี่ยนซึ่งเป็นต้นฉบับอารยธรรมของโลกน่าจะเป็นชนชาติแรกที่มีความรู้เรื่องนี้ แต่ยังขาดหลักฐานที่เป็นตัวตน เราหวังว่าทหารอเมริกันที่กำลังควานหาอาวุธร้ายแรงในประเทศอีรักอย่างขะมักเขม้น อาจจะบังเอิญกวาดสายตาไปพบโบราณวัตถุที่บ่งชี้ว่านี่แหละนาฬิกาแดดอันแรกของโลกตัวจริงเสียงจริง ผมว่าการค้นพบนี้อาจจะดีกว่าเจออาวุธบ้านั่นเสียอีกเพราะอย่างน้อยก็ช่วยให้ชาวโลกได้ตื่นเต้นในทางที่เป็นประโยชน์

  

 

 หลักฐานที่เป็นบันทึกชิ้นแรกของนาฬิกาแดดอยู่ในพระคำภีร์ไบเบิ้ลฉบับเก่า (The Old Testament) ในบท Job 7:2 กล่าวถึง Sundial of King Ahaz ส่วนหลักฐานที่เป็นตัวตนจับต้องได้ เป็นนาฬิกาแดดของ ชาเดียน เบโลซุส (Chaldean Borosus)นักบวชจากดินแดน   บาบิโลน หรือเมโสโปเตเมีย ท่านผู้นี้มีชื่อเสียงกระฉ่อนเรื่องดาราศาสตร์ ในช่วง 356-323 ปี   ก่อนคริสตกาล     (พ.ศ.187-220) เบโลซุส นำนาฬิกาแดดของเขามาใช้ที่กรีก                  นักโบราณคดีในยุคปัจจุบันพบนาฬิกาเก๋ากึ๊กทั้งหมด 4 ชิ้น ในประเทศอิตาลี ที่เมือง Tivoli   (พบปี ค.ศ.1746) เมือง Castel Nuovo และ Rignano (พบ ค.ศ.1751) ชิ้นที่ 4 พบที่เมือง Pompeii เมื่อ ค.ศ.1751 นักประวัติศาสตร์ชื่อดังในอดีต เฮโรดูตัส ((Herodutus) บันทึกไว้เมื่อ ปี 443 ก่อนคริสตกาล ว่าชาวกรีกได้รับเทคโนโลยีเกี่ยวกับนาฬิกาแดดมาจากชาวบาบิ   โลเนียน และชาวโรมันในยุคต่อมาก็รับถ่ายทอดวิชานี้จากชาวกรีก พวกเขาติดตั้งนาฬิกาแดดอันแรกที่กรุงโรมเมื่อ ปี 290 ก่อนคริสตกาล โดยนำมาจากดินแดน Samnites อันที่สองนำมาจาก Catania เมื่อ ปี 261 ก่อนคริสตกาล และที่สุดชาวโรมันได้สร้างด้วยมือของพวกเขาเองเมื่อ ปี 164 ก่อนคริสตกาล และถึง ปี 48 ก่อนคริสตกาล นาฬิกาแดดกลายเป็นเครื่องประดับยอดฮิตทั่วกรุงโรม

 

                ชาวอียิปส์เป็นอีกชนชาติหนึ่งที่มีความรู้เรื่องนาฬิกาแดดอย่างดี เสาหินที่เรียกว่า Obelisks เป็นเครื่องบอกเวลาที่เก่าแก่อันหนึ่งของโลก ปัจจุบันหลายแท่งตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ที่กรุงโรม และกรุงปารีส เพราะถูกนำมาตั้งแต่สมัยโรมัน และสมัยของท่าน นโปเลียน  

 

 

 

นาฬิกาแดดยุคโบราณของชาวจีน ตั้งโชว์อยู่ในพระราชวังต้องห้ามที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการท่องเที่ยว ใครผ่านไปผ่านมา ก็ต้องถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ในสายตาของผม นี่คือความอหังการแห่งภูมิปัญญาทางดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ของบรรพชนเผ่าพันธุ์ผิวเหลืองของทวีปเอเชียที่ไม่น้อยหน้าชาวอารยัน พูดแบบภาษาของวงการหมัดมวย ก็ต้องใช้คำว่ากรรมการต้องตัดสินแบบหืดขึ้นคอละครับ ถ้าใครไปคุยกับอาแปะและอาเฮียเหล่านั้น พวกเขาคุยอย่างเต็มปากเต็มคำว่าวิชาดาราศาสตร์ที่ชาวยุโรปใช้กันทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากบรรพบุรุษผิวเหลืองนี่แหละ ขนาดบันทึกเรื่องราวการระเบิดของดาวฤกษ์ (Super nova) เมื่อหลายพันปีที่แล้ว ก็ยังอยู่ในความทรงจำของพวกเขา 

 

นาฬิกาแดด เป็นต้นแบบของนาฬิกาปัจจุบัน

 

เป็นที่ทราบดีว่านาฬิกาปัจจุบันใช้ระบบคณิตศาสตร์ฐาน 60 ซึ่งมีตัวเลขแม่ 12 เป็นหลัก นั่นคือ 60 วินาที 60 นาที และ 12 x 2 = 24 ชั่วโมง ทั้งหมดนี้ได้มาจากคณิตศาสตร์ของชาวสุเมเรี่ยนในดินแดนเมโสโปเตเมียเมื่อ 6,000 ปี ที่แล้ว พวกเขากำหนดให้โลกหมุนรอบตัวเองเท่ากับ 24 ชั่วโมง (12 x 2) โดยทุกๆชั่วโมงโลกเคลื่อนตัวไปเท่ากับ 15 องศา (15 องศา x 24 ชั่วโมง = 360 องศา) ดังนั้นนาฬิกาแดดจึงมีช่องเวลาช่องละ 15 องศา เมื่อเงาของดวงอาทิตย์เคลื่อนไป 1 ช่องก็เท่ากับ 1 ชั่วโมง 

 

  

เมื่อพูดถึง "นาฬิกาแดด" อาจคิดว่าเป็นของโบร่ำโบราณตกยุคตกสมัยไปแล้ว......แต่องค์การ "นาซ่า" ไม่คิดเช่นนั้น   
พวกเขาติดตั้งนาฬิกาแดดไปกับยานสำรวจดาวอังคาร เพื่อวิเคราะห์สัดส่วนระหว่างเงาของดวงอาทิตย์กับการหมุนรอบตัวเองของดาวเคราะห์ดวงนี้ เพื่อใช้ในการออกแบบนาฬิกามาตรฐานดาวอังคาร และสร้างสมการระหว่างเวลาของโลกกับเวลาของดาวอังคาร เพราะวันหนึ่งเมื่อมนุษย์ไปอยู่ที่นั่นก็จำเป็นต้องใช้นาฬิกาที่เข้ากับมิติเวลาของดาวอังคาร พูดง่ายๆว่า "โรเล็กซ์" เรือนละสองแสนหมดราคาทันทีที่ไปถึงดาวอังคาร นาฬิกาแดดที่ไปกับยานอวกาศมีชื่อว่า Two Worlds One Sun หรือ "สองพิภพ หนึ่งสุริยะ" ออกแบบโดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังของอเมริกา Mr.Bill Nye มีสมยานามว่า The Science Guy เป็นขวัญใจของเด็กๆเพราะพี่แกมีรายการทีวีวิทยาศาสตร์เด็กติดกันตรึมทั้งประเทศ             

 

         

 
 
 
 
ล่าสุดยานสำรวจดาวอังคารชื่อ Curiosity ลงจอดบนดาวอังคารเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2555 ตรงกับเวลาท้องถิ่นประเทศไทย 12:32 น. ก็พกนาฬิกาแดดไปด้วยตามธรรมเนียม ผมเลยถือโอกาสทำภาพเปรียบเทียบระหว่างนาฬิกาแดดที่ดาวอังคาร กับนาฬิกาแดดที่นครพนม และสกลนคร  
            
ดังนั้น นาฬิกาแดดจึงเป็นเครื่องมือนำร่องในเรื่องมิติของกาลเวลา ที่ใช้ได้กับดาวเคราะห์ในระบบสุริยะทุกดวง ไม่ว่ามนุษย์จะไปทำอะไรที่ดาวเคราะห์ดวงไหนก็ต้องหอบหิวนาฬิกาแดดติดตัวไปด้วยเสมอ เพื่อให้สามารถออกแบบนาฬิกาของท้องถิ่นนั้นๆได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากนาฬิกาที่เราๆท่านๆใช้อยู่บนโลกเบี้ยวๆใบนี้ถูกปรับให้เข้ากับการหมุนรอบตัวเองในอัตรา ชั่วโมงละ 15 องศา หรือ 24 ชั่วโมง ต่อ 360 องศา และโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยมุมเอียง 23.5 องศา ใช้เวลาประมาณ 365 วัน หากเอานาฬิกา ของเราติดตัวไปที่ดาวอังคาร ต่อให้เป็นยี่ห้อโรเร็กซ์เรือนละ 2 แสนบาท ก็ไร้ความหมายโยนทิ้งไปได้เลย เพราะเวลาที่นั่นกับที่โลกเราไม่เหมือนกัน ผมเชื่อว่าวันหนึ่งข้างหน้ามนุษย์จะต้องบัญญัติศัพท์ทางวิชาการเกี่ยวกับเวลาขึ้นมาใหม่ ถ้าเรามีอาณานิคมอยู่บนดวงจันทร์ และดาวอังคาร เมื่อจะโทรศัพท์ถึงกันคงต้องนัดเวลาที่เป็นสากล อาจเรียกว่า Solar Mean Time (SMT)แทนที่จะเป็น Greenwich Mean Time (GMT) และนาฬิกาโรเร็กซ์รุ่น Solar Model คงต้องมีหน้าปัดที่ปรับเวลาได้ทั้งของโลก ดวงจันทร์ และดาวอังคาร ที่ว่ามานี้หลายท่านอาจคิดว่าเป็นความเพ้อฝันแต่ลองมาสำรวจประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติดูซิครับ เมื่อ 500 ปี ที่แล้ว คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบทวีปอเมริกาเราเรียกดินแดนแห่งนั้นว่า “โลกใหม่” ต่อมาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2446 ชาวอเมริกันพี่น้องตระกูลไร้ส์ (The Wright brothers) ทดสอบเครื่องบินลำแรกของโลกเป็นผลสำเร็จที่เมือง Kitty Hawk, North Carolina วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2512 ยานอวกาศ อะพอลโล่ 11 ลงจอดบนดวงจันทร์ ได้อย่างงดงาม แม้ว่าจะมีเสียงครหานินทาตามมาภายหลังว่า “แหกตา” แต่องค์การนาซ่าออกมายืนยันว่าทุกอย่างเกิดขึ้นจริง มีหลักฐานชัดเจนคือ ได้ติดตั้งเครื่อง Reflector สำหรับรับยิงแสงเลเซ่อร์ และทิ้งบางส่วนของ Landing Module เอาไว้ มีภาพถ่ายจากยานสำรวจดวงจันทร์รุ่นๆหลังเก็บเอามาให้ดูกับจะจะ และล่าสุดยานสำรวจอวกาศ Viking ได้ร่อนลงจอดที่ผิวดาวอังคารอย่างนิ่มนวล เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2519 ถ้านับถึงเวลานี้ดาวอังคารถูกรุกรานจากมนุษย์จนแทบจะพรุนหมดแล้ว ยาน Mars Rover ลำแล้วลำเล่าไปเดินต้วมเตี้ยมอยู่บนดาวเคราะห์สีแดง ส่งข้อมูลและภาพมาให้วิเคราะห์หลายหมื่นชิ้น ผมว่าอีกไม่นานเกินรอเราคงจะส่งมนุษย์ตัวเป็นๆไปเดินที่ดาวอังคารอย่างแน่นอน
เมื่อ ปี 2510 ผมชอบฟังเพลงของคณะนักดนตรีชาวตากะล๊อก The Fabulous Echo ชื่อเพลง Dancing on the moon ที่เนื้อร้องตอนหนึ่งกล่าวว่าWe be dancing on the moon,  gonna have it very soon ตอนนี้ทุกอย่างเป็นจริงหมดแล้ว ครับ 
          
        หลักการทำงานของนาฬิกาแดด
 
เงาของดวงอาทิตย์เปลี่ยนตำแหน่งตามฤดูกาล         
ตามความคิดของผู้คนทั่วไปอย่างเราๆท่านๆ คงนึกภาพนาฬิกาแดดเป็นวัตถุอะไรสักอย่างที่ชี้โด่ขึ้นไปบนท้องฟ้า ในลักษณะตั้งฉากกับพื้นดิน และใช้เงาของสิ่งนั้นๆ เป็นตัวชี้วัดว่าตอนนี้เวลาเท่าไหร่แล้ว ความคิดนี้ถูกต้อง 100%ครับ ถ้านาฬิกาแดดอันนี้ติดตั้งอยู่ที่ขั้วโลกพอดี แต่ในความเป็นจริงเราอาศัยอยู่บนพื้นโลกตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งเกือบร้อยทั้งร้อยไม่ใช่ขั้วโลก
ถ้าใช้ไม้ปักตั้งฉากกับพื้น และดูว่าเงาชี้ตรงไหน ทำเครื่องหมายไว้เรื่อยๆตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้นจนตกดิน เราจะได้นาฬิกาแดดที่ง่ายที่สุด อย่างไรก็ตามวิธีนี้ไม่เวิกร์อย่างที่เราคาดหวังเพราะตำแหน่งของดวงอาทิตย์เปลี่ยนไปทุกวัน เงาที่ชี้ว่า 7โมงเช้าของวันแรกที่ทำเครื่องหมายไว้ จะไม่ตรงกับ 7โมงเช้า ของเดือนถัดไปเสียแล้ว และจะเพี้ยนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะกลับมาถึงวันที่เราทำเครื่องหมายครั้งแรกเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ มุมตกกระทบของแสงอาทิตย์ที่มีต่อพื้นโลกเปลี่ยนไปตลอดเวลา เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะเอียงจากแนวดิ่งประมาณ 23.5 องศา

 

                โลกทั้งใบเป็นต้นแบบของนาฬิกาแดด
                                ถ้าเอาไม้ลักษณะกลมๆเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ยาวสัก 1 เมตร ไปตั้งที่จุดกึ่งกลางของขั้วโลกเหนือ โดยให้ไม้แท่งนี้ตั้งฉากกับพื้นดินชี้โด่ขึ้นท้องฟ้า ในทางดาราศาสตร์ยอดไม้จะชี้ตรงไปที่ตำแหน่งดาวเหนือ (Polaris) และทุกๆ 1 ชั่วโมง เงาของไม้ที่ปรากฏบนพื้นดินจะเคลื่อนตัวไป 15 องศา ถ้าเป็นช่วงฤดูร้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วันที่ 21- 22 มิถุนายน (summer solstice) ดวงอาทิตย์ที่นั่นไม่ตกดินแม้แต่นาทีเดียว เพราะโลกกำลังเอียงซีกเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่บริเวณขั้วโลกเหนือที่เรียกว่า Arctic- Circle ตั้งแต่ เส้นรุ้ง 66.5 องศา ขึ้นไป เป็นกลางวันทั้ง 24 ชั่วโมง หลายท่านเรียกว่าพระอาทิตย์เที่ยงคืน (Midnight sun) ผมเคยไปที่เมืองตูรกูร์ ประเทศฟินแลนด์ (เส้นรุ้ง 60 องศาเหนือ) ในช่วงฤดูดังกล่าว พระอาทิตย์ตกดินดึกทีเดียว และตอนเที่ยงคืนก็ไม่มืดสนิทมีแสงสีเหลืองอยู่ที่ขอบท้องฟ้า พอตีสามกว่าๆพระอาทิตย์ก็ขึ้นใหม่ ดังนั้น เงาของไม้จะเคลื่อนไปเรื่อยๆในอัตราความเร็ว ชั่วโมงละ 15 องศา ครบ 24 ชั่วโมงจะกลับมาที่เดิม นั่นคือครบ 360 องศา (24 ชั่วโมง x 15 องศา = 360 องศา) โลกของเราจึงทำหน้าที่เป็นนาฬิกาแดด โดยหมุนรอบตัวเองชั่วโมงละ 15 องศา หรือคิดเป็นระยะทาง 1,670 กม. ต่อ ชั่วโมง
 
         นาฬิกาแดดเป็นอุปกรณ์ที่ทำจากโลกขนาดย่อส่วน

    นักดาราศาสตร์ในยุคโบราณเข้าใจหลักการนี้อย่างดี จึงจับเอาปรากฏการณ์ดังกล่าวมาย่อส่วนให้เป็นนาฬิกาแดดในสถานที่ต่างๆ โดยไม่ต้องถ่อสังขารไปถึงขั้วโลกเหนือ พวกเขาใช้หลักการง่ายๆ ดังนี้

                1.ออกแบบให้หน้าปัดนาฬิกาแดดแบ่งออกเป็นช่องๆละ 15 องศา และตั้งหน้าปัดอันนี้ให้ขนานกับเส้นศูนย์สูตรของโลก หรืออีกนัยหนึ่งทำมุมเอียงจากแนวดิ่งเท่ากับองศาของเส้นรุ้ง ณ สถานที่นั้นๆ 
                2.ติดตั้งเข็มชี้เวลา ให้ตั้งฉากกับตัวหน้าปัด โดยให้เข็มอยู่ที่จุดเริ่มต้นของช่อง 15 องศา 
ถ้าจะตั้งนาฬิกาแดดที่ไหน ต้องรู้ว่าสถานที่นั้นๆอยู่บนเส้นรุ้งองศาเท่าไหร่ เพื่อบังคับมุมเอียงจากแนวดิ่ง ของหน้าปัดนาฬิกาแดดให้เท่ากับองศานั้น การทำเช่นนี้ยังผลให้หน้าปัดนาฬิกาแดดขนานกับเส้นศูนย์สูตรของโลก และเข็มจะชี้ไปทางขั้วโลกเหนือ ในทางดาราศาสตร์ใช้คำว่า ชี้ไปที่ดาวเหนือ นาฬิกาแดดชนิดนี้ ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Equatorial Sundialแปลเป็นไทยตรงกับ นาฬิกาแดดชนิดหน้าปัดขนานกับเส้นศูนย์สูตรของโลก 
อนึ่ง ผู้คนในอาณาจักรโบราณ เช่น สุเมเรี่ยน ยูดา บาบิโลน อียิปส์ กรีก โรมัน มีวิธีหาค่าองศาเส้นรุ้ง ณ สถานที่นั้นๆ อย่างสบายๆ เพราะพวกเขามีความรู้ดาราศาสตร์เหนือชั้นกว่าเราๆท่านๆในปัจจุบัน ผมเองสารภาพอย่างไม่อายว่าไปลอกเลียนความรู้ของบรรพชนเหล่านั้นมาเต็มๆ พวกเขาใช้วิธีคำนวณจากเงาดวงอาทิตย์ (Shadow Plot)เพื่อให้ได้ทิศเหนือแท้ (True north)เป็นอับดับแรก จากนั้นรอให้ถึงวันวิษุวัต (Equinox) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่แกนของโลกตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ กลางวันเท่ากับกลางคืน วันนี้ความยาวเงาของดวงอาทิตย์ในตำแหน่งทิศเหนือแท้ กับความสูงของเสา นำไปเข้าสูตร Tangentจะได้ค่าองศาของเส้นรุ้ง ณ สถานที่นั้นๆ 
 

 

                นาฬิกาแดดกับการแบ่งโซนเวลาของโลก
                เมื่อมนุษย์กระจายการตั้งถิ่นฐานไปทั่วทุกมุมโลก การเดินทางระหว่างกันย่อมเป็นสิ่งจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางข้ามทวีป หรือการเดินทางระหว่างสถานที่ที่อยู่ห่างไกลกัน เรื่องของเวลาจึงกลายเป็นอะไรสักอย่างที่ต้องจัดการให้เรียบร้อย และสามารถอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการนัดหมาย เนื่องจากเป็นที่ทราบดีแล้วว่าพื้นที่เหล่านั้นมีกลางวันและกลางคืนไม่ตรงกัน เพราะโลกหมุนรอบตัวเอง15 องศา ต่อหนึ่งชั่วโมง ทำให้สถานที่หนึ่งเป็นตอนเช้าส่วนอีกสถานที่หนึ่งเป็นตอนเย็น ดังนั้น จึงมีการกำหนดเส้นสมมุติขึ้นมา 2 อย่าง คือ เส้นรุ้ง (Latitude) และเส้นแวง (Longitude)
เส้นรุ้ง (Latitude)เป็นเส้นสมมุติที่ลาก อ้อมโลกของเราในแกนนอน โดยกำหนดให้เส้นที่ลากผ่านตรงกลางโลกพอดี มีค่าตัวเลขเท่ากับ ศูนย์องศา เรียกว่าเส้นศูนย์สูตร (Tropic)และเส้นที่ถัดขึ้นไปทีละ 1องศาทางขั้วโลกเหนือ เรียกว่า เส้นรุ้ง 1องศาเหนือ และขยับขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงจุดขั้วโลกเหนือ เท่ากับเส้นรุ้ง 90องศาเหนือ ทางซีกโลกใต้ก็ใช้วิธีเดียวกันแต่เรียกว่า เส้นรุ้ง 1องศาใต้ ไล่ลงไปเรื่อยๆ
จนถึงจุดขั้วโลกใต้ซึ่งมีค่าเท่ากับเส้นรุ้ง90องศาใต้
เส้นแวง (Longitude)เป็นเส้นสมมุติที่ลากอ้อมโลกในแนวตั้ง และวนกลับมาที่เดิมเหมือนวงกลม โดยเริ่มจากขั้วโลกเหนือไปหาขั้วโลกใต้  มีค่าทั้งหมด 360 องศา และเพื่อความสะดวกต่อการใช้งาน จึงแบ่งออกเป็น 2ซีกๆละ 180องศา เรียกว่าเส้นแวงตะวันออก  และเส้นแวงตะวันตกราวกับจับโลกมาผ่าแบ่งครึ่งเป็นสองส่วนนั่นเอง ในที่นี้จุดเริ่มต้นเส้นแวง ศูนย์องศา (Prime Meridian) ถูกกำหนดโดยข้อตกลงนานาชาติ (International Meridian Conference) ให้อยู่ที่เมือง Greenwich ประเทศอังกฤษ เนื่องจากที่นั่นมีหอดูดาวที่โด่งดังและเป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลทางดาราศาสตร์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก การประชุมที่ว่าถูกจัดขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ.2427 โดยประธานาธิบดี คนที่ 21 ของสหรัฐอเมริกา Chester A. Arthur  เป็นเจ้าภาพใหญ่ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 41 คน จาก 25 ประเทศ ข่าววงในแจ้งว่าทุกคนเห็นด้วยหมด ยกเว้นผู้แทนจากประเทศฝรั่งเศส ใช้วิธีงดออกเสียงและดันทุรังแบบดื้อตาใส ใช้เส้นแวงของตนเองเป็น Prime Meridian ต่อไปอีกหลายปี จนกระทั่งตกอยู่ในสภาพจำยอมเพราะไม่มีใครเขาเล่นด้วย เลยต้องก้มหน้ายอมรับเส้นแวงศูนย์องศา เมือง Greenwich โดยปริยาย  

ดังนั้น เราจึงสามารถเรียกชื่อทุกสถานที่บนพื้นโลก ด้วยตำแหน่งหมายเลข ที่เป็นจุดตัดระหว่างเส้นรุ้งกับเส้นแวง เช่น ปราสาทภูเพ็ก สกลนครอยู่ที่ตำแหน่งจุดตัดระหว่าง เส้นรุ้งที่ 17องศาเหนือ กับเส้นแวง 103องศาตะวันออก เขียนเป็นภาษาสากลว่า 17 N 103Eหรือ รุ้ง 17. แวง 103ตอ.เมื่อเส้นแวงมีจำนวนทั้งหมด 360เส้น และโลกหมุนรอบตัวเองด้วยเวลา 24ชม. เมื่อจับ360หารด้วย 24ได้ผลเท่ากับ 15หมายความว่า โลกหมุนไป 1ชั่วโมง กินระยะทางของเส้นแวง 15องศา และเมื่อคิดละเอียดลงไปอีก        เอา  60 นาที หารด้วย 15องศา จะได้ 4นาที / องศา แสดงว่า โลกหมุนไป 1องศา กิน เวลา 4นาที  เวลาสากล(Standard time)

ประเทศไทยทำข้อตกลงกับนานาชาติว่า เราใช้เส้นแวง 105 องศาตะวันออก  

(Longitude 105 E) ที่ผาชนะได อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นตัวอิงทำให้ประเทศไทย อยู่ในโซนแห่งเวลา (Time zone) + 7 ชั่วโมง นับจากเวลามาตรฐานที่เมือง Greenwich ประเทศอังกฤษ ถ้าที่เมือง Greenwich เป็น 0 นาฬิกา พี่ไทยเราก็จะเป็น +7 นาฬิกา หรือ 7 โมงเช้า หรืออีกนัยหนึ่ง +7Greenwich meantime  ซึ่งใช้อักษรย่อว่า GMT ด้วยเหตุผลนี้จึงกำหนดให้ประเทศไทยอยู่ใน โซนแห่งเวลา ที่ +7ชั่วโมง ทั้งประเทศ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีลูกเล่นทางเศรษฐกิจและการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และสิงค์โปร อยู่ในเส้นแวงเดียวกันกับประเทศไทยแท้ๆ แต่เพื่อนไปทำข้อตกลงให้เป็น โซนแห่งเวลา + 8 จาก GMTเพื่อให้เวลาราชการเริ่มก่อนเรา 1 ชั่วโมง และที่แน่ๆตลาดหุ้นของเขาเปิดก่อนเรา    1ชั่วโมง พร้อมๆกับตลาดหุ้นที่เกาะฮ่องกง มองได้ชัดเจนว่าตลาดหุ้นของเราวิ่งตามหลังเขา 1ชั่วโมงในสมัยรัฐบาลของ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เคยปรารภว่าอยากจะร่นเวลาของเราให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมง เป็น + 8 GMTแต่ถูกคัดค้านจึงล้มเลิกความคิดไป

 

 

 นาฬิกาแดด และสุริยะปฏิทินชนิด Modified Horizontal Sundial ที่บ้านสกลนคร

ผมได้ออกแบบนาฬิกาแดดและสุริยะปฏิทินติดตั้งที่บ้านสกลนคร ตั้งแต่ปี 2550 โดยใช้รูปแบบแท่งโอเบลิส (Obelisk) ของอียิปส์โบราณ นาฬิกาแดดชิ้นนี้เป็นการดัดแปลงจากโมเดล Horizontal Sundial และสามารถชี้ช่วงเวลาในรอบปีว่าเป็นเดือนอะไร เป็นช่วงวันสั้น (short day) หรือวันยาว (long day) และกลางวันเท่ากับกลางคืน (equinox)

 

                

 

      
  
สมการแห่งเวลา (equation of time)
 
นาฬิกาแดดมีข้อแตกต่างกับนาฬิกาข้อมือ เนื่องจากเงาที่เกิดจากเข็มของนาฬิกาแดดจะแสดงเวลาตามมุมตกกระทบของดวงอาทิตย์ ณ สถานที่ที่นาฬิกาแดดตั้งอยู่ เช่น เวลาเที่ยงตรงของนาฬิกาแดด (Local solar noon)หมายถึงเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตรงกับเส้นแวง (Longitude)ของสถานที่นั้นพอดี ทำให้เงาของเข็มนาฬิกาแดดชี้ไปในแนว ทิศเหนือ หรือ ทิศใต้แท้ (Geographic north – south) ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ขณะเดียวกันนาฬิกาที่ข้อมือของท่านอาจชี้เวลาเที่ยงตรงพอดี ก่อนเที่ยง หรือหลังเที่ยงก็ได้ เพราะนาฬิกาข้อมือยึดหลักการที่ว่า แต่ละวันกินเวลาเท่ากับ 24 ชั่วโมงเป๊ะๆ ซึ่งในความจริงตามหลักดาราศาสตร์ เวลาที่ดวงอาทิตย์ปรากฏกายอยู่บนท้องฟ้าไม่เท่ากันในแต่ละฤดูกาล เช่น ฤดูร้อน เป็นช่วงที่กลางวันยาวกว่ากลางคืน ส่วนฤดูหนาวกลางวันสั้นกว่ากลางคืน ดังตัวอย่าง ที่จังหวัดสกลนคร (ตั้งอยู่เส้นรุ้ง 17 องศาเหนือ เส้นแวง 104 องศาตะวันออก) วันที่ 21 มิถุนายน (ฤดูร้อน) กลางวันยาว 13 ชั่วโมง กลางคืนเหลือเพียง 11 ชั่วโมง ขนาด 19 นาฬิกา ดวงอาทิตย์ยังยิ้มเผล่อยู่ที่ขอบฟ้าทิศตะวันตก ในทางกลับกัน วันที่ 21 ธันวาคม (ฤดูหนาว) กลางวันเหลือเพียง 11 ชั่วโมง กลางคืนยืดออกไปถึง 13 ชั่วโมง ตอนเลิกงานราชการเดินลงมาจากศาลากลางจังหวัด 5 โมงเย็น ดวงอาทิตย์ทำท่าจะหายไปแล้ว แวะไปซื้อกับข้าวที่ห้างบิ๊กซี กลับถึงบ้าน 6 โมงเย็น ก็มืดเสียแล้ว ดังนั้น เวลาของนาฬิกาแดดกับนาฬิกาข้อมือจึงไม่ตรงกันเสียทีเดียว สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจากตัวแปร 2 อย่าง ได้แก่
1.โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ และหมุนรอบตัวเองในลักษณะเอียงประมาณ 23.5 องศา จากแนวดิ่ง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ กลางวัน กลางคืน สั้น ยาว
2.วงโคจรของโลกไม่ใช่วงกลม แต่เป็นวงรีเล็กน้อย ทำให้ระยะห่างระหว่างโลก กับดวงอาทิตย์ในแต่ละฤดูกาลไม่เท่ากัน    
     
ปกติมนุษย์ไม่ชอบอะไรที่ยุ่งยาก จึงสร้างกฎเกณฑ์การกำหนดเวลาของนาฬิกาข้อมือ ใช้สูตรว่าโลกหมุนรอบตัวเองเป็นเวลา 24ชั่วโมง พอดี โดยกำหนดให้หน้าปัดของนาฬิกามีตัวเลข 12 ชม. คูณด้วย2เท่ากับ 24 ชั่วโมง นัยว่าแบ่งครึ่งระหว่างกลางวัน กับกลางคืน แบบ 50:50 แต่ในความเป็นจริงทางดาราศาสตร์ โลกของเราโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีเล็กน้อย และอยู่ในลักษณะเอียง 23.5องศา จากแนวดิ่ง ทำให้มีช่วงเวลากลางวัน และกลางคืน ยาวไม่เท่ากัน โดยช่วงเวลาตั้งแต่ วันที่ 21 มีนาคม ถึง 23 กันยายน กลางวันยาวกว่ากลางคืน (Long day)และพอมาถึงช่วงเวลาระหว่าง วันที่ 23 กันยายน ถึง 21 มีนาคม กลางวันจะสั้นกว่ากลางคืน (Short day)ส่วนวันที่ 21 มีนาคม และ 23 กันยายน กลางวันกับกลางคืนเท่ากันพอดี ภาษาดาราศาสตร์เรียกว่า วิษุวัต (Equinox) ด้วยเหตุนี้ทำให้เวลาเที่ยงตรงของนาฬิกาแดด (Solar Noon) กับเวลาเที่ยงตรงของนาฬิกาข้อมือ (Clock Noon) ไม่ตรงกัน และมีทั้งเท่ากัน ช้ากว่า และเร็วกว่า ประมาณ 1 - 20 นาที ขึ้นอยู่กับฤดูกาล นักดาราศาสตร์มีวิธีเทียบระหว่างเวลาทั้งสองมิติ ด้วยสมการคณิตศาสตร์ ชื่อว่า สมการแห่งเวลา หรือ Equation ofTime       

สมการแห่งเวลาลักษณะนี้กำหนดให้ Clock Noon เป็นแกนนอน และให้ Solar Noon เป็นแกนตั้ง ดังนั้น "ตัวเลขเวลา" ของ Solar Noon ทุกๆ 15 วัน จะแสดงเป็น curve ซึ่งด้านบนที่เขียนว่า Dial Fast หมายถึงช่วงที่นาฬิกาแดด (Solar time) เร็วกว่านาฬิกาข้อมือ (Clock time) และในทางกลับด้านที่เขียนว่า Dial Slow คือนาฬิกาแดดช้ากว่านาฬิกาข้อมือ   

 สมการแห่งเวลาอีกลักษณะหนึ่งกำหนดให้ Solar Noon เป็นแกนนอน และ Clock Noon เป็นแกนตั้ง ดังนั้นด้านบนที่เขียนว่า Clock Fast หมายถึงเวลาของนาฬิกาข้อมือ (Clock Time) เร็วกว่าเวลาของนาฬิกาแดด (Solar Time) อนึ่งเส้น Curve สีแดงเป็นสมการของเมือง Broken Arrow รัฐ Oklhoma USA อยูที่พิกัด Lat 36 N Lon 95 W ส่นเส้น Curve สีเหลือง เป็นสมการของจังหวัดสกลนคร ประเทศไทย พิกัด Lat 17 N Lon 104 E ถ้าดูตามสมการนี้ นาฬิกาข้อมือที่ USA เร็วกว่านาฬิกาแดดตลอดทั้งปี ขณะเดียวกันนาฬิกาข้อมือที่จังหวัดสกลนครมีทั้งเร็วกว่าและช้ากว่านาฬิกาแดด และก็มีวันที่นาฬิกาข้อมือและนาฬิกาแดดเท่ากันพอดีตรงกับวันที่ 3 - 26 พฤษภาคม 13 กันยายน และ 18 ธันวาคม  

 

                เที่ยงตรงของนาฬิกาแดด (Solar noon) กับเที่ยงตรงของนาฬิกาข้อมือ (Clock noon)

                จากเหตุผลของสมการแห่งเวลา ก็มีเรื่องเพิ่มเติมในแง่มุมของ “เวลาเที่ยงตรง” ที่แตกต่างกันระหว่างนาฬิกาแดดกับนาฬิกาข้อมือ ในทางดาราศาสตร์เที่ยงตรงของนาฬิกาแดดหมายถึง เวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตรงกับเส้นแวงของสถานที่นั้นๆพอดี เงาของนาฬิกาแดดจะชี้ในตำแหน่งทิศเหนือ-ทิศใต้ พอดีเป๊ะ ภาษาดาราศาสตร์เรียกว่า Solar noon หรือเรียกแบบฟันธงชัดๆว่า Local solar noon ขณะเดียวกันเที่ยงตรงของนาฬิกาข้อมือก็อย่างที่เห็นๆคือเข็มชี้ที่เลข 12 พอดี ในความเป็นจริง เที่ยงของนาฬิกาข้อมือ กับเที่ยงของนาฬิกาแดดที่จังหวัดสกลนคร ประเทศไทย มีทั้งเท่ากันพอดี เร็วกว่า และ ช้ากว่า แต่เที่ยงตรงของนาฬิกาแดดที่สหรัฐอเมริกาช้ากว่านาฬิกาข้อมือทั้งปี ดังรายละเอียดในสมการแห่งเวลา 

                 อนึ่งเที่ยงสุริยะ หรือเที่ยงของนาฬิกาแดด (solar noon) เป็นเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตรงกับเส้นแวงของสถานที่นั้นๆพอดี

ตำแหน่งดวงอาทิตย์ ณ เวลาเที่ยงสุริยะ (Solar noon) ของนาฬิกาแดด ดวงอาทิตย์อยู่ตรงกับเส้นแวง (longitude) ของสถานที่นั้นๆพอดี

 

  

ณ เวลาเที่ยงสุริยะ (solar noo) เงาของนาฬิกาแดดชี้ตรงกับตำแหน่งทิศเหนือภูมิศาสตร์ (Geographic north) และตรงกับเส้นแวง ณ สถานที่นั้นๆ (local logitude) 

 

 

Solar Noon วันที่ 22 Oct 2015 Solar time เร็วกว่า Clock time ประมาณ 13 นาที

 

สมการแห่งเวลา (Equation of Time) ของจังหวัดสกลนคร N 17 E 104 ในวันที่ 22 Oct 2015 แสดงให้เห็นว่า Solar time เร็วกว่า Clock time ประมาณ 13 นาที 

 

วิธีการสร้างกราฟสมการแห่งเวลา 

1.วิธีเก็บข้อมูลแบบตรงไปตรงมาชนิดกำปั้นทุบดิน โดยออกไปยืนตากแดดทุกๆ 7 วันพร้อมกับพกนาฬิกาแดด (sundial) กับนาฬิกาข้อมือ (clock) และคอยเฝ้าดูว่าเมื่อเงานาฬิกาแดดชี้ที่ "เที่ยงสุริยะ" (solar noon) ก็ให้บันทึกข้อมูลที่นาฬิกาข้อมือว่ากี่โมง ต้องทำอย่างนี้ทุกๆอาทิตย์จนครบรอบปี แล้วนำข้อมูลมาพร๊อตเป็นกราฟโดยให้เวลาเที่ยงตรงของนาฬิกาข้อมือเป็นแกนแนวนอน clock time 12:00 และพร๊อตจุดที่นาฬิกาแดดในแต่ละอาทิตย์ช้าหรือเร็วกว่านาฬิกาข้อมือเป็นหน่วยนาที เพื่อให้ได้เส้นกราฟ clock noon ซึ่งผลจะออกมาเป็นเส้นโค้งไปโค้งมา

2. ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์ช่วยคำนวณข้อมูลระหว่างนาฬิกาแดดกับนาฬิกาข้อมือทุกๆ 7 วัน วิธีนี้ไม่ต้องไปยืนตากแดดและใช้เวลาไม่เกินสองชั่วโมงก็เสร็จ

  

กราฟแสดงสมการแห่งเวลาระหว่างนาฬิกาข้อมือ (clock time) กับนาฬิกาแดด (sundial time) กราฟเส้นโค้งเป็นเวลาเที่ยงสุริยะของนาฬิกาแดด (solar noon) ส่วนเส้นตรงในแนวนอนเป็นเวลาเที่ยงตรงของนาฬิกาข้อมือ (clock noon) ในช่วงวันที่19 ธันวาคม - วันที่ 1 พฤษภาคม นาฬิกาแดดช้ากว่านาฬิกาข้อมือ (Dial slow) ช่วงวันที่ 2 พฤษภาคม - 25 พฤษภาคม นาฬิกาแดดเท่ากับนาฬิกาข้อมือ (Dial = Clock) ช่วงวันที่ 26 พฤษภาคม - 9 กันยายน นาฬิกาแดดช้ากว่านาฬิกาข้อมือ (Dial slow) ช่วงวันที่ 10 - 12 กันยายน นาฬิกาแดดเท่ากับนาฬิกาข้อมือ (Dial = Clock) ช่วงวันที่ 13 กันยายน - 16 ธันวาคม นาฬิกาแดดเร็วกว่านาฬิกาข้อมือ (Dial fast) และช่วงวันที่ 17 - 18 ธันวาคม นาฬิกาแดดเท่ากับนาฬิกาข้อมือ (Dial = Clock) อนึ่งกราฟสมการแห่งเวลาของแต่ละสถานที่เส้นรุ้งไม่เหมือน ต้องคำนวณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับเส้นรุ้งนั้นๆ 

ตัวอย่างสมการแห่งเวลาระหว่างนาฬิกาแดดเท่ากับนาฬิกาข้อมือ

 

  

โปรแกรมคอมพิวเตอร์แสดงสมการแห่งเวลา นาฬิกาแดด (solar time) เท่ากับนาฬิกาข้อมือ (clock time) ในวันที่ 18 ธันวาคม 

 

ตัวอย่างนาฬิกาข้อมือเร็วกว่านาฬิกาแดด วันที่ 20 มีนาคม 2556 หรืออีกนัยหนึ่งนาฬิกาแดดช้ากว่านาฬิกาข้อมือ (Dial slow)

 

โปรแกรมคอมพิวเตอร์แสดงนาฬิกาข้อมือ (clock time) เร็วกว่านาฬิกาแดด (solar time) 11 นาที เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 

 

สมการแห่งเวลาแสดงนาฬิกาแดด (Solar time 10:00) และนาฬิกาข้อมือ (Clock time 10:01)

 

ตัวอย่างนาฬิกาข้อมือช้ากว่านาฬิกาแดด หรืออีกนัยหนึ่งนาฬิกาแดดเร็วกว่านาฬิกาข้อมือ (Dial fast)

 

 

สมการแห่งเวลาแสดง นาฬิกาแดดเร็วกว่านาฬิกาข้อมือ 12 นาที วันที่ 22 ตุลาคม 

 

Summer Solstice 23 June 2018 นาฬิกาแดด (solar time) ช้ากว่านาฬิกาข้อมือ (clock time) ประมาณ 6 นาที 

 

นาฬิกาแดด กับ สมการแห่งเวลา (Equation of time) และ Daylight saving time (DST) 

ประเทศที่อยู่สูงกว่าเส้นรุ้ง 30 องศา เช่น ยุโรป และอเมริกา จะมีนโยบายให้หมุนนาฬิกาข้อมือเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง ในฤดูใบไม้ผลิตและฤดูร้อนเนื่องจากดวงอาทิตย์ขึ้นเร็วจะนั่งๆนอนๆอยู่กับบ้านรึก็เสียพลังงานไปเปล่าๆ ทางราชการจึงออกนโยบายให้ไปทำงานเร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมงโดยการหมุนนาฬิกาไปข้างหน้าหนึ่งชั่วโมง เรียกว่า Daylight saving time ดังตัวอย่างบ้านผมอยู่ที่เมือง Tulsa รัฐ Oklhoma USA เส้นรุ้ง 36 N เส้นแวง 95 W เวลาปกติตามข้อตกลงกับ Greenwick mean time (GMT) ที่ Time zone -6 ชม. แต่พอถึงวันที่ 10 มีนาคม ต้องหมุนนาฬิกาให้เร็วขึ้นหนึ่งชั่วโมง พลอยทำให้ GMT เปลี่ยนเป็น -5 ชม. แต่นาฬิกาแดดเป็นอุปกรณ์ธรรมชาติไม่ได้รู้หนาวรู้ร้อนกับนโยบายดังกล่าวจึงไม่มีการเปลี่ยน อย่างไรก็ตามเมื่อถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน ทางราชการก็สั่งให้หมุนนาฬิกากลับไปที่เดิม 1 ชม. คือ Time zone -6 GMT  

 

 

นาฬิกาข้อมือแสดงเวลาเที่ยงตรง 12:00 แต่นาฬิกาแดดยังอยู่ที่ 10:37 เป็นผลพวงจาก Equation of time บวกกับ Daylight saving time จึงทำให้นาฬิกาข้อมือเร็วกว่าเวลาธรรมชาติของนาฬิกาแดดมากถึง 1 ชั่วโมง กับ 23 นาที 

  

โปรแกรมคอมพิวเตอร์แสดงผลการคำนวณเวลาระหว่างนาฬิกาข้อมือ กับนาฬิกาแดด ที่เมือง Tulsa Oklahoma USA

 นาฬิกาแดดชนิด vertical เทียบกับนาฬิกาข้อมือ (clock time) วันที่ 9 เมษายน 2558 เมือง Broken Arrow รัฐ Oklahoma USA ในวันดังกล่าว clock time เร็วกว่านาฬิกาแดด (solar time) ประมาณ 1 ชม. 21 นาที เพราะมีตัวแปรคือ Daylight Saving Time (DST) 1 ชม บวกกับสมการแห่งเวลา 21 นาที 

วันที่ 30 เมษายน 2558 ที่บ้านของผมในเมือง Broken Arrow รัฐ Oklahoma USA กำลังอยู่ในช่วง daylight saving time ต้องหมุนนาฬิกาให้เร็วขึ้นจากปกติ 1 ชั่วโมง และเมื่อบวกกับ สมการแห่งเวลา (Equation of time) ที่ตอนนี้ Clock time เร็วกว่า Solar time 17 นาที ผลจึงออกมาเป็นดังที่เห็นในภาพ 

โปรแกรมคอมพิวเตอร์แสดงผลสมการแห่งเวลา ระบุว่า Clock time เร็วกว่า Solar time 17 นาที 

 

ผมตั้งนาฬิกาแดดไว้ที่หลังบ้านในตอนเช้า เพราะบ้านหลังนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันตกดวงอาทิตย์จึงขึ้นที่หลังบ้าน

ตัวอย่างนาฬิกาแดดชนิดต่างๆ

นาฬิกาแดดชนิดหน้าปัด (Dial) ขนานกับเส้นศูนย์สูตรของโลก (Equatorial Sundial)

 

 

นาฬิกาแดดชนิดหน้าปัด (Dial) ขนานกับแนวระนาบของพื้นโลก

(Horizontal Sundial)

 

นาฬิกาแดดชนิดหน้าปัด (Dial) ตั้งฉากกับพื้นโลก (Vertical Sundial)

 

 การติดตั้งนาฬิกาแดดต้องหันหน้าให้ตรงกับ “ทิศเหนือแท้” ถามว่าใช้ “เข็มทิศแม่เหล็ก” ได้หรือไม่

ตอบ.....ได้ครับ แต่ไม่เที่ยงตรงตามหลักวิชาการนัก ภาษาอีสานเรียกว่า “กำก่า หรือ พอกะเทิน” เพราะเข็มทิศแม่เหล็กมีค่าเบี่ยงเบนจากทิศเหนือแท้ (Magnetic Deviation) มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับสถานที่นั้นๆ เช่น ที่จังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่ที่เส้นรุ้ง 17 องศาเหนือ โชคดีหน่อยค่าเบี่ยงเบนเข็มทิศแม่เหล็กน้อยมาก อยู่แถวๆ 1-2 องศา แต่สถานที่เส้นรุ้งสูงๆ เช่น ยุโรป และอเมริกา เส้นรุ้ง 30 กว่าๆองศาเหนือ ค่าเบี่ยงเบนจะมากขึ้นจนเห็นได้ชัด ดังนั้น ถ้าจะหาทิศเหนือแท้ (Geographic north) ต้องใช้อุปกรณ์ไฮเทคเรียกว่า GPS จับทิศเหนือแท้ด้วยการชี้นำของดาวเทียมหลายดวง อย่างไรก็ตามเราๆท่านๆที่ไม่มีเจ้าเครื่องมือไฮเทค จีพีเอส ก็ไม่ต้องกังวลครับ ผมแนะนำให้ใช้พื้นฐานวิชาดาราศาสตร์โบราณที่ชาวอียิปส์ใช้คำนวณการวางแนวปีรามิดและสฟิ๊งส์ เรียกว่า “ใช้เงาดวงอาทิตย์” (Shadow Plot)  

 

 

 

เปรียบเทียบค่า Error หรือ Magnetic Deviation ระหว่างเมือง Broken Arrow รัฐ Oklahoma USA กับ จังหวัดสกลนคร ประเทศไทย พบว่าที่สกลนคร มีค่า Error เพียง 2 องศา ดังนั้นเข็มทิศแม่เหล็กธรรมดาจึงสามารถใช้ที่ประเทศไทยได้อย่างสะดวกและค่อนข้างใกล้เคียงกับ Geographic North เนื่องจากประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากกว่าอเมริกา 

 

Geographic North กับ Magnetic North ที่วิหาร Saint Peter Church สำนักวาติกัน กรุงโรม ประเทศอิตาลี มีค่า Magnetic Deviation เกือบ 10 องศา เพราะที่นั่นอยู่ที่เส้นรุ้ง 41 องศาเหนือ

 

เนื่องจากตัวโบสถ์ Saint Peter ถูกสร้างให้หันหน้าตรงทิศตะวันออกแท้ หรือ Equinox เพื่อให้แสงอาทิตย์ในวันดังกล่าว (21 March) ส่องตรงมายังแท่นพระเยซู เพราะชาวโรมันเชื่อว่าพระเยซูจุติในครรภ์มารดาในวัน Equinox และสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนตรงกับวัน Equinox และเป็นที่มาของการคำนวณวัน Easter Sunday ที่ใช้ Equinox เป็นจุดเริ่มต้นตามด้วย Full Moon และ Sunday  

 

 การใช้เงาดวงอาทิตย์เพื่อหาทิศเหนือแท้ (Shadow Plot)  

วิธีนี้บรรพชนในยุคโบราณ เช่น อียิปส์  กรีก โรมัน คุ้นเคยอย่างดี อุปกรณ์ก็ง่ายๆมีแท่งหิน   “โอเบรีส” หรือแท่งอะไรก็ได้ที่ตั้งฉากกับพื้นดิน ทำเครื่องหมายยอดเงาดวงอาทิตย์ช่วงเช้าและบ่ายตามรูปข้างล่าง ก็จะได้ “ทิศเหนือแท้” ของสถานที่นั้นๆ ตามหลักวิชาภูมิศาสตร์เรียกเส้นนี้ว่า “เมอริเดี้ยน” เป็นเส้นตรงที่ลากจากขั้วโลกเหนือไปขั้วโลกใต้ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ “เส้นแวง” ที่ลากผ่านสถานที่นั้น และเส้นนี้แหละที่ภาษานาฬิกาแดดเรียกว่า Solar Noon

 

 

 
 
 
นาฬิกาแดดที่ “ซีกโลกเหนือ กับ ซีกโลกใต้” ต่างกันหรือไม่

            ต่างกันที่การหันหน้าไปคนละทิศ นาฬิกาแดดในซีกโลกเหนือต้องหันไปที่ขั้วโลกเหนือ ส่วนนาฬิกาแดดที่ซีกโลกใต้ต้องหันไปที่ขั้วโลกใต้ และเงาของดวงอาทิตย์ก็เคลื่อนไปคนละทาง ที่ซีกโลกเหนือเงาดวงอาทิตย์เคลื่อนจากซ้ายไปขวา ส่วนซีกโลกใต้เคลื่อนจากขวาไปซ้าย       ดูตัวอย่าง นาฬิกาแดดที่เมือง Auckland New Zealand (ซีกโลกใต้) กับเมืองTulsa Oklahoma USA (ซีกโลกเหนือ)

            เข็มของนาฬิกาข้อมือ และนาฬิกาที่แขวนอยู่ตามบ้าน เดินจากซ้ายไปขวาเพราะเลียนแบบเงาของนาฬิกาแดดที่ทวีปยุโรป เนื่องจากแจ้งเกิดที่นั่น ถ้านาฬิกาเรือนแรกของโลกถูกสร้างขึ้นที่ประเทศออสเตเรีย หรือนิวซีแลนด์ ก็ต้องให้เข็มเดินจากขวาไปซ้ายแน่นอน ครับ

 


 

 

ปฏิบัติการ "อีราโตสทีเนส" วัดโลกทั้งใบ ไทย กัมพูชา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 วสัตวิษุวัต (Vernal equinox)  ใช้นาฬิกาแดดเป็นตัวกำหนดเวลา และวัดมุมตกกระทบของดวงอาทิตย์ (angle of incidence) ณ เวลาเที่ยงสุริยะ (Solar noon)

 

 

การใช้นาฬิกาแดดชนิด Horizontal Sundial ใน "ปฏิบัติการ อีราโตสทีเนส" วัดเส้นรอบวงของโลก โดยใช้ข้อมูลมุมตกกระทบของดวงอาทิตย์ ระหว่างปราสาทบายน เมืองเสียมราช ประเทศกัมพูชา กับปราสาทภูเพ็ก จังหวัดสกลนคร ประเทศไทย ในวัน "วสันตวิษุวัต" 21 มีนาคม 2555 โลกตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ กลางวันเท่ากับกลางคืน (รายละเอียดในคอลั่ม วัดโลกทั้งใบ ไทย กัมพูชา)

 

วิธีสร้างนาฬิกาแดด

ผมเชื่อว่าทุกท่านได้อ่านเรื่องราวของนาฬิกาแดดอย่างจุใจพระเดชพระคุณแล้ว คราวนี้ก็มาถึงคำถามว่า "สร้างอย่างไร" จึงใคร่ขออธิบายเป็นฉากๆแบบภาษาหมัดมวยเรียกว่า "ถ่ายทอดสด ยกต่อยก" ดังนี้

 นาฬิกาแดดชนิด หน้าปัดขนานกับเส้นศูนย์สูตรของโลก (Equatorial Sundial)

 

 

นาฬิกแดดชนิด Equatorial ที่เมือง Jaipur รัฐ Rajastan ประเทศอินเดีย

 

ริมแม่น้ำเทมส์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

นาฬิกแดดชนิด Equatorial แบบดัดแปลงหน้าปัดให้เป็นรูปโค้งเหมือนครึ่งวงกลม ตั้งอยู่ที่หน้าธนาคารแห่งเมืองลูเซิน ประเทศสวีสเซอร์แลนด์ 

 

เด็กๆนักเรียนชั้นประถมที่บ้านห้วยหวด อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร สนุกกับการสร้างนาฬิกาแดด

นาฬิกาแดดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนลูกเสือที่โรงเรียนอนุบาลประภัทสร อำเภอเมือง สกลนคร 

ผมเชื่อว่านาฬิกาแดดไม่ใช่ของยากสำหรับเด็กๆ เพราะลองทำมาหลายโรงเรียน ทุกคนทำเป็นหมด

ข้อควรสังเกต

นาฬิกาแดดชนิด Equatorial เหมาะสมกับสถานที่ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร หรืออีกนัยหนึ่ง "เส้นรุ้งต่ำกว่า 10 องศา" เช่น ภาคใต้ของประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย 

 

นาฬิกาแดดชนิดระนาบกับพื้นโลก (Horizontal Sundial)

นาฬิกาชนิดนี้มีหน้าปัดบอกเวลา (Dial) วางระนาบกับพื้นโลก และเข็มชี้เวลา (Gnomon) ทำมุมเงยเท่ากับองศาเส้นรุ้งของสถานที่นั้นๆ  

 

 

เข็มนาฬิกาแดด ภาษากรีกเรียกว่า Gnomon จะต้องทำมุมเงยเท่ากับ "องศาของเส้นรุ้ง" ณ สถานที่นั้นๆ ในที่นี้กำหนดให้ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองสกลนคร เส้นรุ้ง 17 องศาเหนือ 

ประกอบเข็ม (Gnomon) เข้ากับหน้าปัด (Dial) เรียบร้อยแล้วจะได้นาฬิกาแดดรูปร่างแบบนี้

ถ้าจะให้สวยงาม เร้าใจท่านผู้ชม ก็สามารถระบายสีเป็นรูปร่างอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ต้องการ เช่น รูปพญานาค 

หรือจะดัดแปลงให้สวยงามตามที่ต้องการ แต่ต้องคงหลักการให้เข็มต้องชี้ที่มุมเงยเท่ากับองศาเส้นรุ้ง ณ บริเวณนั้นๆ

อีกแบบหนึ่งของการดัดแปลง แต่เข็มยังชี้มุมเงยเท่ากับองศาเส้นรุ้ง

 

วิธีการการดัดแปลงให้ดูสวยงามและแปลกตา

เข็ม (Gnomon) ถูกดัดแปลงให้เหลือเพียงรูปร่างแท่งไม้ชี้ตรงขึ้นไปบนท้องฟ้า แต่เมื่อลากเส้นจากยอดไม้ไปยังจุด O จะมีมุมเงยเท่ากับองศาเส้นรุ้ง

การดัดแปลงเข็มนาฬิกาแดดให้มีรูปร่างเหมือนแท่ง "โอเบรีส" ชี้ตรงขึ้นไปบนท้องฟ้าในรูปแบบอนุเสาวรีย์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ก็ยังคงหลักการเดิมของการทำมุมเงยเท่ากับองศาเส้นรุ้ง ณ สถานที่นั้นๆ ดังตัวอย่าง จุดสุดยอดของเสาต้องทำมุมเงยจากจุด O เท่ากับ (เส้นรุ้ง) 17 องศา ของอำเภอเมืองสกลนคร 

นี่ก็ดัดแปลงอีกแบบนึง เป็นนาฬิกาแดดตั้งอยู่หน้าบ้านของผมที่อำเภอเมืองสกลนคร

 

ผมได้ออกแบบและติดตั้งนาฬิกาแดดชนิด Modified Horizontal Sundial ในรูปแบบ Washington Monument ที่โรงเรียนดงมะไฟวิทยา อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 

นาฬิกาแดดอันนี้เป็นที่ระลึกแก่เพื่อร่วมงานชาวอเมริกัน ชื่อ มร.James J Dalton ที่เคยร่วมกันพัฒนาระบบชลประทานในแปลงนา ภาคใต้โครงการพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน ในบริเวณโครงการชลประทานน้ำอูน (Lam Nam Oon Integrated Rural Development) หรือภาษาราชการเรียกว่า "การจัดรูปที่ดิน" ระหว่างปี 2522 - 2527 ครอบคลุมสามอำเภอ คือ อำเภอพังโคน อำเภอพรรณานิคม และอำเภอเมืองสกลนคร  

 

 

ข้อควรสังเกตุ

นาฬิกาแดดชนิด Horizontal ไม่เหมาะกับสถานที่เส้นรุ้งต่ำกว่า 10 องศา บริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร เช่น ภาคใต้ของประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย เพราะเข็มชี้เวลา (Gnomon) จะมีขนาด "สั้นมาก" จนแทบจะไม่มีความสูงทำให้มองยาก และดูไม่สง่าผ่าเผย เพราะมีมุมเงยเพียงแค่ไม่เกิน 10 องศา ผมแนะนำให้ใช้นาฬิกาแดดชนิด Equatorial หรือ Vertical จะเหมาะสมกว่า ดูดีกว่า เท่ห์กว่าเยอะเลย  

 

นาฬิกาแดดชนิดหน้าปัดตั้งฉากกับพื้นโลก (Vertical Sundial)

 

 

วิธีสร้างนาฬิกาแดดชนิดหน้าปัดตั้งฉากกับพื้นโลก Vertical Sundial

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 ตัวอย่างนาฬิกแดดชนิด Vertical ตั้งอยู่ที่บ้านพักเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม เข็มของนาฬิกาแดดต้องทำมุม 17 องศา จากแนวระนาบ 

 

 เข็มด้านหนึ่งอยู่ทางทิศเหนือ อีกด้านอยู่ทางทิศใต้

การวางนาฬิกาแดดต้องให้หันเข้าหาทิศเหนือแท้ โดยใช้ GPS จาก Smart Phone เข้าช่วย

 

 ฤดูหนาวจะอ่านค่าทางด้านทิศใต้

 

ฤดูร้อนจะอ่านค่าทางด้านทิศเหนือ

 

 นาฬิกาแดดชนิดตั้งฉาก (Vertical sundial) ที่ปราสาทภูเพ็ก (ฤดูหนาว)  

นาฬิกาแดดชนิด Analemmatic

 

นาฬิกาแดดชนิดนี้มีลักษณะแปลกกว่าชนิดอื่นๆตรงที่ "เข็ม" เคลื่อนที่ได้และจะต้องวางให้ตรงกับช่วงวันที่นั้นๆ โดยมีขีดแสดงอยู่ที่พื้น นาฬิกาแดดชนิดนี้สามารถเขียนอยู่บนพื้นฟุตบาทของสถานที่ท่องเที่ยว หรือทางเดินในสวนสาธารณะ เพื่อให้ผู้สนใจทดลองยืนเป็นเข็มนาฬิกา (Gnomon) ตามช่องวันที่แสดงไว้ 

วิธีสร้าง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Table of Declination of the sun ตารางแสดงองศาของมุมที่ต้องลากออกจาก จุด F ไปยังเส้น N S ค่า (-) ลากลงไปด้านทิศใต้ Short Day ค่า (+) ลากขึ้นไปทิศเหนือ Long Day ถ้าค่า = 0 องศา ให้อยู่ตรงกลางพอดี เพราะเป็นวัน Equinox กลางวันเท่ากับกลางคืน ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับผิวโลกที่เส้นศูนย์สูตร ตรงกับวันที่ 21 Mar และ 23 Sep เมื่อลากเส้นแต่ละองศาของวันนั้นๆไปชนกับเส้น N S ให้ทำขีดเครื่องหมายไว้ นี่คือตำแหน่งที่ให้คนเข้าไปยืนเพื่อให้เงาของคนนั้นชี้ไปยังตัวเลขของเวลาซึ่งเขียนอยู่ที่เส้นโค้ง Hyperbolic Curve 

 

  

เปรียบเทียบระหว่างนาฬิกาแดดชนิด Analematic กับนาฬิกาแดดชนิด Horizontal ที่บ้าน อ.เมืองสกลนคร วันที่ 22 Oct 2015 สังเกตว่า Solar time เร็วกว่า Clock time ประมาณ 13 นาที 

 

 

สมการแห่งเวลา (Equation of Time) ณ จังหวัดสกลนคร แสดงให้เห็นว่าในวันที่ 22 Oct 2015 Solar time เร็วกว่า Clock time ประมาณ 13 นาที 

 

เปรียบเทียบระหว่างนาฬิกาแดดชนิด Analematic กับนาฬิกาแดดชนิด Vertical 

 

นาฬิกาแดดชนิด Analematic เปรียบเทียบกับนาฬิกาแดดชนิด Equatorial และ Horizontal ที่เมือง Broken Arrow รัฐ Oklahoma USA ตั้งอยู่ที่ตำแหน่ง Lat 36 N Lon 95 W

 

 

สนามหญ้าหลังบ้านที่เมือง Broken Arrow เดือนพฤษภาคม 2558

 

นาฬิกาแดดชนิด Analematic และชนิด Horizontal ชี้ที่เวลาเที่ยงสุริยะ (solar noon) 

 

นาฬิกาแดดชนิด Analematic ใช้เข็มชี้เวลาแบบเคลื่อนที่ได้ตามปฏิทินสุริยคติ ในภาพนี้ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคม 

 

นาฬิกาแดดชนิด Analematic ชี้ที่เวลา 15:00 น. แต่นาฬิกาข้อมือชี้ที่เวลา 16:17 เร็วกว่ากัน 1 ชม. กับ 17 นาที เนื่องจากผลของ Daylight Saving Time (DST) และสมการแห่งเวลา

 

นาฬิกาแดดชนิด Analematic เปรียบเทียบกับชนิด Equatorial ต่างชี้ที่เวลา 15:00 เหมือนกัน 

 

 วิธีการสร้างนาฬิการแดด Analematic บนพื้น

 

 

แสดงการสร้างนาฬิกาแดดชนิด Analematic บนพื้นคอนกรีต

 

 

 

 

 

 

 

นาฬิกาแดด Analematic ที่สกลนคร 

 

 

นาฬิกาแดด Analematic ที่สกลนคร วันที่ 31 มีนาคม 2558 แสดงเวลาเกือบ 07:00 น. 

 

เปรียบเทียบระหว่างนาฬิกาแดด Analematic ที่สกลนคร ประเทศไทย กับ Brken Arrow Oklahoma USA 

 

นาฬิกาแดดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว 

หลายประเทศใช้นาฬิกาแดดเป็น "สิ่งเร้าใจ" ต่อการท่องเที่ยว โดยออกแบบและก่อสร้างให้เป็นสัญลักษ์ต่างๆ รูปร่างแปลกๆเตะตา น่าถ่ายรูปอย่างยิ่ง ผมมีความคิดที่จะออกแบบนาฬิกาแดดให้กับจังหวัดสกลนครเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยออกแบบเป็นรูปที่สื่อถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น อย่างไรก็ตามผมขอให้ท่านที่เคารพดูตัวอย่างจากต่างประเทศไปพลางๆก่อน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นาฬิกาแดดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสกลนคร

ผมได้ออกแบบนาฬิกาแดดในรูปของเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราชเพื่อติดตั้งในที่สวนสาธารณะ หรือลานอเนกประสงค์

 

 

หรือจะเป็นนาฬิกาแดดรูป "พญานาค" หันหน้าไปทางหนองหารซึ่งอยู่ทิศเหนือของลานรวมใจ ทางเข้าเมืองสกลนคร เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อตามตำนาน "หนองหารหลวง" ที่พญาสุระอุทกต่อสู้กับพญานาคธนมูล จนนำไปสู่การทำลายเมืองหนองหารอย่างย่อยยัพโดยกองทัพพญานาคและกลายเป็นหนองหารอย่างที่เห็นในปัจจุบัน นาฬิกาแดดชนิดนี้ใช้หลักการ Horizontal ออกแบบให้เข็ม (Gnomon) ชี้ไปที่ดาวเหนือด้วยมุมเงย 17 องศา และให้หน้าปัดเวลา (Dial Plate) อยู่บนพื้นคอนกรีตบนลานรวมใจ  

 

 

 

 

 

 

 

นี่ก็เป็นนาฬิกาแดดชนิด Equatorial ออกแบบให้หน้าปัดเวลา (Dial Plate) ทำมุมเอียง 17 องศากับแนวดิ่ง ส่วน Gnomon ยังคงชี้ตรงไปที่ดาวเหนือตามฟอร์ม อาจจะทำเป็นรูปพระธรรมจักรก็ได้โดยลอกแบบมาจากสัญลักษณ์ที่เสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราช

 

 

 

 

ตัวอย่างนาฬิกาแดดเพื่อการศึกษาที่โรงเรียนเทศบาล 4 สกลนคร

           ในฐานะที่ผมทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา ก็ต้องหาอะไรดีๆมาให้เด็กๆเพื่อทำให้ลูกหลานเหล่านั้นมีอุปกรณ์ประกอบการเรียนรู้ที่เป็นเชิงประจักษ์ นาฬิกาแดดชนิดหน้าปัดวางระนาบกับพื้นสนามคอนกรีต และใช้คนยืนเป็นเข็มนาฬิกาที่ขีดกำกับความสูงของแต่ละคน เงาศรีษะของผู้นั้นจะชี้ไปที่ขีดบอกเวลา นับว่าเป็นนาฬิกาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่ผมออกแบบมา

 

 

 

 

 

นาฬิกาแดดแบบนี้เหมาะแก่เด็กชั้นปฐมเพราะให้ทั้งความสนุกและความรู้ในเวลาเดียวกัน ภายใต้สะโลแกน Playing is Learning 

 

บทส่งท้าย

สรุปได้ว่า “นาฬิกาแดด” โบร่ำโบราณนี่แหละคือ “ต้นแบบ” มิติแห่งเวลาของมนุษยชาติ แม้ว่าปัจจุบันเราก้าวหน้าไปถึงยุคดิจิต้อลแต่ข้อมูลของหน่วยเวลา ก็เอามาจากคณิตศาสตร์ฐานหกสิบของนาฬิกาแดดเมื่อหลายพันปีที่แล้ว นี่ถ้าชาว “สุเมเรี่ยน” ฟื้นขึ้นมาได้พวกเขาคงจะพูดแบบเย้ยหยันว่า “ทันสมัยยังไง ก็ลอกแบบมาจากของตูข้านี่แหละ”

 

 

 

 







Copyright © 2010 All Rights Reserved.
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาผู้นำธุรกิจและชุมชน
The Foundation for Business and Community Leadership Development
โดย
นายอารีย์ ภู่สมบูญ
ประธานกรรมการมูลนิธิฯ