มองหมากเม่า....ผ่านมิติดาราศาสตร์
มรดกล้ำค่าจากธรรมชาติ
เป็นที่ทราบดีในหมู่ผู้สนใจทางวิชาการด้านธรณีวิทยาและวิวัฒนาการ แผ่นดินที่เรียกว่า “แอ่งสกลนคร” ถือกำเนิดขึ้นมาในยุคหลังจากไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปแล้วเมื่อ 65 ล้านปีก่อน บางส่วนของแผ่นดินผืนนี้ได้ถูกดันให้ยกตัวขึ้นเป็นภูเขาและที่ราบสูง สลับกับพื้นที่ราบลุ่ม สภาพทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ทำให้มีวิวัฒนาการสร้างพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ชนิดต่างที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อม ขบวนการคัดสรรของธรรมชาติดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเพื่อคัดสรรผู้เหมาะสมที่สุดให้อยู่รอดตามทฤษฎีของท่าน “ชาลส์ ดาร์วิน” หมากเม่าถูกเลือกให้เป็นไม้ป่าชนิดหนึ่งที่เหมาะสมกับสภาพของเทือกเขาภูพานภายใต้สภาพป่าร้อนชื้นสลับกับความแห้งและหนาวเย็น และอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 250 เมตร หลายล้านปีต่อมาหมากเม่าได้กลายเป็นพืชพื้นเมืองที่อยู่คู่กับชาวสกลนครอย่างสง่าผ่าเผย


ยุคของไดโนเสาร์มีชื่อว่า "เมโสโซอิก" (Mesozoic) ระหว่าง 250 - 65 ล้านปี

พื้นที่ภาคอีสานตอนบนที่อยู่ระหว่างเทือกเขา ภูพานและแม่น้ำโขง ถูกตั้งชื่อว่า “แอ่งสกลนคร” เป็นต้นกำเนิดของหมากเม่าคุณภาพดีที่สุดในแง่ของรสชาด กลิ่น สี และคุณค่าสารอาหาร แม้ว่าปัจจุบันได้มีการขยายพันธุ์ออกไปเพาะปลูกยังจังหวัดต่างๆในเชิงพาณิชย์ แต่หากมองในแง่มุมของคำว่า “ขนานแท้และดั่งเดิม” ก็ต้องมาที่สกลนคร
หมากเม่าสุดยอดแห่งผลไม้จาก “พลังสุริยะ”
ถ้าพูดตามหลักวิชาการก็ต้องเรียกหมากเม่าว่าเป็นพืชประเภท “ไวแสง” หรือเข้าใจตามภาษาชาวบ้านว่า "พืชติดผลตามฤดูกาล” เพราะจะเริ่มสะสมอาหารตั้งแต่ปลายฤดูฝนประมาณเดือนตุลาคม และถูกกระตุ้นด้วยความหนาวบวกกับอากาศแห้งในเดือนมกราคมจะเริ่มออกดอกประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ภาษาดาราศาสตร์เรียกว่า “ช่วงกลางวันสั้น กลางคืนยาว” ดอกเริ่มบานในเดือนมีนาคมเป็นช่วงที่แสงจากดวงอาทิตย์กำลังเปลี่ยนมุมไปตั้งฉากกับแกนโลกที่เส้นศูนย์สูตร เรียกว่า “วสัตวิษุวัต” หรือฤดูใบไม้ผลิ กลางวันเท่ากับกลางคืน หลังจากนี้ความเข้มข้นของพลังแสงอาทิตย์เริ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันผลหมากเม่าก็เจริญเติบโตและสะสมธาตุอาหารมากขึ้นเนื่องจากต้นแม่ต้องคายน้ำถี่ขึ้นทำให้มีการดูดน้ำและสารอาหารจากดินในอัตราสูง ประกอบกับแอ่งสกลนครโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเทือกเขาภูพานมีสารอาหารและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์สะสมอยู่มาก ครั้นถึงวันที่ 8 พฤษภาคม ดวงอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งตรงศรีษะที่จังหวัดสกลนคร ก่อนจะเยื้องไปทางทิศเหนือถึงจุดสูงสุดในวันที่ 21 มิถุนายน และย้อนกลับมาตรงศรีษะอีกครั้งวันที่ 5 สิงหาคม ดังนั้นช่วงระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม ถึง 5 สิงหาคม หมากเม่าได้รับพลังสุริยะชนิดที่เรียกว่า “จัดเต็มๆ” ถ้าเป็นวงการหมัดมวยก็ต้องเรียกว่าชกในสไตล์ไฟต์เต้อร์ “เดินหน้าลูกเดียว” ครั้นย่างเข้ากลางเดือนกันยายนผลหมากเม่าสุกแก่และเริ่มวาย ทางดาราศาสตร์เรียกว่า “ศารทวิษุวัต” หรือฤดูใบไม้ร่วง เป็นช่วงกลางวันเท่ากับกลางคืนอีกครั้งหนึ่งและเป็นการเตรียมตัวเข้าสู่ฤดูหนาว

ช่วงวันที่ 8 พฤษภาคม ถึง 5 สิงหาคม หมากเม่าจะได้รับพลังสุริยะสูงสุดทำให้เกิดการสะสมสารอาหารในผลเม่าอย่างเต็มที่ เนื่องจากต้นแม่ต้องคายน้ำอย่างถี่ยิบทำให้เร่งการดูดสารอาหารจากดิน





ปลูกต้นหมากเม่าไว้ที่บ้านเพื่อศึกษาการเจริญเติบโตตามปฏิทินดาราศาสตร์
ทิ้งท้าย หมากเม่าเป็นพืชพื้นเมืองที่ถูกคัดสรรโดยธรรมชาติ และถูกกำหนดให้วงจรชีวิตสอดคล้องกับตำแหน่งของดวงอาทิตย์ อีกทั้งให้อยู่คู่กับชาวสกลนคร..................นานเท่านาน