จากเอกสารของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ปราสาทพนมรุ้งสร้างขึ้นจากหินทรายสีชมพู ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง สูง 1,320 ฟุต ( 396 เมตร) จากระดับน้ำทะเล ที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ พิกัดภูมิศาสตร์ N 14 31 54 E 102 56 24 ชื่อพนมรุ้ง เป็นภาษาเขมรแปลว่า ภูเขาใหญ่ เชื่อว่าสร้างขึ้นโดยเจ้านายขอมในท้องถิ่นชื่อ นเรนทราทิตย์ ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 (พ.ศ.1601 - 1700) ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่อาณาจักรขอมกำลังรุ่งเรืองอย่างมากตรงกับสมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 2 (พ.ศ.1656 – 1693) ผู้สร้างปราสาทนครวัด
ปราสาทแห่งนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับช่องประตู 15 ช่อง และส่องลำแสงเข้าไปตามทางยาว 75 เมตร กระทบกับศิวะลึงค์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางทำให้ดูเรือง อร่าม อย่างน่าเกรงขาม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงถือเอาเรื่องนี้เป็นจุดขายที่สำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยจัดงานเดิน ขึ้นเขาพนมรุ้ง ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ( เมษายน) ของทุกปี
ในความเป็นจริงทางดาราศาสตร์ ปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ส่องแสงลอดประตู 15 ช่อง ประกบคู่กับวันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี เพราะดวงอาทิตย์เป็นปฏิทินสุริยะคติ (365 วัน) ส่วนดวงจันทร์เป็นปฏิทินจันทรคติ (354 วัน) นานๆจะโคจรมาประกบคู่ตรงกันสักครั้ง (ประมาณทุกๆ 11 ปี) ดังนี้
8 เมษายน 2525 ...... 6 เมษายน 2536 ...... 4 เมษายน 2547.......
ครั้งล่าสุด 4 เมษายน 2558 .......... ครั้งต่อไป 2 เมษายน 2569 ...... และ 1 เมษายน 2580
อย่างไรก็ตามจากการค้นเอกสารที่กล่าวถึงประเพณีการเดินขึ้นปราสาทพนมรุ้ง (http://www.prapayneethai.com/ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง) พบว่าริเริ่มเป็นครั้งแรกโดยท่านเจ้าคุณโอภาสธรรมญาณ วัดท่าประสิทธิ์ จ.สุรินทร์ ในวันเพ็ญ (ขึ้น 15 ค่ำ) เดือน 5 ปี พ.ศ.2485 จึงใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์ทำการ simulation ย้อนหลังไปวันดังกล่าว พบว่าตรงกับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ Full Moon วันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2485 (ค.ศ.1942) ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับช่องประตูของปราสาทอย่างพอดีที่มุมกวาด 85.8 องศา เชื่อว่าเป็นที่มาของประเพณีที่นิยมจนถึงปัจจุบัน (อย่างไรก็ตามปฏิทินจันทรคติไทยระบุว่าวันเพ็ญในปีดังกล่าวตรงกับวันที่ 31 มีนาคม)
จำลองปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ (Simulation) ด้วยโปรแกรม The Starry Night Pro Plus พบว่าวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2485 (1942 AD) ตรงกับ Full Moon และดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับช่องประตูปราสาทพนมรุ้งอย่างพอดี เชื่อว่าท่านเจ้าคุณโอภาสธรรมญาณน่าจะเห็นปรากฏการณ์นี้
ปรากฏการดวงอาทิตย์ตรงช่องประตู + Full Moon ครั้งล่าสุดวันที่ 4 เมษายน 2558 (2014 AD) และในคืนนั้นเกิดปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์เป็นของแถม
ปรากฏการดวงอาทิตย์ตรงช่องประตู + Full Moon ครั้งต่อไปจะเกิดวันที่ 2 เมษายน 2569 (2026 AD)
จากการที่ได้ศึกษาข้อมูลทางดาราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องปราสาทขอมจำนวนมากทั้งในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา พบว่าส่วนใหญ่มีการวางแปลนให้ตัวปราสาทหันหน้าไปทางตำแหน่งทิศตะวันออกแท้ที่มุมกวาด 90 องศา (Azimuth 90) กับหันหน้าเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย ปราสาทพนมรุ้งอยู่ในข่ายหันหน้าเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยมุมกวาดประมาณ 85 องศา จากทิศเหนือ (Azimuth 85) หรืออีกนัยหนึ่ง เบี่ยงออกจากทิศตะวันออกแท้ไปทางทิศเหนือ 5 องศา จึงทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้น และตก ตรงกับประตูทั้ง 15 ช่อง รวม 4 ครั้ง ต่อปี ได้แก่
ตอนเช้า 2 ครั้ง วันที่ 4 - 6 เมษายน และ 8 - 10 กันยายน
ตอนเย็น 2 ครั้ง วันที่ 9 - 11 มีนาคม และ 2 - 4 ตุลาคม
ปราสาทขอมในประเทศไทยและกัมพูชา "ส่วนใหญ่" ถูกออกแบบให้หันหน้าไปทิศตะวันออกแท้ (Equinox) และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeast) และมีเพียงบางแห่งที่หันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ (ปราสาทพิมาย และปราสาทตาเมือนธม) และทิศเหนือ (ปราสาทพระวิหาร) นัยว่ามีวัตถุประสงค์เป็นการเฉพาะ ดังรายละเอียดบทความ "ปราสาทพิมายในมุมมองวิทยาศาสตร์" ของเว๊ปไซด์นี้
ปราสาทพนมรุ้งหันหน้าไปที่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือด้วยมุมกวาด 85 องศา (Azimuth 85)
GPS ยืนยันว่าปราสาทพนมรุ้งหันหน้าที่มุมกวาดประมาณ 85 องศา (azimuth 85)
ตรวจสอบ Alignment ที่ธรณีประตูด้วยเข็มทิศแม่เหล็ก
เข็มทิศแม่เหล็กก็แสดงค่ามุมกวาดของปราสาทพนมรุ้งประมาณ 85 องศา
ภาพถ่ายปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้น (sunrise) ยิงภาพมุมกล้องจากด้านหลังหรือทิศตะวันตกของปราสาท
ภาพถ่ายปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตก (sunset) มุมมองจากด้านหน้าของปราสาท
ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับประตูทิศตะวันออกปีละ 2 ครั้ง 4 - 6 เมษายน และ 8 - 10 กันยายน
ดวงอาทิตย์ตกตรงกับประตูด้านทิศตะวันตก ปีละ 2 ครั้ง วันที่ 9 - 11 มีนาคม และ 2 - 4 ตุลาคม
ทำไมปราสาทพนมรุ้งจึงหันหน้าไปที่มุม 85 องศา ทำไมไม่หันให้ตรงกับ "วสันตวิษุวัต" (Equinox)? ที่มุม 90 องศา?
ก่อนอื่นขอนำท่านให้รู้จักกับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่เรียกว่า "วิษุวัต" (equinox) ดังนี้
1.โลกหมุนรอบตัวเองในลักษณะแกนเอียงประมาณ 23.5 องศา
2.โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะมุมเอียงประมาณ 23.5 องศา ทำให้มุมตกกระทบของแสงอาทิตย์ที่กระทำต่อพื้นโลกเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน เป็นสาเหตุให้เกิดฤดูกาล 4 อย่าง ในรอบปี ได้แก่ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว นักดาราศาสตร์ตั้งชื่อปรากฏการณ์ทั้ง 4 ว่า
วสันตวิษุวัต (vernal equinox) ตรงกับ 21 มีนาคม เป็นฤดูใบไม้ผลิ และกลางวันเท่ากับกลางคืน
ครีษมายัน (summer solstice) ตรงกับ 21 - 22 มิถุนายน เป็นฤดูร้อนและกลางวันยาวที่สุดในรอบปี
ศารทวิษุวัต (autumnal equinox) ตรงกับ 23 กันยายน เป็นฤดูใบไม้ร่วงและกลางวันเท่ากับกลางคืน
เหมายัน อ่าน เห-มา-ยัน (winter solstice) ตรงกับ 21 - 22 ธันวาคม เป็นฤดูหนาว
3.ปรากฏการณ์วิษุวัต (equinox) กลางวันเท่ากับกลางคืน มี 2 ครั้ง คือ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) 21 มีนาคม และ "ศารทวิษุวัต" (autumnal equinox) 23 กันยายน โลกโคจรไปอยู่ในตำแหน่งที่ตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ ปราสาทขอมจำนวนมากที่เมือง Siem Reap และหลายแห่งในประเทศไทยถูกออกแบบให้หันหน้าตรงกับปรากฏการณ์นี้เพราะสอดคล้องกับวันปีใหม่ของปฏิทิน "มหาศักราช" ที่อาณาจักรขอมได้รับอิทธิพลจากอินเดีย
ในปรากฏการณ์ "วิษุวัต" แสงอาทิตย์ทำมุมตั้งฉากกับโลก ณ เส้นศูนย์สูตร ทำให้ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับ "ทิศตะวันออกแท้" (due east) ที่มุมกวาด 90 องศา (azimuth 90) และกลางวันเท่ากับกลางคืน
ปราสาทขอมจำนวนมากถูกออกแบบให้หันหน้าเข้าหาปรากฏการณ์วิษุวัต เพราะเป็นวันปีใหม่ของปฏิทินมหาศักราช
4.ปรากฏการณ์ "วิษุวัต" (equinox) เป็นวันสำคัญของมนุษยชาติทั่วโลก สิ่งก่อสร้างจำนวนมากจึงมีความสอดคล้องกับปรากฏการณ์นี้ เช่น ปราสาทขอมส่วนใหญ่ที่เมือง Siem Reap ประตูท่าแพ ที่เชียงใหม่ ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร ปีรามิด Kulkukan ที่ Chichen Itza Mexico เป็นต้น ท่านที่สนใจรายละเอียนสามารถอ่านได้ที่บทความ "ปฏิบัติการดาราศาสตร์ข้ามทวีป" ในเว้ปไซด์นี้
สิ่งก่อสร้างในยุคโบราณทั่วโลกมีความผูกพันกับปรากฏการณ์วิษุวัต
มาถึงประเด็น ทำไมปราสาทพนมรุ้งจึงไม่หันหน้าตรงกับปรากฏการณ์วิษุวัตที่มุม 90 องศา เช่นเดียวกันกับปราสาทขอมจำนวนมาก แต่กลับหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อยที่มุมกวาด 85 องศา ........ ออกแบบผิด?..... ออกแบบถูกแต่ผู้รับเหมาก่อสร้างไม่ตรงสเป็ก? ...... หรือจงใจให้เป็นเช่นนั้น?
เป็นคำถามที่ถกเถียงกันมากมายและยังไม่มีใครฟันธงอย่างเป็นทางการ ในบทบาทของนักพิภพวิทยาจึงขอออกความเห็นเป็นการส่วนตัวตามข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ที่ได้ค้นคว้าและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มตั้งประเด็นคำถามตั้งแต่ปี 2535 เมื่อครั้งที่ไปชมปราสาทหลังนี้ร่วมกับวิศวกรชาวเนเธ่อร์แลนด์ ที่ทำงานด้วยกันในโครงการจัดการน้ำชลประทานกับหน่วยงาน UNDP และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วิศวกรท่านนี้ชื่อ Mr Evert D'Noiy มีความสนใจเรื่องโบราณคดีและดาราศาสตร์เป็นงานอดิเรกจึงไปกับผมได้อย่างถูกคอกัน
จากการศึกษาภูมิปัญญาของบรรพชนที่เราๆท่านๆใช้คำว่า "ขอม" โดยแกะรอยข้อมูลจากโบราณสถานจำนวนมากทั้งในประเทศกัมพูชาและประเทศไทย ทำให้มั่นใจว่าท่านเหล่านั้นเป็นนักวิชาการเต็มร้อย ทุกอย่างที่พวกเขาสร้างขึ้นมาล้วนมีวัตถุประสงค์ชัดเจนมีเหตุมีผลอ้างอิง ดังนั้นจึงเชื่ออย่างเต็มร้อยว่าผู้สร้าง "ปราสาทพนมรุ้ง" มีเจตนาให้ปราสาทหลังนี้หันหน้าไปที่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อยด้วยมุมกวาด 85 องศา
ผมกับ Mr.Evert และภรรยาชาวดัช ไปชมปราสาทพนมรุ้งเมื่อปี 2535
ผมตั้งคำถามมากมาย เช่น ทำไมต้องมาสร้างตรงนี้ สร้างเพื่ออะไร ฯลฯ
ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ (ภาพซ้ายมือ) ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ลอดประตู 15 ช่อง เช้าวันที่ 4 เมษายน และ 9 กันยายน แต่ปราสาทภูเพ็ก จังหวัดสกลนคร (ภาพขวามือ) ปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกลางประตู เช้าวันที่ 21 มีนาคม และ "ศารทวิษุวัต" (autumnal equinox) 23 กันยายน
เปรียบเทียบค่าองศา Orientation ของปราสาทพนมรุ้ง (Azimuth 85) กับปราสาทภูเพ็ก (Azimuth 90)
ปราสาทหลังนี้ทำมุม 85 องศา เพราะถูกดัดแปลงระหว่างบูรณะ หรือเป็นของจริงตั้งแต่การก่อสร้างในยุคนั้น?
นี่คิอคำถามจากผู้สนใจในระหว่างการบรรยายเมื่อ 9 กันยายน 2561 ที่ได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรพิเศษในปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ลอดประตู 15 ช่อง
เป็นวิทยากรร่วมกับ คุณพิมพ์นารา กิจโชติประเสริฐ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง 9 กันยายน 2561
ปราสาทพนมรุ้งได้รับการบูรณะตามหลักวิชาการที่เรียกว่า Anastylosis จากหลักฐานภาพถ่าย (อภินันทนาการจาก นส.พิมพ์นารา กิจโชติประเสริฐ หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง) ยืนยันว่าฐานรากของปราสาทพนมรุ้งยังคงสภาพเดิม ส่วนที่พังลงมาเป็นองค์ปรางค์และตัวปราสาท ดังนั้นการที่วัดค่าองศามุมกวาด 85 องศา (azimuth 85) ของ center-line ที่ธรณีประตูจึงเป็นพิกัดที่มีมาแต่ครั้งการก่อสร้างในยุคขอมเรืองอำนาจ
ทำไม 85 องศา? ตั้งคำอธิบายไว้สองทฤษฏี
1.หันหน้าเข้าหาราศีเมษ (Zodiac Aries) เพราะเป็นวันที่มีนัยสำคัญของศาสนาฮินดู
2.หันหน้าตรงกับปรากฏการณ์ "วันเพ็ญ เดือนไจตระ"
ทั้งสองทฤษฏีมีความเกี่ยวข้องกับ "ปฏิทินมหาศักราช" (Saka Calendar) ที่อาณาจักรขอมรับมาจากอินเดีย ในฐานะนักเรียนเก่าจากประเทศอินเดียมีความคุ้นเคยกับปฏิทินนี้เป็นอย่างดีเพราะอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนที่นั่น
รูปร่างหน้าตาของปฏิทินมหาศักราช (Saka Calendar) วันขึ้นปีใหม่ คือ Frist Chaitra ตรงกับ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) 22 March (ปีปกติ 365 วัน) และถ้าปีใดเป็น leap year (366 วัน) ก็ให้ร่นเป็นวันที่ 21 March
Student Diary of Punjab Agricultural University ปี 1974 มีทั้ง Civil Calendar และ Saka Calendar ทำให้ผมคุ้นเคยกับปฏิทิน "มหาศักราช" มาตั้งแต่เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเกษตรแห่งรัฐปันจาบ ประเทศอินเดีย ระหว่างปี 1970 - 1974 ไดอารี่ระบุว่า วันที่ 22 March 1974 (vernal equinox) ตรงกับ Chetra 1, 1896 Saka และ 23 September 1974 (autumnal equinox) ตรงกับ Asvina 1, 1896 Saka
ใช้ไดอารี่สำหรับจดบันทึกกำหนดวันสอบ เช่น วิชา Hort 401 (Horticalture 401 วิชาพืชสวน) สอบวันที่ 28 April 1974 นักศึกษาทุกคนต้องมีไดอารี่ของมหาวิทยาลัยโดยซื้อใหม่ทุกๆปีในเดือน January
ทฤษฏีแรก ....... หันหน้าเข้าหา "ราศีเมษ"
ตามหลักวิชาดาราศาสตร์มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "การเคลื่อนที่ถดถอยของวิษุวัต" (Precession of vernal equinox) เนื่องมาจากการแกว่งของแกนโลก (Earth's shift) เป็นผลให้วันวิษุวัต (vernal equinox) กับราศีเมษ (zodiac Aries) แยกตัวออกจากกัน
แต่เมื่อครั้งอดีตระหว่าง 2220 BC - 60 BC "ราศีเมษ" กับ "วสันตวิษุวัต" อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ดังนั้นเมื่อมาถึงยุคขอมเรืองอำนาจและเข้ามามีอิทธิพลในภาคอีสานราวๆ 1100 AD ราศีเมษ ได้แยกตัวออกไปอยู่ที่มุมกวาดราวๆ 85 องศา (Azimuth 85) ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้ "ท่านพราหมณ์" ในราชสำนักอาณาจักรขอม จำเป็นต้องตัดสินใจเลือกระหว่าง "ราศีเมษ" กับ "วสันตวิษุวัต" เราๆท่านๆอาจใช้คำพูดว่ารักพี่ก็เสียดายน้อง แต่ก็จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ยังผลให้ปราสาทขอมส่วนใหญ่ในเมืองหลวงนครอังกอร์เลือกเอา "วสันตวิษุวัต" ส่วนปราสาทขอมในประเทศไทยส่วนใหญ่เลือกเอา "ราศีเมษ" ปราสาทพนมรุ้งก็จัดอยู่ในสเป็กนี้
เนื่องจากการแกว่งของแกนโลกทำให้ตำแหน่งของดาวฤกษ์ในปรากฏการณ์ "วสันวิษุวัต" เปลี่ยนไปทุกๆ 2,160 ปี และจะเวียนกลับมาที่เดิมเมื่อครบรอบ 26,000 ปี ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Precession of vernal equinox
ราว 2000 BC ปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" และราศีเมษ (Aries) อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน แต่พอมาถึง 1100 AD ในยุคขอมเรืองอำนาจราศีเมษขยับไปอยู่ที่มุม 85 องศา
ปราสาทพนมรุ้งถูกเลือกให้หันหน้าเข้าหา "ราศีเมษ" (Aries) ที่ 85 องศา เพราะหากหันตรงกับทิศตะวันออกแท้ 90 องศา (Equinox) จะเป็นราศีมีน (Pisces) ซึ่งไม่ใช่สเป็กของท่านพราหมณ์
ถ้าอาณาจักรขอมยังคงอยู่ถึงปัจจุบันและพวกเขาต้องการสร้างปราสาทหลังใหม่ให้ตรงกับราศีเมษ ก็ต้องออกแบบให้หันหน้าไปที่ 78 องศา เพราะราศีเมษขยับไปอยู่ที่นั่นด้วยเหตุผลของ Precession of vernal equinox อย่างไรก็ตามหากท่านพราหมณ์ต้องการจะให้ปราสาทหันหน้าตรงกับ "ราศีเมษ" + วสันตวิษุวัต ที่มุม 90 องศา ก็ต้องรออีกประมาณสองหมื่นกว่าปีให้แกนโลกหมุนกลับมาที่เดิมเช่นเดียวกับเมื่อสามพันกว่าปีที่แล้ว
จากการเก็บตัวอย่างปราสาทขอมจำนวน 85 แห่ง ในประเทศไทยและกัมพูชา พบว่าปราสาทส่วนใหญ่ในประเทศไทย (41%) หันหน้าเข้าหา "ราศีเมษ" (Aries) และ 35% หันหน้าเข้าหา "วสันตวิษุวัต" (Equinox) และอีก 24% หันหน้าเข้าหานครหลวงอังกอร์ (Royal Angkor) แต่ปราสาทส่วนใหญ่ที่นครหลวงอังกอร์ 78% หันหน้า Equinox เพียงส่วนน้อย 11% หันหน้าเข้าหา"ราศีเมษ" อย่างไรก็ตามในภาพรวมทั้งสองประเทศปราสาทส่วนใหญ่ยังคงยึดหลักหันหน้าเข้าหา Equinox
ตัวอย่างโบราณสถานที่เมืองเก่าสุโขทัยซึ่งสร้างขึ้นตามความเชื่อที่รับมรดกมาจากอาณาจักรขอม มีทั้งหันหน้าเข้าหา "ราศีเมษ" (Aries) และหันหน้าเข้าหา "วสัตวิษุวัต" (Equinox) เช่น วัดมหาธาตุหันหน้าเข้าหา Aries วัดพระพายหลวงหันหน้าเข้าหา Equinox ขณะที่วัดศรีสวายหันหน้าไปทางนครหลวงอังกอร์
ไดอะแกรมแสดงการเคลื่อนที่ถดถอยของวสัตวิษุวัต แสดงให้เห็นว่า Zodiac Aries กับ vernal equinox อยู่ตรงกันในช่วง 2220 BC - 60 BC แต่ปัจจุบัน vernal equinox เปลี่ยนมาตรงกับ Zodiac Pisces ระหว่างช่วง 60 BC - 2100 AD
ในช่วงเวลาที่สร้าง "ปราสาทพนมรุ้ง" วสันตวิษุวัต อยู่ในราศีมีน (Zodiac Pisces) สัญลักษณ์เป็นรูปปลาคู่ ไม่ถูกสะเป็กของท่านพราหมณ์ผู้ออกแบบปราสาทหลังนี้ จึงตัดสินใจเลือก "ราศีเมษ" โดยไม่คำนึงถึงปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต"
ในทางดาราศาสตร์เมื่อราวพันกว่าปีที่แล้วตรงกับช่วงที่อาณาจักรขอมเรืองอำนาจ ดวงอาทิตย์ในราศีเมษอยู่ที่ตำแหน่ง มุมกวาด 85 องศา จากทิศเหนือ แต่ปัจจุบันตำแหน่งดวงอาทิตย์ในราศีเมษเปลี่ยนไปเป็นแถวๆ มุมกวาด 78 องศา เนื่องจากสาเหตุการแกว่งของแกนโลกทำให้ตำแหน่งจักรราศีเปลี่ยนไปในลักษณะเคลื่อนที่ถอยหลัง ภาษาดาราศาสตร์เรียกว่า “ การเคลื่อนที่ถดถอยของจักรราศี ” (Precession of vernal equinox) ดังนั้น ถ้าจะสร้างปราสาทพนมรุ้งขึ้นใหม่ในปัจจุบัน และยังคงต้องการให้หันหน้าเข้า หาดวงอาทิตย์ในราศีเมษเหมือนเดิม ต้องวางผังแปลนให้หันหน้าเบี่ยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น โดยอยู่ที่มุมกวาดแถวๆ 78 องศา จากทิศเหนือ (Azimuth 78) แต่ถ้ายังคงยืนยันจะให้หันหน้าด้วยมุมกวาด 85 องศา เหมือนของเดิมในยุคขอมเรืองอำนาจ ท่านจะต้องรออีกประมาณ 25 ,000 ปี ให้แกนของโลกหมุนกลับมาที่เดิม เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นกับสิ่งก่อสร้างของชาวอียิปส์มาแล้ว ทำให้กษัตริย์องค์ใหม่ในยุคพันกว่าปีต่อมาจำเป็นต้องเปลี่ยนแบบแปลนวิหารเสียใหม่ เพื่อให้ตรงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ในวันสำคัญทางศาสนา
ดังนั้น ท่านที่ไปชมปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้น หรือดวงอาทิตย์ตก ผ่านช่องประตู 15 ช่องที่ปราสาทพนมรุ้ง ก็ให้นึกถึงความเชื่อมโยงระหว่างความเชื่อทางศาสนา ที่เอาข้อมูลทางดาราศาสตร์มาเป็นตัวกำหนดวันศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่ทราบว่าบรรพชนเหล่านั้นจะรู้หรือไม่ อีกพันปีข้างหน้าพวกเขาต้องฟื้นขึ้นมาใหม่เพื่อเปลี่ยนตำแหน่งปราสาทให้ตรงกับราศีเมษ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้สร้างความอึดอัดใจระหว่างนักดาราศาสตร์กับนักโหราศาสตร์ เพราะฝ่ายแรกรู้ดีว่าจักรราศีเปลี่ยนไปทุกๆ 2 ,160 ปี ต่อ 1 ราศี และจะหมุนกลับมาครบรอบ 12 ราศี ใช้เวลา เกือบ 26,000 ปี ทำให้ราศีเมษ ไม่ได้ตรงกับวันวสันตวิษุวัต (Vernal equinox) หรือวันที่ 21 มีนาคม อีกต่อไปแล้ว แต่ปัจจุบันวันวสันตวิษุวัต อยู่ระหว่างช่วงต่อของ “ ราศีมีน ” กับ “ ราศีคนแบกหม้อน้ำ ” จึงมีการแต่งเพลง Aquarius ขึ้นมาร้องกันทั่วประเทศอเมริกา แต่ทางฝ่ายท่านโหราจารย์ฝรั่งยังยึดตำราเล่มเดิมเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว ถือว่าจุดเริ่มต้นของราศีเมษ (First point of Aries) ยังคงเป็นวันที่ 21 มีนาคม ส่วนท่านโหราจารย์ไทยค่อยยังชั่วหน่อย ได้ปรับราศีเมษมาอยู่ที่ 15 เมษายน แล้ว อย่างไรก็ตามเพื่อความสมานฉันท์ทั้งสองฝ่ายจึงถือคติ “ ทางใครทางมัน ”
เปรียบเทียบระหว่างจักรราศีสากล กำหนดให้ราศีเมษเริ่มต้น 22 มีนาคม ส่วนจักรราศีไทย กำหนดให้ราศีเมษเริ่มต้น 15 เมษายน
ทฤษฏีที่สอง
จากการศึกษาจารึกภาษาขอมที่พบ ณ อโรคยาศาลหลายแห่งในยุคสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า ............ "วันเพ็ญ เดือนไจตระ และพิธีศารท ในกาลที่พระอาทิตย์คล้อยไปทางทิศเหนือ" แสดงว่าวันนี้ต้องมีนัยสำคัญ ไม่งั้นคงไม่จารึกไว้ตั้งหลายแห่ง ด้วยเหตุนี้ทำให้อโรคยาศาลจำนวนหนึ่ง เช่น กู่บ้านเขวา มหาสารคาม ปราสาทนางรำ โคราช และปราสาทตาเมือนโต๊ด สุรินทร์ ทำมุม 85 องศา เหมือนกับปราสาทพนมรุ้ง รวมทั้งปราสาทที่เมือง Siem Reap Cambodia เช่น Prasat Banteay Kdei และ Prasat Banteay Samrei
อนึ่ง "เดือนไจตระ" ตามจารึกอโรคยาศาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อเปรียบเทียบกับปฏิทินปัจจุบันอยู่ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม - 20 เมษายน (ปีอธิกสุรทิน 366 วัน) และ 22 มีนาคม - 20 เมษายน (ปีปกติสุรทิน 365 วัน) และ "วันเพ็ญ" น่าจะตกอยู่ในช่วงวันใดวันหนึ่งหลังจากวันที่ 21 หรือ 22 มีนาคม เป็นปรากฏการณ์เดียวกันกับ "ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5" ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีเดินขึ้นปราสาทพนมรุ้ง
อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นทุกปีดังที่กล่าวในข้างต้น เพราะเป็นความต่างระหว่างปฏิทิน "สุริยะคติ" กับปฏิทิน "จันทรคติ" จากการเก็บข้อมูลพบว่าจะเกิดทุกๆ 11 ปี ได้ทดสอบทำภาพจำลองย้อนหลัง (simulation) ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์ The Starry Night พบว่าในยุคที่เริ่มสร้างปราสาทพนมรุ้ง ราว AD 1000 เป็นต้นมา ได้เกิดปรากฏการณ์ "วันเพ็ญในเดือนใจตระ ที่ดวงอาทิตย์คล้อยไปทางทิศเหนือ" ทุกๆ 11 ปี ดังตัวอย่างภาพข้างล่างนี้ ดังนั้นทุกรอบ 11 ปี น่าจะมีนัยสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่ง
ภาพจำลองปรากฏการณ์ Full Moon in Chaitra Month ทุกๆ 11 ปี (AD 1051 AD 1062 AD 1073)
จารึกอโรคยาศาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กล่าวถึง "วันเพ็ญ เดือนไจตระ"
รูปร่างหน้าตาของหลักจารึกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ตัวอย่างคำแปลของจารึกอโรคยาศาลที่กล่าวถึง "วันเพ็ญ เดือนไจตระ และพิธีศารท ในกาลที่พระอาทิตย์คล้อยไปทางทิศเหนือ
รูปร่างหน้าตาของปราสาทตาเมือนโต๊ด หนึ่งในกลุ่มปราสาทตาเมือน ที่ จ.สุรินทร์
|