**************************
คนดีเมืองสกล ประเภท คนดีเชิงประจักษ์ ปี 2548
ดร.ปานชัย บวรรัตนปราณ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ปี ๒๕๔๖-๒๕๔๘
ประวัติส่วนตัว
เกิด วันที่ 18 เมษายน 2492 ที่ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
การศึกษา ศิลปศาสตร์บัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รัฐศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 44
หน้าที่ราชการ ปัจจุบันเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก
บุคลิกภาพการทำงาน
ดร.ปานชัย บวรรัตนปราณ สามารถทำงานร่วมกับบุคคลอื่นได้ทุกระดับชั้น นำเสนองานได้ดี มีความตั้งใจในการทำงานเพื่อพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ให้ดีงามอยู่ตลอดเวลา เป็นผู้มีบุคลิกภาพที่ดีงาม ดังนี้
1. คนทำงาน หัวใจเพื่อสาธารณะ มีจิตวิญญาณเป็นสาธารณะ มองเห็นทุกข์ของประชาชน คือ ทุกข์ของตนเอง ในการออกตรวจราชการ หรือ การขี่จักรยานในวันหยุด หากพบเห็นสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ที่ชำรุดเสียหาย น้ำขังเน่าเสีย ถนนทางเท้าทรุดโทรม ท่อระบายน้ำอุดตัน ต้นไม้ตาย หรือพบผู้ด้อยโอกาส พิการ เร่ร่อน รวมทั้งการประกอบอาชีพไม่ถูกต้อง เช่น การปรุงอาหารไม่สะอาดจำหน่าย จะแจ้งผู้เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขทันที
2. ค่านิยมสมสมัย มีความเป็นประชาธิปไตย ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง พบปะสัมผัสพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด รับรู้ปัญหานำไปสู่การแก้ไข โดยยึดหลัก ติดอาวุธทางความคิด พิชิตความลำบากยากจน
3. ใช้ศิลปะการเป็นแบบอย่าง เป็นผู้นำที่ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ได้แก่ การออกกำลังกายโดยการวิ่งสม่ำเสมอ สร้างวินัยให้ตนเอง ตั้งเป้าหมายโดยการจดบันทึกในการวิ่งปีละ 600 กิโลเมตร สร้างวัฒนธรรมรักษาความสะอาด การไม่ทิ้งขยะและเก็บขยะที่เรี่ยราด ใส่ในถังขยะ ให้ประชาชนเห็น เพาะกล้าไม้หายาก เช่น มะค่า ตะเคียนทอง ยางนา แจกจ่ายแก่ประชาชน เพื่อนำไปปลูก เป็นการปลูกฝังให้รักต้นไม้ ตามแนวทาง สะอาดและเขียวขจี
4. มองการไกล มีความคิดริเริ่ม มองเห็นว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นหัวใจสำคัญ โดยยึดหลัก เสาเข็มชีวิต 8 ต้น ได้แก่ รักษ์ความสะอาด ไม่ขาดออกกำลังกาย ขวนขวายหาความรู้ สู้กับชีวิต พิชิตอบายมุข สุขกับความพอดี เปรมปรีดิ์ประชาธิปไตย สร้างวินัยในตนเอง เป็นนักการตลาด ปรับปรุงสลากกาชาดเป็นแบบ Three in one เพิ่มรายได้ให้เหล่ากาชาด เพิ่มมูลค่าสินค้า โดยแนะนำให้มีการผลิตข้าวฮางบรรจุขวดออกจำหน่าย
5. ยึดธรรมะสร้างเมตตา สานต่อวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ส่งเสริม และริเริ่มจัดงาน วันอาสาฬหะ สักการะสังเวชนีย์ 4 ตำบล ที่ส่องดาว การแก้ไขปัญหาเยาวชนกลุ่มเสี่ยง ที่มีปัญหาด้านครอบครัว โดยการจัดโครงการฉีดวัคซีนธรรมะ มีความตั้งใจแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหา การทารุณกรรมสุนัข สงเคราะห์ช่วยเหลือ ผู้ประกอบอาชีพขับขี่สามล้อเก็บขยะขายเป็นรายได้ ส่งเสริมและยกย่องคนดี
6. พัฒนาองค์กร การสร้างความสมานฉันท์ ในสังคม สนับสนุน ผลักดันให้ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ร่วมกันจัดตั้งเป็นองค์กรเอกชน เพื่อร่วมมือกันเสียสละเพื่อสังคม
จากบุคลิกภาพการทำงานข้างต้น จึงปรากฏผลงานที่เป็นรูปธรรมหลายประการ เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชนชาวจังหวัดสกลนคร
ชมรมส่งเสริมคนดีเมืองสกล เห็นสมควรประกาศยกย่องให้ ดร.ปานชัย บวรรัตนปราณ เป็น คนดีเมืองสกล * ประเภท คนดีเชิงประจักษ์ เพื่อเป็นกำลังใจ และเป็นแบบอย่างที่ดีสืบไป
หมายเหตุ * ในวันที่ 28 กันยายน 2548 ได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นคนดีเมืองสกลประเภท คนดีควรส่งเสริม
นายสุนทร จันทร์ทองศรี
ที่อยู่ 1865/2 ร้านสุ่มยานยนต์ ถ.รัฐพัฒนา ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร 47000
ประวัติส่วนตัว เกิดวันที่ 14 มกราคม 2487 บิดาชื่อ นายเทพ จันทร์ทองศรี มารดาชื่อ นางเขียน จันทร์ทองศรี ครอบครัว สมรสกับ น.ส. ยุพิน โมราราช เมื่อปี 2515 มีบุตร 4 คน จบการศึกษาทั้งหมดแล้ว
การศึกษาและการทำงาน จบการศึกษาชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 6 และเรียนจบวิชาช่างไม้รุ่น 1 จากโรงเรียนช่างไม้สกลนคร (วิทยาลัยเทคนิคสกลนครปัจจุบัน) ระหว่างเรียนอยู่ในความอุปการะของ นายทองอินทร์ - นางทองเกียร สุวรรณคุณ ญาติฝ่ายมารดา และนายประชา นางอนงค์ ตงศิริ ญาติฝ่ายบิดา หลังจากนั้นได้ช่วยประกอบธุรกิจของ นายประชา และนางอนงค์ ตงศิริ ซึ่งจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ และวิ่งรถโดยสาร และอื่น ๆ เรื่อยมาจนกระทั่งหลังแต่งงานมีครอบครัวแล้ว 2 ปี จึงออกมาเปิดร้านซ่อมรถจักรยานยนต์เป็นของตนเองโดยได้รับความอนุเคราะห์จากนายประชา นางอนงค์ ตงศิริ และกิจการได้เติบโตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน นายสุนทร จันทร์ทองศรี ได้รับยกย่องเป็นอาชีวะตัวอย่างของวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร เมื่อ 30 กรกฏาคม 2541
หน้าที่ทางสังคม - กรรมการการศึกษา โรงเรียนอนุบาลสกลนคร ปี 2535-253
- รองประธานชุมชนเทศบาลเมือง, ชุมชนตลาดเทศบาลเมืองสกลนคร ปี 2536
- อนุกรรมการ การพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด ปี 2537
- กรรมการสมาคมกีฬาจังหวัดสกลนคร ปี 2535-2542
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เทศบาลเมืองสกลนคร ปี 2535
- กรรการที่ปรึกษาวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร ปี 2544 และปี 2548
- กรรมการบริหาร ชมรมลูกเสือชาวบ้านสกลนคร ปี 2544
- กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ร.ร. ธาตุนารายณ์วิทยา ปี 2548
- กรรมการติดตามและประเมินผลแผนพัฒนาเทศบาลเมืองสกลนคร ปี 2546
- นายกสโมสรโรตารีสกลนคร ปี 2546 - 2547
- พ่อตัวอย่างระดับจังหวัด 5 ธันวาคม 2547
ฯ ล ฯ
การครองตน ยึดถือรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง ใช้ชีวิตเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ไม่เล่นการพนัน และเสียสละเพื่อสังคม สำหรับชีวิตครอบครัวได้ตั้งปณิธานว่า เมื่อแต่งงานแล้วจะทำให้ครอบครัวมีความสุข ไม่นอกใจภรรยา ซึ่งได้ถือปฏิบัติมาจนกระทั่งทุกวันนี้ พร้อมทั้งสอนลูกหลานให้ประพฤติปฏิบัติตาม การสอนที่ดีที่สุดก็คือการทำให้ดูปฏิบัติให้เห็นเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดี
การครองคน ถือหลักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ให้คำแนะนำ คำปรึกษาในสิ่งที่ถูกต้อง ช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเต็มที่ และปรับตัวเองให้ยอมรับผู้อื่นได้
การครองงาน อาศัยหลัก ซื่อสัตย์สุจริต อดทน อดกลั้น อดออม ขยันหมั่นเพียร จะนึกอยู่เสมอว่าที่ได้มาทุกวันนี้ เพราะผู้ใหญ่ให้โอกาส ให้ประสบการณ์ต่าง ๆ และให้ความรู้ ซึ่งนำมาปรับใช้ในการทำธุรกิจของตนเอง
หลังจากผ่านงาน องค์กรสโมสรโรตารีสกลนคร มากว่า 14 ปี ได้ยึดปณิธานของโรตารีคือ ทุกสิ่งที่ คิด พูด หรือ กระทำ จะต้อง
1. เป็นความจริง 2 อิงเที่ยงธรรม 3. นำไมตรี 4. ดีต่อทุกฝ่าย
ดังนั้น จึงใช้ หลักข้างต้น ทดสอบตนเองอยู่เสมอๆ
ชมรมส่งเสริมคนดีเมืองสกล ขอบันทึกชื่อของท่านไว้ในทำเนียบ คนดีเมืองสกล ประเภท คนดีเชิงประจักษ์ ไว้สืบไป
นายนฤทธิ์ คำธิศรี อายุ๔๓ ปี
คู่สมรส นางตุ้มคำ พยาบาลวิชาชีพ 7 หัวหน้าสถานีอนามัยโพธิไพศาล บุตร 2 คน
การศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงจากวิทยาลัยเกษตรสุรินทร์ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ (สาขาประมง)
ประวัติการทำงานและผลงานที่น่ายกย่อง
นายนฤทธิ์ เป็นประชากรเขตตำบลโพธิไพศาล เป็นชนเผ่า ไทโส้ ซึ่งมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เมื่อเรียนจบทำงานกับบริษัทเอกชนด้านการเกษตร และเก็บออมเงินทุนไว้ประกอบอาชีพของตนเอง ในที่สุดได้ลาออกจากบริษัทและกลับมาใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรเต็มตัวที่แผ่นดินเกิด บนดินลูกรังพื้นที่ 31 ไร่ ซึ่งได้มาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของตนเองและคู่ชีวิต นายนฤทธิ์ ได้พยายามนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด เพื่อปรับเปลี่ยนความเชื่อที่บอกกันตลอดมาว่า ดินลูกรัง ปลูกอะไรก็ไม่ได้ ต้นไม้ไม่โต
จากสภาพพื้นดินที่เป็นดินลูกรังซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ขาดน้ำในฤดูแล้ง การทำการเกษตรจึงต้องมีข้อมูลและมีความอดทนมากพอสมควร ในปี 2532 นายนฤทธิ์ ได้เริ่มต้นศึกษาการปลูกพืชตามหลักวิชาการอย่างจริงจัง โดยศึกษาปริมาณน้ำฝน พันธุ์พืช หลักการปรับปรุงบำรุงดิน ศึกษาการทำการเกษตรแบบธรรมชาติและภูมิปัญญาท้องถิ่น ศึกษาดูงานสวนเกษตรที่ประสบความสำเร็จทั่วประเทศ
ในปี 2535 ได้เริ่มทดลองปลูกพืช ชนิดละ 2-3 ต้น เพื่อศึกษาการเจริญเติบโต
และปัญหาของพืชชนิดนั้น ๆ ขณะเดียวกันได้ปลูกพืชเป็นแนวกันลม คือ ปลูกไม้สักรอบพื้นที่ จากการศึกษาและรวบรวมข้อมูลมาตลอด 5 ปี จนมีความมั่นใจ ปี 2537 จึงเริ่มลงมือปลูกพืช โดยใช้หลักวิชาการผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น แบ่งพื้นที่การเกษตร เป็นพื้นที่ปลูกพืชและปศุสัตว์ 20 ไร่ , บ่อเลี้ยงปลา 9 ไร่, ป่าอนุรักษ์ 4 ไร่ ประเภทของพืชที่ปลูก แบ่งเป็น
1. ผักอายุสั้น : พริก แตงไทย ฟักทอง บวบ
2. พืชอายุสั้น : กล้วย มะละกอ ฝรั่ง
3. ผลไม้ : กระท้อน ขนุน มะม่วง มะขาม มะพร้าวน้ำหอม ลำไย มะกอกน้ำ
4. ไม้เศรษฐกิจ : สัก พยุง ชิงชัน ประดู่แดง มะค่าโมง
5. พืชทดลอง : ผักหวานป่า
6. ป่าอนุรักษ์
สัตว์ที่เลี้ยงได้แก่ วัวขุน วัวฝูง เป็ด ไก่ แพะ แกะ และปลา
นายนฤทธิ์ เป็นเกษตรกรที่สามารถจัดการกับปัญหาด้านเศษรฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม คือ
ด้านเศรษฐกิจ จัดการให้ได้ผลตอบแทนจากผลิตผลทุกฤดูกาลหมุนเวียนอย่างเพียงพอตลอดปี
ด้านสังคม แก้ไขการลักขโมย ด้วยการพยายามพบปะผู้คนในชุมชน ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เป็นผู้นำด้านต่างๆ หลายด้าน แบ่งปันผลผลิตให้กับวัด โรงเรียน ศูนย์เด็ก ช่วยเหลือคนจนโดยการรับเข้าทำงานในฟาร์ม จนในที่สุดปัญหาลักขโมยได้หมดลง
ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นเกษตรกรที่ตระหนักถึงปัญหาระบบนิเวศน์และเข้าใจดีว่า ป่าและธรรมชาติจะต้องถูกทำลายมากขึ้นในอนาคต ได้แบ่งพื้นที่เป็นป่าอนุรักษ์เพื่อให้สัตว์และแมลงได้อาศัย พร้อมทั้งปลูกป่าเพิ่มเติม
นับว่า นายนฤทธิ์ เป็นผู้มีความอดทน ขยันและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค หมั่นศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาอาชีพของตน ขณะเดียวกันก็เอื้อเฟื้อต่อส่วนรวม จนได้รับคัดเลือกจากสำนักงานเกษตรจังหวัดสกลนคร เป็นเกษตรกรผู้ประกอบอาชีพดีเด่น สาขาไร่นาสวนผสมในปี 2548
ชมรมส่งเสริมคนดีเมืองสกล จึงขอประกาศเชิดชูให้ นายนฤทธิ์ คำธิศรี เป็น คนดีเมืองสกล ประเภท คนดีเชิงประจักษ์ เพื่อเป็นกำลังใจและเป็นตัวอย่างแก่ บุคคลอื่น สืบไป
ว่าที่ร.ต.ชัยเดช บุญรักษา
อายุ 48 ปี เกิด 12 สิงหาคม 2501 ที่อยู่ ต.วาริชภูมิ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร
การศึกษา การศึกษาบัณฑิต สาขาบริหารการศึกษา จาก มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
คู่สมรส นางรัตนาภรณ์ บุญรักษา มีบุตร 2 คน
การทำงาน พ.ศ. 2524 อาจารย์ 1 ระดับ 3 โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส
1 กรกฎาคม พ.ศ. 2537 ครูใหญ่โรงเรียนเดื่อศรีไพรวัลย์
28 ธันวาคม พ.ศ. 2537 อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเดื่อศรีไพรวัลย์
21 กันยายน พ.ศ. 2543 ผู้อำนวยการโรงเรียนเดื่อศรีไพรวัลย์
8 มกราคม พ.ศ. 2546 ผู้อำนวยการโรงเรียนกุดบากพัฒนศึกษา
ผลงานเด่น
1. ปีการศึกษา 2542 เป็นผู้บริหารดีเด่นด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของจังหวัดสกลนนคร
2. ปีการศึกษา 2543 เป็นบุคลากรดีเด่นสาขาบริหารการศึกษา จากสำนักงานสามัญศึกษาจังหวัดสกลนคร
3. ปีการศึกษา 2543 ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทาน
4. ปีการศึกษา 2543 ผู้กำกับนักศึกษาวิชาทหารดีเด่น จากจังหวัดทหารบกสกลนคร
5. ปีการศึกษา 2544 รางวัลผู้บริหารดีเด่นของคุรุสภาจังหวัดสกลนคร ประเภทโรงเรียนมัธยมศึกษา
6. ปีการศึกษา 2544 ได้รับประกาศเกียรติคุณผู้ปฏิบัติงานดีเด่นประจำปี 2544 จากสามัญศึกษาจังหวัดสกลนคร
7. ปีการศึกษา 2545 เครื่องหมายเชิดชูเกียรติ ครูสดุดี จากคุรุสภา
8. ปีการศึกษา 2547 ข้าราชการพลเรือนดีเด่น จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสกลนคร เขต 2
9. ปีการศึกษา 2547 รางวัลถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โครงการ โรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมดีเด่นเฉลิมพระเกียรติ ต้นบากหายไปไหน จากสมาคมสร้างสรรค์ไทย
10. ปีการศึกษา 2547 ผู้บังคับบัญชาลูกเสือดีเด่น ประเภทผู้บริหาร จากสำนักงาน คณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ
ฯลฯ
นอกจากนี้ในฐานะผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษา ว่าที่ ร.ต.ชัยเดช บุญรักษา เป็นผู้ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของครู ด้วยการทุ่มเทความรู้ ความสามารถในศาสตร์เชิงบริหารทุกรูปแบบเพื่อพัฒนาโรงเรียน นักเรียนและชุมชน มีรูปแบบการครองตน ครองคน และครองงานที่ดี ได้รับรางวัลซึ่งแสดงถึงผลสำเร็จของงานและการดำรงชีวิต คือ รางวัลผู้บริหารดีเด่นของสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ปี 2539 และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย
สมควรได้รับประกาศเชิดชูเกียรติ บันทึกไว้ในทำเนียบ คนดีเมืองสกล ประเภท คนดีเชิงประจักษ์ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่บุคคลอื่น สืบไป
นายสมชาย โสมรักษ์ อายุ 55 ปี
การศึกษา การศึกษาบัณฑิต วิชาเอกฟิสิกส์ จากวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ปริญญาโท สาขาการสอนฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2525
ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ โรงเรียนสกลนครพัฒนศึกษา
นายสมชาย มาจากครอบครัวที่ บิดา มารดา เป็นครูในชนบท ที่ทุรกันดารมาก ในจังหวัดอุบลราชธานี ชีวิตวัยเด็กต้องช่วย บิดา มารดา ทำงานทุกอย่าง เช่น ตักน้ำ ทำนา หาอาหาร เลี้ยงสัตว์ เมื่อเติบโตขึ้นได้เข้ารับการศึกษา ระดับมัธยมที่โรงเรียนในจังหวัด จึงเข้าใจดีในสภาพความแตกต่าง ระหว่างเด็กบ้านนอกและเด็กในเมือง แต่ด้วยกำลังใจจาก บิดา มารดา เกิดความมุมานะ อดทน ไม่ยอมแพ้ จนสามารถปรับตัวใช้ชีวิตเข้ากับเพื่อนนักเรียนอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในเมืองได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมาทำหน้าที่ครู ได้พยายามมอบความรัก ความเมตตาให้กับศิษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมาจากชนบทหรือในเมือง โดยเฉพาะลูกศิษย์ที่ด้อยโอกาส ได้พยายามดูแล ส่งเสริมสิ่งที่เป็นประโยชน์ พยายามทำหน้าที่ครูที่ดี คือ ตั้งใจอบรมสั่งสอน ให้ความเมตตาต่อลูกศิษย์ หมั่นศึกษาหาความรู้ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนอย่างสม่ำเสมอ จนได้รับความไว้วางใจ ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ดังนี้
พ.ศ. 2527 ทำหน้าที่หัวหน้าระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 รร.สกลราชวิทยานุกูล
พ.ศ. 2528 2530 ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปกครอง โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล
พ.ศ. 2530 2536 ผู้บริหารโรงเรียนบงเหนือวิทยาคม อ.สว่างแดนดิน
พ.ศ. 2536 2545 ผู้บริหารโรงเรียนเต่างอยพัฒนศึกษา
พ.ศ. 2545 ปัจจุบัน ผู้บริหารโรงเรียนสกลนครพัฒนศึกษา
แนวคิดในการบริหารงาน
การครองตน : ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
การครองคน : มอบขวัญกำลังใจให้แก่เพื่อนร่วมงาน
การครองงาน : มอบหมายงานให้เหมาะสมกับความสามารถของแต่ละบุคคล การทำงานเป็นทีม โดยยึดถือนโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายของโรงเรียน เพื่อประโยชน์ของนักเรียน
ผลงานเด่น
1. ผลงานที่สร้างไว้ แก่โรงเรียนสกลนครพัฒนศึกษา
- เป็นโรงเรียนที่ผ่านการประเมินรับรองเป็นโรงเรียนต้นแบบ หนึ่งอำเภอหนึ่ง โรงเรียนในฝัน เมื่อปี 2549
- โรงเรียนที่ ได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับ 1 ในการประกวดตามโครงการ
To Be Number one พ.ศ. 2549
- ได้รับประกาศเกียรติคุณ โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับทอง จากกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2548
- รางวัลผู้บริหารดีเด่น จากสมาคมผู้บริหาร โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย
พ.ศ. 2548
- นักเรียนของโรงเรียนได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย
2. ประธานชมรมกรีฑาจังหวัดสกลนคร 3 สมัย ติดต่อกัน
นอกจากนี้ยังได้บริหารงานโรงเรียน เพื่อการรับใช้สังคม เป็นศูนย์ฝึกอบรมนักกีฬาจักรยานของสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ศูนย์พัฒนาการเรียนรู้ ภาษาไทย และเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น ได้รับการสนับสนุนจาก ประชาชน โรงเรียน และส่วนเกี่ยวข้องอย่างดี
เห็นสมควรประกาศเชิดชูให้ นายสมชาย โสมรักษ์ ได้รับการยกย่อง ให้เป็นคนดีเมืองสกล ประเภท คนดีเชิงประจักษ์ เพื่อเป็นแบบอย่างแก่บุคคลอื่น สืบไป
นายแพทย์ วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ อายุ 45ปี
การศึกษา แพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วุฒิบัตรแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ ทั่วไป
สถานภาพครอบครัว สมรสกับนางเพชราภรณ์ วิโรจนวัธน์ มีบุตร 2 คน
การทำงาน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน
ผลงานการปฏิบัติราชการที่ได้รับการยกย่องและเป็นที่ยอมรับ
ในฐานะผู้บริหารโรงพยาบาล น.พ.วิโรจน์ ได้ กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ นโยบายและเป้าหมาย ตลอดจนการสนับสนุนปัจจัยด้านการบริหาร เช่น บุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ การใช้เทคนิคการบริหาร การวางแผน การสั่งการ การมอบหมายงาน การประสานงาน การควบคุม กำกับ ติดตามประเมินผลในการพัฒนาโรงพยาบาลให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อเป็นตัวอย่างแก่โรงพยาบาลอื่นๆ สามารถพัฒนาโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ให้เป็นโรงพยาบาลที่มีคุณภาพ และได้รับประกาศนียบัตร ประกาศเกียรติคุณ ดังนี้
1. โรงพยาบาลแห่งแรกในจังหวัดสกลนครที่ได้ประกาศนียบัตรรับรองกระบวนการคุณภาพโรงพยาบาล ( Hospital Accreditation ) จากสถาบันพัฒนารับรองคุณภาพโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2548
2. โรงพยาบาลแห่งแรกในจังหวัดสกลนครที่ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจากสถาบันธัญญารักษ์ เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม 2549
3. โรงพยาบาลแห่งแรกในจังหวัดสกลนครที่ ได้รับประกาศเกียรติคุณให้เป็นโรงพยาบาลคุณภาพตามมาตรฐานบริการสาธารณสุข จากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2549
4. โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน ได้รับประกาศเกียรติคุณสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน ระดับทอง จากกรมอนามัย เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2548
5. บุคลากรของโรงพยาบาลไดรับรางวัลต่างๆ มากมาย
จากผลการบริหารงานดังกล่าวในรอบปี 2548 โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน ได้เป็นแหล่งศึกษาดูงานจากโรงพยาบาลอื่นๆ ทั้งในและนอกจังหวัด ไม่น้อยกว่า 15 ครั้ง
การครองตน ยึดหลัก ซื่อสัตย์ สุจริต และมีคุณธรรม
การครองคน ยึดหลักทุกคนมีความดีในตนเอง ได้พยายามส่งเสริมให้ผู้ใต้บังคับบัญชา แสดง ศักยภาพด้านดีของตนเองอย่างเต็มที่
การครองงาน ยึดหลัก หากตั้งใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ไม่มีคำว่าไม่สำเร็จ
จากศักยภาพของนายแพทย์วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการสำคัญในระดับจังหวัดหลายคณะ เป็นผู้นำคนสำคัญในการให้ข้อคิดเห็นเชิงวิชาการ เป็นที่ยอมรับของคณะกรรมการที่ทำงานร่วมกัน
นับได้ว่านายแพทย์วิโรจน์ วิโรจนวัธน์ เป็นบุคคลที่สมควรไดรับประกาศเชิดชูเกียรติ บันทึกไว้ในทำเนียบ คนดีเมืองสกล ประเภท คนดีเชิงประจักษ์ เพื่อเป็นแบบอย่างบุคคลอื่นสืบไป
คนดีเมืองสกล ประเภท คนดีควรส่งเสริม ปี 2548
ด.ต.เจษฎา ไชยเชษฐ์ อายุ 46 ปี
ที่อยู่ 711/1 ถนนเจริญเมือง ต.ธาตุเชิงชุม
อ.เมือง จ.สกลนคร 47000
ประวัติส่วนตัว เกิด วันที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2503 ที่บ้านโคก ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จังหวัดสกลนคร บิดาชื่อ นายคำพอ ไชยเชษฐ์ มารดาชื่อ นางวิลัย ไชยเซษฐ์ (สกุลเดิม สุทธิอาจ) สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนตำรวจภูธร 4 ขอนแก่น เมื่อปี 2523
การงาน รับราชการครั้งแรกที่ สภ.กิ่ง พรเจริญ จ.หนองคาย ทำงานตำรวจมวลชนสัมพันธ์ ได้รับความชอบ 8 ครั้ง ปี พ.ศ. 2536 ขอย้ายกลับภูมิลำเนา ปัจจุบันประจำอยู่ที่ สภอ. เมืองสกลนคร ดำรง ตำแหน่ง ผู้บังคับหมู่ (งานป้องกันและปราบปราม) กลางวันปฎิบัติหน้าที่รักษาการประจำธนาคารอาคารสงเคราะห์ สาขาสกลนคร กลางคืนปฎิบัติหน้าที่สายตรวจเดินเท้า
ครอบครัว สมรสกับ นางสุทิน เมื่อปี 2525 มีธิดา 2 คน คือ น.ส.วิลัยลักษณ์ ไชยเชษฐ์ ทำงานแล้ว และน.ส. ปาริฉัตร ไชยเชษฐ์ ( กำลังศึกษาอยู่ ม.ราชภัฎสกลนคร ) นักกีฬาเหรียญทองยูโด เป็นตัวแทนเขต 4 เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับชาติ ภรรยา ประกอบอาชีพค้าขาย
งานด้านศาสนาและสังคม
เป็นกรรมการวัดป่าสุทธาวาส และเป็นไวยาวัจกรประจำวัดพระธาตุเชิงชุม ทุกเช้าจะไปรับใช้พ่อแม่ครูอาจารย์ ที่วัดป่าสุทธาวาส
สิ่งที่ภูมิใจที่สุด คือได้รับความเมตตาจากพระอาจารย์ ท่านเจ้าคุณพระศาสนดิลก
ให้บรรพชาอุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศล แด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงครบรอบ 80 พรรษา เมื่อปี พ.ศ.2546 ซึ่งมีโอกาสเข้ากราบพระบาท และเข้ารับพระราชทานผ้าไตรจากพระหัตถ์ ที่พระตำหนักวังเลอดิส และเข้าพิธีอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร
การครองตน ยึดตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะถือว่า คำสอนของพระพุทธองค์เป็นที่สุดของวิชาความรู้ จึงใช้หลักธรรม กำกับใจและกำกับการกระทำของตนให้เหมาะสม ในทุกสถานการณ์ อุดมคติในชีวิตจึงล้วนแล้วมาจากหลักธรรม ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก คือ ทำหน้าที่ในครอบครัวอย่างครบถ้วน และยังชอบช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ ถึงแม้จะเป็นงานนอกเหนือหน้าที่ก็ทำด้วยความเต็มใจ
ชมรมส่งเสริมคนดีเมืองสกล ขอประกาศเชิดชู และบันทึกชื่อ ด.ต. เจษฎา ไชยเชษฐ์ ไว้ในทำเนียบ คนดีเมืองสกล ประเภท คนดีควรส่งเสริม สืบไป
นายฤทัย สีนวลแล อายุ 16 ปี
62 ม.6 ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร
นักเรียนชั้น ม.5/1 รร.โพธิแสนวิทยา
อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร
เป็นคนรับผิดชอบต่อหน้าที่ เสียสละ อุทิศตนเพื่อโรงเรียน เป็นหัวหน้าห้องที่ดีของเพื่อน
เกียรติประวัติและผลงานที่ภาคภูมิใจ
- เกียรติบัตร ยกย่องเป็นนักอ่านหนังสือ ดีเด่นของโรงเรียนโพธิแสนวิทยา ปี 2545
- เกียรติบัตร นักเรียนที่มีคุณธรรม จริยธรรมในด้านความ ซื่อสัตย์ ปี 2545-2546
- ชนะเลิศการแข่งขันทักษะ ตอบปัญหาการเกษตรระดับชั้น ม.ต้น ปี 2546
- ได้รับเหรียญทอง การแข่งขันประดิษฐ์สวนแก้วแบบแห้ง ปี 2548
นางสาวปทุมวดี ผาสีดา อายุ 16 ปี
55 ม.14 บ.แสนพัน ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์
จ.สกลนคร
นักเรียนชั้น ม.4 รร.โพธิแสนวิทยา
อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร
เป็นคนมีความรับผิดชอบ ตั้งใจเรียน ผลการเรียนดี กล้าแสดงออก มีความสามารถทางศิลปะ และดนตรี ร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียนเสมอ ในวันว่างจะช่วยครอบครัวหารายได้เสริม รวมทั้งช่วยปรนนิบัติบิดา มารดา ด้วย มีคติประจำตัวว่า ลูกจะไม่มีวัน สุข ก่อนพ่อ แม่ แต่จะ ทุกข์ เพื่อให้พ่อ แม่ มีสุข
เกียรติประวัติและผลงานที่ภาคภูมิใจ เกียรติบัตร
- นักเรียนที่มีคุณธรรมในด้านความซื่อสัตย์ ประจำปี 2546
- เป็นคณะกรรมการเยี่ยมบ้านนักเรียนและสัมพันธ์ชุมชน
- นักเรียนตัวอย่างด้านความเป็นผู้นำ ประจำปี 2548
ฯลฯ
นางจรัส อะรมชื่น
ชื่อเล่น แดง อายุ 39 ปี ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 6 หมู่ 3 ต.กุดบาก จ.สกลนคร เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เอช.ไอ.วี (เอดส์) จากสามี มีบุตรชาย 1 คน ชีวิตก่อนหน้านี้ นางจรัส ไปทำงานรับจ้างเลี้ยงเด็กที่กรุงเทพฯ เป็นเวลา 7 ปี ส่วนสามีทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย
คุณความดี
นางจรัส เข้าร่วมโครงการเพื่อนห่วงเพื่อนของวัดป่าเชิงดอย โดยการทำงานอุทิศเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่ของชีวิต เป็นวิทยากรให้โรงเรียนและชุมชน เพื่อรณรงค์การป้องกันภัยเอดส์ และเพื่อเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้กับผู้ชายชอบเที่ยว ในการทำงานของ นางจรัส นั้น ไม่มีค่าตอบแทนแต่ได้รับการดูแลจากทางวัด สิ่งที่ทำให้ นางจรัส ยังคงมีจิตใจที่เข้มแข็ง คือ กำลังใจจากบุตรชาย และเพื่อนร่วมงานในการกระทำความดีเพื่อสังคม ความตั้งใจสุดท้าย ของนางจรัส อะรมชื่น คือ
1. ทำทุกอย่างเพื่อส่วนรวม
2. ทำใจให้เย็น ยิ้มอย่างเดียวเมื่อเกิดปัญหา
3. ทำงานด้วยใจรัก ไม่คิดถึงสิ่งของและค่าตอบแทน เพื่อมอบเวลาที่เหลืออยู่ ของชีวิตให้กับสังคม