พบฐานรากปราสาทขอมใกล้ลำน้ำก่ำ
แสดงว่าชุมชนในยุคน้ันกระจายตัวรอบเมืองหนองหารหลวง แต่ด้วยเหตุผลที่ไม่ทราบแน่ชัดสิ่งก่อสร้างเหล่านี้มีเพียง "ฐานราก" แสดงว่าต้องมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นทำให้เกิดการทิ้งงานอย่างกระทันหัน
ทีมงานสำรวจครั้งนี้นำโดย "บ่าวคำเลาะ" หรืออาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ และผมสรรค์สนธิ บุณโยทยาน นักพิภพวิทยา เข้าไปที่พื้นที่เมื่อ 18 เมษายน 2564 เพราะได้ข่าวว่ามีการพบศิลาแลงก้อนสี่เหลี่ยมกระจัดกระจายอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่บ้านปู่พึ่ม ต.บ้านโพน อ.โพนนาแก้ว สกลนคร เมื่อเข้าสำรวจก็พบจริงๆแต่ต้องลุยป่าหญ้าเข้าไปจึงจะเห็น ขณะเดียวกันผู้ใหญ่บ้านให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่ายังมีอีกแห่งนึงอยู่ที่วัดป่าฝาง ตำบลนาตง ห่างออกไปราว 1-2 กิโลเมตร
บ่าวคำเลาะ หัวหน้าทีมสำรวจ
แผนที่แสดงพิกัดฐานรากปราสาทขอมริมลำน้ำก่ำ อำเภอโพนนาแก้ว
ฐานรากปราสาทขอมมี 2 แห่ง ที่บ้านปู่พึ่ม ต.บ้านโพน และวัดป่าฝาง ต.นาตง อ.โพนนาแก้ว
พิกัดสถานที่ตั้งฐานรากปราสาทขอม บ้านปู่พึ่ม และวัดป่าฝาง
ภาพขยายบริเวณที่ตั้งฐานรากปราสาทขอมวัดป่าฝาง มีฐานรากปราสาท 3 หลัง
คำถาม ทราบได้อย่างไรว่าเป็นฐานรากปราสาทขอม
คำตอบ
1.วัสดุที่ใช้เป็นศิลาแลงก้อนสี่เหลี่ยม มีการตัดแต่งเป็นรูปทรงเราขาคณิต และมีการเจาะรูเหมือนก้อนหินที่ใช้สร้างปราสาทขอม
ศิลาแลงที่ตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป
มีหลักฐานการเจาะรูเหมือนหินที่ใช้ก่อสร้างปราสาทขอมทั่วไป
กองศิลาแลงที่ริมแหล่งน้ำ บ้านปู่พึ่ม ต.บ้านโพน (ภาพจากสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร)
ศิลาแลงที่ถูกตัดเป็นรูปปืนเพื่อประกอบเข้ากับส่วนใดส่วนหนึ่งของตัวปราสาท
2.มีการวางฐานรากปราสาทสอดคล้องกับ "พิกัดดาราศาสตร์"
ฐานรากปราสาทที่พบมี 3 แห่ง ทั้งหมดวางตัวตามแนวทิศ "เหนือ - ใต้ และตะวันออก - ตะวันตก" ตามสะเป็กของปราสาทขอมที่พบในจังหวัดสกลนคร เช่น ปราสาทภูเพ็ก และปราสาทนารายณ์เจงเวง
ฐานรากปราสาทสอดคล้องกับพิกัดทางดาราศาสตร์
ฐานรากปราสาททำมุมตรงกับพิกัดดาราศาสตร์อย่างแม่นยำ
วางแนวตามหลักดาราศาสตร์
คำถาม
ทำไมปราสาทเหล่านี้จึงก่อสร้างได้เพียงฐานรากเท่านั้น
คำตอบ
ปราสาทที่พบเหล่านี้น่าจะสร้างในยุคเดียวกับปราสาทภูเพ็กบนยอดภูเขา +520 เมตร ที่ บ้านภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม และเหตุผลที่ถูกทิ้งงานอาจมาจาก 2 สมมุติฐาน
1.ตามตำนานหนองหารหลวงที่กล่าวว่า ........... เมื่อสิ้นพญาสุวรรณภิงคาร เกิดภัยแล้งติดต่อกันถึง 7 ปี ราษฏรทำนาไม่ได้เกิดความอดยากขัดสนข้าวปลาอาหารจนไม่อาจทนทานได้ เจ้านายขอมในเมืองหนองหารหลวงจึงอพยพครอบครัวกลับไปยังเมืองอินทปัฐเสียหมดไม่มีชาวขอมเหลืออยู่เลย ทำให้เมืองหนองหารหลวงกลายเป็นเมืองร้าง (อ้างอิงจาก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสกลนคร โดย ผศ.สพสันติ์ เพชรคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร) โครงการก่อสร้างต่างๆจึงถูกยกเลิกโดยปริยาย
2.ความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าโครงการก่อสร้างเหล่านี้ (รวมถึงปราสาทภูเพ็ก บนยอดภูเขา) อยู่ในช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และขณะกำลังก่อสร้างได้เพียงฐานรากก็เกิดการเปลี่ยนแผ่นดินกระทันหัน ทำให้เจ้านายรวมทั้งแม่ทัพนายกองต้องรีบกลับไปยังเมืองหลวงทิ้งงานก่อสร้างเอาไว้ก่อนและหวังว่าจะกลับมาดำเนินการให้เสร็จภายหลัง แต่เหตุการณ์ถึงขั้นเลวร้ายคืออาณาจักรขอมเข้าสู่ภาวะขัดแย้งรุนแรงระหว่างความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ฮินดูกับพุทธนิกายมหายานในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 สิ่งก่อสร้างจำนวนมากที่สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ ถูกรื้อทิ้ง ทำลายและดัดแปลงให้เป็นสัญญลักษณ์ของศาสนาฮินดู เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 อาณาจักรขอมเข้าสู่ "โหมดขาลง" หัวเมืองต่างๆที่เคยอยู่ในอาณัติก็เริ่มตีตัวออกห่าง เช่น เมืองสุโขทัย และเมืองทางเหนือที่ต่อมากลายเป็นอาณาจักรล้านช้าง เมืองหนองหารหลวงจึงถูกปล่อยทิ้งร้างไร้การดูแลเป็นเวลานาน และเมื่อถึงคราวที่อาณาจักรล้านช้างเข้ามาครอบครองราวพุทธศตวรรษที่ 19 ก็ไม่ได้ให้ความสนใจที่จะบูรณะปราสาทขอม ตรงกันข้ามปราสาทหลายแห่งถูกดัดแปลงเป็นศิลปะล้านช้าง เช่น พระธาตุเชิงชุม (เดิมเป็นปราสาทขอมอยู่กลางเมืองหนองหารหลวง)
คำถาม
เป็นไปได้หรือไม่ว่าปราสาทเหล่านี้สร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ถูกรื้อเอาวัสดุไปสร้างอย่างอื่นโดยคนรุ่นหลังๆ
คำตอบ
พิจารณาจากวัตถุพยานในพื้นที่ไม่น่าจะถูกรื้อ เพราะไม่พบเศษชิ้นส่วนหินทรายที่เป็นขอบประตู หรือเศษหินทรายที่เป็นทับหลัง หรือชิ้นส่วนสลักหักพังของรูปเคารพต่างๆ ปราสาทขอมหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดสกลนครไม่สามารถหาหินทรายได้มากพอจึงต้องใช้ศิลาแลงเป็นฐานรากและใช้หินทรายเป็นตัวองค์ปราสาทที่มีการแกะสลักลวดลายต่างๆ เช่น ปราสาทนารายณ์เจงเวง หากปราสาทแห่งนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์และถูกรื้อถอนในยุคต่อมาก็น่าจะมีเศษวัสดุหินทรายหลงเหลือให้เห็นบ้าง เช่นปราสาทดุม อย่างไรก็ตามหากสำรวจพบหลักฐานเพิ่มเติมก็จะมีคำอธิบายได้มากกว่านี้
ข้อสังเกต ....... พื้นที่นี้เป็นชุมชนทำหน้าที่ "หน้าด่านป้องกันศัตรู?" ....... มีความเป็นไปได้ครับ เพราะพิจารณาภูมิประเทศมีลำน้ำก่ำไหลผ่านเชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงไม่ไกลจากเมืองธาตุพนม และเมืองสะหวันนะเขตเป็นพื้นที่อิทธิพลของอาณาจักรจามซึ่งมีกองทัพเรือที่เข้มแข็ง ครั้งหนึ่งเคยแสดงแสนยานุภาพยกกองทัพเรือตามแม่น้ำโขงเข้าสู่ทะเลสาบและยึดเมืองหลวง "นครอังกอร์" ของอาณาจักรขอมได้อย่างง่ายดาย ทำให้ขอมต้องจดจำบทเรียนจากเหตุการณ์นี้และหาวิธีป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ......... ชุมชนริมน้ำก่ำจึงน่าจะเป็นยุทธศาสตร์ป้องกันเมืองหนองหารหลวงทำหน้าที่เข้าปะทะหน่วงเหนี่ยวการเดินทัพและรีบส่งข่าวให้กองทัพหลวงทราบ
แผนที่แสดงที่ตั้งของเมืองธาตุพนมและเมืองสะหวันนะเขตที่อยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรจาม สามารถยกกองทัพเรือเข้าโจมตีเมืองหนองหารหลวงทางลำน้ำก่ำเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี ค.ศ.1177 ดังข้อมูลภาษาอังกฤษจากเว้ปไซด์ ชื่อ Khmer - Cham Wars. มีข้อความ
" in 1177, Champa army launched a surprise attack against the Khmer capital of Yasodharapura from warships ploted up the Mekong River to the great lake Tonlé Sap and killed the Khmer king Tribhuvanadityavarman."
ในปี ค.ศ.1177 กองทัพจามได้โจมตีเมืองหลวงยโสธรปุระของอาณาจักรขอมแบบไม่รู้ตัวโดยยกกองทัพเรือทางแม่น้ำโขงเข้าไปยังทะเลสาบและฆ่าพระเจ้าธิปบุวรรณอาทิตย์วรมัน
แผนที่แสดงการเชื่อมโยงระหว่างเมืองหลวงอาณาจักขอมกับทะเลสาบและแม่น้ำโขง มีความเหมาะสมทางยุทธศาสตร์ของการยกทัพเรือเข้าโจมตีนครหนองหารหลวงทางแม่น้ำโขง ลำน้ำก่ำและทะเลสาบหนองหาร
สรุป
การค้นพบร่องรอยสิ่งก่อสร้างยุคขอมเรืองอำนาจจำนวนมากกระจายตัวในพื้นที่จังหวัดสกลนคร เป็นเครื่องยืนยันว่าที่นี่ต้องเคยเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญยิ่งทางทิศเหนือของอาณาจักรขอม .......