ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร สุดๆแห่งปราสาทขอมในประเทศไทย
เมื่อพูดถึงโบราณสถานยุคขอมเรืองอำนาจที่เราๆท่านๆเรียกติดปากว่า "ปราสาท" ทำให้นึกถึงสิ่งก่อสร้างใหญ่โตอลังการ เช่น ปราสาทนครวัด ปราสาทพิมาย และปราสาทพนมรุ้ง อย่างไรก็ตามถ้าจะเสนอว่าปราสาทขอมใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอยู่ที่จังหวัดสกลนคร ท่านจะเชื่อไม้? และยิ่งกล่าวว่า "ปราสาทหลังนี้เป็นจุดนัดพบที่ลงตัวระหว่างวิทยาศาสตร์และศาสตร์แห่งความเชื่อ" ก็ยิ่งประหลาดเข้าไปใหญ่ ตามผมมาซิครับแล้วท่านจะพบกับความจริงที่พิสูจน์ได้ด้วยตัวท่านเอง

ทำความรู้จักกับปราสาทภูเพ็ก
ปราสาทหลังนี้เป็นโบราณสถานยุคขอมเรืองอำนาจที่สร้างได้เพียงฐานรากและบางส่วนของห้องปรางค์ ตั้งอยู่บนยอดภูเขา +520 เมตร จากระดับน้ำทะเล ที่บ้านภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม สกลนคร กรมศิลปากรส่งช่างจากกองรังวัดมาสำรวจเมื่อ พ.ศ.2476 และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน พ.ศ.2478 ตามเอกสารของกรมศิลปากรระบุคร่าวๆว่าเป็นศิลปะลพบุรี สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 -17 ข้อมูลนอกเหนือจากนั้นก็ออกไปในทางจักรๆวงศ์ๆหรือตำนานอุรังคธาตุ กล่าวถึง "ภูเพ็ก" ไว้ว่าเป็นอูปมุง (อุโมงค์) บนดอยแท่น โดยเป็นที่ประทับของพระพุทธองค์เมื่อครั้งพุทธกาล และต่อมาได้มีการสร้างอูปมุงแข่งขันกันระหว่างฝ่ายชายและหญิงชาวเมืองบหนองหารหลวง เพื่อเตรียมบรรจุพระอุรังคธาตุ ฝ่ายชายหลงเชื่อกลมายาของฝ่ายหญิงว่าดาวเพ็ก (ดาวประกายพฤกษ์) ขึ้นแล้ว จึงเลิกสร้าง อูปมุงของฝ่ายชายจึงสร้างไม่เสร็จ ต่อมาอูปมุงนี้ได้ชื่อว่า "ภูเพ็กมุสา" ตามเหตุที่ถูกหลอกลวง อย่างไรก็ตามนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสชื่อ Entienne Aymonier เขียนหนังสือชื่อ Khmer Heritage in Thailand ปี พ.ศ.2444 เคยมาสำรวจโบราณสถานที่สกลนครและมีบันทึกว่านิทานที่กล่าวถึงการแข่งขันระหว่างฝ่ายหญิงและชายเป็นเรื่องที่เล่าขานกันทั่วภูมิภาค ท่านใช้คำอธิบาย (แปลเป็นภาษาอังกฤษ) ว่า Indochinese legends reproduce everywhere
อนึ่ง หลายท่านถามว่าใครเป็นผู้สร้างปราสาทหลังนี้ ก็ตอบยืนยันไม่ได้ครับเถียงกันให้ปากแตกไปข้างนึงก็ไม่มีข้อยุติ ขนาดผู้เชี่ยวชาญกรมศิลปากรยังใช้คำว่า "สันนิษฐานว่าราวๆพุทธศตวรรษที่ 16 - 17" ดังนั้นจึงทิ้งเรื่องนี้ให้ท่านคิดเองก็แล้วกัน แต่สิ่งที่จะแถลงต่อไปนี้เป็นความจริงที่พิศูจน์ได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์
1. ภูเพ็ก เป็นปราสาทขอม "ขนาดใหญ่ที่สุด และตั้งอยู่สูงที่สุดในประเทศไทย"
หลายท่านเคยไปที่ปราสาทพิมาย โคราช และปราสาทพนมรุ้ง บุรีรัมย์ ปราสาททั้งสองหลังนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์ตามโครงการจึงดูยิ่งใหญ่อลังการ เพราะประกอบไปด้วยสิ่งก่อสร้างแวดล้อม เช่น โคปุระ กำแพงและระเบียงคต บรรณาลัย ฯลฯ แต่ปราสาทภูเพ็กสร้างได้เพียงฐานรากและบางส่วนของห้องปรางค์จึงทำให้มองไม่เห็นความใหญ่ ในความเป็นจริงของคำว่า "ปราสาท" หมายถึงสิ่งก่อสร้างที่ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ห้องด้านหน้า ห้องตรงกลาง และห้องปรางค์ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันระหว่างปราสาทภูเพ็ก ปราสาทพิมาย และปราสาทพนมรุ้ง จะเห็นได้ชัดเจนว่าปราสาทภูเพ็กใหญ่ที่สุด ผมมีข้อมูลเป็นทางการจากท่านผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย และอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง และข้อมูลนักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามเป็นผู้วัดขนาดปราสาทภูเพ็ก จึงกล้ายืนยันว่าปราสาทภูเพ็กใหญ่ที่สุดในบรรดาปราสาทขอมประเทศไทย (ถ้าสร้างเสร็จตามแปลน) อนึ่ง ตามข้อมูลของสื่อใน internet ระบุว่าปราสาทขอมใหญ่ที่สุดในประเทศไทยคือ "ปราสาทพิมาย" ดังนั้น จึงต้องพิสูจน์ว่า ..... จริงหรือ?
ปราสาทภูเพ็กสร้างได้เพียงฐานรากและบางส่วนของห้องปรางค์ จึงแลดูไม่ใหญ่โตนัก
.jpg)
.jpeg)
.jpeg)
การวัดขนาดปราสาทภูเพ็กโดยนักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ห้องปรางค์ 5.5 m x 5.5 m ยาว 40 m

.jpeg)
.jpeg)
วัดขนาดปราสาทหินพิมายโดยเจ้าหน้าที่อุทยานประวัติศาสตร์ ห้องปรางค์ 4.4 m x 4.4 m ยาว 30 m สูง 28 m

เป็นวิทยากรบรรยายปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่ปราสาทพนทรุ้ง 9 กันยายน 2561 โดยท่านหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง คุณพิมพ์นารา กิจโชติประเสริฐ เป็นพิธีกร

ข้อมูลขนาดของปราสาทพนมรุ้งที่ท่านหัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งมอบให้ ห้องปรางค์ 5 m x 5 m ยาว 25 m สูง 27 m
เมื่อเปรียบเทียบผังแปลน (Floor plan) ของทั้งสามปราสาท จะเห็นได้ชัดเจนว่าปราสาทภูเพ็กใหญ่ที่สุด
ถ้าปราสาทภูเพ็กสร้างเสร็จตามแปลนจะใหญ่และสูงถึง 35 เมตร (ใช้วิธีทางคณิศาสตร์คำนวณจากสัดส่วนของปราสาทพิมายซึ่งมีแปลนฐานรากคล้ายปราสาทภูเพ็ก)
ภาพจินตนาการ ถ้าปราสาทภูเพ็กสร้างเสร็จอาจจะเป็นแบบนี้

หรือไม่ก็แบบนี้ อย่างไรก็ตามไม่สามารถบอกได้ว่ารูปร่างที่แท้จริงจะเป็นอย่างไรเพราะผู้สร้างไม่ได้ทิ้งพิมพ์เขียวไว้เป็นหลักฐาน

ปราสาทภูเพ็กตั้งอยู่บนยอดภูเขา +520 เมตร จากระดับน้ำทะเล การเดินทางไปที่นั่นมีถนนลาดยางขึ้นภูเขาไปจอดที่ระดับ +232 เมตร และเดินขึ้นบันไดอีกราวเกือบ 500 ขั้น

GPS ยืนยันความสูงที่ +520 เมตร

เปรียบเทียบความสูงของที่ตั้งระหว่างปราสาทขอมในประเทศไทยรวม 4 แห่ง
2. เลือกทำเลที่สร้างบนภูเขาที่มีรูปร่างเหมือน "เขาพระสุเมรุ"
ผู้สร้างปราสาทหลังนี้ต้องมีเจตนาเลือกอย่างเป็นทางการเพราะภูเขามีหลายร้อยลูก "ทำไมต้องเลือกลูกนี้" น่าจะมีนัยสำคัญและที่มาของความเชื่อในศาสนาฮินดูและพุทธนิกายมหายานที่ให้ความสำคัญกับ "เขาพระสุเมรุ"

ถ้าท่านเป็นผู้สร้างปราสาท จะเลือกภูเขาลูกไหน?

เลือกลูกนี้สูงที่สุดและสวยที่สุดเหมือนเขาพระสุเมรุ

เปรียบเทียบภูมิทัศน์ระหว่างปราสาทพนมกรม ที่ทะเลสาปกัมพูชา และปราสาทภูเพ็กมองจากทะเลสาปหนองหาร สกลนคร มีความคล้ายคลึงกันมาก
3. มีแท่งศิวะลึงค์ขนาดใหญ่
แม้ว่าปราสาทภูเพ็กจะสร้างไม่เสร็จ แต่ก็มีแท่งศิวะลึงค์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่หน้าประตูทิศตะวันออก ปัจจุบันด้านบนของศิวะลึงค์แตกหักโดยไม่ทราบสาเหตุ แต่เมื่อคำนวณจากสัดส่วนจะมีความสูงถึง 192 ซม เปรียบเทียบกับแท่งศิวะลึงค์ที่พบในประเทศไทยจะมีขนาดราว 80 - 100 ซม

คำนวณความใหญ่และความสูงของขนาดศิวะลึงค์ ปราสาทภูเพ็ก น่าจะสูง 192 ซม โดยใช้มาตรฐานสัดส่วนของแท่งศิวะลึงค์ทั่วไป

ยังค้นไม่พบฐานโยนี (ผู้รับเหมาอาจจะยังไม่ทันส่งงาน หรือไม่ทันเริ่มต้นสร้าง) ก็ทิ้งงานไปเสียก่อน แต่คำนวณตามสัดส่วนน่าจะมีขนาดใหญ่ถึง 2.50 เมตร สูง 1.40 เมตร
เปรียบเทียบกับศิวะลึงค์ที่ปราสาทพนมบาเค็ง กัมพูชา

เปรียบเทียบกับแท่งศิวะลึงค์ที่ปราสาทพนมรุ้ง
4.ซินแสชื่อดังบอกว่าเป็นอะไรที่สอดคล้องกับหลักความเชื่อ "ฮวงจุ้ย"
เมื่อปี 2540 หอการค้าสกลนครโดยคุณประสาท ตงศิริ เป็นประธาน ได้จัดการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งประธานหอการค้าคนใหม่ และเชิญอาจารย์วิศิษฐ์ เตชะเกษม ซินแสชื่อดังมาบรรยายเรื่องฮวงจุ้ยเมืองสกล โดยมีคุณอัครวัฒน์ เอื้อกูลวราวัตร (เฮียหุย) สมาชิกหอการค้าสกลนครเป็นคนขับรถรับส่งท่านซินแส ช่วงเช้าท่านซินแสลงเครื่องบินและมีเวลาว่างจึงให้เฮียหุยพาไปดูโบราณสถานปราสาทภูเพ็ก และปราสาทนารายณ์เจงเวง ท่านซินแสใช้วิชาฮวงจุ้ยดูตำแหน่งปราสาททั้งสองและบอกว่า "อยู่ในเส้นตรงเดียวกัน" หากมีอีกแห่งเป็นอันที่สามอยู่ในทะเลสาปหนองหาร "ให้เปิดเมืองได้เลย" อย่างไรก็ตามท่านซินแสและเฮียหุยลงเรือไปท่องหนองหารแต่ลืมนึกถึง "เกาะดอนสวรรค์" สิบปีต่อมาเฮียหุยกับผมทำงานสโมสรโรตารี่สกลนครด้วยกัน จึงเล่าเรื่องนี้ให้ฟังทำให้ถึงบางอ้อ ......... นี่คือแนวเส้นตรง ปราสาทภูเพ็ก ปราสาทนารายณ์เจงเวง และเกาะดอนสวรรค์ ในทะเลสาปหนองหาร

เฮียหุยนำท่านซิสแสไปที่พิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่นและวัดพระธาตุเชิงชุมตามสูตรของแขกเมืองสกลนคร

GPS and Google Earth ยืนยันว่าปราสาทภูเพ็ก ปราสาทนารายณ์เจงเวง และเกาะดอนสวรรค์ เป็นเส้นตรงเดียวกันตามที่ท่านซินแสกล่าว

ภาพถ่าย (มุมกล้องยิงตรงจากปราสาทภูเพ็ก) ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับเกาะดอนสวรรค์ในปรากฏการณ์ "วิษุวัต" (21 March 2014) โลกตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ทำให้กลางวันเท่ากับกลางคืน ดวงอาทิตย์ขึ้น ณ ทิศตะวันออกแท้ และตกที่ทิศตะวันตกแท้

ในวันเดียวกันดวงอาทิตย์ตกที่ยอดเขาของที่ตั้งปราสาทภูเพ็ก
5.สุริยะปฏิทินขอมพันปี
ปราสาทภูเพ็กแม้ว่าจะสร้างได้เพียงฐานรากและบางส่วนของห้องปรางค์แต่ก็ทิ้งหลักฐานทางดาราศาสตร์ไว้มากพอที่จะยืนยันว่า "มีคุณสมบัติเป็นสุริยะปฏิทิน" ตามหลักการของปฏิทินมหาศักราช (Saka Calendar) ที่ใช้กำหนดวันประกอบพิธีสำคัญของพราหมณ์ เช่น วันที่ 1 เดือนไจตระ ตรงกับปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" ถือเป็นขึ้นปีใหม่ของปฏิทินฉบับนี้ ปราสาทจึงถูกออกแบบให้หันหน้าตรงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ในวันดังกล่าว ขณะเดียวกันแท่งหิน "ครรภบัตร" ก็มีหลักฐานอ้างอิงกับปรากฏการณ์สำคัญของปฏิทินมหาศักราช อนึ่งปฏิทินฉบับนี้มีที่มาจากชาวอารยันในดินแดนเอเซียกลาง (ปัจจุบันคือประเทศอัฟกานีสถาน) และถูกนำมาใช้ที่อินเดียโดยชาวอารยันสุดท้ายมาลงตัวที่อารยธรรมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทุกวันนี้ชาวฮินดูที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ก็ยังคงใช้ปฏิทินฉบับนี้ เมื่อย้อนกลับไปที่ยุคกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาตอนต้นก็ใช้ปฏิทินนี้เช่นกัน


การสื่อสารแห่งประเทศไทยออกแสตมป์ชุด Unseen Thailand โดยมีสุริยะปฏิทินปราสาทภูเพ็กอยู่ในชุดนั้น
ตัวปราสาทภูเพ็กและประตูทิศตะวันออกหันหน้าตรงกับดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ "วิษุวัต"

รูปร่างหน้าตาของปฏิทินมหาศักราช (Saka Calendar) ที่ใช้อย่างแพร่หลายในอาณาจักรขอม

แท่งหิน "ครรภบัตร" ที่สามารถอ้างอิงปรากฏการณ์สำคัญของปฏิทินมหาศักราช

ตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์สำคัญตามปฏิทินมหาศักราช

หนังสือ "ร้อยรอยเก่าสกลนคร" ของกรมศิลปากร ระบุว่า "ครรภบัตร" ทำหน้าที่ "มณฑล หรือผังจักรวาล" สอดคล้องกับนัยของสุริยะปฏิทิน
สรุป
ทั้ง 5 ประการที่แสดงคุณสมบัติของปราสาทภูเพ็ก ยืนยันว่านี่คือจุดนัดพบที่ลงตัวระหว่างวิทยาศาสตร์และศาสตร์แห่งความเชื่อ