กลุ่มชาติพันธุ์ไทโส้ที่สกลนคร ....... เป็นใคร ........ มาจากไหน?

อ่านหนังสือ "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสกลนคร" เขียนโดย ผศ.ดร.สพสันติ์ เพชรคำ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร บทหนึ่งของหนังสือกล่าวถึง "กลุ่มชาติพันธุ์ไทโส้" โดยอธิบายว่า กลุ่ม "ไทโส้" หรือ "กะโส้" จัดอยู่ในตระกูลภาษาออสโตรเอเซียติก (Austro Asiatic) หรือมอญ-เขมร (Mon-Khmer) ...... เดิมอาศัยอยู่ในบริเวณตอนกลางของประเทศลาวแถบเมืองมะหาไซกองแก้ว และเมืองพิณ เมืองนอง เมืองวังอ่างคำ เมืองตะโปน
พ.ศ.2362 ตรงกับแผ่นดินล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 พวกเขาอพยบเข้ามาอยู่ในแผ่นดินของอาณาจักรรัตนโกสินทร์โดยกระจายตัวอยู่ในเขตจังหวัดนครพนม สกลนคร มุกดาหาร และกาฬสินธุ์ ส่วนอีกกลุ่มเรียกว่า "บรู" อยู่ที่อุบลราชธานี ส่วนที่จังหวัดสกลนครพวกเขาตั้งถิ่นฐานที่ริมห้วย "กุดขมาน" ต่อมาได้รับการยกขึ้นเป็นเมือง "กุสุมาลย์" และมีการแยกตัวออกไปตั้งเมืองใหม่ที่ "โพธิไพศาล" และยังมีอีกกลุ่มเรียกว่า "โส้ทะวึง" อยู่ที่เชิงเขาภูพานตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า "บรู" ก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม
ข้อสงสัยของผมคือ ........ เมื่อพวกเขามาจากอาณาจักรล้านช้าง (ปัจจุบันเป็นประเทศสปป.ลาว) ทำไมภาษา ประเพณี และรูปร่างหน้าตาของเขาเหล่านั้นจึง "แตกต่างอย่างสิ้นเชิง" กับชนเผ่าล้านช้าง ....... ขณะเดียวกันไม่ได้นับถือศาสนาพุทธเหมือนชาวล้านช้าง แสดงว่าถ้าย้อนอดีตไปไกลกว่านั้น "พวกเขาน่าจะไม่ใช่คนที่นี่" ...... อนึ่ง ถ้าเอา "ไทญ้อเมืองสกล" มายืนคู่กับ "ไทโส้เมืองกุสุมาลย์" ไม่ต้องตรวจ DNA ก็มองออกว่าใครเป็นใคร และยิ่งให้พูดภาษาของตัวเอง ..... ซตพ. ได้เลย
เขาเหล่านี้เป็นใคร ..... มาจากไหน?
ขอตั้งทฤษฏีว่า "ไทโส้" คือชาวพื้นเมืองที่มาจากดินแดนอีสานตอนใต้และดินแดนเขมรต่ำ ปัจจุบันเป็นจังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ และจังหวัดชายแดนประเทศกัมพูชา เป็นกลุ่มชนที่มีภาษาของตนเองอีกทั้งรูปร่างหน้าตาก็แตกต่างจากคนอีสานทั่วๆไป ประเด็นคำถามคือทำไมจึงมาอยู่ที่สกลนคร นครพนม มุกดาหาร และบางจังหวัดของอีสาน
คำตอบที่ประมวลได้จากหลักฐานแวดล้อมบวกกับคิดเห็นส่วนตัวก็คือ พวกเขาจะอพยพจากถิ่นฐานเดิมขึ้นมาทางเหนือเพื่ออะไรเพราะดินแดนอีสานใต้ติดกับเทือกเขาพนมดงรักก็มีความอุดมสมบูรณ์สามารถหาอยู่หากินได้ตามอัตภาพ อีกทั้งผู้คนเหล่านี้ใช้ชีวิตเรียบง่ายเข้าตำราเศรษฐกิจพออยู่พอกิน ไม่มีความมักใหญ่ใฝ่สูง ไม่มีกองกำลังติดอาวุธในรูปแบบกองทัพ ไม่เคยยกทัพไปรุกรานใคร และไม่เคยมีระบบการปกครองในรูปแบบอาณาจักร
1.มาถึงยุคขอมเรืองอำนาจในคริสศตวรรษ ที่ 9 เขาเหล่านั้นกลายเป็นคนในสังกัดอาณาจักรขอมโดยมีหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติงานก่อสร้าง ทำการเกษตร และดูแลสัตว์พาหนะต่างๆ เมื่ออาณาจักรขอมขยายอำนาจและขอบเขตการปกครองมาถึงบริเวณที่ปัจจุบันเป็นประเทศ สปป.ลาว และภาคอีสานผู้คนชาวโส้ก็ต้องมาด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้คนเหล่านี้ไม่ได้นับถือศาสนาฮินดูหรือศาสนาพุทธนิกายมหายานเหมือนกับชาวขอม แต่มีความเชื่อที่เรียกว่า "บูชาผี" มีภาษาพูดและประเพณีของตนเอง
เชื่อว่าชาวโส้รับหน้าที่เป็นผู้ใช้แรงงานในการก่อสร้างบ้านเมืองและปราสาทน้อยใหญ่

พวกเขาทำงานอย่างชำนาญในการตัดหินและลำเลียงหินทางน้ำ

คนเหล่านี้คุ้นเคยกับการใช้ช้างในการทำงานเรียกว่าเป็น "ควาญช้างมืออาชีพ" ปัจจุบันที่จังหวัดสุรินทร์ยังคงมีหมู่บ้านเลี้ยงช้าง
ภาระกิจสำคัญอีกอย่างก็คือเป็นผู้ดูแลการเกษตรกรรมเพื่อผลิตอาหารเลี้ยงกองทัพ
2.เมื่ออาณาจักรขอมเริ่มออกอาการเสื่อมถอยในคริสศตวรรษที่ 13 หลังจากสิ้นรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กองทัพอันเกรียงไกรของชาวขอมก็พบกับสัจธรรมที่เรียกว่า "มวยขาลง" อาณาจักรน้องใหม่อย่างสุโขทัย ล้านช้าง และอยุธยาเริ่มผงาดขึ้นมาแทนที่ ดินแดนที่เคยเป็นอาณัติก็ถดถอยจนเหลือเพียงรอบๆเมืองหลวงอังกอร์ (ปัจจุบันคือเมืองเสียมราช หรือ เสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา) กองทัพขอมจึงต้องกลับสู่มาตุภูมิเพื่อรักษาบ้านเมืองอันเป็นปราการสุดท้าย ชาวโส้ส่วนหนึ่งอาจมีความคิดว่าไหนๆก็มาอยู่ที่นี่นานหลายชั่วอายุคนแล้วจึงไม่อยากกลับไปถิ่นเดิม และการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่โดยไม่ต้องเป็นลูกน้องพวกขอมก็น่าจะเป็นมิติใหม่แห่งการใช้ชีวิตแบบชิวๆไม่มีอะไรมากดดัน ไม่ต้องรับผิดชอบงานหนักในการก่อสร้างปราสาทที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะพอสักที พวกเขาจึงตัดสินใจอยู่ที่ดินแดนแห่งนี้ ซึ่งปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของ สปป.ลาว และภาคอีสานตอนบนแถวๆนครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์
พวกเขาตัดสินใจตั้งหลักปักฐานอยูที่ดินแดนแถบแม่น้ำโขงตอนกลาง
ส่วนบรรดาแม่ทัพนายกองและชาวขอมก็อพยพกลับเมืองหลวง
3.คำถาม ........ ทำไมกองทัพขอมไม่บังคับให้ชาวโส้ทั้งหมดกลับไปด้วยกัน
คำตอบ ....... เชื่อว่าเมื่ออาณาจักรตกอยู่ในสภาพ "ถดถอย" ก็คงต้องเอาตัวรอดเป็นอันดับแรก และการเอาคนจำนวนมากไปอยู่ที่เมืองหลวงอาจเกิดภาระแบ่งปันอาหารการกินจึงเอาไปเท่าที่จำเป็นเช่นบรรดาหัวกระทิ นอกนั้นก็เข้าสูตร "ตัวใครตัวมัน"
4.ปัจจุบันชนเผ่าเหล่านี้กระจัดกระจายตามอำเภอต่างๆของนครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร มีข้อสังเกตที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง คือ ไม่ค่อยชอบแต่งงานกับคนเชื้อสายอื่นๆ ทำให้ DNA ยังคงถูกอนุรักษ์ไว้เหมือนพันปีที่แล้ว จึงเรียกเขาเหล่านี้ว่า "พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต" หรือ "พิพิธภัณฑ์ที่เดินได้ พูดได้ สัมผัสได้"
ความเห็นส่วนตัว ชนเผ่าดั้งเดิมที่มีแนวโน้มกลายพันธ์ุมากที่สุดในภาคอีสานตอนบนคือ "เผ่าผู้ไท หรือ ภูไท" เพราะแต่งงานกับคนต่างถิ่นมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแต่งงานกับข้าราชการที่มาจากส่วนกลาง หรือ คนกรุงเทพ ด้วยเหตุผล 2 ประการ
ก.สาวๆชาวผู้ไทหน้าตา ผิวพรรณดี ไม่รังเกียจคนต่างถิ่น
ข.มีการศึกษาดี เรียนสูงจบการศึกษาระดับปริญญาจำนวนมาก และมักมีอาชีพรับราชการ เช่น ครู อนามัยตำบล เจ้าหน้าที่ อบต. บางหมู่บ้านเป็นข้าราชการครูจำนวนมาก เช่น บ้านม่วงไข่ ต.พรรณา อ.พรรณานิคม
ตัวอย่างชัดเจนเชิงประจักษ์ คือเสียงร่ำเสียงลือถึงความสวยมีเสน่ห์ของ "สาวผู้ไทเรณูนคร" จังหวัดนครพนม ผมเคยรับราชการเป็นเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม 6 ปี ระหว่าง 2545 - 2550 ได้ยินคำพูดบ่อยๆว่า "สาวเรณู ค่าดองแพง" หมายถึงหนุ่มๆที่จะไปขอแต่งงานต้องเตรียมค่าสินสอดไว้ให้ดีๆและที่สำคัญต้องเป็นคนมีฐานะหน้าที่การงาน ....... หนุ่มๆประเภท "แมงขี้นาก" ชิดซ้ายไปเลยไม่ต้องมาแหยม


สาวผู้ไทมีความรักสวยรักงาม
สถานภาพปัจจุบันของชาวโส้
จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์พวกเขามาตั้งบ้านเรือนกระจัดกระจายอยู่ในจังหวัดสกลนคร นครพนม มุกดาหาร และบางจังหวัดในอีสาน เพื่อไม่ต้องแย่งแหล่งทำมาหากินในที่เดียวกัน ภาษาของพวกเขาไม่มี "ตัวหนังสือ" นานๆเข้าเป็นร้อยปีภาษาพูดก็เพี้ยนไปจนปัจจุบันพูดกันแทบไม่รู้เรื่อง ในหลักแห่งความเป็นจริง "ภาษาที่ไม่มีตัวเขียน" ย่อมมีความแปรเปลี่ยนได้ง่ายกว่า "ภาษาที่มีอักขระ" ถึงกระนั้นขนาดภาษาที่มีอักขระ เช่น ภาษาอังกฤษที่เมืองแม่กับภาษาอังกฤษที่อเมริกา ออสเตเรีย และอัฟริกาใต้ ก็ยังผิดเพี้ยนกันอย่างชัดเจนเมื่อกาลเวลาผ่านไปร้อยกว่าปี
ภาพถ่ายชาวโส้กำลังเล่น "สะโลอ๊อ" หรือ "สะลา" เมื่อ พ.ศ.2449 (จากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)
สรุป
ทั้งหมดนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว หากท่านใดมีข้อมูลที่คมชัดกว่าก็ขอความกรุณาแบ่งปันกันนะครับ หรือประสงค์จะทำ ผศ. รศ. หรือ PhD ก็ลองเอา concept paper อันนี้ไปต่อยอด อนึ่งภาพวาดลายเส้นขาวดำเป็นผลงานของนายสีทา ฮุยพิทักษ์ อายุ 52 ปี ชาวโส้บ้านกุสุมาลย์ ต.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร แนะนำโดยคุณครูสุชีลา เพชรแก้ว ส่วนภาพวาดสีสวยๆผมถ่ายจากร้านอาหารในเมืองเสียมเรียบ กัมพูชา
ทฤษฏีที่ตั้งไว้จะถูกหรือไม่ก็ต้องพิสูจน์ต่อไป อย่างไรก็ตามเชื่อว่า "ชาวโส้ ชาวบรู ชาวโส้ทวึง" ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในอำเภอกุสุมาลย์ พรรณานิคม กุดบาก จังหวัดสกลนคร สืบเชื้อสายมาจากบรรพชนที่มากับกองทัพของอาณาจักรขอมและรับผิดชอบในภารกิจด้านแรงงานก่อสร้าง ดูแลสัตว์เลี้ยง และงานโยธาทั่วไป เมื่อขอมเสื่อมอำนาจพวกเขาจึงกระจัดกระจายตั้งถิ่นฐานในดินแดนอีสานตอนบนที่มีความอุดมสมบูรณ์ เช่น นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร ภาษาพูดของเขาเหล่านั้นก็ผิดเพี้ยนกันไปตามสถานที่และกาลเวลา
อย่างไรก็ตามถ้ามีใครหัวหมอตั้งคำถาม ....... เมื่อล้านปีที่แล้วเขาเหล่านี้มาจากไหน? ...... ก็คงต้องกลับไปทบทวนปัญหาโลกแตกที่ว่าด้วยทฤษฏีกำเนิดมนุษย์ ......."วิวัฒนาการ เมล็ดพันธ์ุจากต่างดาว หรือพระเจ้าสร้าง"