ReadyPlanet.com


บทภาวนาว่าด้วยการเก็บขยะ


บทภาวนาว่าด้วยการเก็บขยะ


วิธาน ฐานะวุฑฒ์
    



             
             
             
             
              ก่อนอื่นผมอยากจะเรียนว่า ผมเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาจริงๆ และเพื่อจะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงในตัวเองที่เกิดขึ้นมา ไม่ได้มีเจตนาที่จะเล่าเพื่อโอ้อวดยกหางตัวเองว่าเป็นคนดีหรือจะตำหนิติเตียนผู้อื่นว่าเป็นคนไม่ดี
             เป็นที่น่ายินดีว่าในปัจจุบันหน่วยงานทางราชการไม่ว่าจะเป็นเทศบาลหรืออบต. ต่างก็ให้ความสำคัญกับ "สวนสาธารณะ" หรือสถานที่ปลอดโปร่งเพื่อความร่มเย็นให้กับชุมชนต่างๆ มากขึ้น
             ผมคิดว่าพวกเราแต่ละคนควรจะมีเวลาส่วนตัว คำว่า "เวลาส่วนตัว" หมายถึง "ส่วนตัว" ของเราจริงๆ ที่ไม่ได้เป็นเวลาของคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดอื่นๆ เป็นช่วงเวลาแห่งความสันโดษของตัวเราเองเพื่อความเจริญเติบโตของ "ชีวิตด้านใน" ของเราแต่ละคน ที่จะได้นั่งฝันกลางวัน ได้นั่งใคร่ครวญกับชีวิตให้ละเอียด ได้เฝ้าดูความเป็นไปของชีวิตด้านในของเราอย่างผ่อนคลายจริงๆ
             ผมโชคดีที่บังเอิญสามารถจัดสรรเวลาแบบนั้นได้บ้าง ผมมีเวลาที่จะไปนั่งเล่นคนเดียว (บางทีกับเจ้าลูกหมี-สุนัข) อาทิตย์ละหลายครั้งตามสวนสาธารณะต่างๆ ที่ปัจจุบันหน่วยงานของทางราชการหลายๆ แห่งได้พยายามจัดให้มีขึ้นมาดังกล่าว เวลาที่ผมเลือกไปสวนสาธารณะมักจะเป็นเวลาทำงานของคนอื่นๆ ผมจึงค่อนข้างจะได้สวนสาธารณะเกือบทั้งหมดมาเป็นเจ้าของ (ทางใจ) เพราะไม่ค่อยจะมีใครมานั่งในเวลาทำงานอย่างนั้นคนเดียว
             สิ่งที่ผมพบเห็นเสมอๆ ในสวนสาธารณะสวยๆ ก็คือ "เศษขยะ" ถุงพลาสติกมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยเศษกระดาษ ไม้เสียบลูกชิ้น ขวดพลาสติกและแม้แต่กระป๋องเบียร์ สวนบางแห่งที่มีการดูแลต่อเนื่องเป็นอย่างดีก็จะพบ "เศษขยะ" น้อยหน่อยแต่ส่วนมากแล้วสวนสาธารณะมักจะมีแต่งบก่อสร้างแต่ไม่มีงบประมาณดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเรื่องนี้ผมคิดว่าน่าจะเป็นหน้าที่ของชุมชนที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษา อย่างน้อยก็ไม่ควรทิ้งขยะเลอะเทอะ
             ในระยะแรกๆ ด้วยความรู้สึกว่าตัวผมเองก็เป็นเจ้าของสวนสาธารณะด้วยเพราะอย่างน้อยสวนสาธารณะเหล่านี้ก็สร้างขึ้นมาด้วยเงินภาษีส่วนหนึ่งของผม ผมยอมรับว่ารู้สึกโกรธและหงุดหงิดว่า ทำไมชุ่ยแบบนี้ ทำไมทิ้งขยะไม่เลือกที่ ทำไม…….และทำไมต่างๆ มากมาย
             อย่างรวดเร็วผมเริ่มเรียนรู้ได้ว่าความโกรธไม่มีประโยชน์อะไรและผมไม่จำเป็นต้องโกรธเพราะ
             ประการแรก ความโกรธไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นนอกจากทำให้ภูมิต้านทานในน้ำลายของผมลดลงไปครึ่งหนึ่งเป็นเวลานาน 6-24 ชั่วโมง
             ประการที่สอง ความโกรธของผมคงไม่ช่วยให้ขยะกลับไปอยู่ในถังขยะและก็คงจะไม่ทำให้คนทิ้งขยะน้อยลง
             ประการที่สาม ความโกรธซึ่งเป็นพลังงานด้านลบกลับจะทำให้ผมเสียพลังงานดีๆ ที่จะเรียนรู้เรื่องราวของขยะไปได้
             ในวันหนึ่ง ผมทดลองหยิบขยะเหล่านั้น (บางชิ้น) ไปหาที่ทิ้งขยะ ความรู้สึกแรกก็คือรู้สึกอายกลัวว่าจะมีคนเห็น (ผมเองก็งงเหมือนกันว่าทำไมต้องอาย) แต่ความรู้สึกเหล่านี้ผ่านเข้ามาในช่วงเวลาที่สั้นมาก เมื่อขยะได้รับการส่งให้ไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่แล้วผมรู้สึกดี และผมก็ค่อยๆ รู้สึกดีมากขึ้นกับการหยิบขยะชิ้นต่อๆ ไปในวันต่อๆ มา (หน้าด้านมากขึ้น) ผมพบว่าผมได้เรียนรู้ที่จะไม่อายในการที่จะทำอะไรบางเรื่องที่ไม่เป็นความเสียหาย ต่อมาได้เรียนรู้ที่จะที่จะไม่โกรธ เรียนรู้ที่จะให้อภัยและมองเห็นความเชื่อมโยงของเรื่องราวต่างๆ จากขยะ
             ถ้าเราลองมองผ่านมุมมองของวิทยาศาสตร์ใหม่ เราจะพบว่าการหยิบขยะ (ที่เราไม่ได้เป็นคนทิ้งไว้) เพียงหนึ่งชิ้นขึ้นมาและนำไปทิ้งถังขยะ (โดยไม่โกรธ) มีความหมายและมีพลังมากมายดังนี้
             หนึ่ง ตามที่ผมเคยเขียนถึงไปบ้างแล้วในคอลัมน์นี้ อย่างสั้นๆ ที่สุดก็คือการกระทำเล็กๆ น้อยๆ จะไม่มีการสูญหายไปไหน และยังอาจจะส่งผลใหญ่โตได้ (Butterfly Effect) การกระทำเล็กๆ น้อยๆ ที่ส่งผลต่อจิตสำนึกของปัจเจกสามารถส่งผลต่อจิตสำนึกร่วมได้ (ในบทความเรื่องโฮโลแกรมและกระหล่ำดอก)
             สอง ความคิดความตั้งใจของเราแม้จะเพียงหนึ่งคนที่จะเก็บขยะไปทั้งโดยไม่รู้สึกโกรธคนทิ้งนั้นจะสามารถส่งผ่านออกเป็นคลื่นไปในจักรวาล อาจจะลองนึกภาพแบบคลื่นสึนามิที่แผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้างและมีผลกระทบต่อสิ่งต่างๆ ได้มากมาย (อธิบายได้ด้วยทฤษฎีสนามพลังแบบสะท้อนของรูเพริท เชลเดรกและทฤษฎีเซลล์แบบใหม่ของบรูซ ลิปตัน) แต่จะเกิดผลให้คนทิ้งขยะน้อยลงได้หรือไม่ขึ้นกับเหตุและปัจจัยอื่นๆ เงื่อนไขเวลา
             สาม การอยู่กับขยะหนึ่งชิ้นในมือ ในระหว่างที่เดินไปหาถังขยะทิ้งนั้น โดยทั่วไปที่อาจจะต้องใช้เวลาในการเดินสักพักหนึ่งทำให้เรามีโอกาสได้อยู่กับลมหายใจ ผ่อนคลาย ยังได้มีโอกาสพิจารณาขยะในมือว่าจะต้องแตกสลายไปเป็นสารอื่นๆ เป็นปุ๋ย ฯลฯ ทำให้เรามองเห็นถึงความเชื่อมโยงของทุกสรรพสิ่ง เราอาจจะมองได้เห็นลึกเข้าไปอีกถึงเศษขยะที่ไม่ย่อยสลายหรือย่อยสลายยาก เช่นพลาสติกต่างๆ เราก็จะได้เรียนรู้ว่าต่อไปเราควรที่จะใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็น ไม่ควรที่จะใช้วัสดุเหล่านั้นมากมายโดยไม่จำเป็น
             สี่ เราไม่มีทางรู้ได้หรอกว่า ขยะชิ้นนั้นวางอยู่ตรงนั้นได้อย่างไร บางทีคนที่ทิ้งเขาอาจจะไม่ตั้งใจก็ได้ บางทีเขาอาจจะกำลังต้องดูแลลูกตัวเล็กที่วิ่งซนอยู่แล้วขยะที่กำไว้ในมือหลุดปลิวไปก่อนก็ได้ บางทีอาจจะเป็นเพราะลมพัดขยะปลิวออกจากถังก็ได้ เราไม่มีทางรับรู้ข้อมูลได้ทั้งหมด ความคิดที่ไปด่วนตัดสินเรื่องถูกผิด ดีชั่ว ดำขาวจึงอาจจะผิดพลาดได้ จะเป็นการดีสำหรับตัวเราเองมากถ้าเราจะลองฝึก "แขวนการตัดสิน"
             ผมรู้สึกว่าแค่เรื่องการเก็บขยะ เราก็สามารถทำให้เป็นการภาวนาได้ ช่วยให้เราเรียนรู้เรื่องความโกรธได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผมผู้ซึ่งจะโกรธง่ายเป็นพิเศษกับเรื่องการทิ้งขยะไม่เลือกที่แบบนี้
             ผมคิดว่าหมดเวลาที่จะมากล่าวโทษกันแล้วว่าใครเป็นคนทิ้งขยะ หมดเวลาที่จะมา "ตัดสิน" เรื่องความดีความชั่วกันแล้วว่าคนอื่นทำชั่ว ฉันทำดี น่าจะถึงเวลาของการลงมือทำสิ่งที่ควรจะทำกันได้แล้ว น่าจะถึงเวลาของการให้อภัยกันได้แล้ว
             ผมได้เรียนรู้ว่า แม้แต่กับการเก็บขยะไปทิ้งถังขยะสักชิ้นหนึ่งให้เสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์นั้นอาจจะต้องอาศัย "การภาวนา" เพื่อให้เกิด "การให้อภัย" และ "การไม่ตัดสิน" ร่วมด้วย
             มิเช่นนั้นการเก็บขยะของเราก็อาจจะกลายเป็น "การภาวด่า" ชาวบ้านไปตลอดเวลาว่าเอ็งเป็นคนชั่วและตัวข้าเป็นคนดี
             
       นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ หัวใจใหม่ ชีวิตใหม่ เชียงราย drwithan@hotmail.com



ผู้ตั้งกระทู้ มหากบ :: วันที่ลงประกาศ 2006-05-26 13:29:35


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (395301)

ไม่เห็นยากถ้าจะทำ ขนาดเราเป็นนายแพทย์เห็นขยะยังเก็บได้เลย ตอนนั้น ไม่มีตัวตน ไม่ต้องอาย ทำความดีจะอายทำไม ผู้ใหญ่ต้องกล้าทำ เช่นถ้านายกเห็นขยะอยู่ตรงหน้ายังกล้าเก็บ ประชาชนก็กล้าทำเหมือนกัน

 

ผู้แสดงความคิดเห็น akekitty วันที่ตอบ 2006-05-26 13:57:21


ความคิดเห็นที่ 2 (395342)

ถูกต้องแล้วคร้าบ

ผู้แสดงความคิดเห็น ตุ่ย ตองห้า วันที่ตอบ 2006-05-26 19:16:10



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



Copyright © 2010 All Rights Reserved.