Operation Rahu Episode VIII 31 Total Lunar Eclipse Jan 2018 Measuring Distance Earth-Moon Thailand - USA
ปฏิบัติการราหูข้ามทวีป ไทย-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 8 วัดระยะทาง โลก - ดวงจันทร์ ในปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง 31 มกราคม 2561


ปฏิบัติการราหู (Operation Rahu) ดำเนินการแล้ว 7 ครั้ง และคราวนี้เป็นครั้งที่ 8
วัดระยะทางโลก - ดวงจันทร์ ในปรากฏการณ์ "จันทรุปราคาเต็มดวง"
คืนวันที่ 31 มกราคม 2561 เกิดปรากฏการณ์ "จันทรุปราคาเต็มดวง" มองเห็นพร้อมกันที่ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยมองเห็นตอนหัวค่ำส่วนอเมริกาจะเห็นตอนเช้ามืด จึงให้ทีมงานที่ Texas ถ่ายภาพราหูอมจันทร์พร้อมๆกับประเทศไทยเพื่อคำนวณระยะทาง โลก - ดวงจันทร์ ตามสมการที่สร้างขึ้นตั้งแต่ Operation Rahu Episoder II อนึ่งรายละเอียดที่มาของวิธีสร้างสมการคำนวณและเรื่องราวของชื่อปฏิบัติการผมได้เขียนไว้ในบทความเว้ปไซด์เดียวกันนี้

ปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์สามารถมองเห็นพร้อมกันทั้งไทยและสหรัฐอเมริกา

ปฏิบัติการที่ปราสาทนารายณ์เจงเวง อำเภอเมืองสกลนคร มองเห็นจันทรุปราคาเป็นจุดเล็กๆด้านซ้ายมือของปราสาท

ภาพขยายปรากฏการณ์จันทรุปราคาจากมุมมองด้านทิศตะวันตกของปราสาทนารายณ์เจงเวง หัวค่ำวันที่ 31 มกราคม 2561

ภาพถ่ายปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่เมือง Huntsville Texas เช้ามืดวันที่ 31 มกราคม 2561

อีกมุมมองจากเมือง Huntsville Texas
วิธีการคำนวณระยะทางโลก - ดวงจันทร์
ผมพัฒนาวิธีการคำนวณจากคณิตศาสตร์โบราณของนักดาราศาสตร์ชาวกรีกเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้วชื่อ Aristachus of Samon โดยใช้ภาพถ่ายชัดๆเพียง 1 รูป และนำมาเข้าโปรแกรม PowerPoint เพื่อหาสัดส่วนระหว่างเงามืดของโลก (Umbra) กับเส้นผ่าศูนย์กลางของดวงจันทร์และนำมาเข้าสมการ
เลือกภาพถ่ายดวงจันทร์แหว่งที่คมชัดเพียง 1 รูป

นำภาพมาเข้าโปรแกรม PowerPoint เพื่อหาสัดส่วนระหว่างเส้นผ่าศูนย์กลางเงามืดของโลก (Umbra) และเส้นผ่าศูนย์กลางของดวงจันทร์ (Diameter of the moon)
สมการคำนวณระยะทางโลก - ดวงจันทร์ อนึ่งตัวเลขขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของโลก (Earth's Diameter) ได้มาจาก "ปฏิบัติการอีราโต้สทีเนส" ไทย - กัมพูชา วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2555 (21 March 2012) ดังรายละเอียดในเว้ปไซด์เดียวกันนี้

ผลการคำนวณระยะทาง โลก - ดวงจันทร์ จากปราสาทนารายณ์เจงเวง อำเภอเมืองสกลนคร ประเทศไทย ณ เวลา 19:46 นาฬิกา ได้ระยะทาง 369,959 กิโลเมตร เปรียบเทียบกับระยะทางคำนวณโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์ 357,377 กิโลเมตร มีค่าความคลาดเคลื่อน (Error) 3.52%

การคำนวณระยะทางโลก - ดวงจันทร์ ณ จังหวัดสกลนคร โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์ The Starry Night

คำนวณอีกครั้งจากภาพถ่ายจากปราสาทนารายณ์เจงเวง ณ เวลา 21:42 นาฬิกา ได้ระยะทาง 363,356 กิโลเมตร ค่าความคลาดเคลื่อน 2.27 %

คำนวณระยะทางจากโลก - ดวงจันทร์ คำนวณจากปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงที่เมือง Huntsville Texas USA ได้ระยะทาง 347,703 กิโลเมตร คลาดเคลื่อน 3.19% เมื่อเปรียบเทียบกับระยะทางที่คำนวณโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์ที่ชื่อ The Starry Night

การคำนวณระยะทางจากโลก - ดวงจันทร์ ณ เมือง Huntsville Texas USA โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์ชื่อ The Starry Night
ระยะทาง โลก - ดวงจันทร์
เมื่อเฉลี่ยระยะทาง โลก - ดวงจันทร์ จากผลการคำนวณของทั้งสองแห่ง พบว่าได้ตัวเลข mean = 355,529 กม. (คำนวณจากปราสาทนารายณ์เจงเวง สกลนคร 363,356 กม. จากเมือง Huntsville Texas 347,703 กม.)
สรุป
ปฏิบัติการราหูครั้งที่ 8 (Operation Rahu Episode VIII) ระหว่างไทย - สหรัฐอเมริกา ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง และโอกาสต่อไปเมื่อมีปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์ หรือราหูอมสุริยะ ก็จะดำเนินการอีกครั้ง อนึ่ง การสอบเทียบค่าความคลาดเคลื่อน Error ใช้ข้อมูลจากโปรแกรมดาราศาสตร์ The Starry Night ซึ่งเป็นตัวเลขวัดระยะทางระหว่างตำแหน่งที่ยืนถ่ายภาพถึงตำแหน่งของดวงจันทร์ในเวลา ณ ขณะนั้น