สุริยะปฏิทินจักรราศีดอนสวรรค์
Don Sawan Zodiacal Solar Calendar
สุริยะปฏิทินคืออะไร
บรรพชนครั้งโบราณเฝ้าสังเกตการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ยามเช้าที่ขอบฟ้าและพบว่าทุกๆวันดวงอาทิตย์ขึ้นไม่ซ้ำตำแหน่งเดิมแต่จะเคลื่อนที่กลับไปกลับมาระหว่างทิศเหนือและทิศใต้ ขณะเดียวกันตำแหน่งดวงอาทิตย์ก็มีความสัมพันธ์กับฤดูกาลที่เปลี่ยนไปโดยสังเกตว่าเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศเหนือสุดจะเป็นช่วงฤดูร้อนและเมื่อกลับไปทางทิศใต้สุดเปลี่ยนเป็นฤดูหนาว และเมื่อดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลางจะเป็นฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง พวกเขาจึงเอาก้อนหินมาวางให้ตรงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ในฤดูกาลต่างๆเพื่อให้รู้ว่าตอนนี้ใกล้จะถึงฤดูอะไร ........ นี่คือ "สุริยะปฏิทิน" ฉบับแรกของโลก และเมื่อมีความเจริญมากขึ้นเป็นเมืองและอาณาจักรพวกเขาก็สร้างอาคารหรือศาสนสถานให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์สำคัญๆ

บรรพชนโบราณสังเกตว่าดวงอาทิตย์เคลื่อนที่กลับไปกลับมาที่ขอบท้องฟ้าและมีความสัมพันธ์กับฤดูกาลในแต่ละช่วง

ถ้าเอาก้อนหินมาวางให้ตรงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ยามเช้าก็จะทำให้รู้ล่วงหน้าว่าใกล้จะถึงฤดูอะไร

นี่คือสุริยะปฏิทินในยุคก่อนประวัติศาสตร์

บรรพชนยังสังเกตเห็นกลุ่มดาวฤกษ์ฉากหลังของดวงอาทิตย์มีความสอดคล้องกับการเคลื่อนที่ของฤดูกาล

ชาวสุเมเรี่ยนในดินแดนเมโสโปเตเมียเป็นชาติแรกที่สร้างปฏิทิน "จักรราศี" โดยอิงตำแหน่งดวงอาทิตย์กับกลุ่มดาวฤกษ์ที่เป็นฉากด้านหลัง

ความรู้เรื่องจักรราศีถ่ายทอดไปยังอารยธรรมอียิปส์ และแพร่กระจายไปทั่วโลก
ปราสาทขอมจำนวนมากถูกก่อสร้างให้ตรงกับปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" ดวงอาทิตย์ขึ้น ณ ทิศตะวันออกแท้ตรงกับวันแรกของเดือนไจตระซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของปฏิทินมหาศักราช
ทำไมต้องสร้างสุริยะปฏิทินจักรราศีที่เกาะดอนสวรรค์กลางทะเลสาปหนองหาร จังหวัดสกลนคร
หลายท่านตั้งคำถามนี้ ........ คำตอบตามสไตล์ของผมคือ ...... ที่นี่มี Story Behind ที่สามารถพิสูจน์เชิงประจักษ์ทั้งวิทยาศาสตร์และศาสตร์แห่งความเชื่อ ลองตามมาซิครับแล้วท่านจะพิสูจน์ด้วยตนเองแบบสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น

"ดอนสวรรค์" เป็นชื่อเกาะที่ใหญ่มี่สุดในทะเลสาปหนองหาร จังหวัดสกลนคร
ศาสตร์แห่งความเชื่อ
เมื่อปี พ.ศ. 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตกครั้งใหญ่ในประเทศไทย หอการค้าจังหวัดสกลนครจึงเชิญซินแสชื่อดังมาจับฮวงจุ้ยของเมืองสกลเพื่อหาทางฟื้นฟูธุรกิจการค้าการขาย ท่านซินแสฟันธงว่าเมืองแห่งนี้มีฮวงจุ้ยที่ดีคือ โบราณสถานสองแห่งได้แก่ปราสาทภูเพ็ก กับปราสาทนารายณ์เจงเวง และอีกแห่งอยู่ในน้ำหนองหาร เป็นเส้นตรงเดียวกัน แต่ตอนนั้นยังไม่พบว่าแห่งที่อยู่ในหนองหารคืออะไร สิบกว่าปีต่อมาผมทราบเรื่องนี้จากคุณอัครวัฒน์ เอื้อกูลวราวัตร หรืออาเฮียหุย ซึ่งเป็นเพื่อนสมาชิกสโมสรโรตารีสกลนคร จึงยืนยันกับอาเฮียหุยว่าสถานที่แห่งนี้คือ "เกาะดอนสวรรค์" เพราะตามหลักดาราศาสตร์สถานที่ทั้งสามตั้งอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน

ซินแสชื่อดังที่หอการค้าสกลนครเชิญมาจับฮวงจุ้ยเมืองสกลคืออาจารย์วิศิษฐ์ เตชะเกษม

ปราสาทภูเพ็ก ปราสาทนารายณ์เจงเวง และเกาะดอนสวรรค์ อยู่ในเส้นตรงเดียวกัน ทำให้ตัวเมืองสกลนครมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่อยู่ข้างหน้าทางทิศตะวันออกและมีแนวภูเขาอยู่ด้านหลังทางทิศตะวันตก เป็นลักษณะฮวงจุ้ยที่ดีตามตำราศาสตร์แห่งความเชื่อของชาวจีน
วิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์
ในปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า "วสันตวิษุวัต" (Vernal Equinox) ดวงอาทิตย์ขึ้น ณ ตำแหน่งทิศตะวันออกแท้ กลางวันเท่ากับกลางคืน เป็นวันแรกของเดือนไจตระ (Chaitra Month) และวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินมหาศักราช (Saka Calendar) ซึ่งใช้ในยุคขอมเรืองอำนาจ ปัจจุบันตรงกับวันที่ 21 มีนาคม ตามหลักโหราศาสตร์เป็นจุดเริ่มต้นแห่งราศีเมษ (Zodiac Aries)
ยุคอาณาจักรขอมเรืองอำนาจพวกเขาใช้ปฏิทินมหาศักราช (Saka Calendar) วันขึ้นปีใหม่คือวันแรกของเดือนไจตระ (Chaitra) ตรงกับจุดเริ่มต้นของดวงอาทิตย์ในราศีเมษ (Zodiac Aries) ปัจจุบันตรงกับวันที่ 21 มีนาคม ปีอธิกสุรทิน 366 วัน (กุมภาพันธ์มี 29 วัน) และวันที่ 21 มีนาคมปีปกติสุรทิน 365 วัน

ดอนสวรรค์มองจากปราสาทภูเพ็กไปทางทิศตะวันออก

ยืนอยู่ที่ประตูด้านทิศตะวันออกของปราสาทภูเพ็กมองตรงผ่านยอดแท่งศิวะลึงค์จะเห็นเกาะดอนสวรรค์

ปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" (Vernal Equinox) หรือวันแรกแห่งเดือนไจตระ (Chaitra) ตามปฏิทินมหาศักราช (Saka Calendar) ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับดอนสวรรค์ทำให้เรืองแสงเป็นสีแดง

ดวงอาทิตย์ยามเช้าของปรากฏการณ์ "วสีนตวิษุวัต" ทำมุมตรงกับดอนสวรรค์

ภาพขยายให้เห็นดอนสวรรค์เป็นสีแดงในปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" เปรียบเทียบกับวันปกติทั่วไป

พิกัด GPS ยืนยันว่าปราสาทภูเพ็ก ปราสาทนารยณ์เจงเวง และเกาะดอนสวรรค์ อยู่ในเส้นตรงเดียวกัน พูดตามภาษาคณิตศาสตร์เรียกว่า Non-Significant เพราะมีความต่างเพียง 0.0047 และ 0.0114 องศา เท่านั้น
จารึกขอมโบราณยืนยันปฏิทินมหาศักราช
จารึกอโรคยาศาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กล่าวถึงคำว่า "เดือนไจตระ" และจารึกภาษาขอมที่ภูถ้ำพระ อ.กุดบาก สกลนคร กล่าวถึงปีมหาศักราช แสดงว่าอาณาจักรขอมใช้ปฏิทินฉบับนี้
จารึกอโรคยาศาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
คำแปลจารึกหน้าที่ 3 ระบุคำว่า "เดือนไจตระ" และในพิธีศารท (น่าจะหมายถึงปรากฏการณ์ "ศารทวิษุวัต" เดือน Ashwin ปัจจุบันตรงกับ 23 กันยายน)

จารึกภาษาขอมที่ภูถ้ำพระ อำเภอกุดบาก สกลนคร ระบุมหาศักราช 988
สุริยะปฏิทินจักรราศี ที่ดอนสวรรค์ เสน่ห์แห่งการท่องเที่ยวที่มี Story Behind ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ศาสตร์แห่งความเชื่อ และประวัติศาสตร์
สุริยะปฏิทินจักรราศีที่ดอนสวรรค์เป็น Gimmick อย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวที่ผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์ ศาสตร์แห่งความเชื่อ บวกกับเรื่องราวประวัติศาสตร์
สร้างเครื่องหมายแสดงตำแหน่งดวงอาทิตย์ตามราศีต่างๆในรอบปี
ผู้ที่เกิดในราศีนั้นๆสามารถมายืนรับพลังสุริยะยามเช้าที่ดอนสวรรค์เพื่อความเป็นศิริมงคลตามความเชื่อของแต่ละท่าน ตัวอย่างในภาพนี้เป็นดวงอาทิตย์ในราศีเมษ (Zodiac Aries)

ป้ายด้านทิศใต้อธิบายความหมายของสุริยะปฏิทินจักรราศีดอนสวรรค์มี QR Code ให้บรรดาสาวก Smartphone ได้เข้าถึงรายละเอียดอย่างสะใจพระเดชพระคุณ บนมุมของป้ายมีนาฬิกาแดดเพื่อแสดงเวลาตามหลักดาราศาสตร์ของสถานที่นั้น

ป้ายด้านทิศเหนืออธิบาย 12 ราศี และวันที่ตามปฏิทินปัจจุบัน

สัญลักษณ์ของ 12 ราศี กับตำแหน่งดวงอาทิตย์

สัญลักษณ์ราศีเมษ ราศีพฤษภ ราศีเมถุน
สัญลักษณ์ราศีกรกกฏ ราศีสิงห์ ราศีกันย์

สัญลักษณ์ราศีตุลย์ ราศีพิจิก ราศีธนู

สัญลักษณ์ราศีมังกร ราศีคนแบกหม้อน้ำ ราศีมีน

อย่างไรก็ตามถ้าเสร็จจากการรับพลัง "จักรราศี" เรียบร้อยแล้วพระเดชพระคุณท่านยังมีของดีให้ทดลองเสี่ยงโชคที่ "ต้นตะเคียนคู่" นัยว่าได้โชคไปหลายท่านแล้วเพราะมีหลักฐานการนำเครื่องบูชามาวางไว้เต็มไปหมด