ป่าเศรษฐกิจครอบครัว ทางเลือกใหม่ win win ทั้งชาวบ้านและรัฐบาล
เป็นแนวคิดของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีสกลนคร วิสาหกิจเพื่อสังคม เกิดขึ้นจากการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับ "เครือข่ายอินแปง" อำเภอกุดบาก สกลนคร ที่พยายามสร้างป่าในที่ดินส่วนบุคคลของเกษตรกรที่เป็นสมาชิก โดยมีนโยบายว่าใครมีที่ดิน 10 ไร่ น่าจะปลูกป่าประมาณ 3 - 4 ไร่ เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ขณะเดียวกันก็มีผลผลิตอาหารธรรมชาติเพื่อการบริโภคในครัวเรือน ชุมชน และยังสามารถขายเป็นรายได้

ทำไมจึงใช้ชื่อ "ป่าเศรษฐกิจครอบครัว"
เมื่อพูดถึงคำว่า "ป่า" ทุกท่านนึกถึงภาพของ "ป่าสงวน และอุทยานแห่งชาติ" ซึ่งเป็นสมบัติของรัฐ ดูแลรักษาโดยหน่วยงานราชการในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ "ป่าเศรษฐกิจครอบครัว" เป็นสมบัติส่วนบุคคลมีเอกสารสิทธิ์ นส.3 หรือโฉนดที่ดิน เจ้าของแต่ละรายดูแลรักษาต้นไม้ที่เกิดตามธรรมชาติหรือปลูกขึ้นใหม่เพื่อเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน ชุมชน และขายเป็นรายได้ นานๆเข้าป่าเหล่านี้ก็ทำหน้าที่รักษาระบบนิเวศน์ทำให้ที่ดินบริเวณใกล้เคียงเกิดความชุ่มชื้นจากน้ำใต้ดินจนสามารถเพาะปลูกพืชต่างๆได้ดี
บริษัทประชารัฐรักสามัคคีสกลนคร ได้แนวคิดนี้จาก "เครือข่ายอินแปง" ที่อำเภอกุดบาก เป็นองค์กรภาคประชาชนที่รวมตัวกันสร้างป่าเพื่อเป็นแหล่งอาหารธรรมชาติและรักษาระบบนิเวศน์ จึงสนับสนุน "ป่าเศรษฐกิจครอบครัว" ให้เป็นโครงการระดับจังหวัดเพื่อขยายผลไปยังราษฏรรายอื่นๆที่มีที่ดินพอเพียงต่อการปลูกป่าคู่ขนานกับการทำเกษตรกรรมที่เหมาะสม
คณะกรรมการบริษัทประชารัฐรักสามัคคีสกลนคร ได้เข้าร่วมพบปะและเสวนากับเครือข่ายอินแปงหลายครั้งจนได้ข้อสรุปบว่าต้องเดินหน้าโครงการ "ป่าเศรษฐกิจครอบครัว" ให้เป็นโครงการใหญ่ระดับจังหวัด

การลงพื้นที่หลายครั้งพบว่าราษฏรหลายคนมีป่าของตนเองจากการรักษาต้นไม้ที่เกิดจากธรรมชาติและปลูกขึ้นมาใหม่ ดังตัวอย่างป่ายางนา 20 ไร่ จำนวน 1,200 ต้น ของคุณยายสวิงทอง รำคำ อายุ 65 ปี บ้านบัว ตำบลค้อน้อย อำเภอกุดบาก

ป่ายางนาของคุณยายสวิงทอง รำคำ มีเห็ดธรรมชาติเกิดตามฤดูกาลมากมาย สามารถขายเป็นรายได้ทุกๆปี

นอกจากเห็ดธรรมชาติแล้วยังมี "ยางตะเคียน" เป็นยาสมุนไพรแก้แผลกดทับได้อย่างดี มีราคากิโลกรัมละ 300 บาท
.jpg)
ป่าธรรมชาติในที่ดิน 200 ไร่ ของนายสุมัธ ศรีมี อำเภอสว่างแดนดิน

ป่าของนายสุมัธ ศรีมี อุดมไปด้วยสมุนไพรนานาชนิด เป็นคำยืนยันจากคุณลุงทรงพล เดชพันธ์ุ อายุ 74 ปี เป็นหมอสมุนไพรพื้นบ้าน
.jpg)
ต้นฤดูฝน 13 กรกฏาคม 2562 เครือข่ายป่าเศรษฐกิจครอบครัวได้ร่วมกันปลูกไม้ป่าเพิ่มเติมซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO)
.jpg)
บริษัทประชารัฐฯได้สนับสนุนโครงการนำร่อง "เลี้ยงหอยเพื่อผลิตเครื่องสำอาง Snail White" ที่บ้านโคกสะอาด ต.อุ้มจาน อ.กุสุมาลย์ สกลนคร
การวิเคราะห์ SWOT
จุดแข็ง (Strength)
1.เครือข่ายอินแปงมีโครงการส่งเสริมให้สมาชิกปลูกป่าในที่ดินของตนเองมานานกว่า 20 ปี (บริษัทประชารัฐกำลังสำรวจขึ้นทะเบียน)
2.สอดคล้องกับค่านิยมและอุปนิสัยของคนไทยที่ชอบดูแลรักษาสมบัติส่วนตัวอย่างจริงจัง
3.มีรายได้ตามฤดูกาลจากผลผลิตธรรมชาติ เช่น เห็ดป่า ใข่มดแดง แมลง พืชผักพื้นบ้าน สมุนไพร ฯลฯ อีกทั้งในระยะยาวสามารถขายไม้ในราคาสูง
4.รักษาระบบนิเวศน์นำมาซึ่งความชุ่มชื้นจากน้ำใต้ดินและลดการสูญเสียหน้าดินจากการกัดเซาะ ทำให้การเพาะปลูกในบริเวณใกล้เคียงได้รับอนิสงค์
จุดอ่อน (Weakness)
1.รายได้จากผลผลิตที่เกิดจากป่ายังไม่มีความแน่นอนในด้านการตลาด
2.ไม่เหมาะกับผู้มีที่ดินจำกัด
3.ใช้เวลาหลายปีในการเห็นผล
โอกาศ (Opportunity)
1.รัฐบาลมีนโยบายที่จะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าและมีงบประมาณรองรับทุกปี
2.กระแสการใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ เช่น สมุนไพร เครื่องสำอางค์ อาหารเสริม ฯลฯ เริ่มมาแรงในหมู่ลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง
3.สอดคล้องกับข้อตกลงนานาชาติเรื่อง "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก" ซึ่งรัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามตามความตกลงกรุงปารีส เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 โดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบสัตยาบันสารเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสแก่เลขาธิการสหประชาชาติ ระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรม High-Level Event on the Ratification of the Paris Agreement
4.ประเทศไทยได้ตั้ง "องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก องค์การมหาชน" เมื่อปี 2550 เพื่อรองรับความตกลง Kyoto Protocol ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นโอกาศที่จะมีการรับซื้อ Carbon Credit เพื่อสร้างรายได้พิเศษให้แก่ป่าเศรษฐกิจครอบครัว
5.สำนักงานเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (Biodiversity-Based Economy Development Office: BEDO) ให้ความสนใจและเข้ามาสนับสนุนอย่างเป็นทางการ ด้วยการขึ้นทะเบียนโครงการนำร่องป่าเศรษฐกิจครอบครัว 32 แปลง ที่สกลนคร และจัดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องในจังหวัดต่างๆ
ภัยคุกคาม (Threat)
1.กระแสอุตสาหกรรมการเกษตรรายใหญ่ที่ต้องการใช้ที่ดินจำนวนมาก
2.นโยบายรัฐบาลที่เน้นสร้าง GDP จากภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจบริการจะส่งผลให้ลูกหลานชาวชนบทไม่อยากทำงานในท้องถิ่น และไม่มีความหวงแหนที่ดินมรดกจากบรรพบุรุษ
3.การบีบคั้นทางเศรษฐกิจทำให้ราษฏรต้องการขายที่ดิน
4.ราชการยังไม่ยอมรับว่า "ป่าเศรษฐกิจครอบครัว" เป็นส่วนหนึ่งของการเกษตร จึงขาดโอกาศในการรับความช่วยเหลือในกรณีความเสียหายจากภัยธรรมชาติในรูปแบบต่างๆ
5.การลงทุนอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตสอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าครอบครัว
จากข้อมูลวิเคราะห์ SWOT เมื่อนำ "จุดแข็ง" มาผสมผสานกับ"โอกาศ" ทำให้มองเห็นแนวทาง 2 ประเด็น ในการสร้างรายได้แก่ราษฏรที่เข้าร่วมโครงการป่าเศรษฐครอบครัว ขณะเดียวกันก็เป็นการตอบคำถามที่พี่ไทยอย่างเราๆท่านๆชอบพูดแบบดราม่าว่า "ปลูกป่าเศรษฐกิจครอบครัวตามนโยบายบริษัทประชารัฐฯแล้วจะได้อะไร"
1.สร้างมูลค่าเพิ่มจากป่าโดยใช้ตลาดเป็นตัวนำ เช่น การขายวัตถุดิบ หรือผลผลิตกึ่งแปรรูป เช่น สมุนไพร หรือผลผลิตพืชต่างๆให้แก่เอกชนที่มีตลาดอยู่แล้ว ขณะเดียวกันป่าที่มีศักยภาพต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ก็สามารถพัฒนาในส่วนนี้ได้ ทั้งนี้บริษัทประชารัฐจะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ
2.ผลักดันให้ภาครัฐเปิดนโยบายมิติใหม่ "ซื้อคาร์บอนเครดิต" จากป่าเศรษฐกิจครอบครัวคู่ขนานกับนโยบายปลูกป่า ทำให้ราษฏรมีรายได้ประจำปีที่แน่นอน เข้าตำรา "รัฐได้ป่า ประชาได้เงิน" ภาษา Thailand 4.0 เรียกว่า win win ในการนี้บริษัทประชารัฐฯจะประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นเพื่อสร้าง "มาตรการและกลไกในการซื้อคาร์บอนเครดิต" โดยมีสาระสำคัญ เช่น
2.1 มาตรการและวิธีการกำหนดมูลค่าคาร์บอนเครดิต (สามารถศึกษาจากงานวิจัยที่เครือข่ายอินแปง อ.กุดบาก ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามร่วมกับมหาวิทยาลัยมิชิแกน สเตท เมื่อปี 2550 - 2553)
2.2 มาตรการสร้างแรงจูงใจแก่ราษฏรรายใหม่ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ
2.3 มาตรการอื่นๆที่เหมาะสม

ตัวอย่างแนวคิด "การขายคาร์บอนเครดิต" ของเครือข่ายอินแปง จากงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยมหาสารคามร่วมกับ มหาวิทยาลัยมิชิแกน สเตท สหรัฐอเมริกา
(ร่าง) รูปแบบการซื้อขาย Carbon Credit จากป่าเศรษฐกิจครอบครัวสกลนคร โดยมีส่วนราชการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้แก่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO) มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เฉลิมพระเกียรติสกลนคร และบริษัทประชารัฐรักสามัคคีสกลนคร จำกัด

จุดประกายแห่งความหวังในโครงการซื้อขาย Carbon Credit โดย ท่านจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพก) และผู้แทนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก) เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2562 ณ Road show สร้างการรับรู้การดำเนินงานพื้นที่สีเขียวบอกเขตอนุรักษ์ ชุมชนไม้มีค่า - ป่าครอบครัว ตามหลัก BEDO Concept ณ โรงแรมรามาการ์เดน กทม.
.jpg)
บรรยากาศแห่งการทำ Road Show ที่โรงแรมรามาการ์เดน กทม วันที่ 7 กันยายน 2562
Case Study การปลูกป่าในที่ดินส่วนบุคคล
บริษัทประชารัฐฯจับมือกับหอการค้าผลักดันนโยบายส่งเสริมให้เอกชนหรือบุคคลที่มีที่ดินและประสงค์จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้ประเทศชาติ ด้วยการว่าจ้างเครือข่าย "อินแปง" ซึ่งมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในเรื่องไม้ป่าเป็นผู้รับเหมาปลูกและดูแลป่า ขณะเดียวกันก็เป็นการกระจายรายได้สู่ประชาชนในท้องถิ่น ในฐานะที่เป็นผู้เสนอแนวคิดนี้จึงเริ่มต้นในที่ดินของตนเอง 4 ไร่ ที่บ้านกุดพร้าว ตำบลวาริช อำเภอวาริชภูมิ สกลนคร เพื่อเป็นตัวอย่างเชิงประจักษ์แก่ผู้สนใจ
วางแผนและเตรียมดินโดยลุงเอก ผู้เชี่ยวชาญการปลูกป่าจากเครือข่ายอินแปง มิถุนายน 2561
.jpg)
ปลูกไม้ป่านานาชนิดในเนื้อที่ 4 ไร่ ปลายเดือนมิถุนายน 2561

ติดตามผลปลูกซ่อมแซม และดูแลรักษา มิถุนายน 2563
.jpg)
เปรียบเทียบการเจริญเติบโตของไม้ป่าระยะเวลา 22 เดือน ระหว่าง มิถุนายน 2561 กับ มีนาคม 2564
.jpg)
เปรียบเทียบการเจริญเติบโต ในรอบ 7 เดือน
.jpg)
.jpg)
.jpg)
เปรียบเทียบการเจริญเติบโตไม้พยุงในรอบ 1 ปี เมษายน 2563 และเมษายน 2564
จากวันแรกมิถุนายน 2561 (ซ้าย) ถึงพฤศจิกายน 2564 (ขวา)
.jpeg)
ในฐานะสมาชิกสโมสรโรตารีสากลภาค 3340 ก็ต้องร่วมมือในเป้าหมาย Supporting Environment of Rotary International

.jpg)
ผู้รับเหมาจากเครือข่ายอินแปงทำการปลูกและดูแลรักษาอย่างน้อย 3 ปี
.jpg)
เป็นการกระจายรายได้สู่ชาวบ้านในท้องถิ่น
มีการผสมเชื้อเห็ดป่ากับดินที่เพาะต้นไม้เพื่อให้มีอาหารธรรมชาติเมื่อต้นไม้โตในอีก 3 ปีข้างหน้า

นายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน รองประธานบริษัทประชารัฐฯสกลนคร และที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดสกลนคร ได้นำเสนอโครงการนี้ต่อที่ประชุมเครือข่ายป่าครอบครัว จัดโดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (BEDO) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2562 ที่ศูนย์การศึกษาพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สกลนคร และ 7 กันยายน 2562 ที่โรงแรมรามาดการ์เดน กทม.
ธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater Bank) มีผลอย่างไรกับป่าเศรษฐกิจครอบครัว
สโมสรโรตารีสกลนครสนับสนุนให้ป่าเศรษฐกิจครอบครับ ฟาร์มดงไร่ อ.วาริชภูมิ สกลนคร เป็นจุดสาธิตผลดีของธนาคารน้ำใต้ดินกับการปลูกป่า โดยเริ่มสร้างธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด (close system groundwater bank) 5 หลุม กระจายในพื้นที่ 4 ไร่ โดยใช้งบประมาณ 10,000 บาท ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561


เริ่มสร้างธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดเมื่อธันวาคม 2561
.jpeg)
เปรียบเทียบการเติบโตของต้นไม้ระหว่างเมษายน 2563 กับเมษายน 2566

.jpeg)
ธนาคารน้ำใต้ดินทำหน้าที่สร้างความชุ่มชื้นแก่ต้นไม้ด้วยขบวนการ "ไส้ตะเกียง" (capillary action) หรืออีกนัยหนึ่งคือระบบชลประทานใต้ดิน (Subsurface Irrigation)
.jpeg)
เปรียบเทียบการเจริญเติบโตของต้นไม้ระหว่างป่าที่มีธนาคารน้ำใต้ดิน กับป่าที่รับน้ำฝนตามธรรมชาติ

ภาพถ่ายเดือนมีนาคม 2566 ป่าเศรษฐกิจครอบครัว ฟาร์มดงไร่ อ.วาริชภูมิ สกลนคร ต้นไม้โตเร็วมากเพราะมีธนาคารน้ำใต้ดิน

.jpeg)
.jpeg)
.jpeg)
.jpeg)
ตรวจสอบระดับน้ำใต้ดิน (groundwater table) เดือนเมษายน 2566 โดยใช้เชือกผูกลูกลอยหย่อนลงไปในท่อสังเกตระดับน้ำใต้ดิน 3 แห่ง (Observation Well) พบว่าระดับน้ำอยู่ที่ 2.9 m 3.26 m และ 3.35 m ซึ่งเหมาะสมต่อการสร้างความชุ่มชื้นด้วยปฏิกริยาใส้ตะเกียง (capillary action)
สรุป
หากราษฏรมีความมั่นคงทางอาหารจากป่า มีรายได้ที่ต่อเนื่องจากการขายผลผลิต บวกกับรายได้พิเศษจากการขายคาร์บอนเครดิตให้กับภาคเอกชน และเกิดความภาคภูมิใจว่าได้เป็นหนึ่งแรงในการกอบกู้โลกจากภาวะ Climate Change จะนำไปสู่การหวงแหนป่าและหันมาปลูกป่ามากขึ้น โดยภาครัฐไม่ต้องเป็นภาระในการดูรักษา เข้าทำนอง win win ทั้งชาวบ้านและรัฐบาล
ผมนับถือความคิดของสาวน้อยชาวสวีเดนอายุ 16 ชื่อ Greta Thunberg ที่หยุดโรงเรียนทุกวันศุกร์มานั่งประท้วงนักการเมืองและรัฐบาลให้หันมาสนใจเรื่อง Climate Change โดยสาวน้อยใช้คำพูดกระหึ่มโลกว่า "ไม่มีใครเล็กเกินไปที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง" (you are never too small to make a difference)
ป้ายภาษาสวีเดนที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ School Strike for Climate ตอนนี้กลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ น้อง Greta ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานที่สำนักงานใหญ่ UN ที่กรุงนิวยอก สหรัฐอเมริกา เดือนกันยายน 2019