Operation Bhishma 2016 ปฏิบัติการดาราศาสตร์ข้ามทวีป ....... การหมุนรอบตัวเองและวงโคจรของโลกยังคงปกติหรือไม่?
.jpg)
คุณครูที่สอนวิชาดาราศาสตร์ทุกท่านจะให้ข้อมูลว่า ....... โลกของเราหมุนรอบตัวเองด้วยเวลา 24 ชั่วโมง คิดเป็นอัตราความเร็วเชิงมุม 15 องศาต่อชั่วโมง หรือ 360 องศาต่อ 24 ชั่วโมง ขณะเดียวกันโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะเอียง 23.5 องศาจากแนวดิ่งและใช้เวลาประมาณ 365 วัน หรือ 1 ปี เราๆท่านๆท่องจำตัวเลขเหล่านี้ได้ดี คำถาม "เรามีวิธีพิสูจน์ทราบได้อย่างไรว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นความจริง" หากตัวเลขดังกล่าวผิดไปจากเดิมโลกของเราจะเป็นอย่างไร นี่คือที่มาของปฏิบัติการดาราศาสตร์ข้ามทวีประหว่าง Team A ที่ปราสาทภูเพ็ก บนยอดภูเขา +520 เมตร สกลนคร ประเทศไทย ประกบคู่กับ Team B ที่เมือง Ankeny City (Des Moines) รัฐ Iowa สหรัฐอเมริกา ภายใต้รหัส Operation Bhishma 2016 ตรงกับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ "เห-มา-ยัน" (winter solstice) 21 - 22 ธันวาคม กลางคืนยาวที่สุดในรอบปี
ปฏิบัติการข้ามทวีประหว่าง Team A ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร ประเทศไทย กับ Team B เมือง Ankeny Iowa State USA

Team A ประกอบด้วยอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร อาจารย์ภูริภูมิ ชมภูนุช นักประวัติศาสตร์ อาจารย์ธวัชชัย ดุลยสุจริต นักภาษาสันสกฤต อาจารย์เชาวณา ไข่แก้ว นักโบราณคดี และคุณนกหรืออรรถพล คำศรี แกนนำชุมชนบ้านภูเพ็ก ทั้งสี่คนได้ขึ้นไปที่ปราสาทภูเพ็กตั้งแต่เย็นวันที่ 20 ธันวาคม 2559 เพื่อเตรียมทุกอย่างให้พร้อมที่จะเก็บข้อมูลเช้าตรู่วันที่ 21 ธันวาคม

Team B ผมเองครับ สรรค์สนธิ บุณโยทยาน ลุยเดียวที่บ้านพักเมือง Ankeny City (Des Moines) รัฐ Iowa สหรัฐอเมริกา ท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส
ทำไมต้องชื่อปฏิบัติการ Operation Bhishma
ปฏิบัติการดาราศาสตร์ทุกครั้งจะต้องตั้งชื่อรหัสที่มี "ภูมิหลัง" (story behind) สอดคล้องกับกรณี ครั้งนี้ตรงกับปรากฏการณ์ "เหมายัน" (winter solstice) เกี่ยวข้องกับเรื่องราวสงคราม "มหาภารตะ" (Mahabharata) ที่มียอดนักรบชื่อ Bhishma เป็นหนึ่งในตัวเอก ท่านผู้นี้เป็นบุตรของพระแม่คงคาทำให้มีพรพิเศษคือไม่มีใครเอาชนะได้และสามารถกำหนดวันตายของตัวเองเมื่อไหร่ก็ได้ ตามความเชื่อของชาวฮินดูสงครามมหาภารตะเกิดขึ้นราวๆ 3901 - 3101 ปีก่อนคริตกาล เป็นการต่อสู้ระหว่างตระกูล Pandavas และ Kauravas การศึกครั้งนี้เกิดขึ้นที่ตำบล Kurukshetra โดย Bhishma เป็นแม่ทัพสูงสุดของฝ่าย Kauravas แต่ความจริงท่านไม่เต็มใจในการรบนี้เพราะเป็นญาติผู้ใหญ่ของคู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่าย จึงเกิดความสงสารและอยากให้เรื่องจบสิ้นเสียที แม้ว่าฝีมือของท่านจะเหนือกว่า Arjuna แม่ทัพของฝ่าย Pandavas ซึ่งมีเทพ Krishna หนุนหลัง แต่ด้วยความไม่อยากเอาชนะจึงแอบกระซิบ Arjuna บอกความลับว่าจะสังหารท่านอย่างไร ทำให้ Arjuna สามารถยิงห่าธนูเข้าเต็มร่างโดย Bhishma ยอมให้ยิงแต่โดยดี ....... ถ้าเป็นวงการหมัดมวยเรียกว่า "ล้มมวย" กรรมการจะคว้าไมโครโฟนและประกาศไล่ลงเวทีพร้อมกับบอกว่าไม่มีการตัดสิน แต่นี่เป็นสงครามที่ Bhishma เป็นผู้กำหนดเกมส์เองว่าจะยอมตายวันไหน ท่านนอนบนห่าธนู 58 วัน เพื่อรอให้ถึง Uttarayana ภาษาสันสกฤตหมายความถึงปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ winter solstice ปัจจุบันตรงกับวันที่ 21 - 22 ธันวาคม และที่สุด Bhishma ก็ยอมตายในวันนี้ ....... จึงเป็นที่มาของชื่อ Operation Bhishma
อนึ่ง หากท่านได้ไปชมปราสาทนครวัด (Angkor wat) ที่ประเทศกัมพูชา ในช่วงวันที่ 21 - 31 ธันวาคม ควรแวะไปชมที่ระเบียงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ จะเห็นภาพสลักเรื่องราวสงครามมหาภารตะและภาพ Bhishma นอนตายบนห่าธนูของพระอรชุนตรงกับตำแหน่งมุมตกกระทบของ sunset ในปรากฏการณ์ "เหมายัน" (winter solstice) แสดงว่าผู้สร้างปราสาทหลังนี้ต้องรู้เรื่องราวของยอดนักรบ Bhishma และวันตายของเขาตรงกับ Uttarayana หรือ winter solstice
Bhishma เป็นบุตรชายของพระแม่คงคา ทำให้มีพรพิเศษคือไม่แพ้ใครและสามารถเลือกวันตายของตัวเองได้
Bhishma เป็นแม่ทัพใหญ่ของฝ่าย Kauravas ส่วน Arjuna เป็นแม่ทัพของฝ่าย Pandavas โดยมีเทพ Krishna หนุนหลัง

ภาพแกะสลักแสดงเหตุการณ์ตอน Bhishma ถูกห่าธนูของ Arjuna

ภาพสลัก Bhishma นอนตายบนห่าธนูของ Arjuna ที่ระเบียง Southwest Corridor ของ Angkor Wat

Arjuna ยิงห่าธนูชุดใหญ่ใส่ยอดนักรบ Bhishma ซึ่งยินดียอมให้ยิงโดยไม่โต้ตอบอย่างจริงจัง อนึ่งตามท้องเรื่องฝีมือของ Arjuna ถือว่าแค่เด็กๆเมื่อเทียบกับ Bhishma หากไม่มีการล้มมวยหรือซูเอีย รับรองว่าทั้ง Arjuna และ Krishna คงหืดขึ้นคอไปอีกนานและก็ไม่รู้ว่าสงครามจะยุติลงอย่างไร

หากท่านผู้อ่านไปที่ปราสาท Angkor Wat จะเห็นภาพสลักบนผนัง Southwest Corridor แสดงเรื่องราวสงคราม Mahabharata ที่ทุ่ง Kurukshetra ซึ่งมีภาพ Bhishma นอนตายบนห่าธนู
.jpg)
มุมตกกระทบของ sunset กับระเบียง southwest corridor ที่ปราสาท Angkor Wat

ได้รับการอนุเคราะห์จากมัคคุเทศก์อาชีพชื่อคุณนก Prapaporn Matda ทำหน้าที่เก็บภาพ sunset at southern corridor of Angkor Wat วันที่ 25 Dec 2019 (Winter Solstice)

แสงอาทิตย์ Sunset ส่องตรงไปที่ภาพสลักของยอดนักรบ Bhishma นอนตายอยู่บนห่าธนูของพระอรชุน ในมหาสงคราม Mahabharata

เปรียบเทียบภาพถ่ายแสงอาทิตย์ sunset ตรงกับระเบียงตะวันตกเฉียงใต้ของ Angkor Wat ระหว่าง วันที่ 30 ตุลาคม กับวันที่ 25 ธันวาคม (winter solstice) เห็นได้ชัดเจนว่าผู้สร้างปราสาทหลังนี้มีความรู้อย่างดีเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของดาราศาสตร์กับเรื่องราวของสงครามหาภารตะ ซึ่งยอดนักรบ Bhishma ยอมตายบนห่าธนูของพระอรชุนในปรากฏการณ์ Uttara Yana หรือ เหมายัน (winter solstice)

ผมเคยอธิบายเรื่องแสงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ winter solstice ส่องตรงกับภาพสลัก Bhishma died on the arrow bed ให้นักท่องเที่ยวชาวยุโรปฟัง


ผมพิสูจน์เส้นทางของ winter solstice sunset 21 - 22 Dec ที่มุมกวาด (Azimuth 245) ตรงกับภาพสลัก Bhishma died on the arrow bed บนผนังระเบียง southwest corridor ของปราสาท Angkor wat

แสงอาทิตย์ Sunset ส่องเข้าไปที่ระเบียงด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทนครวัด

โปรแกรมดาราศาสตร์ (The Starry Night) แสดงตำแหน่งดวงอาทิตย์ sunset on winter solstice ณ ปราสาท Angkor wat ที่มุมกวาด 245 องศา

ปัจจุบันกองทัพบกอินเดียตั้งชื่อรถถังประจันบาน รุ่น T- 90 ว่า Tank Bhishma ตามชื่อยอดนักรบผู้เกรียงไกรในสงครามมหาภารตะ
วัตถุประสงค์ และวิธีการของ Operation Bhishma
วัตถุประสงค์ พิสูจน์ว่าการหมุนรอบตัวเองและการโคจรของโลกยังอยู่ในภาวะปกติหรือไม่ ?
วิธีการ ใช้ตำแหน่งและมุมตกกระทบของดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ "เหมายัน" (winter solstice 21 - 22 December 2016) 21 - 22 ธันวาคม 2559 เป็นตัวชี้วัด โดยเก็บข้อมูล ณ ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร ประเทศไทย เช้าตรู่วันที่ 21 ธันวาคม เปรียบเทียบกับข้อมูลอีกซีกโลก ณ เมือง Ankeny (Des Moines) รัฐ Iowa สหรัฐอเมริกา วันที่ 22 ธันวาคม โดยมีข้อกำหนดที่คำนวณไว้ล่วงหน้าจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์ (The Starry Night) ดังรายละเอียดต่อไปนี้
Team A ปฏิบัติการที่ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร ประเทศไทย
ตำแหน่งดวงอาทิตย์ยามเช้าที่ปราสาทภูเพ็กต้องเท่ากับมุมกวาด 115 องศา (azimuth 115) โดยใช้แท่งหินที่เรียกว่า "ครรภบัตร" (deposit stone) เป็นเครื่องชี้วัด แท่งหินทรายขนาด 56 ซม x 56 ซม อันนี้ทำขึ้นเมื่อคราวก่อสร้างปราสาทภูเพ็กในยุคขอมเรืองอำนาจ นักโบราณคดีจากกรมศิลปากรให้ความเห็นว่ามีสัญลักษณ์ที่สื่อถึงผังจักรวาล (หนังสือย้อนอดีตสกลนคร กรมศิลปากร) ผมตั้งชื่อแท่งหินนี้ว่า "สุริยะปฏิทินขอมพันปี" เพราะสามารถชี้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญได้อย่างแม่นยำ
จริงๆแล้วแท่งหิน "ครรภบัตร" จะใช้ฝังอยู่ข้างใต้ศิวะลึงค์และฐานโยนี แต่ยังสร้างไม่เสร็จจึงนำมาวางไว้ที่หน้าประตูปราสาทภูเพ็ก ผมได้พิสูจน์นานกว่าสิบปีตั้งแต่ปรากฏการณ์ "ศารทวิษุวัต" 23 กันยายน 2544 (autumnal equinox 2001) พบว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวตรงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์สำคัญ จึงตั้งชื่อหินแท่งนี้ว่า "สุริยะปฏิทินขอมพันปี"
แท่งหิน "ครรภบัตร" ขนาด 56 ซม x 56 ซม ตั้งอยู่หน้าประตูปราสาทภูเพ็ก มีสัญลักษณ์ตรงกับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ นักโบราณคดีจากกรมศิลปากรอธิบายว่าเป็น "ผังจักรวาล" แต่ผมตั้งชื่อให้ใหม่ว่า "สุริยะปฏิทินขอมพันปี"

สุริยะปฏิทินขอมพันปีทำหน้าที่ชี้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ Uttarayana หรือ Winter Solstice เช้าตรู่วันที่ 21 ธันวาคม 2559 ได้อย่างแม่นยำที่มุมกวาด 115 องศา (ภาพขวามือถ่ายเมื่อ 21 ธันวาคม 2558)

โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์แสดงตำแหน่งดวงอาทิตย์ยามเช้าที่มุมกวาด 115 องศา (Azimuth 115) ในปรากฏการณ์ winter solstice 21 December 2016 ที่ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร ประเทศไทย
อนึ่ง เหตุผลที่เลือกปราสาทภูเพ็กเป็นสถานที่ปฏิบัติการ Operation Bhishma เพราะโบราณสถานแห่งนี้มีคุณสมบัติทางดาราศาสตร์ครบถ้วน ประการแรกตั้งอยู่บนภูเขาสูง +520 เมตรจากระดับน้ำทะเลและมีรูปร่างคล้ายเขาพระสุเมรุ ประการที่สองผู้สร้างได้ออกแบบให้หันหน้าเข้าหาตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ "วิษุวัต" (equinox) กลางวันเท่ากับกลางคืนเป็นวันปีใหม่ของปฏิทินมหาศักราชซึ่งอาณาจักรขอมใช้อยู่

ปราสาทภูเพ็กตั้งอยู่บนยอดภูเขาชื่อภูเพ็กสูงจากระดับน้ำทะเล 520 เมตร และมีรูปร่างคล้ายเขาพระสุเมรุ

ปราสาทภูเพ็กสร้างในยุคขอมเรืองอำนาจแต่ยังสร้างไม่เสร็จ ตามความเห็นส่วนตัวของผมเชื่อว่าสร้างในยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และเหตุผลที่สร้างไม่เสร็จก็เพราะมีการเปลี่ยนแผ่นดิน

ทัศนียภาพยามเช้าเมื่อมองออกไปทางทิศตะวันออกของปราสาทภูเพ็ก

ดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ "วิษุวัต" (equinox) ตรงกับประตูปราสาทภูเพ็ก
ปราสาทภูเพ็ก เป็นจุดนัดพบที่ลงตัวระหว่างวิทยาศาสตร์และศาสตร์แห่งความเชื่อ เช้ามืดวันที่ 21 ธันวาคม 2559 มีคณะหมอธรรมจากจังหวัดหนองบัวลำภูมาทำพิธีรับพลังสุริยะในปรากฏการณ์ "เหมายัน" เพราะเขาเหล่านั้นเชื่อว่าเป็นมงคลแห่งชีวิต Team A จึงได้พบกับคณะนี้โดยบังเอิญและต่อสายถ่ายทอดสด online ผ่านโปรแกรม facebook ให้คุยกับผมที่สหรัฐอเมริกา ท่านหมอธรรมยืนยันข้ามทวีปว่าปราสาทหลังนี้เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์

คณะหมอธรรมนั่งสมาธิรับพลังสุริยะในตัวปราสาทภูเพ็ก
อาจารย์ภูริภูมิ ชมภูนุช ทำหน้าที่ถือ Ipad ให้ท่านหมอธรรมคุยข้ามทวีปกับผมที่สหรัฐอเมริกา เช้าวันที่ 21 ธันวาคม 2559 07:00 น. เวลาท้องถิ่นประเทศไทย และของผมที่เมือง Ankeny รัฐ Iowa USA เป็นเวลา 20:00 น. ของวันที่ 20 ธันวาคม 2559
อีกภาพหนึ่งของการสนทนาข้ามทวีประหว่างหมอธรรมที่ปราสาทภูเพ็ก กับผม Team B ที่สหรัฐอเมริกา

ถ่ายภาพร่วมกันระหว่าง Team A กับท่านหมอธรรมหลังจากทั้งคู่เสร็จภารกิจ ฝ่ายหนึ่งปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์อีกฝ่ายปฏิบัติการทางศาสตร์แห่งความเชื่อ

Team A ทดสอบใช้ "นาฬิกาแดด" จับเวลาที่ปราสาทภูเพ็ก โดยวางทาบกับแนวเส้น equinox ที่ธรณีประตูทิศตะวันออก
อนึ่ง ในค่ำคืนวันที่ 20 ธันวาคม Team A ส่ง facebook มาบอกให้ผมช่วยอธิบายดวงดาวสำคัญขณะนั้นให้หน่อยเพราะท้องฟ้าที่ปราสาทภูเพ็กสดใสมาก ก็เลยรีบส่งภาพไปให้ดูว่ามีกลุ่มดาวสำคัญที่น่าสนดังนี้

กลุ่มดาว winter triangle หรือสามเหลี่ยมฤดูหนาว

กลุ่มดาวนายพราน Orion เดินนำหน้ากลุ่มดาวหมาใหญ่ Canis Major
Team B ผมเองครับสรรค์สนธิ บุณโยทยาน นักพิภพวิทยา ลุยเดี่ยวปฏิบัติการที่บ้านในเมือง Ankeny รัฐ Iowa USA ที่นี่ไม่มีโบราณสถานเหมือนสกลนครจึงจำเป็นต้องผลิตอุปกรณ์ขึ้นมาใช้งานเฉพาะกิจ เป็นนาฬิกาแดดชนิด Horizontal

Team B ปฏิบัติการแบบลุยเดี่ยว ณ บ้านเลขที่ 302 SW Oakmont Drive Ankeny Iowa USA
อุปกรณ์ที่เรียกว่า "นาฬิกาแดดชนิดขนานกับพื้นโลก" (horizontal sundial) ถูกออกแบบให้เข้ากับเมือง Ankeny Iowa เส้นรุ้งที่ 41.7 องศาเหนือ มีความสัมพันธ์กับการหมุนรอบตัวเองของโลกในเชิงมุม และเส้น shadow curve ของปรากฏการณ์ "เหมายัน" (winter solstice) ณ ตำแหน่งเส้นรุ้ง 41.7 องศาเหนือ พูดง่ายว่ามุมตกกระทบของดวงอาทิตย์ที่กระทำตอผิวโลกจะต้องสัมพันธ์กับการทำงานของนาฬิกาแดด ใน 2 ลักษณะกล่าวคือ
1. เงานาฬิกาแดดจะเคลื่อนตัวในพิกัด 15 องศาต่อชั่วโมง สอดคล้องกับการหมุนรอบตัวเองของโลก (Earth' Rotation) ในเชิงมุม 15 องศาต่อชั่วโมง หรือ 360 องศาต่อ 24 ชั่วโมง
2. เงานาฬิกาแดดจะต้องเคลื่อนตัวสอดคล้องกับ winter solstice curve โดยไม่แตกแถว

เข็มของนาฬิกาแดดชนิด horizontal ต้องทำมุมเงยเท่ากับเส้นรุ้ง 41.7 องศา ในภาพเป็นการเปรียบเทียบระหว่างนาฬิกาแดดขนาดเล็กที่ทำด้วยกระดาษแข็ง กับนาฬิกาแดดขนาดใหญ่ที่ Drake University ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียง

Worksheet การคำนวณเพื่อออกแบบนาฬิกาแดดชนิด horizontal ณ เส้นรุ้ง 41.7 N

ถ้าการหมุนรอบตัวเองและตำแหน่งในวงโคจรของโลก (Earth's Rotation and Revolution) ยังคงปกติ นาฬิกาแดดจะทำงานสอดคล้องกับการออกแบบโดยเงาของเวลาจะเคลื่อนตัวในอัตรา 15 องศาต่อชั่วโมง ขณะเดียวกันเงาจะต้องเคลื่อนตัวตาม winter solstice curve
Winter solstice curve มีลักษณะเป็นเส้นโค้งสอดคล้องกับตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ winter solstice

แสดงการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ เป็นผลให้มุมตกกระทบต่อพื้นโลกเปลี่ยนไปตามปรากฏการณ์นั้นๆ
นาฬิกาแดดจะต้องถูกวางให้หันหน้าไปหาทิศเหนือแท้หรือทิศเหนือภูมิศาสตร์ (true north or geographic north) เป็นการบังเอิญอย่างยิ่งที่รัฐ Iowa USA ตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งค่าเบี่ยงเบนระหว่างทิศเหนือแม่เหล็กกับทิศเหนือภูมิศาสตร์ มีค่าเป็น "ศูนย์" ทำให้ผมสามารถใช้เข็มทิศแม่เหล็ก (magnetic compass) ในการวางนาฬิกาแดดอย่างง่ายดาย ถ้าไม่งั้นต้องหันไปพึ่งพาอุปกรณ์ไฮเท็คที่เรียกว่า GPS อยู่ใน Iphone แต่ก็มักจะมีปัญหาถูกคลื่นรบกวนทำให้เกิดการแปรปรวนจนหมดอารมณ์บ่อยมากถึงมากที่สุด
.jpg)
การใช้นาฬิกาแดดเพื่อตรวจสอบอัตราการหมุนรอบตัวเองของโลกจำเป็นต้องพึ่ง "สมการแห่งเวลา" (equation of time) ซึ่งเป็นตัวปรับชดเชยระหว่าง clock time กับ sundial time (solar time) ซึ่งไม่เท่ากันในแต่และวัน ตามข้อมูลของสมการนี้ ณ วันที่ 22 ธันวาคม clock time เร็วกว่า sundial time หรือ solar time เป็นเวลา 13 นาที

วิธีการคำนวณเพื่อสร้าง "สมการแห่งเวลา" (equation of time) ต้องใช้โปรแกรมดาราศาสตร์เป็นตัวช่วยเพื่อให้รู้ความสัมพันธ์ระหว่าง solar time กับ clock time ในแต่ละวันของรอบปี และนำตัวเลขเหล่านั้นมา plot curve ยกตัวอย่างวันที่ 22 December 2016 clock time เร็วกว่า solar time 13 นาที ดังนั้นเวลาเที่ยงตรงของ solar time (solar Noon) จะเท่ากับ clock time 12:13
จากภาพถ่ายข้างล่างจะเห็นว่า ........ ตั้งแต่เวลา 10:00 น ตามเวลานาฬิกาแดด (solar time) หรือ 10:13 น เวลาของนาฬิกาข้อมือ (clock time) ไปจนถึงเวลา 14:00 น. ของ solar time เงานาฬิกาแดดซึ่งเกิดจากมุมตกกระทบของดวงอาทิตย์ทำงานเป็นปกติที่อัตราการเคลื่อนตัว 15 องศาต่อชั่วโมง และก็อยู่ใน winter solstice curve โดยไม่แตกแถว
มุมกวาดของดวงอาทิตย์ นอกจากการใช้นาฬิกาแดดแล้ว Team B ยังใช้การตรวจสอบตำแหน่งดวงอาทิตย์ยามเช้า (sunrise on winter solstice 22 December 2016) ว่าทำมุมตรงกับข้อมูลของโปรแกรมดาราศาสตร์หรือไม่ ถ้าวงโคจร (Earth's Revolution) และมุมเอียงของโลก (Earth's Tilt) อยู่ในภาวะปกติ ดวงอาทิตย์ที่เมือง Ankeny Iowa USA เส้นรุ้ง 41.7 องศาเหนือ จะต้องตรงกับมุมกวาด 124 องศา (Azimuth 124) ผมชอบใช้คำพูดว่า ...... สุริยะเทพท่านมาตามนัด และใช้ภาษาอังกฤษว่า The Sun God Never Break His Promise
sunrise ณ เมือง Ankeny Iowa USA ตรงกับตำแหน่งมุมกวาด 124 องศา (Azimuth 124)

สรุป
Operation Bhishma 2016 ประสบความสำเร็จทุกประการ ทำให้พิสูจน์ทราบว่าการหมุนรอบตัวเองและวงโคจรของโลกยังคงอยู่ในภาวะปกติ (Earth's Rotation and Revolution are normal) เพราะตำแหน่งของดวงอาทิตย์ที่ทำมุมตกกระทบต่อผิวโลกเป็นไปตามสูตรที่องค์การดาราศาสตร์สากลกำหนดค่าทางคณิตศาสตร์ไว้เรียบร้อยแล้ว คณะทำงาน Team A และ Team B ทำหน้าที่เก็บข้อมูลด้วยวิธีการและอุปกรณ์เพื่อยืนยันว่า ...... โลกของเราใบนี้ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างปกติสุข ...... ส่วนปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น ภูมิอากาศแปรปรวน อากาศเป็นพิษ น้ำท่วม ฝนแล้ง ล้วนเป็นฝีมือของเราๆท่านๆที่ไม่สนใจรักษาความสมดุลธรรมชาติ ตั้งหน้าตั้งตาทำลายทรัพยากรอย่างไม่หยุดยั้งโดยอ้างอย่างเดียวว่า ...... เพื่อความเจริญและความมั่งคั่ง
ถ้ายอดนักรบ Bhishma ฟื้นขึ้นมาใหม่และต้องมาใช้ชีวิตร่วมกับเราทั้งหลายในยุค "มนุษย์ก้มหน้า" ท่านคงจะพูดคำเดียวว่า ....... โชคดีที่ตูข้าตายก่อนตั้งนานแล้วโว้ย
โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะเอียงประมาณ 23.5 องศา ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ตรงกับวันต่างๆในปฏิทินสากล

Operation Bhishma 2016 ตรงกับปรากฏการณ์ winter solstice 21 - 22 December ดวงอาทิตย์ทำมุม 90 องศากับผิวโลก ณ เส้นรุ้ง 23.5 องศาใต้ (tropic of Capricorn)
อนึ่ง การที่ยอดนักรบ Bhishma ยอมตายด้วการล้มมวยก็เพราะต้องการ "ยุติสงครามระหว่างญาติพี่น้อง" ดังนั้น ปรากฏการณ์ Uttara Yana หรือ เหมายัน หรือ Winter Solstice น่าจะหมายถึงสัญลักษณ์แห่ง "สันติภาพ"