ปฏิบัติการดาราศาสตร์ "วสันตวิษุวัต" ข้ามทวีป ไทย กัมพูชา และเม็กซิโก 2559
Operation Transcontinental Equinox 2016 Thailand Cambodia and Mexico
ตรวจสอบสถานภาพของแกนโลกว่ายังคงปกติอยู่หรือไม่? ........ โดยใช้ปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" ณ โบราณสถานสำคัญ 4 แห่ง ในประเทศไทย กัมพูชา และเม็กซิโก

เตรียมโครงการ
ผมเกิดความคิดริเริ่มโครงการนี้มาตั้งแต่ไปเม็กซิโกครั้งแรกเมื่อ 5 - 6 สิงหาคม 2558 ในปฏิบัติการวันสิ้นโลกภาค 2 (Operation Doomsday Episode II) ระหว่างปีรามิดกูกูลข่าน ซิเช่นอีสซ่า (Kukulkan Chichen Itza) กับปราสาทภูเพ็กและพระธาตุเชิงชุม สกลนคร ประเทศไทย เนื่องจากปีรามิดแห่งนี้มีชื่อเสียงระดับโลกที่ผู้คนจากหลายประเทศต้องแห่กันมาดูปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" เพราะอยากเห็นภาพเทพเจ้ากูกูลข่านในร่างพระยางูยักษ์เลื้อยลงมาจากยอดปีรามิด ผมเองก็อยากเห็นภาพนี้ด้วยตาตัวเองแบบตัวจริงเสียงจริง จึงคิดว่าต้องมาที่นี้ให้ตรงกับปรากฏการณ์วสันตวิษุวัติ (vernal equinox 2016) ในช่วงวันที่ 19 - 23 มีนาคม 2559 อีกเหตุผลนึงผมเคยใช้ภาพปรากฏการณ์ดังกล่าวจาก Google ทำโลโก้ "ปฏิบัติการวันสิ้นโลก" 21 ธันวาคม 2555 (Operation Doomsday 21 December 2012) คราวนี้ต้องได้ภาพจากฝีมือตนเองสักที
โลโก้ปฏิบัติการวันสิ้นโลกระหว่างปราสาทภูเพ็กกับปีรามิดกูกูลข่าน
วันที่ 7 มีนาคม 2559 ผมบินจากประเทศไทยไปที่รัฐ Oklahoma พักอยู่ที่บ้านลูกสาวคนโตเพื่อปรับสภาพร่างกายให้คุ้นเคยกับเวลาที่ต่างกัน 12 ชั่วโมงระหว่างประเทศไทยกับทวีปอเมริกา (เม็กซิโกอยู่ติดตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาอยู่ในเขต time zone เดียวกันกับรัฐ Texas) วันที่ 18 มีนาคม บินจากโอคลาโฮม่าผ่านฮิวตั้นไปลงประเทศเม็กซิโกที่เมือง Cancun พักหนึ่งคืน เช้าวันที่ 19 มีนาคมรีบจับรถบัสไปยังเมือง Valladolid พักที่โรงแรม Hacienda San Miguel อยู่ห่างจากสถานที่ตั้งปีรามิดกูกูลข่านราว 40 กิโลเมตร ไปถึงที่นั่นราวบ่ายโมงเศษพอเช็กอินเสร็จ ก็รีบเหมาแท๊กซี่ตรงไปยังแหล่งโบราณสถานชาวมายา "ชิเช่น อีสซ่า" (Chichen Itza) เป็นที่ตั้งของปีรามิดกูกูลข่าน เพราะผมทราบข้อมูลล่วงหน้าแล้วว่าปีนี้ 2016 ปรากฏการณ์วสันตวิษุวัติจะเกิด ณ เวลา 04:30 GMT วันที่ 20 มีนาคม 2016 ตรงกับเวลาท้องถิ่น 21:30 วันที่ 19 มีนาคม ณ ชิเช่น อีสซ่า แหลมยูคาตัน เม็กซิโก ดังนั้นในบ่ายแก่ๆของวันที่ 19 มีนาคม ต้องได้เห็นปรากฏการณ์แน่นอน

ปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" ปี 2016 เกิด ณ GMT 04:30 วันที่ 20 มีนาคม 2016 ตรงกับเวลาท้องถิ่น 21:30 วันที่ 19 มีนาคม ณ โบราณสถาน Chichen Itza Mexico และเวลาท้องถิ่น 11:30 วันที่ 20 มีนาคม ประเทศไทย
ก่อนอื่นผมใคร่ขออุ่นเครื่องวิชาดาราศาสตร์สักเล็กน้อยเพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มองเห็นภาพของปรากฏการณ์สำคัญสี่ฤดูของโลกใบนี้

โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ลักษณะเอียงจากแนวดิ่งประมาณ 23.5 องศา ทำให้เกิดปรากฏการณ์สำคัญ 4 อย่างอันเป็นที่มาของ "ฤดูกาล" เริ่มต้นที่อันดับแรก "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) กลางวันเท่ากับกลางคืนเป็นฤดูใบไม้ผลิ อันดับที่สอง "ครีษมายัน" (Summer Solstice) กลางวันยาวที่สุดเป็นฤดูร้อน อันดับที่สาม "ศารทวิษุวัต" (Autumnal Equinox) กลางวันเท่ากับกลางคืนอีกครั้งหนึ่งเป็นฤดูใบไม้ร่วงอันดับที่สี่ "เหมายัน" (Winter Solstice) กลางคืนยาวที่สุดเป็นฤดูหนาว

ปรากฏการณ์ "วิษุวัต" ปีละ 2 ครั้ง คือ "วสันตวิษุวัต" 21 มีนาคม ฤดูใบไม้ผลิ (Vernal Equinox) และ "ศารทวิษุวัต" 23 กันยายน ฤดูใบไม้ร่วง (Autumnal Equinox) กลางวันเท่ากับกลางคืน เพราะดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับโลก ณ เส้นศูนย์สูตร

ครีษมายัน 21 มิถุนายน (Summer Solstice) ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับโลก ณ เส้นรุ้ง 23.5 องศาเหนือ หรือ Tropic of Cancer เป็นฤดูร้อน

เหมายัน 21 ธันวาคม (Winter Solstice) กลางคืนยาวที่สุด ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับโลก ณ เส้นรุ้ง 23.5 องศาใต้ หรือ Tropic of Capricorn เป็นฤดูหนาว
เตรียมทีมงานและสถานที่ปฏิบัติการ
ได้เตรียมทีมงานปฏิบัติการดาราศาสตร์ข้ามทวีป 4 ทีม ประจำการใน 3 ประเทศ
Team A ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร Thailand
Team B เชียงใหม่ ประตูท่าแพ วัดพระสิงห์ และวัดเจดีย์หลวง Thailand
Team C โบราณสถาน Chichen Itza แหลม Yucatan, Mexico
Team D เมือง Siem Reap, Cambodia

แผนที่แสดงตำแหน่งประจำการของทีมงานปฏิบัติการดาราศาสตร์ข้ามทวีป

แผนที่แสดงสถานที่ปฏิบัติการ Team A Team B และ Team D Thailand and Cambodia
Team A ปฏิบัติการที่ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร ประกอบด้วยคณะอาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครชื่อตาม Facebook: Bhuribhumi Chombhunuch, Dulasujarit Thawatchai, Chauvana Khaikaew และคณะนักศึกษาหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษาเพื่อการพัฒนา



Team B ปฏิบัติการที่ประตูท่าแพ วัดพระสิงห์ และวัดเจดีย์หลวง ในตัวเมืองเก่าเชียงใหม่ เป็นคณะมัคคุเทศก์อาชีพจากชมรมมัคคุเทศก์ภาคเหนือ


Team C ผมเองครับ สรรค์สนธิ บุณโยทยาน ลุยเดี่ยวที่โบราณสถาน Chichen Itza แหลม Yucatan ประเทศ Mexico


Team D มัคคุเทศก์อาชีพ คุณ Nuanwan Hansanawin ลุยเดี่ยวอยู่ที่เมือง Siem Reap Cambodia

วัตถุประสงค์ ....... ตรวจสอบสถานภาพของโลก 3 ประการ
1.แกนโลก (Earth's axis)
2.อัตราการหมุนรอบตัวเองของโลก (Earth's rotation)
3.สถานภาพของแม่เหล็กโลก (Earth's magnetic declination)
วิธีการตรวจสอบ ...... สองแนวทาง
ท่านผู้อ่านอาจตั้งคำถามว่า ..... ทำไมต้องเลือกปฏิบัติการช่วง "วสันตวิษุวัต" คำตอบก็คือ .......ในปรากฏการณ์นี้เส้นศูนย์สูตรของโลกทำมุมฉากกับดวงอาทิตย์ทำให้ดวงอาทิตย์ทั่วโลกขึ้นที่ตำแหน่ง "ทิศตะวันออกแท้" (true east) โบราณสถานสำคัญต่างๆในหลายประเทศถูกออกแบบและก่อสร้างให้มีความสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ เช่น ปราสาทขอม ประตูท่าแพที่เมืองเก่าเชียงใหม่ และปีรามิดของชาวมายาที่เม็กซิโก อีกทั้งมุมตกกระทบของดวงอาทิตย์ในวันนี้ก็สามารถเข้าสูตรสมการเพื่อคำนวณมุมเอียงแกนโลกได้
อีกคำถามนึง ........ ทำไมต้องปฏิบัติการข้ามทวีประหว่างประเทศไทย ประเทศกัมพูชา และประเทศเม็กซิโก คำตอบคือ ....... การทำงานทางวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องมีการเปรียบเทียบระหว่างตัวแปรอย่างน้อยสองตัวเพื่อให้แน่ใจว่ามีความถูกต้อง เช่น มุมตกกระทบของดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" ที่ทวีปเอเซียกับทวีปอเมริกาซึ่งตั้งอยู่คนละซีกโลกต้องอยู่ในเกณฑ์หรือ pattern เดียวกัน เพราะทั้งสองทวีปก็อยู่ในโลกใบเดียวกัน
1.เชิงประจักษ์ ใช้การถ่ายภาพตำแหน่งดวงอาทิตย์ในโบราณสถานสำคัญที่มีความสัมพันธ์กับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) โดยใช้หลักการว่า "สุริยะเทพมาตามนัด" ผมใช้สำนวนภาษาอังกฤษว่า Sun God Never Brake His Promise
2.เชิงวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
2.1 เงาดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์วสันตวิษุวัต ..... เป็นเส้นตรงตาม rule curve
2.2 สมการแห่งเวลา (eqation of time) ระหว่างนาฬิกาแดดและนาฬิกาข้อมือยังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ Solar Time = Clock Time
2.3 ความสัมพันธ์ระหว่างแม่เหล็กโลกกับเข็มทิศยังคงอยู่ในสภาพปกติ magnetic declination at Chichen Itza = zero
2.4 อัตราการหมุนรอบตัวเองของโลกยังปกติที่ 15 องศา ต่อชั่วโมง
2.5 ผลต่างระหว่างมุมตกกระทบของดวงอาทิตย์ ณ เที่ยงสุริยะของปรากฏการณ์ winter solstice กับ vernal equinox มีค่าใกล้เคียงกับ 23.44 องศา หรือที่คนทั่วไปมักใช้ตัวเลข 23.5 องศา
ผลปฏิบัติการ
Team A ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร
ทีมนี้ได้รับภารกิจ 2 เรื่อง คือเชิงประจักษ์โดยภาพถ่ายดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" และเชิงข้อมูลวิทยาศาสตร์โดยใช้อุปกรณ์ "นาฬิกาแดด ชนิด horizontal sundial" ที่ออกแบบไว้ล่วงหน้าเพื่อสอบเทียบตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ดังกล่าว ทีมงานประกอบด้วยอาจารย์ 3 ท่าน จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และนักศึกษาหลักสูตรวัฒนธรรมศึกษาเพื่อการพัฒนา ทีมงานทั้งหมดปีนขึ้นไปตั้งแคมป์นอนค้างบนปราสาทภูเพ็กบนยอดภูเขาสูง 520 เมตร จากระดับน้ำทะเลตั้งแต่เย็นวันที่ 20 มีนาคม เช้ามืดวันที่ 21 มีนาคมทีมงานเริ่มปฏิบัติการตามสูตรคือถ่ายภาพดวงอาทิตย์และใช้นาฬิกาแดดเก็บข้อมูลตำแหน่งดวงอาทิตย์
ปฏิบัติการเชิงประจักษ์ หรือเรียกง่ายๆว่า "ตาดูหูฟัง" ใช้ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" ที่ปราสาทภูเพ็กซึ่งถูกก่อสร้างให้หันหน้าเข้าหาทิศตะวันออกแท้ ดังนั้นในเช้าวันนี้ดวงอาทิตย์ต้องขึ้นตรงกับ center line ของประตูปราสาท และตรงกับ center line ของแท่งหินที่ผมตั้งชื่อว่า "สุริยะปฏิทิน" ผมชอบพูดเสมอๆว่า ....... ท่านสุริยะเทพมาตามนัด หรือในสำนวนภาษาอังกฤษ Sun God Never Break His Promise
เช้ามืดวันที่ 21 มีนาคม ดาวศุกร์หรือดาวเพ็กหรือดาวประกายพฤษ์ขึ้นนำหน้าดวงอาทิตย์ อนึ่งชื่อดาวเพ็กเป็นที่มาของนิทานเรื่อง "เพ็กมุสา" ที่ต่อมากลายเป็น "อรดีมายา" โดยกล่าวถึงฝ่ายหญิงกับฝ่ายชายแข่งขันสร้างปราสาทให้เสร็จทันดาวเพ็กขึ้นหากฝ่ายใดชนะก็จะได้ "อุรังคธาตุ" ไปครอบครอง ตามท้องเรื่องฝ่ายหญิงใช้อุบายไปล่อลวงให้ฝ่ายชายหลงใหลจนไม่เป็นอันทำงานก่อสร้างและยังทำคบไฟหลอกว่าดาวเพ็กขึ้นแล้วเป็นเหตุให้พ่ายแพ้แก่ฝ่ายหญิง อย่างไรก็ตาม "ปราสาทภูเพ็ก" ก็สร้างไม่เสร็จจริงๆ
ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงหน้าปราสาทภูเพ็กเช้าตรู่วันที่ 21 มีนาคม
Team A ประเดิมด้วยการจับตำแหน่งดวงอาทิตย์ด้วยเครื่องหมายบนก้อนหินที่ผมเรียกว่า "สุริยะปฏิทิน" เพราะในปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงกับ center ของหินแท่งนี้ อนึ่งหินแท่งนี้คือ "ครรภบัตร" (deposit stone) ฝังอยู่ใต้ฐานโยนีและศิวะลึงค์ หนังสือ "ย้อนอดีตสกลนคร" ของกรมศิลปากรอธิบายว่าครรภบัตรเปรียบเสมือน "ผังจักรวาล"
ภาพถ่ายปี 2003 แสดงตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) เปรียบเทียบกับแท่งหิน "ครรภบัตร" หรือที่ผมเรียกว่า "สุริยะปฏิทิน"
ภาพถ่ายดวงอาทิตย์กับแท่งหิน "สุริยะปฏิทิน" เช้าวันที่ 21 มีนาคม 2559 โดยอาจารย์ Bhuribhumi Chombhunuch ทำหน้าที่เป็นพรีเซนเต้อร์ เห็นได้เชิงประจักษ์ว่าดวงอาทิตย์ตรงกับ center line ของแท่งหิน
ตำแหน่งดวงอาทิตย์เปรียบเทียบกับ center line ของประตูปราสาทภูเพ็ก
ปฏิบัติการเชิงวิทยาศาสตร์ ที่ปราสาทภูเพ็ก ......... พบว่าแกนโลก (Earth's axis tilt) อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยดูจากผลการตรวจสอบของนาฬิกาแดดและการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
ตรวจสอบ pattern เงาของดวงอาทิตย์ด้วยนาฬิกาแดดเพื่อยืนยันว่าเป็นไปตามกฏแห่งดาราศาสตร์

ทีมงานเอานาฬิกาแดดไปตั้งที่ประตูปราสาทภูเพ็ก

ผมได้ออกแบบนาฬิกาแดด 2 อัน อันแรก (สีแดง) ใช้ที่ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร ประเทศไทย โดยได้ซักซ้อมวิธีการใช้งานกับอาจารย์ Chauvana Khaikaew ซึ่งจบมหาบัณฑิตศิลปากร อันที่สอง (สีขาว) ใช้กับปีรามิด Kukulkan Chichen Itza ประเทศเม็กซิโก
ได้ออกแบบนาฬิกาแดดอันนี้เพื่อใช้กับปราสาทภูเพ็กที่ตำแหน่งเส้นรุ้ง 17.2 องศาเหนือ (Lat 17.2 N) โดยคำนวณล่วงหน้าว่าในปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) เงาของดวงอาทิตย์จะเป็น "เส้นตรง" และมุมตกกระทบ ณ เวลาเที่ยงสุริยะ (solar noon) จะเท่ากับองศาของเส้นรุ้งคือ 17.2 องศา โดยมีความยาว 1.25 ซม. และความสูงของนาฬิกาแดด (gnomon height) เท่ากับ 4 ซม. ดังนั้นในวันนี้เงาของนาฬิกาแดดจะต้องเคลื่อนตัวเป็นเส้นตรงตาม Equinox Line ที่กำหนด

เปรียบเทียบเงาของนาฬิกาแดดกับ Equinox Line โปรดสังเกตว่านาฬิกาแดดต้องหันหน้าไปที่ "ทิศเหนือแท้" (true north) หรือ Azimuth 0 degree

เงาของนาฬิกาแดดเคลื่อนตัวเป็น "เส้นตรง" ตั้งแต่เวลา 07:50 จนถึง 08:30 และอยู่ใน Equinox Line ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่ามุมตกกระทบ ณ เวลา "เที่ยงสุริยะ" (solar noon) ต้องเท่ากับองศาของเส้นรุ้ง Latitude 17.2 องศา
คำนวณมุมเอียงของโลก ....... โดยใช้มุมตกกระทบดวงอาทิตย์ ณ เวลาเที่ยงสุริยะ (solar noon) ของปรากฏการณ์ "เหมายัน" (December 21) กับ "วสันตวิษุวัต" (March 21) ในการนี้ผมไปเก็บข้อมูลที่ปราสาทภูเพ็กซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขา 520 เมตร จากระดับน้ำทะเล ตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม 2558 และขอให้ Team A เก็บข้อมูลปรากฏการณ์วสันตวิษุวัต 21 มีนาคม 2559 และนี่คือผลการคำนวณ

การพิสูจน์ด้วยทฤษฏีของท่าน Pythagoras ในวิชาเรขาคณิตชี้ให้เห็นว่ามุมตกกระทบของดวงอาทิตย์ ณ เวลาเที่ยงสุริยะ (solar noon) ในปรากฏการณ์ "วิษุวัต" (equinox) ต้องเท่ากับองศาของเส้นรุ้ง

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 ผมได้เก็บข้อมูลตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ "เหมายัน" (Winter Solstice) โดยใช้นาฬิกาแดดที่ปราสาทภูเพ็ก เพื่อใช้เป็นข้อมูลในสูตรคำนวณ "มุมเอียงแกนโลก" (Earth's axis tilt)

สูตรการคำนวณมุมเอียงแกนโลก (Earth's axis tilt) โดยใช้มุมตกกระทบ ณ เที่ยงสุริยะของปรากฏการณ์เหมายันหักลบกับวสันตวิษุวัต (ซึ่งเท่ากับองศาเส้นรุ้งที่ปราสาทภูเพ็ก) ตามสูตร t = A - a
นาฬิกาแดดชนิด vertical ติดตั้งที่ปราสาทภูเพ็กเพื่อเก็บข้อมูลมุมตกกระทบของดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ "เหมายัน" (Winter Solstice 21 Dec 2015)


.jpg)
ผลการคำนวณโดยหักลบระหว่างมุมตกกระทบของดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ "เหมายัน" (Winter solstice 21 Dec 2015) กับปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต (Vernal Equinox 21 March 2016) พบว่ามุมเอียงแกนโลกเท่ากับ 23.65 องศา คลาดเคลื่อน 0.21 องศา หรือ 0.89% จากมุมเอียงจริงๆที่ 23.44 องศา โดยหลักคณิศาสตร์ถือว่าความคลาดเคลื่อนไม่มีนัยสำคัญ (non-significant)
.jpg)
การเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดาราศาสตร์เพราะปราสาทภูเพ็กตั้งอยู่ที่เส้นรุ้ง 17 องศาเหนือ ทำให้ sun-path จึงเอียงไปทางทิศใต้ด้วยมุม 17 องศา
สีสันระหว่างวิทยาศาสตร์และศาสตร์แห่งความเชื่อ ขณะที่ Team A กำลังปฏิบัติการดาราศาสตร์ บุคคลอีกกลุ่มก็กำลังทำพิธีบวงทรวงตามความเชื่อของเขาเหล่านั้น ทั้งสองฝ่ายต่างก็สนใจในภารกิจของตนเองโดยไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน
Team B ที่เมืองเก่าเชียงใหม่เก็บภาพถ่ายดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัติ" (vernal equinox 21 March 2016) ณ ประตูท่าแพ วัดพระสิงห์ และวัดเจดีย์หลวง เพื่อยืนยันว่า "สุริยะเทพ" มาตามนัด
.jpg)
บรรยากาศที่ประตูท่าแพก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น
ถ่ายภาพดวงอาทิตย์ที่ประตูท่าแพฝีมือของไกด์ Pom
อีกภาพแห่งความสวยงาม
.jpg)
นี่ก็สวยงาม
.jpg)
พระภิกษุสองรูปมาพร้อมกับสุริยะเทพที่ประตูท่าแพ

ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับ center line ของวัดพระสิงห์
.jpg)
พอสายสักหน่อยดวงอาทิตย์เริ่มคล้อยไปทางทิศใต้ทำให้เงาของอุโบสถวัดเจดีย์หลวงทอดเอียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
.jpg)
Grapic แสดงตำแหน่งดวงอาทิตย์ยามสายในปรากฏการณ์ "วสัตวิษุวัต" ดวงอาทิตย์คล้อยไปทางทิศใต้ทำให้เงาทอดไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

เมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่ที่เส้นรุ้ง 18 องศาเหนือ ทำให้ sun-path เอียงไปทางทิศใต้ด้วยมุม 18 องศา

แสงอาทิตย์ "ยามสาย" ของปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" จะเอียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

ภาพถ่ายฝีมือไกด์ Pom ที่อุโบสถวัดเจดีย์หลวง แสงอาทิตย์เอียงไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
ภาพถ่ายวัดเจดีย์หลวงฝีมือไกด์ Loveu Angelina
Team C ผมลุยเดี่ยวที่โบราณสถาน Chichen Itza คาบสมุทร Yucatan ประเทศเม็กซิโก โดยปฏิบัติการ ณ ปีรามิด Kukulkan
เชิงประจักษ์ ............ ในปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) ดวงอาทิตย์ช่วงบ่ายแก่ๆทำมุมกับตัวปีรามิดและเกิดเงาเหมือนงูยักษ์กำลังเลื้อยลงมาจากข้างบน
กำลังรอให้ดวงอาทิตย์เข้าตำแหน่งกับตัวปีรามิด

ใช้นาฬิกาแดดชนิด Horizontal Sundial เป็นเครื่องมือจับเวลา

Stage one ดวงอาทิตย์เริ่มเข้าตำแหน่ง ณ เวลา 15:45 โดยเริ่มจากเงาข้างบนสุด
.jpg)
Stage two 16:20 น. เริ่มปรากฏรูปร่าง

Stage three เวลา 16:30 น. รูปร่างงูยักษ์ชัดขึ้น

Stage four เวลา 17:10 น. งูยักษ์ปรากฏเต็มตัว
.jpg)
ผู้สร้างปีรามิดหลังนี้ออกแบบได้ดีมากโดยให้เงาของงูยักษ์ไปเชื่อมกับ "หัวงู" ที่ตั้งอยู่ด้านล่างสุดบนพื้นดิน

ผมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกับปรากฏการณ์เชิงประจักษ์ที่ปีรามิด Kukulkan
ปฏิบัติการเชิงวิทยาศาสตร์ .........
ตรวจสอบแม่เหล็กโลก........แผนที่แม่เหล็กโลกมีเส้น agonic line พาดผ่านคามสมุทร Yucatan ซึ่งเป็นที่ตั้งของโบราณสถาน Chichen Itza ทำให้เข็มทิศแม่เหล็ก (magnetic compass) ณ สถานที่นี้ชี้ตรงกับตำแหน่งทิศเหนือแท้ (true north) อนึ่ง โดยปกติทั่วไปเข็มทิศแม่เหล็กจะไม่ตรงกับทิศเหนือแท้ จะมีการเบี่ยงเบนระหว่างกันตั้งแต่ 1 องศาขึ้นไป มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานที่นั้นๆ อนึ่งผมได้ออกแบบนาฬิกาแดดชนิด Horizontal เพื่อใช้ในปฏิบัติการ โดยอิงจากข้อมูล Google Earth ว่าโบราณสถานนี้ตั้งอยูที่เส้นรุ้ง 20.68 องศาเหนือ และนาฬิกาแดดต้องถูกวางให้หันหน้าตรงกับ "ทิศเหนือแท้" โดยใช้เข็มทิศธรรมดาเป็นตัวช่วย
การเบี่ยงเบนระหว่างเข็มทิศ (magnetic north) กับทิศเหนือแท้ (true north) หรือทิศเหนือภูมิศาสตร์ (geographic north)
ตัวอย่างแผนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาแสดงค่าเบี่ยงเบนของแม่เหล็กโลก โดยให้เส้น agonic line คือบริเวณที่เข็มทิศแม่เหล็กชี้ "ทิศเหนือแท้" นอกนั้นเป็นค่าเบี่ยงเบนไปทางซ้ายหรือทางขวา เช่น รัฐ California มีค่าเบี่ยงเบน easterly variation 15 องศา หมายถึงเข็มทิศจะเบี่ยงจากตำแหน่งทิศเหนือแท้ไปทางตะวันออก 15 องศา หากจะรู้ว่าทิศเหนือแท้อยู่ตรงไหนก็ต้องเพิ่มค่าของเข็มทิศไปทางทิศตะวันตก 15 องศา
.jpg)
ตัวอย่างการแสดงค่าเบี่ยงเบนของเข็มทิศจากทิศเหนือแท้ เบี่ยงเบนทางตะวันออกใช้สัญลักษณ์เครื่องหมาย + และตะวันตกใช้สัญลักษณ์เครื่องหมาย -

เส้น agonic line พาดผ่านคาบสนุทร Yucatan ประเทศเม็กซิโก ทำให้เข็มทิศแม่เหล็กชี้ตรงกับ "ทิศเหนือแท้" โดยมีค่าเบี่ยงเบนเท่ากับ "ศูนย์"
การตั้งนาฬิกาแดดให้ตรงกับ "ทิศเหนือแท้" (true north) ที่โบราณสถาน Chichen Itza ประเทศเม็กซิโกจึงสามารถใช้เข็มทิศได้อย่างสบายๆ เพราะเข็มทิศชี้ที่ "ทิศเหนือแท้" หรือพูดง่ายๆว่าค่าเบี่ยงเบน = 0 องศา

เวลาเที่ยงนาฬิกาแดด (solar noon) เงาดวงอาทิตย์จะชี้ตรงกับ "ทิศเหนือแท้" (true north) เมื่อเปรียบเทียบกับเข็มทิศแม่เหล็กก็ชี้ทิศเหนือแท้เช่นกัน
ตรวจสอบ "สมการแห่งเวลา" (equation of time) ........... ณ โบราณสถาน Chichen Itza Mexico โดยปกตินาฬิกาแดด (solar time) กับนาฬิกาข้อมือ (clock time) จะมีทั้งเร็วกว่าและช้ากว่า แต่มีบางช่วงนาฬิกาทั้งสอง "ตรงกันพอดี" เช่น ช่วงปรากฏการณ์วสันตวิษุวัตระหว่างวันที่ 19 - 22 มีนาคม ดังนั้นนี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ทำไมต้องมาปฏิบัติการ ณ สถานที่นี้ในช่วงวันนี้ อนึ่ง รายละเอียดเกี่ยวกับ "สมการแห่งเวลา" ผมได้เขียนไว้แล้วในบทความ "นาฬิกาแดด มิติเวลาแห่งมนุษยชาติ" เว้ปไซด์เดียวกันนี้

สมการแห่งเวลา (equation of time) ณ โบราณสถาน Chichen Itza เส้นรุ้ง 20.68 N เส้นแวง 88.56 W มีช่วงที่นาฬิกาแดดกับนาฬิกาข้อมือตรงกันคือ ระหว่างปรากฏการณ์วสันตวิษุวัต (vernal equinox) 19 - 22 มีนาคม และช่วงต้นเดือนกรกฏาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม
.jpg)

ในช่วงปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) 19 - 22 มีนาคม เวลาเที่ยงสุริยะของนาฬิกาแดด (solar noon) ตรงกับเที่ยงของนาฬิกาข้อมือ (clock noon) อนึ่งมุมตกกระทบของดวงอาทิตย์ เวลา solar noon จะเท่ากับองศาของเส้นรุ้ง ณ สถานที่นั้นๆ
เวลานาฬิกาแดด (solar time) เท่ากับเวลานาฬิกาข้อมือ (clock time) สอดคล้องกับสมการแห่งเวลา ณ โบราณสถาน Chichen Itza ในช่วงปรากฏการณ์วสันตวิษุวัต
ตรวจสอบเงาของนาฬิกาแดด ........... ในช่วงปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" เงานาฬิกาแดดจะเป็นเส้นตรง แต่ในช่วงอื่นๆจะเป็นเส้นโค้ง จากผลการเก็บข้อมูลก็พบว่าเงานาฬิกาแดดเป็นไปตามหลักเกณฑ์ (rule curve)
.jpg)
เงานาฬิกาแดดเป็นเส้นตรงเฉพาะในช่วงปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" แต่ช่วงอื่นๆจะเป็นเส้นโค้ง

เงานาฬิกาแดดในช่วงปรากฏการณ์วสันตวิษุวัตเป็นเส้นตรง
ตรวจอัตราการหมุนรอบตัวเองของโลก .......... จากการเก็บข้อมูลนาฬิกาแดดและสมการแห่งเวลาในช่วงปรากฏการณ์วสันตวิษุวัติซึ่งเวลาของนาฬิกาแดดกับนาฬิกาข้อมือตรงกันพอดีทำให้ง่ายต่อการสังเกต ผลการตรวจสอบพบว่าโลกยังคงหมุนรอบตัวเองด้วยความเร็วปกติที่ 15 องศา ต่อชั่วโมง โดยเปรียบเทียบเงานาฬิกาแดดกับนาฬิกาข้อมือ อนึ่งนาฬิกาแดดถูกออกแบบช่องเวลามาจากพื้นฐาน 1 ชั่วโมงเท่ากับ 15 องศา
.jpg)
นาฬิกาแดด (solar time) กับนาฬิกาข้อมือ (clock time) ชี้เวลาตรงกันที่ 10:00 น. และ 12:00 น. ทำให้ทราบว่าโลกยังคงหมุนรอบตัวเองในอัตราปกติที่ 15 องศา ต่อ 1 ชั่วโมง
Team D ประจำการแบบลุยเดี่ยวอยู่ที่เมือง Siem Reap โดยไกด์ Nuanwan Hansanawin ไกด์ท่านนี้ทำหน้าที่ถ่ายภาพแบบเชิงประจักษ์ของปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" ที่ปราสาทนครวัด เพื่อตรวจสอบว่าท่านสุริยะเทพมาตามนัดหรือไม่ ผมปรากฏว่าทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดหมาย
Team D ประเดิมด้วยภาพ sunset 20 March 2016 ที่ปราสาทพระขันฑ์ ดวงอาทิตย์หย่อนตัวลงกลางประตูทิศตะวันตกอย่างสวยงาม
.jpg)

ไกด์ Nuanwan ไปที่ปราสาทนครวัดแต่เช้ามืดวันที่ 21 มีนาคม 2559 และยิงสองภาพนี้มาให้ผมทาง facebook พร้อมกับอุทานว่า "ไม่ตรงคะอาจารย์" ทำให้คิดได้ทันทีว่าเป็นความผิดของผมเองที่ลืมสนิทว่าการถ่ายภาพ sunrise ในปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" ด้วยการยิงมุมกล้องจากระดับพื้นดินจะต้องได้ภาพดวงอาทิตย์เอียงไปทางทิศใต้เล็กน้อยแบบนี้


เนื่องจากปราสาทนครวัดตั้งอยู่ที่เส้นรุ้ง 13 องศาเหนือ จึงทำให้ sun-path ในปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" เอียงไปทางทิศใต้ด้วยมุม 13 องศา จริงๆแล้วในเช้าวันนั้นดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับตำแหน่งทิศตะวันออกแท้ (due east) แต่ผู้ถ่ายภาพจะมองไม่เห็นเพราะถูกตัวปราสาทที่มีความใหญ่และสูงบดบัง และเมื่อรอให้ดวงอาทิตย์ขึ้นพ้นยอดปราสาทก็จะเห็นภาพแบบนี้

แสดง Sun-path ที่ปราสาทนครวัดในฤดูกาลต่างๆ

อนึ่งถ้าต้องการจะได้ภาพดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกลางหน้าต่างหรือประตูของปราสาทนครวัดในเช้าวันที่ 21 มีนาคม ก็ต้องปีนขึ้นไปข้างบนของปราสาทประธาน (ภาพตัดต่อให้เห็นตัวอย่าง)

อย่างไรก็ตามถ้าย้ายปราสาทนครวัดไปอยู่ที่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย อยู่เส้นศูนย์สูตร (equator) หรือเส้นรุ้ง 0 องศา จะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นตรงดิ่งแบบนี้
ถ้าต้องการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ขึ้นตรงยอดปราสาท ก็ต้องรออีก 3 วัน คือวันที่ 23 มีนาคม จะได้ภาพสวยงามแบบนี้ เนื่องจากตำแหน่ง sunrise จะขยับไปทางทิศเหนือเล็กน้อย ภาพแรกผมก๊อปมาจากโป้สเตอร์ที่บริเวณหน้าห้องขายตั๋วก่อนเข้าชม Angkor ส่วน 3 ภาพหลังได้รับความอนุเคราะห์จากเพื่อนไกด์ชาวกัมพูชา ชื่อ Mr.Rathanak ผมต้องขอกล่าวคำว่า "ออกุน เจริญๆ"



หลายท่านที่บ้านไกลเวลาน้อยและอยู่ที่ Siem Reap ได้เพียงวันที่ 21 มีนาคม ก็ต้องใช้เทคนิคการยิงมุมกล้องโดยยืนขยับไปทางทิศเหนือเล็กน้อย สังเกตจากการมองเห็นยอดปราสาทด้านหลังทางขวามือ (ลูกศรชี้)

สรุป
จากผลปฏิบัติการดาราศาสตร์ข้ามทวีประหว่าง ประเทศไทย กัมพูชา และเม็กซิโก ในปรากฏการณ์วสันตวิษุวัต 19 - 22 มีนาคม 2559 ยืนยันในเชิงประจักษ์และเชิงวิทยาศาสตร์ว่าโลกใบนี้ยังคงปกติเหมือนเดิม เพราะสุริยะเทพท่านมาปรากฏกายตรงกับวัน เวลา และสถานที่นัดหมาย
หวังว่าปฏิบัติการนี้อาจจะเป็นตัวอย่างให้นักเรียนและนักศึกษาได้มองเห็นแนวคิดในการผสมผสานและประยุกต์ใช้วิชาต่างที่ได้เรียน ออกมาเป็นโครงงานที่สนุกเหมือนภาพยนต์อินเดียน่า โจนส์
อนึ่ง ปฏิบัติการครั้งนี้ผมทำเองคนเดียวไม่ได้ครับต้องอาศัยความอนุเคราะห์จากเพื่อนๆอีก 3 ทีม คือ Team A ปราสาทภูเพ็ก Team B เชียงใหม่ และ Team D ที่ Siem Reap ก็ต้องกล่าวคำว่า "ขอบคุณมากครับ"
และที่แน่ๆปฏิบัติการครั้งนี้ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์เพื่อยืนยันว่า "วัฒนธรรมข้ามทวีปในที่สุดก็ลงท้ายที่ความเชื่อเดียวกัน" จากหลักฐานเชิงประจักษ์มนุษยชาติดื่มด่ำกับปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" (Vernal Equinox) สิ่งก่อสร้างอันใหญ่โตของพวกเขาล้วนสะท้อนความเชื่อในเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มาพร้อมๆกับปรากฏการณ์นี้ จนอาจกล่าวได้ว่า "วสันตวิษุวัต" แลนด์มาร์คแห่งความเชื่อของมนุษยชาติ
.jpg)


