ทำไมเดือนกุมภาพันธ์จึงมี 28 วัน และทุกๆ 4 ปี "อธิกสุรทิน" เพิ่มอีก 1 วัน เป็น 29 วัน
ได้รับ Facebook จากเพื่อนชื่อ Nig Dammusig ขอให้เขียนเรื่องราวของปี "อธิกสุรทิน" (Leap Year) เดือนกุมภาพันธ์ทำไมต้อง 29 วัน ในสไตล์ของผม......ยินดีครับ.....จัดให้เดี๋ยวนี้เลย
ย้อนอดีตไปที่อาณาจักรโรมัน
ปฏิทินสากลที่เราๆท่านๆใช้ในปัจจุบันเป็นมรดกของชาวโรมันเมื่อ 700 กว่าปีก่อนคริสตกาล ปฏิทินฉบับแรกมีชื่อว่า "ปฏิทินโรมูรุส" (Calendar of Romulus) เป็นผู้สร้างกรุงโรม ต่อมามีการปรับปรุงโดยจักรพรรดิ์ Numa Pompilius และสุดท้ายมาลงตัวที่ปฏิทินฉบับ Gnaeus Flavius ในปี 304 ก่อนคริสตกาล เชื่อกันว่าปฏิทินโรมันอิง "จันทรคติ" จึงต้องมีการปรับแต่งโดยเพิ่มและลดวันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้วันสำคัญทางศาสนาและพิธีกรรมสอดคล้องกับฤดูกาล การปรับแต่งเช่นนี้เป็นหน้าที่ของ "พระผู้ใหญ่" ซึ่งชาวโรมันให้ความนับถือ ตอนแรกๆก็ไม่มีปัญหาอะไรทุกอย่างไปได้ด้วยดี .......... แต่มนุษย์ก็คือมนุษย์ครับ..... .......พระผู้ใหญ่หลายท่านอยู่เบื้องหลังอำนาจทางการเมือง......เนื่องจากอาณาจักรโรมันมีการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงมีระบบแต่งตั้งให้ผู้ดำรงตำแหน่งอยู่ในอำนาจคราวละเท่านั้นเท่านี้ปี อย่างว่าแหละครับพระผู้ใหญ่ก็มีเด็กในคถาของตัวเองเป็นผู้บริหารบ้านเมืองและเมื่อถึงปีสุดท้ายที่จะต้องลงจากเก้าอี้ พระผู้ใหญ่ท่านก็เล่นเกมส์ศรีธนญชัยด้วยการแทรกวันเข้าไปเยอะๆเพื่อยืดปฏิทินปีนั้นออกไปให้คนของตัวเองรักษาเก้าอี้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พูดภาษาหมัดมวยก็คือการส่งซิกให้กรรมการบนเวทีนับแบบยาวๆจนนักมวยของตัวเองฟื้นจากอาการเมาหมัด ดีไม่ดีพี่แกหยุดนับเอาดื้อๆแล้วหันไปโบกมือไล่ให้นักมวยฝ่ายตรงข้ามเดินเข้ามุมทั้งๆที่หมอนั่นก็ยืนอยู่ที่มุมเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการเมืองในปัจจุบันของหลายประเทศที่มักเกิดปัญหาพวกใครพวกมันหรือใช้อำนาจเผด็จการเพื่อพวกพ้องก็มิใช่เรื่องแปลกใหม่......พฤติกรรมแบบนี้มีมาตั้งแต่อดีตหลายร้อยปีก่อนคริสตกาล
ล่วงมาถึงปีที่ 46 ก่อนคริสตกาล ยุคของจอมทัพผู้ยิ่งใหญ่ "จูเลียส ซีซ่าร์" เจ้าของวลีเด็ด "ข้ามา ข้าเห็น ข้าชนะ" (จริงๆแล้วท่านไม่ได้มีตำแหน่งเป็นจักรพรรดิ์ แต่เป็นแม่ทัพโรมันที่มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้นเราจึงเรียกท่านเสมือนเป็นจักรพรรดิ ว่ากันตามระบอบการปกครองของโรมมัน จักรพรรดิ์องค์แรกคือ Augustus เริ่มตั้งแต่ 27 BC ซึ่งเปลี่ยนดินแดนในความปกครองของโรมันจากสาธารณรัฐเป็นอาณาจักร) ท่านจูเลียส ซีซ่าร์หมดอารมณ์กับปฏิทินโรมันที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงเพราะวันสำคัญทางศาสนาไม่สอดคล้องกับฤดูกาล เผอิญตอนนั้นท่านซีซ่าร์ยกกองทัพไปครอบครองอียิปส์และจับพลัดจับพลูถูกเสน่ห์ของฟาโรห์ที่ชื่อ "พระนางคลีโอพัตรา" ก็เลยตกกระไดพลอยโจน เรื่องแบบนี้ไม่ว่ากันหรอกครับหนุ่มใหญ่วัยห้าสิบกว่าๆห่างบ้านห่างเมืองมาไกลพบสาวน้อยหน้าตาสวยแถมมีตำแหน่งเป็นฟาโรห์อะไรจะเหลือละ เชื่อว่าท่านซีซ่าร์คงเปรยๆปัญหาปฏิทินโรมันให้บ้านเล็กคนนี้ฟัง จึงเข้าทางปืนพระนางคลีโอพัตราพอดี เลยแนะนำให้ใช้บริการนักดาราศาสตร์ซึ่งเป็นเด็กในคถา ชื่อ Sosigenes of Alexandria รับผิดชอบยกเครื่องปฏิทินโรมมันใหม่ แม้ว่าจะเป็นเด็กฝากนักดาราศาสตร์ผู้นี้ก็โชว์ฝีมือสร้างปฏิทินฉบับใหม่ตามสไตล์อียิปส์ มีผลงานออกมาเป็น "ปฏิทินสุริยคติ" (Solar Calendar) กำหนดให้ปีหนึ่งมี 365 วัน และทุกๆ 4 ปี ให้เพิ่มอีก 1 วัน ในเดือนกุมภาพันธ์ 28 + 1= 29 วัน จากจำนวนวันทั้งสิ้น 365 วันในปีปกติ และ เพิ่มเป็น 366 วันในปีอธิกสุรทิน (Leap Year) ชาวโรมันเรียกปฏิทินฉบับนี้ว่า "Julian Calendar" เพื่อเป็นเกียรติแด่ท่านแม่ทัพ Julius Caesar และประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปีที่ 45 ก่อนคริสตกาล (45 BC)
ตุลาคม ปี 2006 ผมไปที่กรุงโรมประเทศอิตาลี และมีโอกาศพูดคุยส่วนตัวกับนักวิชาการที่วิหาร St.Peter at Vatican ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่านซีซาร์อยากจะเอาใจบ้านเล็กก็เลยคิดจะเปลี่ยนวันปีใหม่จากเดือนมกราคม (Ianuarius หรือ January) เป็นวัน Equinox ในเดือน Martius เพราะชาวอียิปส์ให้ความสำคัญกับวัน Equinox ซึ่งเป็นปรากฏการณ์กลางวันเท่ากับกลางคืนและดวงอาทิตย์ขึ้นที่ตำแหน่งทิศตะวันออกแท้ จะเห็นได้ว่าปีรามิดและสิ่งก่อสร้างสำคัญ เช่น สฟิ๊งซ์ หันหน้าเข้าหาทิศดังกล่าว เรื่องนี้ทราบไปถึงเมืองหลวงทำให้สภาแห่งกรุงโรมยื่นคำขาดว่าถ้าท่านซีซ่าร์ยังดื้อดึงเปลี่ยนวันปีใหม่จากเดือน Ianuarius ซึ่งเป็นพระนามของ God Janus (Januaury) จะลงมติปลดออกจากตำแหน่งแม่ทัพ ถ้าเป็นปัจจุบันคงใช้คำว่า "ถอดถอน" เล่นเอาท่านซีซ่าร์ต้องยอมปรองดองและคงเดือนมกราคมเป็นปีใหม่ต่อไป แต่เพื่อไม่ให้เสียหน้าบ้านเล็กปฏิทินฉบับนี้กำหนด "อธิกสุรทิน" (Leap Year) ตามแบบของอียิปส์โดยทุกๆ 4 ปี มีวันที่ 29 กุมภาพันธ์ และ 366 วัน ออกรูปนี้ถือว่า win - win ตำแหน่งแม่ทัพก็ยังอยู่และบ้านเล็กก็พอใจ ........ แต่ไม่ทราบว่าบ้านใหญ่ที่กรุงโรมจะพอใจหรือไม่ ..... ประเด็นนี้ท่านซีซ่าร์คงต้องไปเคลียกันเอง
การกำหนดให้กุมภาพันธ์เป็นเดือนที่มีการปรับจำนวนวันเหลือ 28 น่าจะมาจากเหตุผล 3 ประการ กล่าวคือ
1.การปรับเพิ่มและลดวันในปฏิทินดั้งเดิมของชาวโรมันก็ทำเช่นนี้อยู่แล้วโดยใช้ช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์กับเดือนมีนาคม
2.ปฏิทินโรมันมีการเมืองและความเชื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น มกราคม (January) มาจากชื่อเทพเจ้าเจนัส (God Janus) เอาไป 31 วัน, มีนาคม มาจากชื่อเทพเจ้า Mars เอาไป 31 วัน, เดือนพฤษภาคม May มาจากชื่อเทพเจ้า Goddess Maia เอาไป 31 วัน, เดือนกรกฏาคม (July) มาจากชื่อท่านแมทัพใหญ่ Julius Caesar เอาไป 31 วัน, เดือนสิงหาคม (August) มาจากชื่อจักรพรรดิ์ออกุสตุส (Emperor Augustus) เอาไป 31 วัน ส่วนเดือนที่เหลือไม่มีเส้นสายก็เอาไป 30 วัน บวกจำนวณแล้วปาเข้าไป 337 วัน เหลือเศษอยู่เพียง 28 วัน
3.ปฏิทิน "โหราศาตร์" ของชาวโรมันเริ่มต้นราศีแรกคือ "ราศีเมษ" (Zodiac Aries ตรงกับ 21 มีนาคม - 20 เมษายน) และราศีสุดท้ายของปี คือ "ราศีมีน" (Zodiac Pisces ตรงกับ 19 กุมภาพันธ์ ถึง 20 มีนาคม) ดังนั้น เมื่อไล่เรียงลำดับเดือนตาม 12 จักรราศี โดยเริ่มต้นที่ราศีเมษ แต่ละเดือนเอา 30 วัน กับ 31 วัน ไปกินหมดแล้ว เมื่อหักลบกับจำนวนเต็ม 365 วัน จะเหลือขนมเค็ก ก้อนสุดท้ายเพียง 28 วัน ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ยังไงก็ต้องเอา แต่ด้วยความเห็นใจทุกๆ 4 ปี (อธิกสุรทิน หรือ leap year) ก็แถมให้อีก 1 วัน เป็น 29 และปีนั้นมี 366 วัน
พิจารณาข้อมูลข้างต้นทั้ง 3 ข้อ จะเห็นชัดเจนว่า "การสร้างปฏิทิน" มีพื้นฐานมาจากการผสมผสานระหว่าง ศาสนาดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ การเมืองการปกครอง และโหราศาสตร์

ปฏิทินจักรราศีของชาวโรมันเปรียบเทียบกับปฏิทินสุริยะคติ จะเห็นว่าเดือนกุมภาพันธ์อยู่ใน "ราศีมีน" (Pisces) ซึ่งเป็นราศีสุดท้ายของปีโหราศาสตร์
.jpeg)
ปฏิทิน 12 จักรราศีของอียิปส์ ก็จัดเรียงให้ราศีเมษ (Aries) เป็นอันดับที่ 1 และราศีมีน (Pisces) เป็นอันดับที่ 12 (อันดับสุดท้าย)
อาณาจักรโรมันถือกำเนิดเมื่อ 700 กว่าปีก่อนคริสตกาล ตามตำนานที่กล่าวถึงสองพี่น้องชื่อ Remus and Romulus ซึ่งเป็นเด็กกำพร้าได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมของแม่หมาป่าจนเติบใหญ่
ทุกท่านที่ไปกรุงโรมหรือหลายจังหวัดของประเทศอิตาลีจะเห็นรูปหมาป่าให้กำลังนมเด็กสองพี่น้อง นั่นคือตำนานแห่ง Remus and Romulus

ปฏิทินโรมันกำหนดให้เดือน January เป็นเดือนแรกแห่งปีเพราะมาจากตำนานของเทพ Janus ซึ่งดึงดวงอาทิตย์กลับมาคืนสู่ท้องฟ้าหลังจากที่ดวงอาทิตย์คล้อยต่ำมากในฤดูหนาว (Winter Solstice) จนชาวโรมันวิตกว่าดวงอาทิตย์จะไม่กลับมาอีก จึงอ้อนวอนให้ God Janus ช่วยไปเอาดวงอาทิตย์กลับคืนมา
ว่ากันตามเนื้อผ้าปฏิทินโรมันไม่ได้แย่ขนาดนั้นถ้า "พระผู้ใหญ่" ที่มีหน้าที่ปรับแต่งด้วยการเพิ่มและลดวันให้ปฏิทินมีความสอดคล้องกับฤดูกาลโดยไม่มีเบื้องหลังทางการเมืองจนเกินไป
ผมไปดูงานที่กรุงโรมเมื่อปี 2006 มีโอกาศได้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมมากมายจากเอกสารและสถานที่จริงรวมทั้งได้พูดคุยส่วนตัวกับนักวิชาการใน St.Peter Church สำนัก Vatican

เปรียบเทียบรูปร่างหน้าตาของปฏิทินโรมัน (Roman Calendar) กับปฏิทินจูเลียส์ ซีซ่าร์ (Julian Calendar)
สันตปาปาเกรกอเรี่ยนที่ 13 ปรับปรุงปฏิทิน Julian Calendar และใช้ตราบจนปัจจุบัน
ปฏิทินจูเลียส์ ซีซ่าร์ มีข้อบกพร่องคือขาดหายไป 1 วัน ต่อ 128 ปี และเมื่อสะสมมาเรื่อยๆตั้งแต่ 45 BC จนถึง AD 1582 เกิดปัญหาใหญ่คือ วันที่ 21 มีนาคม มาถึงก่อนปรากฏการณ์ Vernal Equinox ทำให้การคำนวณวันสำคัญทางศาสนาคาทอลิกคือ Easter Sunday ผิดพลาดไปหมด เนื่องจากที่ประชุมพระชั้นผู้ใหญ่ที่เมือง Nicaea ค.ศ.325 โดยมีจักรพรรดิ์ Constantine เป็นประธานลงมติให้วันที่ 21 มีนาคม เป็นวัน "วสันตวิษุวัต" (Vernal Equinox กลางวันเท่ากับกลางคืนและเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ) และวันอาทิตย์ถัดจาก Full Moon หลัง Vernal Equinox เป็น Easter Sunday เพื่อรำลึกถึงการฟื้นคืนชีพของพระเยซูหลังจากสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขนในวันศุกร์
ท่านสันตปาปาเกรกอเรี่ยน ที่ 13 ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1582 ปรับปรุงปฏิทินซีซ่าร์ โดยให้วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม ค.ศ.1582 กระโดดไปเป็นวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม ค.ศ.1582 (บวก 10 วัน) เพื่อปรับให้วันที่ 21 มีนาคม ตรงกับปรากฏการณ์ Vernal Equinox ตามมติที่ประชุมของพระผู้ใหญ่ที่เมือง Nicaea
ปัจจุบันปฏิทินของท่านสันตปาปาเกรกอเรี่ยนกลายเป็นปฏิทินสากลที่เราๆท่านๆใช้กันทั่วโลก และปฏิทินพุทธศักราชของไทยก็ใช้หลักเกณฑ์ "อธิกสุรทิน" (Leap Year) ตามแบบ Gregorian Calendar ดังนั้น ปี พ.ศ.2559 ตรงกับ ค.ศ.2016 จึงมี 29 กุมภาพันธ์ และ 366 วัน

การประชุมพระผู้ใหญ่ที่เมือง Nicaea ในปี ค.ศ.325 โดยมีจักรพรรดิ์ Constantine นั่งเป็นองค์ประธาน
.jpg)
.jpg)


เงื่อนไขของปฏิทินฉบับ Gregorian มีด้วยกัน 2 ข้อ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับหลักดาราศาสตร์จึงถือว่าปฏิทินนี้มีความแม่นยำอย่างมาก อย่างไรก็ตามอีกสามพันกว่าปีข้างหน้าจะต้องมีการปรับเพิ่มอีก 1 วัน
กำหนดวันสำคัญทางดาราศาสตร์ในปฏิทินฉบับ Gregorian

ผมไปเยี่ยมชมอนุสรณ์ของท่านสันตปาปา Gregorian XIII ที่วิหาร St.Peter กรุงโรม ประเทศอิตาลี

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสนใจกับอนุสรณ์ของท่าน Gregorian XIII แต่สำหรับผมรีบเดินตรงมาทันทีที่เข้ามาในวิหาร St.Peter โดยถามเจ้าหน้าที่ว่าท่าน Gregorian XIII อยู่ตรงส่วนไหนของวิหารเพราะสถานที่นี้กว้างใหญ่มาก เจ้าหน้าที่ก็ใจดีรีบเดินนำมาจนถึงที่และถามว่า "ทำไมจึงสนใจเรื่องนี้" ผมตอบว่ากำลังศึกษาเรื่องของดาราศาสตร์และปฏิทิน Gregorian ซึ่งเป็นปฏิทินฉบับที่ทั่วโลกใช้อยู่ในปัจจุบัน เท่านั้นแหละทั้งผมและเจ้าหน้าที่ก็พูดคุยกันอย่างถูกปากถูกคอ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีคนจากประเทศไทยให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ
สรุป
ปฏิทินสากลในปัจจุบันมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Gregorian Calendar ปรับปรุงมาจาก Julian Calendar ของท่าน Julius Caesar เมื่อปี ค.ศ. 1582 ซึ่งมีรากฐานมาจาก Roman Calendar
เรื่องราวของปฏิทินสากลที่กว่าจะมาถึงวันนี้ ผ่านเบื้องหน้าเบื้องหลังของการเมือง การมุ้ง ความเชื่อ ศาสนา คณิตศาตร์ และดาราศาสตร์ ไม่ทราบว่าอีกสามพันกว่าปีข้างหน้าใครจะเป็นผู้ลุกขึ้นมาปรับแก้ปฏิทินให้สอดคล้องกับหลักดาราศาสตร์อีกคำรบหนึ่ง........ หรือว่าวันนั้นอาจจะไม่มีใครอยู่บนโลกใบนี้อีกแล้ว