ปฏิบัติการราหูภาค 4 วัดระยะทางโลก - ดวงจันทร์ ในปรากฏการณ์ "จันทรุปราคาเต็มดวง" คืนวันที่ 27 กันยายน 2558 ที่สหรัฐอเมริกา


ในรอบสองปีที่ผ่านมาผมได้ "ปฏิบัติการราหู" วัดระยะทางจากโลกไปดวงจันทร์โดยใช้ปรากฏการณ์ "จันทรุปราคาเต็มดวง" มาแล้ว 3 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ในคืนวันที่ 27 กันยายน 2558 ได้มีปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์มองเห็นที่เมืองทัลซ่า รัฐโอคลาโฮม่า สหรัฐอเมริกา (แต่ที่ประเทศไทยไม่เห็น) ผมเดินทางกลับจากบ้านที่เมืองดังกล่าวมาถึงประเทศไทยวันที่ 16 กันยายน 2558 จึงได้แจ้งให้ลูกสาวที่เมืองทัลซ่าทำหน้าที่ถ่ายภาพราหูอมจันทร์และส่งมาให้ทาง Facebook เพื่อที่จะเข้าโปรแกรม Powerpoint ทำภาพเชิงซ้อนด้วยและนำข้อมูลตัวเลขมาเข้าสมการที่เตรียมไว้แล้วในการคำนวณระยะทางโลก - ดวงจันทร์
อนึ่ง สำหรับท่านผู้อ่านที่เข้ามาเป็นครั้งแรกก็สามารถย้อนกลับไปอ่านรายละเอียดในปฏิบัติการราหูภาคแรกจนถึงภาคสามได้ในเว้ปไซด์เดียวกันนี้ เพื่อทราบที่มาของสูตรการคำนวณที่ผมพัฒนาต่อยอดมาจากสูตรการคำนวณของนักคณิตศาสตร์ชาวกรีกเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว ดังนั้นในบทความนี้ผมจึงไม่ต้องบรรยายอะไรมากนักเพียงแต่สรุปผลปฏิบัติการด้วยรูปภาพและข้อมูลตัวเลข
ท่าน Aristarchus of Samos เป็นนักคณิตศาสตร์ชาวกรีกเมื่อ 310 - 230 ปี ก่อนคริสตกาล สามารถคำนวณระยะทางจากโลกไปยังดวงจันทร์ได้อย่างแม่นยำเมื่อเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ในยุคนั้น

ผลการคำนวณระยะทาง โลก - ดวงจันทร์ ของท่าน Aristarchus ใกล้เคียงกับตัวเลขปัจจุบันขององค์การนาซ่า แห่งสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตามการคำนวณตามสูตรที่ผมพัฒนาต่อยอดมาจากท่าน Aristarchus จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลจากผลการคำนวณ "เส้นรอบวงโลก" โดยนักดาราศาสตร์ชาวกรีก Eratosthenes และผมได้นำไปปฏิบัติการที่ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร คู่กับปราสาทบายน เมืองเสียมราช ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 เพราะจำเป็นต้องใช้ตัวเลข "เส้นผ่าศูนย์กลางของโลก" มาเข้าในสมการ

สูตรการคำนวณมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลความยาวเงามืดของโลก (Umbra) ซึ่งยาวเท่ากับ 108 เท่าของเส้นผ่าศูนย์กลางโลก และดวงจันทร์ก็อยู่ภายในระยะทางความยาวของเงามืดนี้ (ถ้าดวงจันทร์อยู่ไกลออกไปจากความยาวของเงามืดจากโลกก็จะไม่มีปรากฏการณ์ราหูอมจันทร์ให้เห็น)

บ้านของผมที่เมือง Tulsa รัฐ Oklhoma USA หันหน้าเข้าหาทิศตะวันตก และทุกครั้งที่มี Full Moon จะเห็นภาพแบบนี้

คืนวันที่ 27 กันยายน 2558 ประมาณทุ่มกว่าๆจะมองเห็นปรากฏการณ์ "ราหูอมจันทร์" อย่างชัดเจนทางด้านทิศตะวันออกโดยมองจากหน้าบ้าน ภาพนี้ลูกสาว (น้องปลา) ไปขอร้องให้เพื่อนบ้านช่วยถ่ายให้

ภาพถ่ายราหูอมจันทร์ที่ถ่ายโดยเพื่อนบ้านที่ชื่อ Mr.Lee Bickle ส่งมาให้ทาง Facebook
ผมนำภาพถ่ายราหูอมจันทร์ของเพื่อนบ้าน Mr.Lee Beckle มาเข้าโปรแกรม Powerpoint ทำภาพเชิงซ้อนเพื่อหาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเงามืดของโลก (Diameter of Earth's umbra) และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดวงจันทร์ (Moon's diameter) มาเข้าสมการที่พัฒนาต่อยอดมาจากสูตรดั้งเดิมของท่าน Aristarchus ได้ระยะทางจากโลกไปดวงจันทร์อย่างง่ายดาย
สรุป
ด้วยภาพถ่ายดวงจันทร์ขณะถูกราหูอมเพียงรูปเดียว ก็ช่วยให้ผมคำนวณระยะทางโลก - ดวงจันทร์ ได้อย่างง่ายดาย โดยใช้โปรแกรม Powerpoint สร้างภาพเชิงซ้อนให้เห็นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเงามืดของโลก (Diameter of Earth's Umbra) และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของดวงจันทร์ นำตัวเลขสัดส่วนของทั้งคู่มาเข้าสมการที่เตรียมไว้แล้วจะผลลัพท์ดังปรากฏ งานนี้ต้องขอบคุณภาพถ่ายจาก Mr.Lee Bickle และเพื่อนบ้านที่ลูกสาว (น้องปลา) ไปขอร้องมาให้ช่วยถ่ายภาพดวงจันทร์โดยมีหลังคาบ้านเป็น Background