21 - 22 มิถุนายน ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ "ครีษมายัน" (Summer Solstice) กลางวันยาวที่สุดในรอบปี
เป็นที่ทราบจากตำราเรียนวิชาภูมิศาสตร์ว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะเอียงประมาณ 23.5 องศา จากแนวดิ่ง ทำให้ "มุมตกกระทบ" ของแสงอาทิตย์บนพื้นผิวโลกในแต่ละวันเปลี่ยนไปยังผลให้เกิดการสะสมพลังงานความร้อนแตกต่างกันในแต่วันเช่นกัน นี่คือที่มาของปรากฏการณ์ที่ภาษาดาราศาสตร์เรียกว่า "ฤดูกาล"
ตามหลักดาราศาสตร์ในภาพรวมของโลกเรามีทั้งหมด 4 ฤดู เริ่มตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิ (vernal equinox) ฤดูร้อน (summer solstice) ฤดูใบไม้ร่วง (autumnal equinox) และฤดูหนาว (winter solstice) แต่พี่ไทยอย่างเราๆท่านๆอาจถามว่าแล้วฤดูฝนกับฤดูแล้งละจัดอยู่ในช่วงไหน นั่นเป็นปรากฏการณ์เฉพาะภูมิภาคใกล้เส้นศูนย์สูตรที่เรียกว่า "เขตมรสุม" ฤดูฝนของประเทศไทยจัดอยู่ในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่นำเอาเมฆจากทะเลอันดามันและทะเลจีนใต้มาตกเป็นฝนในบ้านเรา ผมขอจำแนกฤดูกาลต่างๆให้ท่านเห็นชัด ดังนี้ ครับ
1.ฤดูใบไม้ผลิ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) เริ่มจากวันที่ 21 มีนาคม ถึง 22 มิถุนายน
2.ฤดูร้อน "ครีษมายัน" (summer solstice) เริ่มจากวันที่ 22 มิถุนายน ถึง 22 กันยายน
3.ฤดูใบไม้ร่วง "ศารทวิษุวัต" (autumnal equinox) เริ่มจากวันที่ 23 กันยายน ถึง 20 ธันวาคม
3.ฤดูหนาว "เหมายัน" (winter solstice) เริ่มจากวันที่ 21 ธันวาคม ถึง 20 มีนาคม

โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยมุมเอียง 23.5 องศา จากแนวดิ่ง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ 4 ฤดูกาล เริ่มจากฤดูใบไม้ผลิ (vernal equinox 21 Mar) ฤดูร้อน (Summer Solstice 21 June) ฤดูใบไม้ร่วง (Autumnal equinox 23 Sep) และฤดูหนาว (Winter Solstice 21 Dec) ประเทศที่ตั้งอยู่บนเส้นรุ้งที่มากกว่า 23.5 องศา จะเห็นปรากฏการณ์ 4 ฤดู อย่างชัดเจน แต่ประเทศในเขตมรสุมอย่างประเทศไทยจะไม่ค่อยเห็นความแตกต่างมากนักเพราะเราอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรจึงเห็นชัดเพียงฤดูแล้งกับฤดูฝน
ถ้าเฝ้าสังเกตตำแหน่งดวงอาทิตย์ในยามเช้าอย่างต่อเนื่องทุกๆวันจะเห็นว่าดวงอาทิตย์เปลี่ยนตำแหน่งโดยเคลื่อนที่กลับไปกลับมาระหว่างทิศเหนือและทิศใต้ เมื่อดวงอาทิตย์คล้อยไปทางเหนือจะเป็นฤดูร้อน และเมื่อเคลื่อนไปทางทิศใต้จะเป็นฤดูหนาว ชาวนาเรียกฤดูหนาวว่า "ตะวันอ้อมข้าว" เพราะช่วงนี้ดวงอาทิตย์ทำมุมค่อนข้างต่ำในทิศใต้และตรงกับช่วงที่ข้าวเริ่มแก่พร้อมเก็บเกี่ยว อนึ่งที่จังหวัดสกลนคร เส้นรุ้ง 17 องศาเหนือ ดวงอาทิตย์ทำมุม 50 องศา ระหว่างตำแหน่งเหนือสุดและใต้สุดในรอบปี แสดงว่าดวงอาทิตย์ต้องเดินทางด้วยระยะทางเชิงมุม 50 องศา x 2 รอบ = 100 องศา หากเอาจำนวนวันในรอบปี 365 ไปหาร จะได้ค่าเฉลี่ยที่ 0.2739 องศา ต่อ 1 วัน
ดวงอาทิตย์เคลื่อนที่กลับไปกลับมาระหว่างทิศเหนือและทิศใต้ คิดเป็นระยะทางเชิงมุมเท่ากับ 50 x 2 = 100 องศา
ไดอะแกรมแสดงภาพดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในแต่ละฤดูกาล โปรดสังเกตว่าในฤดูร้อน (summer solstice) ดวงอาทิตย์อยู่สูงที่สุด และฤดูหนาว (winter solstice) ดวงอาทิตย์อยู่ต่ำที่สุด
ครีษมายัน คืออะไร
อย่างที่จั่วหัวว่าบทความนี้เน้นอธิบายเรื่องปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่เรียกว่า "ครีษมายัน" คำนี้ภาษาไทยเอามาจากรากศัพท์ "ภาษาสันสกต คริสม่า อายาน่า" (Grisma ayana) คริสม่า = ฤดูร้อน อายาน่า = การเคลื่อนที่ ผมเป็นนักเรียนเก่าจากประเทศอินเดียคุ้นเคยกับภาษาฮินดิที่พัฒนามาจากสันสกต เขาออกเสียงฤดูกาลนี้ว่า Greeshama Ayanaanta ปัจจุบันคำว่า ยาน่า (yana) ในภาษาฮินดิมีความหมายว่า "ไป" เช่นจะไปกรุงนิวเดลลีในวันพรุ่งนี้ จะพูดว่า "กัล แม เดลลี ยาน่า" พี่ไทยทั่วไปที่ไม่ได้เรียนภาษาศาสตร์และดาราศาสตร์ก็อาจจะขัดอกขัดใจว่าทำไมไม่หาศัพท์แสงภาษาไทยที่ง่ายกว่านี้ละ อย่างว่าละครับมันเป็นมุขเด็ดทางวิชาชีพของ "นักวิชาการ" ที่ต้องบัญญัติอะไรให้มันยากส์และต้องแปลไทยเป็นไทย ขืนบัญญัติอะไรที่มันง่ายๆจนคนไทยตำดำๆอย่างเราๆท่านๆก็เข้าใจก็เสียชื่อวิชาชีพหมดนะคราบ อย่าว่าแต่พี่ไทยเราเลยฝรั่งมังค่าก็พอกันพวกเขาใช้รากศัพท์ภาษาลาตินบัญญัติปรากฏการณ์นี้ว่า summer solstice โดยคำว่า solstice มาจาก solar + standstill แปลว่า "ดวงอาทิตย์หยุดเคลื่อนไหว" (sun standstill) เนื่องจากช่วงที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนตัวไปถึงตำแหน่งเหนือสุดและเตรียมจะย้อนกลับ จะใช้เวลาปรับทิศทางราว 7 - 10 วัน ดูด้วยตาเปล่าเหมือน "หยุดนิ่ง"
การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์เปรียบเหมือนลูกตุ้มที่แกว่งกลับไปกลับมา เมื่อแกว่งถึงจุดสูงสุดจะหยุดนิ่ง "ชั่วขณะ" เพื่อเตรียมย้อนกลับมาทางเดิม ดังนั้นในปรากฏการณ์ summer solstice และ winter solstice ดวงอาทิตย์จึงดูเหมือน "หยุดนิ่งชัวขณะ"
ทำไม "ครีษมายัน" จึงเป็นฤดูร้อน
อย่างที่ท่านทราบแต่ต้นว่าโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในมุมเอียง 23.5 องศา ทำให้มุมตกกระทบของแสงอาทิตย์ต่อพื้นผิวโลกเปลี่ยนไปทุกวัน บริเวณที่มุมตกกระทบเป็นลักษณะเอียงๆการสะสมพลังงานความร้อนก็ไม่มากนัก แต่บริเวณที่ถูกแสงอาทิตย์เป็นมุมฉากจะเกิดการสะสมพลังงานความร้อนมากกว่าจึงทำให้ร้อน ถ้าพูดแบบภาษาวงการหมัดมวยเรียกว่า "หมัดขวาตรง" ย่อมได้แต้มมากกว่า "หมัดถากๆ"

สมการคณิตศาสตร์แสดงค่าความร้อนสะสมของพื้นผิวตั้งฉากต้องมากกว่าความร้อนสะสมของพื้นที่เอียง

วัน "ครีษมายัน" (summer solstice) แสงอาทิตย์ตั้งฉากกับผิวโลก ณ เส้นรุ้ง 23.5 องศาเหนือ ทำให้พื้นที่ผิวโลกบริเวณนั้นได้รับความร้อนสะสมมากกว่าพื้นที่อื่นๆ
ปรากฏการณ์นี้มีผลอะไรกับมนุษยชาติ
เรื่องราวของสุริยะปฏิทินกับปราสาทภูเพ็ก
ช่างเป็นคำถามที่ดีครับ.......ปรากฏการณ์ "ครีษมายัน" ประกาศให้พี่ไทยทุกท่านรวมทั้งประชาชนประเทศต่างๆที่อยู่ในซีกโลกเหนือ (northern hemisphere) ไล่ตั้งแต่เส้นศูนย์สูตรขึ้นไปจนถึงขั้วโลกเหนือ "เราเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว" ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน วันนี้สุริยะปฏิทินขอมพันปีที่ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร จะแสดงตำแหน่งดวงอาทิตย์ที่มุมเหนือสุดของแท่งหิน "ครรภบัตร" (deposit stone) หินแท่งนี้ถูกวางทิ้งโค่โล่อยู่ที่หน้าประตูห้องวิมานของปราสาทภูเพ็ก ในความเป็นจริงหินแท่งนี้จะต้องฝังอยู่ใต้ฐานโยนีโดยมีศิวะลึงค์ตั้งอยู่ข้างบน ผู้เชี่ยวชาญโบราณคดีของกรมศิลปากรให้คำอธิบายว่า................ครรภบัตร ทำหน้าที่เป็นมณฑลหรือแผนผังจักรวาลในรูปย่อส่วนที่รวมของพลังอำนาจและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในจักรวาล........ จากการค้นคว้าของผมพบว่ารอยหลุมสี่เหลี่ยมเล็กๆบนหินก้อนนี้สามารถบ่งชี้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ในราศีสำคัญของปฏิทินมหาศักราชซึ่งใช้ในราชสำนักขอมแห่งอาณาจักรอังกอร์เมื่อพันปีที่แล้ว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ......ภูเพ็กเม็กกะโปรเจ็คนครที่สาปสูญ)
หนังสือ "รอยอดีตสกลนคร" ของกรมศิลปากร กล่าวถึงแท่งหินครรภบัตรว่าเป็นมณฑลหรือแผนผังจักรวาล
พิสูจน์ทางดาราศาสตร์พบว่าสัญลักษณ์บนก้อนหิน "ครรภบัตร" ตรงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ในราศีสำคัญของปฏิทินมหาศักราช
แท่งหิน "ครรภบัตร" จะถูกฝังอยู่ใต้ฐานโบนีเป็นที่รองรับแท่งศิวะลึงค์ แต่สัญลักษณ์รูสี่เหลี่ยมเล็กๆเป็นเสมือน "มณฑล หรือแผนผังจักรวาล" ผมจึงตีความว่านั่นคือ "สุริยะปฏิทิน" ที่แสดงตำแหน่งสุริยะเทพในราศีสำคัญตามปฏิทินมหาศักราช
.jpg)
ภาพถ่าย "ครรภบัตร" (Deposit Stone) ฝังอยู่ใต้ฐานโยนี (Yoni Base) โดยถูกวางให้ตรงกับทิศทั้งสี่ ที่ปราสาทปาปวน เมืองโบราณยุคขอมเรืองอำนาจ Siem Reap Cambodia

ขึ้นไปที่ปราสาทภูเพ็กเพื่อเก็บภาพปรากฏการณ์ครีษมายัน วันที่ 21 มิถุนายน 2545 (Summer Solstice 21 June 2002) แต่ท้องฟ้าปิดเพราะเป็นฤดูฝน แต่ได้ให้น้องนักเรียนจาก จ.นครพนม ยืนในตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์น่าจะอยู่ตรงนี้ น้องเขาสนใจดาราศาสตร์และให้ผู้ปกครองพาขึ้นไปที่ปราสาทภูเพ็ก (พบกันโดยบังเอิญ)

นำนักข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ขึ้นไปที่ปราสาทภูเพ็กในปรากฏการณ์ "ครีษมายัน" 21 มิถุนายน 2547 (Summer Solstice 2004) เป็นฤดูฝนมีเมฆมาก ทำให้การถ่ายภาพดวงอาทิตย์ไม่ชัดเจนต้องหาโอกาศวันที่ท้องฟ้าโปร่งปีใดปีหนึ่ง น่าจะเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับตำแหน่งเหนือสุดของแท่งครรภบัตร ที่มุมกวาด 65 - 66 องศา (Az 65 - 66)
.jpg)
ครรภบัตรและแท่งศิวลึงค์ตั้งอยู่ที่ปราสาทภูเพ็ก (ก่อสร้างไม่เสร็จ)
.jpg)
ครรภบัตรถ้าตั้งให้ตรงกับทิศเหนือจะสามารถชี้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์

เพื่อให้สะดวกแก่การเก็บข้อมูลจึงสร้างรูปจำลอง "ครรภบัตร" ไว้ที่บ้านในตัวจังหวัดสกลนคร โดยใช้เข็มทิศตั้งให้ขนาดกับทิศเหนือเหมือนกับครรภบัตรของจริงที่ปราสาทภูเพ็ก ภาพนี้ถ่ายในปรากฏการณ์ "ครีษมายัน" (Summer Solstice) ปี 2560

ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับตำแหน่ง "ครีษมายัน" ของ "ครรภบัตร"

ดวงอาทิตย์ในเช้าของปรากฏการณ์ "ครีษมายัน" (Summer Solstice) ตรงกับตำแหน่งมุมกวาดจากทิศเหนือ 65 องศา (Azimuth 65)

เปรียบเทียบระหว่างปรากฏการณ์ "ครีษมายัน" (ฤดูร้อน) ดวงอาทิตย์ขึ้นที่ทิศเหนือสุด กับปรากฏการณ์ "เหมายัน" (ฤดูหนาว) ดวงอาทิตย์ขึ้นที่ทิศใต้สุด
รอมานานถึง 17 ปี ได้ภาพถ่ายปรากฏการณ์ "ครีษมายัน" (Summer Solstice 21 June 2019) ที่ปราสาทภูเพ็ก
เฝ้ารอโอกาสมานานถึง 17 ปี จึงได้ภาพถ่ายปรากฏการณ์ครีษมายันที่ปราสาทภูเพ็กแบบตัวจริงเสียงจริงเป็นครั้งแรก เมื่อ 21 มิถุนายน 2562 ผมกับทีมงานขาประจำชื่อ "นกภูเพ็ก" ขึ้นไปที่ปราสาทภูเพ็กแต่เช้ามืดราว 05:00 น. เพื่อรอดูดวงอาทิตย์เพราะครั้งนี้ได้รับการยืนยันจากสถานีตรวจอากาศสกลนครว่า "ท้องฟ้าแจ่มใสแน่นอน" สิ่งแรกที่ทำคือตั้งเข็มทิศให้ตรงกับมุมกวาด 65 องศา ณ หน้าผาด้านทิศตะวันออกของปราสาทภูเพ็ก

05:00 เดินขึ้นบันไดเกือบ 500 ขั้น จากลานจอดรถหน้าวัดพระธาตุภูเพ็ก

ทัศนียภาพเช้าตรู 05:30
วางเข็มทิศให้ตรงกับมุมกวาด 65 องศา เพื่อชี้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ครีษมายัน (Summer Solstice) และสุริยะเทพท่านก็มาตามนัดจริงๆ

หลังจากที่รอคอยมานานถึง 17 ปี จึงจะได้ภาพถ่าย Summer Solstice ที่ปราสาทภูเพ็ก เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562 (21 June 2019)

สุริยะปฏิทินชี้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ "ครีษมายัน" (summer solstice 21 June 2019)

เปรียบเทียบปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ระหว่าง Summer Solstice, Equinox และ Winter Solstice
ปราสาทภูเพ็กกับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่สี่ฤดู

ปรากฏการณ์ "เหมายัน" (winter solstice) ท้องฟ้าโปร่งใสสามารถถ่ายภาพดวงอาทิตย์ได้ชัดเจน แท่งหินครรภบัตรแสดงตำแหน่งดวงอาทิตย์ที่ทิศใต้สุด ด้วยมุมกวาด 115 องศา (Az 115) ซึ่งตรงกันข้ามกับปรากฏการณ์ "ครีษมายัน" (summer solstice)

ปฏิทินมหาศักราช (Saka Calendar) ชี้ว่าปรากฏการณ์ "ครีษมายัน" เป็นวันเริ่มต้นของเดือนอาฬหะ (Ashadha) ตรงกับราศีปู (Zodiac Cancer) ปัจจุบันตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน
ลองไปดูในต่างประเทศว่าวันนี้มีกิจกรรมอะไรมั่ง
เริ่มต้นจากประเทศไต้หวัน ประเทศนี้ตั้งอยู่ในเส้นรุ้ง 23.5 องศาเหนือพอดี เขาจึงสร้างแลนด์มาร์กให้ดวงอาทิตย์ส่องตรงลงมายังพื้นในลักษณะ "มุมฉาก" และให้เป็นหนึ่งในเสน่ห์แห่งการท่องเที่ยวที่เป็นทั้งวิทยาศาสตร์ และศาสตร์แห่งความเชื่อ

ประเทศไต้หวันโปรโมทเทศการ Summer Solstice อย่างเป็นทางการโดยจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวเอเซียที่มีความเชื่อเกี่ยวกับ "การรับพลังสุริยะ"

ทางการไต้หวันลงทุนสร้าง Landmark เพื่อการนี้อย่างเต็มฝีมือ
แลนด์มาร์กที่แสดงถึงจุดที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลกในวัน summer solstice 21 - 22 มิถุนายน
หนึ่งในของเล่นทางดาราศาสตร์ ที่ประเทศไต้หวัน แสดงจุดโฟกัสของแสงอาทิตย์ตอนเวลาเที่ยงตรง (solar noon)
ช่องประตูที่แสดงดวงอาทิตย์ยามเช้าตามปฏิทินจีน ที่ระบุ summer solstice อย่างชัดเจน
กองหินสโตนจ์เฮ้นน์ (Stonehenge) ประเทศอังกฤษ จะมีผู้คนแห่กันไปรับพลังสุริยะเทพอย่างแน่นหนาเพราะเขาเหล่านั้นมีความเชื่อที่ถ่ายทอดกันมาตั้งแต่ยุคชาวดรูอิทโบราณหลายพันปี หลายปีที่แล้วมีคนจำนวนหนึ่งถึงขนาดลงทุนเปลือยกายปีนขึ้นไปรับพลังข้างบนแท่งหินเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ร้อนถึงรัฐบาลท้องถิ่นต้องออกกฏหมายบังคับว่า "ห้ามเด็ดขาด" แต่กระนั้นก็ยังมีคนพยายามทำอีกเพราะเป็นเรื่องของความเชื่อ ในวันนี้ดวงอาทิตย์จะขึ้นตรงกับก้อนหินที่มีชื่อ Heel Stone


ย้อนกลับไปสองพันกว่าปีที่ประเทศอียิปส์ นักดาราศาสตร์ชาวกรีกชื่อว่า "อีราโต้สทีเนส" สามารถใช้มุมดวงอาทิตย์ในวันนี้เข้าสมการคำนวณเส้นรอบวงโลกได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ และสองพันกว่าปีต่อมาผมและทีมงานพยัคฆ์ภูเพ็กก็ได้ใช้วิธีการของท่าน "อีราโต้สทีเนส" วัดเส้นรอบวงโลกภายใต้ชื่อรหัสโครงการว่า "ปฏิบัติการอีราโต้สทีเนส" วัดโลกทั้งใบด้วยไม้แท่งเดียวโดยใช้มุมดวงอาทิตย์ที่ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร ประเทศไทย และปราสาทบายน เมืองเสียมราช ประเทศกัมพูชา (อ่านรายละเอียดในบทความปฏิบัติการอีราโต้สทีเนส)



สรุป
วันนี้ 21 มิถุนายน 2558 ท่านและผมย่างเท้าเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ ผมมีความเห็นว่าไหนๆอาแปะไต้หวันแกหาเงินหาทองจากการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ในปรากฏการณ์ summer solstice พี่ไทยอย่างเราๆก็น่าจะหาวิธีมุขเด็ดๆในทำนองแบบนี้มั่งนะคราบ เพราะสุริยะเทพท่านไม่เคยส่งบิลมาเก็บเงินแม้แต่บาทเดียว และในคืนวันที่ 20 มิถุนายน 2558 คนไทยและเพื่อนบ้านชาวอาเซี่ยนคงได้เห็น "พระจันทร์ยิ้ม" อย่างถ้วนหน้า
.jpg)