การพบพระพุทธรูปศิลปะขอมซ่อนอยู่ใต้โพรงหินที่ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร........สื่อถึงอะไร ?
ราว 30 กว่าปีที่แล้วมีโครงการก่อสร้างบันไดคอนกรีตขึ้นปราสาทภูเพ็กบนยอดภูเขาสูง 520 เมตร จากระดับน้ำทะเลโดยใช้งบพัฒนาจังหวัดในโควต้าของ สส. ที่เรียกว่า "เงินผัน" เพื่อให้ชาวบ้านมีงานทำในฤดูแล้ง ระหว่างการก่อสร้างชาวบ้านได้พบ "พระพุทธรูปแกะสลักหินทรายสูงประมาณ 40 ซม." ซ่อนอยู่ใต้โขดหินตรงหน้าผาด้านทิศตะวันออกของปราสาทภูเพ็ก คำถามจึงอยู่ที่ ......... "ทำไมต้องซ่อน"
อนึ่ง ทุกท่านที่ไปชมปราสาทภูเพ็กจะเห็นพระพุทธรูปนาคปรกองค์ใหญ่ตั้งอยู่กลางห้องในตัวปราสาท ท่านอาจจะคิดว่านี้คือพระพุทธรูปเก่าแก่ตั้งแต่เมื่อครั้งขอมเรืองอำนาจ แต่ในความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น พระพุทธรูปองค์นี้เพิ่งจะสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2551 โดยพระที่วัดภูเพ็กจ้างช่างแกะสลักมาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ใช้วัสดุจากแหล่งหินทรายที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของตัวปราสาท ขณะที่กำลังแกะสลักผมก็ยืนดูอยู่ด้วย และที่มุมห้องก็มีพระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งไม่ใช่ของโบราณร่วมสมัยเช่นกันแต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่นั่นตั้งแต่เมื่อไหร่

พระพุทธรูปนาคปรกเรียนแบบศิลปะขอมที่ตั้งอยู่กลางห้องปราสาทภูเพ็กเพิ่งจะสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2551 โดยจ้างช่างแกะสลักมาจากกาฬสินธ์ุ

พระพุทธรูปศิลปะล้านช้างองค์นี้ก็ไม่ใช่ของโบราณร่วมสมัยกับปราสาทภูเพ็ก
ผมถ่ายภาพนี้เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2551 เห็นช่างจากจังหวัดกาฬสินธ์ุกำลังแกะสลักพระพุทธรูปอยู่ที่บริเวณทิศตะวันตกของตัวปราสาท
.jpg)
อีกมุมหนึ่งของการแกะสลักพระพุทธรูปองค์ใหม่
การค้นพบพระพุทธรูปศิลปะขอมในโพรงหิน
ขณะที่โครงการก่อสร้างบันไดคอนกรีตขึ้นไปสู่ปราสาทภูเพ็กกำลังดำเนินการอย่างขะมักเขม้น ภายใต้งบประมาณพัฒนาจังหวัดในโควต้าของ สส. (โครงการเงินผัน) ชาวบ้านที่มาร่วมในการก่อสร้างได้พบพระพุทธรูปหินทรายขนาดสูงประมาณ 40 ซม. ซุกซ่อนอยู่ในโพรงใต้โขดหินด้านขวามือของบันไดทางทิศตะวันออกของปราสาทภูเพ็ก ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ตู้กระจกของวัดภูเพ็ก การค้นพบครั้งนี้ทำให้เกิดคำถามว่า "เป็นพระพุทธรูป.....หรือเทพเจ้า และทำไมต้องเอาไปซุกซ่อนใต้โขดหิน"

บันไดคอนกรีตขึ้นปราสาทภูเพ็ก และโพรงหินที่พบพระพุทธรูป

โพรงหินที่พบพระพุทธรูปบริเวณหน้าผาด้านทิศตะวันออกของปราสาทภูเพ็ก

พระพุทธรูปศิลปะขอมสลักจากหินทรายขนาดสูงประมาณ 40 ซม พบที่โพรงหินบริเวณหน้าผาด้านทิศตะวันออกของปราสาทภูเพ็ก
การวิเคราะห์ว่าเป็นพระพุทธรูปหรือไม่...... และสร้างในสมัยกษัตริย์ขอมพระองค์ไหน
ใช้วิธีการพิจารณาทีละประเด็น ดังนี้
1.ในเบื้องต้นดูยังไงก็ต้องเป็นรูปสลักศิลปะขอมเพราะรูปลักษณ์หน้าตาบ่งชี้อย่างชัดเจน ภาษาปัจจุบันใช้คำว่า "ไม่ต้องตรวจ ดีเอ็นเอ ก็รู้ว่าเป็นคนชาติไหน"

หน้าตาแบบนี้ดูยังไงก็ขอมชัดๆ ถ้าไปหาคุณหมอพรทิพย์ท่านก็คงบอกว่า "ไม่ต้องตรวจดีเอ็นเอ"
2.ยังแกะสลักไม่เสร็จเพราะรายละเอียดต่างๆยังไม่ครบ เช่น มือและเศียร แสดงว่าผู้สร้างต้องรีบเอาไปซ่อนด้วยสาเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เรื่องนี้สอดคล้องกับการสร้างตัวปราสาทภูเพ็กที่ถูกทิ้งค้างคาไว้เพียงฐานรากและส่วนหนึ่งของปราสาท ถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ในสมัยขอมเรืองอำนาจจะพบว่ากษัตริย์ที่นับถือศาสนาพุทธและมีอำนาจมากในการครอบครองดินแดนห่างไกลจนถึงจังหวัดสกลนคร ก็มีเพียง 2 พระองค์ คือ พระเจ้าสุริยะวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1535 - 1593) และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1723 - 1763) ถ้ารูปสลักนี้เป็น "พระพุทธรูป" ก็น่าจะสร้างในสมัยของกษัตริย์เพียง 2 พระองค์เท่านั้น ก็ต้องวิเคราะห์เป็น 2 กรณี
2.1 ถ้าตั้งสมมุติฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 1 ระหว่าง พ.ศ. 1535 - 1593 โครงการใหญ่ของท่านก็คือปราสาพระวิหาร ปราสาทพิมานอากาศ และบารายตะวันตกขนาด 2 กม. x 8 กม.ซึ่งสร้างไม่เสร็จแต่ก็ได้รับการสานต่อจนเสร็จสมบูรณ์ในสมัยของพระเจ้าอุทัยอาทิยต์วรมันที่ 2 (พ.ศ.1593 - 1609) แม้ว่าพระองค์นับถือศาสนาฮินดูนิกายพระศิวะแต่ก็ให้ความเคารพต่อศาสนาพุทธดังหลักฐานรูปสลักที่ปราสาทปาปวน และไม่ปรากฏเรื่องการขัดแย้งกับศาสนาพุทธแต่อย่างใด ดังนั้นถ้ารูปสลักพระพุทธรูปนี้สร้างในสมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 1 ก็ไม่น่าจะต้องมีการซุกซ่อน และปราสาทภูเพ็กก็น่าจะได้รับการสานต่อจนแล้วเสร็จ ดังนั้น ในสายตาของพนักงานสอบสวนประเด็นนี้น่าจะตกไป
อย่างไรก็ตามจากบทความที่เคยเขียนไว้เมื่อปี พ.ศ.2555 เกี่ยวกับพระพุทธรูปที่ภูถ้ำพระ (อยู่ในเว้ปไซด์เดียวกันนี้) มีจารึกภาษาขอมระบุว่า ศักราช 988 แรม 10 ค่ำ เดือน 7 (หมายถึงปีของปฏิทินมหาศักราช) ซึ่งตรงกับ พ.ศ.1066 เป็นสมัยของพระเจ้าอาชาวรมันที่ 3 แสดงว่าศาสนาพุทธได้เกิดขึ้นในดินแดนบริเวณนี้มานานแล้วและก็มีประเด็นความขัดแย้งระหว่างศาสนาพุทธกับศาสนาฮินดูเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอาชาวรมันที่ 3 ทำให้ท่านพระครูโสมังคลาจารย์หนีไปอยู่ในป่าที่ภูถ้ำพระ ปัจจุบันเป็นบ้านหนองสะไน อำเภอกุดบาก ห่างจากปราสาทภูเพ็กไปทางทิศใต้ประมาณ 6 กิโลเมตร
2.2 เมื่อประเด็นแรกตกไปก็ต้องเหลือตัวเลือกเพียงหนึ่งเดียวคือสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ระหว่าง พ.ศ.1723 - 1763 ในยุคนี้อำนาจของพระองค์ยิ่งใหญ่ครอบครองดินแดนมากมายและหนึ่งในนั้นก็คือจังหวัดสกลนคร พระองค์เป็นกษัตริย์ที่นับถือพุทธนิการมหายานมีโครงการก่อสร้างปราสาท โรงพยาบาล ที่พักคนเดินทาง สะพาน และอื่นๆอีกมากมาย ประชาชนจำนวนหลายแสนต้องตรากตรำกับโครงการก่อสร้างที่ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่เพราะเมื่อเสร็จอันหนึ่งก็มีโครงการต่อเนื่องเข้ามาอีก ถ้าเป็นภาษาหมัดมวยก็เรียกว่า "เดินหน้าเข้าแลกทุกยก" จึงมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ โครงการต่างๆก็พลอยยุติลง หรือไม่ก็หยุดชั่วคราวเพื่อรอฟังนโยบายจากกษัตริย์องค์ใหม่ พระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นราชบุตรขึ้นครองราชต่อ แต่พระองค์ต้องประสบกับปัญหาแยกตัวเป็นอิสระของอาณาจักรจามปา และเมืองสุโขทัย ประกอบกับข่าวลือที่ว่าพระองค์ติดโรคเรื้อน ดังนั้นโครงการก่อสร้างที่ยังค้างคาก็เป็นอันต้องพับไป พระองค์ครองราชอยู่เพียง 20 ปี (พ.ศ.1220 - 1243) ครั้นแล้วแผ่นดินก็ตกมาถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ซึ่งนักโบราณคดีมีข้อมูลว่าพระองค์นับถือศาสนาฮินดูและแอนตี้ศาสนาพุทธอย่างรุนแรง มีการสั่งให้ทำลายพระพุทธรูปในปราสาทต่างๆของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จำนวนมาก เมื่อข่าวนี้กระจายมาถึงปราสาทภูเพ็กผู้คนที่เคยภักดีต่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็ต้องเกิดความหวาดกลัวว่าภัยจะมาถึงตัว งานแกะสลักพระพุทธรูปที่ยังไม่เสร็จจึงต้องถูกนำไปซุกซ่อนในที่ปลอดภัย
ประเด็นจึงมีน้ำหนักพอที่จะชี้ได้ว่า "สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และอาจจะต่อเนื่องไปถึงสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2 ซึ่งเป็นกษัตริย์นับถือศาสนาพุทธ"
3.คราวนี้ก็มาถึงประเด็น "รูปสลักนี้เป็นพระพุทธรูป หรือเทพเจ้า" จึงได้ทำภาพเปรียบเทียบระหว่างพระพุทธรูปในสมัยบายน กับพระวิศนุ พระศิวะ และพระโพธิสัตว์ แต่ก่อนอื่นขอให้พระเดชพระคุณท่านลองเปรียบเทียบหน้าตาระหว่างชาวขอมระดับ "รากหญ้า" กับชาวขอมระดับ "อำมาตย์" ที่กำแพงปราสาทบายน จะเห็นได้ชัดเจนว่ามีความแตกต่างกันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ริมฝีปาก" จึงเชื่อว่าช่างผู้แกะสลักรูปที่ปราสาทภูเพ็กน่าจะเอาตัวอย่างมาจาก "แรงงาน" ที่ตัดหินอยู่แถวๆนั้น หรือไม่ก็ตัวนายช่างเองก็มาจากระดับรากหญ้าเช่นกัน เรื่องแบบนี้เป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่าใครเป็นคนปั้นพระพุทธรูปผลงานออกมาก็จะเหมือนคนนั้นหรือคนกลุ่มนั้นๆ อีกประการหนึ่งพื้นที่ก่อสร้างปราสาทภูเพ็กอยู่ห่างไกลความเจริญเป็นป่าเป็นเขาภูมิประเทศจัดอยู่ในลักษณะ "หฤโหด" เจ้านายผู้ควบคุมงานที่นี่ก็คงเป็นแค่ระดับอย่างดีไม่เกินข้าราชการ ซี 5 ไต่เต้ามาจากระดับล่างๆ ส่วนเจ้านายระดับสูงๆมาจากตระกูลลูกท่านหลานเธอหน้าตาหล่อเหลาสะโอดสะองพวกเขานั่งกินสาโทสบายๆอยู่ในเมืองหนองหารหลวงไม่ดีกว่ารึ

ดูจากภาพนี้แล้วทำให้เชื่อว่ารูปสลักที่ปราสาทภูเพ็กเอาแบบอย่างมาจากชาวขอมระดับรากหญ้า

ภาพนี้ก็มาจากกำแพงปราสาทบายนที่แสดงถึงหน้าตาผู้เป็นเจ้านายกับหน้าตาของคนระดับรากหญ้า

เป็นภาพที่ถ่ายเองจากกำแพงปราสาทบายน โดยโปรดสังเกตที่ "ริมฝีปาก" ระหว่างคนระดับเจ้านายกับระดับรากหญ้า

ภาพซ้ายเป็นพระพุทธรูปพบที่บ้านท่าวัดริมหนองหารเปรียบเทียบกับรูปสลักที่ปราสาทภูเพ็ก มีหน้าตาแตกต่างกันระหว่าง "เจ้านาย" กับ "รากหญ้า" เพราะบริเวณริมหนองหารเป็นชุมชนที่สะดวกสบายอาหารการกินอุดมสมบูรณ์เป็นบ้านเป็นเมืองที่เจริญแล้ว
ข้อวินิจฉัยในประเด็นนี้ก็ทำให้มองออกว่ารูปสลักที่ปราสาทภูเพ็กสะท้อนความเป็นบุคคลระดับ "รากหญ้า" ส่วนพระพุทธรูปที่บ้านท่าวัดริมหนองหารบ่งชี้ว่าเป็นบุคคลระดับ "อำมาตย์"
ประเด็นต่อไปก็มาถึงการพิจารณาว่ารูปสลักที่ปราสาทภูเพ็กเป็น "พระพุทธรูป หรือเทพเจ้า" โดยนำภาพพระพุทธรูปศิลปะบายน พระวิศนุ พระศิวะ และพระโพธิสัตว์ มาเปรียบเทียบ

เปรียบเทียบระหว่างพระพุทธรูปศิลปะบายน กับรูปสลักที่ปราสาทภูเพ็ก มีโครงสร้างของเศียรที่คล้ายกัน ต่างกันที่หน้าตาดังประเด็นที่วิเคราะห์ไว้แต่ต้น




.jpg)

หลังจากที่ท่านได้ชมการเปรียบเทียบระหว่างรูปสลักที่ปราสาทภูเพ็ก กับภาพพระพุทธรูปศิลปะบายน พระวิศนุ พระศิวะ และพระโพธิสัตว์ แล้วก็คงจะตัดสินใจได้ว่ารูปสลักที่ปราสาทภูเพ็กเป็น "พระพุทธรูปศิลปะขอมบายนที่พระพักต์ออกไปทางบุคคลระดับรากหญ้า"
4.ร่องรอยของของศานาพุทธที่ปราสาทภูเพ็กยังมีอีกครับ เป็นรอยแกะสลักหินคล้ายกับจะทำ "รอยพุทธบาท" แต่ก็ทิ้งงานไปเสียก่อน หลักฐานชิ้นนี้อยู่ที่บริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวปราสาท ถ้าจะว่าไปแล้วผลงานทุกชิ้นบนยอดภูเขาที่ปราสาทภูเพ็กตั้งอยู่ไม่มีโครงการไหนเสร็จสมบูรณ์แม้แต่ชิ้นเดียว ผมใช้คำพูดเปรียบเปรยเล่นๆว่า "ผู้รับเหมาทิ้งงาน" และพฤติกรรมแบบเดียวกันนี้ก็ยังสืบทอดมาถึงปัจจุบันให้เราๆท่านๆได้เห็นเป็นประจำ เช่น โครงการรถไฟลอยฟ้าของบริษัทโฮปเวลที่กลายเป็นแท่งคอนกรีตเกะกะรกหูรกตาอยู่ที่ถนนทางไปสนามบินดอนเมือง โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียที่จังหวัดสมุทรปราการ โครงการสร้างโรงพัก และอีกมากมาย
ร่องรอยการแกะสลักคล้ายกับรอยพุทธบาทแต่ทำได้เพียงกรอบ

เปรียบเทียบกับรอยพุทธบาทที่ค้นพบในป่าที่ อ.บัวเชต จังหวัดสุรินทร์
5.เปรียบเทียบสถาปัตย์ของฐานปราสาท
เมื่อเช้ามืดของวันที่ 21 มีนาคม 2558 ระหว่างที่นำคณะมัคคุเทศก์อาชีพ 80 ท่าน ไปชมปราสาทภูเพ็ก ผมได้คุยกับนักวิชาการโบราณคดีที่ใช้ชื่อ Facebook ว่า Sonya SP ท่านร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวศิลปกรรมที่ปรากฏตามปราสาทขอมและแหล่งโบราณคดีต่างๆ ท่านผู้นี้ให้ข้อมูลกับผมว่า "ปราสาทภูเพ็กน่าจะสร้างในสมัยขอมปาปวน" เพราะดูจากลักษณะของฐานปราสาท ผมเลยเอาภาพถ่ายฐานปราสาทมาเปรียบเทียบกันระหว่าง ปราสาทภูเพ็ก ปราสาทบายน และปราสาทปาปวน แต่เนื่องจากปราสาทภูเพ็กสร้างไม่เสร็จจึงไม่มีการตบแต่ลวดลายแม้แต่ชิ้นเดียวจึงทำให้ยากต่อการเปรียบเทียบ
สรุป
จากเรื่องราวที่เล่าให้ท่านฟังประกอบกับรูปภาพต่างๆที่ใช้อ้างอิงเป็นหลักฐาน ทำให้เชื่อว่าพระพุทธรูปองค์นี้ และปราสาทภูเพ็กสร้างในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อย่างไรก็ตามหากท่านผู้รู้ท่านใดมีหลักฐานอื่นๆที่ดีกว่านี้ก็โปรดแจ้งให้ผมทราบด้วยที่ sansonthi@gmail.com หรือที่ Facebook Sansonthi Boonyothayan เพราะการค้นคว้าย้อนหลังไปในอดีตไม่ใช่ของง่ายที่จะฟันธงชนิดตายตัว ประวัติศาสตร์และโบราณคดีเปลี่ยนเรื่องราวได้เสมอถ้ามีข้อมูลใหม่ที่ดีกว่า