ย้อนอดีตกรุงเก่าอยุธยา ถือฤกษ์ "ราม นะวามิ"
เมืองเก่าอยุธยาเป็นหนึ่งในมรดกโลกที่นักท่องเที่ยวแทบทุกคณะไม่เคยพลาด และทราบกันดีว่าเมืองนี้เป็นราชธานีของพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.1893 คำว่า "อยุธยา" มาจากเมือง "อโยธยา" ริมแม่น้ำสรายุ รัฐอุตาระประเทศ อินเดีย ที่นี่เป็นบ้านเกิดของ "พระราม" ซึ่งชาวฮินดูในประเทศอินเดียให้ความนับถืออย่างมากและเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่าพระรามมีตัวตนจริงๆเมื่อ 5114 ปี ก่อนคริสตกาล
.jpg)
ผมได้ให้ข้อมูลกับมัคคุเทศก์อาชีพ 160 ท่าน โดยตั้งคำถามว่าทำไมวัดต่างๆจำนวนมากในเมืองเก่าอยุธยาจึงพร้อมใจกันหันหน้าไปที่มุมกวาด 85 องศา (Azimuth 85) ในระหว่างอบรมหลักสูตร "การสร้างปราสาทขอมกับหลักดาราศาสตร์" ซึ่งจัดโดยกรมการท่องเที่ยวร่วมกับสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 - 24 กันยายน 2557 และ 18 - 22 มีนาคม 2558 มีการดูงานและฝึกปฏิบัติการทางดาราศาสตร์ที่วัดชัยวัฒนาราม และวัดมหาธาตุ เมืองเก่าอยุธยา
กำลังบรรยายข้อมูลดาราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเมืองอยุธยาแก่มัคคุเทศก์อาชีพที่หน้าวัดชัยวัฒนาราม
.jpg)
อีกมุมของการบรรยายสดเรื่อง "อยุธยากับดาราศาสตร์" แก่มัคคุเทศก์อาชีพ
ราม นะวามิ คืออะไร และทำไมเกี่ยวข้องกับกรุงศรีอยุธยา
ในฐานะนักเรียนเก่าจากมหาวิทยาลัยในประเทศอินเดียระหว่าง พ.ศ.2512 - 2517 ผมคุ้นเคยกับคำว่า "ราม นะวามิ" (Ram Nawami) เพราะเป็นวันหยุดราชการของรัฐบาลอินเดียเพื่อรำลึกถึงวันเกิดของพระราม จากเอกสารประวัติการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยามีข้อความกล่าวถึงพระเจ้าอู่ทองส่งคณะช่างไปดูงานที่เมืองอโยธยา ประเทศอินเดีย เพราะพระองค์มีความเชื่อในเรื่องศาสนาฮินดูประกอบกับข้อมูลสมมุติฐานว่าพระองค์สืบเชื้อสายมาจาก "ลพบุรี" ดังนั้น การสร้างเมืองอยุธยาจึงต้องใช้สะเป็กเดียวกันกับต้นแบบที่อินเดีย
ชาวฮินดูจำนวนมากเชื่อว่าพระรามมีตัวตนจริงๆไม่ใช่เรื่องนิยายอย่างที่เราๆท่านๆในประเทศไทยได้รับทราบจากวรรณคดีรามเกียรติ์ พวกเขาเชื่อว่าพระรามถือกำเนิด ณ ริมฝั่งแม่น้ำสรายุ เมื่อวันที่ 10 มกราคม ปี 5114 ก่อนคริสตกาล ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดข้อขัดแย้งอย่างรุนแรงที่เมืองอโยธยาเพราะชาวฮินดูซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ต้องการสร้าง "วิหารพระราม" ขึ้นมาใหม่ในบริเวณที่เป็นมัสยิดของชาวมุสลิม จนเรื่องนี้เป็นคดีฟ้องร้องถึงศาลและมีคำตัดสินให้ "แบ่งกันอยู่คนละส่วน" แต่ทุกครั้งเมื่อถึงเทศกาลฉลองวันเกิดพระรามในช่วงปลายเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายนผู้คนจะแห่กันไปลงแม่น้ำสรายุ และเมื่อมีการรวมตัวกันมากๆเข้าก็เสี่ยงต่อการก่อเหตุบุกเข้าทำลายมัสยิด ร้อนถึงรัฐบาลต้องส่งทหารเข้าไปควบคุมสถานะการณ์
นักวิชาการชาวอินเดียใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์คำนวณปรากฏการณ์ย้อนหลังไปถึงวันเกิดพระราม 10 มกราคม 5114 ปี ก่อนคริสตกาล โดยระบุว่าในวันนั้นตรงกับขึ้น 9 ค่ำ และดวงอาทิตย์อยู่ในราศีเมษ ขณะเดียวกันก็มีรายละเอียดว่าดาวอังคารอยู่ในราศีแพะทะเล ดาวเสาร์ในราศีคันช่าง ดาวพฤหัสในราศีปู และดาวศุกร์ในราศีมีน

ตามความเชื่อของชาวฮินดูพระรามเป็นอวตาลลำดับที่ 7 ของพระวิศนุ ซึ่งมาเกิดเป็นมนุษย์บนโลกเพื่อปราบอสูรร้ายที่ชื่อว่า "ราวันน่า" คนไทยเรียกว่า "ทศกัณฑ์"

อโยธยา ริมแม่น้ำสรายุ บ้านเกิดของพระราม

วิหารพระราม (Ram Temple) ที่ชาวฮินดูต้องการสร้างขึ้นมาใหม่ ณ สถานที่เดิมที่เชื่อว่าเคยอยู่ตรงนี้ แต่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของมัสยิด
จากข้อมูลวันเกิดพระรามตามความเชื่อของชาวฮินดูที่ระบุว่าตรงกับขึ้น 9 ค่ำ และดวงอาทิตย์อยู่ในราศีเมษ ทำให้ผมต้องมานั่งคำนวณอย่างละเอียดในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์ด้วยการใช้วิธีสร้างภาพจำลองย้อนหลังไปในปรากฏการณ์ที่สร้างกรุงศรีอยุธยาโดยอาศัยข้อมูล ดังนี้
1.ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า Waxing Gibbous 9 ใกล้ๆกับราศี Gemini and Cancer และ Sun in Aries ซึ่งตรงกับวันเกิดพระราม หรือ ราม นะวามิ (Ram Nawami)
2.เชื่อว่าพระเจ้าอู่ทองมีพราหมณ์ในราชสำนักเป็นผู้คำนวณหาฤกษ์ดังกล่าว โดยได้รับข้อมูลตรงจากการดูงานที่เมืองอโยธยา
3.ท่านพราหมณ์เป็นผู้ "วางแนว" เสาเอกซึ่งเป็นแกนหลักของเมืองให้ตรงกับดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ ขึ้น 9 ค่ำ และราศีเมษ เพื่อให้สอดคล้องกับฤกษ์ของเมืองอโยธยาที่อินเดีย
สิ่งที่ผมพบและมีหลักฐานทางดาราศาสตร์ยืนยันสอดคล้องกับวัตถุพยานของวัดสำคัญต่างๆในเมืองเก่าอยุธยาที่พร้อมใจกันหันหน้าไปที่มุมกวาด 85 องศา (Azimuth 85) ก็คือ
"ได้ฤกษ์การปักหมุดกำหนดแกนหลักของเมืองตรงกับวันที่ 29 - 30 มีนาคม พ.ศ.1892 (AD 1349) สอดคล้องกับปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เพื่อเป็นเตรียมการล่วงหน้าสำหรับพิธีสถาปนาเมืองอยุธยาอย่างเป็นทางการในปีถัดไป พ.ศ.1893"
1.0:09 AM วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.1892 ดวงจันทร์ข้างขึ้น 9 ค่ำ และอยู่ใกล้กับราศีคนคู่ (Gemini) และราศีปู (Cancer)
2.เช้าวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 1892 ดวงอาทิตย์ขึ้นในราศีเมษ ที่มุมกวาด 85 องศา (Azimuth 85) เวลา 06:47 นาที

ปัจจุบันชาวอินเดียกำหนดวันเกิดพระราม (Ram Navami) ตรงกับขึ้น 9 ค่ำ เดือน Chaitra ของปฏิทินมหาศักราชของฮินดู (Saka Calendar) เทียบกับปฏิทินสากล (Gregorian Calendar) ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม ถึง 20 เมษายน

ปฏิทินมหาศักราชของอินเดียที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เปรียบเทียบกับปฏิทินสากล (Gregorian Calendar)

คืนวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1349 พ.ศ. 1892 ดวงจันทร์ข้างขึ้น 9 ค่ำ ในราศี Cancer เวลา 07:52 PM

ดวงอาทิตย์ขึ้นในราศีเมษ ที่มุมกวาด 85 องศา วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.1892 (AD 1349) เวลา 06:49 AM
นี่คือเหตุผลยืนยันว่าทำไมวัดสำคัญต่างๆในกรุงเก่าอยุธยาจึงต้องหันหน้าไปที่มุมกวาด 85 องศา (Azimuth 85) เพื่อให้สอดคล้องกับสะเป็กของฤกษ์ "ราม นะวามิ อโยธยา"
ดังเช่น วัดพระราม วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดโลกยสุธาราม วัดวรเชษฐาราม และวัดศรีสรรเพชญ์





พิสูจน์ด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ว่าวัดมหาธาตุหันไปที่มุมกวาด 85 องศา
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2558 ผมและคณะมัคคุเทศก์อาชีพ 80 ท่าน ได้ทำการลงพื้นที่ที่วัดมหาธาตุและทดสอบการใช้อุปกรณ์ทันสมัยคือ Smart Phone ควบคู่กับ Magnetic Compass เพื่อพิสูจน์ว่าวัดมหาธาตุหันหน้าไปที่มุมกวาด 85 องศา จริงหรือไม่ ผลปรากฏตามที่เห็นในภาพครับ
มัคคุเทศก์อาชีพทุกท่านกำลังฝึกใช้อุปกรณ์ไฮเท็คในการวัดองศาของมุมกวาดที่วัดมหาธาตุ

หลายท่านเริ่มชำนาญขึ้นมากสามารถใช้ smart phone อย่างคุ้มค่าที่ซื้อมาแพงๆ

Iphone 4 ของผมแสดงตัวเลข Azimuth 85
.jpg)
เข็มทิศแสดงแนว center-line ของวัดมหาธาตุ ชี้ไปที่มุมกวาด 85 องศา (Azimuth 85)
.jpg)
แปลนวัดมหาธาตุแสดงมุมกวาด 85 องศา (Azimuth 85)
วัดพุทไธศวรรย์ วัดไชยวัฒนาราม และวัดอรุณ คือปริศนาที่ต้องขบคิดต่อไป
จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าวัดพุทไธศวรรย์ วัดไชยวัฒนาราม และวัดอรุณ ซึ่งสร้างในยุคกรุงศรีอยุธยาแต่ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งสามแห่งหันหน้าไปที่มุมกวาด 70 องศา เหมือนกันหมด และเผอิญตรงกับแนว East - West ของปราสาทพิมาย ทำให้ปรากฏการณ์ sunrise and sunset เป็นวันเดียวกันกับปราสาทพิมาย

ภาพถ่าย Google Earth แสดงมุมกวาดของวัดทั้งสามแห่งที่ 70 องศา (azimuth 70) และตั้งอยู่ทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนกันทั้งสามวัด

Center-line จองวัดทั้งสามแห่งตรงกับแนว East - West ของปราสาทพิมาย

ปรากฏการณ์ sunrise and sunset ของวัดทั้งสามแห่งจึงเป็นช่วงวันเดียวกันกับปราสาทพิมาย
.jpg)
ปรากฏการณ์ Sunset ที่วัดอรุณ กทม และวัดชัยวัฒนาราม อยุธยา 27 มกราคม 2562 ขอขอบคุณภาพถ่ายจาก Guide Ning Nuanwan Hansanawin and น้องเต๋า (Tow Napapahn) หลานสาวของผมที่เป็นชาวอยุธยาโดยกำเนิด
.jpg)
ดวงอาทิตย์หย่อนตัวลงด้านหลังวัดอรุณอย่างสวยงาม ฝีมือถ่ายภาพจาก Guide Ning Nuanwan Hansanawin

มีการเก็บข้อมูลเบื้องต้นที่วัดไชยวัฒนารามในโครงการอบรมมัคคุเทศก์อาชีพ 2 รุ่น ระหว่างวันที่ 19 - 23 กันยายน 2557 และ 18 - 22 มีนาคม 2559
.jpg)
การฝึกอบรมมัคคุเทศก์อาชีพหลักสูตรดาราศาสตร์ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมการท่องเที่ยว

มัคคุเทศก์อาชีพกำลังฝึกหัดการใช้อุปกรณ์เข็มทิศและ smart Phone ในการจับพิกัดดาราศาสตร์ของวัดไชยวัฒนาราม ในภาพพบว่าวัดแห่งนี้หันหน้าไปที่ตำแหน่งมุมกวาด 70 องศา (azimuth 70)

จากข้อมูลประวัติศาสตร์วัดพุทไธศวรรย์สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทองจึงเป็นวัดแรกของกรุงศรีอยุธยา และเป็นต้นแบบของวัดไชยวัฒนารามและวัดอรุณ วัดไชยวัฒนารามอยู่ห่างจากวัดพุทไธศวรรย์ 1.9 กม. ส่วนวัดอรุณห่าง 66 กม. วิธีการสร้างให้หันหน้าไปที่พิกัดมุมกวาด 70 องศาเหมือนกัน สามารถทำได้โดยใช้ตำแหน่งดวงอาทิตย์เป็นตัวชี้เรียกว่า shadow plot เชื่อว่าท่านโหราจารย์ในยุคนั้นมีความรู้คณิตศาสตร์และดาราศาสตร์อย่างดีคงจะสามารถทำได้อย่างสบาย
คำถามที่เป็นปริศนา ทำไมวัดทั้งสามหันหน้าไปที่ตำแหน่ง 70 องศา ทำไมแตกต่างจากวัดอื่นๆที่อยู่ในเมืองเก่าอยุธยาที่หันหน้า 85 องศา และทำไมจึงตั้งอยู่ทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนกันหมด ..... คงต้องวิเคราะห์ต่อไป
ทำไมชาวฮินดูจึงมีความรู้ดาราศาสตร์
เป็นคำถามที่คาใจหลายท่านผมจึงต้องขอย้อนเวลากลับไปในอดีตราวหกพันปีที่แล้วในดินแดนเมโสโปเตเมีย นักโบราณคดีเรียกดินแดนนี้ว่า "อาณาจักรสูเม่อร์" (The Sumer Empire) และเรียกประชาชนที่นี่ว่า "ชาวสุเมเรี่ยน" (Sumerian) ยังไม่มีใครตอบได้ว่าพวกเขาโผล่ออกมาจากที่ไหนเพราะตอนนั้นมนุษยชาติยังอยู่ในสภาพ "มนุษย์โบราณ" แต่ชาวสุเมเรี่ยนมีความรู้ทางคณิตศาสตร์ ภาษาศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และที่สำคัญ "ดาราศาสตร์" พวกเขารู้จักระบบสุริยะอย่างดีจนทำให้องค์การนาซ่าหน้าแตก เช่น คำจารึกที่อธิบายลักษณะของดาวเคราะห์ยูเรนัสและเนปจูนว่ามีขนาดเท่าๆกันเหมือนฝาแฝดและมีสีสดใสเหมือนน้ำ ข้อมูลเหล่านี้ประจักษ์ชัดตามจารึกเมื่อหกพันปีที่แล้วก็เมื่อยานอวกาศ "Voyager 2" บินไปถึงดาวเคราะห์ยูเรนัสในปี 1986 และเนปจูน 1989 (อ้างอิงจากผลงานการค้นคว้าของนักโบราณคดีชาวอเมริกันชื่อ Zacharia Sitchin และเขียน Pocket Book ชื่อ The Genesis Revisited )

แผนที่แสดงแหล่งกำเนิดอารยธรรมแห่งแรกๆของโลก

จารึกแผ่นดินเผาของชาวสุเมเรี่ยนแสดงระบบสุริยะและเรื่องราวของดาราศาสตร์

จารึกอักขระรูปลิ่ม และคณิตศาสตร์ฐานหกสิบที่ยังคงใช้อยู่ในวิชาตรีโกณมิติ เรขาคณิต และมิติแห่งเวลา
จารึกเกี่ยวกับโลกและดาราศาสตร์ และที่สำคัญ "สัญลักษณ์แห่งจักรราศี" ที่ตกทอดมาเป็นวิชาโหราศาสตร์
ยุคใกล้เคียงกันมีอีกอาณาจักรหนึ่ง "อารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ" ปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถานติดต่อกับอัฟกานีสถาน เมืองเอกชื่อว่า "โมเฮนจา เดโร" และ "ฮารับปา" มีความสัมพันธ์กับชาวสุเมเรี่ยนอย่างมาก และต่อมาดินแดนแห่งนี้เป็นต้นกำเนิดของชาว "อารยัน" (Aryan) และเริ่มขยายตัวรุกเข้าไปในตอนเหนือของชมพูทวีปจนทำให้ให้เกิดอาณาจักรและศาสนาใหม่นั่นคือ "พราหมณ์และฮินดู" มีการนับถือเทพเจ้าที่เราๆท่านๆรู้จักกันดีในนาม พระศิวะ พระวิศณุ พระพรหม ฯลฯ ซึ่งต่อมาแตกแขนงเป็นศาสนาพุทธ ศาสนาเจน และนิกายอื่นๆอีกมากมาย มรดกสำคัญของชาวอารยันก็คือ "ความเชื่อในเทพเจ้า ดาราศาสตร์ และปฏิทินมหาศักราช" ตกทอดมายังดินแดนเอเซียใต้ และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงอาณาจักรอยุธยาและรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน
เมืองโบราณ "โมเฮนจา เดโร" ต้นกำเนิดอารยธรรมลุ่มน้ำสินธุ และต่อมาเป็น "ชาวอารยัน"
ชาวอารยันรุกเข้ามาในอินเดียตอนเหนือเมื่อสามพันกว่าปีที่แล้ว

อิทธิพลของชาวอารยันทำให้เกิดศาสนาพราหมณ์และฮินดูที่แพร่ไปยังอินเดียใต้ และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

อิทธิพลของพราหมณ์และฮินดูทำให้พี่ไทยอย่างเราๆท่านๆได้ซึมซับมรดกแห่งความเชื่อในเทพเจ้า แม้ว่าคำสอนของพุทธองค์จะบอกชาวพุทธให้ยึดมั่นในสัจธรรมแห่งชีวิต ไม่งมงายอยู่ในอิทธิฤทธิ แต่พออ้าปากออกมาเราก็มักจะติดประโยคว่า "สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงดลบันดาล........."
ผลการค้นคว้าครั้งนี้จะมีประโยชน์อย่างไร ?
ผมเชื่อว่าข้อมูลที่ค้นคว้าและพิสูจน์ได้ในเชิงวิทยาศาสตร์ สอดคล้องกับวัตถุพยานคือวัดต่างๆ ประกอบกับเรื่องราวความเชื่อของพระเจ้าอู่ทองที่ส่งช่างไปดูงานที่อินเดียและกลับมาตั้งชื่อเมืองว่า "อยุธยา" น่าจะก็ให้เกิดประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว ดังนี้
1.ทำให้มีข้อมูลในมุมมองใหม่ที่เป็นวิทยาศาสตร์บรรยายแก่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ และชาวต่างชาติที่มีพื้นความรู้ทางดาราศาสตร์
2.สามารถสร้างเรื่องราวน่าสนใจให้แก่ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาท่านที่ "กระเป๋าหนัก" ภาษาฮินดิเรียกว่า "ฮินดูสตานี่วารา ไปซ่า โบโฮดแหก้า" ให้มาฉลองการแต่งาน หรือถ่ายทำภาพ pre-wedding ที่เมืองเก่าอยุธยา เดี๋ยวผมจะเอาข้อมูลนี้ใส่มือให้ท่านสาธิต เซกัล ประธานสมาคมนักธุรกิจไทยอินเดียให้ช่วยประชาสัมพันธ์
3.น่าจะจัดทำเรื่องราว Light and Sound ในแนวใหม่ "Ayutthaya and Ram Nawami" เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยว
4.ไหนๆเราก็เป็นประชาคมอาเซี่ยนแล้ว ผมว่าน่าจะไปจับมือกับการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียจัดงานฉลอง "คู่แฝด อโยธยา" ระหว่าง อยุธยา กับ ยอกค์จาการ์ต้า เพราะทั้งสองเมืองนี้มีที่มาเหมือนกัน
5.เป็นคำตอบว่าทำไมชื่อต่างๆในประเทศไทยจึงผูกพันอยู่กับ "พระราม" เริ่มตั้งแต่พระนามของกษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ใช้คำว่า "รามาธิบดี" และทรงเป็นสมมุติเทพ สถานที่ราชการและสิ่งก่อสร้าง เช่น สะพานพระรามเก้า โรงพยาบาลรามา ถนนพระรามสอง แม้กระทั้งชื่อโรงแรมอย่างรามาการ์เด้น ฯลฯ
อยุธยา และยอกค์จาการ์ต้า เป็นเมืองคู่แฝดในนามของ "ราม นะวามิ"
สรุป
ถ้าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเล่นด้วยกับมุขนี้ของผม เชื่อว่าต้องเข้าตานักท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องชาวภารตะที่จัดอยู่ในข่าย "กระเป๋าหนัก" ต้องนิยมมาฉลองการแต่งงานที่อยุธยาอย่างแน่นอน ประเทศไทยเราสามารถบริการได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่บริการจัดหาพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญ เครื่องบวงสวงครบชุด พาหนะรับส่ง ถ้ามาเป็นขบวนใหญ่ของบุคคลระดับวีไอพีก็สามารถจัดรถฉลามนำทางได้ มีโรงแรม พร้อมอาหารการกิน และที่สำคัญมีไกด์นำเที่ยวแบบมืออาชีพ

ผมสะสมประสบการณ์และข้อมูลต่างๆตั้งแต่ครั้งเป็นนักเรียนที่อินเดีย พ.ศ. 2512 - 2517 ที่อิสราเอล 2521 - 2522 ปากีสถาน 2528 - 29 กัมพูชา 2541 และอัฟกานีสถาน 2549 เอาข้อมูลจากเรื่องราวของเมโสโปเตเมีย พระคำภีร์ไบเบิ้ล พระคำภีร์ฮินดู และศาสนาพุทธ มาวิเคราะห์อย่างเชื่อมโยง ทำให้ผมกล้าเขียนบทความนี้อย่างตรงไปตรงมาในแง่มุมที่เป็นวิทยาศาสตร์และมีวัตถุพยานยืนยัน อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัว