ท่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ "โสมสูตร" ที่ปราสาทขอมในกัมพูชาหายไปไหนหมด?........ แต่ทำไมยังคงปรากฏหลายแห่งในประเทศไทย

ผมตั้งคำถามกับนักวิชาการที่กัมพูชา คุยกับอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ค้นคว้าเอกสารจำนวนมาก ไม่พบเรื่องราวของปรากฏการณ์นี้ นักวิชาการหลายท่านที่ผมได้พูดคุยด้วยแสดงความประหลาดใจว่าท่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ "โสมสูตร" ที่ใช้ในการประกอบพิธีได้หายไปจากปราสาทขอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งปราสาทของศาสนาฮินดู ที่เมืองเสียมราช ประเทศกัมพูชาจริงหรือ ?
ในทางตรงกันข้ามยังคงพบเห็นท่อโสมสูตรที่ปราสาทขอมหลายแห่งในประเทศไทย ........... มันเป็นไปได้อย่างไรที่นครหลวงของอาณาจักร์อังกอร์ในอดีตจะไร้อุปกรณ์สำคัญในการทำพิธีทางศาสนาของบุคคลชั้นสูง ......... ก็ไหนบอกว่าปราสาทขอมในประเทศกัมพูชาเป็นต้นแบบของปราสาทในประเทศไทย เรื่องนี้ไม่ได้ล้อเล่นครับตามผมมาแล้วท่านจะทราบว่า "มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ"
ท่านๆที่เป็นแฟนคลับของเว้ปไซด์นี้คงทราบดีว่ามุมมองในเรื่องโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของผมอาจจะออกนอกกรอบตำราทั่วไป เพราะผมชอบตั้งคำถามแบบ "พนักงานสอบสวน" และพยายามค้นหาหลักฐาน วัตถุพยาน มาอิงกับข้อสมมุติฐานในเชิงตรรกของความน่าจะเป็น เพื่อเขียนสำนวนให้แน่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าเปรียบเหมือนการสู้คดีในศาลผมต้องปูเรื่องให้ศาลรับฟ้องแต่เมื่อถึงตอนตัดสินผมอาจจะชนะหรือแพ้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง การค้นคว้าเรื่องนี้ไม่ง่ายครับเพราะยังไม่เคยเห็นเอกสารหรืองานวิจัยอื่นๆมาก่อน พูดง่ายๆว่า "ผมเปิดคดีใหม่ที่ยังไม่เคยมีการไตร่สวนมาก่อน"
อย่างไรก็ตามผมก็ต้องใช้วิธีเชื่อมโยงข้อมูลเท่าที่หาได้ ประกอบกับวัตถุพยานที่ยังคงปรากฏตามปราสาทต่างๆ บวกกับจิตนาการในเชิงของความน่าจะเป็น .......... ท่านที่เคารพครับและนี่ก็คือผลงานค้นคว้าของผม ........ ถูกผิดอย่างไรขึ้นอยู่กับการตัดสินของท่าน
สำรวจปราสาทขอมที่เมือง Siem Reap ประเทศกัมพูชา
ผมเก็บตัวอย่างปราสาทขอมชื่อดังและปราสาทเล็กๆประเภทโนเนมและไม่อยู่ในสายตาของนักท่องเที่ยว จำนวน 36 แห่ง มีการถ่ายภาพและเดินสำรวจด้วยตนเองหลายครั้ง Siem Reap เป็นเมืองที่ผมต้องไปร่วมประชุม สัมมนากับองค์กรระหว่างประเทศในเรื่องของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำหลายครั้ง และทุกครั้งที่ไปผมจะขออยู่ต่อโดยเสียค่าใช้จ่ายส่วนตัวเพื่อศึกษาข้อมูลโบราณคดีตามปราสาทต่างๆ ครั้งสุดท้ายที่ไปคือเดือนพฤศจิกายน 2557 ไปที่นั่น 2 ครั้ง ว่าจ้างรถสามล้อเครื่องที่เป็นญาติของเพื่อนร่วมงานชาวกัมพูชาสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ให้เป็นทั้งล่ามและไกด์นำทาง ลุยสำรวจปราสาทขอมตั้งแต่รุ่นแรกๆที่ Rolous เช่น ปราสาทพระโค ปราสาทโลเล่ย ปราสาทบากอง และปราสาทชื่อดังใน Siem Reap เช่น ปราสาทต่างๆที่อยู่ในเมืองนครธม ปราสาทนครวัด ปราสาทพนมบาเค็ง รวมทั้งปราสาทโนเนมที่ไม่อยู่ในสาระบบของนักท่องเที่ยว เช่น ปราสาทโกรโค ปราสาทไพร ปราสาทพระพิธู
ผลของการสำรวจไม่พบว่ามีท่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แม้แต่แท่งเดียว พบแต่ศิวะลึงค์เก่าๆและโยนีหักๆวางอยู่ในปราสาท หรือไม่ก็ทิ้งอยู่ตามข้างสนามหญ้าข้างๆปราสาท แต่เมื่อค้นคว้าทางเอกสารพบว่า "แปลนปราสาทขอมดั่งเดิม" มีการกำหนดแนวของท่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ไว้ชัดเจน และยังมีเอกสารอธิบายว่าอยู่ที่ผนังด้านทิศเหนือของปราสาท เช่น เอกสารนำเที่ยวของปราสาท Ta Phrom Kel เป็นอะโรคยาศาล ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของปราสาทนครวัด ขณะเดียวกันเอกสารจำนวนมากก็อธิบายว่าท่อโสมสูตรเป็นอุปกรณ์ส่วนควบของศิวะลึงค์และโยนี ใช้ในการประกอบพิธีของบุคคลชั้นสูงโดยให้พราหมณ์เทน้ำลงไปบนแท่งศิวะลึงค์ให้ไหลลงไปที่โยนี "กลายเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์" และไหลออกไปสู่ข้างนอกตัวปราสาทผ่านท่อโสมสูตร เพื่อให้ราษฏรตาดำๆอย่างเราๆท่านๆที่ไม่มีสิทธิ์เข้าไปในตัวปราสาท สามารถรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปบูชาที่บ้าน
คำถาม "ท่อโสมสูตร" หายไปไหน ?
พิธีราชาภิเศกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เป็นต้นแบบของ "กษัตริย์สมมุติเทพ หรือ เทวราชา"

แปลนปราสาทขอมระบุท่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ทางด้านทิศเหนืออย่างชัดเจน
ปราสาทรุ่นเก่าตั้งแต่สมัยอาณาจักรเจนละ
นักโบราณคดีทราบดีว่าอาณาจักรขอมมีความเป็นมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรฟูนัน คศ. 68 - 550 โดยได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดีย และส่งไม้ต่อให้อาณาจักรเจนละ ค.ศ. 550 - 802 ในที่สุดก็มาลงตัวที่อาณาจักรอังกอร์ อย่างไรก็ตามการก่อสร้างปราสาทรุ่นแรกๆที่เห็นเป็นรูปร่างและยังคงปรากฏอยู่ทุกวันนี้ก็ได้แก่ "ปราสาทที่สัมบอร์ ไพรคุก" (Sambor Prei Kok) ห่างจากตัวเมืองกัมปงธมราว 30 กม. ส่วนที่ประเทศไทยคือปราสาท "ภูมิโปน" ที่จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทเก่าที่สุด
ที่ผมต้องหยิบยกเรื่อราวของอาณาจักรเจนละขึ้นมาก็เพราะมีประเด็นน่าสนใจตรงที่ "ทำไมปราสาทต้นแบบ Sambor Prei Kok เมืองกัมปงธม ประเทศกัมพูชา จึงไม่ปรากฏร่องรอยของท่อโสมสูตร" ทั้งๆที่มีอุปกรณ์ส่วนควบครบครันได้แก่ "ศิวะลึงค์และโยนี" ขณะที่ปราสาทร่วมสมัยอย่าง "ปราสาทภูมิโปน" ที่จังหวัดสุรินทร์ ประเทศไทย มีท่อโสมสูตรอยู่ที่ผนังด้านทิศเหนือเห็นได้ชัดเจน

ปราสาทภูมิโปน จังหวัดสุรินทร์ กับปราสาทที่สัมบอร์ ไพร์คุก อยู่ร่วมสมัยเดียวกันเมื่อครั้งอาณาจักรเจนละ ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ก่อนที่จะเกิดอาณาจักรอังกอร์

ด้านทิศเหนือของปราสาทภูมิโปน มีท่อโสมสูตรมองเห็นได้ชัดเจน

แต่ที่ปราสาทสัมบอร์ ไพรคุก ใกล้ๆกับเมืองกังปงธม ประเทศกัมพูชา มีแต่ฐานโยนี แต่ไม่มีร่องรอยของท่อโสมสูตร สังเกตได้ว่าผนังด้านทิศเหนือที่ตรงกับทางน้ำไหลของฐานโยนีไม่มีร่องรอยของท่อโสมสูตร

เปรียบเทียบภาพถ่ายผนังด้านทิศเหนือของปราสาทสัมบอร์ ไพรคุก "ไม่ปรากฏท่อโสมสูตร" แต่ที่ผนังด้านทิศเหนือของปราสาทภูมิโปน มองเห็นท่อโสมสูตรชัดเจน
เปรียบเทียบภาพถ่ายท่อโสมสูตรที่ผนังด้านทิศเหนือของปราสาทภูมิโปน ประเทศไทย (ซ้ายมือ) กับปราสาทสัมบอร์ ไพรคุก ประเทศกัมพูชา (ขวามือ) ไม่ปรากฏร่องรอยท่อโสมสูตร อย่างไรก็ตามผมยังไม่ได้ไปที่ปราสาทสัมบอร์ ไพรคุก หลังนี้ด้วยตนเองจึงได้เพียงให้ความเห็นตามภาพถ่ายที่หาได้ หากผมไปที่นั่นในอนาคตจะไปสำรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง
อนึ่ง ในกรณีของปราสาทหลังนี้มีนักวิชาการท่านผู้รู้ได้แจ้งให้ผมทราบว่า "ที่นี่มีท่อโสมสูตร" อย่างชัดเจน ก็ต้องขอบพระคุณในข้อมูล และก็ทำให้เกิดประเด็นที่คิดต่อไปว่า "ที่นี่อยู่ห่างจากเมืองหลวงอังกอร์" เมื่อเปรียบเทียบกับปราสาทรุ่นเก่าๆได้แก่ปราสาทพระโคที่ "โลเล่ย" บริเวณใกล้ๆอังกอร์ "ไม่พบท่อโสมสูตร" ก็ทำให้มีข้อน่าสงสัยมากขึ้น
ปราสาทในยุคอาณาจักรอังกอร์
พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ได้รวบรวมอาณาจักรเจนละและสถาปนาอาณาจักรอังกอร์ขึ้นมาใน ค.ศ.802 จากนั้นได้มีการก่อสร้างปราสาทขึ้นครั้งแรกที่ภูเขาพนมกูเลน ต่อมาก็ย้ายมาสร้างที่โลเล่ย และเสียมเรียบ ตามลำดับ ปราสาทรู่นแรกๆก็ได้แก่ ปราสาทพระโค ปราสาทโลเล่ย และปราสาทบากอง หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยปราสาทจำนวนมากดังที่เห็นในปัจจุบัน ผมค้นเอกสารต่างๆของกัมพูชาเพื่อหาเรื่องราวของ "ท่อโสมสูตร" ก็พบว่ามีการกล่าวถึงอย่าชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรที่ "ปราสาทตาพรมเกล" เป็นอโรคยาศาลในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของปราสาทนครวัด ผมไปสำรวจที่นั่นเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 เดินหาท่อโสมสูตรตามที่ระบุในเอกสารจนเมื่อยก็ไม่พบแม้แต่ร่องรอย จึงตั้งคำถามว่า...... เกิดอะไรขึ้นที่นี่
.jpg)
เอกสารนำเที่ยวของปราสาท Ta Phrom Kel ก็ระบุว่ามีท่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ (Somasutra)
.jpg)
ภาพถ่ายประตูหลอกด้านทิศเหนือของปราสาทตาพรมเกล ไม่ปรากฏร่องรอย "ท่อโสมสูตร" แม้แต่เงา
.jpg)
ผมเดินหาท่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ปราสาท Ta Phrom Kel จนเมื่อยก็ไม่พบแม้แต่วี่แวว
ปราสาทชื่อดังๆที่นักท่องเที่ยวรู้จักดีก็ไม่มีท่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ "โสมสูตร" แม้แต่แห่งเดียว ผมมีภาพถ่ายผนังด้านทิศเหนือของปราสาทตรงกับโยนี ปรากฏว่าเป็นผนังทึบไม่มีร่องรอยของท่อโสมสูตรแม้แต่นิดเดียว และปราสาทที่หลายแห่งที่โยนีหันไปทางประตู เช่น ปราสาทพระขันฑ์ และปราสาทชื่อดังๆที่อยู่ในโปรแกรมของทัวร์ ก็ไม่พบท่อโสมสูตร ดังตัวอย่างในภาพข้างล่าง
Prasat Kravan



Prasat Ta Som

Prasat Bayon

สำหรับกรณีของปราสาทบายน มีท่านผู้รู้ได้ให้ข้อมูลและส่งภาพให้ดูว่าปราสาทหลังนี้มีท่อโสมสูตรชัดเจน ต้องขอบพระคุณในข้อมูล ผมจึงนำไปตั้งข้อสังเกตไว้ในบทสรุปท้ายบท
Prasat Prey Rup



Prasat Phra Khan

Prasat Phra Ko
.jpg)
.jpg)
Prasat Phnom Bakeng

ปราสาทขอมหลายแห่งในประเทศไทย ปรากฏท่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ "โสมสูตร" อย่างชัดเจน ดังตัวอย่าง
ปราสาทนารายณเจงเวง สกลนคร


ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร


ปราสาทตาเมือนธม สุรินทร์ และปราสาทพนมรุ้ง บุรีรัมย์

ปราสาทพิมาย โคราช

ปราสาทสด๊อก๊อกธม สระแก้ว

ปราสาทภูมิโปน สุรินทร์ เป็นปราสาทขอมเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ก็มีท่อโสมสูตร เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรพบขณะที่กำลังขุดฐานรากเพื่อสร้างพระธาตุองค์ใหม่เมื่อปี 2518 ผมได้ภาพนี้มาจากท่านเจ้าอาวาทเมื่อปี 2546 ขณะนั้นผมเป็นเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม มีความคุ้นเคยกับท่านเจ้าอาวาส ดร.มหาสม ซึ่งจบการศึกษาปริญญาเอกจากอินเดีย ผมกับท่านจึงคุยกันง่ายในฐานะศิษย์เก่าอินเดียด้วยกัน

เกิดอะไรขึ้นกับท่อโสมสูตรที่ปราสาทขอมในประเทศกัมพูชา
ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินก็คือ "เกิดไม่ทันครับ" โอ้ .... ขออภัยครับผมไม่ใช่คนขวานผ่าซากแบบนั้น ผมมีข้อสมมุติฐานแบบส่วนตัวที่ได้มาจากการค้นคว้าเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับวัตถุพยานที่ปรากฏเบื้องหน้า และจินตนาการเชิงตรรกที่ว่าด้วยความน่าจะเป็น ดังนี้
พิจารณาจากปราสาทขอมในประเทศไทยที่ "มี และไม่มี" ท่อโสมสูตร ผมเชื่อว่าปราสาทที่มีท่อโสมสูตรเป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีของชนชั้นสูงที่ปกครองในเมืองนั้นๆ เช่น ปราสาทพิมาย ปราสาทสด๊อกก๊อกธม ปราสาทนารายณ์เจงเวง ปราสาทภูเพ็ก ปราสาทตาเมือนธม และปราสาทภูมิโปน เป็นต้น ส่วนปราสาทที่ไม่มีท่อโสมสูตรเป็นปราสาทธรรมดาทั่วไปที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลชั้นสูงท่านนั้นๆ ข้อสมมุติฐานนี้กินความถึงปราสาทขอมที่อยู่ในประเทศกัมพูชาก็น่าจะมีวัตถุประสงค์เดียวกัน เพราะในยุคขอมเรืองอำนาจปราสาททั้งหมดนี้อยู่ในพระราชอาณาจักรเดียวกัน และบรรพชนในยุคนั้นก็ไม่ทราบว่าอีกพันปีข้างหน้าลูกหลานของท่านจะ "แบ่งแผ่นดิน" ออกเป็นประเทศไทย กัมพูชา และลาว
ดังนั้น ปราสาทขอมหลายแห่งที่นครหลวง "อังกอร์" ปัจจุบัน "Siem Reap" ก็ต้องเคยมี "ท่อโสมสูตร" เป็นส่วนหนึ่งของการประกอบพิธีสำคัญของบุคคลชั้นสูง แต่ต่อมาเมื่อศาสนาพุทธนิกาย "เถรวาท" (Therevada Buddhisim) เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นตั้งแต่ปลายรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีอำนาจสูงสุดร้อยปีต่อมาในระยะสุดท้ายของอาณาจักรอังกอร์ ทำให้ความเชื่อของผู้คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นปกครองเปลี่ยนไปจาก "เทวราชา" ไปเป็นการนับถือ "ศาสนพุทธเถรวาทแบบลังกา" ท่อโสมสูตรจึงหมดความหมาย และถูกรื้อทิ้งออกไปจากปราสาท เหลือไว้เพียงศิวะลึงค์และโยนีเท่านั้น เรื่องทำนองนี้ก็เคยเกิดขึ้นกับกรุงรัตนโกสินทร์ในรัชสมัยของพระบามสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์นับถือพุทธเถรวาสอย่างเคร่งครัดจึงโปรดให้ยกเลิกพิธีพราหมณ์ เช่น การโล้ชิงช้า การทำพิธีจรดพระนังคัลแลกนาขวัญ และหันมาประกอบพิธีพุทธแบบเถรวาท ต่อมาเมื่อถึงสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ปี 2503 ก็มีนโยบายให้นำพิธีจรดพระนังคัลแลกนาขวัญกลับมาอีก


ท่อโสมสูตรที่ Prasat Phnom Theat ที่เมือง Stung Treng ถูกรื้ออกมาจากตัวปราสาทและวางทิ้งอยู่ในป่า
ผมมีคำอธิบายเหตุผลการรื้อทิ้งท่อโสมสูตร ดังนี้
1.พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงมีนโยบายเปลี่ยนแนวคิดจาก "เทวะราชา" ให้เป็น "พุทธราชา" ดังจะเห็นได้ว่าปราสาทและสิ่งก่อสร้างต่างๆของท่านเอื้อต่อการเข้าถึงของประชาชนตาดำๆทั่วไป ดังตัวอย่าง "ปราสาทบายน" ไม่มีกำแพงกั้นรอบตัวปราสาท และมีการจารึกเรื่องราวชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป เช่น การทำมาค้าขาย การหาอยู่หากิน การตีไก่ การล่าสัตว์ ผิดกับปราสาทสมัยก่อนๆที่เข้าถึงได้เฉพาะพราหมณ์และบุคคลชั้นสูงและก็จารึกเฉพาะเรื่องราวของกษัตริย์ พระองค์สร้างโรงพยาบาลและที่พักคนเดินทางให้ประชาชนได้ใช้อย่างเสรี และที่เห็นจะมีน้ำหนักมากก็ตรงที่พระองค์ส่งราชบุตรชื่อ "ธรรมรินทร์" (Tamalinda) ไปบวชพระที่ศรีลังกาเป็นเวลา 10 ปี เพื่อให้ซาบซึ้งในศาสนาพุทธนิกาย "เถรวาท" เมื่อพระธรรมรินทร์กลับมาที่นครหลวงอังกอร์ในปี 1190 ก็ได้เริ่มตั้งสำนักสงฆ์เถรวาสในพระราชวัง ดังนั้นแม้ว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน แต่พระองค์ก็สนับสนุนให้ราชบุตรเป็นผู้นำศานาพุทธนิกายเถรวาท
2.บันทึกของราชฑูตจีนที่ชื่อ จูต้ากวน ซึ่งมาเจริญสัมพันธไมตรีระหว่าง ค.ศ.1296 - 1297 ระบุว่าเห็นพระสงฆ์ห่มจีวรสีเหลืองจำนวนมากในนครหลวงอังกอร์ ขณะเดียวกันก็ยังมีพราหมณ์ฮินดูอยู่ในสำนักของเขาเหล่านั้น ขณะเดียวกันเอกสารประวัติศาสตร์ของกัมพูชาก็ระบุว่าตั้งแต่ศริตศวรรษ ที่ 13 เป็นต้นมาศาสนาพุทธนิกายเถรวาทก็กลายเป็นศาสนาประจำชาติ

บันทึกของจูต้ากวนเป็นเอกสารที่นักโบราณคดีทั่วโลกยอมรับว่ามีความสำคัญต่อการอธิบายเรื่องราวของเมืองอังกอร์
3.ปราสาทปาปวนซึ่งสร้างในสมัยพระเจ้าอาทิตย์อุทัยวรมันที่ 2 เป็นศาสนาสถานฮินดู ต่อมาในปลายยุคของอาณาจักรอังกอร์ ได้ถูกดัดแปลงเป็นศาสนสถาน "พุทธเถรวาท" โดยรื้อก้อนหินจากยอดปราสาทมาสร้างเป็น "พระพุทธรูปปางไสยาสน์" ที่ด้านทิศตะวันตกของตัวปราสาท แสดงถึงอิทธิพลของศาสนาพุทธเถรวาท และเป็นวัตถุพยานยืนยันว่าการดัดแปลงสิ่งก่อสร้างใหญ่ขนาดนี้เขาทำได้ ทำไมการรื้อทิ้ง "ท่อโสมสูตร" แท่งนิดเดียวจะทำไม่ได้


4.ปราสาท Phra Pitu หมายเลข X มีภาพจารึกของพระพุทธรูปนิกายเถรวาทอย่างชัดเจน ซึ่งต่างจากปราสาทขอมหลังอื่นๆ ในเมืองนครธม

สรุป
ผมในฐานะส่วนตัวเชื่อว่า "ท่อโสมสูตร" ที่ประเทศกัมพูชาถูกรื้อทิ้งก็เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงความเชื่อจากศาสนาเดิมคือฮินดู และพุทธมหายาน มาเป็นพุทธเถรวาท และถ้าท่านจะถามว่าแล้วท่อโสมสูตรที่ปราสาทขอมในประเทศไทยทำไมยังคงปรากฏอยู่เต็มตาละ คำตอบก็น่าจะ "เราอยู่ไกลจากเมืองหลวง" อิทธิพลในความเชื่อการต่อต้านอาจไม่รุนแรงนัก ขณะเดียวกันตอนที่ศาสนาพุทธเถรวาทเริ่มมีอิทธิพลในนครหลวงอังกอร์อำนาจการปกครองจากส่วนกลางก็เริ่มอ่อนล้า ภาษาหมัดมวยอาจเรียกว่าแค่ประคองเอาตัวรอดให้ครบยกก็บุญแล้ว และเมื่อกรุงศรีอยุธยาเริ่มมีอำนาจขึ้นมาครอบครองดินแดนในแถบประเทศไทยปัจจุบัน กษัตริย์ของอยุธยายังคงนิยมความเชื่อ "เทวะราชา" และมีพราหมณ์เป็นที่ปรึกษาอยู่ในราชสำนักเรียกว่า "ท่านปุโรหิต" ท่อโสมสูตรจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อ และนี่ก็เป็นมรดกตกทอดมาถึงเราๆท่านๆในปัจจุบันที่เป็นลูกครึ่งพุทธเถรวาทผสมพราหมณ์ฮินดู มิน่าเล่านักการเมืองใหญ่ๆในบ้านเมืองจึงต้องพึ่งพิธีกรรมที่หนีไม่พ้น "ท่านพราหมณ์" ซึ่งมีทั้งพิธีบวงสรวงก่อนเข้าทำงานในกระทรวง และพิธีต่ออายุและตัดกรรมตอนหมดอำนาจ .......... และที่สุดของที่สุด "ปลัดขิก" ศิวะลึงค์ขนาดมินิ ก็ยังเป็นเครื่องรางยอดนิยมของชายไทยจำนวนไม่น้อย
อนึ่ง ตามมีผู้รู้ท่านหนึ่งให้ข้อมูลกับผมทาง Facebook ว่า "ปราสาทบายน" ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นศาสนาพุทธมหายาน "มีท่อโสมสูตรอย่างชัดเจน" ต้องขอขอบพระคุณอย่างสูงในข้อมูลนี้ และทำให้ผมคิดเปรียบเทียบกับกับปราสาทฮินดู ชื่อดังๆ เช่น ปราสาทกราวาน ที่มีฐานโยนีชัดเจนทุกห้อง "แต่ไม่มีท่อโสมสูตร" ท่านผู้รู้ท่านนี้อธิบายต่อไปอีกว่าปราสาทที่สร้างด้วยอิฐเผาไม่ค่อยจะแนบเนื้อกับท่อโสมสูตรที่เป็น "หินทราย" และอาจจะเสียหายได้ง่ายจึงได้ถอดเอาไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถาน
ประเด็นนี้จึงต้องวิเคราะห์กันต่อไป ...... ทำไมปราสาทพุทธอย่าง "บายน" มีท่อโสมสูตร ....... แต่ปราสาทฮินดูอย่าง "กราวาน" ไม่มี........?