ประตูเมืองโบราณสกลนครอยู่ตรงไหน ..... รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร
สงสัยมานานแล้วว่าประตูเมืองสกลนครในยุคขอมเรืองอำนาจอยู่ตรงส่วนไหนของคูเมือง อ่านหนังสือของกรมศิลปากรและเอกสารต่างๆที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ก็ไม่พบข้อมูล ค้นหาในบันทึกของนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศส แอนเตียน อะมอนิเยร์ เคยมาที่สกลนครในปี พ.ศ.2447 ก็ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ค้นหารูปและบันทึกของกรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งเสด็จมาที่สกลนครเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2449 ก็ไม่พบภาพถ่ายและข้อความ พูดคุยกับนักโบราณคดีหลายท่านก็ยังไม่ได้คำตอบ คุยกับคุณครูเก่าของเมืองสกลท่านหนึ่งพอได้ความว่าชาวบ้านรื้อเอาหินไปทำฐานเสาบ้าน แต่ก็ไม่มีหลักและภาพถ่ายฐานยืนยัน ........ ก็เลยจำเป็นต้องใช้ความรู้และข้อมูลของตนเองเท่าที่จะหาได้บวกกับจินตนาการ และข้อมูลอ้างอิงจากเมืองโบราณต่างๆในยุคขอมเรืองอำนาจ เช่น พิมายและนครอังกอร์ที่กัมพูชา
อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าต้องมีประตูเมืองอยู่ที่ใดที่หนึ่งอย่างแน่นอนเพราะ "เป็นไปไม่ได้ที่เมืองนี้ ไม่มีประตู" ดูจากภาพถ่ายทางอากาศเมื่อ พ.ศ.2489 และ พ.ศ.2497 เห็นชัดเจนว่ามีคูเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดประมาณ 1,500 เมตร x 1,500 เมตร คิดเป็นเนื้อที่ตัวเมืองเกือบ 1,500 ไร่ ถือว่าเป็นเมืองขนาดใหญ่ของอาณาจักรขอมในดินแดนเกือบเหนือสุดของอาณาเขต และมีโบราณสถานศิลปะขอมมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเมืองต่างๆที่ตั้งอยู่ในภาคอีสานตอนบน ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร และกาฬสินธ์ุ กรมศิลปากรระบุว่าเมืองนี้น่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 - 16 อย่างไรก็ตามในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 - 18 (AD 1180 - 1200) มีกษัตริย์ขอมที่เป็นนักก่อสร้างและมีพระราชอำนาจมากที่สุด คือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มรดกของพระองค์ในจังหวัดสกลนครที่กรมศิลปากรยืนยันอย่างน้อย 2 แห่ง ได้แก่สะพานขอม และอโรคยาศาล
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วประตูเมืองก็น่าจะมีความอลังการพอสมควรให้สมกับเป็นเมืองใหญ่ แต่คำถาม ...... ทำไมหายไปจนหมดไม่เหลือซากแม้แต่น้อย ในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าถูกรื้อเอาหินไปก่อสร้างวัดหรือสิ่งก่อสร้างอย่างอื่นภายหลังจากขอมเสื่อมอำนาจและเข้าสู่ยุคอาณาจักรล้านช้างต่อเนื่องกับอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ........ อย่างไรก็ตาม กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้ทำแผนที่ระวาง 1:4000 แสดงเขตคูเมืองโบราณตาม มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534

ภาพจินตนาการของประตูเมืองสกลโบราณด้านทิศตะวันออก
แผนที่ระวาง 1:4000 แสดงเขตคูเมืองโบราณ ตามมติ ครม.วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534

ภาพถ่าย ปี 2497

ภาพถ่ายทางอากาศเมื่อ พ.ศ. 2489 (ภาพล่าง) และ พ.ศ.2497 (ภาพบน) มองเห็นคูเมืองรูปสี่เหลี่ยมชัดเจน รวมทั้งอ่างเก็บน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า "บาราย" ภาพถ่ายปี พ.ศ.2497 คูเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในน้ำหนองหาร นั่นเป็นเพราะมีการสร้างประตูน้ำที่ปากลำน้ำก่ำสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ราวๆ พ.ศ.2490 ทำให้ระดับน้ำหนองหารสูงขึ้นและท่วมคูเมืองโบราณ

ภาพถ่ายทางอากาศปี 2489 พอจะมองเห็นร่องรอย "ประตูเมือง 2 แห่ง" ด้านทิศตะวันออก และทิศใต้
พิจารณาภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี 2489 เห็นได้ชัดเจนว่าเขตคูเมืองโบราณยุคขอมเรืองอำนาจน่าจะเป็นพื้นที่แห้งไม่มีน้ำท่วมขัง เพราะบรรพชนเหล่านั้นคงไม่สร้างเมืองในพื้นที่น้ำท่วม พวกเขาต้องรู้ดีว่าระดับน้ำสูงสุดมาถึงบริเวณไหน
.jpg)
ภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ.2489 ก่อนการก่อสร้างประตูแววพยัคฆ์คัน หรือประตูน้ำก่ำ มองเห็นระดับน้ำในหนองหารขึ้นมาไม่ถึงคูเมือง แต่เมื่อพิจารณาภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ.2497 ซึ่งประตูน้ำก่ำสร้างเสร็จและเก็บกักน้ำได้ในปี 2490 ทำให้ระดับน้ำท่วมเข้ามาถึงแนวคูเมือง
Timeline การเปลี่ยนแปลงของตัวเมืองสกลนครตั้งแต่ปี พ.ศ.2489 และ 2497 ยังคงมองเห็นคูเมืองโบราณ แต่ภาพถ่ายปัจจุบันคูเมืองหายไปแล้ว ส่วนที่เห็นเป็นแนวด้านทิศตะวันออกเป็นการถมดินทับคูเมือง

.jpeg)
ภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2516 ยังเห็นร่องรอยคูเมือง เปรียบเทียบกับภาพถ่าย Google Earth ปี 2565

กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ได้ทำแผนที่ระวางขนาด 1:4000 แสดงพื้นที่ขอบเขตคูเมืองโบราณ ตามมติ ครม. วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534 (สีเขียวเป็นเอกสารสิทธิ์ของเอกชน สีส้มเป็นที่ดินของรารชการ) ในภาพนี้ประตูเมืองทิศตะวันออก (The East Gate) อยู่ในเขตที่ดินของราชการ จึงง่ายต่อการสำรวจด้วยการขุดเจาะใต้ดินตามหลักวิชาการโดยกรมศิลปากร
.jpg)
ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงชัดเจนว่าราชธานีของอาณาจักรขอมที่ชื่อ Angkor ตั้งอยู่ริมทะเลสาปขนาดใหญ่แต่ก็อยู่พ้นจากเขตน้ำท่วมในฤดูฝน พิจารณาแผนที่ Google Earth พบว่าบริเวณที่ตั้งเมืองนี้สูงกว่าระดับน้ำในทะเลสาปมากกว่า 10 เมตร ประกอบกับบันทึกของฑูตจีนชื่อ จูต้ากวน ที่มาประจำนครอังกอร์ในราชสำนักของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 3 ระหว่าง ค.ศ.1296 - 1297 อธิบายถึงระดับน้ำในทะเลสาปสูงขึ้นมากถึงยอดต้นไม้ในฤดูน้ำหลากแต่ไม่มีกล่าวถึงน้ำท่วมตัวเมือง
.jpg)
เคยไปนั่งเรือชมทะเลสาปแห่งนี้หลายครั้งและมองเห็นระดับน้ำเปรียบเทียบกับพื้นที่ตัวเมือง Angkor มีความสูงต่างกันและอยู่ห่างกันพอสมควร ประกอบกับทะเลสาปแห่งนี้ไม่มีประตูน้ำเหมือนกับหนองหารสกลนคร
ช่วงที่ทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ เช่น IUCN และ MRC มีโอกาศไปประชุมและสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องการจัดการน้ำที่ Siem Reap หลายครั้ง ก็ไม่เคยได้ยินว่าเมือง Angkor (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Siem Reap) ถูกน้ำท่วม อย่างเก่งก็ท่วมเป็นแห่งๆตามที่ลุ่ม เช่น บริเวณที่เป็น "บารายขนาดใหญ่"
ปราสาท Neak Pean เป็นโบราณสถานที่อยู่ตรงกลางบารายขนาดใหญ่จึงมักมีน้ำท่วมขังหลายครั้งจากน้ำฝนในพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระดับน้ำในทะเลสาป
พยายามค้นหาหลักฐานเอกสารต่างๆที่สามารถระบุตำแหน่งประตูเมืองโบราณสกลนคร จนทุกวันนี้ก็ยังไม่พบข้อมูลแม้แต่นิดเดียว เลยจำเป็นต้องใช้จินตนาการบวกกับข้อมูลอ้างอิงของเมืองพิมาย และเมืองนครธม ที่ประเทศกัมพูชา ทำให้เกิดภาพจำลองว่าประตูเมืองน่าจะอยู่ที่ศูนย์กลางของคูเมืองทั้งสี่ด้านโดยมีถนนเชื่อมเป็นรูปกากบาทใกล้กับพระธาตุเชิงชุม (ปราสาทขอม) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมือง คล้ายๆกับเมืองนครธม อนึ่งภาพถ่ายทางอากาศของเมืองหนองหารน้อยซึ่งเป็นเมืองโบราณคู่แฝดกับหนองหารหลวงก็เห็นร่องรอยถนนผ่ากลางเมืองในลักษณะกากบาท
ภาพถ่ายปี พ.ศ.2489 เมืองหนองหารน้อยซึ่งเป็นเมืองโบราณคูแฝดกับหนองหารหลวงมีถนนเป็นรูปกากบาทตัดกันที่กลางเมือง ทำให้เชื่อว่าเมืองหนองหารหลวงก็น่าจะมีถนนลักษณะเดียวกัน
.jpg)

ตำแหน่งที่น่าจะเป็นประตูเมืองโบราณโดยมีถนนเชื่อมระหว่างกันเป็นรูปกากะบาด
.jpg)
เปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ.2489 ระหว่างเมืองสกลนคร (หนองหารหลวง) และเมืองหนองหารน้อย (ปัจจุบันใช้ชื่อว่า หนองหาน ขึ้นกับจังหวัดอุดรธานี ) เห็นชัดเจนว่า "ประตูเมือง" น่าจะอยู่ทั้งสี่ทิศ

ภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ.2489 แสดงร่องรอยที่เชื่อว่าเป็นประตูเมืองทางทิศตะวันออกและทิศใต้ เพราะมีร่องรอยของถนน

ผังเมืองโบราณของตัวเมืองสกลนครมีพระธาตุเชิงชุม (ปราสาท) เป็นศูนย์กลาง


แปลนเมืองนครธมที่เอามาอ้างอิง มีปราสาทบายนเป็นศูนย์กลางและมีถนนตัดกันเป็นรูปกากบาท

ตัวเมืองพิมายมีประตูอยู่ตรงกลางของคูเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันประตูเมืองโบราณก็ยังปรากฏอยู่ชัดเจน
.jpg)
ประตูเมืองพิมายที่เป็นจุดเริ่มต้นของถนนที่เชื่อมไปถึงนครอังกอร์ในกัมพูชา กำลังจะโปรโมทให้เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลก แวดวงมัคคุเทศก์อาชีพเรียกถนนสายนี้ว่า "ราชมัครา" (The Royal Road)
ประตูเมืองโบราณสกลนครน่าจะเหมือนศิลปะขอมบายน ?
จากหลักฐานภาพถ่ายเก่าแก่ที่พอหาได้ของพระธาตุเชิงชุมมองเห็นซุ้มประตูที่ยังมีรูปร่างคล้ายพระปรางค์ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ แกะรอยอดีตพระธาตุเชิงชุม 4 ยุคอารยธรรม เว้ปไซด์เดียวกันนี้) ซุ้มประตูของวัดที่มีรูปร่างเหมือนประตูเมืองนครธม ทำให้เชื่อว่าน่าจะลอกแบบมาจากประตูเมืองยุคขอมบายนราวพุทธศตวรรษที่ 16 (พ.ศ.1723 - 1763)
อนึ่ง จากหลักฐานศิลาจารึกภาษาขอมโบราณที่บ้านหนองสะไน อำเภอกุดบาก สกลนคร ระบุปีมหาศักราช 988 ตรงกับ ค.ศ.1066 (พ.ศ.1609) แสดงว่าความเจริญของเมืองสกลนครโบราณเกิดขึ้นก่อน ค.ศ.1000 (พ.ศ.1543) แต่ยุคขอมบายนของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อยู่ระหว่าง ค.ศ.1180 - ค.ศ.1220 (พ.ศ.1723 - 1763) เป็นไปได้ว่าประตูเมืองของเดิมถูกดัดแปลงให้เป็นลักษณะสไตล์ขอมบายน

ภาพถ่ายเก่าแก่ของวัดพระธาตุเชิงชุมที่ข้างในเป็นปราสาทขอม มีซุ้มประตู 3 ปรางค์คล้ายประตูเมืองนครธม
ประตูเมืองนครธมเป็นศิลปะขอมบายนสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ภาพขยายให้เห็นซุ้มประตูสไตล์บายน ด้านทิศตะวันตกของพระธาตุเชิงชุม
.jpg)
เปรียบเทียบซุ้มประตูพระธาตุเชิงชุมระหว่างภาพถ่ายเก่า (ก่อน พ.ศ.2494) กับภาพถ่ายปัจจุบัน
.jpg)
ภาพถ่ายปี พ.ศ.2494 เห็นซุ้มประตูทิศตะวันตกมีลักษณะคล้ายประตูเมืองนครธม (Angkor Thom) ที่ประเทศกัมพูชา

เปรียบเทียบซุ้มประตูพระธาตุเชิงชุมกับซุ้มประตูเมืองนครธม
จะค้นหาประตูโบราณได้อย่างไร ?
ถ้ากรมศิลปากรเห็นด้วยกับแนวคิดของผมก็น่าจะลองขุดดินที่คูเมืองด้านทิศตะวันออกลงไปให้ถึงดินเดิม เชื่อว่าฐานรากที่เป็นหินน่าจะยังคงอยู่แม้ตัวประตูได้ถูกทำลายไปหมดแล้ว เพราะการก่อสร้างประตูเมืองขนาดใหญ่ต้องมีการวางฐานรากที่มั่นคงด้วยวัสดุเช่นหินหรือไม้เน้ือแข็งเป็นท่อนซุงขนาดใหญ่ ถ้าสามารถพิสูจน์จนพบฐานรากประตูเมืองละก้อเราๆท่านๆเปิดประวัติศาสตร์เมืองสกลเพิ่มขึ้นอีกบทหนึ่งได้เลย ไหนๆกรมศิลปากรก็ได้กันเขตแนวคูเมืองไว้ส่วนหนึ่งแล้วโดยห้ามก่อสร้างทุกชนิดบนนั้นก็น่าจะทดลองค้นหาประตูเมืองซะเลยให้มันรู้แล้วรู้รอด
.jpg)
การสร้างซุ้มจำเป็นต้องมีฐานรากที่มั่นคงโดยใช้วัสดุที่แข็งแรง เช่น ศิลาแลง หินทราย และไม้เนื้อแข็ง
วิธีการค้นคว้าและค้นหาประตูเมืองโบราณ
ยอมรับว่าไม่เคยเรียนวิชาโบราณคดีแต่เรียนจบปริญญาวิทยาศาสตร์และสนใจศึกษาเรื่องนี้เป็นการส่วนตัวโดยใช้พื้นความรู้วิชาต่างๆที่เรียนมาตั้งแต่มัธยมเอามาผสมผสานกัน จนในที่สุดมาถึงบางอ้อว่าถ้าเราเข้าใจ "พฤติกรรมมนุษย์ในเชิงตรรกวิทยา" ก็ไม่ยากที่จะเรียนรู้เรื่องโบราณคดีและประวัติศาสตร์ เพราะสิ่งเหล่านี้เกิดจากฝีมือมนุษย์ตาดำๆอย่างเราๆท่านๆนี่แหละ จากการศึกษาเรื่องราวอารยธรรมย้อนหลังไปหลายพันปีเริ่มตั้งแต่ยุคเมโสโปเตเมียจวบจนปัจจุบัน ค้นพบว่า "พฤติกรรมของมนุษย์ยังคงเหมือนเดิม" เปลี่ยนไปเพียงวิธีการที่จะบรรลุถึงสิ่งที่ต้องการ เช่น สมัยโบราณมนุษย์ต้องการขึ้นสู่อำนาจก็ใช้พละกำลังที่เหนือกว่าผู้อื่น มาถึงยุคเทคโนโลยีก็ใช้อาวุธที่ทรงอานุภาพกว่า หรือข้อมูลข่าวสารที่เหนือกว่าเรียกว่า IO (information operation)
ดังนั้น การค้นคว้าเรื่อง "ประตูเมืองโบราณ" จึงใช้วิธีการ
1. จากภาพถ่ายทางอากาศที่เห็นชัดว่าเมืองโบราณสกลนครเป็นสไตล์ "ขอมเรืองอำนาจ" จึงใช้หลักตรรกวิทยาระบุว่า "เมืองนี้ต้องมีประตู" ซึ่งรูปแบบของประตู และถนน ก็น่าจะลอกเรียนมาจากต้นแบบที่นครอังกอร์ เพราะการปกครองของอาณาจักรขอมเป็นระบอบ "อำนาจส่วนกลาง" ไม่ต่างกับประเทศไทยปัจจุบันที่ศูนย์อำนาจอยู่ที่กรุงเทพ ผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องมาจากการแต่งตั้งโดยคำสั่งกระทรวงมหาดไทย แบบแปลนอาคารศาลากลางจังหวัดต้องมาจากกรมโยธาธิการ งบประมาณก็โอนมาจากกรมบัญชีกลาง ข้าราชการจะขอย้ายก็ต้องไปวิ่งเต้นกับอธิบดีหรือปลัดกระทรวงที่กรุงเทพ กระทั่งผู้รับเหมารายใหญ่ๆจะยื่นซองประมูลระดับร้อยล้านพันล้านยังต้องไปคารวะท่านผู้มีอำนาจที่กรุงเทพ ดังนั้น รูปแบบของการก่อสร้างประตูเมืองและการจัดวางผังตัวเมืองก็น่าจะไม่ต่างจากนครอังกอร์ โดยมีตัวอย่างที่ประตูเมืองพิมาย
2. จากหลักฐานภาพถ่ายของ "ซุ้มประตู" ที่พระธาตุเชิงชุม (ปราสาทขอม) มีรูปร่างคล้ายซุ้มประตูของ "เมืองนครธม" ที่นครอังกอร์ และจากประสบการณ์ตรงของผมที่คุ้นเคยกับเมืองนั้นอยู่แล้วทำให้ทราบว่าซุ้มประตูของปราสาทในยุคขอมบายนกับซุ้มประตูเมืองใช้ศิลปะเดียวกัน
ภาพ (บนซ้ายมือ) เป็นซุ้มประตูเมืองนครธม ส่วนภาพอื่นๆเป็นซุ้มประตูของปราสาทพระขันฑ์ ปราสาทบันเตยกะเดย ปราสาทตาพรม ทั้งหมดนี้มีรูปร่างของศิลปะขอมบายน เป็นการยืนยันว่าซุ้มประตูปราสาทต่างๆในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ขอมบายน) มีลักษณะเหมือนกับประตูเมืองนครธม

เปรียบเทียบภาพถ่ายซุ้มประตูพระธาตุเชิงชุมกับซุ้มประตูเมืองนครธมมีส่วนคล้ายกันมาก จึงพออนุมานตามหลักตรรกวิทยาได้ว่า "ประตูเมืองโบราณสกลนคร" ก็น่าจะมีรูปร่างแบบนี้
3. เป็นที่ทราบทั่วไปว่า "คูเมืองที่ยังคงเหลืออยู่" ก็คือแนวคันดินทิศตะวันออกตรงบริเวณที่ใช้ในการแข่งเรือ และทราบอีกว่ามีการถมดินให้สูงขึ้นในสมัยนายกเทศมนตรีท่านหนึ่งราวๆสามสิบกว่าปีที่แล้ว ดังนั้นจึงมีความคิดว่าให้ขออนุญาตกรมศิลปากรเพื่อใช้เครื่องเจาะดินลงไปให้ถึงระดับดินเดิมและเอาตัวอย่างขึ้นมาดูว่ามีวัสดุ "ศิลาแลง หินทราย ไม้เนื้อแข็ง" หรือไม่ ถ้าพบวัสดุดังกล่าวก็ให้กรมศิลปากรทำโครงการขุดสำรวจโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นน่าจะเป็นนายทุนอุดหนุนงบประมาณ ถ้าสามารถค้นพบฐานรากประตูเมืองได้จริงๆรับรองประวัติศาสตร์เมืองสกลเปิดหน้าใหม่ได้อีกฉากหนึ่ง

แถวๆตรงนี้แหละที่น่าจะมีการเจาะสำรวจหาฐานรากประตูเมืองโบราณ
.jpg)
ภาพจินตนาการของเมืองสกลนครโบราณในยุคขอมเรืองอำนาจ น่าจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นโครงสร้างหลักๆดังที่เห็น

ภาพที่วาด "เมืองสกลโบราณ" เจตนาให้ตรงกับปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นตรงกับ centerline ของตัวเมืองที่ตำแหน่ง Azimuth 80 องศา ปัจจุบันตรงกับวันที่ 15-16 เมษายน
.jpeg)
ดวงอาทิตย์จะปรากฏตรงกับหน้าประตูด้านทิศตะวันออกปีละ 2 ครั้ง คือ 13 - 14 เมษายน (มหาสงกรานต์) และ 23 - 25 สิงหาคม
พิกัดที่น่าจะสำรวจประตูเมืองโบราณทางทิศตะวันออก (The East Gate) เป็นที่ดินของราชการตามแผนที่ระวางของกรมธนารักษ์ ตาม มติ ครม. วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2534

กรมธนารักษ์ได้ทำแผนที่ระวาง 1:4000 แสดงเขตคูเมืองโบราณ

เอกสารการกำหนดขอบเขตที่ดินกำแพงเมือง - คูเมือง สกลนคร ของกรมธนารักษ์

ขอบเขตเมืองเก่าสกลนคร ตามประกาศของ "คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และเมืองเก่า" มีพื้นที่รวม 3.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นแนวคูเมืองเดิมตั้งแต่สมัยอารยธรรมขอม ประกาศเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559
เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในการค้นหาประตูเมืองโบราณ
จากการศึกษาเทคโนโลยีล่าสุดที่ใช้กับแหล่งโบราณคดีพบว่ามีระบบ Scan พื้นที่ด้วย Laser ที่เรียกว่า Light Detection and Ranging : LiDAR + GPR (Ground Penetrating Radar) สามารถเจาะทะลุลงไปใต้ดินและมองเห็นร่องรอยของสิ่งก่อสร้างที่แฝงตัวอยู่ ผลงานล่าสุดคือการค้นพบสิ่งก่อสร้างมากมายที่ปราสาทนครวัด และเมืองนครธม ประเทศกัมพูชา อุปกรณ์กล้องถ่ายภาพชนิดพิเศษนี้สามารถติดตั้งกับ Drone ซึ่งน่าจะมีขายในท้องตลาด หากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนครจับมือกับกรมศิลปากรก็น่าจะพัฒนาวิธีการไฮเทคได้ไม่ยากนัก หรือไม่ก็เอางบประมาณใส่มืออาจารย์ ม.ราชภัฏ หรือ ม.เกษตรสกลนครที่จบปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ให้ทำหน้าที่ technical consultant ในโครงการสำรวจครั้งนี้ เชื่อว่าอาจารย์ที่จบ PhD Science คงจะเล่นไม่ยาก
เป้าหมายพิกัดของประตูเมือง
ถ้าใช้โดรนติดอุปกรณ์ LiDAR ทำการ Scan ควรจะ focus ไปที่พิกัดเหล่านี้
จุดที่น่าจะเป็นที่ตั้งประตูเมืองทั้งสี่ทิศ

N 17 10 23.16 E 104 09 02.76 ปัจจุบันเป็นสถานีประมงน้ำจืดสกลนคร
.jpeg)
N 17 09 56.34 E 104 09 36.23 เป็นพิกัดที่น่าสำรวจค้นหามากที่สุดเพราะเป็นที่ดินของราชการและยังไม่มีสิ่งปลูกสร้าง อีกทั้งมีร่องรอยจากภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2489
.jpeg)
พิกัดประตู East Gate ในสภาพภูมิประเทศปัจจุบัน ตรงกับแนวถนนโบราณที่ไปยังปราสาทกลางเมือง
.jpeg)
ทุกท่านที่ถนัด Application Compass Smartphone หรือ GPS สามารถพิสูจน์ด้วยตัวเองโดยไปยืนที่คูเมืองตำแหน่งนี้ (ตามแผนที่) จะเห็นดวงอาทิตย์เช้าตรู่วันที่ 14 - 16 Apr และ 23 - 25 Aug เวลา 06:20 - 06:30 ตรงกับพิกัดมุมกวาด 80 องศา (Azimuth 80)

Smartphone จะแสดงภาพแบบนี้
.jpeg)
พิจารณาภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ.2497 ประตูเมืองด้านทิศตะวันออกน่าจะอยู่ตรงนี้
.jpeg)
ภาพถ่ายทางอากาศ ปี 2489 แสดงร่องรอยของประตูด้านทิศตะวันออก (East Gate) และประตูด้านทิศใต้ (South Gate)

N 17 09 28.54. E 104 09 10.47 ปัจจุบันตรงนี้เป็นอาคารพาณิชย์และถนนในตัวเมือง

N 17 09 50.25. E 104 08 32.66 ปัจจุบันเป็นที่ดินส่วนบุคคล
.jpg)
ภาพถ่าย LiDAR ที่ปราสาทนครวัดแสดงให้เห็นร่องรอยสิ่งก่อสร้างมากมายแฝงตัวอยู่ใต้ดิน
.jpg)
เมื่อนำผลภาพถ่าย LiDAR มาสร้างภาพจำลองจะเห็นสวยงามแบบนี้
ภาพถ่าย LiDAR ของเมืองนครธมก็พบร่องรอยสิ่งก่อสร้างมากมาย
.jpg)
อุปกรณ์ LiDAR สามารถติดตั้งกับ Drone

หลักการทำงานของ LiDAR ในการ Scan พื้นที่

ข้อเสนอแนะ
เชื่อว่าถ้าเราสามารถค้นหาร่องรอยประตูเมืองสกลนครโบราณที่แฝงตัวอยู่ใต้ดิน ณ ประตูทิศตะวันออก (The East Gate) ....... ก็เท่ากับเราสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มี Story Behind ดีไม่ดีเราอาจพบโบราณสถานอื่นๆอีกหลายแห่งที่ยืนยันว่า ....... นครหนองหารหลวงไม่ได้มีเพียงแค่สิ่งก่อสร้างที่เห็นในปัจจุบัน ...... ถึงเวลาแล้วครับต้องเล่นกับเทคโนโลยีไฮเทคให้มันสมกับยุคไทยแลนด์ 4.0 และที่ขาดไม่ได้ก็คือการทำ Model ย้อนอดีตเพื่อให้นักท่องเที่ยวมา selfie ดังตัวอย่างที่ Mexico City เขาสร้างเมืองจำลองย้อนอดีตอารยธรรม Aztec เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชม
.jpg)
โมเดลเมืองโบราณยุคอารยธรรม Aztec ที่ Mexico City
.jpg)
การสร้างภาพจำลองปราสาทขอมที่วัดพระธาตุเชิงชุมโดยใช้ "กระจกภาพ" ทำให้มองเห็นสิ่งก่อสร้างที่อยู่ข้างใน

ถ้าสามารถขุดค้นจนพบฐานรากของประตูเมืองโบราณบริเวณพิกีด The East Gate ก็ควรทำสะพานข้ามเพื่อให้มองเห็นชัดเจนเป็นเสน่ห์ของอารยธรรมแห่งอดีตหนองหารหลวง
สรุป
ถ้าย้อนเวลากลับไปเมื่อพันปีที่แล้ว ........ สิ่งที่บรรพชนท่านเห็นในวันสงกรานต์ คือ "ดวงอาทิตย์ในราศีเมษ และตรงพิกัดประตูเมือง" อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจุบันประตูดังกล่าวจะหายไปหมดสิ้นแล้ว แต่ท่านสุริยะเทพยังคง "มาตามนัด" ณ ตำแหน่งมุมกวาด 80 องศา ในวันสงกรานต์ 14 - 16 เมษายน ทุกปี เราๆท่านๆสามารถพิสูจน์ด้วยตัวเอง ณ จุดที่เคยเป็นประตูบริเวณ "คูเมืองริมหนองหาร" ด้านทิศตะวันออก
.jpeg)
.jpeg)
.jpeg)
ถ้าบรรพชนผู้สร้างเมืองสกลนครโบราณย้อนเวลากลับมาในยุคปัจจุบัน ....... ท่านเหล่านั้นคงอยากจะเห็นภาพนี้อีกสักครั้ง
.jpeg)
.jpeg)