ตรุษจีน ตรุษเวียดนาม และบุญเบิกฟ้า......มาลงตัวที่ "เทศกาลตรุษไทสกล คนจีน เวียดนาม"
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 (ค.ศ.2010) เป็นการบังเอิญที่วันวาเลนไทน์ วันตรุษจีน และตรุษเวียดนาม มาตรงกันพอดี ชาวสกลนครที่อยู่ในเขตตัวเมืองจึงพร้อมใจกันจัดงานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่โดยการสนับสนุนของเทศบาลเมืองสกลนครและจังหวัดสกลนคร ให้ชื่องานนี้ว่า "ตรุษไทสกล คนจีน เวียดนาม" กิจกรรมนี้เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้คนในเขตเทศบาลเมืองสกลนครเป็นอย่างยิ่งจึงถือเป็น "ประเพณี" ที่ควรปฏิบัติอย่างต่อเนื่องทุกๆปี ด้วยความร่วมมืออย่างดียิ่งของไทสกลที่เป็นคนพื้นเมือง ไทสกลเชื้อสายชาวจีนและไทสกลเชื้อสายเวียดนาม ต่อมาเมื่อเทศบาลเมืองสกลนครได้ยกระดับขึ้นเป็นเทศบาลนครสกลนคร ก็ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมนี้อย่างจริงจัง ทำให้มีการพัฒนารูปแบบของกิจกรรมครอบคลุมเรื่องราวความเชื่อมโยงและการอยู่อาศัยร่วมกันระหว่างไทสกลทุกเชื้อชาติ จนมีคำขวัญเป็นภาษาพื้นเมืองว่า "ไทสกลทั้งเมิ้ดละเบิ้อ" หมายความว่าเราๆท่านๆก็ล้วนแต่เป็นไทสกลด้วยกันทั้งนั้น
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เป็นวันเริ่มต้นเทศกาล "ตรุษไทสกล คนจีน เวียดนาม" ซึ่งกำหนดจัด 3 วัน ระหว่าง 19 - 21 กุมภาพันธ์ ในการนี้ "ชมรมส่งเสริมคนดีเมืองสกล" โดยท่านประธานชมรม รศ.พิเศษ ทพ.ดร.สุขสมัย สมพงษ์ ที่เราๆท่านๆเรียกกันติดปากว่า "คุณหมอสุขสมัย สมพงษ์" ได้ประชุมปรึกษาหารือกรรมการและสมาชิกชมรมฯเพื่อหารูปแบบการจัดกิจกรรมในเทศกาลดังกล่าว ที่ประชุมได้มีการพูดถึง "ความเชื่อมโยงระหว่างตรุษจีน ตรุษเวียดนาม และบุญเบิกฟ้าของชาวอีสาน" ที่เผอิญมาอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันอย่างลงตัว ในฐานะที่เป็น "นักพิภพวิทยา" มีความสนใจศึกษาเรื่องราวต่างๆของมนุษยชาติในหลากหลายแง่มุม จึงใคร่ขอนำข้อมูลมาเผยแพร่ให้ท่านที่สนใจได้ทราบ

ทำไมตรุษจีน ตรุษเวียดนาม และบุญเบิกฟ้าจึงมีโอกาสใกล้เคียงกัน
ก่อนอื่นขอให้ทุกท่านพิจารณาลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศจีน ประเทศเวียดนามและภาคอีสานของประเทศไทย ล้วนตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเซียที่ได้รับอิทธิพลของดินฟ้าอากาศเดียวกัน จะเห็นได้ว่าอิทธิพลของร่องความกดอากาศจากประเทศจีนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในภาคอีสานโดยตรง ความหนาวเย็นที่เกิดขึ้นในภาคนี้ก็ล้วนเป็นผลจากความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ดังนั้นการกำหนดเทศกาล "ประเพณี" ที่เกี่ยวข้องกับ "ฤดูกาล" จึงอยู่ในช่วงใกล้เคียงกัน
ตรุษจีน เป็นวันขึ้นปีใหม่ของจีนมีประวัติความเป็นมาย้อนหลังไปถึงราชวงศ์ถัง ราว 1766 - 1122 ปี ก่อนคริตกาล โดยกำหนดให้อยู่ในช่วงปลายฤดูหนาวและย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ ต่อมาเมื่อถึงรัชกาลของจักรพรรดิหวู (Emperor Wu) ราชวงศ์ฮั่น 157 ปี - 87 ปี ก่อนคริตกาล พระองค์ได้กำหนดให้วันปีใหม่ตรงกับ "วันแรกของเดือนแรกแห่งการย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ" โดยพิจารณาให้เริ่มต้นนับจากวัน "เหมายัน" (Winter solstice) เป็นวันที่มีเวลากลางคืนยาวที่สุดในรอบปี และนับต่อไปให้ถึงวัน "ขึ้น 1 ค่ำ ครั้งที่สอง" จึงเป็นวันปีใหม่
ยกตัวอย่าง ตรุษจีน ปี พ.ศ. 2558 ( ค.ศ. 2015)
1. เริ่มต้นนับจากวัน "เหมายัน" (winter solstice) กลางคืนยาวที่สุดในรอบปี ตรงกับปฏิทินสากลปัจจุบัน (Gregorian calendar) วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557
2. ขึ้น 1 ค่ำ ถัดมาคือ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558
3. ขึ้น 1 ค่ำครั้งที่สองตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เป็นวันตรุษจีน หรือปีใหม่จีน
(อนึ่ง ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4 ตรงกับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 เนื่องจากประเทศจีนกับประเทศไทยนับการเริ่มต้น The First Moon ไม่ตรงกันทีเดียวนักเพราะนับกันคนละเวลาของรอบวัน)
หลายท่านจะเห็นว่าเทศกาลตรุษจีนมีการจุดประทัดเสียงดัง และตบแต่งด้วยสีแดง ทั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจาก "ตำนานที่ว่าด้วย ตัวเหนียน" (Nian) เป็นสัตว์ประหลาดมีหัวเหมือนสิงห์โตและลำตัวเหมือนวัว ตัวเหนียนอาศัยอยู่ในป่าบนภูเขาพอถึงปลายฤดูหนาวมันไม่มีอะไรจะกินจึงต้องลงมาหากินมนุษย์ในตัวเมือง แต่ตัวเหนียนมีจุดอ่อนตรงที่ "กลัวเสียงดัง และกลัวสีแดง" ชาวบ้านจึงต้องเอากระดาษสีแดงผูกไว้หน้าบ้านพร้อมๆกับจุดประทัดและตีกลองให้เกิดเสียงดัง เพื่อไล่ให้ตัวเหนียนหนีไปไกลๆ จึงกลายมาเป็นประเพณีแห่สิงห์โตและประดับด้วยโคมไฟสีแดง
ตัวเหนียนลงจากภูเขามาหากินมนุษย์ในหมู่บ้านยามค่ำคืน

รูปตัวเหนียนในสายตาของคนจีนเมื่อครั้งโบร่ำโบราณ
การจุดประทัดและประดับโคมไฟสีแดงเพื่อไล่ตัวเหนียนไม่ให้เข้ามาใกล้

ตัวเหนียนยุคปัจจุบันถูกดัดแปลงเป็นสิงห์โต ถ้าเหนียนมาเกิดใหม่และเห็นการเชิดสิงห์โต มันคงจะพูดว่า "นี่มันใช่ตูข้าไม้เนียะ"
"ตรุษจีน" เป็นปฏิทิน "จันทรคติ" ซึ่งปีหนึ่งมี 354 วัน น้อยกว่าปี "สุริยะคติ" ปีละ 11 วัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปรับชดเชยให้เทศกาลตรุษจีน "ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1" อยู่ในช่วงของปลายฤดูหนาวและย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ โดยการเพิ่มเดือนที่ 13 เข้าไปในบางปี วิธีการทำแบบนี้เอาหลักการมาจากคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ของชาวกรีกเมื่อ 432 ปี ก่อนคริตกาล ชื่อ "เมตั้น" (Meton of Athens) นักดาราศาสตร์เรียกสูตรนี้ว่า Metonic Cycle สูตรนี้กำหนดให้มีการชดเชยเดือนที่ 13 จำนวน 7 ครั้ง ในรอบ 19 ปี ปฏิทินจันทรคติทั่วโลก เช่น ปฏิทินจีน ปฏิทินไทย และปฏิทินชาวยิว จึงใช้สูตรนี้ ของไทยเราเรียกว่า "เดือน 8-8"
การค้นพบ "เครื่องจักรแห่งอันทีไกเทอร่า" (Antikythera Machine) ที่จมอยู่ในซากเรืออับปางเมื่อครั้ง 203 ปี ก่อนคริตกาล ทำให้นักดาราศาสตร์เชื่อว่าเจ้านี่คืออุปกรณ์ในการช่วยคำนวณ "การชดเชย" ระหว่างปฏิทินจันทรคติกับปฏิทินสุริยะคติ ในครั้งพุทธกาลก็นำสูตรของเมตั้นมาใช้กับการกำหนดวันเข้าพรรษาโดยให้มีเดือน 8-8 จำนวน 7 ครั้ง ในรอบ 19 ปี เพื่อปรับชดเชยให้ "วันเข้าพรรษา" ยังคงอยู่ในต้นฤดูฝน

เครื่องมือในการคำนวณการปรับชดเชยระหว่างปฏิทินจันทรคติกับปฏิทินสุริยะคติ ถูกบรรจุไว้ในโปรแกรมของ "เครื่องจักรแห่งแอนทิไกเทอร่า" (Antikythera Machine) ค้นพบในซากเรืออับปางใต้ทะเลใกล้ๆกับเกาะแอนทิไกเทอร่า ประเทศกรีก เมื่อปี 1900 ปัจจุบันเก็บรักษาและตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงเอเทน ประเทศกรีก
ภาพข้างบนนี้เป็นการสร้างเลียนแบบขึ้นมาใหม่ จากการวิจัยของนักโบราณคดีพบว่าเครื่องมือการคำนวณทางดาราสาสตร์ชิ้นนี้มีอายุเก่าแก่ราว 205 ปี ก่อนคริตกาล (2,220 ปี นับจาก ค.ศ.2015)
.jpg)
ตัวอย่างกำหนดวันตรุษจีนในปีต่างๆ ปีปกติใช้สีขาว ส่วนปีที่มีการปรับชดเชยให้เพิ่มเป็น 13 เดือน ใช้สีเหลือง อนึ่งปีนักษัตร 12 ที่คนไทยนิยมใช้อย่างแพร่หลาย .... ชวด ฉลู ขาล เถาะ ...... วอก ระกา จอ กุน เป็นอิทธิพลของวัฒนธรรมจีน
ตรุษเวียดนาม เนื่องจากประเทศเวียดนามได้รับอิทธิพลจากประเพณีต่างๆของจีนจึงใช้วันปีใหม่ตรงกับตรุษจีน แต่ภาษาเวียดนามเรียกวันนี้ว่า Tet Nguyen Dan มีความหมายว่า "เช้าวันแรกแห่งเดือนแรกของปี" คนเวียดนามในจังหวัดสกลนครจึงมีคำพูดว่า "วันกินเตท" หมายถึงการเชิญให้แขกไปกินเลี้ยงฉลองปีใหม่ และคำว่า Tet หมายถึงการเฉลิมฉลองย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ

Chuc Mung Nam Moi สวัสดีปีใหม่ที่กรุงโฮจิมิน ประเทศเวียดนาม

การเฉลิมฉลองตรุษเวียดนามที่สวยงาม

ประเพณีการฉลองของครอบครัวชาวเวียดนาม
บุญเบิกฟ้า เป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสานซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่าเริ่มต้นมาจากเมื่อใด ในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าเกิดขึ้นสมัยอาณาจักรล้านช้าง ประเพณีบุญเบิกฟ้ากำหนดให้จัดในวัน ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปัจจุบันตรงกับปลายเดือนมกราคม ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงเวลาที่ใกล้หมดฤดูหนาวและเป็นเวลาที่เก็บผลผลิตต่างๆเข้ายุ้งฉางเสร็จสิ้นแล้ว คำว่า "บุญเบิกฟ้า" หมายถึงฟ้าจะเริ่มไขประตูน้ำฝน ชาวบ้านจะคอยฟังเสียงฟ้าร้องมาจากทิศไหนเพื่อทำนายว่าในฤดูทำนาจะมีน้ำอุดมสมบูรณ์หรือไม่ เช่นถ้าฟ้าร้องในทิศ "บูรพา" หรือทิศตะวันออก แสดงว่าฝนฟ้าจะอุดมสมบูรณ์ข้าวปลาจะได้ผลดี แต่ถ้าฟ้าร้องทางทิศอาคเนย์ หรือทิศตะวันออกเฉียงใต้ ฝนจะน้อย ความแห้งแล้งจะเกิดขึ้น ข้าวปลาอาหารจะขาดแคลนและแถมด้วยโรคระบาดอีกต่างหาก จังหวัดที่มีการเฉลิมฉลองบุญเบิกฟ้าอย่างจริงจังได้แก่จังหวัดมหาสาสารคาม มีการจัดงานบุญเบิกฟ้าพร้อมๆกับงานกาชาดประจำปี
อนึ่ง เทศกาลของบุญเบิกฟ้ามีโอกาสใกล้เคียงกับเทศกาลตรุษจีน เพราะยึดหลักฤดูกาลที่เกี่ยวข้องกับวิถีเกษตรกรรมเหมือนกัน ดังนั้นหากปีไหนเทศกาลตรุษจีนตรงกับขึ้น 1- 3 ค่ำ เดือน 3 ก็จะอยู่ในช่วงวันใกล้กันมาก ยกเว้นปีที่เทศกาลตรุษจีนเลื่อนไปอยู่ในเดือน 4 เช่น ปี 2558
อนึ่ง เมื่อพิจารณาตามหลักดาราศาสตร์การเริ่มปฏิทินอีสานน่าจะเริ่มต้น "นับหนึ่ง" ในฤดูเก็บเกี่ยวข้าวราวปลายเดือนพฤศจิกายน เพราะสมัยนั้นข้าวเป็นสายพันธ์ุพื้นเมืองที่มีคุณสมบัติไวต่อช่วงแสงอาทิตย์ (Photosensitive Rice) โดยเริ่มตั้งท้องปลายเดือนกันยายนหลังปรากฏการณ์ "ศารทวิษุวัต" (Autumnal Equinox) เริ่มต้นของช่วงกลางวันสั้นกว่ากลางคืน และติดช่อดอกราวปลายเดือนตุลาคม จนมาเก็บเกี่ยวปลายเดือนพฤศจิกายน พอมาถึงราวๆปลายเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ก็ย่างเข้า เดือนที่ 3 จึงถือเอาขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็น "ฤกษ์ของบุญเบิกฟ้า"

บุญเบิกฟ้าที่สกลนคร (ใช้ชื่อว่าบุญเดือน 3 ออกใหม่ 3 ค่ำ) จัดโดยวัดพระธาตุเชิงชุม วันที่ 22 มกราคม 2558 ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 (ปีนี้ไม่ตรงกับตรุษจีน) ภาพฝีมือคุณเหมียว ดารณี พงษ์ไพบูลย์ บ้านอยู่ใกล้วัดพระธาตุเชิงชุม ขอขอบคุณน้องเหมียวมากครับที่เอื้อเฝื้อภาพ

เป็นประเพณีสู่ขวัญข้าวและผูกแขนผู้สูงอายุ

ชาวสกลนครจัดอย่างยิ่งใหญ่ไม่แพ้จังหวัดอื่นๆในภาคอีสาน

จังหวัดมหาสารคามจัดงานบุญเบิกฟ้าทุกปี
.jpg)
มีการทำพิธีบวงสรวงเพื่อให้การเกษตรในปีต่อไปได้ผลดี
.jpg)
รูปแบบของบุญเบิกฟ้าที่จังหวัดมหาสารคาม
เทศกาลไทสกล คนจีน เวียดนาม...... ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีของชาวสกลนครที่อยู่ในเขตเทศบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุ้มต่างๆท่ีอยู่ในตัวเมือง เมื่อคราวเทศกาลตรุษไทสกล คนจีน เวียดนาม วันที่ 3 - 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) ผมก็มีส่วนร่วมในการเล่นดนตรีสไตล์ The Shadow บนเวทีในงาน

ปี พ.ศ. 2558 วันตรุษจีนตรงกับ 19 - 21 กุมภาพันธ์ ตามปฏิทินจีนถือว่าเป็นวันที่ 1 เดือนที่ 1 เพราะมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ขึ้น 1 ค่ำ (New Moon) เป็นครั้งที่สองนับจากวัน "เหมายัน" ( Winter solstice 21 ธันวาคม 2557)
วันอาทิตย์ 21 ธันวาคม 2557 เป็น "วันเหมายัน" (Winter solstice) กลางคืนยาวที่สุดในรอบปี
วันอังคาร 20 มกราคม 2558 ขึ้น 1 ค่ำ (ครั้งที่หนึ่งนับจากวัน "เหมายัน")
วันพฤหัสบดี 19 กุมภาพันธ์ 2558 ขึ้น 1 ค่ำ (ครั้งที่สอง) ตามปฏิทินจีน แต่ปฏิทินจันทรคติไทยเป็นขึ้น 2 ค่ำ เพราะการมองดวงจันทร์ระหว่างจีนกับไทยที่อยู่ต่างพื้นที่ จึงอาจตีความการขึ้น 1 ค่ำไม่ตรงกันทีเดียวนัก
.jpg)
ดวงจันทร์ประกบคู่มากับดวงอาทิตย์จึงทำให้มองไม่เห็น
ในตอนเย็นแสงอาทิตย์ก็ยังข่มดวงจันทร์เพราะยังอยู่ใกล้กันมาก แต่ที่มองเห็นได้ชัดคือดาวเคราะห์สองดวงคือ Venus และ Mars ไล่ตามหลังดวงจันทร์ลงมา
.jpg)
ถ้าพี่น้องชาวจีน และชาวเวียดนามต้องการเห็นดวงจันทร์ก็ต้องรอวันถัดไปคือวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ดวงจันทร์เริ่มแยกตัวห่างออกจากดวงอาทิตย์ และตกฟากฟ้าหลังดวงอาทิตย์
.jpg)
เริ่มต้นขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ปฏิทินจีน (ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 วันที่ 28 มกราคม 2560 ปฏิทินจันทรคติไทย) ดวงจันทร์อยู่ที่ขอบฟ้าทิศตะวันตก แต่มองไม่ค่อยเห็นเพราะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์และเพิ่งจะเป็น new moon (0.45 day old) ในราศี Capricorn
ตรุษจีนปี พ.ศ. 2562 หรือ ค.ศ. 2019 ตรงกับขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ของปฏิทินจีนปีที่ 4716 เป็นปี "หมูทอง" แต่ในทางสากลเราๆท่านๆอยู่ใต้อิทธิพลของ Gregorian Calendar ตรงกับวันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ 2019 และสอดคล้องกับปฏิทินจันทรคติไทย ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ (ปฏิทินจันทรคติไทยจะเปลี่ยนจากปีจอเป็นปีกุน เมื่อถึงขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับ 5 เมษายน 2562)
รูปร่างหน้าตาของปฏิทินจันทรคติจีน ปีที่ 4716 ตรงกับปฏิทินสากล (Gregorial Calendar) Tuesday 5 Feb 2019
.jpg)
ท้องฟ้ายามเย็น ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ปี 4716 ปฏิทินจันทรคติจีน ตรงกับ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติไทย
สรุป
ในภาพรวม บุญเบิกฟ้า ตรุษจีน และตรุษเวียต เกาะติดกันมาตลอดเพราะเริ่มต้นนับหนึ่งในฤดูกาลใกล้เคียงกันและใช้ปฏิทินจันทรคติเหมือนกัน ดังนั้นการจัดงาน "ตรุษไทสกล" ควรให้ข้อมูลกับพี่น้องประชาชนว่าช่วงเวลานี้ก็เป็น "ปีใหม่ของซุมเฮาละเบ้อ"
อนึ่ง บุญเบิกฟ้า ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติไทย กับ ข้อมูลของดวงจันทร์ตามหลักคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ อาจจะเหลื่อมกันราว 1 วัน ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไรเพราะท่านโหราจารย์ผู้สร้างปฏิทินจันทรคติคงใช้วิธี "ตาดูหูฟัง" ซึ่งย่อมมีค่าความคลาดเคลื่อนบ้าง ดังนั้น นักดาราศาสตร์ กับ นักโหราศาสตร์ คงต้องให้อภัยแก่กันและกัน
ปฏิทินจันทรคติไทย ปี 2568 ระบุว่า ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับวันที่ 31 มกราคม 2568 แต่ข้อมูลตามหลักคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ บอกว่า ดวงจันทร์ข้างขึ้นมีอายุ 2.00 วัน แต่ถ้าจะให้ตรงกับ ดวงจันทร์ข้างขึ้นอายุ 3.00 วัน ก็ต้องเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ....... ไม่ว่ากันครับเพราะท่านโหราจารย์ "ใช้วิธีตาดูหูฟัง" ส่วนนักดาราศาสตร์ "ใช้วิธีทางคณิตศาสตร์" เรื่องแบบนี้เหมือนกันหมดทุกอาชีพ เช่น ช่างซ่อมรถรุ่นพ่อเวลาปรับรอบเครื่องยนตร์ท่านใช้วิธีฟังเสียง แต่ช่างรุ่นลูกใช้คอมพิวเตอร์วัดความเร็วของรอบเครื่องยนตร์ออกมาเป็นตัวเลข