ปริศนา "ปราสาทบายน" ฤา.....มนุษยชาติจะผ่านพ้นความขัดแย้ง

แนะนำให้ท่านรู้จัก "ปราสาทบายน"
ปราสาทบายน ตั้งอยู่ที่ใจกลางเมืองโบราณชื่อ "นครธม" สร้างในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ระหว่างปลายคริสต์ศตรรษ ที่ 12 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษ ที่ 13 (AD 1180 - 1220 หรือ พ.ศ. 1723 - 1763) ปราสาทหลังนี้เป็นศูนย์กลางของความเชื่อในศาสนาพุทธนิกาย "มหายาน" โดยมีรูปสลักใบหน้าขนาดยักษ์จำนวน 216 รูป นัยว่าเป็นพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในมิติของ "พระโพธิสัตว์" (Bodhisattva Avalokitesvara) จึงเป็นโปรแกรมไฟล์บังคับที่นักท่องเที่ยวจะต้องแวะชมปราสาทหลังนี้ โดยไกด์ชาวกัมพูชาที่สามารถพูดได้ทุกภาษา (ขึ้นอยู่กับว่านักท่องเที่ยวจะเป็นชาติไหน) จะบรรยายเน้นหนักในเรื่องของประวัติความเป็นมา และความอลังการของรูปทรงปราสาท ภาพสลักบนกำแพงที่แสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้น และที่แน่ๆไกด์ก็ต้องอธิบายอย่างภาคภูมิใจถึงการทำสงครามเพื่อกู้ชาติของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชที่ทรงเอาชนะกองทัพแขกจามและยกกองทัพไปยึดเมืองหลวง (ปัจจุบันอยู่ภาคกลางประเทศเวียดนาม) ว่ากันตามประวัติศาสตร์กองทัพจามบุกเข้ายึดเมืองหลวง "อังกอร์" โดยใช้กองทัพเรือเข้ามาทางทะเลสาป อนึ่งท่านที่สนใจรายละเอียดของปราสาทบายนในแง่มุมประวัติศาสตร์และศิลปศาสตร์สามารถหาอ่านในเว้ปไซด์ หรือเอกสารต่างๆที่มีมากมายในท้องตลาดทั่วไป
ปราสาทบายนตั้งอยู่ใจกลางเมือง "นครธม" ทางทิศเหนือของปราสาทนครวัด
เสน่ห์ของปราสาทบายนอยูที่ "ปรางค์ที่เป็นพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 " ในมิติของพระโพธิสัตว์

นักโบราณคดีนับรูปสลักพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ จำนวน 216 หน้า

นักท่องเที่ยวทุกคนต้องถ่ายรูปกับปราสาทบายนราวกับมวยไฟล์บังคับไม่งั้นเหมือนไม่ได้มาที่นี่
ปราสาทบายนในปัจจุบันผ่านการดัดแปลงมาหลายยุคหลายสมัย
เป็นโรคติดต่ออย่างหนึ่งของมนุษยชาติในเรื่อง "ลำพองอำนาจ ไม่กินน้ำใต้ศอกใคร" ปราสาทบายนภายหลังสิ้นบุญของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก็เข้าสู่วังวนแห่งอนิจจังถูกกษัตริย์ในยุคต่อมาทำการดัดแปลง ต่อเติม แก้ไขให้เป็นไปตามสิ่งที่ตนเองถูกอกถูกใจ ภาพสลักพระโพธิสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่เข้าตาพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ถูกสกัดออกแทบเกลี้ยง เอาศิวะลึงค์เข้าไปตั้งแทนพระพุทธรูปมหายาน ครั้นมาถึงยุคที่กษัตริย์เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธนิการหินยานก็เอาพระพุทธรูปศิลปะนิกายนี้เข้าไปตั้งแทนของเดิม ดังนั้น เราๆท่านๆและนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มีข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีมาก่อนจึงมองแบบเหมารวมว่าทุกอย่างมาจากยุคเดียวกัน จึงเป็นหน้าที่ของไกด์ทัวร์ต้องอธิบายให้มองออกว่าอะไรคืออะไร

ที่ตั้งของศิวะลึงค์อันนี้อาจจะเคยเป็นที่ตั้งรูปสลักพระโพธิสัตว์มาก่อนก็ได้

รูปสลักพระพุทธรูปนาคปรก (พระพักตร์คล้ายพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ) คงไม่เข้าตาพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ในยุคนั้น และถูกนำไปทำลายหรือทิ้งที่อื่นต่อมาเมื่อมีการค้นพบก็นำมาตั้งไว้ที่เดิมหรือที่ที่คิดว่าเหมาะสม ผมถามเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าอยู่ที่นั่นว่าเป็นของแท้ดั่งเดิมหรือไม่ คำตอบก็คือ "แท้ 100%" ซึ่งผมก็เข้าใจว่าพี่แกพูดตามสูตร ใครละจะพูดตรงๆว่า "ของเลียนแบบทำขึ้นมาใหม่ซิงๆเลยครับท่าน"
ภาพสลักพระโพธิสัตว์บนผนังของทางเดินถูกสกัดออกเกลี้ยงในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 เพราะความที่ไม่ชอบขี้หน้ากัน
ปราสาทบายนถูกสร้างให้หันหน้าไปยัง "ทิศตะวันออกแท้"
ปราสาทหลังนี้ก็เหมือนกับปราสาทรุ่นก่อนๆที่ถูกออกแบบให้หันหน้าเข้าหาตำแหน่งทิศตะวันออกแท้ เพื่อให้ตรงกับดวงอาทิตย์ใน "วันปีใหม่ปฏิทินมหาศักราช" เรียกว่าวันที่หนึ่งแห่ง "เดือนใจตระ" ปัจจุบันตรงกับวันที่ 21 มีนาคม ภาษาดาราศาสตร์เรียกว่า vernal equinox เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่โลกโคจรไปถึงตำแหน่งที่เส้นศูนย์สูตร (equator) ตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ ทำให้กลางวันเท่ากับกลางคืนและดวงอาทิตย์จะขึ้นที่ "ทิศตะวันออกแท้" ทำมุมกวาด 90 องศาจากทิศเหนือ (azimuth 90 องศา) และตกที่ "ทิศตะวันตกแท้" ทำมุมกวาด 270 องศาจากทิศเหนือ (azimuth 270 องศา) เชื่อว่าวันดังกล่าวเป็นวันสำคัญทางศาสนาทั้งพุทธมหายานและฮินดูซึ่งมีความเชื่อเหมือนกันในเรื่องของ "ความศักดิ์สิทธิ์"
ประตูทิศตะวันออกหันหน้าเข้าหาตำแหน่ง Equinox ที่มุมกวาด azimuth 90 องศา จากทิศเหนือ
.jpg)
เนื่องจากปราสาทบายนมีผังแปลนที่สอดคล้องกับตไแหน่งทิศต่างๆของดาราสาสตร์ประตูด้านทิศเหนือจึงชี้ไปที่ทิศเหนือแท้
.jpg)
ฐานโยนีก็ต้องตั้งให้ตรงทิศเหนือเพราะเป็นตำแหน่งของ "เขาพระสุเมรุ"
ปริศนาตัวเลข 430 ที่ปราสาทบายน
ผมชักแม่น้ำทั้งห้ากับเรื่องราวของปราสาทบายนมาพอสมควรแล้วก็จะขอเข้าเรื่องซักทีครับ จากข้อมูลของทางการกัมพูชาและ Google บอกว่า "พระพักตร์ที่ปราสาทบายนมีทั้งหมด 216 หน้า" ถ้าเอาดวงตา 2 ดวงคูณเข้าไปก็จะได้ตัวเลข 432 ตัวเลขนี้มีนัยสำคัญทางศาสนาฮินดู คือยุคทั้ง 4 ยุค ได้แก่
1. ยุคแห่งความดี (Satya Yuga) มีระยะเวลา 432,000 x 4 = 1,728,000 ปี
2. ยุคแห่งศาสนาฮินดู (Treta Yuga) มีระยะเวลา 432,000 x 3 = 1,296,000 ปี เป็นช่วงเวลาที่มีอวตารซึ่งเราๆท่านๆรู้จักดีคือ "พระราม" ลงมาเกิดในโลกมนุษย์
3. ยุคแห่งการเรียนรู้ และการเสียสละ (Dvapara Yuga) มีระยะเวลา 432,000 x 2 = 864,000 ปี
4. ยุคสุดท้ายเป็นยุคแห่งความขัดแย้ง (Kali Yuga) มีระยะเวลา 432,000 ปี เป็นยุคที่ยุ่งยากที่สุดของมนุษยชาติ เพราะเต็มไปด้วยความเกลียดชังและขัดแย้ง เมื่อสิ้นสุดยุคนี้จะมีอวตารสุดท้ายของพระวิศนุลำดับที่ 10 ชื่อ Kalki มาเกิดเพื่อกอบกู้โลก คนไทยเรียกว่า "พระศรีอารย์"

Kaki หรือพระศรีอารย์ เป็นชายหนุ่มขี่ม้าขาวมากูโลกเมื่อสิ้นสุดกาลียุค
ผมเชื่อว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คงจะทราบเรื่องราวแห่งกาลียุคเป็นอย่างดี พระองค์จึงทำทุกอย่างให้มวลมนุษย์พ้นทุกข์ เช่น สร้างโรงพยาบาล 102 แห่ง ทั่วพระราชอาณาจักร ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาฟรีกินอาหารฟรี เรียกว่าล้ำหน้านโยบาย "สามสิบบาทรักษาทุกโรค" ร่วมพันปี พระองค์ตั้งใจให้คำสอนของพุทธองค์แผ่ไปทั่วทุกทิศจึงทำรูปพระพักตร์พระโพธิสัตว์แผ่เมตตาไปทั้งสี่ทิศ
ตัวเลขแห่งยุคทั้งสี่ยังปรากฏอยู่ที่ทางเดินเข้าหน้าปราสาทนครวัด ผมอ่านผลงานวิจัยของนักโบราณคดีชาวอเมริกันชื่อ Eleanor Mannikka เธอเขียนหนังสือชื่อว่า ANGKOR WAT Time Space and Kingship ระบุว่าความยาวของสะพานแต่ละช่วงสอดคล้องกับตัวเลข 4 ยุค โดยนับหน่วยเป็นศอก
.jpg)
ผลงานการศึกษาของ Eleanor Mannikka แสดงตัวเลขความยาวของสะพานเท่ากับยุคทั้งสี่
เรื่องตัวเลข 432,000 ไม่ใช่มีเฉพาะศาสนาฮินดู แต่จารึกของชาวสุเมเรี่ยนในดินแดนเมโสโปเตเมีย เมื่อ 6,000 ปี ที่แล้ว มีจารึกไว้ในแผ่นดินเผาระบุชัดเจนว่ากษัตริย์ของพวกเขามาจากดาวเคราะห์ที่ชื่อ "นิบีรุ" (Nibiru) แต่ละคนครองราชระหว่าง 5 - 12 Sar ( Sar = 3,600 ปี) ตัวเลข 3,600 ปี มาจากรอบวงโคจรของดาวเคราะห์นิบีรุ ดังนั้นถ้าพวกเขาอายุเพียง 1 Sar ก็เท่ากับ 3,600 ปี ของโลก ชาวสุเมเรี่ยนจึงเรียกพวกเขาว่า "พระเจ้า" เพราะมีอายุยาวนานดุจเป็นนิรันด์
.jpg)
จารึกในแผ่นดินเผาของชาวสุเมเรี่ยนระบุถึงชื่อกษัตริย์ที่ครองราชต่อเนื่องกัน
.jpg)
ตัวอย่างระยะเวลาการครองราชของกษัตริย์แห่งชาวสุเมเรียน

นักประวัติศาสตร์ชื่อดังชาวกรีกเมื่อ 280 ปีก่อนคริสต์กาล ชื่อ เบโรซุส (Berossus) ได้คำนวณระยะเวลาการครองราชของกษัตริย์แห่งอาณาจักรสุเมเรี่ยนก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโลกครั้งใหญ่ได้รวมกันทั้งสิ้น 432,000 ปี
.jpg)
จารึกในแผ่นดินเผาของชาวสุเมเรี่ยนระบุชัดเจนว่าระบบสุริยะมีดาวเคราะห์อีกดวงชื่อ "นิบีรุ" (Nibiru) ปัจจุบันองค์การ NASA กำลังค้นหาอย่างไม่ลดละแม้ว่าจะยังไม่พบอย่างเป็นตัวเป็นตนก็ตั้งชื่อรอไว้ก่อนว่า The Planet X

วงโคจรของดาวเคราะห์นิบีรุเป็นวงรีกินเวลารอบดวงอาทิตย์ 3,600 ปี ภาษาสุเมเรี่ยนเรียกว่า Sar
สรุป
ตัวเลขดวงตา 432 ดวง จากพระพักตร์ 216 หน้า ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในมิติของพระโพธิสัตว์ที่ปราสาทบายน จึงมีนัยสื่อให้รู้ว่า "เราๆท่านๆมนุษย์ตาดำๆ" กำลังตกอยู่ในยุคแห่ง "ความขัดแย้ง" ฉะนั้นต้องรีบสร้างบุญสร้างกุศล ดังตัวอย่างที่พระองค์ได้ปฏิบัติในการสร้างโรงพยาบาล 102 แห่ง ทั่วพระราชอาณาจักร และทรงเป็นพุทธนิกายมหายานอย่างเคร่งครัด รูปสลักของพระองค์จึงแสดงออกถึงการยิ้มอย่างเมตตาปราณี ในความเห็นของผมเราคงต้องทำบุญแก่เพื่อนร่วมโลกด้วยการไม่เบียดเบียนให้ความเมตตาต่อกัน และไม่ต้องรอพระศรีอารย์ (Kalki) เพราะไม่รู้ท่านจะมาถึงเมื่อไหร่เอาแค่ปฏิบัติตามคำสอนของพุทธองค์เพียงศีลห้านี่ก็พอแล้วครับ........สาธุ