อาณาจักร "ทวารวดี" ทำไมจึงล่มสลาย
หลายท่านที่สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์และโบราณคดีของแอ่งสกลนครคงจะเกิดข้อสงสัย ....... อาณาจักรทวารวดีที่จุดประกาย "อารยธรรม" แก่ดินแดนในแถบนี้ ....... เจริญรุ่งเรืองด้วยวัฒนธรรมและศาสนาพุทธนิกายหินยาน ผู้คนล้วนใช้ชีวิตในคำสอนแห่งพุทธองค์.....จู่ๆก็มาล่มสลายเหลือเพียงซากปรักหักพังกองอิฐกองปูน แท่งเสมาหินทราย พระพุทธรูปศิลปะอินเดีย......และความทรงจำในหน้าประวัติศาสตร์
ค้นเอกสารหลายเล่มก็ไม่พบการอธิบายอย่างชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นกับอาณาจักรแห่งนี้ นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์เพียงแต่กล่าวสั้นๆว่า อาณาจักรทวารวดีสิ้นสุดลงในพุทธศตวรรษที่ 16 ดังนั้นก็คงหนีไม้พ้นการตีความจากหลักฐานและวัตถุพยานที่เหลืออยู่ ผมจะพาท่านที่เคารพเดินลอดอุโมงค์แห่งเวลาย้อนอดีตไปในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 16
เรื่องราวประวัติความเป็นมาของทวารวดีที่กล่าวในบทความนี้เป็นการคัดลอกข้อมูลจาก Internet และหนังสือตำราต่างๆที่เราๆท่านๆล้วนเคยผ่านสายตามาแล้ว แต่พอถึง "บทวิเคราะห์" ทำไมอาณาจักรจึงล่มสลายเป็นความเห็นส่วนตัวที่เกิดจากการประมวลหลักฐานแวดล้อมบวกกับจินตนาการในเชิง "ความน่าจะเป็น" ผิดถูกอย่างไรท่านผู้อ่านต้องตัดสินเอาเอง ...... ครับ
เริ่มต้นอาณาจักรทวารวดีในดินแดนแหลมทอง
นักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่าก่อนอารยธรรมทวารวดี ดินแดนแหลมทองเคยมีอาณาจักรโบราณเรียกว่า "สุวรรณภูมิ" ต่อมาเป็น "โจฬะ" ส่งต่อมายัง "สุวรรณโคมคำ" และมาลงเอยที่ "ทวารวดี" ในพุทธศตวรรษที่ 12 แต่เรื่องราวของอาณาจักรโบราณเหล่านั้นไม่ค่อยมีรายละเอียดมากนักเพราะขาดหลักฐานทางโบราณคดีที่ชัดเจน
การค้นพบโบราณสถาน โบราณวัตถุ พระพุทธรูป และจารึกภาษาสันสกฤต ทำให้สามารถยืนยันว่าอาณาจักร "ทวารวดี" ก่อกำเนิดเพราะได้รับอารยธรรมจากอินเดียที่มาทางเรือ คำว่า "ทวารวดี" เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ.2427 โดยนักโบราณคดีชาวอังกฤษชื่อแซมมวล บีล ให้ความเห็นว่า "ทวารวดี" ดัดแปลงมาจากคำว่า "โปโลโปตี" ในบันทึกของภิกษุจีน "จิ้งฮง" เมื่อพุทธศตวรรษที่ 12 ระบุว่า "โถโลโปตี" เป็นอาณาจักรที่ตั้งอยู่ระหว่าง "อาณาจักรศรีเกษตร" (ประเทศพม่าปัจจุบัน) กับ "อาณาจักรอิศานปุระ" (ประเทศกัมพูชาปัจจุบัน)
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังชูประเด็นอุทยานประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพจังหวัดเพชรบูรณ์ให้เป็น "มรดกโลก" เพราะเป็นอุทยานแห่งอดีตยุคทวารวดีที่ยิ่งใหญ่ กรมศิลปากรได้บูรณะ "โบราณสถานเขาคลังนอก" ให้เห็นความรุ่งเรืองแห่งศิลปะวัฒนธรรม

.jpeg)
อุทยานประวัติศาสตร์เมืองศรีเทพ แสดงที่ตั้งสถูปขนาดใหญ่ยุคทวารวดี 2 แห่ง คือ เขาคลังใน และเขาคลังนอก

เขาคลังนอก เป็นมรดกจากทวารวดีที่รุ่งเรือง
เขาคลังใน สถูปขนาดใหญ่ยุคทวารวดี

แผนที่แสดงเส้นทางการเดินเรือจากอินเดียมายังเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในยุคก่อนทวารวดี และยุคทวารวดี ทำให้อารยธรรมจากอินเดียแพร่เข้ามาในดินแดนนี้
.jpg)
ผู้คนเหล่านี้ในยุคทวารวดี หน้าตาเหมือนพี่ไทยอย่างเราๆท่านๆไม้ละ
.jpg)
รูปปูนปั้นแสดงหน้าตาของผู้คนในยุคทวารวดี ดูลักษณะทางพันธุกรรมศาสตร์แล้ว เป็น "ดีเอ็นเอ" มาจากอินตะละเดียร้อยเปอร์เซ็นต์
พูดกันแบบตรงไปตรงมาไม่มีใครรู้ "ชื่อที่แท้จริงของอาณาจักรนี้" แต่เมื่อมีการค้นพบเหรียญเงินที่นครปฐมมีคำจารึกภาษาสันสกฤตว่า "ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ" ก็อนุมาณว่าเอาชื่อนี้แหละเพราะฟังแล้วดูดีอีกทั้งมีที่มาที่ไปเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ไช่นั่งเทียนคิดเอาเอง

ที่บ้านคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี มีโบราณสถานยุคทวารวดีสร้างด้วยอิฐเผา นักโบราณคดีให้ความเห็นว่าดินแดนแถบจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และจังหวัดใกล้เคียง เป็นศูนย์กลางอาณาจักรทวารวดีแห่งแรกของดินแดนขวานทอง

นักวิชาการด้านโบราณคดีหลายท่านเชื่อว่าโบราณสถานดั่งเดิมที่อยู่ข้างในองค์พระปฐมเจดีย์ปัจจุบันสร้างในสมัยทวารวดี

ภาพวาดแสดงโบราณสถานยุคทวารวดีที่อยู่ภายในองค์พระปฐมเจดีย์ปัจจุบัน ซึ่งก่อสร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี และเสมาธรรมจักร ได้รับอิทธิพลจากอินเดียตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมาหาราช

ต้นแบบ "พระธรรมจักร" ในยุคทวารวดี มีที่มาจากยุคพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อ พ.ศ. 270 - 232

รูปปูนปั้นศิลปะทวารวดีที่บ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี
กำเนิดอาณาจักรทวารวดีในดินแดนอีสาน และแอ่งสกลนคร
ช่วงกลางถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 12 อาณาจักรทวารวดีแผ่อิทธิพลเข้ามายังดินแดนที่ราบสูงแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร โดยตั้งศูนย์กลางอยู่ที่ "เมืองฟ้าแดดสงยาง" อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธ์ุ และขยายเขตมายังดินแดนแอ่งสกลนคร ขณะเดียวกันที่บ้านดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ก็มีหลักฐานของอารยะธรรมทวารวดีขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้ขุดค้นอย่างเป็นทางการมากนัก เชื่อว่าถ้ามีการค้นคว้าอย่างละเอียดต้องพบอะไรที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก
.jpeg)
ที่บ้านดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น มีคำจารึกกล่างถึงการตั้งบ้านเมือง และมีโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูปศิลปะทวารวดี
.jpeg)
แผนที่แสดงคูน้ำเป็นอาณาเขตของการตั้งเมืองโบราณที่บ้านดงแอม อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น
แผนที่เส้นทางคมนาคมสายหลักๆในอาณาจักรทวารวดีจากที่ราบภาคกลางสู่ที่ราบสูงแอ่งโคราช และเชื่อมต่อไปยังแอ่งสกลนคร

แผนที่ภาพถ่ายทางดาวเทียมแสดงที่ตั้งเมืองฟ้าแดดสงยาง ศูนย์กลางทวาราวดีในภาคอีสาน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีฟันธงมานานแล้วว่า "อารยธรรมทวารวดี" จากดินแดนแม่ในประเทศอินเดีย เข้ามาตั้งถิ่นฐานยังแผ่นดินแหลมทองเมื่อครั้งพุทธศตวรรษที่ 12 (พ.ศ.1100 - 1199) และแผ่อิทธพลขึ้นมาที่ภาคอีสานในเวลาต่อมา มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองฟ้าแดดสงยาง ปัจจุบันคืออำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ จากนั้นก็มาที่แอ่งสกลนคร

เจดีย์โบราณในยุคทวารวดี ที่เมืองฟ้าแดดสงยาง
แท่งเสมาจากยุคทวารวดี ในบริเวณเดียวกันกับเจดีย์ฟ้าแดดสงยาง
คูเมืองรอบเมืองฟ้าแดดสงยาง ปัจจุบันกลายเป็นสระเลี้ยงปลาในโครงการเศรษฐกิจพอเพียงของ อบต.
แอ่งสกลนครผลักตัวเองเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ด้วยอารยธรรม "ทวารวดี" ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 12

หลักฐานวัตถุพยานที่สำคัญของอารยธรรมทวารวดีก็คือ "แท่งเสมา" เป็นเสมือนหลักเขตของพุทธสถาน แท่งเสมากระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในอำเภอต่างๆของจังหวัดสกลนคร และภาคอีสาน

เปรียบเทียบแท่งเสมาระหว่างเมืองฟ้าแดดสงยาง อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธ์ุ กับแท่งเสมาของบ้านพันนา อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
.jpeg)
.jpeg)
.jpeg)
ล่าสุดอาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ รองประธานชมรมอารยธรรมสกลนคร พร้อมด้วยผู้สนับสนุนชมรมฯ "ป้าน้อยจากร้านกาแฟคำหอม" สกลนคร เดินทางไปสำรวจแท่งเสมายุคทวารวดี ที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม แสดงว่าอารยธรรมทวารวดีกระจายตัวอย่างกว้างขวางในดินแดนอีสานตอนบนที่เรียกว่า "แอ่งสกลนคร"
พระพุทธรูปศิลปะทวารวดีที่วัดบ้านท่าวัด ริมหนองหาร สกลนคร
เปรียบเทียบระหว่างพระพุทธรูปศิลปะทวารวดี กับพระพุทธรูปศิลปะขอม ที่บ้านท่าวัด ต.เหล่าปอแดง อ.เมือง จังหวัดสกลนคร

เสมาที่มีรูปคนแต่งกายแบบขอม แสดงว่าเป็นศิลปะผสมระหว่างยุคทวารวดีเชื่อมต่อกับยุคขอม

ทวารวดีเป็นอาณาจักรที่ผู้คนล้วนใช้ชีวิตอยู่กับคำสอนของพุทธองค์ ไม่มีเรื่องของการสู้รบ ไม่มีกองกำลังติดอาวุธ

ภาพสลักในแท่งเสมา หรือภาพสลักในแท่งหินทรายล้วนแต่เป็นเรื่องของพุทธคุณ

กิจกรรมจำนวนมากก็วนเวียนอยู่กับการละเล่น การแสดงดนตรี ไม่มีภาพใดเลยที่แสดงถึงกองทัพขนาดใหญ่พร้อมอาวุธยุธโทปกรณ์ และการทำสงคราม
อาณาจักรทวารวดีอยู่เย็นเป็นสุขกับคำสอนพุทธองค์ และความสงบ.......จวบจนพุทธศตวรรษที่ 16 ......ก็มีกองทัพขอมอันทรงพลังแผ่อิทธิพลเข้ามาแบบไม่ได้รับเชิญ.......อะไรจะเกิดขึ้น
เชื่อโดยส่วนตัวว่ากองทัพดังกล่าวน่าจะเป็นการขยายพระราชอาณาจักรโดยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 1 ครองอำนาจในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 ระหว่าง พ.ศ.1553 - 1593 และตามติดมาด้วยพระเจ้าอุทัยอาทิตย์วรมันที่ 2 ครองราชระหว่าง พ.ศ.1593 - 1609 ทั้งสองพระองค์มีกองทัพที่แข็งแกร่งและกระตือรือล้นในการขยายดินแดน ดังนั้นเมื่ออาณาจักรทวารวดีต้องเผชิญกับกองทัพขอมอันทรงพลังคงไม่ต้องอธิบายว่าใครจะอยู่ใครจะไป เปรียบเปรยให้เห็นภาพ.....นักมวยโนเนมน้ำหนักไม่เกิน 170 ปอนด์ ไปเจอกับนักชกบันลือโลกอย่างไมค์ ไทสัน ผลก็คือ "นกกระจอกคงไม่ทันกินน้ำ"
อีกประการหนึ่ง อาณาจักรทวารวดีไม่ได้เป็นปึกแผ่นโดยมีกษัตริย์ที่เข้มแข็งเป็นศูนย์อำนาจ แต่เป็นการอยู่แบบ "บ้านใครบ้านมัน" ไม่มีใครเป็นหัวหน้าใคร ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุพระนามกษัตริย์ ไม่มีชื่อเมืองหลวง ไม่มีกองกำลังทหาร ไม่มีการสร้างเมืองแบบป้อมค่ายเชิงยุทธศาสตร์สงคราม หลักฐานทางโบราณคดีที่เหลืออยู่ก็มีแต่เสมาธรรมจักรจารึกเรื่องราวแห่งศาสนาพุทธ รวมทั้งภาพปูนปั้นตามผนังโบราณสถานก็เป็นรูปพิธีกรรมต่างๆ
เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.1736 อาณาจักรพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยนาลันทา" แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย ปัจจุบันอยู่ใกลๆกับเมืองปัทน่า (Patna) รัฐพิหาร (Bihar) ถูกกองทัพอันเกรียงไกรจากดินแดนตุรกีบุกเข้าทำลายจนหมดสิ้น พระภิกษุนับหมื่นรูปถูกสังหารแบบไม่มีทางต่อสู้

ภาพถ่ายทางอากาศแสดงซากปรักหักพังของมหาวิทยาลัยนาลันทา ที่เมืองปัทน่า รัฐพิหาร อินเดีย เป็นผลจากการถูกทำลายอย่างย่อยยับโดยกองทัพจากตุรกี
.jpg)
มหาวิทยาลัยนาลันทาประกอบด้วยสถูปขนาดใหญ่

ผมไปเยือนที่นั่นเมื่อเดือนมกราคมปี 2552 เห็นภาพอย่างชัดเจนว่านี่คือมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งแรกของโลกที่ปัจจุบันเหลือเพียงกองอิฐและฐานราก
อาณาจักรขอม ..... ดินแดนแห่งอำนาจและกองทัพอันทรงพลัง
ภาพสลักจำนวนมากของปราสาทขอมล้วนแต่เรื่องราวของการต่อสู้ แย่งชิงอำนาจ การเดินทัพด้วยอาวุธนานาชนิด มีทั้งกองทัพช้าง กองทัพม้า สะท้อนให้เห็นการแสดงอำนาจบาทใหญ่และกระหายสงคราม ผิดกับภาพสลักของ "ทวารวดี" ที่มีแต่ความสงบเสงี่ยม บูชาพุทธคุณ กิจกรรมต่างๆก็ล้วนธรรมะธรรมโม สลับกับการเฉลิมฉลองอย่างรื่นเริงด้วยดนตรีและฟ้อนรำ

สามภาพข้างบนนี้เป็นการเล่าเรื่อง "สงครามมหาภารตะ" อยู่ที่ระเบียงคตด้าน ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของปราสาทนครวัด
ภาพสลักการเดินทัพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปราสาทบายน นครธม
หากไปที่พระธาตุนารายณ์เจงเวง หลังตลาดบ้านธาตุใกล้ๆกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จะเห็นภาพสลักที่ทับหลังด้านทิศใต้เป็นภาพกองกำลังติดอาวุธในศิลปะ "ขอมปาปวน" ตรงกับยุคของพระเจ้าอุทัยอาทิตย์วรมันที่ 2

ภาพสลักที่ทับหลังด้านทิศเหนือของพระธาตุนารายณ์เจงเวง แสดงการเดินทัพของทหาร

ใกล้ๆกับองค์พระธาตุมีกองหินที่เหลือจากการบูรณะองค์พระธาตุ ภาพหนึ่งแสดงนักรบถืออาวุธประจำกาย
ทวารวดี VS ขอม
ภาพสลักเหล่านี้อธิบายอย่างชัดเจนว่าอาณาจักรทวารวดีไม่มีทางสู้อาณาจักรขอม เพราะฝ่ายหนึ่งใช้ชีวิตอยู่เย็นเป็นสุขสไตล์ธรรมะธรรมโมขณะที่อีกฝ่ายพร้อมจะทำสงครามด้วยอาวุธหนักนานาชนิด เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติทั่วโลก เช่น ดินแดนจูเดีย (ปัจจุบันประเทศอิสราเอล) มีกรุงเยรูซาเล็มเป็นศูนย์กลางประชาชนชาวยิวอยู่เย็นเป็นสุขกับความเชื่อในพระเจ้ายะโฮวา เมื่อต้องเผชิญหน้ากับกองทัพอันเกรียงไกรของจักรพรรดิ์โรมัน กรุงเยรูซาเล็กๆก็ต้องยอมสยบอย่างไม่มีเงื่อนใข
.jpg)
ผู้คนในอาณาจักรทวารวดีไม่มีกองกำลังติดอาวุธเพราะวันๆมีแต่กิจกรรมประเภท "ธรรมะธรรมโม" เมื่อต้องมาเผชิญหน้ากับกองทัพอันทรงพลังของอาณาจักรขอมที่มีทั้งอาวุธหนักนานาชนิด พระเดชพระคุณท่านลองหลับตานึกภาพเอาเองว่าทวารวดีจะเอาอะไรไปสู้ ภาษาหมัดมวยเขาเรียกว่า "นกกระจอกไม่ทันกินน้ำ"
.jpg)
.jpg)
รูปสลักที่เห็นอาวุธก็มีอยู่เพียงการต่อสู้ระหว่างบุคคลด้วยกันเองหรือการล่าสัตว์ แต่ไม่ใช่เป็นการยกกองกำลังติดอาวุธออกสงครามเหมือนกองทัพขอม
ตัวอย่างการเปลี่ยนมือจาก "ทวารวดี" ไปเป็น "อารยธรรมขอม"
หลักฐานทางโบราณคดีที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดว่าศาสนาพุทธนิกายเถรวาทของอารยธรรมทวารวดีถูกกลืนโดยศาสนาฮินดูของอาณาจักรขอม แต่ก็ยังดีที่ฐานรากสถูปและโบราณวัตถุจำนวนมากที่แสดงถึงอารยธรรมทวารวดียังคงมีอยู่ให้เห็น ผมได้รับภาพสวยงามจำนวนมากจากมัคคุเทศก์อาชีพ Prapaporn Matda หรือไกด์นก เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2558 ต้องขอบคุณมากครับ วันดังกล่าวผมอยู่ที่บ้าน Broken Arrow Oklahoma USA ไกด์นกส่งภาพและเรื่องราวมาทาง Facebook ผมจึงนำมา update ข้อมูลต่างๆของบทความนี้
อย่างไรก็ตามท่านที่สนใจทางโบราณคดีและคุ้นเคยกับเรื่องราวของอาณาจักรขอม อาจจะตั้งคำถามว่าปราสาทขอมหลายแห่งมีคำจารึกและภาพสลักแสดงการสู้รบระหว่างกองทัพขอมกับกองทัพจาม แต่ทำไมไม่มีคำจารึกหรือภาพสลักการยกกองทัพไปยึดครองอาณาจักรทวารวดีแม้แต่ภาพเดียว
เชื่อว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะกองทัพขอมรุกไล่ฝ่ายเดียวไม่มีการต่อสู้ขัดขวางจากทวารวดี เรียกง่ายๆว่า "นกกระจอกไม่ทันกินน้ำ" ฝ่ายนั้นถูกฆ่าและจับไปเป็นทาสอย่างง่ายดาย จึงไม่จำเป็นต้องมีการจารึกเนื่องจากนักรบและกษัตริย์ขอมก็ไม่ได้แสดงฝีมืออะไรเลย ขืนจารึกไปก็เสียชื่อนักรบเปล่าๆ ต่างจากการรบกับกองทัพจามซึ่งถือว่าเป็นมวยถูกคู่ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะทั้งคู่มีหมัดเด็ดพอๆกัน จึงสมควรจารึกให้ลูกหลานได้ชื่นชมในความเป็นชายชาติทหาร
.jpg)
สถูปทวารวดี และปรางค์ขอมที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพเป็นหลักฐานยืนยันว่าแผ่นดินนี้เปลี่ยนมือจากพุทธนิกายเถรวาทไปเป็นฮินดู
.jpg)
ภาพปูนปั้นที่ฐานสถูปอันเป็นลักษณะเด่นของอารยธรรมทวารวดี เปรียบเทียบกับภาพแกะสลักหินทรายในยุคขอมเรืองอำนาจเป็นภาพพระศิวะอุ้มพระนางอุมาและทรงนั่งบนหลังโคนันทิ
.jpg)
ไกด์นก (Prapaporn Matda) ยืนเป็นพรีเซนเตอร์ที่หน้าประตูปรางค์ขอม

ปรางค์ขอมในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพก่อสร้างด้วยอิฐเผาเหมือนกับปราสาทขอมในยุคต้นๆที่โลเล่ย เมือง Siem Reap Cambodia เช่น ปราสาทพระโค และปราสาทโลเล่ย

สัญลักษณ์ของศาสนาพุทธนิกายเถรวาท เปรียบเทียบกับศิวะลึงค์และโยนี
บทสรุป
เชื่อว่าชุมชนทวาราวดีน่าจะย่อยยับไปหมดสิ้นในพุทธศตวรรษที่ 16 เหลือเพียงซากปรักหักพังที่ทำด้วยอิฐเผาและรูปปูนปั้น กับแท่งเสมาที่กระจัดกระจายหรือจมอยู่ใต้ดิน พร้อมกับ "ดีเอ็นเอ" เชื้อสายอินเดียก็สาบสูญไปหมดสิ้น กล่าวแบบภาษานักเลง "ตีงูต้องตีให้ตาย" อยากให้ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และโบราณคดีลองค้นคว้าเรื่องราวแบบนี้ดูว่า.......เกิดขึ้นจริงๆหรือไม่.......อาณาจักรทวารวดีสาบสูญเพราะเหตุอันใด ที่กล้าเขียนเรื่องนี้เพราะอิงความน่าจะเป็นตามหลักวิชา "ตรรกวิทยา" รู้ดีว่า 90% ของเรื่องราวในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติคือ "สงคราม และการแย่งชิง" มันเป็นพฤติกรรมที่ฝังอยู่ในยีนส์ของเราๆท่านๆ คงไม่มีใครปฏิเสธถ้าจะพูดว่า "สิ่งมีชีวิตที่โหดเหี้ยมมากที่สุด ก็คือพวกเราๆท่านๆนี่แหละ" ศาสนาพุทธเกิดขึ้นมาบนโลกก็เพราะพุทธองค์หวังจะใช้ธรรมะล้างพฤติกรรมเหล่านี้ แต่พระองค์ประสบความสำเร็จเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตามคำพระที่ว่าให้ทุกข์แก่ท่านทุกข์นั้นถึงตัวเป็นกรรมที่เกิดขึ้นจริงๆ อาณาจักรขอมยิ่งใหญ่คับฟ้าเมื่อมาถึงพุทธศตวรรษที่ 19 ก็ประสบกับชะตากรรมแบบเดียวกันกับทวารวดี กองทัพจากกรุงศรีอยุธยาบุกเข้าโจมตีเมืองหลวงที่ตั้งนครวัด นครธม จนราบคาบและต้องย้ายหนีลงไปทางใต้ ก็ไม่วายถูกกองทัพสยามในยุคต่อๆมาบุกเข้ายึดครองจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรรัตนโกสินทร์ ปิดฉากอันเรืองรองของอาณาจักรขอมไว้ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ เข้าตำราใดๆในโลกล้วนอนิจจัง.....สาธุ
(1).jpg)
บุทดัง สาระนัง คะฉามิ