ทัชมาฮาล........ในมุมมองดาราศาสตร์
สิ่งก่อสร้างตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ที่ริมแม่น้ำยมมนา เมืองอัคกร้า รัฐอุตตาละประเทศ อินเดีย ได้ชื่อว่า "อัญมณีแห่งศิลปะมุสลิมในอินเดีย" ขึ้นทะเบียนมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ.1983 หรือ พ.ศ.2526 คงจะหนีไม่พ้นสักขีพยานแห่งความรักอมตะที่ทั่วโลกรู้จักในชื่อ "ทัชมาฮาล" หลายท่านได้สัมผัสเรื่องราวแห่งการทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของ "จักรพรรดิชาร์ จาฮาน" เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่การจากไปของ "พระนางมุมตัส" โดยการบอกเล่าของไกด์ทัวร์ที่ฟังแล้วกินใจจนแทบน้ำตาซึม ขณะกำลังดื่มด่ำอยู่ในบรรยากาศของสถานที่จริง หลายท่านได้สัมผัสผ่านหนังสือและอินเตอร์เนททำให้โบราณสถานแห่งนี้ตรึงอยู่ในความทรงจำอย่างมิรู้ลืมของเราๆท่านๆ
เพื่อให้การมองทัชมาฮาลมีแง่มุมที่ต่างจากผู้คนทั่วไป จึงขอเสนอเรื่องราวในแนวดาราศาสตร์ ที่พิสูจน์ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เชื่อว่าผู้ออกแบบต้องการสื่อถึงอะไรบางอย่างในทำนองนี้

มีโอกาสไปเยี่ยมทัชมาฮาลรวมสามครั้ง ครั้งแรกในระหว่างที่เป็นนักเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรแห่งรัฐปันจาบ อินเดีย ในปี พ.ศ.2516 ครั้งที่สองในระหว่างเดินทางกลับจากการปฏิบัติงานที่ปรึกษาด้านการเกษตรในประเทศอัฟกานีสถาน เมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ.2549 และครั้งที่สามเมื่อคราวไปเที่ยวชมพุทธสถานในรัฐพิหาร รัฐอุตตาละประเทศ และแวะมาที่เมืองอัคกร้าเมื่อต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2552

ทัชมาฮาล อยู่ที่ริมแม่น้ำยมมนา เมืองอัคกร้า รัฐอุตตาละประเทศ อินเดีย ตำแหน่งเส้นรุ้ง 27 10 27 N 78 02 32 E


เพื่อนๆนักเรียนไทยจากมหาวิทยาลัยปันจาบ ได้ไปเที่ยวชมทัชมาฮาล ช่วงปี พ.ศ.2514 - 2516 ตอนนี้ พ.ศ.2557 หลายคนในภาพกลายเป็นคุณตา คุณยาย ไปหมดแล้ว ผมก็ไปที่นั่นกับคณะนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรรัฐปันจาบ ในช่วง พ.ศ.2516


เพื่อนคนนี้ชื่อเล่น คุณน้อง ยืนถ่ายรูปอยู่บริเวณลานด้านทิศตะวันออกของตัวสุเหร่า ตอนนี้กลายเป็นคุณยายมีหลานชายสองคน ไปเลี้ยงหลานอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา


ไปเยี่ยมชมทัชมาฮาลเพื่อเก็บข้อมูลทางดาราศาสตร์ เมื่ปลายเดือนเมษายน 2549

ครั้งล่าสุดไปที่นั่นอีกเมื่อต้นเดือนมกราคม 2552 อากาศกำลังหนาวจัดหมอกลงเต็มไปหมด ระยะการมองเห็นไม่เกินร้อยเมตร

ที่ลานจอดรถหน้าทัชมาฮาล อากาศหนาวเต็มไปด้วยหมอก
ประวัติย่อของอนุสรณ์แห่งความรักอมตะ
ผู้สร้างทัชมาฮาล เป็นจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโมกุล (Mughal Empire) ชื่อชาร์ จาฮาน พระองค์เสียพระทัยอย่างสุดซึ้งกับการจากไปของพระนางมุมตัส มเหสีองค์ที่สาม เมื่อปี ค.ศ.1631หลังจากคลอดบุตรคนที่ 14 ชื่อว่า กัวฮารา เบกัม (Gauhara Begum) พระองค์จึงมีคำสั่งให้เริ่มสร้างทัชมาฮาลเพื่อเก็บพระศพเป็นอนุสรณ์แด่พระนางมุมตัสในปี ค.ศ.1632 โดยการระดมทรัพยากรแบบทุ่มสุดตัวเสียเท่าไหร่เท่ากันเพราะชีวิตนี้ไม่เหลืออะไรอีกแล้ว พระองค์ใช้เวลาร่วมยี่สิบปีจึงเสร็จใน ค.ศ.1653 ยังไม่ทันที่จะได้เชยชมความสำเร็จอันงดงาม ก็ถูกลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ชื่อ อูลันเซป (Aurandzeb) ยึดอำนาจด้วยเหตุผลที่กล่าวหาว่าพระบิดาผลาญเงินทองจนเกือบเกลี้ยงท้องพระคลัง ขืนปล่อยไปแบบนี้ตูข้าผู้สืบทอดแผ่นดินคงไม่เหลือมรดกอะไรติดมือ ท่านจักรพรรดิถูกลูกชายนำไปขังไว้ที่ป้อมสีแดง ปัจจุบันชื่อว่าป้อมอัคกร้า (Agra Fort) ห่างจากทัชมาฮาลราวสองกิโลเมตร พระองค์ใช้เวลาทั้งวันจ้องมองดูทัชมาฮาลทางช่องหน้าต่างจนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 22 มกราคม ค.ศ.1666


แผนที่แสดงที่ตั้งของทัชมาฮาล และป้อมอัคกร้าที่ต่างก็ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมมนา ห่างกันประมาณสองกิโลเมตร

ป้อมอัคกร้า (Agra Fort) สร้างด้วยหินสีแดง เป็นสถานที่ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนจับพ่อไปกักขังจนสิ้นพระชนม์ ระหว่างที่ถูกจองจำพระองค์เฝ้ามองทัชมาฮาลอย่างอาลัยยิ่ง
อีกแง่มุมหนึ่งในเรื่องราวชีวิตของจักรพรรดิชาร์ จาฮาน สะท้อนพฤติกรรมของมนุษย์ที่ยังคงวนเวียนอยู่กับทรัพย์สมบัติ และการแย่งชิงอำนาจวาสนาในหมู่ลูกหลานและญาติสนิท จนนำไปสู่การรบพุ่งฆ่าแกงกันให้ตายไปข้างหนึ่ง พฤติกรรมนี้ยังคงซำ้รอยซำ้ซากตราบจนปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า
จักรพรรดิชาร์ จาฮาน และพระนางมุมตัส มาฮัล

พระศพของจักรพรรดิชาร์ จาฮาน และพระนางมุมตัส มาฮัล ถูกฝังอยู่ที่ในห้องด้านล่างของสุเหร่า แต่โลงศพหินอ่อนที่เห็นเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความรักอมตะของทั้งสองพระองค์


การตบแต่งลวดลายด้วยหินรัตนชาติที่ผนังของตัวสุเหร่า
ทัชมาฮาล ในมุมมองดาราศาสตร์
ได้ศึกษาข้อมูลดาราศาสตร์ที่ทัชมาฮาล 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2549 และวันที่ 2 มกราคม 2552 โดยใช้เข็มทิศตรวจสอบการวางแปลนของทัชมาฮาล ประกอบกับแผนที่ดาวเทียม Google Earth ที่ใช้ระบบ GPS พบว่าผู้ออกแบบได้กำหนดให้ทัชมาฮาล หันหน้าเข้าหาทิศใต้ หันหลังเข้าหาแม่น้ำยมมนาทางทิศเหนือ การวางแปลนเช่นนี้ทำให้แสงอาทิตย์ในวัน "วิษุวัต" (Equinox) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้นที่ทิศตะวันออกแท้ และตกที่ทิศตะวันตกแท้ ส่องแสงตรงเข้ามากลางหน้าต่างของห้องโถง เพราะวันนี้ดวงอาทิตย์ทำมุมฉากกับผิวโลก ณ เส้นศูนย์สูตร กลางวันเท่ากับกลางคืน ผมเชื่อว่าผู้ออกแบบมีความรู้ดาราศาสตร์ที่รับอิทธิพลมาจากชาวอารยันจากดินแดนอัฟกานีสถาน มรดกความรู้นี้ตกทอดมาถึงอาณาจักรเปอร์เซีย (ปัจจุบันประเทศอิหร่าน) ซึ่งมีสัมพันธ์แนบสนิทกับอาณาจักรโมกุลของจักรพรรดิชาร์ จาฮาน ชาวเปอร์เซี่ยเรียกปรากฏการณ์ Equinox ว่า เนารูซ Nowruz ปัจจุบันพวกเขายังคงใช้ปฏิทิน "มหาศักราช" (Saka calendar) ที่วันปีใหม่คือปรากฏการณ์ Vernal equinox ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม ของปฏิทินสากลยุคปัจจุบัน


ผู้ออกแบบทัชมาฮาล วางแปลนให้สอดคล้องกับทิศทางดาราศาสตร์


ใช้เข็มทิศตรวจสอบแนวของทัชมาฮาล เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2549 พบว่าสอดคล้องกับหลักดาราศาสตร์


แปลนทัชมาฮาลที่สอดคล้องกับหลักการดาราศาสตร์
.jpg)
ภาพจำลองดวงอาทิตย์ขึ้นที่ยอดโดมด้านทิศตะวันออกในวัน Equinox 21 มีนาคม และ 23 กันยายน


กำลังซื้อบัตรเข้าชมทัชมาฮาล เมื่อ 24 เมษายน 2549 ทางการห้ามนำอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือเข้าไปในบริเวณต้องทำเอกสารฝากไว้ที่สำนักงานขายบัตร


ตอนแรกตั้งใจจะนำกีต้าร์ไปถ่ายภาพประกอบ Music VDO แต่ทางการไม่อนุญาตจึงต้องยืนเล่นหน้าประตูทางเข้า

ทุกคืนที่ท้องฟ้าเปิดจะเห็นดาวเหนือสุกสกาวอยู่เหนือยอดทัชมาฮาล


เนื่องจากยอดของทัชมาฮาลมีความสูง 73 เมตร และทัชมาฮาลตั้งอยู่ ณ ตำแหน่งเส้นรุ้ง 27 องศาเหนือ การจะมองเห็นดาวเหนือบนยอดทัชมาฮาล ก็ต้องถอยห่างออกไปยืนทางทิศใต้อย่างน้อย 144 เมตร โดยเริ่มต้นจากตำแหน่งจุดสีเหลือง หากท่านไปยืนที่ตำแหน่งระยะทางสั้นกว่า 144 เมตร จะไม่เห็นดาวเหนือเพราะถูกบังโดยยอดทัชมาฮาล
.jpg)
จุดมองดาวเหนือที่สวยงามและกลมกลืนได้ระดับกับยอดทัชมาฮาลมากที่สุดคือที่ระยะ 170 เมตร (จุดที่ทำสีเหลือง) ณ จุดนี้ดาวเหนือจะอยู่สูงจากยอดทัชมาฮาลประมาณ 13 เมตร อย่างไรก็ตามหากถอยห่างออกไปที่ระยะทางมากกว่านี้จะทำให้มุมมองดาวเหนืออยู่สูงจากยอดทัชมาฮาลมากเกินไป

จุดต่างๆที่ไปเยี่ยมทัชมาฮาล การเข้าถึงสถานที่ตั้งต้องใช้รถม้าหรือเดินเพราะทางการไม่ยอมให้นำรถยนต์เข้าไปใกล้ทัชมาฮาล
ทัชมาฮาล กับความเสี่ยง
เนื่องจากทัชมาฮาลเป็นสถานที่สุดยอดแห่งหนึ่งของมรดกโลก จึงย่อมมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1.จากภัยก่อการร้าย ทางการมีการตรวจอย่างเข้มข้นไม่ยินยอมให้พกพาวัตถุที่อาจก่ออันตรายเข้าไปอย่างเด็ดขาด ต้องฝากไว้ที่สำนักงานขายตั๋ว เช่น โทรศัพม์มือถือ แม้แต่กล้องถ่ายรูปก็ต้องผ่านการตรวจสอบเสียก่อนที่จะอนุญาตให้นำเข้า
2.ภัยสงคราม ในช่วงสงครามระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ทางการอินเดียต้องสร้าง "ทัชมาฮาลปลอม" เพื่อหลอกนักบินที่อาจจะยิงอาวุธหรือทิ้งระเบิด
ภาพถ่าย "ทัชมาฮาลปลอม" เพื่อหลอกนักบินฝ่ายศัตรู
3.ฝนกรด (acid rain) ที่เกิดเพราะควันของกรดกำมะถันจากแหล่งอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันที่เมืองมัทธุราซึ่งอยู่ใกล้ๆกัน ฝนกรดจะกัดเซาะหินอ่อนให้กร่อนและเปลี่ยนสีจากมันวาวเป็นสีด้าน ปัญหานี้เกิดกับโบราณสถานสำคัญหลายแห่งของโลก เช่น ที่กรุงโรม นี่แหละความเจริญทางอุตสาหกรรมก็มีผลเสียต่อโบราณสถานอย่างที่เราๆท่านๆคิดไม่ถึง
4.จากการทรุดตัวของดินเนื่องจากทัชมาฮาลตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมมนา แต่จากการใช้น้ำในการเกษตรและการอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่องทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำน้อยลงและส่งผลให้ระดับน้ำใต้ดินลดลงอย่างมากถึงปีละ 5 ฟุต ทำให้ฐานรากที่ทำด้วยไม้แห้งเกินไปและเริ่มผุกร่อน เมื่อปี 2010 เริ่มปรากฏอาการทรุดตัวและมีรอยร้าวอย่างเห็นได้ชัด ปัญหาการลดระดับน้ำใต้ดินเกืดขึ้นกับโบราณสถานขนาดใหญ่หลายแห่งของโลก ทางการของที่นั่นจึงต้องหามาตรการป้องกันโดยทำแหล่งน้ำรอบๆบริเวณ เช่น ที่นครวัด และนครธม ประเทศกัมพูชา

ปริมาณน้ำในแม่น้ำยมมนาน้อยลงอย่างมาก ทำให้มีผลต่อการลดระดับของน้ำใต้ดินและทำให้ฐานรากที่ทำด้วยไม้แห้งเกินไปจนผุกร่อนได้ง่าย
หวังว่าบทความนี้คงจะให้มุมมองที่ต่างออกไปจากเรื่องราวของทัชมาฮาลที่ท่านได้ทราบมาก่อน....
.jpg)