ฤาตำนานหนองหารล่ม.......จะกลายเป็นเรื่องจริง
ความเป็นมาของหนองหาร
ตำนานพระยาสุรอุทก (ตำนานหลวง)
หนองหารหลวง เป็นชื่อเก่าของเมืองสกลนครจากตำนานที่กล่าวถึงการต่อสู้ระหว่างเจ้าเมืองชื่อ พระยาสุระอุทก กับพญานาคธนมูล และตอนจบเหล่าพญานาคสำแดงเดชถล่มเมืองหนองหารจมธรณีกลายเป็นบึงขนาดใหญ่ ชื่อว่า “หนองหาร”
เมืองหนองหารหลวงสร้างขึ้นโดย "ขุนขอม" พาผู้คนมาจากนครอินทปัทฐ์มาสร้างเมืองใหม่ที่ริมหนองหาร ณ บริเวณบ้านน้ำพุ ตำบลบ้านแป้น อ.โพนนาแก้ว
.jpg)
ขุนขอมมีบุตรชายชื่อ "พระยาสุระอุทก" ขณะประสูตรมีพระขันฑ์ติดออกมาพร้อมกับปรากฏการณ์เกิดน้ำพุพุ่งขึ้นมาจากใต้ดิน เมื่อเติมใหญ่ได้ครองเมืองหนองหารหลวงต่อจากบิดา

พระยาสุระอุทกเดินทางไปตรวจราชการตามชายแดนที่บริเวณแม่น้ำมูล ได้พบกับพญานาคชื่อ "ธนมูล" และเกิดการต่อสู้กัน ไม่มีใครแพ้ใครชนะเพราะต่างก็มีฤทธิ์เดชพอๆกัน
พญานาคธนมูลผูกใจเจ็บจึงพาพรรคพวกแอบตามมาที่เมืองหนองหารหลวงโดยแปลงกายเป็นเก้งเผือก พระยาสุระอุทกได้ข่าวมามีเก้งเผือกมาป้วนเปี้ยนอยู่ที่ชานเมืองก็สั่งให้นายพรานออกไปล่าจนในที่สุดเก้งเผือกก็ถูกยิงตาย ชาวเมืองต่างพากันเอาเนื้อเก้งไปแบ่งกันกิน นาคธนมูลจึงถอนร่างตนเองออกจากเก้งเผือกที่ตาย และสั่งให้พรรคพวกโจมตีเมืองหนองหารหลวงในคำ่คืนนั้น
.jpg)
เมืองหนองหารหลวงและพระยาสุระอุทกถูกพญานาคโจมตีแบบไม่รู้ตัว และถูกรัดด้วยบ่วงนาคราชจนเสียชีวิตลากเอาศพไปทิ้งลงแม่น้ำโขง ทางที่ลากศพไปกลายเป็นร่องน้ำชื่อว่า "น้ำกรรม" ต่อมาเพี้ยนเป็น "น้ำก่ำ" เมืองหนองหารหลวงล่มจมธรณีกลายเป็นบึงขนาดใหญ่

หนองหารในปัจจุบันมีเนื้อที่ 133 ตารางกิโลเมตร (ระดับน้ำ +157 เมตร) เป็นแหล่งน้ำดิบของการประปาภูมิภาคหล่อเลี้ยงเทศบาลนครสกลนคร และเป็นแหล่งน้ำแห่งเดียวของชุมชนรอบๆหนองหาร
การเกิดหนองหารจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
ในทางวิทยาศาสตร์หนองหารเกิดจากปรากฏการณ์ธรณีวิทยาที่เรียกว่า “หลุมยุบ” เนื่องจากการทรุดตัวของบ่อหินเกลือขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ดินกลายเป็นแหล่งน้ำจืดธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุด ในภาคอีสานมีเนื้อที่ 133 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 83,000 ไร่ (ที่ระดับเก็บกักน้ำ +157 เมตร จากระดับน้ำทะเล) เป็นที่สองรองจากบึงบรเพ็ด หนองหารได้รับน้ำ จากลำธาร 21 สาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือลำน้ำพุงซึ่งมีต้นกำเนิดจากภูเขาภูพาน น้ำในหนองหาร ไหลลงแม่น้ำโขง โดยลำน้ำก่ำ ที่นี่เป็นแหล่งน้ำและอาหารอันอุดมสมบูรณ์ จึงพบว่ามีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนตั้งแต่ครั้งยุคสมัย ก่อนประวัติศาสตรฺ์ภายใต้ชื่อ “วัฒนธรรมบ้านเชียง” ราว 3000 ปีที่แล้ว และเปิดประตูเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ด้วย อารยธรรมทวาราวดีในพุทธศตวรรษที่ 11 ต่อเนื่องด้วยยุคขอมเรืองอำนาจราวพุทธศตวรรษที่15 เปลี่ยนผ่านเป็น อานาจักรล้านช้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 และเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ในพุทธศตวรรษ์ที่ 24 จวบจนปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าหนองหารทำหน้าที่หล่อเลี้ยงมวลมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยอย่างต่อเนื่องมานานกว่าสามพันปี
.jpg)
แผ่นดินภาคอีสานเคยเป็นทะเลมาก่อนในยุค Paleozoic Era (Late Permian 255 Ma)
.jpg)
เปลือกโลกยกตัวขึ้นกลายเป็นแผ่นดินในยุค Cenozoic 65 Ma
.jpg)
ภาคอิสานแบ่งออกเป็น "แอ่งสกลนคร" และ "แอ่งโคราช" โดยมีเทือกเขาภูพานกั้นตรงกลาง
.jpg)
การเป็นทะเลมาก่อนทำให้มีหินเกลือสะสมใต้ดิน ขณะเดียวกันน้ำจากผิวดินเริ่มซึมลงไปเรื่อยๆ
.jpg)
น้ำจากผิวดินเริ่มซึมลึกลงไปถึงชั้นหินเกลือ

หินเกลือถูกน้ำกัดจนเป็นของเหลวและทำให้เกิดโพรงขนาดใหญ่ใต้ดิน

โพรงขนาดใหญ่ทรุดตัวกลายเป็นหลุมยักษ์เรียกว่า "หลุมยุบ" (sinkhole)

กลายเป็นทะเลสาปและขยายขนาดขึ้นเรื่อยๆจากการกัดเซาะของน้ำ
.jpg)
มีลำน้ำจากแหล่งที่สูงกว่าไหลมาสะสมกลายเป็นทะเลสาปขนาดใหญ่ มีชื่อว่า "หนองหาร"

ลำน้ำที่ไหลลงหนองหารและมีปริมาณน้ำมากที่สุดคือ "ลำน้ำพุง"

น้ำส่วนเกินของหนองหารไหลลง "ลำน้ำก่ำ" และในที่สุดไหลลง "แม่น้ำโขง"
.jpg)


หนองหารในความทรงจำของชาวบ้าน
ย้อนอดีตราว 70 ปีที่แล้วหนองหารเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำลักษณะน้ำท่วมขังบริเวณกว้างช่วงฤดูฝน และเมื่อถึงฤดูแล้งน้ำลดจนเกือบแห้งเหลือเพียงบางส่วนในที่ต่ำ ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชาวเมืองสกลนครและชุมชนต่างๆที่อาศัยอยู่รอบๆ เพราะอุดมไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด และเป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยตรงไม่ต้องผ่านระบบประปา จากคำบอกเล่าของ นายสำ บุรเนตร อายุ 77 ปี ชาวบ้านบึงศาลา หมู่ที่ 8 ตำบลนาตงวัฒนา อำเภอโพนนาแก้ว ยืนยันว่าเคยจับปลาเสือหนักถึง 8 กิโลกรัม และปลาดุกขนาดตัวเกือบเท่าขา รวมทั้งปลาอีกหลายชนิด น้ำในหนองหารใสสะอาดดื่มได้ เช่นเดียวกันกับนางกองมณี พรหมดิเรก อายุ 84 ปี ชาวชุมชนในเขตเทศบาล นครสกลนครให้การยืนยันว่าเมื่อครั้งเป็นสาวๆได้ไปช่วยพ่อแม่หาปลาในหนองหาร และดื่มกินน้ำหนองหารอย่าง สนิทใจ อีกทั้งจากหลักฐานภาพถ่ายเก่าๆของหนองหารเมื่อครั้งที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาตรวจราชการ ที่เมืองสกลนครในปี พ.ศ.2449 ก็ยืนยันบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์

หนองหารในอดีตเมื่อยังไม่มีการปิดกั้นประตูน้ำ มีสภาพธรรมชาติที่สวยงามน้ำสะอาด จนมีคำกล่าวว่า "น้ำใสไหลเย็น เห็นตัวปลา"

ในสมัยนั้นน้ำในหนองหารไม่ลึกนักสามารถเดินไป หรือนั่งเกวียน และขับรถจี๊บไปถึงเกาะดอนสวรรค์ได้ แต่พอมีการปิดกั้นประตูน้ำเมื่อ ปี 2496 ระดับน้ำยกตัวสูงขึ้นจนท่วมแนวคูเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาพถ่ายปี 2497)

คุณยายกองมณี พรหมดิเรก อายุ 84 ปี กำลังบรรยายสภาพของหนองหารสมัยเมื่อคุณยายยังเป็นวัยรุ่น ในเวที "โสเหล่กันวันเสาร์" จัดโดยชมรมส่งเสริมคนดีเมืองสกล ร่วมกับเทศบาลนครสกลนคร เมื่อวันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2556
หนองหารเริ่มเปลี่ยนไป
ราว 40 – 50 ปี ที่ผ่านมาเริ่มเห็นการเสื่อมโทรมของหนองหาร เพราะมีการสร้างประตูน้ำแห่งแรกเมื่อปี 2496 ตามด้วยประตูน้ำแห่งที่สองใน ปี 2535 ทำให้น้ำนิ่งไม่สามารถถ่ายเทผ่านลำน้ำก่ำไปลงแม่น้ำโขง เมื่อน้ำที่เสื่อมคุณภาพสะสมนานๆเข้าก็เกิดวัชพืช เช่น ผักตบชวา และสาหร่ายหลายชนิดขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วจนเกิดการตื้นเขินและปิดกั้นการออกเรือของชาวบ้าน ปัจจุบันวัชพืชเหล่านี้ กินพื้นที่บริเวณขอบๆหนองหารอย่างมาก อีกทั้งรวมตัวกันเป็นแพขนาดใหญ่เรียกว่า “สนุ่น” ลอยไปลอยมา หนักๆเข้าก็กลายเป็นเกาะขนาดใหญ่ จากการที่มีประตูกั้นน้ำเป็นสาเหตุให้ปลาจากแม่น้ำโขงไม่สามารถเข้ามาวางใข่และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติของระบบนิเวศน์ที่มีมาแต่ดั่งเดิม แม้ว่าทางราชการจะสร้าง “บันไดปลาโจน” แต่ก็ไม่สามารถเรียกความหลากหลายของพันธุ์ปลากลับคืนมาได้เหมือนเดิม อาจจะเป็นเพราะปลาส่วนหนึ่งไม่สามารถผ่านบันไดดังกล่าว ประกอบกับมีการลักลอบจับปลาในบริเวณหน้าบันไดปลาโจนในขณะที่ปลามารวมตัวกัน
.jpg)
ประตูกั้นน้ำแห่งแรกชื่อว่า ประตูน้ำก่ำ หรือ ประตูแววพยัคฆ์คัน สร้างเสร็จในปี 2496
.jpg)
ประตูน้ำแห่งที่สอง สร้างในปี 2535 โดยกรมประมง ใช้เงินกู้จากกองทุนร่วมมือด้านเศรษฐกิจโพ้นทะเล (Overseas Economic Coorperation Fund :OECF) ของประเทศญี่ปุ่น มีการตั้งชื่อว่า "ประตูระบายน้ำสุรัสวดี"
สภาพน้ำเน่าเสียและวัชพืชเริ่มปรากฏในปี 2516 โดยเปรียบเทียบกับภาพถ่าย ปี 2497


ภาพเปรียบเทียบหนองหารในอดีต 2497 กับปัจจุบัน เห็นได้ชัดเจนว่าสภาพน้ำเสื่อโทรมไปมาก มีวัชพืชและสาหร่ายหนาแน่นในบริเวณริมฝั่ง เนื่องจากมีอินทรีย์วัตถุและน้ำเสียจากตัวเมือง ประกอบกับเป็นน้ำนิ่งไม่สามารถถ่ายเทได้

บันไดปลาโจนที่สร้างคู่ขนานกับประตูน้ำเพื่ออำนวยความสะดวกให้ปลาจากแม่น้ำโขงที่ว่ายทวนน้ำมาทางลำน้ำก่ำสามารถเข้าไปวางใข่และเพาะเป็นตัวอ่อนในหนองหาร ซึ่งเดิมมีสภาพระบบนิเวศน์เรียกว่า "พื้นที่ชุ่มน้ำ" เหมาะแก่การขยายพันธ์ุปลาตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตามมีข้อถกเถียงที่ยังหาข้อสรุปไม่ลงตัวว่า บันไดปลาโจนนี้ใช้ได้ผลจริงขนาดไหน

สภาพวัชพืชที่หนาแน่น มีการจับตัวเป็นแพขนาดใหญ่เรียกว่า "สนุ่น" ลอยอยู่ทั่วไปในหนองหาร
.jpg)
กองสนุนขนาดใหญ่เหมือนเกาะลอยน้ำ
ทุกวันนี้ภาพพจน์ของหนองหารเปลี่ยนไปราวหน้ามือกับหลังมือ จากน้ำที่เคยดื่มกินได้อย่างสนิทใจแปรสภาพ เป็นแหล่งน้ำเน่าเสีย และมีการแพร่ระบาดของโรคพยาธิใบไม้ในตับจากการสำรวจของสำนักงานสาธารณสุขพบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่รอบหนองหารในรัศมี 3 กิโลเมตร เมื่อ ปี พ.ศ.2530 มีอัตราชุกชุมถึงร้อยละ 37.97 อีกทั้งชาวบ้านไม่กล้าที่จะลงไปเล่นน้ำเพราะมีอาการคันตามผิวหนัง เมื่อปี พ.ศ.2543 ผู้เขียนได้รับหน้าที่เก็บข้อมูลในนามของบริษัทที่ปรึกษาเพื่อประเมินผลโครงการก่อสร้างประตูน้ำก่ำที่ใช้เงินกู้จากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจโพ้นทะเลของประเทศญี่ปุ่น (OECF) พบว่าการหาปลาของชาวบ้านเป็นไปด้วยความลำบากเพราะถูกปลาปักเป้า แย่งกัดกินปลาที่ติดตาข่ายจนเหลือแต่หัว แสดงว่าประชากรปลาปักเป้ามากขึ้นอย่างผิดสังเกต ผู้เขียนตั้งประเด็น คำถามว่าปลาปักเป้าน่าจะเป็นตัวชี้วัดการเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำ นายจักพงษ์ วงกาฬสินธุ์ อายุ 64 ปีข้าราชการบำนาญที่ชอบตกปลาในหนองหารเป็นกิจกรรมอดิเรกกล่าวกับผู้เขียนว่า ดึงเบ็ดขึ้นมาสิบครั้งติดปลาปักเป้าขึ้นมาแปดครั้ง ถ้าท่านผู้อ่านได้ดูภาพถ่ายเปรียบเทียบหนองหารระหว่างอดีตกับปัจจุบัน จะเห็นได้ชัดเจนว่าสภาพน้ำเสื่อมโทรมอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใกล้ฝั่งสีของน้ำจะออกโทนเขียวคล้ำเพราะประชากร ที่หนาแน่นของวัชพืชและสาหร่าย
การตื้นเขินจากตะกอน
จากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร พบว่าหลังจาก ที่มีการก่อสร้างประตูน้ำก่ำและเริ่มกักน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2556 รวมเวลา 60 ปี มีตะกอนสะสมในหนองหารมากกว่า 1.871 ล้าน ลบ.ม. และอีก 15 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2571 จะมีตะกอนสะสมมากถึง 2.794 ล้าน ลบ.ม. หากเป็นเช่นนี้ความจุของหนองหารจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลโดยตรงต่อปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองสกลนครเนื่องจากหนองหารเป็นเสมือนแก้มลิงขนาดใหญ่ที่รองรับน้ำฝนจากตัวเมืองและภูพาน ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงปัญหาการตื้นเขินที่เกิดจากความหนาแน่นของสาหร่ายใต้น้ำซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะมีปัจจัยที่เอื้อได้แก่แสงแดดและอินทรีย์วัตถุที่มาจากเขตเทศบาลและชุมชนรอบหนองหาร ยิ่งกว่านั้น ระบบการกำจัดน้ำเสีย และสิ่งปฏิกูลจากครัวเรือนได้เปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อครั้งอดีตที่แต่ละครัวเรือนมีที่ดินว่างเปล่าที่เรียกว่า “บ่อขี้ซีก” ทำหน้าที่ดูดซับและกำจัดน้ำเสียโดยขบวนการธรรมชาติก่อนที่จะปล่อยไหล ลงหนองหาร แต่ปัจจุบันบรรดาบ้านเรือน และอาคารพาณิชย์ทั้งหมดได้เปลี่ยนระบบจากส้วมซึมและบ่อขี้ซีกเป็น “ถังแซ้ท” ดูเผินๆก็เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่น่าจะมีประสิทธิภาพสูง แต่ในความเป็นจริงกลายเป็นระบบเสมือนท่อต่อตรงให้สิ่งปฏิกูลไหลงลงทางระบายน้ำและสุดปลายทางที่หนองหาร เนื่องจากขนาดของถังไม่สอดคล้องกับจำนวนความถี่ของการใช้งาน และยังมีการใช้สารเคมีล้างทำความสะอาดห้องน้ำไปทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อการย่อยสลายสิ่งปฏิกูล
การก่อสร้างของราชการรุกล้ำหนองหาร
โครงการของส่วนราชการจำนวนมากรุกล้ำหนองหาร และขัดขวางการไหลเวียนของน้ำทำให้เกิดการสะสม วัชพืชและตะกอน เช่นโครงการก่อสร้างสวนสาธารณะที่ดอนลังกา โดยการถมดินกั้นทางไหลของน้ำเพื่อทำเป็นทางเชื่อมระหว่างที่ดินในฝั่งกับดอนลังกาที่อยู่ในน้ำ ทำให้วัชพืชจำนวนมากไปสะสมอยู่บริเวณนั้นจนทำให้น้ำเน่าเสีย และตื้นเขิน แม้ว่าทางราชการจะใช้เครื่องจักรลงไปกำจัดแต่ก็ไร้ผลเพราะทำได้เพียงจำนนวนจำกัดและไม่ต่อเนื่อง ปัจจุบันก่อยังมีการรุกล้ำหนองหารเพื่อก่อสร้างสถานที่ราชการอย่างต่อเนื่อง ทั้งๆที่น่าจะหาที่เหมาะสมบริเวณอื่น

โครงการก่อสร้างสวนสาธารณะโดยใช้งบประมาณเพื่อการท่องเที่ยว มีการถมดินเป็นถนนไปเชื่อมกับดอนลังกา ทำให้เกิดการสะสมของวัชพืชจำนวนมากและกลายเป็นน้ำเน่าเสีย
สาหร่ายพิษภัยเงียบในน้ำหนองหาร
ผลการศึกษาทางชีววิทยาในหนองหารโดย ดร.นพรัตน์ สิทธิวงศ์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้พบว่าสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินชนิดหนึ่งมีสารพิษชื่อว่า “ไมโคซีสตีส” (Microcystis) ส่งผลต่อการเกิดโรคตับอักเสบและอาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งในท่อน้ำดี ขณะเดียวกันนายแพทย์สมบูรณ์ จิระวัฒนาสมกุล กรรมการที่ปรึกษาศูนย์หนองหาร ได้ศึกษาสถิติการเกิดโรคมะเร็งในตับของประชาชนบริเวณ รอบๆหนองหาร ก็พบว่าประชาชนที่บ้านท่าแร่ซึ่งอยู่ริมหนองหารมีความถี่ของโรคมะเร็งสูงกว่าที่อื่นๆ ผู้เขียนมีความเห็นว่าควรทำการวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับปรากฏการณ์สาหร่ายพิษและสถิติการเกิดโรคมะเร็ง ให้รู้แน่ชัดว่ามีสาเหตุมาจากน้ำหนองหารหรือไม่
ผมในฐานะนายกสโมสรโรตารีสกลนคร ได้ให้แนวคิดการวิจัยแก่นักเรียนมัธยมหกสายวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล ให้ทำวิจัยว่ามีประชากรสาหร่ายพิษที่ว่านี้มากน้อยแค่ไหนในหนองหาร โดยขอให้ ดร.นพรัตน์ สิทธิวงศ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ผลก็ปรากฏชัดเจนว่าพบสาหร่ายบ้านี่จริงๆ

จากงานวิจัยของ ดร.นพรัตน์ สิทธิวงศ์ แห่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ยืนยันว่าพบสาหร่าย "ไมโครซีสตีน" ในบริเวณหนองหาร ซึ่งเป็นสาหร่ายที่มีสารพิษเป็นอันตรายต่อตับและท่อน้ำดี

ผลงานวิจัยของนักเรียนสายวิทยาศาสตร์ชั้นมัธยมหก โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล เกี่ยวกับสาหร่ายพิษ Microcystis เสนอในงานประชุมทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ของกลุ่มโรงเรียนในภาคอีสานตอนบน เมื่อเดือนกรกฏาคม 2556
.jpg)
ดร.นพรัตน์ สิทธิวงศ์ กำลังติวเข้มลูกศิษย์ก่อนนำเสนอผลงาน ที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล
.jpg)
บรรยากาศขณะนักเรียนกำลังนำเสนอผลงานวิจัยสาหร่ายพิษไมโครซีสตีส
.jpg)
ผลการวิจัยแสดงว่ามีการพบจำนวนเซลของสาหร่ายไมโครซีสตีส ในที่ต่างๆของหนองหาร แต่ที่น่าเป็นห่วงคือพบมากที่สุดในบริเวณท่อสูบน้ำเข้าโรงผลิตประปาของเขตเทศบาลนครสกลนคร
.jpg)
การวิจัยของนักเรียนสกลราชวิทยานุกูลเมื่อปี 2556 พบว่า ปริมาณสาหร่ายพิษ Microcystin ในบริเวณท่อสูบน้ำประปามีจำนวนมากที่สุด 170,000 cells / 1,000 cc
.jpg)
สภาพปัจจุบันของบริเวณท่อสูบน้ำดิบจากหนองหารเข้าสู่การขบวนการผลิตน้ำประปาเมืองสกล
.jpg)
ภาพถ่าย Google Earth แสดงบริเวณสถานีสูบน้ำจากหนองหารเพื่อผลิตน้ำประปาเมืองสกล
.jpg)
บริเวณที่สูบน้ำเพื่อผลิตประปาอยู่ริมฝั่งติดกับตัวเมืองทำให้คุณภาพน้ำต่ำมากการประปาจึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีจำนวนมากในการบำบัด
.jpg)
สมัยก่อนการสูบน้ำจากหนองหารใช้ท่อยาวลงไปถึงบริเวณที่น้ำคุณภาพดี
.jpg)
ภาพถ่ายปี 2522 ยังมองเห็นท่อสูบน้ำประปาจากหนองหารยาวออกไปไกลฝั่ง

ในฐานะนายกสโมสรโรตารีสกลนคร เป็นผู้ให้แนวคิดในหัวข้อการวิจัยและเป็นสปอนเซ่อร์ส่วนหนึ่งก็เลยต้องถ่ายรูปกับทีมงานเป็นที่ระลึก
บทบาทของภาคประชาชน
อย่างไรก็ตามผู้เขียนในฐานะ ที่ทำงานเป็นที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีภาคประชาชน ด้านสิ่งแวดล้อม ได้ริเริ่มโครงการชักชวน ให้ประชาชนหาวิธีกำจัดน้ำเสียและสิ่งปฏิกูลในระดับครัวเรือน เพื่อลดภาระของระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลนครสกลนคร ที่สามารถรองรับได้เพียงครึ่งเดียวของปริมาณน้ำเสีย ในภาพรวม ด้วยการเขียนบทความ ”กู้หนองหารด้วยมือเรา” ในคอลั่มจับประเด็นร้อนของเว้ปไซด์ www.yclsakhon.com
ฤาตำนานหนองหารล่ม จะกลายเป็นเรื่องจริง
ในท้องเรื่องของตำนานเมืองหนองหารหลวง พญานาคเป็นผู้ถล่มเมืองให้จมลงสู่ธรณีเพราะเหตุความขัดแย้ง ระหว่างพระยาสุระอุทกผู้เป็นเจ้าเมืองกับพระญานาคธนมูล แต่ในยุคปัจจุบันเมืองสกลนครอาจจะล่มสลาย ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเพราะเงื้อมมือของพวกเราเอง ที่ร่วมกันสร้างมลพิษแก่หนองหารด้วยความจงใจ หรือรู้เท่า ไม่ถึงการ ดังนั้น ตำนานแห่งหนองหารหลวงจึงน่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นอุทาหรณ์ ให้เราๆท่านๆได้เกิด ความตระหนกและตระหนัก สลัดคราบแห่งความเป็น "ไทยเฉย" รีบเร่งหามาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วน มิฉะนั้น "พญานาคธนมูลเวอร์ชั่นใหม่" ในร่างของสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ จะลุกขึ้นมาถล่มนครหนองหารหลวง เป็นครั้งที่สอง หรือจะเป็นครั้งสุดท้าย.....คราวนี้แหละตำนาน "หนองหารล่ม" จะกลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมาในชาตินี้ของท่านและผม
ข้าจะกลับมาใหม่ลุยรอบสอง ในร่างของน้ำเสียและมลพิษ ชาวสกล ......ระวังให้ดี
