เมือง "สารนาท" ที่มาแห่งวันอาสาฬหบูชา
เชื่อว่าชาวพุทธโดยทั่วไปมีความรู้และความเข้าใจต่อความสำคัญตลอดจนที่มาของวัน "อาสาฬหบูชา" เป็นอย่างดี ผมคงไม่ต้องเอามะพร้าวมาขายให้ชาวสวน แต่สิ่งที่อยากจะเล่าให้ท่านๆที่เป็นแฟนคลับของ www.yclsakhon.com ฟังก็คือเรื่องราวในแง่มุมทางด้านโบราณคดี ดาราศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของเมืองสารนาท รัฐอุตตาละประเทศ ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นที่มาของวันอาสาฬบูชา


เรื่องราวโบราณคดีของเมืองสารนาท ต้องยกเครดิตให้ท่านนายพล "อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม" (Major General Alexander Cunnigham) ผู้ก่อตั้งกรมสำรวจโบราณคดีของประเทศอินเดีย ท่านผู้นี้เป็นนายพลของกองทัพบกอังกฤษประจำการอยู่ในประเทศอินเดีย เป็นทหารช่างและนักโบราณคดี เมื่อปลดเกษียณจากราชการทหาร ค.ศ.1861 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสำรวจโบราณคดี ท่านเกิดเมื่อ ค.ศ. 1814 และเสียชีวิตปี ค.ศ.1893 เป็นผู้ค้นพบและบูรณะโบราณสถานที่ตั้งของ "สถูปดาเม็ก" (Dhamek Stupa) ภาพที่เห็นในปัจจุบันสูง 43.6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 28 เมตร สร้างราวปี ค.ศ.500 หรือ พ.ศ.1043 เพื่อทดแทนสถูปของเดิมสร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อ 249 ปี ก่อนคริสตกาล หรือ พ.ศ.294 เป็นที่ประดิษฐานอัฐิของพระพุทธเจ้าและบรรดาสานุศิษย์องค์สำคัญต่างๆ บริเวณใกล้ๆกันมีเสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราช สลักเรื่องราวของสถานที่แห่งนี้
ท่านนายพลอเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ผู้ก่อตั้งกรมสำรวจโบราณคดีอินเดีย เป็นผู้ค้นพบและบูรณะโบราณสถานบริเวณสถูปดาเม็ก
พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์มูรยะ 272 - 232 ปี ก่อนคริตกาล ได้ทรงสร้างอนุสรณ์สถาน ณ เมืองสารนาท รัฐอุตตาละประเทศ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ของ "การเทศนาครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์" ณ ป่าอิสิปตมฤคทายวัน เมืองพาราณาสี แคว้นมคธ (ชื่อในยุคนั้น) พระองค์ได้สร้างสถูป อาคารประกอบ และที่สำคัญมีเสาหินสูง 15.25 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางที่ฐาน 0.71 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางที่ยอด 0.56 เมตร มีจารึกเป็นภาษาพราหมีกล่าวว่า "ผู้ใดจะก่อความแตกแยกในหมู่สงฆ์ไม่ได้" เสาหินแท่งนี้ถูกทำลายแตกเป็นท่อนๆโดยกองทัพจากตุรกีที่เข้ามายึดครองดินแดนอินเดียตอนเหนือ ในช่วงคริตศตวรรษที่13 - 16 ส่วนยอดของเสาหินเป็นรูปสิงห์สี่หัวและมีพระธรรมจักรที่ฐาน มีความหมายว่า "คำสอน" ของพุทธองค์จะแผ่ไพศาลไปทั้งสี่ทิศ และกงล้อ 24 ซี่ หมายถึงคำสอนจะเคลื่อนที่ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืนไม่มีวันหยุด ปัจจุบันเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเมืองสารนาท (Sarnath Museum) ผมได้เข้าไปชมแล้วแต่ทางการของรัฐห้ามถ่ายรูปในนั้น ได้เพียงถ่ายภาพจากภายนอก

.jpg)
พิพิธภัณฑ์แห่งเมืองสารนาท ตั้งอยู่ใกล้บริเวณโบราณสถานแห่งสถูปดาเม็ก ตั้งแสดงโบราณวัตถุจากยุคราชวงศ์มูรยะมากมาย และมีพระพุทธรูปศิลปะ "มธุรา" ซึ่งเป็นอันเดียวกันกับพระพุทธรูปที่วิหาร "พุทธคยา"


ส่วนยอดของเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช ตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์เมืองสารนาท รูปพระธรรมจักรแสดงวงล้อ 24 ซี่ กลายเป็นสัญลักษณ์ของธงชาติอินเดีย และสิงห์สี่หัวเป็นตราของรัฐบาลอินเดีย
ตามเรื่องราวในพุทธประวัติสถานที่แห่งนี้เป็นป่าชื่อ "อิสิปตมฤคทายวัน" แปลว่าที่อยู่ของฤาษี มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต "อิสิ" แปลว่า "ฤาษี" เมื่อครั้งที่พุทธองค์ยังไม่ได้ตรัสรู้ก็เคยมาปฏิบัติตนบำเพ็ญเพียรเพื่อค้นหาสัจธรรมร่วมกับฤาษีห้าท่านแต่ไม่สำเร็จ ท่านจึงแยกตัวออกมุ่งหน้าสู่ป่าอุรุเวลาเสนานิคม ริมแม่น้ำเนรัญชรา แคว้นมคธ มีระยะทางห่างกับประมาณ 212 กม. ณ ที่นี่พระองค์สามารถบรรลุถึงขั้นตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ ในคืนวันเพ็ญเดือนหก
ระยะทางจากป่าอิสิปตมฤคทายวัน เมืองพาราณาสี ไปยังป่าอุรุเวลาเสนานิคม ริมแม่น้ำเนรัญชรา แคว้นมคธ ห่างกันประมาณ 212 กม.
ที่มาของชื่อ "อาสาฬหบูชา"
"อาสาฬ" เป็นชื่อกลุ่มดาวกฤษ์คนยิงธนู (Constellation Sagittarius) และชาวอินเดียโบราณให้ชื่อว่า "นักษัตรอาสาฬ" (Naksatra Ashadha) ชาวพุทธเชื่อว่าวันที่พุทธองค์ได้เทศนาสั่งสอนฤษีทั้งห้า ณ ป่าอิสิปตมฤรรคทายวัน ตรงกับปรากฏการณ์ดวงจันทร์คืนวันเพ็ญอยู่ในกลุ่มดาวนี้ จึงได้ชื่อว่า "อาสาฬหบูชา" (Asalha Puja)
.jpg)
ชื่อ "อาสาฬหบูชา" มาจากปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ดวงจันทร์เข้าไปอยู่ใน "นักษัตร อาสาฬ" (Naksatra Ashadha) ตามความเชื่อในตำราโหราศาสตร์ของอินเดีย (Hindus Astrology) นักดาราศาสตร์เรียกว่า "กลุ่มดาวฤกษ์คนยิงธนู" (Constellation Sagittarius)

อาสาฬหบูชา พ.ศ. 2559 (ค.ศ.2016) ตรงกับวันอังคารที่ 19 กรกฏาคม รัฐบาลท่านใจดีจึงประกาศให้วันจันทร์ที่ 18 กรกฏาคม เป็นวันหยุดพิเศษเพราะไม่งั้นบรรดาคนทำงานทั้งราชการและเอกชนจะใช้สูตร "ลา 1 ได้ 5" เพราะวันที่ 16 - 17 เป็นเสาร์ - อาทิตย์ และวันที่ 19 - 20 เป็นวันอาสาฬหบูชา - เข้าพรรษา วันจันทร์ที่ 18 กรกฏาคม จึงถูกแซนวิสระหว่างวันหยุด ....... ดังนั้นคิดสาระตะแล้วแถมฟรีอีก 1 วันไปเลย
หลังจากพระองค์ตรัสรู้แล้วได้ย้อนกลับไปหาฤาษีทั้งห้าคนที่ป่าอิสิปตมฤคทายวัน เพื่อเทศนาให้เห็นธรรมที่ทรงตรัสรู้ และฤาษีหนึ่งในนั้นคือท่านโกณฑัญญะสามารถบรรลุโสดาบันเป็นพระสงฆ์องค์แรกของศาสนาพุทธ ชาวพุทธในปัจจุบันเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "พระรัตนตรัยครบองค์สามสมบูรณ์" เป็นครั้งแรกของโลก
บริเวณป่าแห่งนี้เป็นเขตอภัยทานแก่สัตว์ทั้งหลาย จึงมีฝูงกวางจำนวนมากใช้ชีวิตอย่างอิสระไม่มีผู้ใดรังแก ปัจจุบันรัฐบาลท้องถิ่นได้อนุรักษ์กวางไว้จำนวนหนึ่งเพื่อรำลึกถึงครั้งพุทธกาล


ฝูงกวางเหล่านี้ได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีจากทางการท้องถิ่นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งป่าอิสิปตมฤคทายวัน


ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นบริเวณที่เคยเป็นป่าอิสิปตมฤคทายวัน มองเห็นสถูปดาเม็กอย่างชัดเจน
ทางการอินเดียได้บูรณะสถานที่แห่งนี้อย่างจริงจังภายใต้ความรับผิดชอบของกรมสำรวจโบราณคดีแห่งชาติ (Archaeological Survey of India) ซากวิหารจึงปรากฏต่อสายตาของสาธารณะอีกคำรพหนึ่ง


ป้ายชี้ทางเดินไปยังวิหาร Panchaytan ซึ่งเป็นสถานที่ซึ่งพุทธองค์เทศนาแก่ปัญจวัคคีย์


ส่วนหนึ่งของวิหารที่ได้รับการอนุรักษ์อย่างดี เพื่อให้ชาวพุทธได้มาสักการะ


พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั่วโลกมาที่นี่เพื่อเดินจงกลมรอบสถูปดาเม็ก


พุทธศาสนิกชนชาวทิเบตก็แสดงความเคารพอยู่ที่พื้นสนามหญ้า

พุทธศาสนิกชนจากประเทศไทยก็นิยมนิมนต์ให้พระจากเมืองพุทธคยาทำหน้าที่เป็นไกด์ทัวร์


สถานที่ซึ่งพุทธองค์พบกับปัญจวัคคีย์ยังมีข้อถกเถียงในแง่โบราณคดี บ้างก็ว่าที่สถูปดาเม็ก (Dhamek Stupa) บ้างก็ว่าที่สถูปชูกานดี (Chaukhandi Stupa) ที่อยู่ห่างออกไปราว 750 เมตร
สำหรับผมไม่เกี่ยงครับว่าสถูปอันไหนเป็นจุดที่พุทธองค์พบกับปัญจวัคคีย์ เพราะยังไก็ต้องเป็นที่ใดที่หนึ่ง ก็เลยต้องไปนมัสการทั้งสองแห่ง

ที่สถูปชูการดี (Chaukhandi Stupa) มีป้ายอธิบายว่าตรง ณ สถานที่นี้พุทธองค์ได้พบกับปัญจวัคคีย์

รายละเอียดในป้ายอธิบายชัดเจนว่าสถูปชูกานดีสร้างในสมัยราชวงศ์คุปต้า ราวคริตศตวรรษที่ 4 - 5 และตรงนี้น่าจะเป็นจุดที่พุทธองค์ได้พบกับปัญจวัคคีย์หลังจากได้ทรงตรัสรู้แล้ว และสถูปหลังนี้ยังถูกระบุอยู่ในบันทึกของ "พระถังซำจัง" เมื่อคราวที่เดินทางมาจาริกบุญในคริตศวรรษที่ 7
การเดินทางไปที่เมืองสารนาทง่ายนิดเดียวครับ เพราะมีสายการบินตรงจากกรุงเทพไปลงที่นั่น มีทั้ง Thai International และ Indian Airline ใช้เวลาบินประมาณ 3 ชั่วโมง


อันดับแรกต้องไปขอวีซ่าเข้าประเทศอินเดีย

เส้นทางบินตรงจากสนามบินสุวรรณภูมิ สู่สนามบินนานาชาติเมืองพาราณาสี

สนามบินพาราณาสีอยู่ห่างจากเมืองสารนาทเพียงสิบกว่ากิโลเมตร

นักแสวงบุญชาวไทยส่วนใหญ่นิยมนุ่งขาวห่มขาวจากบ้าน ผมก็ไปพร้อมๆกับคณะดังกล่าวแต่แต่งตัวแบบธรรมดา


บนเครื่องสายการบินอินเดียมีการเสริพอาหารแขกให้เป็นการต้อนรับสู่ดินแดนภารตะ


สายการบินแห่งชาติอินเดียบริการดีทีเดียว อาหารอร่อย (ในสายตาคนอย่างผมที่เป็นนักเรียนเก่าจากอินเดีย)

การรถไฟของอินเดียมีบริการรถด่วนพิเศษวิ่งระหว่างเมืองสำคัญทางพุทธศาสนา ชื่อรถด่วนสายมหาปรินิปพาน (Mahaparinirvan Express) ผมไม่ทราบว่าชื่อแบบนี้คนไทยจะชอบนั่งหรือไม่ ความจริงปรินิปพานในภาษาฮินดิหมายถึง "สวรรค์" แต่ความหมายในสายตาของคนไทยอาจหมายถึงการตายแบบถาวร
อย่างไรก็ตามถ้าแฟนคลับของ yclsakhon ประสงค์จะนั่งภาวนาให้ตรงกับสถานที่ป่าอิสิปตมฤคทายวัน เมืองสารนาท เพื่อให้ได้บรรยากาศของยุคสมัยพุทธกาล ในวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา ผมขอแนะนำให้ท่านไปที่วัดพระธาตุเชิงชุม ในตัวเมืองสกลนคร และหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่มุมกวาด 64 องศา ทวนเข็มนาฬิกา จริงๆแล้วผมอยากจะไปนิมนต์ให้พระครูวินัยเจ้าอาวาสวัดพระธาตุเชิงชุม ทำเครื่องหมายไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้เห็น เพราะผู้คนจำนวนมากไม่ได้จบเรียนวิชาคณิตวิทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณป้าคุณลุงรุ่นเคี้ยวหมาก
.jpg)
