กู้ "หนองหาร" ด้วยมือเรา.......เริ่มต้นที่บ้าน
พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมือง "งานลือเรื่องหนองหาร" แลตระการปราสาทผึ้ง สวยสุดซึ้งสาวภูไท ถิ่นมั่นในพุทธรรม......คำขวัญที่คุ้นหูของพี่น้องชาวสกลนคร หนึ่งในนั้นมีคำว่างามลือเรื่องหนองหาร......ยังเป็นจริงอยู่อีกหรือ ? พบกับความจริงที่ไม่ต้องเอาใบบัวมาปิดในบทความต่อไปนี้
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ผมได้เข้าร่วมวงสัมมนา "ถอดบทเรียนหนองหาร สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ซึ่งจัดโดยศูนย์หนองหารศึกษา ที่ ดร.สพสันติ์ เพชรคำ แห่งคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นโต้โผใหญ่ ผู้เข้าร่วมวงสัมมนาประกอบด้วยหลายภาคส่วน อาธิ คุณครูกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร คณะทำงานศูนย์หนองหารศึกษาประกอบด้วยอาจารย์จากคณะต่างๆในมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผู้แทนชุมชนรอบหนองหาร นายกสโมสรโรตารีสกลนคร ฯลฯ เนื้อหาสาระของการสัมมนามุ่งเน้นไปที่การประเมินสถานะภาพของหนองหารในลักษณะ "ตรวจสุขภาพ" ว่าปัจจุบันอยู่ในอาการป่วยอย่างไรขนาดไหน

คุณประสาท ตงศิริ ที่ปรึกษาศูนย์หนองหารศึกษาทำหน้าที่ประธานกล่าวเปิดการสัมมนาแบบไม่ต้องไหว้ครูมากมายนัก

ดูหน้าดูตาแล้วผู้เข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่ล้วนแต่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับ "น้ำหนองหาร" ตั้งแต่เกิดจนโต
มองหนองหารในสายตาวิศวกร......จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สกลนคร

เปิดฉากการบรรยายสภาพกายภาพในปัจจุบันของหนองหารเปรียบเทียบกับอดีตที่ผ่านมา โดยอาจารย์ทศพล จตุระบุล จากคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สกลนคร
อาจารย์ทศพล จตุระบุล ชี้ให้เห็นว่าหนองหารในปัจจุบันกำลังเผชิญกับภัยหลักๆ 3 ประการ คือ
1. น้ำเน่าเสียจากการสะสมของสาหร่ายนานาชนิดจนกลายเป็นขี้เลนอยู่ใต้ท้อง เนื่องจากน้ำนิ่งและไม่มีทางระบายออกสาหร่ายจึงเติบโตแบบ "จัดเต็มๆ" และที่ร้ายก็คือไม่สามารถใช้เครื่องจักรตักหรือขุดลอกดินขี้เลนออกได้อย่างที่ชาวบ้านทั่วไปคิด เพราะหากไปขุดดื้อๆจะทำให้แก้สมีเทน ไฮโดรเจนซัลไฟล์และสิ่งปฏิกูลทั้งหลายที่นอนอยู่ใต้ท้องน้ำปะทุขึ้นมาปนกับน้ำดี ทำให้น้ำหนองหารเน่าเสียทั้งหมดไปโดยปริยาย
2. ปริมาตรความจุน้ำหนองหารลดลงเนื่องจากการสะสมของสาหร่ายทำให้ตื้นเขิน ดังนั้นความลึกของหนองหารที่พูดๆกันก็ต้องถึงคราวเปลี่ยนตัวเลขใหม่
3. ตะกอนดินนานาชนิดที่ถูกกัดเซาะลงมาจากพื้นที่ต้นน้ำปีละร่วม "ห้าหมื่นตัน" เข้ามาสะสมในหนองหารแบบขาประจำทุกปี ตะกอนเหล่านี้ไม่มีทางระบายออกเพราะเป็นน้ำนิ่ง
เปิดโปงสาหร่ายมรณะในหนองหาร

ดร.นพรัตน์ สิทธิวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาหร่ายจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ท่านด็อกเตอร์คนสวยเปิดโปงด้วยพาดหัวตัวยักษ์ว่า ประเทศไทยกำลังถูกคุกคามด้วย "สาหร่ายมรณะ" สยองก่อโรคมะเร็งตับ หนองหารของเราก็จัดอยู่ในภาวะดังกล่าว เช่นกัน
.jpg)
จริงๆแล้วเจ้าสาหร่ายมรณะที่ว่านี้เป็น แบคทีเรีย ชื่อว่า "ไมโครซีสตีส" มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น สามารถสังเคราะห์แสงจึงมีสีเขียวและเมื่อรวมตัวกันมากๆเป็นล้านๆเซลจะมีสภาพเป็นแพสีเขียวลอยเหนือน้ำเหมือนสาหร่าย ในต่างประเทศเรียกว่า Algae Bloom ภายในเซลของเจ้านี่มีสารพิษที่เรียกว่า "ไมโครซีสตีน" เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสัตว์และมนุษย์ หลายประเทศถึงขนาดห้ามลงน้ำเด็ดขาด (อ่านรายละเอียดในคอลั่มภัยเงียบรุกชาวสกล จากสาหร่ายพิษในหนองหาร)
ด็อกเตอร์คนสวยยังย้ำอีกว่าเจ้าสาหร่ายบ้านี่ชอบสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันของหนองหาร เพราะน้ำนิ่ง มีแสงแดด มีอาหารให้กินอย่างโอชะจากสารฟอสเฟต และไนโตรเจน ที่มากับน้ำเสียของตัวเมือง เรียกว่าเข้าทางปืนเขาละ



จากข้อมูลที่ผมสอบถามไปยังผู้เกี่ยวข้องกับการประปายังไม่มีมาตรการใดๆที่เกี่ยวกับสารพิษ "ไมโครซิสตีน" เพราะสารดังกล่าวยังไม่อยู่ในสาระบบการเฝ้าระวัง แต่องค์การอนามันโลกได้กำหนดค่ามาตรฐานออกมาแล้วว่า ไม่เกิน "หนึ่งไมโครกรัมต่อน้ำหนึ่งลิตร" ดังนั้นเราๆท่านที่ดื่มน้ำจากประปาเมืองสกลก็ต้องใช้วิธี "ช่วยตัวเอง" ไปพลางๆก่อนโดยการติดตั้งเครื่องกรองน้ำที่มี "ผงถ่านแอกตีเวเต็ดคาร์บ้อน" (Activated Carbon) ซึ่งพอจะช่วยกรองสารพิษตัวนี้ได้ หลังจากฟังท่านด็อกเตอร์บรรยายแล้วผู้ฟังทำท่าแหยงๆกับน้ำดื่มที่พนักงานโรงแรมภูพานเพลสเสริฟ
แนะนำเมนูเด็ดจาก.......ปลาที่หาง่ายที่สุดในหนองหาร

อาจารย์ทรงทรัพย์ อรุณกมล ประธานสาขาวิชาประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร ม.ราชภัฏสกลนคร


ต่อจากเรื่องสาหร่ายพิษ ก็ถึงคิวของอาจารย์ทรงทรัพย์ อรุณกมล แห่งคณะเทคโนโลยีการเกษตร อาจารย์หนุ่มรูปหล่อท่านนี้ฟันธงว่าปลาที่หาได้ง่ายที่สุดในหนองหาร คือ "ปลาปั๊กเป้า" ซึ่งตรงกับข้อมูลของ ดร.สพสันติ์ เพชรคำ ที่บอกว่ายกเบ็ดตกปลาขึ้นมาสิบครั้งติดปลาปั๊กเป้าถึงเก้าครั้ง ในความเห็นส่วนตัวของผมเจ้าปลาชนิดนี้เป็นตัวชี้วัดของน้ำเสื่อมโทรม เพราะมันทนต่อสภาพสิ่งแวดล้อมที่แย่ๆได้มากกว่าปลาชนิดอื่นๆ และที่แน่ๆชาวเมืองสกลนครเลิกกินปลาหนองหารมาหลายปีแล้ว.....ด้วยเหตุผล "มันเป็นตาย่าน นะคร้าบ"
ถังส้วมแบบแซ็ท......ตัวการเติมมลภาวะลงหนองหาร




ด็อกเตอร์วิจิตรา สุจริต อาจารย์จากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ด็อกเตอร์สาวสวยรวยวิชาท่านนี้ไม่อ้อมค้อม ปล่อยหมัดตรงทันทีว่า "ถังแซท" ที่บรรดาบ้านจัดสรร อาคารพาณิชย์ และบ้านสมัยใหม่ในตัวเมืองสกลนคร เป็นตัวปล่อยมลภาวะของเสียลงสู่หนองหารแบบ One way Ticket เพราะผู้ใช้แบบเราๆท่านๆขาดความรู้ในการบริหารจัดการเจ้า "เทคโนโลยี" ตัวนี้ เช่น ไม่เคยเติมสารจุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายลงไปเลย แถมยังใช้สารเคมีล้างห้องน้ำเป็นประจำลงไปฆ่าจุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยสิ่งปฏิกูล เข้าตำรามือไม่พายยังเอาเท้าราน้ำ สมัยก่อนพวกเราใช้ส้วมซึมที่มีระบบบำบัดตามธรรมชาติ หรือบำบัดของเสียจากครัวเรือนในรูปแบบ "บ่อขี้ซีก" หรือเรียกให้เป็นวิชาการว่า พื้นที่ชุ่มน้ำขนาดจิ๋ว (Micro Wetlands) ดังนั้นถังแซทจึงกลายสภาพเป็น "ไหฝังดินใบนึง" ยิ่งให้ผู้รับเหมามาสร้างบ้านเขาก็จะเลือกใช้ถังแซทขนาดเล็กที่สุดเพื่อลดต้นทุน เจ้าของบ้านก็ไม่ใส่ใจเรื่องนี้ ทำธุระส่วนตัวเสร็จก็ "กดชักโครงลูกเดียว"
โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาหนองหาร
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2555 ดร.สพสันติ์ เพชรคำ อาจารย์ประจำคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ทำหน้าที่หัวหน้าศูนย์หนองหารศึกษา ได้ประสานงานกับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ กับอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร นำโดย ผศ.ดร.อนุกูล วัฒนสุข ให้มาร่วมระดมสมองในการเสนอโครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาหนองหารอย่างยั่งยืน โดยจะเสนอในลักษณะเป็นแพกเกจใหญ่ประกอบด้วยโครงการย่อยที่จะนำไปสู่การพัฒนาหนองหาร ผมก็ร่วมนั่งฟังอยู่ตลอดรายการเกือบทั้งวัน หากโครงการวิจัยเหล่านี้ได้รับการอนุมัติและมีงบประมาณให้ ก็จะเริ่มทำวิจัยให้เสร็จภายในหนึ่งปี

คณะอาจารย์จาก ม.ราชภัฏสกลนคร และ ม.เกษตรศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ


มีการอภิปรายวิธีการเสนอโครงการวิจัยอย่างกว้างขวาง
โครงการวิจัยและพัฒนาหนองหาร....ยังต้องรออีกนานกว่าจะเห็นผล
ถ้าจะให้พูดแบบตรงๆโครงการวิจัยและพัฒนาหนองหารต้องรองบประมาณจากรัฐบาลโดยผ่านหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง คำถามคือ จะได้หรือเปล่า เมื่อไหร่จะได้ ได้เท่าไหร่จึงจะพอ ถ้าได้มาแล้วพอเป็นน้ำจิ้มก็ไม่สามารถการันตีว่าหนองหารจะใสสะอาดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วชาวบ้านตาดำๆอย่างเราๆท่านๆจะมีส่วนร่วมด้วยช่วยกันอย่างไร ผมอยู่ที่สกลนครนานกว่าสามสิบปีมองเห็นปัญหาของหนองหารเหมือน "ไก่กับไข่" ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหนก่อน ราชการก็บอกว่ายังไม่มีงบประมาณ ชาวบ้านก็บอกว่าต้องรอภาครัฐเข้ามาช่วย ฟังจากปากของเจ้าหน้าที่ประมงจังหวัดที่เป็นเพื่อนกันตอนนี้เกษียญแล้ว บอกว่าขอตั้งโครงการไป 1,200 ล้านบาท สลึงเดียวก็ยังไม่ได้ วันก่อนเข้าประชุมที่ศาลากลางจังหวัดร่วมกับท่านผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ฟังการชี้แจงของสำนักงานจังหวัดว่าขอตั้งงบประมาณป้องกันปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองสกลนครไปหลายล้าน แต่ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะได้รับอนุมัติทั้งๆที่รัฐบาลมีเงินกู้เพื่อการนี้อยู่ในมือตั้ง "สามแสนห้าหมื่นล้านบาท"
ผลการศึกษาเบื้องต้นพบความจริงเกี่ยวกับน้ำเสียที่ไหลลงหนองหาร ดังนี้
1. บ่อบำบัดของเทศบาลรับผิดชอบน้ำเสียได้เฉพาะชุมชนที่อยู่ในตัวเมืองเท่านั้น ส่วนที่อยู่เลยประตูเมืองออกไปไม่มีระบบอะไรทั้งสิ้น ปล่อยน้ำเสียลงหนองหารผ่านคูคลองธรรมชาติแบบเสรี เทศบาลตำบลท่าแร่ก็เช่นกันระบบบำบัดรับผิดชอบได้บางส่วน


.jpg)
.jpg)
2. บ้านจัดสรร และศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เกิดขึ้นยังกะดอกเห็ด ทั้งหมดนี้ไม่มีระบบบำบัดที่เป็นรูปธรรม ใช้ถังแซ้ท และบ่อบำบัดขนาดเล็กภายในสถานที่ ซึ่งถ้าไม่มีการจัดการที่ถูกต้องแล้วก็ไม่ต่างกับปล่อยไหลดื้อๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ถังแซ้ท" ถ้าไม่เติมจุลินทรีย์อย่างสม่ำเสมอ แถมยังเอาสารเคมีล้างห้องน้ำใส่ลงไปก็ยิ่งทำลายจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ให้ลดน้อยจนย่อยสลายสิ่งปฏิกูลไม่ทัน


คงถึงเวลาที่เราๆท่านๆกลับมาสู่ความจริง.....กู้หนองหารด้วยมือตัวเอง....เริ่มต้นที่บ้านของแต่ละคน โดยผมเริ่มแล้วครับ ดังนี้
ระบบบำบัดน้ำเสียระดับครัวเรือนแบบที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคขอมเรืองอำนาจ ภาษาอีสานเรียกว่า "บ่อขี้ซีก" ได้หายไปจากสังคมชาวเมืองสกลนครนานแล้ว คงเหลือแต่สังคมชนบทเท่านั้น ชุมชนทุกแห่งไม่ว่าระดับ อบต. เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง จนถึงเทศบาลนคร ล้วนพึ่งพาการกำจัดน้ำเสียออกจากครัวเรือนโดยผ่าน "ท่อระบายน้ำ" ของชุมชนนั้นๆ และที่สุดของที่สุดก็ปล่อยลงแหล่งน้ำขนาดใหญ่ "หนองหาร" บ้านผมก็อยู่ในชุมชนหมู่บ้านอารียาติดลำห้วยทรายใกล้หนองหาร จึงต้องกำหนดมาตรการส่วนตัวด้วยการ กำจัดน้ำเสียผ่าน "บ่อขี้ซีก" ของตัวเองภายในบริเวณบ้าน
ทุกบ้านมีน้ำมันพืชเหลือใช้จากการปรุงอาหารและมักกำจัดโดยวิธีเทลงในที่ล้างจาน ที่สุดของที่สุดไหลไปลงหนองหาร ลองคำนวณตัวเลขง่ายๆถ้าเราๆท่านๆรอบหนองหาร 50,000 ครัวเรือนเทน้ำมันพืชใช้แล้วลงท่อระบายน้ำในอัตรา 100 ซีซี /ครัวเรือน /วัน ภายใน 1 ปี หนองหารจะรองรับสิ่งนี้มากถึง 1.8 ล้านลิตร

เศษอาหาร หรือน้ำมันพืชที่ใช้ทอดแล้วควรเทลงดินตามโคนต้นไม้ในบ้าน ให้จุลินทรีย์ธรรมชาติย่อยสลาย อย่าเทลงในซิ้งล้างจานโดยตรงเพราะมันจะไปลงหนองหารผ่านท่อระบายน้ำของหมู่บ้าน

น้ำเสียจากการถูบ้านและล้างจานก็ควรเทใส่โคนต้นไม้ในบ้านให้ทำหน้าที่เป็น "บ่อขี้ซีก"

ต้นมะนาวหลังบ้านใช้น้ำที่เหลือจากการซักผ้าและน้ำล้างจาน เป็นการปุ๋ย Phosphate ให้แก่พืชไปในตัว ขณะเดียวกันถ้าท่านพอมีสะตางค์ก็ควรใช้น้ำยาซักผ้าที่ระบุว่า "ย่อยสลายได้" (Biodegradable)

เติมจุลินทรีย์ลงในโถส้วมเดือนละครั้งเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของถังแซ้ท และลดการใช้สารเคมีในห้องน้ำให้น้อยที่สุดเพื่อปกป้องจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อการย่อยสลายปฏิกูล ถ้าจะให้ดีหันมาใช้สาร EM ทำความสะอาดพื้นห้องน้ำ
.jpg)
ถังย่อยสลายเศษอาหารเพื่อเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ เป็นการลดภาระของการจัดการขยะอินทรีย์ไม่ให้ปะปนกับขยะอื่นๆ

ถังใบนี้ใช้จุลินทรีย์ในดินทำการย่อยสลายเศษอาหาร ถังพาสติกสีดำทำให้เกิดความร้อนจากแสงอาทิตย์และช่วยเร่งการทำงานของจุลินทรีย์

บ่อเลี้ยงปลาในบ้านจำเป็นต้องเปลี่ยนน้ำเป็นครั้งคราว

น้ำจากบ่อเลี้ยงปลามีอินทรีย์วัตถุสูงถูกปล่อยในบริเวณปลูกต้นไม้
มีบ่อดักน้ำที่เรียกว่า "ธนาคารน้ำใต้ดิน"
เชื่ออย่างจริงจังว่า....หากทุกคนช่วยกันโดยไม่ต้องรอภาครัฐ เราสามารถลดการปล่อยน้ำเสียลงหนองหารได้อย่างเป็นรูปธรรม ผมเชื่อในพลังของทุกคน....หากทุกอย่างเริ่มต้นที่บ้าน....น้ำหนองหารจะดีกว่านี้ ....... ท่านว่าจริงไม้ละ