ทำไมเข้าพรรษบางปีต้องเดือน 8-8
ชาวพุทธทั่วไปคงจะคุ้นเคยกับการเข้าพรรษาที่บางปีถูกกำหนดให้เป็นเดือน 8-8 เรียกว่า "อธิกมาส" ตามปฏิทิน "จันทรคติ" โดยปีนั้นจะมี 13 เดือน แตกต่างจากปี "ปกติมาส" ที่มี 12 เดือน ....... ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

.jpeg)
.jpeg)

พุทธบัญญัติ
เป็นที่ทราบดีในหมู่ชาวพุทธว่าการเข้าพรรษาเป็น "พุทธบัญญัติ" เพื่อให้เหล่าสงฆ์ได้หยุดการสัญจรและอยู่จำวัดศึกษาทบทวนพระธรรมวินัย หากมีความจำเป็นจริงๆที่จะต้องสัญจรก็ต้องว่ากันเป็นกรณีไป กำหนดการเข้าพรรษาเริ่มตั้งแต่ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถัดจากวันอาสาฬหบูชา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ตามปฏิทิน "จันทรคติ" ที่ใช้อยู่ในชมพูทวีปและอาณาจักรโบราณที่เจริญมาก่อน เช่น บาบิโลน และกรีก
ปฏิทินจันทรคติของชาวพุทธนี้เริ่มต้นนับหนึ่งราวๆต้นฤดูหนาว (แถวๆเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม) นัยว่าเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต คนไทยเรียกเดือนหนึ่งว่า "เดือนอ้าย" และเรียกเดือนที่สองว่า "เดือนยี่" จากนั้นก็นับต่อเป็นเดือน 3, 4, 5, 6, .............จนถึงเดือนสุดท้ายคือ อันดับที่ 12


จุดเริ่มต้นของวันอาสาฬหบูชาเกิดขึ้นที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมื่อพุทธองค์เดินทางกลับไปพบกับปัญจวัคคีย์และหนึ่งในนั้นได้ขอบวชเป็นพระสงฆ์องค์แรกของพุทธศาสนา ทำให้ครบองค์ประกอบสำคัญทั้งสามประการคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้อยู่ในรัฐอุตตาละประเทศ ของอินเดีย
จุ

ผมเดินทางไปที่เมือง "สารนาท" เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2551 และพบว่ารัฐบาลท้องถิ่นยังคงอนุรักษ์ฝูงกวางไว้ในที่ที่เคยเป็นป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เป็นอนุสรณ์แห่งเขตอภัยทานเหมือนกับครั้งพุทธกาล

แผนที่แสดงตำแหน่งที่ตั้งของเมืองสารนาท ใกล้กับแม่น้ำคงคาและเมืองพารานาสี


ป้ายอธิบายว่าพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งอาณาจักรมูรายะ ได้มาสร้างเสาหินแท่งนี้ไว้เมื่อ 272 - 232 ปี ก่อนคริสตกาล


แท่งเสาหินที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างไว้ โดยยอดสุดเป็นรูปสิงห์สี่หน้าและพระธรรมจักร ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งเมืองสารนาท (อ่านรายละเอียดเรื่องนี้ในคอลั่ม อินเดียน่า โจนส์)
เหตุผลทางดาราศาสตร์ ทำให้ต้องมี เข้าพรรษาเดือน 8-8
พิจารณาสภาพภูมิอากาศของดินแดน "พุทธภูมิ" ซึ่งอยู่ประเทศอินเดียตอนเหนือปัจจุบันเป็นเขตปกครองของรัฐพิหาร และรัฐอุตตาละประเทศ เส้นรุ้ง 26 - 27 องศาเหนือ เดือน 8 อยู่ระหว่างกรกฏาคมถึงต้นสิงหาคม เป็นช่วงเริ่มต้นฤดูฝนตรงกับพุทธบัญญัติ ประเทศไทยและเพื่อนบ้านในดินแดนแหลมทองที่นับถือศาสนาพุทธ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เมียนม่าร์ และเวียดนาม ก็มีภูมิอากาศไม่ต่างจากพุทธภูมิมากนักจึงสามารถปฏิบัติตามพุทธบัญญัติในการเข้าพรรษาได้อย่างลงตัว
มองลึกลงไปในรายละเอียดจะพบว่าพุทธบัญญัตินี้ล๊อกสะเป็กไว้สองประการได้แก่ "ต้นฤดูฝน" กับ "แรม 1 ค่ำ เดือน 8" เมื่อปฏิบัติไปได้สัก 6 - 7 ปี ก็เริ่มเกิดปัญหาไม่ตรงกับพุทธบัญญัติคือผิดฤดูกาลเพราะปฏิทินจันทรคติมีเพียง 354 วัน ส่วนปฏิทินสุริยะคติมี 365 วัน ต่างกันปีละ 11 วัน และฤดูกาลบนพื้นโลกก็เกิดจากอิทธิพลของดวงอาทิตย์ (สุริยคติ) ไม่ใช่ดวงจันทร์ เป็นเหตุให้วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ขยับร่นเร็วขึ้นปีละ 11 วัน กลายเป็นว่าต้องเข้าพรรษาในเดือนเมษายนเป็นฤดูแล้ง และไปออกพรรษาราวต้นเดือนกรกฏาคมซึ่งเป็นฤดูฝน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีวิธีปรับชดเชยโดยเพิ่มเดือน 8-8 ตามสูตรของนักดาราศาสตร์ชาวกรีกชื่อเมตั้นแห่งกรุงเอเธน (Meton of Athen) เพื่อขยับให้ปฏิทินจันทรคติสอดคล้องกับฤดูกาลของท้องถิ่น
วิธีการปรับชดเชยแบบนี้ไม่ใช่มีแต่ปฏิทินจันทรคติของประเทศไทย ปฏิทินจันทรคติของชาวจีนก็ใช้สูตรเดียวกันเพื่อปรับให้ "วันตรุษจีน" ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 1 ตรงกับปลายฤดูหนาวและต้นฤดูใบไม้ผลิ ทำนองเดียวกันปฏิทินของชาวยิวก็มีการปรับชดเชยเพื่อให้เทศกาลสำคัญตรงกับฤดูกาล ชาวอิสราเอลตั้งชื่อปีที่มี 13 เดือนว่า the pregnant year


ตามปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ปีจันทรคติมี 354 วัน ส่วนปีสุริยคติมี 365 วัน
อาณาจักรโบราณ เช่น บาบิโลน และกรีก มีสูตรชดเชยระหว่างปฏิทินจันทรคติกับปฏิทินสุริยะคติอยู่แล้ว เนื่องจากอาณาจักรเหล่านั้นก็มีประเพณีที่ต้องปฏิบัติตามฤดูกาลเช่นกัน และก็เป็นที่ทราบดีว่าสมัยนั้นมีการติดต่อค้าขายระหว่างอาณาจักรทำให้ความรู้และเทคโนโลยีสามารถถ่ายทอดสู่กันได้ไม่ยาก นักดาราศาสตร์ชาวกรีกชื่อ "เมตั้น แห่งกรุงเอเธน" ได้ประกาศใช้สูตรนี้อย่างเป็นทางการเมื่อ ปี 432 BC (432 ปี ก่อนคริสตกาล) แต่ชาวบาบิโลนใช้สูตรนี้มานานก่อนหน้าท่านเมตั้น
การชดเชยเพื่อให้ปฏิทินจันทรคติยังคงสอดคล้องกับฤดูกาล (intercalary) มีวิธีดังนี้ ให้เพิ่มเดือนพิเศษเข้าไป 1 เดือน ในช่วงใดช่วงหนึ่งที่เหมาะแก่ประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า intercalary month ทำให้ปีนั้นมีทั้งหมด 13 เดือน ภาษาไทยและภาษาอินเดียเรียกปีนี้ว่า "อธิกมาส" กำหนดให้มีปีอธิกมาส 7 ครั้ง ในรอบ 19 ปี โดยจัดคิวในปีที่ 3, 6, 8, 11, 14, 17 และ 19 ตามลำดับ

ตัวอย่าง สูตรการปรับชดเชยปฏิทิน "จันทรคติ" ให้สอดคล้องกับฤดูกาลตามปฏิทิน "สุริยะคติ" เริ่มตั้งแต่ปี 2548 จนถึง 2566 มีการเพิ่มปี "อธิกมาส" 7 ครั้ง ในรอบ 19 ปี และเรียงคิวตามสูตรของเมตั้น จัดลำดับปีที่ 3, 6, 8, 11, 14, 17 และ 19 อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตุว่าปีนี้ 2555 เป็นทั้งปี "อธิกมาส " และปี "อธิกสุรทิน" คือเดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน
.jpg)
.jpeg)

การปรับชดเชย เดือน 8-8 ของปฏิทินจันทรคติให้สอดคล้องกับฤดูกาลมีผลต่อ "มาฆบูชา อาสาฬหบูชา วิสาขบูชา และออกพรรษา"

นักดาราศาสตร์ชาวกรีก เมตั้นแห่งกรุงเอเธน (Meton of Athen) ประกาศใช้สูตรชดเชยปฏิทินจันทรคติให้สอดคล้องกับฤดูกาล เมื่อ 432 ปี ก่อนคริสตกาล (432 BC) ปัจจุบันองค์การอวกาศสากลได้ตั้งชื่อหลุมอุกาบาตบนดวงจันทร์เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านเมตั้น
เหตุผลทางคณิตศาสตร์
สูตรของเมตั้น (Meton of Aten) ที่กำหนดสูตรชดเชย 19 ปี ให้มีเดือนจันทรคติเพิ่ม 7 ครั้ง มาจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ที่ทำให้ผลลัพท์ของการสะสมจำนวนวันเท่ากันระหว่าง ปีสุริยคติ (solar year) กับปีจันทรคติ (lunar year) ภายในรอบ 19 ปี
19 year x 365 days (solar year) = 6,935 days
19 year x 354 days (lunar year) = 6,726 days + (30 lunar days x 7 = 210 days)
= 6,936 days
สูตรนี้เห็นได้ชัดเจนว่าในรอบ 19 ปีจันทรคติ มีจำนวนวันน้อยกว่าปีสุริยคติ 210 วัน ( 7 months x 30 days) ดังนั้นจึงต้องเพิ่มชดเชยเข้าไป 210 วัน หรือ 7 ครั้ง ในรอบ 19 ปี
ไหนๆก็คุยกันเรื่องนี้แล้วขอแถมภาพสวยๆเกี่ยวกับเมืองสารนาท และเมืองพารานาสีให้ท่านดูสักชุดนึง

ภาพมุมกว้างของสถูปใหญ่ และฐานรากของสถูปเล็กๆที่สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

พุทธบริษัทชาวธิเบตมาจารึกบุญที่นี่เป็นจำนวนมาก

พระพุทธชาวธิเบตนิกาย "วัชระยาน"

การเดินรอบสถูปสามรอบ


บรรยากาศของท่าแม่น้ำคงคา ที่เมืองพารานาสี

พระสงฆ์ไทยเจอกับโยคีขนานแท้


เรือที่จัดไว้รับนักท่องเที่ยวชมแม่น้ำคงคา

ตื่นแต่เช้ามืดเพื่อไปลงเรือที่แม่น้ำคงคาหน้าเมืองพารานาสี


แขกพายเรือมาขายปลาให้ปล่อยเอาบุญ เดิมไม่เคยมีประเพณีแบบนี้แต่คนไทยทัวร์ไทยไปสอนไว้


การได้อาบน้ำในแม่คงคาถือเป็นบุญอย่างยิ่ง


คนไทยไปไหนมีคนเดินตามขอเงินตลอด เพราะพี่ไทยใจดีครับ กับนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆเขาไม่เห็นตามไปขอ

ครับ......คราวนี้มากับพระ
พระสงฆ์ไทยในประเทศออสเตเรีย จะสามารถ "เข้าพรรษา" ได้ตรงกับพุทธบัญญัติหรือไม่
เป็นเรื่องที่น่าคิดครับเพราะทวีปออสเตเรียตั้งอยู่ในซีกโลกด้านใต้ทำให้ฤดูกาลที่นั่นตรงกันข้ามกับประเทศอินเดียและประเทศไทยในซีกโลกด้านเหนือ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 เข้าพรรษาที่ประเทศออสเตเรียตรงกับฤดูแล้งและขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ออกพรรษาตรงกับฤดูฝน ......... ไม่ตรงกับพุทธบัญญัติ เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากศาสนาพุทธถือกำเนิดที่ประเทศอินเดียตั้งอยู่ในซีกโลกด้านเหนือ กำหนดวันเข้าพรรษาตามพุทธบัญญัติจึงสอดคล้องกับต้นฤดูฝนที่อินเดีย แต่เมื่อชาวพุทธอพยพไปอยู่ที่ออสเตเรียเป็นซีกโลกด้านใต้แต่ยังยึดถือพุทธบัญญัติของแผ่นดินแม่
เรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นกับศาสนาฮินดูและศาสนาคริสต์ เพราะชาวฮินดูฉลองเทศกาล Holi ในเดือนมีนาคมเป็นฤดูใบไม้ผลิ (spring) แต่ที่ประเทศออสเตเรียเป็นฤดูใบไม้ร่วง (autumn) เช่นเดียวกันชาวคริสต์ฉลองคริตมาสในเดือนธันวาคมเป็นฤดูหนาว (winter) แต่ที่ประเทศออสเตเรียเป็นฤดูร้อน (summer) จึงสรุปได้ว่ามนุษยชาติกำหนดวันสำคัญของแต่ละศาสนาตามฤดูกาลของแผ่นดินแม่ แต่เมื่อย้ายไปอาศัยอยู่อีกซีกโลกก็จำเป็นต้อง "ทำใจ" ยอมรับสภาพ
.jpg)
ซีกโลกด้านเหนือและซีกโลกด้านใต้จะมีฤดูกาลตรงกันข้ามระหว่างกัน



.jpeg)
ประเทศออสเตเรียมีวัดไทยอยู่หลายแห่ง เช่น วัดไทยพุทธาราม ที่เมืองบริสเบน วัดพุทธรังษี ซิดนี่ย์ วัดไทยนคร เมลเบิร์น

Chart แสดงปริมาณน้ำฝนที่เมืองบริสเบน ประเทศออสเตเรีย
.jpg)
การแต่งกายเพื่อฉลองคริสต์มาสที่ซีกโลกด้านเหนือและซีกโลกด้านใต้
ความเชื่อ ...... ปีไหนเป็น "อธิกมาส" 8 - 8 จะเกิดภัยแล้ง หรือหน้าฝนมาช้า ..... จริงหรือไม่
คำตอบในทางวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ยังไม่พบว่า "อธิกมาส" หรือ 8 - 8 จะเกี่ยวข้องกับภัยแล้งหรือหน้าฝนมาช้าแต่ประการใด เพราะเรื่องปีอธิกมาสเป็นการปรับปฏิทินจันทรคติให้วันเข้าพรรษากลับมาอยู่ในต้นฤดูฝนเพื่อให้ถูกต้องกับพุทธบัญญัติ เป็นเรื่องกิจของพระสงฆ์ไม่เกี่ยวกับการเกิดฤดูกาล ตามหลักวิทยาศาสตร์ฤดูกาลบนโลกใบนี้เกิดจากการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะมุมเอียง 23.5 องศา ทำให้มุมตกกระทบของแสงอาทิตย์ที่กระทำต่อผิวโลกเปลี่ยนไปทุกๆวันมีผลต่อการสะสมพลังงานความร้อนและก่อให้เกิดฤดูกาลต่างๆ ดังนั้น สามารถพูดได้ว่า ปี 8 - 8 ปรับตามปฏิทินสุริยะคติเพื่อเหตุผลทางพุทธบัญญัติเท่านั้น
ส่วนการเกิดภัยแล้งหรือหน้าฝนมาช้าเกิดจากเหตุผลทางธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ที่ทำลายธรรมชาติ เช่น El Nino และ Climate change

ต้นเหตุของการเปลี่ยนฤดูกาลมาจากปรากฏการณ์ดาราศาสตร์เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยมุมเอียง 23.5 องศา ทำให้พลังงานความร้อนสะสมของแสงอาทิตย์ ณ ผิวโลกในสถานที่ต่างๆไม่เท่ากัน และก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องทุกๆวัน
.jpg)
ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า El Nino ก่อให้เกิดภัยแล้งเพราะกระแสน้ำเย็นไหลเข้ามาในภูมิภาคทำให้น้ำทะเลระเหยได้น้อยยังผลให้มีความชื้นในอากาศน้อยและฝนไม่ค่อยตก ในทางตรงกันข้ามกระแสน้ำอุ่นไหลไปอีกฝั่งของภูมิภาคทำให้บริเวณนั้นมีไอน้ำมากฝนจะตกหนัก เรียกชื่อว่า La Nina

ภูเขาหัวโล้นจากการทำลายป่าเพื่อปลูกพืชไร่ทำให้ป่าต้นน้ำถูกทำลายหมดสภาพการอุ้มน้ำที่จะป้อนลงสู่แม่น้ำข้างล่างตามระบบธรรมชาติ เป็นฝีมือของมนุษย์ไม่เกี่ยวข้องกับปฏิทินจันทรคติ 8-8
สรุป
การที่วันเข้าพรรษาบางปีตรงกับ "แรม 1 ค่ำ เดือน 8 - 8" เนื่องจากการผสมผสานระหว่าง พุทธบัญญัติ + ปฏิทินจันทรคติ + ปฏิทินสุริยะคติ + ฤดูกาลที่ตงกับต้นฤดูฝน ...... หลักการทางคณิตศาสตร์ถ้าจำเป็นต้องตอบสนองตัวแปรมากกว่าหนึ่งประการ ก็หนีไม่พ้น "การปรับชดเชย" ให้เกิดการลงตัวอย่างเหมาะสม ในที่นี้พุทธบัญญัติกำหนดให้ "เข้าพรรษา ตรงกับ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 และเป็นช่วงต้นฤดูฝน"