ปราสาทหินพิมาย กับ สามเหลี่ยมพุทธมหายาน
ในมุมมองส่วนตัวของผม ......... เป็นการบังเอิญหรือจงใจไม่อาจทราบได้ แต่ปราสาทขอมที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธนิกายมหายานในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จำนวนสามแห่ง ได้แก่ปราสาทหินพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ปราสาทบายน ในนครธม จังหวัดเสียมราช ประเทศกัมพูชา และปราสาทภูเพ็ก จ.สกลนคร ประเทศไทย ตั้งอยู่ในตำแหน่งพิกัดที่โยงเข้าหากันเป็นรูปสามเหลี่ยมที่สวยงาม ผมตั้งชื่อว่า “สามเหลี่ยมพุทธมหายาน” เป็นภาษาอังกฤษ The Mahayana Triangle จากข้อมูลทางโบราณคดีทราบว่าปราสาทหินพิมายสร้างขึ้นก่อนเพื่อน ในสมัยของพระเจ้าสุริยะวรมัน ที่ 1 พุทธศตวรรษที่ 16 และต่อมาได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมโดยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในช่วงต่อระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17 และ 18 ส่วนปราสาทบายน และปราสาทภูเพ็กสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

ความแปลกของปราสาทหินพิมาย
1.ปราสาทหลังนี้หันหน้าเข้าหาทิศตะวันออกเฉียงใต้ ต่างจากปราสาทขอมโดยทั่วๆไปที่มักหันหน้าเข้าหาทิศตะวันออกแท้ หรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นักโบราณคดีอธิบายว่าเป็นการหันเข้าหาทิศที่เมืองหลวง “นครอังกอร์” ตั้งอยู่ เพราะมีการสร้างถนนเชื่อมระหว่างกัน




2.เมื่อตัวปราสาทหันหน้าแบบแปลกๆเช่นนี้ ทำให้ผู้ออกแบบจำเป็นต้องหาทางสร้าง “ท่อโสมสูตร” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทประธาน ให้หันเข้าหาทิศเหนือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะตามสูตรปราสาทขอมทั่วไปท่อโสมสูตรจะทำมุมฉากกับตัวผนังและชี้เข้าหาทิศเหนือ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดูและพุทธมหายานที่ว่า “ทิศเหนือ” เป็นที่ตั้งของเขาพระสุเมร ถิ่นพำนักของเทพเจ้า อนึ่งท่อโสมสูตรทำหน้าที่รองรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากการประกอบพิธีสำคัญโดยพราหมณ์และเจ้านายชั้นสูง








3.ทุกๆปีในวันที่ 14 พฤศจิกายน และ 29 มกราคม ดวงอาทิตย์จะตกตรงกับช่องประตูของปราสาทประธาน ได้ข้อมูลเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่ของอุทยานประวัติศาสตร์พิมายโดยท่านได้เอารูปถ่ายให้ดู ว่าดวงอาทิตย์ตกที่ช่องประตูปราสาทตรงกับวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ.2537 เมื่อเห็นเช่นนั้นทราบทันทีว่าต้องมีอีกหนึ่งวันที่ดวงอาทิตย์จะกลับมาซ้ำที่เดิมในรอบปี จึงใช้โปรแกรมดาราศาสตร์คำนวณและได้วันที่เคร่าๆว่าจะอยู่ระหว่าง 27 -29 มกราคม ได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่ประจำอยู่ที่ปราสาทหินพิมายทราบเพื่อคอยถ่ายรูป ปรากฏว่าได้ภาพที่ตรงตำแหน่งในวันที่ 29 มกราคม 2548









.jpg)


.jpg)
.jpg)
เมื่อได้ข้อมูลเชิงประจักษ์เช่นนี้ก็ฟันธงได้ทันทีว่า ทุกๆปีดวงอาทิตย์จะกลับมาที่เดิมสมควรทำปฏิทินส่งเสริมการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามผมได้คำนวณกำหนดวันดวงอาทิตย์ขึ้นด้านทิศตะวันออกของตัวปราสาท น่าจะอยู่ระหว่างวันที่ 23 – 25 กรกฏาคม และ วันที่ 20 – 22 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ที่นั่นได้พยายามเฝ้าดูแต่เผอิญเป็นฤดูฝนจึงมองดวงอาทิตย์ไม่เห็น ประกอบกับมีสิ่งปลูกสร้างจำนวนมากบดบังทัศนียภาพ ทำให้ยังไม่ได้ภาพเชิงประจักษ์
คำถามปริศนา
เราๆท่านๆที่อ่านเรื่องนี้คงอยากถามว่า “สามเหลี่ยมพุทธมหายาน” ดังกล่าวมีความหมายอะไรหรือไม่ หรือเป็นเพียงความบังเอิญเท่านั้น ผมดูข้อมูลแล้วก็น่าคิดครับเพราะทั้งสามแห่งเกี่ยวข้องกับพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เหมือนกันหมด โดยปราสาทหินพิมายสร้างก่อนเพื่อนในสมัยพระเจ้าสุริยะวรมันที่ 1 ซึ่งพระองค์นับถือศาสนาพุทธมหายาน และต่อมาได้รับการต่อเติมในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และพระองค์ก็สร้างปราสาทบายนในเมืองนครธม และสร้างปราสาทภูเพ็กที่เมืองหนองหารหลวงหลังสุดแต่ก็ไม่แล้วเสร็จเพราะสิ้นพระชนม์เสียก่อน คิดไปคิดมาก็นึกถึงเลขสาม แก้วสามดวงของศาสนาพุทธ “พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์” นัยว่าพุทธศาสนิกชนต้องไปให้ครบทั้งสามที่ ? เพื่อเป็นมงคลแก่ตนเอง ผมไม่ได้ให้ท่านเชื่อแต่จุดประเด็นเพื่อช่วยกันตีโจทย์ ท่านใดคิดได้ก็ขอความกรุณาแจ้งด้วยนะครับที่ sansonthi@gmail.com จะเป็นพระคุณอย่างสูง

การคำนวณหาความยาวเส้นรอบวงโลกโดยใช้ปราสาททั้งสองแห่ง ภูเพ็ก และบายน
เนื่องจากปราสาทภูเพ็ก จังหวัดสกลนคร ประเทศไทย และปราสาทบายน จังหวัดเสียมราช ประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่บนเส้นแวงใกล้เคียงกันมากที่ E 103.93 และ E103.85 จึงสามารถใช้เงาของดวงอาทิตย์คำนวณหามุมตกกระทบ ณ เที่ยงสุริยะ ของทั้งสองแห่ง แล้วเข้าสูตร “อีราโตสทีเนส” (นักคณิตศาสตร์ชาวกรีก เมื่อ 200 ปี ก่อนคริสตกาล) ท่านที่สนใจในวิธีการขอให้เข้าชมรายละเอียดในบทความของเว้ปไซ้ด์ของผม



