ปราสาทขอมเมืองสกลเอาหินทรายเนื้อละเอียดมาจากแหล่งไหน?......พบคำตอบที่นี่

เป็นคำถามที่อยู่ในใจของชาวสกลนครตลอดมาหลายปี......
ปราสาทขอมทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ปราสาทเชิงชุม ปราสาทดุม และปราสาทนารายณ์เจงเวง รวมทั้งพระพุทธรูปหินทรายและฐานโยนี ที่บ้านท่าวัด ต.เหล่าปอแดง อำเภอเมืองสกลนคร ริมหนองหาร เอาวัตถุดิบ “หินทรายเนื้อละเอียด” จำนวนมากมาจากไหน เอามาอย่างไร
ทีมงาน “พยัคฆ์ภูเพ็ก” นำโดย อจ.วรวิทย์ ตงศิริ หรือรู้จักในวงการลึกลับศาสตร์ว่า “ฤาษี เอก อมตะ” และนักพิภพวิทยาสรรค์สนธิ บุณโยทยาน เจ้าของสมยานาม “อินเดียน่า โจนส์” แห่งสกลนคร พร้อมด้วยคุณจุ้ย ศิลปินแห่งวงดนตรีวาดอักษร จะนำทุกท่านสู่ภูผาผึ้ง ที่อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ที่นี่เป็นแหล่งหินทรายคุณภาพดีขนาดมหึมา จากข่าวกรองที่ฤาษี เอกอมตะได้รับทราบมาจากสายข่าวส่วนตัว กระซิบมาว่าที่ภูผาผึ้งแห่งนี้น่าจะเป็น “แหล่งตัดหิน” ของบรรพชนชาวขอมเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว ทีมงานฯจึงรีบรุดไปยังสถานที่แห่งนั้นทันที




ขึ้นไปถึงยอดภูผาผึ้งจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300 กว่าเมตร โดยถนนดินลูกรัง มีสำนักสงฆ์ตั้งอยู่และมีหลวงพ่อจำวัดอยู่รูปหนึ่ง ฤาษีเอก อมตะ ปรี่เข้าไปนมัสการด้วยความนอบน้อม และรีบนิมนต์ให้หลวงพ่อนำทีมงานไปยัง “แหล่งตัดหิน” ซึ่งอยู่บริเวณเชิงภูเขาต้องขับรถย้อนกลับลงไปทางเดิมถึงจุดที่มีป้ายเขียนว่า “พุทธปฏิมากรรมหินตัด” แสดงว่าแหล่งตัดหินแห่งนี้ถูกค้นพบมานานแล้ว แต่ไม่มีข้อมูลว่าเอาหินไปทำอะไร ที่ไหน และอย่างไร
พอจอดรถได้หลวงพ่อรีบเดินนำหน้าไปทันที ถือว่าทีมงานโชคดีเพราะ “มากับพระ” ทันทีที่เข้าไปถึงแหล่ง หลวงพ่อท่านชี้ให้ดูก้อนหินสี่เหลี่ยมวางทิ้งระเกะระกะทั่วไป ท่านใช้คำพูดว่า “บ่อึ้ด” ภาษาอีสานแปลว่า “เยอะแยะ” จากภาพที่เห็นมีทั้งก้อนหินทรายสี่เหลี่ยมที่ตัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ปะปนกับที่ตัดได้ครึ่งเดียว และที่ตัดได้บางส่วน รวมทั้งบางก้อนยังแค่ถากลงไปนิดเดียว หรือขีดเส้นเอาไว้เฉยๆ เป็นที่น่าสังว่าเกตหินเหล่านี้ “ยังไม่มีการเจาะรู” เหมือนกับหินที่สร้างตัวปราสาท ทีมงานฯเคยตั้งขอสัญนิฐานไว้ว่า “รู” ที่หินทรายน่าจะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายไปยังไซด์งานก่อสร้าง




.jpg)




.jpg)



ทำไมต้องเลือกแหล่งตัดหินที่นั่น
ชาวขอมมีประสบการณ์อย่างโชกโชนเกี่ยวกับการเลือกแหล่งหินทราย และวิธีการลำเลียงไปยังไซด์งานก่อสร้าง เพราะพวกเขาคุ้ยเคยกับการสร้างปราสาทจำนวนมากที่ “นครอังกอร์” (Angkor City) ปัจจุบันคือเมือง “เสียมราช” ประเทศกัมพูชา ที่นั่นแหล่งตัดหินอยู่บริเวณเชิงเขา “พนมกูเลน” หินทรายที่ตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมจำนวนมหาศาล ถูกลำเลียงโดยแพล่องไปตามลำน้ำจนถึงสถานที่ก่อสร้าง เนื่องจากไซด์งานอยู่ใกล้กับลำน้ำจึงช่วยให้การขนย้ายขึ้นบกและชักลากต่อด้วยช้างไม่ยากนัก กลับมาที่เมืองสกลนคร (หนองหารหลวง) พวกเขาเลือกทำเลการตั้งเมืองและค้นหาแหล่งหินทราย ในสไตล์เดียวกันเปี๊ยบเลย ภาษาแฟนหมัดมวยเรียกว่า “ชกตามสไตล์ถนัด” ภูผาผึ้งก็เหมือนพนมกูเลน ลำน้ำพุงก็เหมือนลำน้ำพนมกูเลน ส่วนไม้สำหรับต่อแพเยอะแยะครับจะเอาเท่าไหร่ก็ได้ ช้างก็ฝึกมาแบบเดียวกัน ทุกอย่างจึงลงตัวราวกับพิมพ์เขียวที่เขียนไว้ล่วงหน้า















ทำไม “ไม่เอา” หินจากแหล่งเชิงเขาภูพานซึ่งใกล้กว่าภูผาผึ้ง
คำตอบก็คือเชิงเขาภูพานใกล้กว่าก็จริงแต่ไม่มีลำน้ำไหลผ่านในขนาดที่เหมาะต่อการล่องแพ ส่วนที่ภูผาผึ้งแม้จะอยู่ไกลออกไปสักหน่อยก็ไม่เป็นปัญหาเพราะมี “ลำน้ำพุง” ไหลผ่าน สะดวกต่อการล่องแพอย่างยิ่ง ประกอบกับระยะทางขนาดนี้ก็พอๆกับ “พนมกูเลน” ไป “นครอังกอร์” ภาษาวัยรุ่นในปัจจุบันพวกเขาคงจะบอกว่า “ชิวๆ” โว้ย ระยะทางแค่นี้จิ๊บจ้อย อนึ่งการลำเลียงหินขนาดใหญ่โดยการชักลากหรือพาหนะทางบกเป็นระยะทางไกลๆในยุคนั้นมีความยากลำบากมาก แต่การลำเลียงโดยวิธีล่องแพทางน้ำมีความง่ายกว่าเยอะ อีกทั้งบรรพชนเหล่านั้นมีประสบการณ์จากการลำเลียงหินทางลำน้ำมานานแล้ว










.jpeg)
.jpeg)
.jpeg)
ลำน้ำพุง

.jpg)

Update หลักฐานที่พบเพิ่มเติม 23 พฤษภาคม 2566 ...... ท่าเรือโบราณเพื่อลำเลียงหิน
สรรค์สนธิ บุณโยทยาน นักพิภพวิทยา บ่าวคำเลาะ (อจ.วรวิทย์ ตงศิริ) และนักข่าวสามร้อยหกสิบห้าวัน เราทั้งสามมุ่งหน้าไปที่บริเวณแหล่งตัดหิน ภูผาผึ้ง อำเภอเต่างอย เพื่อเก็บหลักฐานเพิ่มเติม สิ่งที่พบมีความน่าสนใจ ดังนี้
ท่าเรือเพื่อการลำเลียงหิน .......... พบท่อนไม้เนื้อแข็งจำนวนมากที่ชาวบ้านเอาขึ้นมาจากลำน้ำพุง (เป็นท่อนไม้ที่จมอยู่ใต้น้ำ) เชื่อว่าเป็นอาคารท่าเรือขนาดใหญ่ในยุคขอมเรืองอำนาจเพราะไม้แต่ละแท่งมีความยาวมากกว่า 10 เมตร มีร่องรอยการเชื่อมต่อเสาไม้ด้วยวิธีวิศวกรรมโบราณ เช่น การเจาะช่องเพื่อสอดใส่ไม้อีกท่อน
คำถาม ...... ไม้เหล่านี้ทำไม "ไม่ย่อยสลาย" เมื่อกาลเวลาผ่านไปพันปี ?
คำตอบ ...... ไม้เนื้อแข็งที่จมอยู่ใต้น้ำมีสภาพขาดอากาศ (anaerobic condition) ทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถย่อยสลายได้ดังเช่นสภาพปกติที่มีอากาศ ประกอบกับเป็นไม้เนื้อแข็งจึงคงสภาพได้นานนับพันปี
สิ่งที่น่าจะพิสูจน์เชิงวิทยาศาสตร์
น่าจะใช้เทคโนโลยีปัจจุบัน เช่น carbon 14 ตรวจสอบอายุของไม้เหล่านี้เพื่อยืนยันเรื่องราวว่าอยู่ในยุคพันปีที่แล้วหรือไม่
ไม้เนื้อแข็งที่ชาวบ้านเอาขึ้นมาจากลำน้ำพุง เป็นหลักฐานการก่อสร้างท่าเรือ
มีร่องรอยการใช้เทคนิคช่างโบราณในการเชื่อมต่อไม้ เช่น การเจาะช่องเพื่อเสียบไม้อีกท่อน
ไม้อายุพันปีเหล่านี้ถูกรักษาให้คงสภาพด้วยหลักวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า anaerobic condition
เพราะจมอยู่ใต้น้ำ
เอกสารเชิงวิทยาศาสตร์อธิบาย ..... ทำไมไม้ที่จมอยู่ใต้น้ำจึงคงสภาพได้นานนับพันปี
เพราะในสภาพขาดอากาศทำให้การย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ช้าลงมาก เช่น มีการพบชิ้นส่วนไม้
จมอยู่ใต้น้ำสภาพไม่เปลี่ยนแปลงมากนักอายุ 5,000 ปี ที่ประเทศอียิปส์
บริเวณแหล่งตัดหินและสถานที่เก็บไม้โบราณอยู่ใกล้ลำน้ำพุง
ปราสาทที่ใช้หินทรายผสมกับศิลาแลงมีหรือไม่
มีซิครับ.....ปราสาทนารายณ์เจงเวง ตั้งอยู่บ้านธาตุ นอกตัวเมืองสกลนครเล็กน้อย ใช้ศิลาแลงเป็นฐานราก เนื่องจากบริเวณรอบๆหนองหารมีวัสดุชนิดนี้มากมายฝังตัวอยู่ใต้ดินตื้นๆ ภาษาวิชาการทางธรณีวิทยาเรียกว่าดินชุดโพนพิสัย ขุดลงไปนิดเดียวเจอ “หินแม่รัง” หรือศิลาแลง ตอนที่ผมยังรับราชการในตำแหน่งเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสกลนคร มีโครงการส่งเสริมปลูกยางพารา เกษตรกรจำนวนมากต้องการทำสวนยางแถวๆอำเภอโพนนาแก้ว และอำเภอกุสุมาลย์ ผมต้องไปเบรกไว้เพราะเป็นดินชุดโพนพิสัย ปลูกยางพาราไม่ได้เนื่องจากมีหินแม่รังอยู่ตื้น ต้นยางจะชงักในปีที่สาม ปัจจุบันมีผู้ขุดศิลาแลงมาขายสำหรับก่อกำแพงบ้าน หรือประดับข้างฝาบ้านให้ดู “เก๋าส์” ในที่นี้ปราสาทนารายณ์เจงเวงใช้ศิลาแลงเป็นฐาน เนื่องจากต้นทุนการจัดหาต่ำมีความแข็งแกร่งรับน้ำหนักได้ดี และไม่มีการแกะสลักลวดลายอะไร ส่วนตัวปราสาทใช้วัสดุหินทรายเนื้อละเอียดเพราะต้องแกะสลักลวดลายต่างๆมากมาย ตั้งแต่ซุ้มประตูยันยอดปราสาท (ดูรายละเอียดในบทปราสาทนารายณ์เจงเวง) อนึ่งภาษาอังกฤษเรียกศิลาแลงว่า Laterite มีส่วนผสมของแร่เหล็กสูงจึงออกเป็นสีสนิมแดงๆ ส่วนหินทรายศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกว่า Sand stone เป็นหินที่เกิดจากการทับถมของตะกอนน้ำในยุค “เมโสโซอิก” (Mesozoic) ซึ่งเป็นยุคแห่งสัตว์เลื้อยคลานขนาดยักษ์รู้จักกันดีในชื่อว่า “ไดโนเสาร์”
.jpg)
ปราสาทหลังอื่นๆที่ไม่ได้ใช้หินทรายมีหรือไม่
มีครับ…..ปราสาทที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากแหล่งหินทราย และไม่สะดวกต่อการลำเลียงเพราะไม่มีลำน้ำเข้าถึง ได้แก่ “ปราสาทบ้านพันนา” เป็นอโรคยาศาล หรือโรงพยาบาล สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พระองค์สร้างอโรคยาศาลทั้งสิ้น 102 แห่ง ทั่วราชอาณาจักรอังกอร์เพื่อรักษาโรคให้กับประชาชน จากศิลาจารึกทราบว่าพระองค์มี นโยบายรักษาพยาบาลฟรี กินก็ฟรี ไม่ต้องมีบัตรทอง แสดงว่าแนวคิดนี้มีมาก่อนนโยบายของรัฐบาลไทยปัจจุบันเกือบพันปี ปราสาทหลังนี้ใช้วัสดุ “ศิลาแลง” ทั้งหมด เพราะไม่มีแหล่งหินทรายในบริเวณนั้น ผมกะว่าจะลงเรื่องปราสาทบ้านพันนาอย่างละเอียดในโอกาสต่อไปเพราะเตรียมข้อมูลไว้พร้อมแล้ว
.jpg)
ทำไมจึงมีหินที่ตัดเสร็จแล้ว และตัดเพียงบางส่วนถูกทิ้งเหลืออยู่ในแหล่งดังกล่าวมากมาย
ใช่แล้วครับ……ในยุคสมัยนั้นมีการแบ่งทีมงานก่อสร้างปราสาทออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ คือ ทีมตัดหิน ทีมลำเลียง และทีมก่อสร้าง เนื่องจากไม่มีระบบสื่อสารแบบเราๆท่านๆในปัจจุบัน อย่างเก่งก็ใช้ม้าเร็วไปส่งข่าว พวกตัดหินจึงต้องทำงานไปเรื่อยๆพอถึงจุดหนึ่ง ม้าเร็วมาบอกว่า “พอแล้ว….สู” จึงมีหินเหลือทิ้งระเกะระกะอยู่ที่เชิงภูเขาจำนวนมาก ถ้าพวกเขามี “มือถือ” ละก้อ คงไม่ต้องลงแรงแบบเสียเปล่าขนาดนี้ ผมเชื่อว่าพวกทีม ตัดหินคงด่าทอพวกทีมก่อสร้างไปหลายคำเพราะปล่อยให้เหนื่อยฟรี จากวัตถุพยานที่พบปรากฏว่ามีหินที่ตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมเรียบร้อยแล้วจำนวนมาก บริเวณตีนเขาทางลงลำน้ำแต่ก็ต้องถูกทิ้งอยู่ที่นั่น ผมนึกภาพออกว่าพวกเขาคงหมดอารมณ์และอยากจะเข็กหัว ไอ้พวกเดียวกันที่มาส่งข่าว ผมกล้ายืนยันว่าหินเหล่านั้นคือส่วนที่เหลือเพราะยังไม่มีการ "เจาะรู" เป็นหินก้อนสี่เหลี่ยมเรียบๆ แสดงว่ายังไม่มีการชักลาก



สรุป
จากเรื่องราวที่เล่ามายืดยาวก็คงจะทำให้ท่านผู้สนใจได้มองภาพออกว่าบรรพชนชาวขอมเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว พวกเขามีความมุมานะขนาดไหน ผลงานแต่ละชิ้นมีแต่ระดับบิ๊กๆเรียกว่า “เล็กๆไม่.....ใหญ่ๆทำ” ผมยอมรับว่าบริษัทผู้รับเหมาปัจจุบันสู้ไม่ได้ เคยท้าทายกันโดยตั้งงบประมาณให้สิบล้าน....สร้างปราสาทขนาดเท่า "นารายณ์เจงเวง" แต่ให้ใช้เครื่องมือโบราณเท่านั้น ห้ามใช้เครื่องจักรกล ใช้แรงช้าง แรงม้า และแรงมนุษย์ ผู้รับเหมาระดับบิ๊กเหล่านั้นต่างส่ายหน้ายอมรับว่าหมดปัญญา………..เห็นไม้ครับ คำกล่าวว่า “พวกเราในปัจจุบัน ฤา จะเทียบชั้นกับวันวาน” เห็นจะเป็นจริงแน่แท้
.jpg)