หม้อหุงข้าวพลังแสงอาทิตย์......นวัตกรรมติดดิน
เมื่อปี 2524 ผมทำงานอยู่ที่เขื่อนน้ำอูน มีความสนใจเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นผลจากการที่ไปอบรมด้านการพัฒนาชุมชนที่ประเทศอิสราเอลเมื่อปี 2521-2522 ได้เห็นประชาชนที่นั่นใช้อุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์อย่างกว้างขวางแทบทุกหลังคาเรือน จึงได้ทดลองประดิษฐ์หม้อหุงข้าวพลังแสงอาทิตย์ (Solar Cooker) โดยใช้วัสดุที่หาได้ในอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร เพื่อหุงข้าวหอมมะลิ 105 กินเป็นประจำวันอย่างสนุกสนานกับเทคโนโลยีง่ายๆ

หลักการของหม้อหุงข้าวพลังแสงอาทิตย์
1.แสงแดดเป็นพลังงานแบบคลื่นสั้น (Short wave) มีพลังงานแฝงมาในตัว เมื่อตกกระทบวัตถุที่อยู่ภายในกล่องซึ่งมีฝาปิดเป็นกระจกใส 2 ชั้น จะเปลี่ยนเป็นคลื่นยาว (Long wave) ทำให้วัตถุนั้นๆเกิดความร้อน
2.พลังงานความร้อนที่เป็นคลื่นยาว ไม่สามารถผ่านกระจกออกไปภายนอกจึงทำให้เกิดความร้อนสะสมอยู่ภายในกล่อง เรียกว่า "ปฏิกริยาเรือนกระจก"
3.กล่องดังกล่าวมีฉนวนทำด้วยโฟมหุ้มอย่างดี ความร้อนจึงสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทำให้ข้าวหอมมะลิที่แช่น้ำ (ในปริมาณที่เหมาะสม) บรรจุอยู่ในกล่องโลหะทาสีดำ (ใช้กล่องข้าวนักเรียน) ดูดความร้อนและน้ำร้อนเข้าไปในตัวทำให้ข้าวสุก และน้ำก็แห้งพอดี ใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง เรียกว่าหุงเช้ากินเที่ยง หุงเที่ยงกินเย็น และเหลือเก็บไว้เช้ากินต่อได้โดยอุ่นด้วยแสงแดดตอน 7 โมงกว่าๆ


เมื่อปี 2524 ตอนนั้นอยู่ในช่วงโครงการพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน บริเวณโครงการชลประทานน้ำอูน ที่บ้านพักของผมมีสมาชิก 3 คน ล้วนแต่อยู่ในวัย 25-30 กว่าๆ ได้แก่ คุณณัฐวุฒิ ภาษยะวรรณ (ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ อดีตผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีชีวภาพ) คุณอุดม คำชา (ปัจจุบันเป็น ดร.อุดม คำชา ผอ.ศูนย์วิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร) และผมเอง สรรค์สนธิ บุณโยทยาน (ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ อดีตเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสกลนคร) ทั้งสามช่วยกับประดิษฐ์หม้อหุงข้าวพลังแสงอาทิตย์ โดยผมเป็นคนออกแบบและให้อีกสองคนช่วยกับประกอบ ส่วนเรื่องของกระจกไปจ้างช่างที่อำเภอพังโคนเข้ากรอบให้ เพื่อนๆหลายคนที่รู้ต่างพากันหัวเราะอย่างเย้ยหยันในความคิดอันนี้ แต่ในที่สุดก็ต้องยอมรับความจริงว่า "วิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น" สมัยนั้นยังไม่มีศัพท์คำว่า "นวัตกรรม" จึงใช้คำว่า "เทคโนโลยีที่เหมาะสม" แปลมาจากภาษาอังกฤษ Appropriated Technology

การประกอบอาหารด้วยพลังแสงอาทิตย์กลายเป็น "หมัดเด็ด" ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่ประเทศชิลี ทวีปอเมริกาใต้ โดยมีภัตตาคาร ชื่อ Solar Villaseca ดึงดูดลูกค้าด้วยอาหารจากพลังแสงอาทิตย์







ผลงานของนักเรียนชั้นประถม
ถ่ายทอดความรู้เรื่องนี้ให้นักเรียนชั้นประถม 5 โรงเรียนอนุบาลสกลนคร เพื่อทำสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ ชื่อโครงการ The Magic Box ไปประกวดในงานมหกรรมศิลปะหัตถกรรม ปี 2552 ที่จังหวัดอุบลราชธานี และได้รับรางวัลเหรียญทอง ทำให้เด็กๆดีใจอย่างมาก


ผลงานพลังแสงอาทิตย์ในรูปแบบอื่นๆ
นอกจากหม้อหุงข้าวพลังแสงอาทิตย์แล้ว ยังมีน้ำร้อนพลังแสงอาทิตย์ไว้ที่บ้าน




.jpg)







ที่บ้านก็ใช้เครื่องอบแห้งพลังแสงอาทิตย์ (ปี 2525)


สรุป
มาถึงวันนี้ผมย้ายบ้านมาอยู่ในตัวเมืองสกลนครเป็นบ้านจัดสรรจึงไม่สะดวกที่จะติดตั้งอุปกรณ์น้ำร้อนพลังแสงอาทิตย์ เพราะยากต่อการดัดแปลงตัวบ้าน ขณะเดียวกับภรรยาก็บอกให้เลิกหุงข้าวด้วยพลังแสงอาทิตย์เช่นกันเพราะกลัวคนเขาหาว่าเราขี้เหนียวขนาดนั้นเชียวรึ แต่ก็ยังเก็บภาพถ่ายและข้อมูลทุกอย่างเอาไว้ถ้ามีโอกาสก็จะงัดเทคโนโลยีเหล่านี้ขึ้นมาอีก อย่างไรก็ตามมีความเห็นว่าถ้าร้านอาหารใดสามารถใช้เทคโนโลยีแสงอาทิตย์ในการปรุงอาหาร และการตากแห้งอาหาร เพื่อเป็นเสน่ห์ในการท่องเที่ยวก็น่าจะเป็น Gimmick อย่างหนึ่ง เช่น กาแฟที่ท่านกำลังดื่มมาจากน้ำเดือดพลังแสงอาทิตย์ อาจตั้งชื่อให้โก๋หรูว่า "Coffee from the Sun God" หรือกาแฟจากสุริยะเทพ