ถอดรหัสขอมพันปี.....80 องศา พบ "ราศีเมษ"
ทำไมโบราณสถานยุคขอมพันปีจำนวนหนึ่งในจังหวัดสกลนคร ต้องถูก
ออกแบบให้หันหน้าไปที่มุมกวาดจากทิศเหนือ 80 องศา
จากการตรวจสอบสถานที่ 4 แห่ง ของจังหวัดสกลนครซึ่งก่อสร้างในยุคขอมเรืองอำนาจราวๆ 900 – 1000 ปี ที่แล้ว พบว่าเนินดินลึกลับบนภูเขาภูเพ็ก พระธาตุเชิงชุม บาราย และตัวเมืองโบราณสกลนคร หันหน้าไปที่มุมกวาดจากทิศเหนือ 80 องศา (Azimuth 80 degree) วิธีตรวจสอบใช้อุปกรณ์ไฮเทคได้แก่ เครื่องมือวัดมุมที่ชื่อว่า “ จีพีเอส” (Global Positioning System :GPS) และภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth
การเรียกตำแหน่งทางภูมิศาสตร์
ก่อนอื่นใคร่ขอทำความเข้าใจของการใช้ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ เราๆท่านๆคงคุ้นเคยกับคำว่า “ทิศเหนือ” มาตั้งแต่เรียนลูกเสือหรือเนตรนารีสมัยเป็นเด็กๆ ทิศเหนือที่ว่านี้จริงๆแล้วมี 2 อัน คือ
1. ทิศเหนือภูมิศาสตร์เป็นทิศเหนือที่ใช้ขั้วโลกเหนือเป็นตัวชี้ (Geographic North) นักดาราศาสตร์ใช้คำว่า “ทิศเหนือแท้” (True North) มีค่าตำแหน่งเท่ากับมุมกวาด 0 องศา (Azimuth zero degree)
2. ทิศเหนือตามเข็มทิศแม่เหล็ก (Magnetic North) ถูกกำกับโดย พลังแม่เหล็กโลก ซึ่งไม่ตรงกับทิศเหนือแท้ทีเดียวนักแต่พอจะอนุโลมได้ การใช้เข็มทิศแม่เหล็กในแต่ละสถานที่ต้องเอาค่า “เบี่ยงเบน” ของสถานที่นั้นๆเข้าไปชดเชยด้วยการ + หรือ – ด้วยตัวเลขอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ที่ปราสาทภูเพ็กจังหวัดสกลนคร อยู่ที่เส้นรุ่ง 17-11-31 องศาเหนือ เส้นแวง 103-56-14 องศาตะวันออก มีค่าเบี่ยงเบนของเข็มทิศแม่เหล็กนิดหน่อยประมาณ 0.88 องศา ดังนั้นทิศเหนือแท้ ณ ปราสาทภูเพ็กก็อยู่ที่ +0.88 องศา ของทิศเหนือเข็มทิศแม่เหล็ก หรืออนุโลมโดยการบวก 1 องศา



แผนภูมิคำอธิบาย “มุมกวาดจากทิศเหนือ” ซึ่งใช้ในวิชาที่เกี่ยวกับการกำหนดตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ เช่น วิชาดาราศาสตร์ วิชาวิศวกรรมโยธา เป็นต้น

การเปรียบเทียบระหว่าง “ทิศเหนือภูมิศาสตร์” (Geographic North) ซึ่งชี้ที่ขั้วโลกเหนือ กับ “ทิศเหนือเข็มทิศแม่เหล็ก” (Magnetic North) ที่ถูกกำกับโดยพลังของแม่เหล็กโลก
ราศีเมษ กับ วสันตวิษุวัต
วิชาโหราศาสตร์เกิดขึ้นตามหลังวิชาดาราศาสตร์ บรรพชนครั้งนั้นใช้ดวงอาทิตย์ และ และกลุ่มดาวฤกษ์เป็นตัวกำหนด 12 ราศี โดยดวงอาทิตย์โคจรผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ของแต่ละราศีใช้เวลา 1 เดือน และกำหนดให้ “ราศีเมษ” เป็นจุดเริ่มต้นซึ่งภาษาวิชาการทางโหราศาสตร์ใช้คำว่า “First Point of Aries”
.jpg)
ช่วงเวลาเมื่อ 2220 BC - 60 BC (2220 - 60 ปี ก่อนคริสตกาล) กลุ่มดาวฤกษ์ที่ชื่อ “แกะทองคำ” (Aries) ถูกกำหนดให้เป็นจุดเริ่มต้นของปี หรือเริ่มต้นวันปีใหม่ และตรงกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ “วสันตวิษุวัต” กลางวันเท่ากับกลางคืน และเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ
นักดาราศาสตร์เรียกช่วงเวลา 2220 BC - 60 BC นี้ว่า "ปีแห่งราศีเมษ" (Age of Aries)

อาณาจักขอมใช้ปฏิทิน “มหาศักราช” ซึ่งรับมาจากอินเดีย ปฏิทินฉบับนี้กำหนดให้เดือนแรกของปี ชื่อว่าเดือน “ใจตระ” ตรงกับ “ราศีเมษ” ปฏิทินมหาศักราชมีที่มาจากยุคของชาวอารยันเมื่อ 2,500 ปีที่แล้ว ในครั้งนั้นราศีเมษตรงกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ “วสันตวิษุวัต” กลางวันเท่ากับกลางคืนและเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ

เนื่องจากการแกว่งของแกนโลก ทำให้ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ “วสันตวิษุวัต” กับ “ราศีเมษ” เปลี่ยนไปเป็น “ราศีมีน” ท่านโหราจารย์ในยุคขอมเรืองอำนาจเมื่อพันปีที่แล้ว จึงต้องเลือกเอาระหว่าง “วสันตวิษุวัต” หรือ “ราศีเมษ”

ทุกๆ 2,160 ปี ปรากฏการณ์ “วสันตวิษุวัต” จะเปลี่ยนตำแหน่งจากราศีหนึ่งไปอีกราศีหนึ่ง ในช่วงของยุคขอมเรืองอำนาจ ระหว่าง ค.ศ.800 – 1300 หรือ พ.ศ. 1343 – 1843 วสันตวิษุวัตได้เคลื่อนเข้าไปที่ “ราศีมีน” แต่วิชาโหราศาสตร์ในปัจจุบันยังยึดจุดเดิม คือเริ่มต้นปีใหม่ที่ราศีเมษ
เนินดินลึกลับในป่าภูเพ็ก
เป็นที่ร่ำลือกันหลายปีว่าในป่าด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทภูเพ็ก มีเนินดินลึกลับ 7 ลูก เรียงตัวเป็นเส้นตรง ซึ่งพิจารณาแล้วไม่ใช่สิ่งที่เกิดโดยธรรมชาติเพราะมีการจัดวางในเชิงเราขาคณิต และทิ้งระยะห่างค่อนข้างสม่ำเสมอ ถ้าเป็นจอมปลวกก็น่าที่จะกระจัดกระจายแบบไร้ทิศทาง

ภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth แสดงที่ตั้งของเนินดินลึกลับ ประมาณ 1,000 เมตร ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทภูเพ็ก ปัจจุบันเนินดินเหล่านี้ยังมองเห็นสภาพชัดเจน

ทีมงาน “พยัคฆ์ภูเพ็ก” นำโดยอาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ หรืออีกนัยหนึ่ง “ฤษีเอก อมตะ” ผู้มีความรู้ทั้งวิชาวิทยาศาสตร์และลึกลับศาสตร์ กำลังใช้เครื่องมือ GPS สำรวจตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของเนินดินลึกลับ 7 ลูก บนภูเขาภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

ผลการสำรวจพบว่าเนินดินลึกลับทั้ง 7 ลูก เรียงตัวเป็นเส้นตรงและชี้ไปที่มุมกวาดจากทิศเหนือ 80 องศา แสดงว่าผู้สร้างต้องมีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง และไม่ใช่การก่อสร้างแบบเดาสุ่ม
เมื่อใช้โปรมแกรมคอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์ The Starry Night สร้างภาพย้อนหลังไปที่ราวๆ วันที่ 13 – 15 เมษายน พ.ศ.1743 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักขอม พบว่าเนินดินเหล่านี้ชี้ไปที่ “ราศีเมษ” (Aries) ซึ่งเป็นเดือนแรกของปฏิทินมหาศักราช

ข้อมูล GPS แสดงตำแหน่งของเนินดินลึกลับทั้ง 7 ลูก เมื่อเอาค่าพิกัดเหล่านี้ใส่ลงในโปรแกรมภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth จะปรากฏภาพดังรูป

ทีมงาน”พยัคฆ์ภูเพ็ก” เดินสำรวจเนินดินทั้ง 7 ลูกอย่างละเอียดเมื่อเดือนมีนาคม 2511 แต่ไม่มีใครกล้าขุดเจาะเพราะเคยมีเรื่องเกิดขึ้นกับชาวบ้านที่มาขุดหาสมบัติแล้วต้องกลายเป็นคนเสียสติพูดจาไม่รู้เรื่อง ทีมงานเราจึงได้แต่เก็บข้อมูลภายนอก

ภาพถ่ายเนินดินลึกลับในฤดูแล้ง

ภาพเนินดินลึกลับถ่ายในช่วงฤดูฝน มองเห็นรูปร่างเป็นเนินสูงขึ้นมาจากพื้นดินอย่างชัดเจน
ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า “การเคลื่อนที่ถดถอยของราศีในวันวสันตวิษุวัต” (Precession of vernal equinox) มีสาเหตุมาจากการแกว่งของแกนโลก ที่เปลี่ยนมุมเอียงอย่างช้าๆระหว่าง 21 – 24 องศา ในรอบเกือบ 26,000 ปี
ปราสาทขอมหันหน้าเข้าหา “วสันตวิษุวัต” และ “ราศีเมษ” ในยุคสมัยเดียวกัน
เป็นที่ทราบดีในหมู่นักโบราณคดีและผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ของอาณาจักรขอมว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีโครงการก่อสร้างมากมายนัยร้อยๆแห่งทั้งในเมืองหลวงนครอังกอร์ และหัวเมืองต่างๆที่ปัจจุบันเป็นประเทศไทยและเวียดนาม กษัตริย์ของพระองค์นี้นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานและมีความศัทธาต่อศาสนาอย่างมากจึงได้ก่อสร้างปราสาทหลายแห่ง เช่น ปราสาทบายน ปราสาทนาคพัน ปราสาทพระขัณฑ์ ปราสาทตาพรม ปราสาทบันเตยกะได และอโรคยาศาลอีก 102 แห่ง
แต่เนื่องจากปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ได้อธิบายข้างต้นว่า “แกนโลกแกว่ง” ทำให้ตำแหน่งดวงอาทิตย์ใน “ราศีเมษ” และ “วสันตวิษุวัต” กลายเป็นคนละองศา พราหมห์ผู้ออกแบบก่อสร้างปราสาทจึงออกอาการรักพี่เสียดายน้อง จึงแบ่งให้บางปราสาทหันหน้าเข้าหาตำแหน่งดวงอาทิตย์ที่ราศีเมษและส่วนที่เหลือหันหน้าเข้าหาตำแหน่งวสัตวิษุวัต เช่น ปราสาทบันเตยกะไดหันหน้าเข้าหา “ราศรีเมษ” ทำมุมกวาด 85 องศา ส่วนปราสาทบายนหันหน้าเข้าหา “วสันตวิษุวัต” ทำมุมกวาด 90 องศา
ปราสาทบันเตยกะได (Banteay Kdei) ศิลปะบายนสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ถูกออกแบบให้หันหน้าเข้าหา “ราศีเมษ” ด้วยมุมกวาด 85 องศา (Azimuth 85 degree)

ปราสาทบายน (Bayon) แม่แบบศิลปะของปราสาทในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ถูกออกแบบให้หันหน้าเข้าหาตำแหน่งดวงอาทิตย์ในวัน “วสันตวิษุวัต” ทำมุมกวาด 90 องศา (Azimuth 90 degree)
วิหารฮินดูในประเทศอินเดียซึ่งเป็นต้นแบบของปราสาทขอม ก็มีการออกแบบให้หันหน้าเข้าหา "ราศีเมษ" เช่นวิหาร Meenakshi Sundareshwarar และ Arumilgu Swaminatha
ขณะเดียวกันวิหารฮินดูชื่อ Jalakanteshwar ก็หันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ในตำแหน่ง “วสัตวิษุวัต”

ตัวเมืองสกลนครโบราณ บาราย(สระพังทอง) และปราสาท(พระธาตุ)เชิงชุม ล้วนหันหน้าเข้าหา “ราศีเมษ”
จริงๆแล้วเรายังไม่รู้ว่าปราสาทหลังนี้มีชื่อดั่งเดิมในภาษาขอมว่าอะไร และเป็นที่น่าสังเกตว่าปราสาทขอมส่วนใหญ่ในประเทศไทยถูกตั้งชื่อโดยคนท้องถิ่นในยุคปัจจุบันซึ่งอิงจากตำนานหรือนิทาน ไกลหน่อยก็ย้อนไปถึงยุคอาณาจักรล้านช้าง ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้สร้างมิได้สลักชื่อปราสาทเอาไว้เป็นหลักฐาน จากข้อมูลของกรมศิลปากรกำหนดอายุของ “ปราสาทเชิงชุม” ราวๆพุทธศตวรรษที่ 16-17 ซึ่งเป็นยุคก่อนรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เป็นร้อยปี ปัจจุบันก็ยังไม่มีผู้ใดฟันธงว่าปราสาทหลังนี้สร้างในยุคกษัตริย์ขอมพระองค์ไหน อย่างไรก็ตามจากศิลาจารึกภาษาขอมที่สลักอยู่ข้างขอบประตูทิศตะวันออกทำให้มองเห็นว่า ปราสาทหลังนี้สร้างให้หันหน้าเข้าหาตำแหน่งดวงอาทิตย์ใน “ราศีเมษ” เพราะมีคำว่า “แด่สงกรานต์” นั่นหมายถึงปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ “ราศีเมษ” เมื่อจับมุมกวาดของตัวปราสาทด้วยภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า ตัวปราสาทเชิงชุม บาราย (สระพังทอง) และตัวเมืองสกลนคร ที่อ้างตามตำนานว่าว่าชื่อ “หนองหารหลวง” สิ่งก่อสร้างทั้งหมดนี้ทำมุมกวาด 80 องศา เหมือนกัน

จารึกภาษาขอมที่ระบุเรื่องราวของการดูแลปราสาทหลังนี้ และหนึ่งในข้อความระบุถึงคำว่า “สงกรานต์” หมายถึงดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ
เปิดเข้าไปข้างในห้องของปราสาทเชิงชุมมีพระพุทธรูปหลายองค์ หนึ่งในนั้นเป็นพระพุทธรูปศิลปะขอม และศิลปะล้านช้าง

ภาพจินตนาการพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่กระทำต่อหน้าดวงอาทิตย์ในราศีเมษ โดยใช้โปรแกรมดาราศาสตร์ The Starry Night สร้างภาพย้อนหลังไปราวพันปี

ภาพถ่ายดาวเทียม Google Earth ชี้ให้เห็นการหันหน้าของปราสาทเชิงชุม ที่มุมกวาด 80 องศา
พระธาตุเชิงชุมซึ่งสร้างในสมัยอาณาจักรล้านช้างคร่อมปราสาทขอมที่มีอยู่แต่เดิมในยุคขอมเรืองอำนาจ พระธาตุทำมุมกวาดตามแปลนปราสาทขอมองค์เดิม ที่ Azimuth 80 องศา

ทำนองเดียวกันตัวเมืองสกลนครก็ทำมุมกวาด 80 องศา เช่นกันเพื่อให้ตรงกับดวงอาทิตย์ในราศีเมษ

ปราสาทขอมอื่นๆในประเทศไทยที่หันหน้าเข้าหา “ราศีเมษ”

ปราสาทเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น

ปราสาทพนมรุ้ง หันหน้าที่มุมกวาดจากทิศเหนือ 84.5 องศา

ปราสาทตาเมือนธม หันหน้าไปทางทิศใต้ที่มุมกวาด 170 องศา (azimuth 170) แต่ด้านข้างก็ยังทำมุมกวาด 82 องศา

สรุป
ปราสาทขอมที่ประเทศกัมพูชาส่วนใหญ่หันหน้าเข้าหา “วสันตวิษุวัต” มุมกวาด 90 องศา มีเพียงส่วนน้อยที่หันหน้าเข้าหา “ราศีเมษ” ได้แก่ Banteay Kdei และ Banteay Chamar ส่วนปราสาทขอมในประเทศไทยมีจำนวนมากที่หันหน้าเช้าหา “ราศีเมษ” เช่น ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ปราสาทพนมวัน จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น ปราสาทนางรำ จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทตาเมือนธม จังหวัดสุรินทร์ ปราสาดุม จังหวัดสกลนคร ขณะเดียวกันปราสาทขอมอีกจำนวนหนึ่งก็หันหน้าเข้าหา “วสันตวิษุวัต” เช่น ปราสาทนารายณ์เจงเวง ปราสาทภูเพ็ก จังหวัดสกลนคร ปราสาทสะด๊อกก๊อกทม จังหวัดสระแก้ว ปราสาทศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ อย่างไรก็ตามไม่ว่าปราสาทเหล่านั้นจะหันหน้าเข้าหา “ราศรีเมษ” หรือ “วสันตวิษุวัต” พวกเขาออกแบบและก่อสร้างอย่างมีความหมายในเชิงความเชื่อและศาสนาทั้งสิ้น