จับประเด็นร้อน
ภัยมืดรุกชาวสกล ........... จากสาหร่ายพิษในหนองหาร
ชาวเมืองสกลนครกำลังเผชิญกับภัยมืดที่กำลังคุกคามแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว นั่นคือสาหร่ายพิษ 2 ชนิด ที่กำลังเจริญเติบโตอย่างมากในพื้นที่หนองหารบ้านเรา พิษจากสาหร่ายดังกล่าวหากสะสมเป็นเวลานานอาจจะก่อให้เกิดมะเร็งตับ หรือภาวะตับล้มเหลว
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ศูนย์หนองหารศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่องราวของหนองหารในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่เรื่องประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อม การประมง ฯลฯ และหนึ่งในนั้นมีการพูดถึง "สาหร่ายพิษ" ในหนองหารโดยอาจารย์จากสาขาวิชาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้แก่ว่าที่ ดร.นพรัตน์ สิทธิวงศ์ ซึ่งกำลังจะจบปริญญาเอกด้านชีววิทยาที่เกี่ยวกับเรื่องสาหร่ายโดยตรง อาจารย์นพรัตน์ สิทธิวงศ์ กล่าวว่าได้ทำการสำรวจตัวอย่างน้ำในหนองหารและบริเวณข้างเคียงพบว่ามีแบคทีเรียลักษณะสีเขียวและสังเคราะห์แสงได้จึงเรียกว่า "สาหร่าย" มีสารพิษอยู่ในเซลของมัน ชื่อว่า ไมโครซีสตีน และไซลินโดรสเปอร์มอบซีน สารพิษทั้งสองชนิดนี้อันตรายมากเพราะกำจัดยาก มันสามารถทนความร้อน และคงความเป็นพิษอยู่ได้นานในสภาพแวดล้อมทั่วไป

อาจารย์นพรัตน์ สิทธิวงศ์ กำลังบรรยายให้เห็นรายละเอียดของสาหร่ายดังกล่าว
.jpg)
รูปร่างหน้าตาของเจ้าสาหร่าย ไมโครซีสตีส ที่พบในน้ำหนองหาร


เมื่อเดือนตุลาคม 2540 มีข่าวลงหนังสือพิมพ์ พาดหัวตัวยักษ์แต่ไม่นานก็เงียบหายไปตามธรรมชาติของสังคมไทยอย่างเราๆท่านๆ

บทเรียนจากสหรัฐอเมริกา......
เขื่อน "คลาแมท" ในรัฐโอเรก้อน มีปัญหาเรื่องสาหร่ายพิษ ดังพาดหัวว่า " แม่น้ำคลาแมท ถูกคุกคามด้วยสาหร่ายพิษ" และเนื้อข่าวอธิบายต่อว่า อาการโรคตับที่เกิดจากพิษของสาหร่ายแบ่งออกเป็นสองลักษณะ ลักษณะแรกเป็นเนื้องอก ลักษณะสองอาจลุกลามเป็นภาวะตับล้มเหลว หรือมะเร็ง หากได้รับพิษบ่อยๆเป็นเวลานานๆหลายปี
Klamath River Plagued by Toxic Algae
There are two aspects of chronic Microcystin damage to the liver—progressive active liver injury and the potential for promotion of tumor growth. Tumor formation has been induced in laboratory mice. Thus liver failure or cancer could result if someone is exposed often over the course of years


บทเรียนจากออสเตเรีย
เมื่อปี พ.ศ.2522 ประชากรจำนวน 138 คน ที่เกาะ Palm Island รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตเรีย ล้มป่วยอย่างกระทันหันด้วยอาการต่างๆนานา ได้แก่ ลำใส้อักเสบ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเป็นเลือด มีอาการคล้ายๆกับตับอักเสบ และใตล้มเหลว ทั้งหมดถูกนำส่งโรงพยาบาลและหลังจากได้รับการรักษาก็ดีขึ้นจนถึงขั้นกลับบ้านได้ใน 4 - 26 วัน อย่างไรก็ตามแม้ผู้ป่วยจะหายดีแล้วแพทย์ก็ยังไม่สามารถลงความเห็นว่า "อะไรเป็นต้นเหตุ" แต่ก็ตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่าอาจมาจากดื่มน้ำและกินอาหารไม่สะอาด แพทย์จึงเรียกโรคนี้ว่า "โรคลึกลับแห่งเกาะปามล์" ต่อมามีผู้สังเกตว่าโรคนี้เกิดขึ้นพร้อมๆกับการเกิดสาหร่ายจำนวนมาก (Algae bloom) ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนโซโลมอน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจึงพุ่งประเด็นไปที่สาหร่าย Cylindrospermopsis raciborskii ซึ่งต่อมาผลการวิจัยพบว่า ทางการท้องถิ่นได้ใช้สาร "จุลสีสตุ" (Copper sulphate) กำจัดสาหร่ายที่ขึ้นหนาแน่นในอ่างเก็บน้ำ ทำให้เซลสาหร่ายแตกและปล่อยสารพิษออกมาในน้ำ ชื่อว่า Toxin cylindrospermopsin


ย้อนกลับมาที่หนองหารบ้านเรา
มีผลงานวิจัยโดย ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ จากศูนย์จุลินทรีย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย เมื่อ ปี 2543 และ 2549 พบว่าน้ำในพื้นที่หนองหารมีสาหร่ายพิษ 2 ชนิด กำลังเจริญเติบโตอย่างมากเพราะมีปัจจัยเกื้อหนุน 3 ประการ คือ น้ำนิ่ง ธาตุฟอสเฟต ไนโตรเจน และแสงแดด สาหร่ายพิษนี้เป็นชนิดเดียวกับที่เกิดขึ้นในอ่างเก็บน้ำของหลายประเทศที่มีสภาพแวดล้อมคล้ายกัน


ทำความรู้จักกับสาหร่ายพิษ ชนิด Microcystis aeruginosa จริงๆแล้งเจ้าสาหร่ายนี่มันเป็น "แบททีเรีย" ชื่อว่า cyanobacteria มีคุณสมบัติส่วนหนึ่งเหมือนพืชสามารถสังเคราะห์แสงได้และมีสีเขียวอมน้ำเงิน (photosynthetic pigments) เลยถูกตั้งชื่อว่าสาหร่าย "Blue-green algae" ในแหล่งน้ำธรรมชาติมีสาหร่ายแบบนี้มากมายหลายชนิด มีทั้งชนิดกินได้ไม่มีพิษ และที่มีพิษอย่างเจ้า Microcistis aeruginosa เราๆท่านๆอาจจะเคยเห็นหนองน้ำมีสีเขียวเป็นผืนกว้างเพราะอุดมไปด้วยประชากรของเจ้าสาหร่ายเหล่านี้ ภาษาวิชาการตั้งชื่อปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า "Bloom" พูดก็พูดสิ่งมีชีวิตเล็กๆเหล่านี้มีความเป็นมาเก๋ากึ๊กย้อนหลังไป 3,500 ล้านปี ซากฟอสซิลของพวกมันจับตัวเป็นก้อนหินแข็งโป้กกระจายอยู่ทั่วโลก หลายท่านอาจตั้งคำถาม จะดูยังไงว่าสาหร่ายชนิดใหนมีพิษหรือไม่มีพิษ คำตอบคือ "ต้องทดสอบในห้องแลปเท่านั้นขอรับ" พิษของสาหร่ายชนิดนี้มีโทษแก่มนุษย์ 2 ประการ คือ
1. หากสัมผัสกับน้ำที่มีพิษของสาหร่าย จะทำให้เกิดอาการแพ้ คัน แสบ ระคายเคือง ถ้าเข้าตาทำให้ตาอักเสบ
2. หากปนเปื้อนเข้าไปในน้ำดื่มจะทำอันตรายต่อตับ ก่อให้เกิดเนื้องอก และตับล้มเหลว หรือเป็นมะเร็ง หากบริโภคเป็นเวลานานๆ ขณะเดียวกันปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำที่มีสาหร่ายนี้จะได้รับสารพิษสะสมในตับ เมื่อคนกินปลาเข้าไปก็จะได้รับพิษเช่นกัน
"ประเด็นร้อน" ได้พบกับอาจารย์นพรัตน์ สิทธิวงศ์ ว่าที่ด๊อกเตอร์สาขาชีววิทยา ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร อาจารย์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) กำหนดค่ามาตรฐานของสาหร่ายพิษไมโครซีสติน - แอลอาร์ ในแหล่งน้ำ ยอมให้มีปริมาณไม่เกิน 1.0 ไมโครกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ส่วนประเทศออสเตเรียกำหนดค่ามาตรฐานที่ ไม่เกิน 1.3 ไมโครกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชีววิทยาระดับโลกอย่าง Wayne W Carmichael ประจำคณะ Biological Sciences มหาวิทยาลัย Wright State รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา เสนอว่าค่ามาตรฐานไม่ควรเกิน 15,000 เซล/ซีซี อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น Prof. Yoshio Ueno ท่านผู้นี้มาไม่เหมือนใครฟันธงชนิดจัดหนักตบหน้าองค์การอนามัยโลก กำหนดค่ามาตรฐาน ไม่ควรเกิน 0.1 ไมโครกรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ต่างจากค่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกถึง 10 เท่าตัว อาจารย์นพรัตน์ สิทธิวงศ์ ยังบอกเพิ่มเติมอีกว่าตัวท่านเองสามารถตรวจสอบหาค่าสาหร่ายพิษในน้ำหนองหารได้ โดยใช้เครื่องมือแลปของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร แต่การตรวจหาสารพิษ "ไมโครซีสติน แอล-อาร์" ต้องส่งตัวอย่างน้ำไปที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "ประเด็นร้อน" ได้เสนอแนะว่าหากอาจารย์นพรัตน์ฯ จบด๊อกเตอร์อย่างเป็นทางการแล้ว น่าจะขอทุนวิจัยเพื่อค้นหาวิธีการกำจัดเจ้าสาหร่ายพิษไมโครซีสตีนด้วยวิธี "สาหร่ายพิฆาตสาหร่าย" ภาษาวิชาการเรียกว่า Biological control หากทำสำเร็จมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครดังทั่วโลกแน่นอน เพราะเจ้าสาหร่ายบ้านี้รุกรานเป็นตัวแสบไปเกือบทุกประเทศ และยังไม่มีใครจัดการมันได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว






ผู้ทำวิจัยสรุปว่า "หนองหารอยู่ในสภาพเสี่ยง" ต่อสารพิษจากสาหร่าย ดังนั้น "จับประเด็นร้อน" ขอเสนอว่าต้องเป็นหน้าที่ของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาต่อยอดงานวิจัยนี้อย่างเร่งด่วน เพื่อหามาตรการแก้ใข อย่าให้เข้าทาง "เห็นโลงศพแล้วค่อยหลั่งน้ำตา" เพราะงานนี้ไม่ใช่เรื่องตลก
นักเรียนโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูลร่วมทำวิจัยสาหร่ายพิษ
สโมสรโรตารี่สกลนครให้ทุนสนับสนุนนักเรียนมัธยมปลายโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูลทำวิจัยสาหร่ายพิษในหนองหารเพื่อนำเสนอในงานชุมนุมทางวิชาการวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ งานนี้จัดที่จังหวัดสกลนครและโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูลเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2556 ผมในฐานะที่สวมหมวกสองใบคือนายกสโมสรโรตารี่สกลนคร และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ได้ช่วยประสานงานกับคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เพื่อขอให้อาจารย์นพรัตน์ สิทธิวงศ์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสาหร่ายทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่ทีมงานนักเรียน
อาจารย์นพรันต์ สิทธิวงศ์ กำลังติวเข้มทีมงานนักเรียนก่อนที่จะนำเสนอผลงานวิจัยสาหร่ายพิษในหนองหาร ที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2556
บรรยากาศการนำเสนอผลงานวิจัย

วัตถุประสงค์การวิจัย "เพื่อศึกษาความหนาแน่นของสาหร่าย Microcystin" ในหนองหาร สกลนคร

ผลงานวิจัยพบว่าในน้ำหนองหารมีความหนาแน่นของประชากรสาหร่าย Microcystin ในอัตราที่แตกต่างกันระหว่างการเก็บตัวอย่างตามจุดต่างๆ

จากผลการวิจัยพบว่ามีเซลของสาหร่าย Microcystin ตั้งแต่ 19,223 - 170,800 เซลต่อน้ำ 1 ลิตร และที่น่าตกใจคือเจ้าสาหร่ายบ้านี่กระจุกตัวอยู่ที่หน้าท่อสูบน้ำเข้าโรงประปาของตัวเมืองสกลนคร ในจำนวนมากที่สุดของสถานที่เก็บตัวอย่าง 5 แห่ง (170,800 เซลต่อลิตร)

ถ่ายภาพร่วมกับนายกสโมสรโรตารี่สกลนครหลังจบการนำเสนอผลงานวิจัย
ทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่พอมีอยู่
อย่างไรก็ตาม "จับประเด็นร้อน" ได้พยายามค้นหาข้อมูลจากงานวิจัยในต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้รู้ว่าเขาเหล่านั้นมีวิธีแก้ปัญหา "สารพิษจากสาหร่าย" (Mycrocystin-LR) อย่างไร ได้พบว่าน้ำดื่มจากระบบประปาที่ผ่านเครื่องกรองที่มีสารคาร์บ้อนแอ๊กตีพ (Activated Carbon) สามารถลดพิษลงได้ถึง 80%
จริงๆแล้วเครื่องกรองน้ำดื่มที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ก็มีขายอยู่ทั่วไปในบ้านเรา เพียงแต่ผู้ใช้ต้องบำรุงรักษา หรือเปลี่ยนใส้กรองให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตลอดเวลา ดังข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยของภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ต้า ประเทศแคนาดา ท่านผู้อ่านที่สนใจศึกษาเพิ่มเติมสามารถเข้าไปที่ Google แล้วใช้ keyword ว่า "activated carbon microcystin" จะได้ข้อมูลชนิดจัดให้แบบเต็มๆเป็นภาษาอังกฤษ ดังตัวอย่างข้างล่างนี้
Adsorption of microcystin-LR by activated carbon and removal in full scale water treatment.
Environmental Health Program, Department of Public Health Sciences, Faculty of Medicine, University of Alberta, Edmonton, Alberta, Canada.
Conventional treatment processes combined with activated carbon generally removed more than 80% of microcystin from raw water
ดังนั้น สิ่งที่เราๆท่านๆช่วยตัวเองได้ตอนนี้ก็คือ หาเครื่องกรองน้ำดื่มที่มีสาร Activated Carbon มาใช้พลางๆก่อน อย่างน้อยก็ลดสารพิษลงได้ถึง 80% ยังไงก็ดีกว่าเสี่ยงตายผ่อนส่ง ทั้งๆที่รู้ว่ามีทางแก้ปัญหาที่เป็นวิทยาศาสตร์และพอหาซื้อกันได้ไม่ยากนัก อีกประการหนึ่งการประปาส่วนภูมิภาคที่สกลนครก็น่าจะ "ตรวจหาค่าสารพิษ" ดังกล่าวดูว่ามีหรือไม่ เพื่อจะได้หาทางแก้ใข หรือมีคำแนะนำประชาชนให้ทำอย่างไร เพราะเห็นโฆษณาว่า "ประปาดื่มได้"