จับประเด็นร้อน
กรมศิลปากรยิงประเด็น
เอกสารสิทธิ์ที่ดินของประชาชนทับเขตคูเมืองโบราณสกลนครสมัยขอมเรืองอำนาจ จะหาทางออกอย่างไร

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2554 หน่วยศิลปากรที่ 10 ร้อยเอ็ด สังกัดกรมศิลปากร ซึ่งรับผิดชอบภาระกิจด้านโบราณคดีของจังหวัดสกลนคร ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จัดเสวนาทางวิชาการเรื่อง "ขุมทรัพย์จากอดีต......สกลนคร และแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า" ในภาคแรก (ช่วงเช้า) เป็นการเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวประวัติพัฒนาทางวัฒนธรรมของมนุษย์จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในเขตจังหวัดสกลนคร ซึ่งมีความหลากหลาย และต่อเนื่อง อันเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ที่หาได้ยากยิ่ง ช่วงนี้เป็นการบรรยายโดยนางสาวพิมพ์นารา กิจโชติประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 ร้อยเอ็ด ในหัวข้อ มุมมองจากหลักฐานทางโบราณคดี และต่อด้วยการบรรยายหัวข้อ มุมมองด้านสิ่งแวดล้อมและศิลปกรรมท้องถิ่น โดยอาจารย์ประสิทธิ์ คะเลรัมภ์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ผู้บรรยายท่านสุดท้าย ดร.สุพัฒน์ ไพใหล ในหัวข้อมุมมองและประสบการณ์จากความทรงจำในอดีต
ภาคบ่ายยังเป็นการบรรยายเรื่อง แนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า โดย รศ.ประสงค์ เอี่ยมอนันต์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ในช่วงบ่ายแก่ๆ ได้เปิดอภิปรายโดยให้ผู้ฟังได้เสนอแนวคิดต่างๆ "ประเด็นร้อน" จับใจความสำคัญที่ผู้ถามส่วนใหญ่ชูประเด็นพุ่งเป้าไปที่ "ปัญหาการออกโฉนดทับซ้อนกับเขตคูเมืองโบราณ" จะแก้อย่างไร เพราะจะโทษว่าราษฏรบุกรุกโดยพละการก็ไม่ถูก เนื่องจากเอกสารสิทธิ์ที่ครอบครองได้มาอย่างถูกต้องโดยการออกของกรมที่ดิน ขณะเดียวกันส่วนราชการ เช่น แขวงการทางสกลนคร โรงเรียน สถานีประมง ถนนของเทศบาล ต่างก็ร่วมขบวนทับคูเมืองโบราณอย่างถ้วนหน้า วิทยากรจากกรมศิลปากรได้ให้คำตอบว่า เป็นหน้าที่ของกรมธนารักษ์จะต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดให้ถูกต้องตามกฏหมาย เพราะที่ดินส่วนนี้เป็นที่ราชพัสดุ แม้ว่าจะสิ้นสภาพมองไม่เห็นรูปร่างของคูเมืองก็ตามที
เกี่ยวกับเรื่องนี้ "จับประเด็นร้อน" ได้ค้นหาข้อมูลจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง คือ โยธาธิการจังหวัดสกลนคร และธนารักษ์จังหวัดสกลนคร เพื่อให้รู้ว่าปัญหาการทับซ้อนนี้มีลักษณะอย่างไร ก็พบความจริงดังนี้
1.กรมธนารักษ์ ได้ทำการสำรวจรังวัดและจัดทำแผนที่ระวาง มาตราส่วน 1 ต่อ 4000 เมื่อปี พ.ศ. 2546 แสดงการทับซ้อนระหว่างเอกสารสิทธิ์ของราษฏร และสาธารณะสมบัติของส่วนราชการ กับเขตคูเมืองโบราณไว้อย่างละเอียดแล้ว ตามข้อมูลนี้พบว่า กำแพงเมืองและคูเมืองมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 655 ไร่ 3 งาน 51 ตารางวา ในจำนวนนี้ถูกครอบครองโดยส่วนราชการและออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทับซ้อน 392 ไร่ 00 งาน 62.1 ตารางวา
2.ในส่วนของการทับซ้อนโดยเอกสารสิทธิ์ของราษฏร ยังไม่ได้มีมาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรมออกมา เพียงแต่มีเสียงพูดว่า "ทับซ้อน" ประเด็นนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ส่วนราชการเองก็ครอบครองที่เหล่านั้นด้วยความชอบธรรม และราษฏรก็ได้รับเอกสารสิทธิ์จากกรมที่ดินด้วยความบริสุทธิ์ใจ จะให้ราษฏรทำอย่างไรเพราะต่างก็ซื้อขายหรือตกทอดกันมานานแล้ว อย่างไรก็ตามในส่วนของที่ดินคูเมืองโบราณที่ยังว่างเปล่าอยู่ ก็ได้มีมาตรการห้ามออกเอกสารสิทธิ์และห้ามครอบครอง
.jpg)
แสดงเขตคูเมืองโบราณที่มีการครอบครองโดยราชการและเอกสารสิทธิ์ของประชาชน 
ภาพนี้เป็นการเปรียบเทียบสภาพปัจจุบันของกำแพงและคูเมืองโบราณสกลนคร (เมืองหนองหารหลวง) เมืองโบราณหนองหาร อุดรธานี (เมืองหนองหารน้อย) กับเมืองโบราณสุโขทัยและเมืองโบราณเชียงใหม่



แผนที่แสดงถึงเขตกำแพงและคูเมืองโบราณที่ถูกครอบครองโดยส่วนราชการและออกเอกสารสิทธิ์ทับซ้อน สีแดงเป็นการครอบครองโดยส่วนราชการ สีเขียวเป็นการทับซ้อนโดยเอกสารสิทธิ์ที่ดินของเอกชน

เมืองโบราณของชาวแอสเทค (Aztec) ในกรุงเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก ก็ประสบปัญหาเดียวกันกับเมืองโบราณยุคขอมเรืองอำนาจที่สกลนคร ปีรามิดขนาดใหญ่ของชาวแอสเทคถูกรื้อทิ้งเอาหินไปสร้างอย่างอื่น

ทางการของเมืองเม็กซิโกซีตี้จึงต้องสร้างโมเดลขึ้นมาใหม่เพื่อให้เห็นบรรยากาศเมื่อพันปีที่แล้วของอดีตอันเรืองรองอารยธรรมแอสเทค

รูปร่างหน้าตาของโมเดลเมืองโบราณยุคแอสเทค ในเม็กซิโกซิตี้

ภาพถ่าย Google Earth ยืนยันว่าสภาพคูเมืองโบราณหายไปหมดสิ้นแล้ว หากจะขุดสำรวจและฟื้นฟูก็เหลือที่ว่างพอทำได้นิดหน่อยตรงหัวมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ แต่ตรงนั้นก็เป็นที่ดินของเอกชนมีเอกสารสิทธิ์

แผนผังของกรมธนารักษ์แสดงการทับซ้อนของเอกสารสิทธิ์บนคูเมือง (สีเขียวเป็นเอกสารสิทธิ์ของเอกชน สีส้มเป็นถนนสาธารณะ) บริเวณหัวมุมทิศตะวันออกเฉียงใต้พอมีที่ว่างซึ่งเอกชนครอบครอง หากมีการขอความร่วมมือให้กรมศิลปากรขุดสำรวจและฟื้นฟูพอให้มองเห็นเป็นคูเมืองโบราณก็น่าจะดี
.jpg)
บริเวณที่ยังมองเห็นสภาพ "คูเมือง" อย่างชัดเจนมีเพียงแห่งเดียวคือด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันมีเอกสารสิทธิ์ของประชาชน
.jpg)
สภาพคูเมืองเป็นร่องน้ำขนาดใหญ่
ข้อเสนอแนะ
มาถึง ณ พ.ศ.นี้คงไม่มีหนทางรื้อฟื้นสภาพคูเมืองเพราะได้ถูกปรับเปลี่ยนไปหมดสิ้น หลายแห่งถูกครอบครองโดยเอกชนที่มีเอกสารสิทธิ์ อีกหลายแห่งกลายเป็นสถานที่ราชการและถนนสาธารณะ ส่วนที่ยังว่างเปล่าก็จมอยู่ใต้น้ำ หากจะขุดสำรวจและฟื้นฟูยังพอมีที่อยู่นิดหน่อยตรงหัวมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เป็นบริเวณว่างเปล่า (ร่องน้ำขนาดใหญ่) ไม่มีสิ่งก่อสร้างแต่มีเอกสารสิทธิ์ของเอกชน จึงมีข้อเสนอแนะ กล่าวคือ
1.ขอความร่วมมือจากเอกชนที่ครอบครองให้กรมศิลปากรขุดสำรวจและฟื้นฟูเฉพาะส่วนให้เห็นว่า "นี่คือคูเมืองโบราณ" และทำป้าย cutout ขนาดใหญ่เป็นเสน่ห์แก่การท่องเที่ยว รับรองว่าบรรดาสาวก Facebook ต้องมาถ่ายรูป Selfie อย่างกันตรึม
2.หากไม่สามารถทำได้ตามข้อที่ 1 ก็ต้องสร้างโมเดลจำลองที่พิพิธภัณฑ์ภูพานโดยทำเป็น outdoor or indoor exhibition ดังตัวอย่างเมืองโบราณของชาวแอสเทคที่เม็กซิโกซิตี้

ตัวอย่างการทำ Outdoor Exhibition เมืองสกลโบราณ เปรียบเทียบกับโมเดลของเมืองโบราณชาวแอสเทค ประเทศเม็กซิโก (Aztec City Mexico)
3.ปรับภูมิทัศน์บริเวณ "ทิศตะวันออก" ของทางเข้าวัดพระธาตุเชิงชุมให้ประชาชนได้ทราบว่าจริงๆแล้วตรงนี้คือ "หน้าวัด"
ตั้งแต่ก่อสร้างเมืองโบราณในยุคขอมเรืองอำนาจราวพุทธศตวรรษที่ 15 ส่งผ่านมายังอาณาจักรล้านช้างพุทธศตวรรษที่ 18 จวบจนถึง พ.ศ.2444 หน้าวัดพระธาตุเชิงชุมอยู่ทางทิศตะวันออกตามแบบฉบับของผังเมืองโบราณ
บันทึกการสำรวจเมืองสกลนครโดยนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสชื่อ Etienne Aymonier ตีพิมพ์ในหนังสือ Khmer Heritage in Thailand 1901 กล่าวว่าเมืองสกลนครมีประชากรเพียง 300 หลังคาเรือน แต่หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้ผังเมืองสกลนครเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจน "หน้าวัด" กลายเป็น "หลังวัด" ปัจจุบันไทสกลเกือบร้อยทั้งร้อยคล้อยตามว่าทิศตะวันตกคือ"หน้าวัด" และยังไม่มีการพูดถึงความผิดปกติของเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ

เปรียบเทียบภูมิทัศน์ระหว่าง "หน้าวัด" พระธาตุเชิงชุมกับภูมิทัศน์ "หลังวัด"
บริเวณ "หน้าวัด" ด้านทิศตะวันออกของพระธาตุเชิงชุม "ถูกละเลย" จนทำให้ภูมิทัศน์เป็นอย่างที่เห็น
.jpg)
บริเวณด้านทิศตะวันตกของพระธาตุเชิงชุมซึ่งเป็น "หลังวัด" ถูกประดับประดาอย่างสวยงามจนทำให้ผู้คนคล้อยตามว่านี่คือ "หน้าวัด"
.jpg)
พิจารณาภาพถ่ายทางอากาศเมื่อ พ.ศ.2497 จะเห็นชัดเจนว่าตัวเมืองโบราณสกลนครมีลักษณะเป็น "เมืองขอม" เหมือนกับ "นครธม" หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
.jpg)
ภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ.2497 ทำให้เห็นว่าความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมเริ่มขยายตัวบริเวณทิศตะวันตกซึ่งเป็น "หลังวัด"

ภาพถ่ายทางอากาศในปัจจุบันทำให้เห็นว่า "หน้าวัด" กลายเป็น "หลังวัด" อย่างสิ้นเชิง
.jpg)
อย่างไรก็ตาม "หลวงพ่อองค์แสน" ท่านยังคงหันหน้าไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็น "หน้าวัด"
.jpg)
แม้ว่าเศรษฐกิจและสังคมจะเปลี่ยนไปแต่สุริยะเทพท่านยังคงปรากฏกายยามรุ่งอรุณที่ "หน้าวัด" อย่างสม่ำเสมอ

เปรียบเทียบ sunrise V/S sunset ที่วัดพระธาตุเชิงชุม
อย่างไรก็ตามในความเห็นส่วนตัวผมไม่กล้าที่จะครอบครองสถานที่เหล่านี้เพราะอาจต้องคำสาปภาษาขอมโบราณ "เอะ เวีย มะลูด ละบ้อ เคิง คะยุ่ม ออย เวีย เงื้อบ" แปลเป็นภาษาไทยว่า "ผู้ใดเอาของข้าไป ผู้นั้นจะพบกับความวิบัติ" เหมือนคำสาปที่สุสานฟาร์โรตุตันคาเมนกล่าวว่า "ผู้ใดล่วงล้ำสถานที่แห่งนี้ หายนะจะโบยบินไปหา" ซึ่งปรากฏว่านายทุนผู้ที่ออกเงินให้นักโบราณคดีไปขุดค้นสุสานเสียชีวิตภายหลังการเปิดสุสานโดยแพทย์ไม่พบสาเหตุว่าเป็นอะไร