ปัญหาน้ำท่วม "ตัวเมืองสกล" บทเรียนที่น่าจะถึงเวลาสรุปเสียที
พี่น้องชาวสกลนครที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเมืองมักขวัญผวาเมื่อได้ยินเสียงฟ้าร้อง นั่นหมายถึงความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมอย่างฉับพลันหลังฝนตกหนักเพียงไม่กี่ชั่วโมง นักธุรกิจทุกท่านโอดครวญเป็นเสียงเดียวกันว่า......น้ำท่วมร้านค้าเพียง "นาทีเดียว" ข้าวของเสียหายนับแสน นับล้านบาท ถ้าเก็บของหนีน้ำไม่ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งของประเภทเสียแล้วต้องทิ้งลูกเดียว อาธิ เครื่องเขียน เสื้อผ้า ปูนซีเมนต์ อาหารแห้ง ฯลฯ
ขณะเดียวกันก็มีคำถามเกิดขึ้นอย่างกังขาว่า น้ำในหนองหารยังไม่ล้น แต่ทำไมตัวเมืองท่วมแล้ว....... คอลั่มจับประเด็นร้อนจะขอร่วมวิเคราะห์เรื่องนี้อีกเสียงนึง



ย้อนอดีตไปเมื่อครั้งการก่อตั้ง "นครหนองหารหลวง" ในยุคขอมเรืองอำนาจ เจ้านายผู้รับผิดชอบการสร้างเมืองได้เลือกสถานที่โดยใช้สเป็กเดียวกันกับการตั้งราชธานี "นครอังกอร์" หรือปัจจุบันรู้จักในชื่อ "เมืองเสียมราช" ภูมิประเทศที่เข้าตาท่านแม่ทัพขอมน่าจะมีข้อมูล ดังนี้
1. อยู่ใกล้แหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่เหมือนทะเลสาปที่เมืองอังกอร์ ในที่นี้ได้แก่หนองหาร จะได้หาอยู่หากินอย่างอุดมสมบูรณ์ เข้าตำรากองทัพต้องเดินด้วยท้อง
2. มีระบบป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองในฤดูฝน ขณะเดียวกันก็ต้องมีระบบเก็บกักน้ำไว้สำรองในฤดูแล้ง
ตามสเป็กดังกล่าวท่านพญาขอมฟันธงเลือกทำเลที่เป็นเขตเทศบาลในปัจจุบัน มีแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ทางด้านทิศตะวันตกปัจจุบันชื่อว่า "หนองสนม" ทำหน้าที่เป็น "แก้มลิงยักษ์" คอยดักเก็บน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขาขณะเดียวกันก็เป็นน้ำต้นทุนสำหรับทำการเกษตรกรรมและอุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง ก่อสร้างปราสาทประธาน (ชื่อปัจจุบันพระธาตุเชิงชุม) คู่กับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เรียกว่า "บาราย" (สระพังทอง) เปรียบเสมือนทะเลศักดิ์สิทธิ์ สร้างกำแพงสองชั้นมีคูน้ำอยู่ตรงกลางเป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนาด 1.7 คูณ 1.8 กิโลเมตร ป้องกันน้ำไหลเข้าตัวเมืองโดยบังคับให้ bypass ลงหนองหารด้วยลำห้วยธรรมชาติ และเป็นกำแพงป้องกันศัตรูในยามศึกสงคราม หากเราๆท่านๆนั่งไทม์มะชีนย้อนเวลาไปถึงสมัยนั้นคงได้เห็นภาพลำคลองธรรมชาติหลายสายรอบนอกกำแพงเมือง ครั้นฝนตกหนักน้ำจากเทือกเขาและที่ดอนจะไหลผ่านลำห้วยลงสู่หนองหารและระบายออกลำน้ำก่ำลงสู่แม่น้ำโขง ตัวเมืองจึงปลอดภัยจากน้ำท่วม


คูเมืองทำหน้าที่บังคับให้น้ำ bypass ลงหนองหารโดยไม่ผ่านเข้าตัวเมือง
เปรียบเทียบภาพถ่าย ปี พ.ศ.2489 กับภาพถ่ายปัจจุบัน เห็นได้ชัดเจนว่า "ระบบอุทกวิทยา" เปลี่ยนไปมาก เช่น หนองสนมมีขนาดเล็กลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ลำห้วยธรรมชาติหายไปเกือบหมด คูเมืองซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นแนวป้องกันน้ำ (Diversion Dikes) เพื่อบังคับให้น้ำไหลผ่าน (Bypass) ไปลงหนองหารก็หายไปแล้ว เมื่อน้ำไหลลงมาจากภูเขาและที่ดอนบริเวณศูนย์ราชการปัจจุบันตัวเมืองจึงต้องแบกภาระชนิดจัดเต็ม ถ้าเป็นภาษาหมัดมวยเรียกว่า "เจอฮุกซ้ายของเขาทรายแบบทะลุการ์ด"
สาเหตุของน้ำท่วมตัวเมืองสกลนคร
กาลเวลาผ่านไปอาณาจักรขอมโรยลาไปตามกฏแห่งสัจธรรมทิ้งไว้เพียงโบราณสถานให้ดูต่างหน้าราว พันปีที่แล้ว อาณาจักรน้องใหม่ "ล้านช้าง" เข้ามาแทนที่เปลี่ยนปราสาทประธานที่อยู่กลางเมืองเป็น "พระธาตุเชิงชุม" แต่ก็โรยลาไปเช่นกันในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว ครั้นหันมามองเรื่องทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ลำห้วย" ที่เคยมีอยู่มากมายก็หดหายไปในช่วง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา
จากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศเมื่อ ปี 2497 ยังเห็นลำห้วยบริเวณหน้าแขวงการทางสกลนครอย่างชัดเจน แต่พอดูภาพถ่ายดาวเทียมกูเกิ้ล พ.ศ. 2550 ลำห้วยดังกล่าวหายไปแล้ว และลำห้วยใกล้ๆกันที่เคยไหลลอดใต้สะพานขอมซึ่งมีช่อง 11 ช่อง ก็หายไปเช่นกัน สะพานขอมเลยกลายเป็นอนุเสาวรีย์หินศิลาแลงตั้งตากแดดตากลมอยู่หน้าห้างโลตัส อ่างเก็บน้ำธรรมชาติ "หนองสนม" เคยทำหน้าที่ "แก้มลิงยักษ์" หดเหลือเพียง "แก้มลิงแคระ" นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างเท่านั้น !

แม้ว่าเราๆท่านๆจะไม่เคยเรียนวิชาวิศวกรรมชลประทาน ก็สามารถใช้สามัญสำนึกว่า "ถ้าน้ำไม่มีที่ไป....มันต้องท่วมลูกเดียว" มองในแง่มุมภูมิศาสตร์ตัวเมืองสกลนครตั้งอยู่ในทางไหลของน้ำที่มาจาก "ภูพาน" บวกกับ "ที่ดอน" ไปลงหนองหาร ถ้าเส้นทางดังกล่าวอุดตันหรือไม่คล่องตัวขณะที่ฝนตกหนัก ท่านจะให้น้ำเหล่านั้นหนีไปทางไหน ?
ตั้งแต่ พ.ศ.2500 เป็นต้นมาตัวเมืองสกลนครเริ่มถูกพัฒนาด้วยการก่อสร้างถนนขวางลำห้วย ถมหนองน้ำ ถมลำห้วย สร้างอาคารสารพัดประเภท โดยลืมนึกถึงทางเดินของน้ำที่มีอยู่แต่เดิม ขอใช้ความรู้คณิตศาสตร์ระดับมัธยมคำนวณให้ดูกันจะจะแบบภาษานักเลงเรียกว่า "หงายไพ่เล่น" ดังนี้
1. พื้นที่รับน้ำฝนบริเวณที่ดอนด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองมีประมาณ 100 ตารางกิโลเมตร หรือ 62,500 ไร่ (1 ตารางกิโลเมตร = 625 ไร่) ถ้ามีฝนตกลงมาเพียง 1 มม. จะได้น้ำ 100,000 ลบ.ม. (คำนวณจาก 62,500 ไร่ x 1,600 ตร.ม. x 1 มม.) ถ้าตก 50 มม. ก็เท่ากับ 5 ล้าน ลบ.ม. และเอาแบบสุดๆที่ 100 มม. จะได้น้ำ 10 ล้าน ลบ.ม. คิดที่ 80% ของน้ำจำนวน 10 ล้าน ลบ.ม. = 8 ล้าน ลบ.ม. ไหลลงมาใส่ตัวเมืองสกลภายใน 1-2 วัน อะไรจะเกิดขึ้น
2.ขณะเดียวกันตัวเมืองสกลนครมีพื้นที่ประมาณ 1,500 ไร่ ถ้าฝนตกลงมา 100 มม. จะได้น้ำ 240,000 ลบ.ม. (คำนวณจาก 1,500 ไร่ x 1,600 ตร.ม. x 100 มม. หารด้วย 1,000) ถ้าเอาน้ำในตัวเมืองบวกกับที่ไหลลงมาจากที่ดอน ขณะเดียวกันปากทางลงท่อระบายน้ำที่มีอยู่ตามข้างท้องถนนก็เต็มไปด้วยขยะจากครัวเรือน อาธิ ถุงพาสติก กระป๋อง เศษผัก ฯลฯ ปริมาณน้ำที่เทลงมาจากฟ้าอย่างต่อเนื่องแต่ถูกปิดกั้นอยู่ตามปากท่อระบายน้ำ อะไรจะเกิดขึ้นคงไม่ต้องอธิบายมาก ท่านน่าจะนึกภาพออก
.png)

ชาวเมืองสกลนครยังบุญที่เรามีอ่างเก็บน้ำชลประทานขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายแห่งในบริเวณเชิงเขาภูพาน ทำหน้าที่เป็นแก้มลิงด่านที่ 1 รับน้ำที่ลงมาจากภูเขา ประกอบกับป่าของอุทยานแห่งชาติภูพานยังมีสภาพสมบูรณ์ทำหน้าที่ซึมซับและชลอน้ำได้อย่างดี เมื่อเทียบกับภูเขาของจังหวัดอื่นๆที่ประสบกับปัญหาการบุกรุกทำลายจนแทบสิ้นสภาพ เราจึงไม่เห็นอุบัติภัยดินโคลนถล่มและน้ำป่าพัดบ้านเรือนพังชั่วข้ามคืนที่เมืองสกลนคร
.png)
อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในโครงการพระราชดำริจำนวนมากเรียงตัวที่เชิงเขาทำหน้าที่รองรับน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา เป็นแก้มลิงด่านที่ 1

ป่าในเขตอุทยานภูพานยังมีสภาพดีพอสมควรสามารถช่วยชลอน้ำได้ และมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง คือ อ่างห้วยเดียก

สภาพป่าไม้ต้นน้ำในหลายจังหวัดมีสภาพเสื่อมโทรมอย่างที่เห็น
แนวทางป้องกัน และแก้ไข
ตั้งโจทย์อยู่บนเงื่อนไข 3 ประการ คือ
1. ทะเลสาบหนองหารยังรับน้ำได้
2. ชลอความเร็วของน้ำบนภูเขาและดักเก็บน้ำตาม รายทาง
3.ไล่น้ำลงหนองหารให้เร็วที่สุด
มาถึงตอนนี้หลายท่านอาจค่อนข้างท้อแท้พูดว่าสายไปแล้ว แต่สำหรับ "จับประเด็นร้อน" เชื่อว่ายังมีทางที่จะบรรเทาปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองสกลโดยดำเนินการ
1. ปรับปรุงและดูแลรักษาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เรียงรายตามแนวเชิงภูเขาภูพานให้สามารถเก็บกักน้ำได้เต็มศักยภาพ

อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กโครงการพระราชดำริที่เชิงเขาภูพาน
2. ก่อสร้างฝายชลอน้ำขนาดเล็ก (small check dam) บนที่ลาดชันของภูเขาภูพานให้ช่วยดักและชลอความเร็วของน้ำและเพิ่มขีดความสามารถในการดูดซึมน้ำ

ฝายชลอน้ำขนาดเล็ก (Check Dam) ช่วยชลอความเร็วของน้ำและเพิ่มการดูดซึมลงไปในดิน
3. พัฒนาพื้นที่แก้มลิงด่านที่ 2 ในบริเวณชานเมืองซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ (wetlands) ให้สามารถเก็บน้ำได้จำนวนหนึ่ง (รายการนี้อาจจะต้องมีการจัดซื้อที่ดินจากราษฏร) หรือทำโครงการขุดสระเก็บน้ำในไร่นา (Farm Pond) โดยกรมพัฒนาที่ดิน ให้มากที่สุดเหมือนเตาขนมครกทำหน้าที่ดักเก็บน้ำ ..... ถ้าทำ "ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิดเสริมเข้าไปด้วยก็ยิ่งจะดีมากๆ"

บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำด้านทิศตะวันตกของตัวเมือง สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่แก้มลิงด่านที่สอง ด้วยสระน้ำในไร่นา (Farm Pond) + ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด


สระน้ำในไร่นา (Farm Pond) + ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด
4. ขุดลอกและปรับปรุงลำห้วยธรรมชาติให้มีสภาพคล่อง ยกตัวอย่าง "ห้วยทราย" ที่ไหลผ่านตลาดบ้านธาตุนาเวง กับลำห้วยต่างๆที่ไหลลอดถนนทางเข้าเมืองสกลนคร เพื่อให้น้ำลงหนองหารได้เร็ว

ลำห้วยทรายทางระบายน้ำสายหลักมาจากเทือกเขาภูพานไหลลงหนองหาร
5. พี่น้องชาวเมืองสกลก็ต้องดูแลการจัดการขยะจากครัวเรือนไม่ให้เป็นสิ่งอุดตันท่อระบายน้ำ ดังภาพที่เห็น
.png)
สรุป
หากดำเนินการครบถ้วนทั้ง 5 ประการแล้ว เชื่อว่าสถานะการณ์น้ำท่วมตัวเมืองสกลจะไม่รุนแรงเกินไป อย่างไรก็ตามถ้ามีฝนตกมากจนเกินกำลังที่ระบบระบายน้ำและหนองหารจะรับไหวก็จำเป็นต้องพึ่งระบบการเตือนภัยล่วงหน้าให้ราษฏรได้รู้ตัวเพื่อเตรียบรับมือตามขีดความสามารถของแต่ละคน จากประสบการณ์ของตัวเองกับระบบการเตือนภัยในรัฐโอคลาโฮม่า สหรัฐอเมริกา ซึ่งมักจะเกิดพายุทอร์นาโดเป็นประจำ เขาใช้วิธี 3 อย่าง คือ ออกอากาศทางทีวีท้องถิ่น และหอเตือนภัยด้วยสัญญาณไซเรน อีกทั้งส่งเสียงเตือนพร้อมกับข้อมูลผ่านโทรศัพท์ mobilephone ของทุกคน