ตลึง ! พบ “ฝายหินพันปี” กลางป่าภูเพ็ก
|
ผมสนใจศึกษาและค้นคว้าเรื่องราวของปราสาทภูเพ็กที่จังหวัดสกลนครอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 และพบว่าปราสาทหลังนี้นอกจากเป็นศาสนสถานแล้วยังมีลักษณะพิเศษ คือเป็น "สุริยะปฏิทิน" เหมือนกับโบราณสถานอีกหลายๆแห่งของโลก เช่น มหาปีรามิดที่อียิปส์ มาชูปิกชูที่เปรู ประตูแห่งสุริยะที่โบลิเวีย และปิรามิดกูกูลข่านที่เม็กซิโก
แต่สิ่งหนึ่งที่คิดอยู่ตลอดแต่ยังค้นไม่พบคือ "แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค" เพื่อรองรับการก่อสร้างขนาดใหญ่ หากไม่มีน้ำในปริมาณที่เพียงพอสำหรับคนงานและผู้เกี่ยวข้อง รับรองว่าปราสาทหลังนี้ไม่มีสิทธิจะเกิดเพราะแค่ยกกำลังคนสักหนึ่งกองร้อยเข้าไปเคลียส์พื้นที่ก็อดน้ำตายภายใน 2 วัน ดังนั้นการค้นพบฝายหินพันปีในครั้งนี้ทำให้ผมตอบโจทย์ได้คล่องตัวขึ้นเยอะ
ทีมงาน “พยัคฆ์ภูเพ็ก” ค้นพบฝายหินโบราณยุคเดียวกับปราสาท ภูเพ็ก ซ่อนตัวอยู่ในลำห้วยกลางป่าบนภูเขา “ภูเพ็ก” ที่พิกัด N 17 – 12 - 00.90 E 103 – 56 – 49.13 เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 250 เมตร ขึ้นกับเขตปกครองบ้านภูเพ็ก ต.นาหัวบ่อ อ.พรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ฝายแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค รองรับโครงการก่อสร้างตัวปราสาทภูเพ็กและชุมชนในบริเวณรอบๆ แต่การทิ้งงานอย่างกระทันหันด้วยเหตุผลทางการเมือง ทำให้ตัวฝายถูกกาลเวลาฝังกลบลงไปใต้ดินจนเกือบหมด อย่างไรก็ตามด้วยการหาข่าวอย่างเจาะลึกบวกกับสายตาอันเฉียบคมของทีมงานพยัคฆ์ภูเพ็ก ทำให้ฝายลึกลับแห่งนี้ปรากฏต่อสายตาของเราๆท่านๆอีกคำรบหนึ่ง
|
|
คำบอกเล่าของลุงสมเด็จฯผู้อวุโสแห่งบ้านภูเพ็ก...... ที่ลำธาร “วังกกไฮ” บนภูเขาภูเพ็ก มีกองหินสี่เหลี่ยมหล่นอยู่จำนวนหนึ่ง เห็นมาหลายปีแล้ว แต่ไม่ได้สนใจว่ามันคืออะไร
|
เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2554 ทีมงาน “พยัคฆ์ภูเพ็ก” นำโดยอาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ หรือ “ฤษีเอกอมตะ” พร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านภูเพ็กนายสุรพจน์ ศรีสมรส และนายสรรค์สนธิ บุณโยทยาน นักพิภพวิทยาที่ปรึกษาของทีมงาน รุดหน้าไปยังลำธาร "วังกกไฮ" กลางป่าภูเพ็กตามคำบอกเล่าของลุงสมเด็จฯ เมื่อไปถึงก็ได้เห็นก้อนหินทรายลักษณะสี่เหลี่ยมกองระเนระนาดอยู่ที่นั่นจริงๆ
|
|
แผนที่ Google Earth แสดงตำแหน่งที่ตั้งฝายหินในลำธาร “วังกกไฮ” บนภูเขาภูเพ็ก ซึ่งรับน้ำจากบริเวณสันปันน้ำของภูเขาและไหลไปลงยังอ่างเก็บน้ำด้านล่างติดกับหมู่บ้านภูเพ็ก
|
|
บ่ายแก่ๆวันที่ 26 มีนาคม 2554 ทีมงานเดินเข้าไปที่ลำธารวังกกไฮ ทางด้านทิศตะวันออกของถนนลาดยางทางขึ้นปราสาทภูเพ็กประมาณสี่ร้อยกว่าเมตร พบว่ากองหินดังกล่าวน่าจะเป็นสันฝายโดยมีฐานรากฝังอยู่ใต้ดิน จากการสังเกตภูมิประเทศพบว่าลำธารช่วงนี้มีความราบเรียบ เหมาะแก่การก่อสร้างฝายตามหลักวิศวกรรมชลประทาน
|
|
การวิเคราะห์เบื้องต้นพบว่ากองหินถูกวางในลักษณะขวางตัวลำธาร และบริเวณต้นน้ำ (up-stream) กับท้ายน้ำ (down-stream) มีความราบเรียบและค่อนข้างยาว ถูกสะเป็กของการก่อฝายน้ำล้นอย่างยิ่ง เพราะสามารถเก็บกักน้ำได้ปริมาณมาก และตัวฝายก็ไม่ต้องรับภาระแรงดันของน้ำมากนัก
|
วันที่ 6 เมษายน 2544 ทีมงานพยัคฆ์ภูเพ็ก ได้ฤกษ์เข้าไปขุดสำรวจโดยมีอาสาสมัครจากวัยรุ่นในหมู่บ้านภูเพ็ก ภายใต้การอำนวยการของ อาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ หรือฤษีเอกอมตะ ทำหน้าที่จุดธูปขอขมาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำถิ่น เพื่อให้การขุดสำรวจเป็นไปด้วยดี ช่วงนั้นผมอยู่ที่อเมริกาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ก็ต้องสื่อสารกันทาง facebook
|
|
|
ขุดไปได้พักใหญ่ก็พบว่ามันเป็นฝายหินสำหรับทดน้ำจริงๆ เพราะมีการวางฐานรากอย่างเป็นระเบียบกั้นตัวลำธารและลึกลงไปใต้ดิน ทุกคนคาดไม่ถึงว่าจะพบโครงการชลประทานโบราณอายุร่วมพันปีซ่อนตัวอยู่บนภูเขาแห่งนี้
|

|
จากหลักฐานที่เห็นอย่างเชิงประจักษ์ ทำให้ทุกคนแน่ใจว่านี่คือฝายหินเพื่อการอุปโภค-บริโภค สำหรับรองรับการก่อสร้างปราสาทภูเพ็กและปราสาทลูกรวมทั้งชุมชนรอบๆบริเวณ อนึ่งทีมงานไม่ได้เคลื่อนย้ายก้อนหินแม้แต่ชิ้นเดียวของเดิมวางอยู่ลักษณะไหนก็ปล่อยให้อยู่เหมือนเดิมเพราะทราบดีว่านี่คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์
|
|
หินทรายก้อนสี่เหลี่ยมถูกจัดวางเป็นฐานรากลึกลงไปใต้ดิน และมีความหนาของตัวฝายประมาณ 5 เมตร ส่วนความยาวของตัวฝายยังประมาณไม่ได้เพราะกินลึกเข้าไปในตลิ่งทั้งสองด้าน
|
|
พบชิ้นส่วนของภาชนะดินเผา รูปร่างเหมือนไห ตกอยู่ในซอกหินทำให้รู้ว่าฝายแห่งนี้มีการใช้งานแล้ว เพราะน่าจะเป็นภาชนะสำหรับใส่น้ำถูกทำหลุดมือหล่นโดยบังเอิญ เจ้าของเลยทิ้งไว้
|
ผมกลับจากอเมริกาก็รีบไปเก็บข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 พบว่ามีน้ำขังอยู่เต็มลำธารเป็นลักษณะน้ำนิ่งแสดงว่าตัวลำธารบริเวณนี้มีความราบเรียบจริงๆ และนี่คือฝายทดน้ำอายุร่วมพันปี "ตัวจริงเสียงจริง"
|
|
วันที่ 9 มิถุนายน 2554 ได้เข้าร่วมประชุมกับหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเขต 11 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงดังกล่าวเข้าประชุมด้วย ในหมวกของที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมประจำจังหวัดสกลนคร ผมเสนอให้อุทยานแห่งชาติภูพานรับเป็นเจ้าเรื่องในการฟื้นฟูสภาพของฝายหินภูเพ็กเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่ประชุมให้ความเห็นชอบและมอบให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูพานรับไปดำเนินการในฤดูแล้งปีต่อไป
|

การเลือกทำเลก่อสร้างฝายเก็บน้ำ .... ตามหลักวิศวกรรมชลประทาน
เป็นที่ทราบโดยชัดแจ้งแล้วว่าบรรพชนที่เราๆท่านๆเรียกพวกเขาว่า "ขอม" มีความรู้ด้านวิศวกรรมระดับเทพไม่งั้นปราสาทหินที่ยืนตระหง่านจำนวนหลายร้อยแห่งจะเกิดขึ้นไม่ได้ การสร้างฝายเก็บน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคก็ต้องใช้ความรู้ "วิศวกรรมชลประทาน" ที่พวกเขาชำนาญอยู่แล้ว ดังนั้นจึงต้องสำรวจหาสถานที่ตามแนวลำธารบนภูเขาซึ่งมีความราบเรียบเป็นระยะทางยาวเพื่อให้เก็บกักน้ำได้มาก อนึ่งตามหลักวิศวกรรมชลประทาน "ฝายชลอน้ำ" กับ "ฝายเก็บกักน้ำ" มีลักษณะต่างกัน
.jpg)
สถานที่ก่อสร้างฝายเก็บกักน้ำบนภูเขาภูเพ็กถูกเลือกให้อยู่ในทำเลที่ราบเรียบเป็นระยะทางยาวประมาณ 250 เมตร
.jpg)
แสดงพิกัดตำแหน่งฝายขอมพันปี 17 12 01.23 N 103 56 49.37 E
.jpg)
.jpg)
ความแตกต่างระหว่างฝายชลอน้ำกับฝายเก็บกักน้ำ
.jpg)
ภาพนี้แสดงให้เห็นว่าตัวลำธารบริเวณนี้มีความราบเรียบเหมาะแก่การสร้างฝายเก็บกักน้ำ
.jpg)
ยิงมุมกล้องจากบริเวณ upstream ของตัวฝายเพื่อให้เห็นความราบเรียบ
.jpg)
ภาพถ่ายในฤดูฝนยืนยันว่าบริเวณ upstream ของตัวฝายมีความราบเรียบเพราะ "น้ำนิ่ง"
.jpg)
เปรียบเทียบลักษณะลำธารบนภูเขาภูเพ็กระหว่างลาดชัน (Slope) กับราบเรียบ (Flat)
สำนักศิลปากรที่ 10 และอุทยานแห่งชาติภูพาน จับมือขุดลอกฝายขอมพันปี หวังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
วันที่ 30 พฤษภาคม 2557 คณะเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากร ที่ 10 จากจังหวัดร้อยเอ็ด และคณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูพาน พร้อมด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นและนักเรียนจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคอีสาน ร่วมกับขุดลอกฝายขอมพันปีเพื่อหวังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งดูงานความหลากหลายทางชีวภาพของป่าภูพาน ผมจึงมีภาพกิจกรรมมาให้ท่านๆได้ชม ดังนี้






อย่างไรก็ตามการขุดลอกครั้งนี้เป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อให้มองเห็นตัวฝายได้ชัดเจน แต่ปัญหาการตกตะกอนทับถมยังคงเกิดขึ้นในฤดูฝนทุกปีเพราะพื้นที่ภูเขามี slope สูงทำให้มีการกัดเซาะจากความเร็วของน้ำ
.jpg)
คุณ Nutthagode Sudta ที่เป็นเพื่อน facebook และเป็นนักศึกษาภาควิชาโบราณคดี ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ยืนยันเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ว่าไม่พบฝายขอมลักษณะนี้ในสาระบบของกรมศิลปากร
สรุป
จากการสืบค้นทะเบียนโบราณสถานของกรมศิลปากรยังไม่ปรากฏ "ฝายหินยุคขอมเรืองอำนาจที่ตั้งอยู่บนภูเขา" ...... หรือว่าฝายแห่งนี้เป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย! หากโปรโมทให้เป็นจุดหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และการเดินป่าก็น่าจะได้รับความสนใจจากผู้คนไม่น้อย จึงมีข้อเสนอ ดังนี้ครับ
1. พัฒนาทางเดินในป่าให้สะดวกต่อการเข้าไปชม
2. สร้าง check dam บนต้นน้ำเพื่อลดความเร็วและเป็นที่ดักตะกอน อีกทั้งเป็นการสร้างระบบนิเวศน์ของป่า
3. มีระบบการจัดการตามมาตรฐานของอุทยานแห่งชาติ