เป็นที่ทราบทั่วไปว่าเทศกาลแห่งสงกรานต์ ถูกกำหนดอย่างเป็นทางการให้ตรงกับวันที่ 13 – 15 เมษายน และปี 2551 นี้ เราๆท่านๆที่ทำงานราชการได้หยุดยาว 5 วันตั้งแต่ 12 – 16 เมษายน หลายท่านอาจสงสัย ทำไมต้องพาดหัวว่า “ 13 เมษายน 2551 เป็นวันสงกรานต์จริงหรือ” ในทางวิชาดาราศาสตร์เป็นอย่างนั้นจริงๆครับ เพราะการกำหนดวันสงกรานต์ มีที่มาจากวิชาโหราศาสตร์โบราณของอินเดีย ซึ่งใช้ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ระหว่างโลก ดวงอาทิตย์ และกลุ่มดาวฤกษ์ เป็นเครื่องมือชี้วัด คำว่า “ สงกรานต์” มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤต “ สังกรานติ” (Sankranti) แปลว่า การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์จาก ราศีหนึ่งไปยังอีกราศีหนึ่ง ใช้เวลาประมาณราศีละ 1 เดือน เมื่อครบรอบปีดวงอาทิตย์จะเคลื่อนไป 12 ราศี และต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ที่ราศีแรกคือ “ ราศีเมษ” (Zodiac Aries) ภาษาอินเดียเรียกว่า "เมษาสงกรานต์" (Mesha Sankranti) หรือ "มหาวิษุวัตสงกรานต์ (Maha Vishuva Sankranti) คนไทยเรียกสั้นๆว่า "มหาสงกรานต์"
อนึ่ง วันสงกรานต์ในสายตาของคนไทยคือ “ เมษา สังกรานติ” (Mesa Sankranti) ซึ่งเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนออกจาก ราศีมีน (Zodiac Pisces) เข้าสู่ราศีเมษ (Zodiac Aries) อยู่ในช่วงเดือนเมษายน ท่านโหราจารย์ทำการเปิดตำราคำนวณตามสไตล์ที่เรียกว่า "ชกตามสูตร" และฟันธงให้ตรงกับวันที่ 13 เมษายน โดยใช้ข้อมูลทางดาราศาสตร์เมื่อ 400 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเราอยู่ในช่วงของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เราๆท่านๆในยุคปัจจุบันที่ไม่ได้เรียนวิชานี้ก็รับเอามาปฏิบัติโดยไม่ต้องคิดอะไรมากนัก แต่ในสายตาของอาจารย์ที่สอนวิชาวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ต้องชี้ให้นักศึกษามองเห็นข้อเท็จจริงว่า ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ระหว่างโลก ดวงอาทิตย์ และกลุ่มดาวฤกษ์ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เนื่องจากแกนของโลกไม่คงที่ มีการแกว่งตัวอย่างช้าๆระหว่าง 21 – 24 องศา ปัจจุบันแกนของโลกอยู่ในมุมเอียงประมาณ 23.5 องศา เป็นสาเหตุทำให้การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในราศีต่างๆเปลี่ยนไปหมด ศัพท์เทคนิคใช้คำว่า “Precession of Vernal Equinox” ภาษาไทยอาจแปลว่า “ การเคลื่อนที่ถดถอยของจักรราศี” ดังนั้น วันที่ 13 เมษายน 2551 ดวงอาทิตย์ยังคงอยู่ในราศีมีน (Zodiac Pisces) ถ้าจะให้ดวงอาทิตย์เคลื่อนออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ต้องรอไปถึงวันที่ 20 เมษายน 2551 นี่เป็นวันสงกรานต์ตัวจริงเสียงจริงของยุคปัจจุบัน
 
 
ความจริงทางวิทยาศาสตร์ กับความเชื่อ ห้ามเถียงกัน ไม่งั้นต้องต่อยปากกันแตกไปข้างนึง....สรุปแล้ว ทางใครทางมันดีที่สุด
ผมเคยคุยเรื่องนี้กับท่านโหราจารย์บางคนให้ปรับเปลี่ยนตำราใหม่ เพื่อให้ตรงกับปรากฏการณ์จริงของดวงดาวบนท้องฟ้า คำตอบที่ได้รับคือต้องยึดของเก่ามิฉะนั้น “ มันจะไม่ขลัง” ผมรุกต่ออีกว่า “ คำว่าเก่า” ท่านหมายถึงกี่ปีเพราะถ้ายึดปรากฏการณ์ดังกล่าวจะต้องย้อนหลังไปถึง ปี พ.ศ. 1500 ในยุคอาณาจักรขอมเรืองอำนาจ และกรุงศรีอยุธยาก็ยังไม่เกิด หรือจะให้ย้อนหลังไปพันปีก่อนคริสตกาลที่วิชาโหราศาสตร์เกิดขึ้นใหม่ๆในดินแดนภารตะ ดังนั้น คำว่า "ยึดของเก่า" ในที่นี้ท่านโหราจารย์หมายถึง เมื่อ 400 ปี ที่แล้วในครั้งอาณาจักรศรีอยุธยา ผมก็เลยต้องไม่เถียงให้ยืดเยื้อต่อไป เข้าตำรา "ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ"
ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ผมมีเจตนาจะชี้ให้เห็นการวิเคราะห์ที่เป็นวิทยาศาสตร์ เปรียบเทียบกับความเชื่อทางโหราศาสตร์ที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง มันก็จบลงที่ "ทางใคร ทางมัน" หนักๆเข้าท่านโหราจารย์อาจขู่ว่า "ไม่เชื่อ ก็อย่าลบหลู่" ดังนั้น วันมหาสงกรานต์แบบไทยๆจึงยังคงอยู่ที่ 13 - 15 เมษายน ของทุกปี อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าวันสงกรานต์ใช้ปฏิทิน "สุริยะคติ" เพราะมีต้นกำเนิดจากโหราศาสตร์ของพราหม์ฮินดู จึงไม่กระโดดไปกระโดดมาเหมือนวันสำคัญทางศาสนาพุทธที่ใช้ปฏิทิน "จันทรคติ"
ด้วยเหตุผลของความคลาดเคลื่อนระหว่างปฏิทินศาสนา กับข้อเท็จจริงทางดาราศาสตร์ ทำให้ท่านสันตะปาปา เกรกอร์รี่ ที่ 13 แห่งสำนักวาติกัน ที่กรุงโรม จึงต้องลุกขึ้นมาแก้ไขปฏิทินเสียใหม่ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ.1582 เพื่อให้พิธีกรรมทางศาสนา และประเพณีต่างๆของชาวคาทอลิก คือวัน "อีสเตอร์ ซันเดย์" (Easter sunday) ให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ และกลายเป็นปฏิทินสากลที่ทั่วโลกใช้กันอยู่ในปัจจุบัน (อ่านรายละเอียดในบทความ ทำไมวันปีใหม่ต้องเป็น 1 มกราคม)
|