เข้าพรรษา ปี 2550 ทำไมต้องมีเดือนแปดสองหน |
ถ้าไม่มีเดือน 8 - 8 อะไรจะเกิดขึ้นกับวันเข้าพรรษา ขณะเดียวกันพระสงฆ์ไทยที่ประเทศออสเตเรีย จะเข้าพรรษาตามพุทธบัญญัติอย่างไร เพราะฤดูกาลที่นั่นตรงข้ามกับบ้านเรา
|
ผมไปบรรยายเรื่องดาราศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประเพณีและศาสนา มักถูกถามบ่อยๆว่า เหตุใดวันเข้าพรรษาบางปีต้องกำหนดให้เป็นเดือนแปดสองหน ? เลยต้องร่ายยาวตั้งแต่ยุคอารยธรรมสุเมเรี่ยนซึ่งเป็นผู้กำหนดให้ปีหนึ่งมี 12 เดือน หรือ 12 ราศี เมื่อห้าพันปีที่แล้ว แต่สำหรับ web site ของ YCL มีเนื้อที่จำกัด จึงใคร่ขออนุญาตฟันธงแบบไม่ต้องไหว้ครูมากนัก ดังนี้
|
เมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว พุทธองค์ได้ค้นพบสัจธรรมแห่งชีวิตด้วยการตรัสรู้ และก่อตั้งศาสนาใหม่ที่เน้นคำสอนและการปฏิบัติตนในแนวทางที่เห็นจริงอย่างมีสาระ โดยไม่ต้องลุ่มหลงงมงายอยู่กับโชคลาภและดวงชะตาราศี ในครั้งนั้นพุทธบัญญัติข้อหนึ่งที่มอบให้กับเหล่าพระสงฆ์ก็คือ การเข้าพรรษาโดยเริ่มต้นในวันถัดจากขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งตรงกับต้นฤดูฝน เพื่อให้บรรดาสงฆ์ได้อยู่ประจำสถานที่เป็นเวลา 3 เดือนของปฏิทินจันทรคติ เพื่อใช้เวลาช่วงนี้ศึกษาทบทวนเนื้อหาของธรรมะ และไม่ไปรบกวนชาวบ้านที่กำลังเริ่มต้นทำการเพาะปลูก อีกทั้งหลีกเลี่ยงการเหยียบย่ำพืชพรรณและสัตว์เล็กๆที่อยู่ตามพื้นดิน จะเห็นได้ว่าพุทธบัญญัตินี้ ผูกมัดเงื่อนไขไว้ 2 ข้อ คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 และต้นฤดูฝน ตอนเริ่มต้นใหม่ๆในปีแรกๆก็ดำเนินไปได้ด้วยดี ครั้นย่างเข้าปีที่สี่ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ร่นเข้าไปอยู่ในฤดูแล้ง (ราวๆเดือนเมษายน) แทนที่จะเป็นฤดูฝน เป็นเหตุให้วันออกพรรษาร่นเข้ามาเป็นต้นฤดูฝน ผิดวัตถุประสงค์ของพุทธบัญญัติ จึงต้องมีการปรับชดเชยระหว่างปฏิทิน จันทรคติ กับ ปฏิทิน สุริยะคติ เนื่องจากรอบปีของดวงจันทร์ (Lunar month) เร็วกว่ารอบปีของดวงอาทิตย์ (Solar month) ประมาณปีละ 11 วัน ประกอบกับฤดูกาลต่างๆที่เกิดบนโลกมีต้นเหตุมาจากอิทธิพลของดวงอาทิตย์ที่ทำมุมตกกระทบกับพื้นผิวโลกในองศาที่แตกต่างกัน ดังนั้นทุกๆ 2-3 ปี จึงต้องเพิ่มเดือนจันทรคติเข้าไปอีก 1 เดือน โดยให้เพิ่มที่เดือน 8 มีสองครั้ง เรียกว่าเดือน แปดหน้าและแปดหลัง หรือ แปดสองหน และให้ไปเริ่มเข้าพรรษาในวันแรม 1ค่ำ ของเดือนแปดหลัง การชดเชยเช่นนี้ช่วยให้การเข้าพรรษาอยู่ในช่วงเวลาของต้นฤดูฝนตรงตามพุทธบัญญัติ สูตรการปรับระหว่างปฏิทินสองอย่างนี้ถูกคิดค้นโดยนักดาราศาสตร์ชาวกรีก ชื่อ เมตั้น แห่งกรุงเอเธนส์ (Meton of Athens) เมื่อ 440 ปี ก่อนคริสตกาล ภาษาวิชาการทางดาราศาสตร์เรียกว่า Intercalation หรือ Metonic Cycle กำหนดให้เพิ่มเดือนจันทรคติ 7 ครั้ง ในรอบ 19 ปี โดยปฏิทินพุทธของไทยใช้วิธีพิจารณาที่วันออกพรรษา หากวันดังกล่าวร่นขึ้นมาอยู่ที่ต้นเดือนตุลาคมและทำท่าจะร่นเข้าไปในเดือนกันยายนของปีต่อไป ก็กำหนดให้ปีที่จะถึงมี 8 สองหน เรียกว่า อธิกมาส
|
ตัวอย่าง ปี 2549
วันเข้าพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับ วันที่ 11 กรกฎาคม
วันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับวันที่ 7 ตุลาคม |
ปีต่อไป 2550 วันเข้าพรรษา และออกพรรษา จะร่นเข้าไปอีก 11 วัน ทำให้ต้องไปเข้าพรรษาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2550 และออกพรรษา ในวันที่ 26 กันยายน 2550 ซึ่งเริ่มทำท่าจะผิดฤดูกาล เพราะเดือนกันยายนยังถือเป็นฤดูฝน หากปล่อยไปเช่นนี้เรื่อยๆการเข้าพรรษาและออกพรรษาจะผิดเพี้ยนจากพุทธ บัญญัติ ดังนั้นจึงปรับให้ปี 2550 มีเดือน 8 สองหน วันเข้าพรรษาและออกพรรษาจึงเลื่อนถอยหลังไปอยู่ที่ 30 กรกฎาคม และ 26 ตุลาคม ตามลำดับ และจะปรับชดเชยครั้งต่อไปในปี 2553 นอกจากนี้ยังมีสูตรปรับเล็กเข้ามาเสริมอีก เรียกว่า อธิกวาร จำนวน 11 ครั้ง ในรอบ 57 ปี โดยให้เดือน 7 มี แรม 15 ค่ำ จากปีปกติที่มี แรม 14 ค่ำ ดังนั้นปฏิทินจันทรคติของไทยจึงมี 3 รูปแบบ คือ ปกติมาสและปกติวาร 354 วัน, อธิกมาส 384 วัน และ อธิกวาร 355 วัน |
ปัจจุบันศาสนาพุทธเผยแผ่ไปหลายประเทศเกือบทั่วโลก พุทธบัญญัติข้อนี้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติเพราะประเทศที่อยู่ซีกโลกด้านเหนือ กับประเทศที่อยู่ซีกโลกด้านใต้ มีฤดูกาลแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะเอียง 23.5 องศา เช่น เดือนกรกฎาคม - กันยายน เป็นฤดูฝนของประเทศไทย แต่เป็นฤดูแล้งของประเทศออสเตเรีย พระสงฆ์ที่วัดไทยพุทธาราม ถนนพาราไดซ์ นครบรีสเบน ( Brisbane) ประเทศออสเตเรีย จึงต้องจำใจเข้าพรรษาในฤดูแล้งและออกพรรษาในต้นฤดูฝนพอดี เมื่อพิจารณาที่ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ พบว่าประเทศไทยอยู่ที่ซีกโลกด้านเหนือ ระหว่างเส้นรุ้ง 6 20 องศาเหนือ ส่วนประเทศออสเตเรียอยู่ซีกโลกด้านใต้ ระหว่างเส้นรุ้ง 11 39 องศาใต้ ฤดูกาลจึงตรงข้ามกันหมด |
ศาสนาคริสต์ก็พบนี้ปัญหาเช่นกัน วันคริตส์มาสของพวกเขาที่ออสเตเรียต้องฉลองท่ามกลางความร้อนระอุของอากาศ เพราะวันที่ 25 ธันวาคม เป็นฤดูร้อนสุดๆเพิ่งจะเลยวัน ครีษมายัน (Summer solstice) ไปเพียง 4 วัน ท่านซานต้าเลยต้องเหลือเพียงกางเกงขาสั้นตัวเดียว ผิดกับซานต้าในประเทศแถบยุโรปที่แต่งตัวด้วยชุดใหญ่
|
ตัวอย่างการปรับชดเชย (Intercalation) ตามสูตร Metonic Cycle ระหว่างปฏิทินจันทรคติ (Lunar calendar) กับสุริยะคติ (Solar calendar) เพื่อให้วันเข้าพรรษาและออกพรรษาตรงตามพุทธบัญญัติ |

|
หมายเหตุ
1. ปีใดถูกปรับให้เป็น อธิกมาส (มี 8-8) ปีนั้นจะไม่มีการปรับย่อย อธิกวาร (มี แรม 15 ค่ำ เดือน 7) หรือห้ามมี อธิกมาส และ อธิกวาร ในปีเดียวกัน 2. เป็นที่น่าสังเกตว่าโดยทั่วไป ปีใดวันออกพรรษา อยู่ระหว่างวันที่ 1- 11 ตุลาคม ปีต่อไปจะต้องถูกปรับให้เป็น อธิกมาส |
|
ประเทศไทยตั้งอยู่ในซีกโลกด้านเหนือ ระหว่าง เส้นรุ้งที่ 6-20 องศาเหนือ ส่วนประเทศออสเตเรีย ตั้งอยู่ในซีกโลกด้านใต้ ระหว่าง เส้นรุ้งที่ 11-39 องศาใต้ ทั้งสองประเทศจึงมีฤดูกาลที่ตรงกันข้ามกัน เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะเอียง 23.5 องศา ทำให้มุมตกกระทบของแสงอาทิตย์ที่พื้นผิวโลก ระหว่างซีกโลกเหนือกับซีกโลกใต้ไม่เท่ากัน
|
|
ฤดูกาลต่างๆที่เกิดบนพื้นโลกมีต้นเหตุมาจากมุมตกกระทบของแสงอาทิตย์ เนื่องจากโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะเอียง 23.5 องศา ปฏิทินสุริยะคติจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับฤดูกาล ขณะที่ปฏิทินจัทรคติของดวงจันทร์ไม่มีอิทธิพลใดๆต่อโลกในประเด็นนี้ ปัจจุบันประเทศไทยใช้ปฏิทินลูกผสมระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ (Luni-solar calendar) จึงต้องมีการปรับชดเชยเพื่อให้วันเข้าพรรษาถูกต้องทั้งเดือนจันทรคติ และตรงกับช่วงเวลาต้นฤดูฝน |