ถอดรหัส 3,000 ปี ประตูมิติแห่งกาลเวลา ภูผาขาม
โดย ชมรมอารยธรรมสกลนคร

ความเป็นมา
ราว 252 – 66 ล้านปีที่แล้วบริเวณจังหวัดสกลนครอยู่ในขบวนการทางธรณีวิทยาที่เรียกว่า “มหายุคเมโสโซอิก” (Mesozoic Era) เกิดการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกยกตัวขึ้นมาจากทะเล ทำให้พื้นที่หลายแห่งกลายเป็นภูเขาประกอบด้วยหินทรายซึ่งเกิดจากการตกตะกอน หินทรายเหล่านี้ผ่านการกัดเซาะโดยน้ำและสายลมอย่างต่อเนื่องนับล้านๆปีจนมีรูปร่างแปลกประหลาด บางส่วนกลายเป็นหินในแนวตั้งและหน้าผาซึ่งยังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในบรรดาหินทรายเหล่านี้น่าจะถูกแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวจนหักลงมาเกยกับหน้าผาซึ่งเป็นหินทรายเช่นกัน กลายเป็นอุโมงค์รูปร่างเหมือนประตูและคงสภาพจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบันประตูแห่งนี้อยู่บนทิศตะวันตกของหน้าผาชื่อภูผาขามสูงจากระดับน้ำทะเล360 เมตร ขึ้นกับเขตปกครองบ้านห้วยยาง ตำบลเหล่าโพนค้อ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร ถ้าย้อนกลับไปราวสามพันปีที่แล้วบรรพชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ได้มาอาศัยในบริเวณอุโมงค์แห่งนี้
ด้วยลักษณะพิเศษของอุโมงค์ที่เป็นปลายเปิดสามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ทั้งเช้าและเย็น ทำให้บรรพชนเกิดความสงสัยและเฝ้าสังเกตอย่างต่อเนื่องในที่สุดน่าจะได้ข้อสรุปว่า เมื่อมองเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนเข้ามาตรงกับกลางประตูฤดูกาลก็จะเปลี่ยนไป เช่น ถ้าดวงอาทิตย์เข้ามาตรงกับประตูปลายฤดูฝนอีกไม่นานจะเข้าสู่ฤดูหนาวต้องรีบสะสมข้าวปลาอาหาร เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนกลับมาตรงประตูอีกครั้งหลังฤดูหนาวต้นไม้จะเริ่มแตกช่อ สัตว์ป่าน้อยใหญ่เริ่มออกมาหากินเป็นโอกาสทองของการล่าสัตว์
ด้วยคุณสมบัติของการเป็นมนุษย์ท่านบรรพชนมีจินตนาการในการประดิษฐ์สิ่งของต่างๆสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน นักโบราณคดีได้สำรวจพบเศษหม้อดินเผามีลายเชือกเหมือนกับภาชนะยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่งในภาคอีสาน ที่สำคัญมีการพบภาพเขียนสีแดงซ่อนอยู่ใต้โขดหินและรอยขีดบนผนังหินซึ่งยืนยันว่าบริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยในยุคก่อนประวัติศาสตร์

สภาพทางธรณีวิทยาในมหายุคเมโสโซอิก (Mesozoic Era) ราว 252 – 66ล้านปีที่แล้ว เปลือกโลกมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยแยกตัวออกจากที่เคยเป็นแผ่นดินก้อนเดียวเรียกว่า “แพนเกีย” (Pangaea) หลายแห่งโผล่ขึ้นมาจากทะเลกลายเป็นภูเขาและแอ่งน้ำ ช่วงเวลานี้โลกเต็มไปด้วยสัตว์เลื้อยคลานหลายชนิดในชื่อ “ไดโนเสาร์” รวมทั้งพืชพันธุ์ต่างๆ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ต่อมากลายเป็น “ฟอสซิล” กระจายอยู่ทั่วภาคอีสาน

หินทรายที่เกิดในมหายุคเมโสโซอิกถูกกัดเซาะด้วยสายลมและพายุฝนผ่านกาลเวลานับร้อยล้านปี จนมีรูปร่างแปลกประหลาดจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วพื้นที่
.jpeg)
หินทรายที่ฟอร์มตัวเป็นแท่งน่าจะถูกแรงแผ่นดินไหวจึงหักลงมาเกยกับหน้าผาหิน
กลายเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่มีรูปร่างคล้ายประตู
ที่มาของชื่อ “ประตูมิติแห่งกาลเวลา”
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ชมรมอารยธรรมสกลนครได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบภาพเขียนโบราณซ่อนตัวอยู่ใต้โขดหินที่เชิงเขาภูผาขาม บ้านห้วยยาง ตำบลเหล่าโพนค้อ อำเภอโคกศรีสุพรรณ ทีมงานพร้อมด้วยผู้สื่อข่าวรายการลุยผ่านเลนส์รีบรุดไปยังสถานที่ดังกล่าว ได้พบภาพวาดโบราณสีแดงอยู่ใต้โขดหินขนาดใหญ่ หลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนพบว่ามี 2 ภาพ ลักษณะคล้ายประตูและทราบจากชาวบ้านอีกว่าประตูจริงๆก็มีแต่ต้องเดินขึ้นไปบนภูเขาอีกราวๆกิโลเมตร เมื่อเข้าถึงบริเวณไหล่ภูเขาที่ชื่อ “ภูผาขาม” สูงจากระดับน้ำทะเล 360 เมตรได้เห็นประตูดังกล่าวจริง มีลักษณะเหมือนอุโมงค์หินทรายขนาดใหญ่ ขนาดกว้าง 3 เมตร ยาว 10 เมตร สูง 5 เมตร
เมื่อใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ได้แก่เข็มทิศแม่เหล็ก (magnetic compass) และเข็มทิศระบบดิจิตอล (application compass) ตรวจสอบการวางตัวของอุโมงค์ พบว่าสอดคล้องกับพิกัดทาง ดาราศาสตร์ East – West ที่มุมกวาด 90 องศา และ 270 องศา ทำให้มั่นใจว่าดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์วสันตวิษุวัต (Spring Equinox) 21 มีนาคม และปรากฏการณ์ศารทวิษุวัต (Fall Equinox) 23 กันยายน จะเคลื่อนเข้ามาที่กลางประตูอุโมงค์
ภาพวาดยุคโบราณซ่อนตัวอยู่ใต้โขดหินแห่งนี้
การจะมองเห็นภาพเหล่านี้ต้องมุดเข้าไปและนอนหงาย
หนึ่งในบรรดาภาพวาดสีแดงมีลักษณะคล้ายประตู

ภาพที่สองก็มีลักษณะคล้ายประตู แต่เป็นภาพกลับหัวเหมือนตัว U

อุโมงค์แห่งนี้อยู่บนภูเขาที่พิกัดภูมิศาสตร์ N 16 57 28 E 104 17 24 และ +360เมตร จากระดับน้ำทะเล อยู่ในเขตปกครองบ้านห้วยยาง
ตำบลเหล่าโพนค้อ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
เปรียบเทียบภาพวาดยุคโบราณ (1) กับประตูหินทรายของจริง

เปรียบเทียบภาพวาดยุคโบราณ (2) กับประตูหินทรายของจริง
เข็มทิศแม่เหล็กและเข็มทิศระบบดิจิตอลยืนยันการวางตัวของอุโมงค์สอดคล้องกับข้อมูลทางดาราศาสตร์ ที่ มุมกวาด 90 องศา และ 270 องศา หมายถึงวางตัวในแนว East – West
ประธานชมรมอารยธรรมสกลนคร ชี้มือไปที่ตำแหน่งดวงอาทิตย์ขึ้นในปรากฏการณ์ “วสันตวิษุวัต 21 มีนาคม และศารทวิษุวัต 23 กันยายน”
ภาพถ่ายครั้งแรกของดวงอาทิตย์กับประตูหินทราย เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2566
จากภาพถ่ายดวงอาทิตย์ ณ เวลา 15:30 น. วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 สามารถนำมาคำนวณการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์ และพบว่าน่าจะเห็น “ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก” ในกรอบประตูระหว่างวันที่ 1 มีนาคม ถึง วันที่ 8 เมษายน รวม 39 วัน
นักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ 8 จังหวัดขอนแก่น สำรวจรอยขีดยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ผนังหิน และนับจำนวนได้ 39 รอย สอดคล้องกับการคำนวณทางดาราศาสตร์ที่น่าจะเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านขอบประตูระหว่างวันที่ 1 มีนาคม ถึงวันที่ 8 เมษายน รวม 39 วัน
ภาพถ่ายปรากฏการณ์ “วสันตวิษุวัต” (Spring Equinox) 21 มีนาคม 2567 ทั้งดวงอาทิตย์ขึ้น และดวงอาทิตย์ตก ยืนยันว่าอุโมงค์นี้วางตัวในแนว ตะวันออกแท้ - ตะวันตกแท้ (Due East – Due West)

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นแสดงว่าอุโมงค์แห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ในเชิงประจักษ์ แม้ว่าโครงสร้างการวางตัวของแท่งหินทรายขนาดยักษ์เกิดจากขบวนการทางธรณีวิทยาโดยธรรมชาติ แต่ก็เป็นความบังเอิญที่ตรงกับ “วสันตวิษุวัต 21 มีนาคม” และที่สำคัญเป็นผลงานธรรมชาติสร้างสรรค์ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศไทยและมีคุณสมบัติเฉพาะตัวทางดาราศาสตร์
ชมรมอารยธรรมสกลนคร ........ จึงตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า
“ประตูมิติแห่งกาลเวลา”
ถอดรหัส 3,000 ปี
เมื่อพิจารณาเชื่อมโยงปรากฏการณ์ดาราศาสตร์กับภาพวาดประตูและรอยขีดบนผนังหินทรายจำนวน 39 รอย ที่นักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ 8 จังหวัดขอนแก่นระบุว่าเกิดขึ้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์อายุราวๆ 3,000 ปี ทำให้เกิด “ปริศนา” ที่ต้องขบคิดและพิสูจน์เชิงวิทยาศาสตร์เพื่อตอบโจทย์ ....... บรรพชนเหล่านั้นได้เห็นอะไรที่ตรึงตาตรึงใจและนำไปสู่การบันทึกเป็นภาพวาดและสร้างรอยขีดบนผนังหิน?
พูดเป็นภาษาวิชาการระบบคอมพิวเตอร์ ...... ภาพวาดและรอยขีดโบราณเปรียบเสมือน Hard-Disk ที่บรรจุข้อมูล ซึ่งเราๆท่านๆต้องแปลความออกมาให้ได้
ชมรมอารยธรรมสกลนครจึงใช้วิชาดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ เรขาคณิต และการเฝ้ามองอย่างต่อเนื่องเพื่อเก็บข้อมูลและบันทึกภาพ

โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการคำนวณตำแหน่งของดวงอาทิตย์ในวันต่างๆ
สร้างโมเดลจำลองรูปทรงเรขาคณิตแสดงการเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์ผ่านหน้าประตูโดยใช้ปรากฏการณ์ “วสันตวิษุวัต 21 มีนาคม ที่มุมกวาด 90 องศา” เป็นจุด Focal Point พบว่าดวงอาทิตย์ขึ้นที่ขอบประตูด้านทิศเหนือตรงกับ 8 เมษายน ณ มุมกวาด 82 องศา นำมาหักลบกับ 90 องศา (90 – 82 = 8) แสดงว่าดวงอาทิตย์เคลื่อนตัวจากตำแหน่ง Focal Point วสันตวิษุวัต ไปถึงขอบประตูด้านทิศเหนือเป็นระยะทางมุมกวาด 8 องศา ทำนองเดียวกันเมื่อคำนวณย้อนกลับจาก Focal Point ไปยังขอบประตูด้านทิศใต้ด้วยมุม 8 องศา พบว่าตรงกับวันที่ 1 มีนาคม ณ มุมกวาด 98 องศา รวมความแล้วดวงอาทิตย์เคลื่อนตัวผ่านกรอบประตูด้วยระยะทาง 16 องศา (8 + 8)
แสดงตำแหน่งดวงอาทิตย์ขึ้น (sunrise) และดวงอาทิตย์ตก (sunset) ผ่านกรอบประตูระหว่างวันที่ 1 มีนาคม ถึง 8 เมษายน รวมทั้งสิ้น 39 วัน
บรรพชนยุคก่อนประวัติศาสตร์น่าจะเห็นภาพแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนได้ข้อสรุปและนำมาวาดภาพพร้อมกับบันทึกจำนวนวัน
ภาพถ่ายอาทิตย์ขึ้นในปรากฏการณ์ “วสันตวิษุวัต” (Spring Equinox)21มีนาคม 2568

ภาพถ่ายอาทิตย์ตกในปรากฏการณ์ “วสันตวิษุวัต” (Spring Equinox) 21มีนาคม 2568
ภาพ VDO ถ่ายและภาพถ่ายอาทิตย์ขึ้นเช้าวันที่ 8 เมษายน 2568
โดย อจ.วรวิทย์ ตงศิริ รองประธานชมรมอารยธรรมสกลนคร
ภาพถ่ายอาทิตย์ตกวันที่ 8 เมษายน 2568
ผลการเฝ้าติดตามและบันทึกข้อมูลทั้งภาพนิ่งและวิดีโอยืนยันได้ว่าดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์วสันตวิษุวัต 21 มีนาคม 2568 และวันที่ 8 เมษายน 2568 อยู่ในพิกัดตรงกับผลการคำนวณล่วงหน้าที่มุมกวาด 90 องศา และ มุมกวาด 82 องศา ทั้งเวลาอาทิตย์ขึ้นและอาทิตย์ตก คิดเป็นระยะทาง 8 องศา ในทางกลับกันโดยหลักคณิตศาสตร์เมื่อคำนวณย้อนหลังไปวันที่ 1 มีนาคม 2568 ดวงอาทิตย์ต้องอยู่ที่มุมกวาด 98 องศา รวมเวลาที่มองเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านกรอบประตู 39 วัน ตรงกับจำนวนที่บรรพชนยุคก่อนประวัติศาสตร์บันทึกไว้เป็นรอยขีดบนผนังหิน 39 รอย
ภาพวาดของอาจารย์สงวน มั่งมูล สมาชิกชมรมอารยธรรมสกลนคร แสดงการบันทึกจำนวนวันที่ท่านเหล่านั้นมองเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านกรอบประตู 39 วัน
วิเคราะห์ภาพวาดทั้งสอง ..... เหมือนมีคนยืนดูปรากฏการณ์ดาราศาสตร์อยู่กลางประตู
ภูผาขาม หุบเขาแห่ง “สุริยันจันทรา”
ภูผาขามมีภูมิประเทศที่เหมาะสมยิ่งต่อการเฝ้าชมปรากฏการณ์สุริยันจันทรา (Sun Moon Valley) ที่เกิดขึ้นทุกๆเดือนราวๆขึ้น 14 – 15 ค่ำ เพราะบริเวณนี้เป็นหน้าผาของภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 360 เมตร วันดังกล่าวจะเห็นภาพพระจันทร์เต็มดวงกับดวงอาทิตย์ยามอัสดงอยู่ที่ขอบฟ้าตรงกันข้ามแต่เป็นระนาบเดียวกัน คนไทยจำนวนมากมีความเชื่อในพลังแห่ง “สุริยันจันทรา” จนต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายระดับแสนบินไปต่างประเทศ แต่ถ้ามาที่นี่ค่าใช้จ่ายเพียงระดับหมื่นและได้พลังเหมือนกัน

เบื้องหลังความสำเร็จ
ถ้าไม่มีสมาชิกชมรมอารยธรรมสกลนครและชาวบ้านอาสาสมัครลงพื้นที่หน้างานทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อเฝ้าสังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลอย่างต่อเนื่องผลงานนี้คงไม่ได้เกิด ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่เสียสละเวลาและแรงงานตลอดจนค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องขอกราบนมัสการท่านเจ้าอาวาสวัดภูผาขามที่ได้สนับสนุนทุกอย่างตั้งแต่เริ่มต้นโครงการวิจัยเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2566
ท่านเจ้าอาวาสวัดภูผาขาม พ.ม.ภิรมย์ ฐิตธมโม
ไกด์ท้องถิ่นอาสาสมัคร “มิตรชัย”
สามแรงแข็งขัน (จากซ้ายไปขวา) อาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ รองประธานชมรมอารยธรรมสกลนคร คุณสุวัชรา ชลอาวาส จิตอาสาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และอาจารย์สงวน มั่งมูล สมาชิกชมรมฯและศิลปินนักวาดฝีมือขั้นเทพ

อาสาสมัครในท้องถิ่นและสมาชิกชมรมอารยธรรมสกลนคร
อาจารย์สงวน มั่งมูล วาดภาพประตูมิติแห่งกาลเวลาแบบสดๆ
ณ สถานที่จริง

นำถวายผลงานให้วัดภูผาขามเพื่อจัดแสดงเป็น Art Gallery
"หอศิลป์จิตวิญญาณแห่งภูผาขาม"
ประตูมิติแห่งกาลเวลา ภูผาขาม มิสิทธิ์ขึ้นมรดกโลกหรือไม่?
ลองเปรียบเทียบข้อมูลแบบ "ปอนด์ ต่อ ปอนด์" กับมรดกโลกอย่าง The Durdle Door ประเทศอังกฤษ
ใช้ Keyword in Google: How Durdle Door is recognized by World Heritage
หากรัฐบาลไทยต้องการนำเสนอ "ประตูมิติแห่งกาลเวลา ภูผาขาม" ขึ้นเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ...... นี่คือ guideline

1. ประตูเดอร์เดิลเป็นส่วนหนึ่งของชายฝั่งทะเลในยุคจูแรสสิก ได้รับการยอมรับให้เป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก ปี พ.ศ.2544 โดยเป็นส่วนหนึ่งของชายฝั่งดอร์เซ็ท และเดวอนตะวันออก เป็นแหล่งธรรมชาติที่โดดเด่นเนื่องจากความสำคัญทางธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยา
ประตูมิติแห่งกาลเวลา เป็นส่วนหนึ่งของหุบเขาแห่งผาขามเกิดในยุคเมโสโซอิก ที่แผ่นดินภาคอีสานตอนบนในชื่อแอ่งสกลนครยกตัวขึ้นมาจากทะเล มีธรรมชาติที่สวยงามและโดดเด่นในเชิงธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยา
2. ปี พ.ศ.2544 ชายฝั่งทะเลยุคจูแรสสิกได้ผนวกประตูเดอร์เดิลเข้าไปอยู่ในบัญชีของมรดกโลกโดยยูเนสโก
ปี พ.ศ. ....... รัฐบาลไทยได้เสนอให้ประตูแห่งการเวลาในหุบเขาผาขามเข้าไปอยู่ในบัญชีการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโก
3. ชายฝั่งทะเลยุคจูแรสสิกของประเทศอังกฤษเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวที่เป็นมรดกโลก
หุบเขาผาขามยุคเมโสโซอิกของประเทศไทยเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวที่นำเสนอให้เป็นมรดกโลก
4. ชายฝั่งทะเลแห่งนี้มีชื่อเสียงในความโดดเด่นทางธรณีวิทยาและซากฟอสซิลที่เก่าแก่ 185 ล้านปีของโลก
หุบเขาภูผาขามมีความโดดเด่นทางธรณีวิทยาและซากฟอสซิลที่เก่าแก่ในยุคดึกดำบรรพ์
5. องค์การยูเนสโกให้การรับรองว่าชายฝั่งทะเลยุคจูแรสสิกมีความโดดเด่นที่ทรงคุณค่าในระดับสากล เนื่องจากลักษณะทางธรณีวิทยาและการก่อตัวของพื้นที่ ก่อให้เกิดความงดงามทางธรรมชาติและความทรงจำของชีวิต
รัฐบาลไทยให้การรับรองว่าหุบเขาภูผาขามยุคเมโสโซอิกมีความโดดเด่นที่ทรงคุณค่าในระดับสากล เนื่องจากลักษณะทางธรณีวิทยาและการก่อตัวของพื้นที่ มีภูมิประเทศงดงาม และความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์
6. ชายฝั่งจูแรสสิกมีความยาวตลอดแนวจากออร์คอมบ์พอยต์ใกล้ๆกับ เอ็กซ์มัธด้านตะวันออกของ เดวอนถึงโอลด์แฮร์รีร็อกติดกับสวาเนจทางด้านตะวันออก กินพื้นที่ยาว 96 ไมล์ (154 กม.)
หุบเขาภูผาขามยุคเมโสโซอิกครอบคลุมพื้นที่ ......... ตารางกิโลเมตร ในเขตตำบลเหล่าโพนค้อ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
7. ประตูเดอร์เดิลในชายฝั่งจูแรสสิกมีทัศนียภาพที่เตะตา ในชื่อประตูโค้งที่เกิดจากการกัดเซาะของโครงสร้างหินปูนปอร์ตแลนด์
ประตูมิติแห่งกาลเวลาในหุบเขาภูผาขามมีรูปร่างแปลกตา เพราะเป็นอุโมงค์หินทรายขนาดใหญ่รูปทรงเรขาคณิต สูง 6 เมตร กว้าง 3 เมตร ยาว 10 เมตร วางตัวในแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก สอดคล้องกับปรากฏการณ์วิษุวัตที่สามารถมองเห็นดวงอาทิตย์ขึ้นและตกเป็นเส้นตรงเดียวกัน บรรพชนยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อ 3,000 ปีที่แล้ว ได้บันทึกเป็นภาพวาดสีแดงไว้ใต้โขดหินพร้อมกับทำรอยขีด 39 รอย ไว้ที่ผนังหินเท่ากับจำนวนวันที่เห็นปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์เคลื่อนตัวผ่านกรอบประตู
8. ความโค้งเว้าของชายฝั่งมีความเสมอกันดูเสมือนเป็นภาพแผ่นหินวางขนานกันตามชายฝั่งทะเล เป็นหน้าผาที่สูงชันและวางตัวในมุมแคบๆ
หุบเขาภูผาขามเป็นหนึ่งในแอ่งขนาดใหญ่ของภูเขาที่เรียงตัวเป็นเส้นตรงยาว 25 กิโลเมตร ทำหน้าที่รับน้ำฝนให้ไหลไปลงสู่ที่ราบด้านล่าง ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำรองรับจำนวนมาก
9. แนวหินด้านที่ติดทะเลมีความเก่าแก่มากที่สุด เป็นหน้าผาสูงชันเกิดจากแผ่นดินไหวเมื่อ 30 ล้านปีที่แล้วเมื่อคราวที่ทวีปอัฟริกาเคลื่อนเข้ามาชนกับทวีปยุโรป
ประตูมิติแห่งกาลเวลาเกิดจากแผ่นดินไหวราว ........ ล้านปีที่แล้ว ทำให้แผ่นหินทรายขนาดใหญ่หักและหล่นลงมาทาบใส่หน้าผากลายเป็นรูปประตู
10. พื้นที่เหล่านี้ถูกตั้งชื่อว่า ชายหาดลูลเวิร์ธโคฟ, แมน โอ วอร์ และชื่ออื่นๆ
บริเวณนี้ถูกตั้งชื่อว่าหุบเขาภูผาขาม
11. บริเวณนี้เต็มไปด้วยซากฟอสซิล, จนเป็นเป้าหมายที่ต้องตาต้องใจของบรรดานักล่าฟอสซิล
บริเวณนี้เต็มไปด้วยซากฟอสซิล, สามารถพัฒนาให้เป็นอุทยานบรรพชีวินวิทยากลางแจ้ง
12. ชายฝั่งด้านตะวันตกเฉียงใต้เป็นแหล่งที่เหมาะแก่การผจญภัยแบบปีนป่ายภูเขาที่มีทัศนียภาพประทับใจ
หุบเขาแห่งนี้เหมาะแก่การท่องเที่ยวเชิงผจญภัยด้วยทัศนียภาพที่สวยงาม เช่น การปีนภูเขา และการแข่งขันวิ่งในป่าเขา
13. ชายหาดที่เป็นพื้นทรายและหินกรวดใกล้กับประตูเดอร์เดิลเหมาะแก่การอาบแดดและว่ายน้ำ
ประตูมิติแห่งกาลเวลาเป็นอุโมงค์หินทรายขนาดใหญ่ที่มองเห็นปรากฏการณ์วสันตวิษุวัตและศารทวิษุวัต อีกทั้งตัวผาขามก็เป็นลานหินทรายขนาดใหญ่ จึงเหมาะแก่การชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เรียกว่า สุริยันจันทราทุกๆ เดือน และสามารถทำกิจกรรมค่ายพักแรมที่ดื่มด่ำกับธรรมชาติ
เปรียบเทียบระหว่างอุโมงค์ธรรมชาติ Crack Cave ที่รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา กับ ประตูมิติแห่งกาลเวลาภูผาขาม สกลนคร ประเทศไทย
ทั้งคู่มีคุณสมบัติหันหน้าตรงกับปรากฏการณ์ “วิษุวัต” แต่มีสองสิ่งที่ต่างกันชัดเจน
1.Crack Cave มีปากถ้ำแคบ แต่อุโมงค์ที่ภูผาขามมีหน้ากว้าง 3 เมตร
2.Crack Cave เป็นอุโมงค์ปลายปิดด้านทิศตะวันตก แต่อุโมงค์ที่ภูผาขามเป็นปลายเปิดมองเห็นดวงอาทิตย์ได้ทั้ง sunrise และ sunset
Crack Cave Colorado USA และ ภูผาขาม สกลนคร ประเทศไทย ทั้งคู่มีปรากฏการณ์ “วิษุวัต” และมีสิ่งที่เหมือนกันอีกประการ คือ “รอยสลักบนแผ่นหิน” ซึ่งนักโบราณคดีชาวอเมริกัน ชื่อ Phil ให้ความเห็นว่า “น่าจะสื่อถึงดวงอาทิตย์” (Phil believed that the cavecontained an Ogam inscription that spelled out the word ‘G-R-N’, with the AI diphthong shown by the angled line following the R, so that it read grian, the celtic word for SUN.) Cr: https://canyon-journeys.com/equinox-solar-alignments/equinox-at-crack-cave/ สรุป ลักษณะพิเศษของประตูมิติแห่งกาลเวลา 1.เป็นอุโมงค์หินทรายขนาดใหญ่อยู่บนภูเขา +360 เมตร จากระดับน้ำทะเล เกิดในยุคเมโสโซอิก 252 – 66 ล้านปี (Mesozoic Era 252 – 66 million years) กว้าง 3 เมตร ยาว 10 เมตร สูง 5 เมตร มีปลายเปิดทั้งสองด้าน วางตัวในแนวทิศตะวันออก - ตะวันตก ตรงกับดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ในปรากฏการณ์ “วสันตวิษุวัต และศารทวิษุวัต” (Spring Equinox and Fall Equinox) 21 มีนาคม และ 23 กันยายน ทุกปี 2.มีความเชื่อมโยงกับยุคก่อนประวัติศาสตร์ ด้วยภาพวาดสีแดง สองภาพ ลักษณะเหมือนประตู และ มีรอยขีดที่ผนังหิน 39 รอย ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนวันที่มองเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านกรอบประตู ได้พิสูจน์เชิงดาราศาสตร์แล้ว เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 และ วันที่ 8 เมษายน 2568 ยืนยันว่าบรรพชนยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อ 3,000 ปี ที่แล้ว ได้เห็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ผ่านช่องประตูและเกิดความประทับใจ จึงมีการวาดภาพและบันทึกเหตุการณ์ไว้