ย้อนอดีต 1,300 ปี ทวารวดีศรีเทพ เขาคลังนอก เขาคลังใน และเขาถมอรัตน์ มีอะไรที่นั่น?
อ้างถึงนิตยาสารประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม 20 กันยายน 2566 ระบุว่าโบราณสถาน "เขาคลังนอก" มีอายุราว 1,200 - 1,300 ปี
"โบราณสถาน เขาคลังนอก มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นสถูปที่ตั้งอยู่บนฐานขนาดใหญ่ มีการใช้พื้นที่ประกอบศาสนพิธีอยู่ด้านบน มีรูปแบบศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียอย่างชัดเจน อายุสมัยน่าจะอยู่ในช่วงราว 1,200-1,300 ปีมาแล้ว หรือในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี และมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับชุมชนที่เจริญขึ้นที่เมืองโบราณศรีเทพและเขาถมอรัตน์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.silpa-mag.com/history/article_28527"
ประเด็นที่จะวิเคราะห์ในที่นี้ขอย้อนกลับไป 1,300 ปีที่แล้ว หรือ AD 700 ...... ด้วยคำถาม 2 ข้อ
1.ทำไมเขาคลังนอก กับ เขาถมอรัตน์ ต้องวางตัวในแนว E - W?
2.ทำไมเขาคลังนอกต้องหันหน้าไปที่มุมกวาด 95 องศา (Azimuth 95) บังเอิญ หรือ เจตนา?


เขาคลังนอก กับเขาถมอรัตน์ วางตัวในแนว E - W ขณะเดียวกัน เขาคลังนอก กับ เขาคลังใน ก็วางตัวในแนว N - S
คำถามข้อที่ 1....... เขาคลังนอก กับ เขาถมอรัตน์ วางตัวในแนว E - W เพื่ออะไร?

เมื่อใช้ระบบ GPS ตรวจสอบ พบว่าเขาคลังนอก กับ เขาถมอรัตน์ วางตัวใกล้เคียงกับแนว E -W ที่มุมกวาด 272 องศา (Azimuth 272) คลาดเคลื่อนเพียง 2 องศา

ไปที่นั่นเมื่อ 13 ธันวาคม 2566 เพื่อพิสูจน์ด้วยตัวเอง

อุปกรณ์ยุคปัจจุบันยืนยันว่าการวางตัวของเขาคลังนอก กับ เขาถมอรัตน์ อยู่ที่มุมกวาด 272 องศา (Azimuth 272)
คำตอบ ........ มีข้อสมมุติฐาน 2 ประการ กล่าวคือ
ก. เขาถมอรัตน์มีรูปร่างเหมือน "เขาพระสุเมรุ" ซึ่งคนในยุคนั้นเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ มีการสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในถ้ำบนภูเขา ดังนั้น เมื่อจะสร้างสถูป "เขาคลังนอก" จึงต้องใช้เขาถมอรัตน์เป็น "จุดเล็ง" โดยให้ตรงกับแนว "ปรากฏการณ์วิษุวัต" หรือ E - W ซึ่งเป็นความเชื่อมาจากอารยธรรมอินเดีย อย่างไรก็ตามพิกัดของเขาถมอรัตน์อยู่ห่างจากเขาคลังนอกราว 16.6 กิโลเมตร จึงยากต่อการกำหนดพิกัดให้ตรงเป๊ะ เพราะยุคนั้นใช้วิธี ตาดู หูฟัง จึงมีความคลาดเคลื่อนเล็กน้อยที่ 2 องศา ถ้าเปรียบเทียบกับการใช้ระบบ GPS ในปัจจุบัน ก็ต้องยอมรับว่าท่านบรรพชนมีความเก่งมาก

ภาพถ่ายจากมุมกล้องทิศตะวันออก ทำให้เห็นการวางตัวของเขาคลังนอกกับเขาถมอรัตน์ ใกล้เคียงกับแนว E - W
ข.โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์ทำ simulation ย้อนกลับไปปี ค.ศ.700 ในปรากฏการณ์ศารทวิษุวัติ (Autumnal or Fall Equinox 15 Sep AD 700) มองเห็น sunset หย่อนตัวลงที่ยอดเขาถมอรัตน์ และเห็น "ดาวรวงข้าว" (Star Spica) อยู่ข้างบน อนึ่ง ดาวรวงข้าวเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรืองมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์จากความเชื่อของชาวอินเดียโบราณ
.jpeg)
อาทิตย์อัสดง Sunset หย่อนตัวลงที่ยอดเขาถมอรัตน์ในปรากฏการณ์ "ศารทวิษุวัต" และมีดาวรวงข้าว (Star Spica) อยู่ข้างบน
อาจมีคำถามเพิ่มเติมว่า ....... บรรพชนเมื่อ 1,300 ปี ที่แล้ว ใช้วิธีอะไรในการเล็งมุมกำหนดพิกัดให้เขาคลังนอกตรงกับยอดเขาถมอรัตน์ในแนว E - W และนี่คือคำอธิบายเชิงคณิตศาสตร์ที่เป็นไปได้มากที่สุด โดยตั้งสมมุติฐานว่าบรรพชนเหล่านั้นมีองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมและดาราศาสตร์อยู่แล้ว ไม่งั้นจะสามารถสร้างสถูปขนาดใหญ่อย่างสวยงามได้อย่างไร ..... วิธีนี้คนโบราณสามารถทำได้โดยใช้เงาดวงอาทิตย์ (Shadow Plot) ค้นหาแนว N - S ให้ได้ก่อน แล้วใช้วิชาเรขาคณิตเล็งแนวให้ "ตั้งฉากตรงกับยอดเขาถมอรัตน์"

ได้ทดสอบทำ shadow plot ด้วยตนเองที่ปราสาทภูเพ็ก สกลนคร เพื่อพิสูจน์ว่าปราสาทหลังนี้วางตัวตรงกับ E - W - N - S จริงหรือไม่

shadow plot ทำได้ทุกวันถ้ามีแสงแดด

ทำเสร็จจะได้แนว E - W - N - S
.jpeg)
ทำเส้นในแนว N - S ทางทิศตะวันออกของเขาถมอรัตน์ในบริเวณที่กะว่าจะสร้างสถูปเขาคลังนอก
วางแนว N - S เสร็จแล้วจะได้ภาพแบบนี้ โดยมองเห็นเขาถมอรัตน์อยู่ทางทิศตะวันตก
.jpeg)
ใช้การเล็งแนวไปเรื่อยๆเพื่อหาจุดที่ "ทำมุมฉาก กับยอดเขาถมอรัตน์"
.jpeg)
ในที่สุดจะได้แนวเส้นตรงที่ "ตั้งฉากกับยอดเขาถมอรัตน์"
.jpeg)
วางผัง Floor Plan ตัวสถูปตามที่ต้องการ
.jpeg)
สร้างสถูปเสร็จแล้วจะเห็นภาพแบบนี้
คำถามข้อที่ 2 ...... ทำไมเขาคลังนอกต้องหันหน้าไปที่มุมกวาด 95 องศา (Azimuth 95) บังเอิญ หรือเจตนา?
คำตอบ ....... ถ้าดูเผินๆอาจจะคิดว่ามุมกวาด 95 องศา เป็นเรื่องบังเอิญไม่มีนัยสำคัญอะไรในกอไผ่ แต่เมื่อนำข้อมูลของ "เขาคลังใน" มาเปรียบเทียบ พบว่าทั้งคู่หันหน้าไปที่มุมกวาด 95 องศา เหมือนกันเป๊ะ ก็แสดงว่า .... ไม่ใช่บังเอิญซะแล้ว
อนึ่งชื่อเขาคลังนอก เป็นชื่อที่เรียกกันในปัจจุบันนักโบราณคดียังไม่พบจารึกหรือหลักฐานที่ระบุ "ชื่อจริงๆในยุคนั้น"

เขาคลังนอกและเขาคลังใน หน้าตรงกับมุมกวาด 95 องศา ทั้งคู่

อุปกรณ์ smartphone ยืนยันเขาคลังนอกหันหน้าไปที่มุมกวาด 95 องศา (Azimuth 95)

เขาคลังในก็หันหน้าตรงกับมุมกวาด 95 องศา เช่นกัน
โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดาราศาสตร์ทำ simulation ย้อนหลังไปที่ 700 AD พบว่าเขาคลังนอกและเขาคลังในหันหน้าตรงกับ "ดาวรวงข้าว" (Star Spica) ซึ่งชาวอินเดียโบราณถือว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์
เช้ามืดวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ.700 ดาวรวงข้าว (Star Spica) ปรากฏตรงกับมุมกวาด 95 องศา (Azimuth 95)
เรื่องราวของโบราณสถานที่หันหน้า ณ มุมกวาด 95 องศา กับสัญลักษณ์ดาวรวงข้าว (Star Spica) ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ผมลงพื้นที่โบราณสถานในประเทศอินเดียเมื่อ ปี ค.ศ.2009 พบว่าวิหารนาลันทา วิหารพุทธคยา และโบราณสถานสารนาท ทั้งสามแห่งมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธ ล้วนหันหน้าที่มุมกวาด 95 องศา

ลงพื้นที่ด้วยตัวเองแบบตัวจริงเสียงจริง ที่มหาวิหารนาลันทา อินเดีย

มหาวิหารนาลันทาหันหน้าที่มุมกวาด 95 องศา (Az 95)

วิหารพุทธคยา ก็หันหน้าที่มุมกวาด 95 องศา

โบราณสถานแห่งเมืองสารนาท ก็ทำมุมกวาด 95 องศา

ชาวอินเดียโบราณมีความเชื่อว่าดาวรวงข้าว (Star Spica) ซึ่งบรรพชนเหล่านั้นเรียกว่า "ดาวไจตระ" เป็นสัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ เป็นความอุดมสมบูรณ์ในฤดูเก็บเกี่ยวพืชผล
สรุป
มองในแง่มุมวิทยาศาสตร์ เขาคลังนอก เขาถมอรัตน์ และเขาคลังใน มีนัยสำคัญแห่งความเชื่อที่นำไปสู่ความรุ่งโรจน์ ความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง ...... นี่คือเหตุผลที่ท่านบรรพชนเมื่อ 1,300 ปี สร้างเขาคลังนอก และเขาคลังใน ให้วางตัวในเชิงเราขาคณิตที่สอดคล้องกับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์