เมื่อชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในแอ่งสกลนคร ต้องเผชิญกับคนแปลกหน้าที่ชื่อว่าอารยธรรมทวารวดี ....... จะเกิดอะไรขึ้น?
ประเด็นนี้ยังไม่มีบทวิเคราะห์ในสาระบบวิชาการ ..... จึงเป็นหน้าที่ของชมรมอารยธรรมสกลนคร ต้องหยิบขึ้นมาพิจารณาด้วยเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์ ความน่าจะเป็น ประกอบกับหลักฐานที่พอหาได้ ....... และนี้คือคำอธิบายที่ท่านผู้อ่านต้องตัดสินเองว่า ...... รับฟังได้ไม้?


ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดสกลนครกระจายตัวทั่วไป จริงๆแล้วต้องมีมากกว่านี้หากมีการสำรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียด
แนวคิดของคำถามทำให้ต้องไปหาข้อมูลที่พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง และได้ทราบผลการวิจัยโครงกระดูกมนุษย์โบราณของผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเพนซิวาเนีย

อ่านข้อมูลอย่างละเอียด

พูดคุยกับเจ้าหน้าที่

มองโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ด้วยคำถาม
ภาพจำลองวิถีชีวิตของบรรพชนยุคก่อนประวัติศาสตร์

อาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ รองประธานชมรมอารยธรรมสกลนคร ลงพื้นที่ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ตามคำบอกเล่าของชาวบ้าน พบใบเสมาหินทรายยุคทวารวดีขนาดต่างๆจำนวนมาก รวมทั้งที่ยังจมอยู่ใต้ดินอีกจำนวนหนึ่ง
Timeline ระหว่างชุมชนก่อนประวัติศาสตร์กับอารยธรรมทวารวดี มีช่วงทับซ้อนกันราว พ.ศ.1000
อารยธรรมทวารวดีกระจายตัวกว้างขวางครอบคลุมทั่วประเทศไทย แสดงว่าต้องมีพื้นที่ทับซ้อนกับชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ..... และที่แน่ๆเขาเหล่านั้นต้องเผชิญหน้ากันแบบตัวจริงเสียงจริง ..... อนึ่ง ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ก็ไม่ใช่ขี้ไก่และหน่อมแน้มเพราะไม่ใช่ "มนุษย์หิน" พวกเขามีองค์ความรู้ด้านโลหะวิทยาสามารถประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันรวมทั้งอาวุธ เช่น ขวาน และหอกใช้ล่าสัตว์
แผนที่แสดงขอบเขตการกระจายตัวของอารยธรรมทวารวดีในประเทศไทย

การทับซ้อนระหว่างชุมชนก่อนประวัติศาสตร์และอารยธรรมทวารวดี ที่บ้านท่าวัด ตำบลเหล่าปอแดง อ.เมืองสกลนคร

อำเภอสว่างแดนดิน สกลนคร มีหลักฐานชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านดอนธงชัย และใบเสมาทวารวดีในพื้นที่ใกล้เคียงกัน

บ้านดงเมืองแอม อำเภอเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น มีทั้งโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ พร้อมกับหลักฐานอารยธรรมทวารวดีตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์

มรดกโลกล่าสุดอย่างโบราณสถานศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ก็มีหลักฐานโครงกระดูกและโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับสิ่งก่อสร้างและตัวเมืองยุคทวารวดี
ตั้งประเด็นจากข้อมูลและหลักฐานที่วางอยู่ตรงหน้า
ด้วยจินตาการ ...... ราว พ.ศ.1000 ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ยังคงใช้ชีวิตตามปกติหาอยู่หากินตามอัตภาพ และแล้ววันหนึ่งก็มีคนแปลกหน้ารุกล้ำเข้าในถิ่นของพวกเขา ....... เกิดอะไรขึ้น?
1. มีการต่อสู้กันโดยคนแปลกหน้ากำชัยชนะและครอบครองทุกอย่าง ผู้แพ้ถูกฆ่าจำนวนมาก ส่วนที่เหลือถูกกลืนและกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหม่
2. คนแปลกหน้ามาแบบมิตรไมตรีและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีการถ่ายทอดความเจริญให้แก่เจ้าถิ่นเดิมจนในที่สุดกลายเป็นสังคมเดียวกัน
บทวิเคราะห์
หลักฐานข้อที่ 1 ข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียง แสดงผลการวิจัยโครงกระดูกมนุษย์โดยผู้เชี่ยวชาญจาก พิพิธภัณฑ์โบราณคดีและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา (University of Pennsylvania Museum of Archaeology and Anthropology USA) ไม่พบร่องรอยของโรคระบาดร้ายแรง บาดแผลจากการสู้รบที่เด่นชัด พบเพียงลักษณะของกระดูกที่แสดงการเกิดโรคทั่วไป ..... แสดงว่าเขาเหล่านั้นไม่ได้ล้มหายตายจากจนหมดสิ้นทั้งชุมชน พวกเขามีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 38 ปี ผู้ชายมีความสูง 166 ซม ผู้หญิง 154 ซม
หลักฐานข้อที่ 2 จากภาพสลักที่พบตามใบเสมาหินทรายจำนวนมาก รวมทั้งพระพุทธรูปขนาดต่างๆ ยืนยันว่าอารยธรรมทวารวดี ...... หนักไปทาง "พุทธคุณ" เรียกง่ายๆว่า "ธรรมะธัมโม" และการแสดงออกเชิงวัฒนธรรม เช่น การเล่นดนตรี การร่ายรำ นักโบราณคดียังไม่พบภาพสลักการเดินทัพหรือการสู้รบด้วยกองกำลังติดอาวุธเหมือนอย่างยุคขอมเรืองอำนาจ อย่างดีก็มีเพียงการใช้อาวุธอย่างหอกและธนูในการล่าสัตว์ หรือการต่อสู้ระหว่างบุคคล
ภาพสลักแสดงถึงเรื่องราวในพุทธศาสนานิกายหินยานที่รักความสงบ

ภาพสลักที่บ่งบอกถึงความสงบสุขและวัฒนธรรมที่สวยงาม
.jpeg)
ภาพพระพุทธรูปขนาดต่างๆยืนยันว่าเขาเหล่านั้นมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจอันดีงามตามคำสอนขององค์ศาสดาที่มุ่งหวังให้โลกนี้สงบสุข

ภาพการเล่นดนตรีและการร้องรำทำเพลงบ่งชี้ว่าสังคมนี้ไม่ใช่คนป่าเถื่อนที่นิยมความรุนแรง
สรุป
จากข้อมูลและหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ชี้ไปในประเด็น ...... คนแปลกหน้าที่ชื่อทวารวดีเข้ามายังถิ่นฐานของชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ด้วยมิตรไมตรีและถ่ายทอดความเจริญทางอารยธรรมให้แก่เจ้าของถิ่นดั้งเดิม จนท้ายที่สุดกลายเป็นสังคมเดียวกัน มีการเปลี่ยนจาก "นับถือผีมาเป็นพุทธศาสนา" และเข้าสู่ยุคอารยธรรมเต็มตัว .... สาธุ