ปราสาทนารายณ์เจงเวง ....... อะไรหายไปแล้ว อะไรเสี่ยงสูญหาย?
ปราสาทนารายณ์เจงเวง สกลนคร ตั้งอยู่ท่ีบ้านธาตุ ตำบลธาตุนาเวง อ.เมือง ทางถนนสกลนคร - อุดรธานี 6 กม.ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองสกลนคร เป็นโบราณสถานยุคขอมเรืองอำนาจ กรมศิลปากรระบุว่าน่าจะสร้างในยุคขอมปาปวน ราวพุทธศตวรรษ ที่ 16 เป็นศาสนาสถานฮินดู ....... บทความนี้จะพูดถึงประเด็น "อะไรที่หายไปแล้ว และอะไรที่อยู่ในความเสี่ยงต่อการสูญหาย"


ภาพถ่ายเก่าปราสาทนารายณ์เจงเวงตั้งแต่ปี 2450

ภาพถ่ายเก่าอีกภาพหนึ่งจากมุมด้านทิศใต้
อะไรที่หายไปแล้ว
อันดับแรก "บาราย" ........ ปกติปราสาทขอมทั่วไปจะมีอ่างเก็บน้ำที่ภาษาวิชาการทางโบราณคดีเรียกว่า "บาราย" (Baray) เมื่อตรวจดูในทะเบียนโบราณสถานไม่พบสิ่งนี้ แต่ปราสาทหลังอื่นๆในพื้นที่ใกล้เคียงกัน เช่น ปราสาทเชิงชุม และปราสาทดุม มีบารายทั้งคู่
จึงต้องค้นหาในภาพถ่ายทางอากาศที่เก่าที่สุดเมื่อปี 2516 เห็นภาพบารายรูปร่างสี่เหลี่ยมพืนผ้าทางด้านทิศเหนือของปราสาทนารายณ์เจงเวียง
ภาพถ่ายทางอากาศ ปี พ.ศ.2516 มี "บาราย" รูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าด้านทิศเหนือของปราสาท อนึ่ง การก่อสร้างบารายตามสูตรวิศวกรรมการจัดการน้ำของชาวขอมต้องมีลำน้ำอยู่ในละแวกใกล้เคียงเพื่อให้สามารถเติมน้ำใส่บารายในฤดูน้ำหลาก ในภาพนี้เห็นลำห้วยทรายอยู่ใกล้ๆทางด้านทิศเหนือ

ภาพถ่าย Google Earth ปี 2546 ยังปรากฏภาพบารายชัดเจน

ภาพถ่าย Google Earth ปัจจุบัน 2565 บารายหายไปแล้ว

นำภาพถ่ายทั้งสามช่วงปีมาเปรียบเทียบกัน

เปรียบเทียบระหว่าง ปี 2516 กับปัจจุบัน (2565)
.jpeg)
ภาพถ่าย Google Earth ทำให้เห็นลำดับระยะเวลาการหายไปของบารายนับจากปี 2546 จนปัจจุบัน (ภาพล่าสุด 2566)

ปราสาทขอมอื่นๆของจังหวัดสกลนครล้วยมี "บาราย"
อันดับที่สอง
ศิวลึงค์และฐานโยนี สิ่งนี้อยู่คู่กับปราสาทขอมเพราะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธนิกายมหายาน สิ่งนี้ได้หายไปนานแล้วและมีการนำพระพุทธรูปไปตั้งไว้แทน ........ กล้ายืนยันว่าปราสาทหลังนี้ต้องมีสิ่งดังกล่าวเพราะมีหลักฐาน "ท่อโสมสูตร" ซึ่งเป็นอุปกรณ์ส่วนควบของศิวลึงค์และโยนี อีกทั้งรูปสลักต่างๆที่หน้าบันและทับหลังก็เต็มไปด้วยเทพของศาสนาฮินดูทั้งสิ้น เช่น พระศิวะ พระวิศนุ พระอินทร์ อนึ่ง ปราสาทหลังนี้หันหน้าตรงกับปรากฏการณ์ "วิษุวัต" ตรงกับวันปีใหม่ของปฏิทินมหาศักราช วันดังกล่าวต้องมีพิธีสำคัญในห้องครรภคฤหัสหรือห้องปรางค์ใหญ่

พระพุทธรูปถูกนำไปตั้งแทนศิวลึงค์และโยนี
ตัวอย่างปราสาทขอมที่ประเทศกัมพูชามีศิวลึงค์และฐานโยนี

ฐานโยนีพบที่ปราสาทเชิงชุม แต่ศิวะลึงค์หายไปแล้ว น่าจะเอาออกมาจากตัวปราสาทแต่ไม่ทราบว่าปีไหน

ท่อโสมสูตร คืออุปกรณ์ส่วนควบของศิวลึงค์และฐานโยนี ทางผนังด้านทิศเหนือของปราสาทนารายณ์เจงเวง

ภาพพระศิวะกำลังฟ้อนรำ และภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัน

นารายณ์บรรทมสินธุ์ และพระกฤษณะกำลังสู้กับสิงโต
อันดับสาม
ทัศนีภาพปรากฏการณ์ "อาทิตย์อุทัย" ในวันสำคัญของปฏิทินมหาศักราช "วิษุวัต" ถูกบดบังสิ้นเชิงโดยพระอุโบสถของวัดพุทธที่สร้างขึ้นภายหลัง เชื่อว่าบรรพชนผู้สร้างปราสาทหลังนี้ตั้งใจให้แสงอาทิตย์เช้าตรู่ในปรากฏการณ์ดังกล่าวส่องเข้าไปยังศิวะลึงค์เพื่อสร้างพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู จากผลการตรวจสอบด้วยอุปกรณ์ GPS พบว่าปราสาทหันตรงไปที่มุมกวาด 90 องศา ตรงกับทิศตะวันออกแท้
.jpeg)
ปราสาทหลังนี้สร้างอยู่บนพื้นที่สูงเพื่อให้มองเห็นดวงอาทิตย์ชัดเจน
.jpeg)
ลักษณะภูมิประเทศของปราสาทนารายณ์เจงเวงเป็นที่สูงตรงตามสะเป็กของชาวขอม
ทิศตะวันออกของปราสาทถูกบดบังโดยพระอุโบสถของวัด จริงๆแล้วบริเวณนี้มีที่ว่างเยอะแยะพระท่านก็น่าจะหาที่อื่นสร้างอุโบสถ โดยไม่ต้องบดบังซึ่งกันและกัน
.jpeg)
ถ้าเป็นไปได้น่าจะขอความอนุเคราะห์ทางวัดให้ "ทำกระจก หรือ หน้าต่าง" เพื่อให้แสงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ "วิษุวัต" ส่องมาถึงประตูปราสาท
.jpeg)

.jpeg)
Application GPS ชี้ตรงไปที่มุมกวาด 90 อศา หรือทิศตะวันออกแท้ ตรงกับอาทิตย์อุทัยในปรากฏการณ์ "วิษุวัต"

ที่พื้นธรณีของประตูทิศตะวันออกยังมองเห็นรอยขีดที่แสดงตำแหน่งดาราศาสตร์ "วิษุวัต" (equinox)


ดวงอาทิตย์ตกในวัน "วสันตวิษุวัต" 20 มีนาคม 2563 ตรงกับตำแหน่ง "วิษุวัต"
.jpeg)
ภาพถ่ายเก่าเมื่อปี พ.ศ.2450

ถ้าปราสาทด้านทิศตะวันออกไม่มีอุโบสถมาบดบัง น่าจะเห็นภาพแบบนี้ในวันสำคัญของศาสนาฮินดู
อันดับสี่
สุ่มเสี่ยงต่อการเสียหายหรือสาบสูญ ได้แก่ภาพสลักอายุพันปีบนก้อนหินที่วางระเกะระกะอยู่ในคอกไม้ ตากแดดตากฝนมานานกว่า 40 ปี ภาพสลักเหล่านี้มีสิทธิ์หลุดเข้าไปในตลาดค้าของโบราณและเข้าไปอยู่ในมือของนักสะสมของเก่า ...... จริงๆแล้ว น่าจะเอาไปเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ให้มีการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี เช่น พิพิธภัณฑ์เมืองสกล ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หรือ พิพิธภัณฑ์ภูพานในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร
การวางกองหินทรายที่มีภาพสลักอายุพันปีในสถานที่โล่งแจ้ง มีความเสี่ยงต่อ "การกัดกร่อนโดยน้ำฝนและตะไคร่น้ำ" อีกทั้งเสี่ยงต่อการถูกลักขโมยไปขายในตลาดค้าของโบราณ

ดร.สพสันติ์ เพชรคำ อดีตผู้อำนวยการสถาบันภาษาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร เคยขออนุญาตหน่วยศิลปากรที่ 10 นำหินที่มีภาพสลักสำคัญ เช่น พาลีสู้กับสุครีพ ไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองสกล ตึก 1 ม.ราชภัฏสกลนคร แต่ต่อมาท่านเจ้าอาวาสวัดพระธาตุนารายณ์มาทวงคืนและก็เอาตั้งทิ้งไว้ในกองหินเช่นเดิม

ภาพสลักเหล่านี้ถูกน้ำฝนกัดเซาะและมีตะไคร่น้ำเกาะนานๆเข้าจะค่อยเลือนลาง

ภาพสลักทหารถืออาวุธแสดงการแต่งกายในยุคนั้น

ก้อนหินที่มีภาพสลักเหล่านี้ประเมินค่าไม่ได้เพราะเป็นของแท้จากยุคขอมเรืองอำนาจ ...... ถ้าสูญหายใครจะรับผิดชอบ?
.jpeg)
ภาพพาลีกำลังต่อสู้กับสุครีพก็ตั้งรวมอยู่ในกองหิน
สรุป
บทความนี้มีเจตนาบันทึกภาพเหตุการณ์สำคัญ เรื่องราว และสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับปราสาทนารายณ์เจงเวงไว้เป็นข้อมูลให้ลูกหลานได้ศึกษาในแง่มุมเชิงวิทยาศาสตร์ และเป็นการเชิญชวนให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลรักษาตามหลักวิชาการ เช่น นำภาพสลักบนก้อนหินทรายไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์เพื่อให้เกิดการศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์จากวัตถุพยาน และปลุกจิตสำนึกของลูกหลานให้รู้จักคุณค่าแห่งรากวัฒนธรรมของบรรพชน