ปราสาทขอมพันปีที่จังหวัดสกลนครชื่อ "ภูเพ็ก" บนยอดเขา +520 เมตร จากระดับน้ำทะเล ถูกออกแบบก่อสร้างให้หันหน้าตรงกับทิศตะวันออกแท้อย่างแม่นยำ ยุคนั้นไม่มีอุปกรณ์ เช่น GPS Smartphone และเข็มทิศ แต่บรรพชนเหล่านั้นใช้วิธีอะไร?
.jpg)
ปัจจุบันเราๆท่านๆอยู่ในยุค digital สามารถตรวจสอบพิกัดและตำแหน่งการวางตัวของปราสาทภูเพ็กว่าตรงกับ "ทิศตะวันออกแท้" ที่มุมกวาด 90 องศา (azimuth 90) คำถามจึงอยู่ที่ ..... ถ้าย้อนกลับไปพันปีที่แล้ว
1.บรรพชนเหล่านั้นใช้วิธีอะไรในการคำนวณ
2.ทำไมจึงต้องให้ปราสาทหันหน้าไปที่ทิศตะวันออกแท้ มีนัยสำคัญอะไร?

ปราสาทถูเพ็กตั้งอยู่บนยอดภูเขาที่มีรูปร่างเหมือนเขาพระสุเมร ในเขตปกครองบ้านภูเพ็ก ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม สกลนคร

ปราสาทหลังนี้สร้างได้เพียงฐานรากและบางส่วนของห้องครรภคฤหรรษ
.jpg)
อุปกรณ์ GPS แสดงผลว่าปราสาทหลังนี้อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล +520 เมตร
ทำไมต้องทิศตะวันออกแท้?
เป็นที่ทราบกันดีในวงการนักประวัติศาสตร์และผู้สนใจทั่วไปว่าอาณาจักรขอมเกิดขึ้นจากอิทธิพลทางวัฒนธรรมของอินเดีย จึงมีการนับถือศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธผสมผสานกันไป และหนึ่งในวิทยาการที่พวกเขารับจากอินเดียคือ "ปฏิทินมหาศักราช" (Saka Calendar) ปฏิทินฉบับนี้มีต้นกำเนิดจากชาวอารยันซึ่งกำหนดให้ "ปีใหม่ตรงกับวันที่ 1 เดือนไจตระ" และดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ (Zodiac Aries) ณ ทิศตะวันออกแท้ เป็นปรากฏการณ์ดาราศาตร์เกิดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ได้แก่ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) กลางวันเท่ากับกลางคืนในฤดูใบไม้ผลิ เทียบกับปฏิทินสากลปัจจุบัน 21 มีนาคม
"ศารทวิษุวัต" (autumnal equinox) กลางวันเท่ากับกลางคืนในฤดูใบไม้ร่วง เทียบกับปฏิทินสากลปัจจุบัน 23 กันยายน
อนึ่ง ปฏิทินมหาศักราชถูกจัดให้สอดคล้องกับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์อย่างแม่ยำดังในภาพข้างล่าง ปัจจุบันยังคงใช้อย่างเป็นทางการในประเทศอินเดีย อัฟริกานีสถาน อิหร่าน อุซเบกีสถาน และอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเซียกลาง วันขึ้นปีใหม่ถูกเรียกชื่อในภาษาเปอร์เซียว่า "เนารูซ" (Nowruz) Now = New, Ruz = Year
ปฏิทินมหาศักราช (Saka Calendar) แบ่งออกเป็น 12 เดือน แต่ละเดือนตรงกับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ของแต่ละ "ราศี" และแบ่งจำนวนวันในแต่ละเดือนตามหลักดาราศาสตร์คือ หกเดือนแรกอยู่ในช่วงกลางวันยาวกว่ากลางคืนกำหนดให้มี 31วัน / เดือน หกเดือนหลังกลางวันสั้นกว่ากลางคืนกำหนดให้มี 30 วัน / เดือน รวมทั้งสิ้น 365 วัน และทุกๆ 4 ปี จะเพิ่มให้เดือนไจตระ (Chaitra) มี 31 วัน
.jpg)
ปราสาทภูเพ็กหันหน้าตรงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox) 21 มีนาคม ภาพซ้ายมือเป็นวันที่ 1 เดือนอะกราหะยาน่า (Agrahayana)

ปรากฏการณ์ "ศารทวิษุวัต" (autumnal equinox) 23 กันยายน ดวงอาทิตย์กลับมาตรงกับหน้าปราสาทภูเพ็กอีกครั้งหนึ่ง
.jpg)
ปราสาทภูเพ็กกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ที่เปลี่ยนไปแต่ละฤดูกาล

ภาพถ่ายตำแหน่งดวงอาทิตย์ที่ปราสาทภูเพ็ก เริ่มตั้งแต่ "วสันตวิษุวัต" (vernal equinox 21 March) "ครีษมายัน" (summer solstice 21 June) "ศารทวิษุวัต" (autumnal equinox 23 September) และ "เหมายัน" (winter solstice 21 December)

ปราสาทภูเพ็กถูกออกแบบก่อสร้างให้หันหน้าตรงกับตำแหน่งทิศตะวันออกแท้
เห็นข้อมูลแบบนี้แล้วก็คงทราบว่าปราสาทภูเพ็กถูกออกแบบให้หันหน้าตรงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์ในปรากฏการณ์สำคัญ และเป็นสัญลักษณ์ของวันปีใหม่ (วันที่ 1 เดือนไจตระ) และครึ่งทางปีใหม่ (วันที่ 1 เดือนอัสวีน่า) แห่งปฏิทินมหาศักราช นัยว่าวันดังกล่าวต้องมีการประกอบพิธีกรรมอะไรบางอย่าง
.jpg)
ทำไมจึงใช้ชื่อ "ปฏิบัติการอัสวีน่า"
ปฏิบัติการดาราศาตร์ครั้งนี้ดำเนินการวันที่ 23 กันยายน 2562 ตรงกับปรากฏการณ์ "ศารทวิษุวัต" และวันที่ 1 เดือนอัสวีน่า (1 Ashvina) ของปฏิทินมหาศักราช กลางวันเท่ากับกลางคืนในฤดูใบไม้ร่วง และวันนี้เงาดวงอาทิตย์จะเป็นเส้นตรงตั้งแต่เช้าถึงเย็น จึงง่ายต่อการพิสูจน์ว่าเมื่อครั้งพันปีที่แล้ววิศวกรชาวขอมผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างปราสาทภูเพ็กใช้อุปกรณ์พื้นฐานที่หาได้ทั่วไป คือ "แท่งไม้และก้อนกรวดขนาดเล็ก" โดยมีขั้นตอนต่อไปนี้
1.เริ่มต้นตั้งแต่เช้า ปักไม้ให้ตั้งฉากกับพื้นดินที่ปรับเรียบแล้ว สังเกตเห็นเงาทอดยาวไปทางทิศตะวันตก
2.วางก้อนกรวด ณ ปลายยอดสุดของเงาดวงอาทิตย์ทุกๆครั้งที่เงาเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออก

3.วางก้อนกรวด ณ ปลายยอดของเงาที่เคลื่อนไปเรื่อย สังเกตว่าเป็นแนวเส้นตรง
4. เมื่อได้เส้นตรงที่ยาวพอสมควรและสังเกตุว่าแนวเส้นตรงของก้อนกรวดทำมุมฉากกับแท่งไม้ก็หยุดปฏิบัติการ

5.สร้างเครื่องหมายแนว "ตะวันออก - ตะวันตก" และแนว "เหนือ - ใต้" เหมือนรูปกากบาท
6.ใช้วัสดุ เช่น ลิ่มไม้ตอกเป็นหลักสร้างแบบแปลนของตัวปราสาทให้สอดคล้องกับทิศทั้งสี่ ทั้งนี้ขนาดความใหญ่ของปราสาทขึ้นอยู่กับการออกแบบของผู้ควบคุมงานและนโยบายผู้มีอำนาจ อนึ่ง จากการสำรวจล่าสุดพบว่าปราสาทภูเพ็กมีความยาว 40 เมตร มากกว่าปราสาทพิมาย 30 เมตร และปราสาทพนมรุ้ง 25 เมตร

อนึ่ง หลายท่านอาจถามว่า ........ วันอื่นๆทำแบบนี้ได้หรือไม่ คำตอบคือ "ทำได้ทุกวันที่มีแสงอาทิตย์" แต่วันนี้ 23 กันยายน และ 21 มีนาคม ทำได้ง่ายที่สุดเพราะเงาดวงอาทิตย์เป็นเส้นตรงตั้งแต่เช้าจรดเย็น ส่วนวันอื่นเงาดวงอาทิตย์เป็นเส้นโค้งต้องใช้หลักคณิตศาสตร์มากขึ้นครับ difficult but not impossible
สรุป
ปัจจุบันเราๆท่านๆอยู่ในยุค Digital มีอุปกรณ์ตัวช่วย เช่น GPS สามารถวัดค่าองศาได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว แต่ถ้าย้อนไปพันปีที่แล้วบรรพชนเหล่านั้นใช้ภูมิปัญญาและอุปกรณ์พื้นฐาน "แต่ผลงานที่ได้ออกมาไม่ต่างกัน" ถ้าพวกเขาฟื้นขึ้นมาได้และท้าทายว่าแน่จริงให้พวกสูเจ้าโยนอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ทิ้งทั้งหมดและมาแข่งกับตูข้าแบบมือเปล่าๆเอาไม้ละ ............. ฤาความรู้ปัจจุบัน จะเทียบชั้นกับวันวาน
